Browse Category: Vitamins

Vitamin D คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร

milk-eggs-1
Source: Flickr (click image for link)

วันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับ “วิตามินดี” (Vitamin D) ถ้าพูดถึงวิตามินดีหลายๆคนจะนึกถึงแคลเซียมกันใช่ไหมล่ะคะ แต่เอะแล้วแคลเซียมเกี่ยวอะไรด้วยล่ะ ก็เพราะว่าวิตามินดีและแคลเซียมมีความสำคัญอย่างมากกับสุขภาพของกระดูกและฟันของเรา และในบางทีเราก็จะรู้จักกับวิตามินดีในนามของ “วิตามินแสงแดด” เนื่องจากจะสามารถสร้างขึ้นได้ในร่างกายหลังจากถูกแสงแดด การให้ร่างกายได้รับแสงแดดที่เหมาะสมครั้งละ 5-30 นาที สองครั้งต่อสัปดาห์ก็พอที่จะทำให้ร่างกายสร้างวิตามินดีขึ้นมาใช้ได้อย่างเพียงพอ ซึ่งหมายความว่าเราไม่จำเป็นต้องได้รับวิตามินดีจากอาหาร ยกเว้นก็ต่อเมื่อได้รับแสงอาทิตย์น้อยเกินไป ซึ่งมักไม่เป็นปัญหาในเด็ก แต่เนื่องจากรังสี UV ในแสงอาทิตย์โดยเฉพาะในประเทศไทยบ้านเรา อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้ American Academy of Dermatology จึงแนะนำให้เรารับวิตามินผ่านทางอาหารหรืออาหารเสริมมากว่า วิตามินดีเป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกายมนุษย์เนื่องจากจะช่วยในการสร้างแคลเซียมและแมกนีเซียม ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน และยังช่วยให้ร่างกายคงระดับของแคลเซียมและฟอสฟอรัสในเลือดให้อยู่ในระดับที่เพียงพอนั่นเองค่ะ แต่นอกจากนี้แล้ว วิตามินดียังมีความสำคัญและบทบาทต่อสุขภาพอื่นๆของเราอีกด้วยค่ะ เพราะฉะนั้น HealthGossip เลยไม่รอช้าที่จะนำเสนอข้อมูลเพื่อให้เราได้เรียนรู้และรู้จักกับวิตามินดีกันให้มากขึ้นค่ะ วิตามินดีเป็นวิตามินที่ละลายในไขมันมีอยู่ด้วยกันสองฟอมร์คือ Ergocalciferol พบในยีสต์ และ Cholecalciferol พบในน้ำมันตับปลา ไข่แดง และสังเคราะห์ที่ผิวหนัง ส่วนในน้ำนมจะพบได้ทั้งสองฟอมร์

 

เกี่ยวกับวิตามินดี หรือ Cholecalciferol

  • วิตามินดี คือเซกโคสเตอรอยด์ (secosteroids) ที่ละลายในไขมันกลุ่มหนึ่งซึ่งทำหน้าที่เสริมการดูดซึมแคลเซียม เหล็ก แม็กนีเซียม ฟอสเฟตและสังกะสีในมนุษย์
  • วิตามินดี มีหลักๆอยู่สองตัวคือ วิตามินดี 2 หรือ ergocalciferol พบในพืช รา ไลแคน และสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง พวกหอยทาก หนอน ยีสต์ และวิตามินดี 3 หรือ cholecalciferol พบในน้ำมันตับปลา ไข่แดง และสังเคราะห์ที่ผิวหนัง
  • เราได้วิตามินดีส่วนหนึ่งจากอาหาร อีกส่วนหนึ่งจากการสังเคราะห์ที่ผิวหนังซึ่งร่างกายสามารถสร้างเองได้โดยได้รับการกระตุ้นจากรังสียูวีบี (UVB) ซึ่งมีอยู่ในแสงแดด
  • วิตามินดีที่เราได้รับไม่ว่าจากอาหารหรือจากการสังเคราะห์ที่ผิวหนังร่างกายยังไม่สามารถนำไปใช้ได้ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงโดยมีอวัยวะที่เปลี่ยนคือ ที่ตับเมื่อเปลี่ยนแล้วจะได้วิตามินดีที่เรียกว่า calcidiol และ ที่ไตเมื่อวิตามินเปลี่ยนแล้วจะได้วิตามินที่เรียกว่า calcitriol
  • วิตามินดีทำหน้าที่ร่วมกับแคลเซี่ยมในการสร้างกระดูกและฟัน และช่วยเร่งการดูดซึมแคลเซี่ยมในลำไส้
  • อาการของคนที่ขาดวิตามินดี คือกระดูกและฟันอ่อนแรง หักง่าย นอนไม่หลับในเด็กหากขาดวิตามินดี เรียก rickets ส่วนในผู้ใหญ่เรียก osteomalacia
  • การสังเคราะห์วิตามินดีของผิวหนังจากคอเลสเตอรอลอาศัยการได้รับแสงแดด (โดยเฉพาะรังสียูวีบี)
  • เราได้วิตามินเอจาก อาหาร แสงแดด และอาหารเสริม
  • อาหารหลายประเภทรวมทั้งนมได้ใส่วิตามินดีในอาหารและนมดังกล่าว คนปกติควรจะได้รับวิตามินดีอย่างน้อยวันละ 400 IU ต่อวัน
  • แหล่งของอาหารตามธรรมชาติที่อุดมไปด้วยวิตามินดี ได้แก่ ปลาที่มีมัน เห็ดตากแห้ง และไข่แดง และยังพบในอาหารหรือเครื่องดื่ม เช่น นม และนมถั่วเหลืองก็มีการเติมวิตามินดีในอาหาร
  • การถูกแดดช่วง 10.00น – 15.00น วันละ 5-30 นาที โดยให้แสงแดดถูกที่หน้า หรือแขน หรือลำตัวสัปดาห์ละสองวันก็เพียงพอที่จะสร้างวิตามินดี
  • งานวิจัยแสดงชี้ให้เห็นว่าคนที่มีผิวสีเข้มจะมีระดับวิตามินดีต่ำกว่าคนที่มีผิวที่ขาวกว่า หากต้องการดูดซึมวิตามินดีในปริมาณที่เท่ากัน คนอเมริกันผิวดำจะต้องโดนแสงแดดมากกว่าคนผิวขาวทั่วไปถึง 10 เท่า
  • ผู้ที่ได้รับวิตามินดีเสริมในปริมาณมากที่สุด สามารถลดน้ำหนักลงได้มากที่สุด และไขมันที่ลดลงมากก็คือไขมันบริเวณช่องท้องที่จัดว่าเป็นไขมันอันตรายนั่นเอง
  • ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงของการขาดวิตามินดี คือการมีไขมันในร่างกายมาก เพราะวิตามินดีเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน ฉะนั้นวิตามินดีจึงถูกเก็บอยู่กับไขมันมากกว่าที่จะถูกนำออกมาในกระแสเลือดเพื่อใช้กับกระบวนการต่างๆ ในร่างกาย

 

 

ประโยชน์ของวิตามินดี

วิตามินดี ช่วยให้อายุยืนยาว งานวิจัยล่าสุดเผยว่าวิตามินดี สามารถช่วยลดการตายที่เกี่ยวเนื่องกับโรคมะเร็ง โรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตัวเอง และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ผลจากวิเคราะห์การสุ่มกลุ่มตัวอย่าง 18 กลุ่ม แสดงให้เห็นว่าผู้ใหญ่ที่รับประทานวิตามินดี ในปริมาณระหว่าง 400–830-IU เป็นประจำทุกวันช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเนื่องจากโรควิถีชีวิต

 

วิตามินดี ช่วยในการชะลอวัยของผิวพรรณ มีการศึกษาพบว่าระดับวิตามินดีต่ำเกี่ยวข้องกับการบวมหรือความหย่อนยาน การมีรูขุมขนขยาย และการเกิดซีสต์บนผิวหนัง ดังนั้น วิตามินดีจึงเป็นตัวช่วยสำคัญในการสร้างผิวหนังและกล้ามเนื้อให้มีความแข็งแรง และควบคุมให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเหมาะสมตามวัย

 

วิตามินดี ช่วยให้หัวใจมีสุขภาพดี งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าระดับวิตามินดี ในร่างกายที่เพียงพอช่วยทำให้ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบดี ขึ้น พบว่าผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำเสี่ยงที่จะเกิดการตีบของหลอดเลือดเพิ่มขึ้นถึง 80% โดยผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า อาจมาจากว่าวิตามินดีช่วยลดการอักเสบของเซลล์ และช่วยลดระดับความดันโลหิต

 

วิตามินดี ช่วยรักษาระดับความดันเลือด วิตามินดีช่วยให้การทำงานของหลอดเลือดเป็นไปด้วยดี โดยงานศึกษาแสดงให้เห็นว่าหากเราได้รับวิตามินดี เพียงพอ (เช่น ไม่ขาดวิตามินชนิดนี้) จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคความดันสูง

 

วิตามินดี ช่วยปกป้องกระดูก วิตามินดีและแคลเซียม ช่วยปกป้องกระดูกจากการเป็นโรคกระดูกผุ และช่วยลดความเสี่ยงต่อการแตกหักของกระดูกที่เกิดจากโรคกระดูกผุด้วย

 

วิตามินดี ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง วิตามินดีทำหน้าที่เหมือนสารต้านอนุมูลอิสระ คือ ช่วยเพิ่มเกราะป้องกันให้เซลล์ในร่างกายแข็งแรง ป้องกันไม่ให้เซลล์เปลี่ยนรูปเป็นเซลล์เนื้อร้าย และพบว่าสำหรับผู้ที่เป็นมะเร็งแล้ว ผู้ป่วยที่มีระดับวิตามินดีสูงมีโอกาสลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตด้วยโรคนี้ได้

 

วิตามินดี ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย การศึกษาที่มหาวิทยาลัยเยล ประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้ที่มีระดับวิตามินดีในร่างกายสูงที่สุดจะป่วยน้อยครั้งกว่าผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำมากถึง 2 เท่า ด้วยเหตุผลที่ว่าวิตามินดีจะช่วยกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวผลิตโปรตีนที่เป็นตัวฆ่าเชื้อโรค

 

วิตามินดี ช่วยลดความเสี่ยงของโรคพาร์กินสัน ซึ่งเป็นโรคทางระบบประสาท เนื่องจากวิตามินดีจะเป็นตัวปรับแคลเซียมในสมอง เพิ่มประสิทธิภาพของการส่งต่อข้อมูลต่างๆ ในระบบประสาท

 

วิตามินดี ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า เป็นเพราะวิตามินดีช่วยกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนเซโรโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยทำให้รู้สึกดี ขณะที่การขาดเซโรโทนิน ส่งผลให้เกิดความเครียดได้

 

วิตามินดี ช่วยลดไมเกรน มีการศึกษาพบว่า ผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำมีความสัมพันธ์กับไมเกรนและอาการปวดเรื้อรัง เนื่องจากวิตามินดีมีส่วนช่วยให้หลอดเลือดเกร็งและคลายตัวตามปกติ

 

สาเหตุของการขาดวิตามิน

  • คนที่ถูกแสงแดดน้อย เช่นคนสูงอายุ คนป่วย
  • คนที่รับประทานอาหารไม่เพียงพอ ดื่มนมไม่เพียงพอ
  • hypoparathyroidism
  • ผู้ที่มีปัญหาเรื่องการดูซึมไขมัน
  • ผู้ที่มีผิวสีคล้ำซึ่งจะทำให้ผิวหนังผลิตวิตามินดีลดลง

อันตรายจากการขาดวิตามินดี

ปกติเราสามารถสร้างวิตามินดีได้จากใต้ผิวหนังเมื่อได้รับรังสีไวโอเลตในแสงแดด ทั้งนี้ปริมาณวิตามินดีที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวันคือประมาณ 5 ไมโครกรัม / วัน อย่างไรก็แล้วแต่ถ้าหากได้รับวิตามินดีมากหรือน้อยเกินไปก็เป็นอันตรายเช่นกันค่ะ

โรคกระดูกอ่อน ในเด็กที่กำลังเจริญเติบโต การขาดวิตามินดีจะทำให้เกิดโรคกระดูกอ่อน เนื่องจากวิตามินดีทำงานร่วมกับแคลเซียมในการช่วยควบคุมระดับแค ลเซียมในร่างกาย เมื่อขาดแคลเซียม จึงทำให้กระดูกเปราะและหักง่าย อีกทั้งยังทำให้กระดูกตามส่วนต่างๆในร่างกายผิดรูป โค้งงอ และขาโก่ง อีกทั้งยังทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนในผู้ใหญ่ได้อีกด้วย

ท้องเสีย นอนไม่หลับ ปัสสาวะบ่อย กระวนกระวาย กล้ามเนื้อกระตุก เป็นหวัดบ่อย กล้ามเนื้ออ่อนแอ ขาดความคล่องแคล่วกระฉับกระเฉง และความต้านทานโรคลดน้อยลง

อันตรายจากการได้รับวิตามินดีมากเกินไป

ท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง โดยปกติร่างกายของเราสามารถกำจัดวิตามินดีที่สร้างจากแสงแดดออก ไปจากร่างกายตามธรรมชาติ แต่ถ้าหากกินวิตามินดีเสริมมากเกินไปก็อาจอันตรายได้เช่น ถ้ากินวิตามินดีวันละ 25-50 ไมโครกรัมติดต่อกันนาน 6 เดือนอาจทำให้เกิดอาการท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นผิดปกติ และอ่อนเพลียได้

เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูง เนื่องจากวิตามินดีมีส่วนช่วยในการดูดซึมฟอสฟอรัสและแคลเซียมจาสิกลำไส้ไปสร้างกระดูกและฟัน การขาดวิตามินดีจึงมีผลโดยตรงที่ทำให้ระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัส ในร่างกายไม่สมดุลทำให้มีแคลเซียมสะสมตามส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น ในเนื้อเยื่อ เลือด ตับ ไต ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคร้ายอื่นๆตามมาได้

 

www.flickr.com/photos/lbrummphoto/4562104663/

Vitamin A คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร

carotene-fruits-1“วิตามินเอ” (Vitamin A) เป็นวิตามินอีกตัวที่สำคัญและมีประโยชน์ไม่แพ้กับวิตามินชนิดอื่นๆ แต่ถึงจะมีประโยชน์มากมายเพียงใด การที่ได้รับวิตามินเอไม่เพียงพอก็จะส่งผลต่อร่างกายของเราโดยเฉพาะดวงตา ผิวหนัง และระบบภูมิต้านทานโรค แล้วทำอย่างไรจึงจะไม่ขาดวิตามินเอจนร่างกายเจ็บป่วยล่ะและถ้าหากได้รับในปริมาณที่มากเกินไปอีกล่ะ ดังนั้นเราจึงต้องมาทำความรู้จักกับประโยชน์และโทษของวิตามินชนิดนี้กันให้กระจ่างแจ้งกันค่ะ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ร่างกายของเราได้รับวิตามินชนิดนี้อย่างถูกต้องเหมาะสม เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุดและก็จะได้มั่นใจว่าจะไม่ก่อโทษต่อร่างกายตามมาในภายหลัง… วิตามินเอ (Vitamin A) เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน ค้นพบโดย ดร. อี.วี. แมคคอลลัม (E.V. McCollum) นักวิทยาศาสตร์ชาวสหรัฐอเมริกา ร่างกายของเราสามารถสะสมวิตามินเอได้นานมากอาจนานได้ถึง 1 หรือ 2 ปี โดยเก็บไว้ในชั้นเซลล์ไขมัน  

วิตามินเอจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

  1. อยู่ในรูปแบบวิตามินอยู่แล้ว (Proformed Vitamin A) หรือเรียกว่า Retinol ซึ่งได้มาจากเนื้อสัตว์ เช่น น้ำมันตับปลา อาหารประเภทเนื้อ ไข่ ตับและเครื่องใน
  2. กำลังจะเป็นวิตามินเอ (Provitamin A) หรือเรียกว่า เบต้า แคโรทีน (Beta-Carotene) เป็นสารที่เมื่อเข้าสู่รางกายจึงได้รับการเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ พบมากในผักสีต่างๆ เช่น แครอท ผักโขม

 

เกี่ยวกับวิตามินเอ หรือ Retinol

  • วิตามินเอ (Vitamin A) เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน
  • วิตามินเอจะถูกดูดซึมไปใช้ในร่างกายได้ดีที่สุดเมื่อกินร่วมกับอาหารที่มีน้ำมันหรือไขมันเป็นส่วนประกอบ
  • เมื่อร่างกายใช้ไม่หมดก็จะเก็บสะสมไว้ที่ตับ
  • ถ้าได้รับวิตามินเอจากอาหารปกติ ไม่จำเป็นต้องกังวลว่าร่างกายจะได้รับอันตรายแต่อย่างใดเพราะมันไม่เข้มข้น
  • การไดรับวิตามินเอจากอาหารเสริมต่างๆ มักจะมีความเข้มข้นสูง ซึ่งหากได้รับเป็นระยะเวลานาน ก็ส่งผลเสียต่อร่างกายมากกว่าประโยชน์
  • วิตามินเอมีหน้าที่ช่วยในการมองเห็น การเจริญเติบโตของกระดูก การแบ่งตัวของเซลล์ การกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค ซ่อมแซมผิวของตาและหลอดลมทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายยากขึ้น
  • วิตามินเอยังช่วยกระตุ้นให้เซลล์เม็ดเลือดขาวโดยเฉพาะ lymphocyte ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และระบบสืบพันธุ์
  • วิตามินเอ จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ Retinol และ Beta-carotene
  • วิตามินเอพบมากในอาหารประเภทเนื้อ ไข่ นม ตับและเครื่องใน ในรูปแบบของสารวิตามินที่ออกฤทธิ์ได้ทันที่ ที่เราเรียกว่า Retinal
  • ผักผลไม้ที่ให้วิตามินเอส่วนใหญ่จะมีสีเหลือง ส้ม แดง และเขียวเข้ม เช่น ผักปวยเล้ง  ผักโขม ข้าวโพด มันฝรั่ง ฟักทอง คะน้า เป็นต้น เพราะมีเบต้าแคโรทีนและแคโรนอยด์ที่อยู่ในรูปแบบสารตั้งต้น โดยร่างกายจะเปลี่ยนเป็นวิตามินเอต่อไป
  • นมพร่องมันเนยจะมีวิตามินเอต่ำเพราะวิตามินเอละลายในไขมัน โดยในขณะที่วิตามินเอจากเนื้อสัตว์จะดูดซึมได้ดี
  • เนื่องด้วยวิตามินเอในผักผลไม้มีความไวต่อออกซิเจนมาก ดังนั้นวิธีการต้มที่ป้องกันการสูญเสียวิตามินได้ดีทีสุดคือ ควรปิดฝาภาชนะขณะต้มและใส่น้ำน้อยๆ
  • ร่ายกายคนเราต้องการวิตามินเอในแต่ละวันอยู่ที่วันละ 4,000-5,000 IU
  • การได้รับวิตามินเอไม่เพียงพอจะส่งผลต่อร่างกายของเราโดยเฉพาะดวงตา ผิวหนัง และระบบภูมิต้านทานโรค
  • วิตามินเอ ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโตได้อย่างปกติ ไม่ชะงัก หรือหยุดการเจริญเติบโตก่อนวัย
  • วิตามินเอ ช่วยป้องกันอาการเบื่ออาหาร (แต่ถ้าได้รับมากเกินไปก็จะมีผลตรงกันข้าม)

 

 

ประโยชน์ของวิตามินเอ

คุณค่าของ “วิตามินเอ” เป็นที่รู้กันดีว่า คุณค่าทางโภชนาการของวิตามินเอนั้นที่เราต่างก็จะรู้จักกันในนามของวิตามินที่บำรุงสายตาที่สำคัญตัวหนึ่งนั้น โดยจะมีส่วนประกอบที่สำคัญของ “คอร์เนีย” ช่วยให้มีสายตาที่เป็นปรกติ เนื่องจากวิตามินเอจะช่วยในการบำรุงสายตา ช่วยให้ตาปรับสภาพในที่มืดได้ดี หรือช่วยป้องกันโรคตามัวตอนกลางคืนที่เราเรียกกันว่า Night Blindness ทำให้มองเห็นในที่มืดได้ดีขึ้น แต่นอกจากในเรื่องของการบำรุงสายตาแล้ววิตามินเอยังมีประโยชน์อีกมากมายที่เราอาจจะยังไม่ทราบกันค่ะ

 

วิตามินเอ ช่วยให้ไม่เป็นโรคตาฟาง คนที่เป็นโรคนี้จะมองเห็นในที่มืดได้ไม่ค่อยชัดทั้งๆที่มีแสงพอที่จะมองเห็นได้ ถ้าขาดวิตามินเอมากๆ ก็จะทำให้ไม่สามารถมองเห็นในที่มืดได้เลย ซึ่งมักเรียกคนที่มีอาการเหล่านี้ว่า “พวกตาบอดกลางคืน” โดย Retinol จะรวมตัวกับโปรตีนชื่อ ออพซิน (opsin) เป็นสารประกอบโรดอพซิน (rhodopsin) ซึ่งมีคุณสมบัติดูดแสงและปรับสายตาให้มองเห็น สารประกอบนี้จะสลายไปเมื่อถูกใช้แล้ว ดังนั้น การบริโภคอาหารที่ให้วิตามินเอที่เพียงพอในการสร้างโรดอพซินได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

 

วิตามินเอ ช่วยให้ตาสู้แสงในเวลากลางวัน คนที่ขาดวิตามินชนิดนี้ จะทำให้ตาไม่ค่อยสู้แสงในเวลากลางวัน ตาไวต่อแสงทำให้แสบตาง่าย และทำให้น้ำตาไหลได้ง่ายด้วย

 

วิตามินเอ ช่วยป้องกันเยื้อบุนัยน์ตาแห้ง คนที่ขาดวิตามินเอมากๆ เยื่อบุนัยน์ตาจะแห้งและมีโอกาสอักเสบได้ง่าย เปลือกตาบวม มีจุดขาวๆ ที่ตาเหมือนมีฟองน้ำเกาะที่เยื่อบุตา และมีเม็ดขึ้นบนผิวกระจกตา ซึ่งถ้าไม่รักษาและปล่อยให้ขาดวิตามินเอนานๆ อาจทำให้ตาบอดได้

 

วิตามินเอ ช่วยป้องกันผิวหนังแห้ง หยาบ และพุพอง คนที่ขาดวิตามินชนิดนี้ขั้นรุนแรงจะเป็นโรคหนังคางคก ซึ่งเป็นโรคที่ผิวหนังจะมีลักษณะเป็นตุ่มๆ สากๆ เกิดได้ทุกบริเวณของร่างกาย เช่น แขน ขา หลัง หน้าอกและหน้าท้อง เป็นต้น

 

วิตามินเอเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ช่วยไม่ให้เกิดสิวได้ง่าย เนื่องจากวิตามินชนิดนี้ เป็นวิตามินที่ต่อต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งมีผลช่วยให้ลดการเกิดสิวได้ง่าย บางคนที่รักษาสิวมาหลากหลายวิธีแต่สิวก็ยังคงไม่หายซักที อาจเป็นเพราะมีสาเหตุมาจากการขาดวิตามินชนิดนี้ก็เป็นได้

 

วิตามินเอช่วยให้เหงื่อไม่ออกง่าย เนื่องจากวิตามินเอ ทำให้รูปขุมขนที่ผิวหนังชั้นนอกมีการสะสมของเคราติน ทำให้เยื่อบุเป็นเกล็ดหนาและไม่ค่อยมีเหงื่อ

 

วิตามินเอ ช่วยป้องกันผิวแห้งแตกลายงา ถ้าหากไม่อยากให้ผิวแห้งแตกลายงาเหมือนดินที่ขาดน้ำ หรือแตกเป็นเกล็ดคล้ายคนขาดไขมัน ก็หมายความว่า คุณกำลังขาดวิตาเอ และไขมัน (เพราะวิตามินชนิดนี้ละลายในไขมัน)

 

วิตามินเอ ช่วยป้องกันเซลล์ชนิดเยื่อบุต่างๆ ของร่างกายไม่ให้เกิดการผิดปกติ ซึ่งถ้าเยื่อบุต่างๆ ของร่างกายผิดปกติ ก็จะทำให้อวัยวะต่างๆ ของร่างกายเกิดผิดปกติไปด้วย เช่น มีการอักเสบของทางเดินหายใจ เพราะเยื่อบุบริเวณช่องจมูกเกิดผิดปกติ เป็นต้น

 

วิตามินเอเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย มีบทบาทสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ช่วยต่อสู้กับโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และปรสิต จึงทำให้ไม่ติดเชื้อง่าย ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยง่ายจนเกินไป

 

วิตามินเอกับผิวพรรณ ในแง่ของสุขภาพผิวและความสมดุลของฮอร์โมนนั้น วิตามินเอ มีความจำเป็นต่อร่างกาย โดยได้มีงานวิจัยยืนยันว่าผู้ที่เป็นสิวรุนแรงนั้นมีระดับวิตามินเอในเลือดต่ำ มีรายงานว่า หญิงที่มีภาวะฮอร์โมนไม่สมดุลและเป็นสิว เมื่อได้รับได้รับอาหารเสริมวิตามินเอ สิวก็สามารถหายภายในไม่กี่สัปดาห์ รวมถึงรอยแผลสิวก็เริ่มลดลงหลังจากได้รับอาหารเสริมวิตามินเอ 2 สัปดาห์

 

 

อันตรายจากการขาดวิตามินเอ

โรคผิวหนัง เนื่องจากวิตามินเอมีส่วนสำคัญในการรักษาสภาพเยื่อบุผิวหนัง ขาดวิตามินเอทำให้ผิวพรรณขาดความชุ่มชื้น หยาบกร้าน แห้งแตก โดยเฉพาะผิวหนังบริเวณข้อศอก ตาตุ่มและข้อต่อด่างๆ ซึ่งอาจนำไปสู่โรคผิวหนัง เช่น สิวและโรคติดเชื้ออื่นๆ ได้

ตาฟาง หน้าที่ของวิตามินเอคือช่วยในการสร้างสารที่ใช้ในการมองเห็น หากขาดจะทำให้มองเห็นได้ยากในเวลากลางคืนหรือในที่แสงสว่างน้อย และทำให้เยื่อบุตาแห้ง กระจกตาเป็นแผล ในกรณีที่ร่างกายขาดวิตามินเออย่างรุนแรงอาจทำให้ตาบอดได้

ความต้านทานโรคต่ำ วิตามินเอเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของเราทำงานตามปกติ การขาดวิตามินเอจึงทำให้เกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้ง่าย อีกทั้งยังทำให้เกิดการอักเสบในโพรงจมูก ช่องปาก คอ และที่ต่อมน้ำลาย

อันตรายจากการได้รับวิตามินเอเกิน

แท้งลูกหรือพิการ หญิงมีครรภ์ที่ได้รับวิตามินเอมากเกินไปมีความเสี่ยงต่อภาวะทารกในครรภ์คลอดออกมาพิการหรือแท้งได้ เนื่องจากวิตามินเอมีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กในครรภ์ ซึ่งอาจทำให้เด็กมีความผิดปกติที่ทางเดินปัสสาวะ กระดูกผิดรูป หรือมีติ่งปูดออกมาที่บริเวณหู

อ่อนเพลีย หากร่างกายได้รับวิตามินเอเกินครั้งละ 15,000 ไมโครกรัม จะมีผลทำให้รู้สึกอ่อนเพลียและอาเจียนได้

เจ็บกระดูกและข้อต่อ เบื่ออาหาร เซื่องซึม นอนไม่หลับ กระวนกระวาย ผมร่วง ปวดศีรษะ ท้องผูก ทั้งหมดนี้เป็นโทษในระยะยาวที่เกิดจากการรับประทานวิตามินเอมากเกินไป

ในสัตว์กระเพาะเดี่ยว เมื่อได้รับเกินความต้องการ 4-10 เท่า จะทำให้โครงกระดูกผิดปกติ

ในสัตว์เคี้ยวเอื้อง เมื่อได้รับเกิน 30 เท่า จะเกิดอาการผิดปกติ

 

www.flickr.com/photos/jalb/117560810/

Vitamin E คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร

vitamin-1
Source: Flickr (click image for link)

วิตามินอี (Vitamin E) เป็นอีกวิตามินหนึ่งที่สาวๆคนไหนก็ต้องรู้จักกันทั้งนั้นและส่วนมากที่เรารู้ๆกันจะเป็นเรื่องในการช่วยลบเลือนรอยแผลเป็นที่เกิดจากสิว ที่เราจะเห็นได้ทั่วไปนั้นตามผลิตภัณฑ์ดูแลผิวในร้านขายยาหรือร้านขายครีมต่างๆ แต่รู้กันไหมล่ะคะว่าวิตามินอีไม่ได้มีประโยชน์แค่นั้นยังมีอีกหลายอย่างที่เราคงยังไม่ทราบกัน เพราะฉะนั้นวันนี้ HealthGossip จะมาขอนำเสนอข้อมูลนี้ให้ทราบโดยทั่วกันค่ะ ในเมื่อวิตามินที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นพระเอกที่ช่วยปกป้องร่างกายก็คงจะหนีไม่พ้น “วิตามินอี” ซึ่งจากความน่าสนใจในประโยชน์ต่างๆ ดึงดูดให้ผู้บริโภคหลายๆ คนใช้วิตามินอี โดยลืมคำนึงถึงความจำเป็นที่ควรจะได้รับหรือโทษที่อาจเกิดขึ้นเมื่อได้รับมากจนเกินความต้องการของร่างกาย ดังนั้นเราจึงไม่รอช้าที่จะนำข้อมูลทั้งดีและโทษมาบอกให้เข้าใจกันมากขึ้นค่ะ 

 

เกี่ยวกับ วิตามินอี หรือ Tocopherol

  • วิตามินอีเป็นวิตามินชนิดละลายในไขมัน (fat soluble vitamin)
  • มีลักษณะเป็นของเหลวคล้ายน้ำมัน สีเหลืองอ่อน ไม่ละลายในน้ำ ละลายได้ในสารละลายไขมัน เช่น แอลกอฮอล์ อีเทอร์
  • วิตามินอีมีความสำคัญต่อการทำงานของระบบสืบพันธุ์ จึงเรียกชื่อตามความหมาย คือ Tocopherol  มาจากภาษากรีก Tokos แปลว่า เด็ก (Children) และ Pheno แปลว่า ทำให้เกิด (to bear)
  • วิตามินอีมีมากในพืชส่วนในสัตว์นั้นพบน้อยมาก การบริโภคผักหรือผลไม้สดจะช่วยเพิ่มปริมาณวิตามินอีที่ร่างกายได้รับได้ นอกจากนี้ยังพบว่าน้ำนมมารดา โดยเฉพาะน้ำนมมารดาหลังคลอด (colostrum) ก็เป็นอีกแหล่งหนึ่งที่ให้วิตามินอีในปริมาณที่สูงมากเช่นกัน
  • อาหารที่ให้วิตามินอี ได้แก่ อาหารจำพวก ผัก น้ำมัน ไข่ เนย ข้าวบาเลย์ ข้าว ข้าวโอ๊ต
  • วิตามินอีป้องกันการเกิดออกซิเดชัน (antioxdation) ของกรดไขมันไม่อิ่มตัว วิตามินเอ แคโรทีน และวิตามินซี
  • วิตามินอีจะช่วยป้องกันการแตกของเม็ดเลือดแดง ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดและการอุดตันของเส้นเลือด ลดการเกิดกระบวนการอักเสบในร่างกายที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคต่างๆ
  • วิตามินอี ยังมีฤทธิ์อื่นๆ อีกมากมาย มีหน้าที่เบื้องต้นเสมือนฟองน้ำที่คอยดูดซับอนุมูลอิสระซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เซลล์หรือเนื้อเยื่อถูกทำลาย หรือที่รู้จักกันในชื่อของ “สารต้านอนุมูลอิสระ”
  • วิตามินอี มักจะไปควบคู่กับวิตามินบีเสมอ ทางการแพทย์จึงเรียกว่า วิตามินพี่น้อง
  • ออกซิเจนและความร้อนสามารถทำลายวิตามินอีได้ รวมไปถึงการแช่แข็งเป็นเวลานาน ก็ทำให้เกิดการสูญเสียวิตามินอีได้เช่นกัน

 

ประโยชน์ของวิตามินอีต่อร่างกาย

เนื่องจากผนังของเซลล์ต่างๆ ในร่างกายมีไขมันที่ไม่อิ่มตัวเป็นโครงสร้างหลัก โครงสร้างที่ว่านี้จะถูก ทำลายได้ง่ายด้วยกระบวนการออกซิเดชัน (oxidation) และส่งผลให้เกิดสารอนุมูลอิสระ (free radicals) ชนิดต่างๆ ตามมา ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างภายในเซลล์ที่สัมผัสกับสารอนุมูลอิสระ วิตามินอี เป็นสารต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันและอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพ (potent antioxidant) ซึ่งมีผลในการป้องกันการทำลายเซลล์ หรือลดความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ที่มีสาเหตุมาจากอนุมูลอิสระได้ นอกจากนี้ยังมีผลช่วยปกป้องการเสื่อมสลายของเยื่อหุ้มเซลล์ (stabilize) ที่บุอยู่ตามอวัยวะต่างๆ เช่น ผิวหนัง ตา ตับ เต้านม หลอดเลือด และเม็ดเลือดแดง ทำให้อวัยวะดังกล่าวทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีความคงทนมากขึ้นด้วย

 

วิตามินอีกับโรคมะเร็ง  คุณสมบัติที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระของวิตามินอี นอกจากจะช่วยป้องกันเซลล์จากการทำลายของปฏิกิริยาออกซิเดชันและการเกิดอนุมูลอิสระแล้ว วิตามินอียังช่วยป้องกันการเกิดสารไนโตรซามีน (nitrosamines) ตัวการหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง โดยเกิดจากการทำปฏิกิริยาของสารจำพวกไนไตรท์ที่มีในอาหารที่รับประทานเข้าไปภายในกระเพาะอาหาร และยังช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายอีกด้วย นอกจากนี้การศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่าวิตามินอียังมีผลช่วยยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งได้

 

วิตามินอีกับการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง กระบวนการออกซิเดชันของไขมันชนิด LDL (low density lipoprotein) ซึ่งเป็นไขมันชนิดเลวในเลือดจะ มีผลทำให้เส้นเลือดเกิดความเสียหายอย่างมาก มีหลักฐานที่แสดงว่าวิตามินอี มีคุณสมบัติช่วยลดการเกิดกระบวนการที่ว่านี้ และช่วยลดการเกาะตัวกันของเกล็ดเลือด (platelet aggregation) ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจดีขึ้น และยังช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคระบบหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงหลอดเลือดสมองด้วย โดยได้มีการศึกษาในประเทศอังกฤษพบว่าคนที่ได้รับวิตามินอีอย่างน้อยวันละ 100 IU หลังการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจจะช่วยป้องกันการสะสมของไขมันที่ผนังเลือดได้ และคนที่ได้รับวิตามินอีประมาณวันละ 400-800 IU อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อยปีครึ่งจะช่วยป้องกันอัตราการเกิดโรคหัวใจวายได้ถึง 77%

 

วิตามินอีกับโรคเบาหวาน เชื่อกันว่าสาเหตุที่คนเป็นโรคเบาหวานจะมีการสะสมของสารอนุมูลอิสระเนื่องจากกระบวนการเผาผลาญสารอาหารในร่างกายผิดปกติ นอกจากนี้แล้วยังมีอัตราการตายจากการเกิดโรคแทรกซ้อนจากโรคหลอดเลือดหัวใจได้สูง มีงานวิจัยที่แสดงว่าคนเป็นโรคเบาหวานที่รับประทานวิตามินอีเพียงวันละ 100 IU จะช่วยทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ได้ดี และยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงของหลอดเลือดอีกด้วย

 

วิตามินอีกับโรคต้อกระจก โรคต้อกระจก (cataracts) เป็นความผิดปกติของเลนส์ตาทำให้มองภาพไม่ชัดเจน และอาจตาบอดได้ โดยเชื่อว่าเกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันที่ผิดปกติของโปรตีนในเลนส์ตา มีการศึกษาพบว่าสารที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระจำพวกวิตามินอีสามารถช่วยป้องกัน และชะลอการเกิดของโรคต้อกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่พบว่าสารในกลุ่มนี้ไม่ช่วยให้เกิดผลดีได้ในคนที่สูบบุหรี่ โดยพบว่าการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเกิดโรคต้อกระจก อย่างไรก็ดีจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลไกของสารต้านอนุมูลอิสระและวิตามินอีเกี่ยวกับโรคต้อกระจก

 

วิตามินอี สารอาหารที่ช่วยชะลอความแก่ สารอนุมูลอิสระจะมีผลทำให้เซลล์เกิดความเสียหายและตายได้ในที่สุด ซึ่งนอกจากจะเป็นสาเหตุทำให้ ร่างกายอ่อนแอและแก่เร็วกว่าปกติแล้ว หากเกิดที่สมองก็จะทำให้มีโอกาสเป็นโรคเรื้อรังทางสมองต่างๆ เช่น โรคสมองเสื่อม (Alzheimer’s disease) โรคพาร์คินสัน (Parkinson’s disease) เป็นต้น จากการศึกษาทางคลินิกพบว่าผู้ที่รับประทานวิตามินอี 1,300 IU ต่อวันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปีจะช่วยชะลอการเกิดโรคสมองเสื่อมจากการอุดตันของเส้นเลือดในสมองได้

 

วิตามินอีช่วยแก้ไขข้อบกพร่องของระบบสืบพันธุ์ มีการศึกษาพบว่าผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ได้รับวิตามินอีวันละ 800 IU อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 1 เดือน สามารถช่วยลดอาการต่างๆ เช่น อาการร้อนวูบวาบ นอนไม่หลับ เหนื่อยล้า ซึมเศร้า และเจ็บหน้าอกได้ นอกจากนี้ในผู้ชายที่มีระบบสืบพันธุ์ไม่สมบูรณ์ พบว่าเมื่อได้รับวิตามินอี วันละ 200 IU อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือน จะมีโอกาสมีบุตรสูงขึ้น เนื่องจากวิตามินอีช่วยลดระดับของอนุมูลอิสระในน้ำอสุจิ จึงทำให้ผนังเซลล์อสุจิแข็งแรงขึ้น และส่งผลให้มีอัตราการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นถึง 30% แต่ก็อาจไม่ปรากฏผลหากคนนั้นเป็นคนสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งจะทำลายความแข็งแรงของอสุจิ และอาจทำให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายเสื่อมโทรมลง

 

วิตามินอีกับผิวพรรณ สถาบันโรคผิวหนังหลายแห่งมีการวิจัยพบว่าวิตามินอีช่วยป้องกันผิวจากการไหม้เกรียม ริ้วรอยเหี่ยวย่นและรอยแผลได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานหรือการทาที่ผิวหนังโดยตรง เนื่องจากการเกิดแผลหรือการอักเสบบนผิวหนัง หรือการถูกแสงแดดเผาไหม้จะทำให้เกิดการสะสมของอนุมูลอิสระขึ้น วิตามินอีจะทำหน้าที่เหมือนฟองน้ำที่ดูดซับสารอนุมูลอิสระก่อนที่จะทำให้เนื้อเยื่อต่างๆ เสียหาย จึงช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของผนังเซลล์ทำให้เซลล์ผิวแข็งแรงขึ้น และช่วยให้ทนต่อรังสี UV ในแสงแดดได้ดีขึ้น ดังนั้นผู้ผลิตเครื่องสำอางจึงนิยมนำวิตามินอีมาใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์

 

ถ้าร่างกายขาดวิตามินอี

วิตามินอีสามารถสะสมได้ในเนื้อเยื่อไขมัน ในคนทั่วไปจึงไม่ค่อยพบอาการขาดวิตามินชนิดนี้ แต่มักพบจากความผิดปกติในการดูดซึมไขมัน เช่น การทำงานของตับ ตับอ่อน และลำไส้ผิดปกติ หรือมีโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคที่มีอาการผิดปกติของระบบประสาท (เดินเซ) ร่วมกับการขาดวิตามินอี (ataxia with vitamin E deficiency) นอกจากนี้ยังพบการขาดวิตามินอีได้ในทารกคลอดก่อนกำหนดหรือน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ผู้ที่มีพังผืดจับในถุงน้ำดี (cystic fibrosis) รวมทั้งในผู้ที่ขาดเอนไซม์ กลูโคส-6-ฟอสเฟต ดีไฮโดรจีเนส (G-6-PD) ทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกได้ ซึ่งการขาดวิตามินอี ต้องใช้ระยะเวลานานจึงจะเริ่มมีสัญญาณการเกิดความเสียหายของระบบประสาทปรากฏขึ้น เช่น สูญเสียการรับสัมผัสและการตอบสนองต่อสิ่งเร้า สูญเสียความรู้สึกทางกาย กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีปัญหาเรื่องการกลอกตาและทรงตัวได้ยาก เป็นต้น สำหรับผู้ที่ต้องการวิตามินอีเพิ่มขึ้นเพื่อการป้องกันและรักษาโรคต่างๆ ดังที่กล่าวแล้ว หรือผู้ที่มีปัญหาในการดูดซึมสารอาหาร ก็อาจเลือกรับประทานวิตามินเสริมที่มีขายอยู่ทั่วไป แต่ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณที่เหมาะสมก่อน

ถ้าร่างกายได้รับวิตามินอีมากเกินไป

เนื่องจากวิตามินอีไม่สามารถละลายในน้ำได้ ร่างกายจึงไม่สามารถขับวิตามินอีออกจากร่างกายได้ทางปัสสาวะดังเช่นวิตามินซี หรือวิตามินบี โดยร่างกายจะขับวิตามินอีส่วนเกินบางส่วนออกมาทางอุจจาระ ดังนั้นหากรับประทานวิตามินอีมากเกินไปจะสะสมในร่างกาย นำผลเสียคือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ไปจนถึงกล้ามเนื้ออ่อนแรง จึงแนะนำว่าไม่ควรรับประทานอาหารเสริมประเภทวิตามินอีมากเกินกว่า 1,500 IU ต่อวัน

 

 

www.flickr.com/photos/8047705@N02/5481406508/

Vitamin C คืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร

orange-lemon-1
Source: Flickr (click image for link)

HealthGossip วันนี้จะมาบอกเล่าสู่กันฟังถึงเรื่องเราของ “วิตามินซี” หลายๆคนคงไม่มีใครที่ไม่รู้จักวิตามินซีกันใช่ไหมล่ะคะ ส่วนใหญ่ก็คงจะทราบกันว่าวิตามินซีนั้นช่วยให้ผิวของเราขาวใสหรือจะป้องกันอาการไข้หวัดอะไรทำนองนั้น แต่ในวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับวิตามินซีแบบลึกซึ้งให้เข้าใจแจ่มแจ้งกันไปเลยทีเดียวค่ะ ขอเท้าความจากประวัติการค้นพบ วิตามินซี กันก่อนเลยนะคะ วิตามินซีนั้นเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 18 ได้มีการสังเกตว่าพวกทหารเรือที่มีการรอนแรมออกเดินเรือไปในทะเลเป็นเวลานานๆ ซึ่งมักจะขาดแคลนพวกผักสดผลไม้สด มักจะป่วยเป็นโรคลักปิดลักเปิดและสุขภาพไม่ค่อยดีมีอาการอ่อนเพลียอยู่บ่อยๆ แต่ก็มีคนสังเกตเห็นว่าจะไม่พบอาการดังกล่าวในทหารเรือที่รับประทานมะนาวเป็นประจำ ดังนั้นต่อมาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก้าวหน้ามากขึ้นในปี 1982 ก็สามารถหาสารอาหารสำคัญที่เป็นต้นเหตุของโรคดังกล่าวได้ว่าสารที่พวกทหารเรือขาดไปคือ “กรดแอสคอร์บิค (Ascorbic acid)” ซึ่งมันมีฤทธิ์สามารถช่วยรักษาโรคลักปิดลักเปิดได้ ในปัจจุบัน กรดแอสคอร์บิค ก็ถูกรู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อของ “วิตามินซี” และมีนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งซึ่งเคยได้รับรางวัลโนเบลถึง 2 ครั้ง และมีอายุยืนยาวมากกว่า 90 ปีแม้จะป่วยเป็นโรคมะเร็งมายาวนานถึง 20 ปีก็ตาม ท่านนั้นก็คือ Dr.Linus Pauling ชาวเมืองพอรต์แลนด์ ได้เคยพูดไว้ว่า เหตุที่เขาสามารถมีสุขภาพดีและสามารถชะลอการลุกลามของโรคมะเร็งในตัวได้นานกว่า 20 ปี ก็เนื่องจากวิตามินและเกลือแร่ ที่เขารับประทานเข้าไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิตามินซีซึ่งหลังจากที่เขารับประทานขนาดสูงทุกวัน เขาก็ไม่เคยเป็นหวัดอีกเลย Dr.Linus Pauling เริ่มรับประทาน วิตามินซี ชนิดเม็ดตั้งแต่อายุ 40 ปี และเพิ่มขนาดสูงถึง 18,000 มิลลิกรัม เมื่อรู้ว่าตนเองเป็น มะเร็ง ตั้งแต่อายุได้ 64 ปี เขายืนยันว่ามันช่วยให้มะเร็งในร่างกายสงบลงนั่นเอง

 

เกี่ยวกับวิตามินซี หรือ กรดแอสคอร์บิก

  • วิตามินซีนั้นเป็นวิตามินที่ละลายได้ในน้ำ ร่างกายไม่สามารถที่จะสร้างขึ้นเองได้จึงจำเป็นต้องได้รับจากการรับประทานเข้าไป
  • วิตามินซีมีมากในผักสดและผลไม้สด โดยเฉพาะส้ม มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว รสเปรี้ยว
  • เมื่อละลายน้ำมีฤทธิ์เป็นกรดและเป็นวิตามินที่ลสลายตัวได้เร็วที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวต่อออกซิเจนมาก
  • วิตามินซีรูปที่ออกฤทธิ์ (Active) ในร่างกายคือ Dihydroascorbic acid มีคุณสมบัติเป็นสารรีดิวซ์ (Reducing agent) ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant)
  • วิตามินซีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถป้องกันและรักษาการอักเสบอันเนื่องมาจากแบคทีเรีย และไวรัสได้
  • วิตามินซีมีบทบาทที่สำคัญในการสร้าง คอลลาเจน เพื่อช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกาย และวิตามินซีช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดียิ่งขึ้น
  • วิตามินซีจะถูกใช้หมดไปอย่างรวดเร็วเมื่อคุณตกอยู่ในสภาวะเครียด
  • การขาดวิตามินซีอาจทำให้เกิดโรคเลือดออกตามไรฟันได้
  • ขนาดที่แนะนำให้รับประทานต่อวันอยู่ที่ 60 mg. และสำหรับหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรที่ประมาณ 70-96 mg.
  • ผู้ที่สูบบุหรี่ควรได้รับวิตามินซีเพิ่มมากขึ้น เพราะร่างกายจะสูญเสียวิตามินซี 25 – 100 mg. ต่อการสูบบุหรี่หนึ่งมวน
  • ช่วยป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของคอเรสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL)
  • หากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้เกิดนิ่ว บางครั้งการรับประทานในปริมาณที่สูงหรือมากกว่า 10,000 mg. ขึ้นไปอาจก่อให้เกิดผลเสีย เช่น อาการท้องร่วง ปัสสาวะบ่อย มีผื่นผิวหนัง ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวคุณควรรับประทานในปริมาณที่น้อยลง คนไข้โรคมะเร็งที่กำลังฉายรังสีหรือเคมีบำบัด ไม่ควรรับประทานวิตามินซีเพราะผลตรวจอาจแปรปรวนได้
  • ศัตรูของวิตามินซี ได้แก่ แสง, ออกซิเจน, น้ำ, ความร้อน, การสูบบุหรี่, การปรุงอาหาร

 

ประโยชน์ของ วิตามินซี

เราทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า วิตามินซี มีประโยชน์มากมากหลายอย่าง ไม่ว่าจะช่วยปกป้องเซลล์ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน สุขภาพและความแข็งแรงของเนื้อเยื่อในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับ เส้นเอ็น และคอลลาเจน ก็มีผลมาจากปริมาณ วิตามินซี ในร่างกาย และ วิตามินซี ยังมีฤทธิ์ในการเป็นสารแอนตี้อ๊อกซิแดนท์ที่ดี จึงสามารถป้องกันการทำลายเซลจากอนุมูลอิสระได้เป็นอย่างดี และมันช่วยให้ร่างกายสามารถรีไซเคิลสารต้านอนุมูลอิสระตัวอื่นๆ ดังนั้นเพื่อประโยชน์สูงสุดจึงควรที่จะรับประทาน วิตามินซี ร่วมกับสารต้านอนุมูลอิสระชนิดอื่นๆ เช่น วิตามินอี แคโรทีน ฟลาโวนอย เป็นต้น

 

วิตามินซี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ซึ่งจะป้องกันร่างกายจากอนุมูลอิสระ ที่เกิดจากขบวนการสันดาบในร่างกาย หรือจากมลพิษ สิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา โดยจะทำให้เซลล์ต่างๆ เสื่อม หรืออาจเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์ที่ผิดปกติได้

 

วิตามินซี ช่วยบรรเทาความรุนแรงและระยะเวลาของการเป็นโรคหวัด หากเริ่มรับประทาน วิตามินซี ตั้งแต่เริ่มแรกที่เห็นอาการของโรคหวัด จะช่วยให้อาการป่วยลดความรุนแรงและหายได้เร็วขึ้น มีการศึกษาเมื่อปี 1995 พบว่าหากรับประทาน วิตามินซี 1,000 ถึง 6,000 มิลลิกรัมต่อวันตั้งแต่เริ่มมีอาการของโรคหวัด จะช่วยให้หายได้เร็วขึ้น 21% แต่ก็ยังไม่มีรายงานว่า วิตามินซี สามารถช่วยป้องกันโรคหวัดได้

 

วิตามินซี ช่วยให้แผลหายได้เร็วขึ้น เนื่องจาก วิตามินซี ช่วยให้ร่างกายซ่อมแซมและรักษาตัวเองโดยการไปเสริมสร้างผนังเซล ทำให้เส้นเลือดฝอยแข็งแรง และต่อต้านอาการอักเสบ จึงทำให้แผลหายได้เร็วขึ้น ในทางกลับกันการขาด วิตามินซี ก็สงผลให้แผลให้ได้ช้าลงเช่นกัน

 

วิตามินซี ช่วยให้เหงือกมีสุขภาพแข็งแรง หากรับประทานวิตามินซีเป็นประจำทุกวัน นั้นจะช่วยให้เหงือกมีสุขภาพแข็งแรง โดย วิตามินซี จะไปช่วยรักษาเซลที่ถูกทำลายและช่วยให้แผลที่เหงือกหายเร็ว

 

วิตามินซี ช่วยเพิ่มความต้านทานต่อโรคหัวใจ โดยการไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมระดับคลอเรสเตอรอล ในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรับประทานร่วมกับ วิตามินอี โดยมันจะไปลดการเกาะตัวของไขมันที่ผนังหลอดเลือด

 

วิตามินซี ช่วยในการป้องกันและต่อสู้กับโรคมะเร็ง เนื่องจาก วิตามินซี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดี มันจึงอาจจะช่วยในการป้องกันและต่อสู้กับโรคมะเร็งได้ มีการศึกษาอย่างมากในเรื่องนี้แต่ก็ยังไม่ข้อสรุปที่ชัดเจน โดยยังมีการถกเถียงกันอย่างมากเกี่ยว วิตามินซี กับการป้องกันและต่อสู้กับโรค มะเร็ง

 

วิตามินซี ช่วยในการป้องกันโรคต้อกระจก เนื่องจาก วิตามินซี สามารถช่วยปกป้องเลนส์ตาจากอันตรายต่างๆ เช่น ควันบุหรี่ แสงอุลตร้าไวโอเลต ที่เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดโรคต้อกระจก มีการศึกษาอันหนึ่งพบว่าผู้หญิงที่รับประทานวิตามินซีมาอย่างน้อย 10 ปี พบว่ามีความเสี่ยงที่จะมีอาการเลนส์ตาขุ่นมัวซึ่งเป็นอาการเริ่มแรกของโรคต้อกระจกลดลงถึง 77%

 

วิตามินซี ช่วยบรรเทาอาการแพ้ หอบหืด ไซนัส ทั้งนี้เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้ว วิตามินซี มีคุณสมบัติเป็นสารต่อต้านภูมิแพ้ต่างๆ เช่น ฝุ่นละออง เกษรดอกไม้ ซึ่งอาการแพ้เหล่านี้ก็เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของโรคไซนัส นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่า วิตามินซี ช่วยป้องกันและทำให้อาการหอบหืดดีขึ้น

 

วิตามินซี ช่วยป้องกันอาการไมเกรน เมื่อรับประทานร่วมกับ pantothenic acid โดย วิตามินซี จะไปช่วยร่างกายในการต่อสู้กับความเครียดได้ดีขึ้น

 

วิตามินซี ช่วยเรื่องความจำ โดยวิตามินซีจะไปช่วยรักษาสภาพของเซลประสาทและจะได้ผลดียิ่งขึ้นหากรับประทานร่วมกับอาหารต้านอนุมูลอิสระชนิดอื่นๆ เช่น วิตามินอี แคโรทีน กิงโกะไบโลบ้า และโคเอนไซม์ Q10

 

ปริมาณที่ควรรับประทาน

ในสภาวะปกติปริมาณที่แนะนำให้รับประทานคือ 60 มิลลิกรัมต่อวัน (แต่ในคนที่สูบบุหรี่ 200 มิลลิกรัมต่อวัน) อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารเสริมสุขภาพได้แนะนำว่าเพื่อประสิทธิภาพที่ดีต่อสุขภาพควรจะต้องรับประทานอย่างน้อย 100-200 มิลลิกรัมต่อวัน คนที่มีความเครียดควรรับประทานวันละ 500 มิลลิกรัมต่อวัน แต่หากต้องการผลในด้านการป้องกันโรคต่างๆ เช่น มะเร็ง ความชรา ควรจะรับประทาน 250 – 1,000 มิลลิกรัม  การทานขนาดสูงมากกว่า 1,000 มิลลิกรัม อาจจะทำให้เกิดท้องเสีย และถ้าทานตอนท้องว่าง จะทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินอาหาร เนื่องจากความเป็นกรด อาจจะเกิดอาการท้องอืด เฟ้อ บางครั้งถึงขั้น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว และแน่นอนเนื่องจากวิตามินซี ขับทางปัสสาวะ จึงทำให้ปัสสาวะมีสภาพเป็นกรด ดังนั้น จึงเพิ่มโอกาสเกิดการตกตะกอนของผลึก ต่างๆ กลายเป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้ จึงแนะนำให้ทานวิตามินซี พร้อมดื่มน้ำมากๆ 
หากเราได้รับ วิตามินซี น้อยกว่าที่ร่างกายควรจะได้รับ ก็จะเกิดลักปิดลักเปิด ซึ่งจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นหากขาดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานและไม่ต้องกังวัลว่าจะได้รับมากเกินไป เนื่องจาก วิตามินซี สามารถละลายน้ำได้ดี หากร่างกายไม่ได้ใช้ก็จะมีการขับออกมาได้ทางปัสสาวะ อีกทั้งยังไม่เคยมีรายงานเกี่ยวกับพิษที่เกิดจากการรับประทาน วิตามินซี แม้จะรับประทานในปริมาณที่สูงกว่า 6,000 – 18,000 มิลลิกรัม

 

www.flickr.com/photos/mrjorgen/5739569464/