Browse Tag: ต่อต้านอนุมูลอิสระ

Vitamin E คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร

vitamin-1
Source: Flickr (click image for link)

วิตามินอี (Vitamin E) เป็นอีกวิตามินหนึ่งที่สาวๆคนไหนก็ต้องรู้จักกันทั้งนั้นและส่วนมากที่เรารู้ๆกันจะเป็นเรื่องในการช่วยลบเลือนรอยแผลเป็นที่เกิดจากสิว ที่เราจะเห็นได้ทั่วไปนั้นตามผลิตภัณฑ์ดูแลผิวในร้านขายยาหรือร้านขายครีมต่างๆ แต่รู้กันไหมล่ะคะว่าวิตามินอีไม่ได้มีประโยชน์แค่นั้นยังมีอีกหลายอย่างที่เราคงยังไม่ทราบกัน เพราะฉะนั้นวันนี้ HealthGossip จะมาขอนำเสนอข้อมูลนี้ให้ทราบโดยทั่วกันค่ะ ในเมื่อวิตามินที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นพระเอกที่ช่วยปกป้องร่างกายก็คงจะหนีไม่พ้น “วิตามินอี” ซึ่งจากความน่าสนใจในประโยชน์ต่างๆ ดึงดูดให้ผู้บริโภคหลายๆ คนใช้วิตามินอี โดยลืมคำนึงถึงความจำเป็นที่ควรจะได้รับหรือโทษที่อาจเกิดขึ้นเมื่อได้รับมากจนเกินความต้องการของร่างกาย ดังนั้นเราจึงไม่รอช้าที่จะนำข้อมูลทั้งดีและโทษมาบอกให้เข้าใจกันมากขึ้นค่ะ 

 

เกี่ยวกับ วิตามินอี หรือ Tocopherol

  • วิตามินอีเป็นวิตามินชนิดละลายในไขมัน (fat soluble vitamin)
  • มีลักษณะเป็นของเหลวคล้ายน้ำมัน สีเหลืองอ่อน ไม่ละลายในน้ำ ละลายได้ในสารละลายไขมัน เช่น แอลกอฮอล์ อีเทอร์
  • วิตามินอีมีความสำคัญต่อการทำงานของระบบสืบพันธุ์ จึงเรียกชื่อตามความหมาย คือ Tocopherol  มาจากภาษากรีก Tokos แปลว่า เด็ก (Children) และ Pheno แปลว่า ทำให้เกิด (to bear)
  • วิตามินอีมีมากในพืชส่วนในสัตว์นั้นพบน้อยมาก การบริโภคผักหรือผลไม้สดจะช่วยเพิ่มปริมาณวิตามินอีที่ร่างกายได้รับได้ นอกจากนี้ยังพบว่าน้ำนมมารดา โดยเฉพาะน้ำนมมารดาหลังคลอด (colostrum) ก็เป็นอีกแหล่งหนึ่งที่ให้วิตามินอีในปริมาณที่สูงมากเช่นกัน
  • อาหารที่ให้วิตามินอี ได้แก่ อาหารจำพวก ผัก น้ำมัน ไข่ เนย ข้าวบาเลย์ ข้าว ข้าวโอ๊ต
  • วิตามินอีป้องกันการเกิดออกซิเดชัน (antioxdation) ของกรดไขมันไม่อิ่มตัว วิตามินเอ แคโรทีน และวิตามินซี
  • วิตามินอีจะช่วยป้องกันการแตกของเม็ดเลือดแดง ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดและการอุดตันของเส้นเลือด ลดการเกิดกระบวนการอักเสบในร่างกายที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคต่างๆ
  • วิตามินอี ยังมีฤทธิ์อื่นๆ อีกมากมาย มีหน้าที่เบื้องต้นเสมือนฟองน้ำที่คอยดูดซับอนุมูลอิสระซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เซลล์หรือเนื้อเยื่อถูกทำลาย หรือที่รู้จักกันในชื่อของ “สารต้านอนุมูลอิสระ”
  • วิตามินอี มักจะไปควบคู่กับวิตามินบีเสมอ ทางการแพทย์จึงเรียกว่า วิตามินพี่น้อง
  • ออกซิเจนและความร้อนสามารถทำลายวิตามินอีได้ รวมไปถึงการแช่แข็งเป็นเวลานาน ก็ทำให้เกิดการสูญเสียวิตามินอีได้เช่นกัน

 

ประโยชน์ของวิตามินอีต่อร่างกาย

เนื่องจากผนังของเซลล์ต่างๆ ในร่างกายมีไขมันที่ไม่อิ่มตัวเป็นโครงสร้างหลัก โครงสร้างที่ว่านี้จะถูก ทำลายได้ง่ายด้วยกระบวนการออกซิเดชัน (oxidation) และส่งผลให้เกิดสารอนุมูลอิสระ (free radicals) ชนิดต่างๆ ตามมา ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างภายในเซลล์ที่สัมผัสกับสารอนุมูลอิสระ วิตามินอี เป็นสารต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันและอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพ (potent antioxidant) ซึ่งมีผลในการป้องกันการทำลายเซลล์ หรือลดความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ที่มีสาเหตุมาจากอนุมูลอิสระได้ นอกจากนี้ยังมีผลช่วยปกป้องการเสื่อมสลายของเยื่อหุ้มเซลล์ (stabilize) ที่บุอยู่ตามอวัยวะต่างๆ เช่น ผิวหนัง ตา ตับ เต้านม หลอดเลือด และเม็ดเลือดแดง ทำให้อวัยวะดังกล่าวทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีความคงทนมากขึ้นด้วย

 

วิตามินอีกับโรคมะเร็ง  คุณสมบัติที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระของวิตามินอี นอกจากจะช่วยป้องกันเซลล์จากการทำลายของปฏิกิริยาออกซิเดชันและการเกิดอนุมูลอิสระแล้ว วิตามินอียังช่วยป้องกันการเกิดสารไนโตรซามีน (nitrosamines) ตัวการหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง โดยเกิดจากการทำปฏิกิริยาของสารจำพวกไนไตรท์ที่มีในอาหารที่รับประทานเข้าไปภายในกระเพาะอาหาร และยังช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายอีกด้วย นอกจากนี้การศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่าวิตามินอียังมีผลช่วยยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งได้

 

วิตามินอีกับการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง กระบวนการออกซิเดชันของไขมันชนิด LDL (low density lipoprotein) ซึ่งเป็นไขมันชนิดเลวในเลือดจะ มีผลทำให้เส้นเลือดเกิดความเสียหายอย่างมาก มีหลักฐานที่แสดงว่าวิตามินอี มีคุณสมบัติช่วยลดการเกิดกระบวนการที่ว่านี้ และช่วยลดการเกาะตัวกันของเกล็ดเลือด (platelet aggregation) ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจดีขึ้น และยังช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคระบบหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงหลอดเลือดสมองด้วย โดยได้มีการศึกษาในประเทศอังกฤษพบว่าคนที่ได้รับวิตามินอีอย่างน้อยวันละ 100 IU หลังการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจจะช่วยป้องกันการสะสมของไขมันที่ผนังเลือดได้ และคนที่ได้รับวิตามินอีประมาณวันละ 400-800 IU อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อยปีครึ่งจะช่วยป้องกันอัตราการเกิดโรคหัวใจวายได้ถึง 77%

 

วิตามินอีกับโรคเบาหวาน เชื่อกันว่าสาเหตุที่คนเป็นโรคเบาหวานจะมีการสะสมของสารอนุมูลอิสระเนื่องจากกระบวนการเผาผลาญสารอาหารในร่างกายผิดปกติ นอกจากนี้แล้วยังมีอัตราการตายจากการเกิดโรคแทรกซ้อนจากโรคหลอดเลือดหัวใจได้สูง มีงานวิจัยที่แสดงว่าคนเป็นโรคเบาหวานที่รับประทานวิตามินอีเพียงวันละ 100 IU จะช่วยทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ได้ดี และยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงของหลอดเลือดอีกด้วย

 

วิตามินอีกับโรคต้อกระจก โรคต้อกระจก (cataracts) เป็นความผิดปกติของเลนส์ตาทำให้มองภาพไม่ชัดเจน และอาจตาบอดได้ โดยเชื่อว่าเกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันที่ผิดปกติของโปรตีนในเลนส์ตา มีการศึกษาพบว่าสารที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระจำพวกวิตามินอีสามารถช่วยป้องกัน และชะลอการเกิดของโรคต้อกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่พบว่าสารในกลุ่มนี้ไม่ช่วยให้เกิดผลดีได้ในคนที่สูบบุหรี่ โดยพบว่าการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเกิดโรคต้อกระจก อย่างไรก็ดีจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลไกของสารต้านอนุมูลอิสระและวิตามินอีเกี่ยวกับโรคต้อกระจก

 

วิตามินอี สารอาหารที่ช่วยชะลอความแก่ สารอนุมูลอิสระจะมีผลทำให้เซลล์เกิดความเสียหายและตายได้ในที่สุด ซึ่งนอกจากจะเป็นสาเหตุทำให้ ร่างกายอ่อนแอและแก่เร็วกว่าปกติแล้ว หากเกิดที่สมองก็จะทำให้มีโอกาสเป็นโรคเรื้อรังทางสมองต่างๆ เช่น โรคสมองเสื่อม (Alzheimer’s disease) โรคพาร์คินสัน (Parkinson’s disease) เป็นต้น จากการศึกษาทางคลินิกพบว่าผู้ที่รับประทานวิตามินอี 1,300 IU ต่อวันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปีจะช่วยชะลอการเกิดโรคสมองเสื่อมจากการอุดตันของเส้นเลือดในสมองได้

 

วิตามินอีช่วยแก้ไขข้อบกพร่องของระบบสืบพันธุ์ มีการศึกษาพบว่าผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ได้รับวิตามินอีวันละ 800 IU อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 1 เดือน สามารถช่วยลดอาการต่างๆ เช่น อาการร้อนวูบวาบ นอนไม่หลับ เหนื่อยล้า ซึมเศร้า และเจ็บหน้าอกได้ นอกจากนี้ในผู้ชายที่มีระบบสืบพันธุ์ไม่สมบูรณ์ พบว่าเมื่อได้รับวิตามินอี วันละ 200 IU อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือน จะมีโอกาสมีบุตรสูงขึ้น เนื่องจากวิตามินอีช่วยลดระดับของอนุมูลอิสระในน้ำอสุจิ จึงทำให้ผนังเซลล์อสุจิแข็งแรงขึ้น และส่งผลให้มีอัตราการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นถึง 30% แต่ก็อาจไม่ปรากฏผลหากคนนั้นเป็นคนสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งจะทำลายความแข็งแรงของอสุจิ และอาจทำให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายเสื่อมโทรมลง

 

วิตามินอีกับผิวพรรณ สถาบันโรคผิวหนังหลายแห่งมีการวิจัยพบว่าวิตามินอีช่วยป้องกันผิวจากการไหม้เกรียม ริ้วรอยเหี่ยวย่นและรอยแผลได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานหรือการทาที่ผิวหนังโดยตรง เนื่องจากการเกิดแผลหรือการอักเสบบนผิวหนัง หรือการถูกแสงแดดเผาไหม้จะทำให้เกิดการสะสมของอนุมูลอิสระขึ้น วิตามินอีจะทำหน้าที่เหมือนฟองน้ำที่ดูดซับสารอนุมูลอิสระก่อนที่จะทำให้เนื้อเยื่อต่างๆ เสียหาย จึงช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของผนังเซลล์ทำให้เซลล์ผิวแข็งแรงขึ้น และช่วยให้ทนต่อรังสี UV ในแสงแดดได้ดีขึ้น ดังนั้นผู้ผลิตเครื่องสำอางจึงนิยมนำวิตามินอีมาใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์

 

ถ้าร่างกายขาดวิตามินอี

วิตามินอีสามารถสะสมได้ในเนื้อเยื่อไขมัน ในคนทั่วไปจึงไม่ค่อยพบอาการขาดวิตามินชนิดนี้ แต่มักพบจากความผิดปกติในการดูดซึมไขมัน เช่น การทำงานของตับ ตับอ่อน และลำไส้ผิดปกติ หรือมีโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคที่มีอาการผิดปกติของระบบประสาท (เดินเซ) ร่วมกับการขาดวิตามินอี (ataxia with vitamin E deficiency) นอกจากนี้ยังพบการขาดวิตามินอีได้ในทารกคลอดก่อนกำหนดหรือน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ผู้ที่มีพังผืดจับในถุงน้ำดี (cystic fibrosis) รวมทั้งในผู้ที่ขาดเอนไซม์ กลูโคส-6-ฟอสเฟต ดีไฮโดรจีเนส (G-6-PD) ทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกได้ ซึ่งการขาดวิตามินอี ต้องใช้ระยะเวลานานจึงจะเริ่มมีสัญญาณการเกิดความเสียหายของระบบประสาทปรากฏขึ้น เช่น สูญเสียการรับสัมผัสและการตอบสนองต่อสิ่งเร้า สูญเสียความรู้สึกทางกาย กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีปัญหาเรื่องการกลอกตาและทรงตัวได้ยาก เป็นต้น สำหรับผู้ที่ต้องการวิตามินอีเพิ่มขึ้นเพื่อการป้องกันและรักษาโรคต่างๆ ดังที่กล่าวแล้ว หรือผู้ที่มีปัญหาในการดูดซึมสารอาหาร ก็อาจเลือกรับประทานวิตามินเสริมที่มีขายอยู่ทั่วไป แต่ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณที่เหมาะสมก่อน

ถ้าร่างกายได้รับวิตามินอีมากเกินไป

เนื่องจากวิตามินอีไม่สามารถละลายในน้ำได้ ร่างกายจึงไม่สามารถขับวิตามินอีออกจากร่างกายได้ทางปัสสาวะดังเช่นวิตามินซี หรือวิตามินบี โดยร่างกายจะขับวิตามินอีส่วนเกินบางส่วนออกมาทางอุจจาระ ดังนั้นหากรับประทานวิตามินอีมากเกินไปจะสะสมในร่างกาย นำผลเสียคือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ไปจนถึงกล้ามเนื้ออ่อนแรง จึงแนะนำว่าไม่ควรรับประทานอาหารเสริมประเภทวิตามินอีมากเกินกว่า 1,500 IU ต่อวัน

 

 

www.flickr.com/photos/8047705@N02/5481406508/

Coenzyme Q10 คืออะไร มีความสำคัญแค่ไหน

girl-with-sun
Source: Flickr (click image for link)

Hello สวัสดีค่ะ..  วันนี้จะมาพูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับ “โคเอ็นไซม์ คิวเท็น ” (Coenzyme Q10) กันค่ะ หลายคนคงสงสัยกันจังว่ามันคืออะไรกันนะ ทำไมชอบเห็นบ๊อยบ่อยในผลิตภัณฑ์ต่างๆ และมันช่วยในเรื่องอะไรกันแน่นะ ทำไมถึงเห็นคนเค้าซื้อกันจัง เราก็มีอารมณ์แบบเออๆลองซื้อดูมั่งซิ เห็นเค้าบอกว่าดี บอกว่าช่วยเรื่องผิวพรรณ!!  พูดถึงเรื่องแบบนี้ไม่ได้หรอกนะ อย่าให้ได้ยินเชียว เพราะถ้าได้ยินถึงหูแล้วล่ะก็…เป็นอันต้องรีบไปหา ไปซื้อกันเลยทีเดียวใช่ไหมล่ะคะ ในบ้านเรา เราก็จะเห็นกันอยู่ในหลายรูปแบบเลยทีเดียวค่ะ บ้างก็มีอยู่ในรูปแบบยาบำรุงหรืออาหารเสริม บ้างก็แชมพู เครื่องดื่ม ครีม สกินแคร์ต่างๆ แล้วอย่างนี้ถ้ามีใครมาถามเราว่ามันคืออะไร ช่วยในเรื่องอะไรบ้าง เราก็ดันตอบเค้าไม่ได้..เพราะตัวเราเองก็ไม่ค่อยจะรู้เรื่องเหมือนกันอ่ะเนอะ ไม่เป็นไรค่ะ คำถามนั้นเรามีคำตอบให้เรียบร้อย เพราะฉะนั้นวันนี้ HealthGossip จึงไปหาข้อมูลคลายความสงสัยกันค่ะ ถ้าอย่างนั้นตอนนี้เดี๋ยวเรามาทำความรู้จักกับเจ้าตัวนี้ไปด้วยกันว่าที่จริงแล้วมันคืออะไรกันนะและช่วยอะไรเราบ้างค่ะ

 

โคเอ็นไซม์ คิวเทน (Coenzyme Q10) คืออะไร

Coenzyme Q 10  หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Ubiquinone เป็นสารคล้ายวิตามินที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นสารที่มีบทบาทในการเพิ่มพลังงานให้แก่เซลล์ เพื่อใช้เป็นพลังงานในร่างกาย เป็นสารสำคัญในการสังเคราะห์ Adenosinetriphosphate (ATP) ซึ่งเปรียบได้กับขุมพลังงานของเซลล์ทั่วร่างกายเป็นตัวต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยปกป้องเซลล์จากการทำลายโดยอนุมูลอิสระและยังช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคร้าย Coenzyme Q10 เป็นสารที่ร่างกายสามารถผลิตได้เองโดยธรรมชาติและมีความจำเป็นต่อร่างกาย Coenzyme Q10 พบในเซลล์ทุกเซลล์ที่มีชีวิตในร่างกายโดยจะอยู่ที่ส่วนเยื่อหุ้ม (Membrane) ของไมโตคอนเดรีย ซึ่งไมโตคอนเดรีย (Mitochondrial) นี้ทำหน้าที่ในการผลิตพลังงานให้กับเซลล์ โดยพลังงานดังกล่าวจะอยู่ในรูปของ ATP (AdenosineTriphosphate ) ซึ่งเป็นพลังงานพื้นฐานของเซลล์ Coenzyme Q10 ถูกพบมากในอวัยวะที่ต้องการพลังงานสูงซึ่งจะมีจำนวนไมโตคอนเดรีย(Mitocondrial) มาก เช่น หัวใจ ตับ กล้ามเนื้อ สมอง ส่วนอวัยวะอื่นๆก็พบ Coenzyme Q10 เช่นกันแต่พบค่อนข้างน้อยเนื่องจากอวัยวะดังกล่าวต้องการพลังงานน้อยจึงมีจำนวนไมโตคอนเดรีย (Mitochondrial) น้อยตามไปด้วย ถัาระดับของ Coenzyme Q10 ลดลง ร่างกายจะไม่สามารถแปลงพลังงานจากอาหารให้อยู่ในสภาพที่ร่างกายจะนำไปใช้ได้ เลยทำให้เกิดการเจ็บป่วย ร่างกายอ่อนเพลีย ระบบภูมิคุัมกันเสื่อมสภาพตามมาได้

 

โคเอ็นไซม์ คิวเทน (Coenzyme Q10) มาจากไหน

Coenzyme Q10 ตามธรรมชาตินั้น เกิดขึ้นเองภายในเซลล์ของอวัยวะที่ต้องการพลังงานสูงเช่น หัวใจ ตับ ไต และยังพบที่เซลล์อื่นๆอีก เช่น ที่ผิวหนังโดยที่ชั้นหนังกำพร้าและหนังแท้แต่จะมีจำนวนลดลงเมื่อมีอายุมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้รับจากการรับประทานอาหารจำพวกปลาที่มีไขมันมาก เช่น น้ำมันปลา ปลาทะเลน้ำลึก ปลาทู ปลาซาบะ ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล ปลาแซลมอน เนื้อสัตว์ประเภทไก่ ไข่ เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ตับ ไต หัวใจ ถั่ว เมล็ดธัญพืชที่ไม่ขัดขาวผลไม้เปลือกแข็งผักเช่น บร๊อคโคลี่ ปวยเล้ง  อาหารทะเล ผลิตภัณฑ์จากนม น้ำมันถั่วเหลือง ผัก รำข้าว ซีเรียล

 

ทำไมโคเอ็นไซม์ คิวเทน (Coenzyme Q10) ถึงดีต่อร่างกายของเราล่ะ

คุณสมบัติเด่นของ Coenzyme Q10 เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระนั่นเอง คือสามารถชะลอความแก่ได้โดยที่ Coenzyme Q10 สามารถสร้างพลังงานให้กับผิวเพื่อในการแบ่งเซลล์ ทำให้ริ้วรอยต่างๆสามารถลดลงและเลือนหายไป นอกเหนือจากคุณสมบัติในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และชะลอความแก่ได้แล้วนั้น   Coenzyme Q10 ยังมีคุณสมบัติต่างๆเช่นในการทำงานของหัวใจดีขึ้น ช่วยเสริมเกราะภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้นป้องกันและรักษาโรคเหงือกความดันเลือดสูง คลอเรสเตอรอลสูง และ Coenzyme Q10 นั้นยังมีประโยชน์อีกมากมายดังนี้

  1. โคเอนไซม์คิวเทนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่พบได้ในทุกเซลล์ของสิ่งมีชีวิต มีความสำคัญอย่างมากต่อการสร้างพลังงาน ดังนั้นจึงมีการนำ โคเอนไซม์ Q10 มาใช้เป็นเครื่องสำอางค์สำหรับลดการเกิดริ้วรอย ชะลอการเสื่อมของเซลล์ผิวหนังจากแสงแดด (Photo aging) กล่าวคือ รังสีอัลตราไวโอเลต (UV) จะทำให้เกิดการผลิตอนุมูลอิสระ อนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นนี้ก็จะทำอันตรายต่อไขมัน โปรตีน และสารพันธุกรรมในเซลล์ผิวหนัง ทำให้เกิดริ้วรอย หมองคล้ำได้ มีงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับผลของ โคเอนไซม์ Q10 ว่าสามารถทำให้ความลึกของริ้วรอยลดลง โดยให้กลุ่มทดลองใช้ครีมที่มีส่วนผสมของโคเอนไซม์ Q10 อยู่ 0.3% ทารอบดวงตาเป็นเวลานาน 6 เดือน พบว่าความลึกของริ้วรอยลดลงถึง 27% เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุมซึ่งไม่ได้ใช้ครีมที่มีส่วนผสมของโคเอนไซม์Q10 อยู่ ดังนั้นโคเอนไซม์ Q10 จึงมีส่วนช่วยลดริ้วรอยและชะลอการเสื่อมของเซลล์ผิวหนังได้เป็นอย่างดี และโคเอนไซม์ Q10 ยังเป็นสารสำคัญในการสร้างพลังงานให้กับเซลล์ผิว ช่วยให้เซลล์ผิวแข็งแรง นอกจากนี้โคเอนไซม์ Q10 ยังช่วยเพิ่มการสังเคราะห์คอลลาเจนในเซลล์ผิวทำให้ผิวแน่น ยืดหยุ่นได้ดี ช่วยให้แผลหายได้เร็วขึ้น
  2. มีความสำคัญอย่างมากต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เพราะถ้าหากร่างกายขาด Coenzyme Q10 เซลล์ในร่างจะหยุดทำงานทันที!!
  3. มีบทบาทสำคัญในการช่วยลดริ้วรอย และชะลอการเสื่อมของเซลล์ผิวหนัง
  4. Coenzyme Q10 มีคุณสมบัติคล้ายกับวิตามินอี ช่วยเสริมการทำงานของหัวใจ เพิ่มพลังงานแก่ร่างกาย เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
  5. โรคเกี่ยวกับเหงือก เหงือกทำหน้าที่ในการยึดและพยุงฟันให้คงอยู่ในช่องปาก โรคเหงือกที่เป็นปัญหาและพบได้บ่อยเกิดจากคราบจุลินทรีย์ที่ถูกปล่อยให้สะสมอยู่บนตัวฟัน ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆ จากการวิจัยพบว่าการรับ โคเอนไซม์ Q10 เข้าไปในร่างกายจะช่วยลดและบรรเทาอาการเหงือกบวมรวมถึงอาการฟันโยก (Periodontitis) ได้ และช่วยรักษาโรคเหงือก ชะลอความผิดปกติและการดำเนินของโรคพาร์กินสันได้
  6. สำหรับผู้สูงอายุหลายๆคนแล้วการรับประทานโคคิว10 จะทำให้ร่างกายรู้สึกเหมือนมีพลังขึ้นมาทันที โรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ในร่างกายเช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์คินสัน เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาทที่พบได้มากที่สุด การได้รับโคเอนไซม์ Q10 เข้าไปในร่างกายสามารถช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ในร่างกายได้เนื่องจากใน โคเอนไซม์ Q10 มี ฟีนีลอะลานิน(Phenylalanine) ช่วยการทำงานของต่อมไทรอยด์ให้กระตุ้นการเผาผลาญของร่างกาย ทำให้รู้สึกสดชื่นตื่นตัว ลดความซึมเศร้า ช่วยให้ความจำและระบบประสาททำงานได้ดีขึ้น  และเนื่องจากคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระของโคเอนไซม์ Q10 ซึ่งสามารถช่วยปกป้องการทำลายของอนุมูลอิสระในสมองได้ จากการศึกษาพบว่าการให้โคเอนไซม์ Q10 เป็นอาหารเสริมช่วยชะลอความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อระบบประสาทและสมองได้
  7. เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เพราะโคคิว10 จะไปช่วยบรรเทาอาการเจ็บหน้าอกได้ดีกว่ายาแผนปัจจุบัน ในผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับปริมาณโคเลสเตอรอลในเลือดสูงเกินไป Q10 จะยับยั้งไม่ให้โคเลสเตอรอลจับเป็นก้อนอุดตันเส้นเลือด ใช้ในการรักษาโรคหัวใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวใจล้มเหลวเนื่องจากเส้นเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ (Congestive heart failure) ทั้งนี้เนื่องจากความรุนแรงของโรคผู้ป่วยโรคหัวใจดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะสัมพันธ์กับการขาดโคเอนไซม์ Q10 ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยโรคหัวใจได้รับโคเอนไซม์ Q10 จึงทำให้หัวใจทำงานได้ดียิ่งขึ้น เคยมีการศึกษาในผู้ป่วยโรคหัวใจมากกว่า 2,500 คนแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม โดยให้ผู้ป่วยโรคหัวใจกลุ่มหนึ่งได้รับโคเอนไซม์ Q10 อีกกลุ่มหนึ่งให้ยาหลอกเป็นเวลา 12 เดือน ผลปรากฏว่า 80%ของผู้ป่วยที่ได้รับโคเอนไซม์ Q10 ทุกวันๆละ 100 มิลลิกรัมมีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจน ส่วนประเทศญี่ปุ่นมีการทำวิจัยไว้ถึง 25 ชิ้น พบว่าผู้ป่วยร้อยละ 70 มีอาการดีขึ้นจากโรคหัวใจ โดยมีการศึกษาครั้งหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Therapeutics พบว่าการใช้โคเอนไซม์ Q10 เป็นอาหารเสริมทำให้หัวใจสูบฉีดโลหิตได้มากกว่า 15.7 เปอร์เซ็นต์ และทำให้การออกกำลังกายได้นานขึ้น 25.4 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคความดันโลหิตสูง พบว่าผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมักมีอาการขาดโคเอนไซม์ Q10 ร่วมด้วย ดังนั้นการรับประทานโคเอนไซม์ Q10 อาจจะช่วยให้อาการความดันโลหิตสูงดีขึ้น
  8. เชื่อว่าสามารถช่วยรักษาและป้องกันโรคมะเร็งได้ เนื่องคุณสมบัติของการมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของโคเอนไซม์ Q10 ทำให้สามารถช่วยป้องกันและรักษาโรคมะเร็งได้ ยังมีการศึกษาบางชิ้นที่แสดงว่าโคเอนไซม์ Q10 ให้ผลดีต่อการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย อีกทั้งมีงานวิจัยพบว่าในผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระดับโคเลสเตอรอลสูงในกระแสเลือด และผู้ที่ได้รับยากลุ่ม Statin ผู้ป่วยดังกล่าวควรจะรับประทานโคเอนไซม์ Q10 เพราะยากลุ่มดังกล่าวส่งผลต่อการยับยั้งสร้างโคเอนไซม์ Q10ในร่างกาย

Coenzyme Q10 กับความสวยความงาม

ลดริ้วรอย ชะลอการเสื่อมของเซลล์ผิวหนัง (Anti-aging/Skin care)

ผิวหนังมีหน้าที่ในการป้องกันสารพิษเชื้อโรคและรังสีอัลต้าไวโอเลต (Ultraviolet) จากแสงอาทิตย์ โดยรังสีอัลตร้าไวโอเลตนี้มี 2 ชนิด คือ UVA และ UVB แต่ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดริ้วรอยจะเป็นรังสี UVA โดย UVA สามารถทะลุผ่านชั้นผิวหนังถึงชั้นหนังแท้ และจะเริ่มต้นในการสร้างอนุมูลอิสระ (Free Radical) ซึ่งอนุมูลอิสระนี้เป็นผลิตผลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการออกซิเดชั่น (Oxidation) อนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นนี้ก็จะทำอันตรายต่อไขมัน โปรตีน และสารพันธุกรรม(DNA) ในเซลล์ผิวหนังรวมถึงทำให้เกิดการทำลายของคอลลาเจน(Collagen)และโครงสร้างอื่นๆของผิวหนัง สูญเสียความยืดหยุ่นขาดความกระชับเกิดริ้วรอยและความหมองคล้ำ CoQ10 เป็นสารต้านออกซิเดชั่น (Antioxidant) โดยจะไปป้องกันไม่ให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นที่จะทำให้อนุมูลอิสระซึ่งจะทำอันตรายต่อผิวหนัง  นอกจากนี้ CoQ10 พบมากที่ผิวหนังชั้นนอก(Epidermis)มากกว่าที่ผิวหนังชั้นใน(Dermis) ซึ่งเป็นผิวหนังชั้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากรังสี UVA จึงเป็นข้อดีอีกประการที่จะช่วยขจัดอนุมูลอิสระ(FreeRadical) ซึ่งเป็นสาเหตุของริ้วรอยและความหมองคล้ำนอกจากหน้าที่ในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระของผิวแล้ว Coenzyme Q10 คิวเท็นเปรียบเสมือนแหล่งผลิตพลังงานให้กับเซลล์ผิวหนัง หากเซลล์ผิวหนังได้รับพลังงานไม่เพียงพอก็จะทำให้เซลล์ทำงานผิดปกติก็จะทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่นก่อนวัยอันควร มีงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลของ CoQ10 ต่อการลดริ้วรอยมากมายว่าสามารถทำให้ความลึกของริ้วรอยลดลง เช่นการศึกษาของ Gerson Unna พบว่าภายหลังที่กลุ่มทดลองได้รับ CoQ10 ในระยะเวลา 6 สัปดาห์ ริ้วรอยลดลงกว่า 27% และเมื่อได้รับ CoQ10 ต่อไปเป็นระยะเวลา 10 สัปดาห์ริ้วรอยลดลงกว่า 43%

 

ปริมาณของโคเอนไซม์ คิวเทนที่แนะนำ

  • การรับประทาน Coenzyme Q 10 เป็นอาหารเสริมควรบริโภคในปริมาณ 30-50 มิลลิกรัมต่อวัน เพราะหากกินมากเกินไปจะเกิดอาการ คลื่นไส้อาเจียน ผื่นคัน ปวดหัว ท้องเสีย เจ็บหน้าอก เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ มึนงง หงุดหงิด กระสับกระส่าย ตาแพ้แสง อ่อนเพลีย ครั่นเนื้อครั่นตัว โคเอนไซม์คิวเทนในรูปของอาหารเสริม เป็นสารอาหารที่ละลายได้ดีในไขมัน ควรเลือกที่อยู่ในรูปของน้ำมันซึ่งจะดูดซึมได้ดีมาก โดยในรูปเจลที่อยู่ในรูปของน้ำมันถั่วเหลือง จะดูดซึมได้ง่ายและดีที่สุด ( ทานง่ายด้วย) และควรรับประทานแคปซูลขนาด 30 มิลลิกรัม ครั้งละ 1 เม็ด ได้ถึงวันละ 3 เวลา ทั้งนี้ควรเก็บให้พ้นแสง ควรเก็บไว้ในอุณภูมิปกติหรือเย็น (ห้ามแช่แข็ง)
  • สำหรับผู้ที่รับประทานยาลดระดับคอเลสเตอรอลเพื่อลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ (สเตติน) จะทำให้โคคิว10 ในร่างกายลดลงได้ ซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจมากยิ่งขึ้น!! ดังนั้นควรรับประทานโคคิว10 ร่วมกับสเตตินด้วย
  • การรับประทานอาจจะต้องใช้ระยะเวลานานกว่า 2 เดือนขึ้นไป กว่าจะเห็นผล
  • ขนาดที่แนะนำให้รับประทานต่อวันสำหรับวัยผู้ใหญ่คือ 30 มิลลิกรัม แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคชรา หรือเป็นโรคอื่น ๆควรรับประทาน 50 – 100 มิลลิกรัมต่อวัน

ผลข้างเคียง หากกินมากเกินไปจะเกิดอาการ คลื่นไส้อาเจียน ผื่นคัน ปวดหัว ท้องเสีย เจ็บหน้าอก เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ มึนงง หงุดหงิด กระสับกระส่าย ตาแพ้แสง อ่อนเพลีย ครั่นเนื้อครั่นตัว

ข้อห้ามใช้ ผู้ที่ต้องระวังคือผู้ป่วยโรคเบาหวานน้ำตาลต่ำเพราะจะทำให้น้ำตาลลด  และคนที่เป็นโรคเลือดเพราะ Coenzyme Q 10 จะไปลดประมาณเกล็ดเลือดทำให้เลือดออกง่าย รวมถึงคนที่เป็นความดันต่ำ คนท้อง และแม่ที่ให้นมลูก

 

จะเห็นได้ว่า Coenzyme Q10 นั้นมีความสำคัญอย่างมากต่อร่างกายของเรา ไม่ใช่แค่ในเรื่องของผิวพรรณความสวยความงามอย่างที่เราเข้าใจกันมาตลอดเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อเรื่องของสุขภาพของเรามากมายเช่นกัน วันนี้ได้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ไปแล้ว ต่อไปเราคงสามารถบอกคนอื่นได้ซะทีสินะว่ามันดีอย่างไร จบปิ้ง

 

www.flickr.com/photos/22545218@N06/14989592943/

Omega 6 คืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร

vegetable-oil-1
Source: Flickr (click image for link)

โอเมก้า 6 (Omega 6) หลายๆคนคงคุ้นหูคุ้นตากันแค่ Omega 3 มากกว่าใช่ไหมล่ะคะ แต่ไม่ทราบกันใช่ไหมล่ะว่ามีโอเมก้า 6 ด้วยเหมือนกันค่ะ โอเมก้า 6 หรือกรดไขมันโอเมก้า 6 ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ทั้งที่จริงแล้ว กรดไขมันโอเมก้า 6 คือตัวถ่วงสมดุลของกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งร่างกายเรานั้นจะใช้ประโยชน์จากกรดไขมันทั้ง 2 ชนิดด้วยกัน นั่นแหละคะเพราะฉะนั้นเราจึงไม่ควรที่จะมองข้ามเจ้าตัวโอเมก้า 6 นี้ไปและมาทำความเข้าใจกับเจ้ากรดไขมันตัวนี้ซักนิด เพราะว่ากรดไขมันทั้งสองตัวนี้มีความสำคัญและมีประโยชน์ไม่แพ้กันเลยค่ะ  และเราก็อาจจะยังไม่ทราบว่าถ้าขาดตัวใดตัวหนึ่งไปอาจจะมีผลดีหรือเสียกันแน่ เจ้าโอเมก้า 6 นี้มาจากไหนกันนะ สงสัยกันใช่ไหมล่ะคะ… ร่างกายของมนุษย์อย่างเราๆไม่มีตัวใดตัวหนึ่งที่ต้องทำงานหนักเพียงคนเดียว สารอาหารที่เราได้รับก็เช่นกันดูภายนอกเราคิดว่าได้รับอย่างเดียว ชนิดเดียวก็เพียงพอแล้วแหละ แต่ความเป็นจริงทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีความพอดี สมดุลกันอย่างเหมาะสม เพื่อให้มาซึ่งความสมบูรณ์และเพียงพอนั่นเองค่ะ เพราะฉะนั้นวันนี้เราถึงต้องมาทำความรู้จักกับเจ้าโอเมก้า 6 กันหน่อย HealthGossip เลยไม่พลาดที่จะนำความรู้เหล่านี้มาเล่าสู่กันฟังค่ะ

 

โอเมก้า 6 คืออะไร

กรดไขมันโอเมก้า 6 เป็นกรดไขมันชนิดที่ดีอีกชนิดหนึ่ง คือเป็นแบบไขมันห่วงโซ่ยาวที่มีอะตอมของคาร์บอนมากและมีพันธะคู่มากกว่าหนึ่งแห่งในห่วงโซ่ และมีพันธะคู่ตัวแรกอยู่ที่อะตอมของคาร์บอนตัวที่ 6 ของสายห่วงโซ่ (เลยเรียกว่าโอเมก้า 6 ไงล่ะคะ) โดยที่ร่างกายของเราไม่สามารถสร้างพันธะคู่ที่ตำแหน่งอะตอมของคาร์บอนตัวที่ 3 (ในกรณีของโอเมก้า 3) หรือตัวที่ 6 (ในกรณีของ โอเมก้า 6 นี้) จึงจำเป็นที่เราจะต้องรับประทานเข้าไปโดยตรงจากภายนอก โอเมก้า 6 นั้นเป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว (unsaturated fatty acid) ซึ่งมีพันธะคู่หลายอัน polyunsaturated fatty acids (PUFA) โดยมีตำแหน่งของพันธะคู่ที่ตำแหน่งโอเมกา 6 ซึ่งนับจากคาร์บอนของกรดไขมันด้านปลายที่มีหมู่เมทิล (CH3-) กรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวที่เป็นกรดไขมันกลุ่มโอเมก้า-6 ได้แก่กรดลิโนเลอิก (linoleic acid, C 18:2) เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง ในกลุ่มโอเมก้า 6 (Omega 6) เป็นกรดไขมันจำเป็นที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ ต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น ซึ่งมีประโยชน์ คือ เป็นสารตั้งต้นของการสร้างสารพรอสตาแกลนดิน PG1 ซึ่งมีผลดีต่อสุขภาพ โดย
– ลดการทำงานของเกร็ดเลือด ทำให้การเกิดไขมันอุดตันในหลอดเลือดลดน้อยลงช่วยทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น และหัวใจทำงานน้อยลงนั่นเองค่ะ
– ช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลชนิดร้าย (LDL) เพิ่มโคเลสเตอรอลชนิดดี (HDL)
– ช่วยลดอาการปวดและอาการอักเสบต่างๆ
– ช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้เซลล์ผิวหนัง ลดอาการแห้งกร้าน แตกขุย ริ้วรอยต่างๆ บนผิวรวมถึงรักษาอาการทางผิวหนังบางชนิด เช่น ผื่นผิวหนังเรื้อรัง ผิวแห้งลอกเป็นเกล็ด รังแค ผมร่วง เป็นต้น
– มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดและชะลอการเสื่อมของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง
– ลดอาการแทรกซ้อนทางประสาทของผู้ป่วยเบาหวาน อาทิ อาการชาตามปลายมือและปลายเท้า
ช่วยรักษาอาการผิดปกติของชายหญิงวัยเจริญพันธุ์ และสตรีวัยทอง

กรดอะราคิโดนิก (arachidonic acid, C 20:4) โอเมก้า 6 นั้นร่างกายของเราไม่สามารถผลิตขึ้นมาเองได้นะคะ จำเป็นต้องได้รับจากอาหาร ในอาหารที่พบโอเมก้า 6 ได้นั้นจะอยู่ในน้ำมันพืช ถั่วเหลือง ทานตะวัน อิฟนิ่งพริมโรส คาโนล่า รำข้าว, จมูกข้าว น้ำมันรำข้าว และถั่วชนิดต่างๆ 

– โอเมก้า 6 มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย การทำงานของสมองและหัวใจ ช่วยควบคุมระดับฮอร์โมนให้อยู่ในระดับปกติ ลดภาวะความเครียดของสตรีในช่วงก่อนมีประจำเดือน คืนความชุ่มชื่นให้กับผิวที่แห้งกร้าน ตลอดจนบรรเทาอาการอักเสบของสิว ผื่นแดงที่ผิวหนัง (โรคเรื้อนกวาง) ผิวหนังอักเสบ หนังศีรษะอักเสบ ผมร่วง แผลหายช้า

– โอเมก้า 6 มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ช่วยลดและชะลอการเสื่อมของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง ลดอาการแทรกซ้อนทางประสาทของผู้ป่วยเบาหวาน อาทิ อาการชาตามปลายมือและปลายเท้าช่วยรักษา อาการผิดปกติของชายหญิงวัยเจริญพันธุ์และสตรีวัยทอง  

– โอเมก้า 6 เป็นไขมันแบบไม่อิ่มตัว ที่ช่วยป้องกันโรคภัยต่างๆ ได้ แต่โดยทั่วไปที่เราไม่ค่อยได้พูดถึงเพราะว่าในการรับประทานอาหารตามปกติของเรา เรามักจะได้รับกรดไขมันชนิดโอเมก้า 6 นี้อย่างเพียงพออยู่แล้วและดูเหมือนจะมากเกินไปด้วยในบางครั้ง

รู้ไหมคะ ว่าร่างกายของเราจะใช้ประโยชน์ของกลุ่มกรดโอเมก้า 3 กับโอเมก้า 6 คล้ายคลึงกัน คือ กรดไขมันโอเมก้า 3 จะสร้างไอโคซานอยด์ ทำให้เลือดไหล ยับยั้งการอักเสบ แต่กลุ่มของกรดไขมันโอเมก้า 6 จะทำให้ เลือดแข็งตัว ซึ่งจะทำงานตรงข้ามและถ่วงดุลกันนั่นเองค่ะ  ทั้งนี้ ในความเป็นจริงแล้วคนเราต้องกินทั้ง 2 กลุ่มกรดไขมันให้สมดุลกัน ซึ่งร่างกายเราต้องการกรดไขมันโอเมก้า 6 มากกว่ากรดไขมันโอเมก้า 3 ประมาณ 3 : 1 จนถึง 5 : 1 ดังนั้น แท้จริงแล้วร่างกายมีความต้องการทั้งกรดไขมันโอเมก้า 3 และกรดไขมันโอเมก้า 6 การโฆษณาความสำคัญของกรดไขมันโอเมก้า 3 ซะเป็นส่วนมากนั้น อาจทำให้ผู้บริโภคลืมความสำคัญของกรดไขมันโอเมก้า 6 ไปก็เป็นได้ค่ะ

 

โอเมก้า 6 พบได้จากไหน

ไขมันโอเมก้า 6 หลักๆ ในอาหารก็คือกรดไลโนเลอิก (Linoleic acid, LA) และได้มาจากน้ำมันพืชต่างๆ เมื่อเรารับประทานน้ำมันพืชเข้าไป ร่างกายจะสามารถเปลี่ยนกรดไลโนเลอิกไปเป็นกรดแกมมา-ไลโนเลอิก (Gamma-linolenic acid, GLA) และกรดอะราคิโดนิก (Arachidonic acid, AA) กรดทั้งสองตัวนี้ก็ยังถือว่าเป็นกรดไขมันโอเมก้า 6 อยู่ และมีในน้ำมันพิเศษบางอย่างเช่นพริมโรส (Primrose oil) ก็มีกรดแกมมา-ไลโนเลอิกอยู่เช่นกันค่ะ

  • ควรกินทั้งปลาน้ำจืด และปลาทะเล ถ้าเรามีความสามารถที่จะกินปลาทะเลที่มาจากต่างประเทศก็ได้ แต่ผู้ที่ไม่สามารถซื้อหาได้ก็ไม่มีความจำเป็น
  • กินปลาให้สม่ำเสมอ อย่างน้อย ๒-๓ ครั้งต่อสัปดาห์ ควรกินผักต่างๆ ในแต่ละมื้อเพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วนทุกหมู่
  • กินอาหารให้พอดี ออกกำลังกาย ควบคุมดูแลน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน
  • กินให้พอดีและมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผัก พืชน้ำมัน เนื้อสัตว์ หรือปลา เราควรกินให้หลากหลายชนิด และให้ได้ปริมาณ ซึ่งผักอาจแตกต่างจากเนื้อสัตว์ตรงไขมันต่ำยกเว้นนำไปทอดหรือผัดรวมถึงปลา ซึ่งกรรมวิธีการทำอาหาร เช่น การทอด การนึ่ง อาจทำให้คุณค่าทางสารอาหารหายไปเล็กน้อย เพราะน้ำมันที่ทอดจะดูดซับไขมันที่เราทอดออกมาด้วย จึงต้องเลือกน้ำมันที่มีคุณภาพในการประกอบอาหาร

ที่จริงแล้วไม่แนะนำว่ากินอะไรดีที่สุด เพราะทำให้คนที่ไม่ได้รู้ลึก นั้นนำไปปฏิบัติซ้ำๆ กันและนั่นก็อาจจะส่งผลเสียได้ค่ะ เพราะว่าอาหารหรือสารอาหารทุกชนิดนั้นล้วนมีทั้งประโยชน์และมีทั้งโทษในตัวของมัน เช่นกันนั้นไขมันดีๆ เวลากินมากเกินพอดีมันก็มีโทษเพราะฉะนั้นต้องเดินทางสายกลาง เช่น ปลามีกรดไขมันโอเมก้า 3 ต้องกินสลับประมาณ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือกินวันเว้นวัน อาจสลับเป็นอาหารทะเลเพราะอาหารทะเลก็มีกรดไขมันโอเมก้า 3 เช่นกัน เช่น กุ้ง หอย ปลาหมึก ฯลฯ

ส่วนในคนที่สูงอายุนั้นก็ควรทานให้มากขึ้น 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือ 4-5 ต่อสัปดาห์ก็ยังได้ โดยกินสลับกันไม่จำเป็นต้องไปเน้นชนิดว่าอย่างใดมีประโยชน์มากกว่ากัน ปลาอะไรก็กินได้หมดค่ะแล้วก็จะทำให้เราไม่ต้องไปควบคุมหรือกังวลว่าจะได้กรดไขมันครบถ้วนหรือไม่

 

ทั้งนี้เมื่อเรารู้จักแล้วว่าไขมันโอเมก้า 6 คืออะไร ซึ่งจะเห็นได้ว่ามันมีทั้งประโยชน์ (เมื่อรับประทานพอดี มีพอดี) และมีโทษ (เมื่อรับประทานมากเกินไป)  เราก็คงสงสัยกันใช่ไหมคะว่าแล้วเราจะทำอะไรกับมันได้บ้าง ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เพราะผลการศึกษาวิจัยบอกไว้ว่า ถ้าเราสามารถรักษาระดับของสัดส่วนการรับประทานโอเมก้า 6 ต่อ โอเมก้า 3 เป็นระหว่าง 1:1 ถึง 4:1 อย่าให้เกินนั้น ก็จะเป็นการดีต่อสุขภาพ แต่โดยทั่วไป สำหรับผู้ที่ไม่ค่อยได้รับประทานไขมันจากปลา (โอเมก้า 3) สัดส่วนนี้อาจจะแย่กว่ามาก เช่นเป็น 20:1 ซึ่งหมายถึงร่างกายได้รับโอเมก้า 3 น้อยไป และได้รับโอเมก้า 6 มากเกินไป ก็จะเป็นสภาวะที่ไม่ดีต่อร่างกายของเราค่ะการกินกรดไขมันโอเมก้า 6 ก็มีสำคัญเช่นกันหากเห็นว่ากรดไขมันโอเมก้า 3 สำคัญแล้ว กรดไขมันโอเมก้า 6 ก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันเลยค่ะ

     

www.flickr.com/photos/cottonseedoiltour/5052424228/