Browse Tag: สุดยอดอาหาร

เมล็ดเจียคืออะไร มีคุณค่าและประโยชน์อย่างไร

Source: Flickr (click image for link)

ปัจจุบันคนหันมารักสุขภาพกันมากขึ้นและในคนที่รักสุขภาพก็ต่างค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอาหารหรือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพมารับประทานอยู่เสมอๆ จะไม่มีใครไม่รู้จักอาหารที่ถูกยกให้เป็นซูปเปอร์ฟู้ดส์อย่าง เมล็ดเจีย หรือ เมล็ดเชีย (Chia Seed) อย่างแน่นอน และจากที่พบประสบมาไม่ใช่แค่ในคนที่รักสุขภาพเลือกรับประทานแต่อาหารเพื่อสุขภาพเท่านั้น ในคนที่กำลังควบคุมอาหารหรืออยู่ในช่วงลดน้ำหนักก็ให้ความสนใจต่อเมล็ดตัวนี้เช่นกัน ได้มีการถามไถ่เข้ามาว่าเมล็ดตัวนี้คืออะไร ช่วยในเรื่องอะไรบ้างและเจ้าตัวเมล็ดเชียนี้มีความดีความชอบอย่างไรกันถึงได้ถูกยกให้เป็นหนึ่งในอาหารที่เรียกว่า สุดยอดอาหาร (Super Foods) กันได้ล่ะ ด้วยความสนอกสนใจของเจ้าเมล็ดตัวนี้กันถ้วนหน้ารวมถึงตัวเองด้วย เลยขออนุญาตินำข้อมูลมาแบ่งปันกันค่ะ สมัยนี้ใครๆ ก็รักสุขภาพตัวเองกันทั้งนั้นแหละค่ะ การไม่เจ็บป่วยนั้นเป็นสิ่งที่หลายคนโหยหาและเป็นชีวิตที่ใครๆ ก็ปราถนากันทั้งนั้น ไม่ว่าจะโรคภัยไข้เจ็บจากการรับประทานอาหารไม่ถูกต้อง หรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เรามีสุขภาพที่อ่อนแอลง ในเมื่อเราเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ไม่ได้แต่รู้ไหมคะว่าการเลือกรับประทานอาหารที่ถูกต้องนั้นช่วยได้ค่ะ เราห้ามสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวไม่ว่าจะจากคนอื่นหรือจากสิ่งที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติได้ไม่ง่าย แต่เราก็สามารถหันมาปรับและเปลี่ยนแก้ไขตัวเราเองได้และยังง่ายกว่าด้วยค่ะ ในคนที่ดูแลตัวเองดีอยู่แล้วก็เป็นสิ่งที่ดีค่ะแต่ใครที่ยังคิดว่าค่อยเริ่มพรุ่งนี้ละกันก็ยังไม่สาย ถ้าคุณเริ่มต้นทำมันจริงๆ อย่าเพิ่งไปคิดว่าทำเพื่อลดน้ำหนักแล้วทำให้ท้อซะก่อน คิดแค่ว่าเราทำก็เพื่อสุขภาพของเราเองแค่นี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้วค่ะ เอาล่ะตอนนี้ไปทำความรู้จักกับเจ้าเมล็ดเจียกันเลยดีกว่าค่ะ

 

เมล็ดเจียคืออะไร มาจากไหนและมีประโยชน์อย่างไร

เมล็ดเจีย หรือ เมล็ดเชีย (Chia Seed) ที่หลายๆ คนรู้จักนั้นมีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า Salvia Hispanica L. ซึ่งทราบหรือเปล่าคะว่าเมล็ดเจียเป็นพืชที่มีมายาวนานมากแล้วค่ะ เป็นพืชที่มีอายุมากกว่า 3,500 ปี ก่อนคริสตกาลตั้งแต่สมัยอาณาจักรแอซแท็กและอาณาจักรมายันในทวีปอเมริกา และก็แน่นอนว่าเจ้าพืชตัวนี้สามารถเจริญเติบโตได้ดีในบริเวณแถบที่มีอากาศหนาว ซึ่งอเมริกาก็เป็นทวีปที่ปลูกเมล็ดเจียกันเยอะอีกด้วย แต่เมล็ดเจียนี้กลับมีถิ่นต้นกำเนิดอยู่ที่ประเทศเม็กซิโกและโบลิเวีย โดยชาวพื้นเมืองเขาพากันรับประทานมานานแล้วกว่าพันๆ ปีเลยค่ะ พวกเขานิยมนำเมล็ดเชียมาเป็นอาหารหลักโดยนำเมล็ดเจียมาผสมกับข้าวโพดหรือถั่วต่างๆ

Source: Flickr (click image for link)

“เมล็ดเจีย (Chia Seed)” จะมีลักษณะของเมล็ดเป็นเม็ดเล็กๆ โดยมีเปลือกนอกที่สามารถพองตัวได้เหมือนกับเม็ดแมงลัก ซึ่งบางคนก็อาจสับสนเวลาที่มองผ่านๆ จะชอบคิดว่าเมล็ดเจียคือเม็ดแมงลัก แต่แท้จริงแล้วเป็นคนละอย่างกันแค่มีลักษณะคล้ายกัน ซึ่งในความแตกต่างกันของเมล็ดเจียและเม็ดแมงลักนั้นสามารถแยกออกได้ด้วยการสังเกตลักษณะของเมล็ด โดยเมล็ดเจียนั้นจะมีลักษณะเรียวรีมีสีน้ำตาลเทา เมื่อนำไปแช่น้ำก็จะพองตัวมีลักษณะใส ส่วนเม็ดแมงลักนั้นจะมีสีดำเข้มถ้าเรานำไปแช่น้ำก็จะเกิดการพองตัวแบบเมล็ดเจียแต่จะมีเมือกขาวขุ่นออกมาด้วยค่ะ เมล็ดเจียมีขนาดลำต้นสูงประมาณ 4 – 6 ฟุต และเป็นพืชตระกูลเดียวกันกับมินต์หรือกระเพรา ซึ่งในประเทศไทยก็พบว่ามีการปลูกกันมากในแถวจังหวัดลำปางและจังหวัดกาญจนบุรีค่ะ

ด้วยความที่เมล็ดเจียเป็นที่ถูกจับตามองกันเยอะขึ้นและก็รู้จักกันมากขึ้น อีกทั้งก็ยังมีคนที่สงสัยว่าเมล็ดเจียเม็ดเล็กๆ แบบนี้มีคุณค่าและประโยชน์อย่างไรกันนะ ทำไมคนถึงหันมานิยมกันมากมายขนาดนี้ เดี่ยวเรามาดูกันค่ะว่าสารอาหารทั้งหมดที่อยู่ในเมล็ดจิ๋วๆ นี้มีอะไรอยู่บ้าง

สารอาหารในเมล็ดเจีย 1 ออนซ์ หรือ 28.4 กรัม

โดยให้คุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้ค่ะ

ให้พลังงานทั้งหมด 138 กิโลแคลอรี่

คาร์โบไฮเดรต                                12  กรัม               —–>  4%

โปรตีน                                           4.7  กรัม               —–>  9%

ใยอาหาร                                         11  กรัม              —–>  40%

ไขมันทั้งหมด                                    9  กรัม              —–>  13%

แบ่งเป็นไขมันอิ่มตัว                       0.9  กรัม               —–>  4%

ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว                  0.7  กรัม

ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน                     7  กรัม

 

กรดไขมันโอเมก้า 3                   4915  มิลลิกรัม

กรดไขมันโอเมก้า 6                  1620   มิลลิกรัม

แคลเซียม                                      77   มิลลิกรัม                                

ฟอสฟอรัส                                   265   มิลลิกรัม

โพแทสเซียม                               115   มิลลิกรัม

โซเดียม                                           5   มิลลิกรัม

สังกะสี                                          1.0   มิลลิกรัม

ทองแดง                                        0.1  มิลลิกรัม

แมงกานีส                                    10.6  กรัม

ธาตุเหล็ก                                          7  กรัม

 

ประโยชน์และคุณค่าของสารอาหารที่มากล้นเกินขนาดของเมล็ดแบบนี้ ไม่แปลกใจที่จะถูกยกให้เป็นสุดยอดอาหารค่ะรวมทั้งหลายๆ คนก็เลือกที่จะซื้อหามาติดครัวที่บ้านไว้ ด้วยปริมาณใยอาหารที่สูงจึงเหมาะกับคนที่กำลังควบคุมน้ำหนักอยู่ เนื่องจากใยอาหารจะมีการพองตัวและทำให้เรารู้สึกอิ่มนานขึ้นไม่รู้สึกหิวบ่อย อีกทั้งเมล็ดเจียมีค่าพลังงานที่ต่ำมีสารอาหารจำพวกกรดไขมันที่ดีอย่างโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 อยู่สูงมาก รวมทั้งยังมีแร่ธาตุที่สำคัญมากมายอยู่ด้วย ไม่น่าเชื่อเลยใช่มั้ยล่ะคะเมล็ดเจีย (Chia Seeds) จิ๋วแต่แจ๋วนะจะบอกให้ 😉

 

อ้างอิง : ข้อมูลสารอาหารทางโภชนาการจาก www.draxe.com/chia-seeds-benefits-side-effects

www.flickr.com/photos/sweetbeetandgreenbean/2987956173/

www.flickr.com/photos/117561658@N03/27898746913/

19 สุดยอดอาหารที่มีไฟเบอร์สูง

oats-meal-1
Source: Flickr (click image for link)

ไฟเบอร์ (Fiber) หรือ เส้นกากใยที่เรารู้จักในอาหารจำพวกผักและผลไม้ ทำไมวันนี้เราจึงยกหัวข้อเรื่องอาหารที่มีไฟเบอร์สูงมานำเสนอกัน เนื่องจากสมัยนี้ในบางคนหรือส่วนใหญ่ไม่ชอบรับประทานอาหารจำพวกผักผลไม้กันมากนัก จึงทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมาต่างๆ นาๆ จากที่สังเกตุได้ก่อนง่ายๆ เลยคือเรื่องของระบบขับถ่ายที่ส่งผลกระทบให้ขับถ่ายลำบาก ไม่ค่อยขับถ่ายเป็นเวลาบางคนเป็นเดือนก็ยังไม่ขับถ่ายเลย ใครจะคิดว่าเจ้าไฟเบอร์ที่ดูเหมือนจะเป็นสิ่งธรรมดาไม่ได้พิเศษอะไรแต่ถ้าเมื่อไหร่ร่างกายเราไม่มีมันแล้วล่ะก็ อาจจะสามารถส่งผลที่แย่ในหลายๆ ด้านได้ บางคนอาจจะรับประทานอาหารเสริมที่มีไฟเบอร์เป็นส่วนประกอบแทน เนื่องจากไม่มีเวลาหรือไม่ชอบทานผักและผลไม้ แต่ทราบหรือไม่คะว่าการมีผักและผลไม้เป็นส่วนหนึ่งของอาหารในแต่ละมื้อแต่ละวันนั้นนอกจากจะช่วยให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนแล้ว ในผักผลไม้เหล่านั้นยังมีวิตามินเกลือแร่ที่ร่างกายได้รับโดยตรงแล้วนั้นไม่ได้แค่ช่วยในเรื่องของการขับถ่ายอย่างเดียวแต่ยังมีส่วนช่วยในเรื่องของผิวพรรณ ระบบต่างๆ ของร่างกายให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้นด้วย อย่างเช่น ไปช่วยลดน้ำตาลในเลือด ลดระดับคอเลสเตอรอล ช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ค่ะ โดยผู้หญิงเราควรได้รับไฟเบอร์อย่างน้อย 25 กรัมต่อวัน ส่วนผู้ชายนั้นอยู่ที่ 35-40 กรัม แต่คนทั่วไปจะกินกันแค่ 15 กรัมเท่านั้น (ไม่นับอาหารที่มีการใส่ไฟเบอร์เสริม) และทีนี้จะทราบกันได้อย่างไรว่าอาหาร ผักและผลไม้ประเภทไหนยังไงถึงจะมีไฟเบอร์ที่เยอะและพอต่อร่างกายของเราในแต่ละวัน ไม่ต้องกังวลค่ะวันนี้มีข้อมูลมาให้เรียบร้อย บางประเภทบางอย่างก็ใกล้ตัวหาทานได้ง่ายทั่วไปค่ะ

 

19 สุดยอดอาหารที่มีไฟเบอร์สูง

 

1.ข้าวกล้อง

เริ่มต้นด้วยอาหารหลักของคนไทยบ้านเรานั่นก็คือข้าวนั่นเอง แต่ส่วนใหญ่คนไทยจะคุ้นเคยการรับประทานข้าวขาวข้าวที่ผ่านการขัดสีซะมากกว่า แต่ทราบหรือไม่คะว่าข้าวกล้องสีน้ำตาลอ่อนๆ นี้แหละประโยชน์เพียบ ข้าวกล้องมีกากใยอาหารสูงถึง 3.5 กรัม/ถ้วย และการกินข้าวขาวนั้นอาจจะทำให้ความเสี่ยงเป็นเบาหวานประเภทสองสูง แต่กลับกันการกินข้าวกล้องกลับจะช่วยให้ลดความเสี่ยงได้ของการเป็นเบาหวานได้เสียอีกแน่ะ เนื่องจากเส้นใยนี้เองจะไปช่วยซับเอาน้ำมันและน้ำตาลที่กินเข้าไปล้นเกินนั้นขับทิ้งออกเป็นกากอุจจาระ ทั้งยังช่วยควบคุมน้ำหนักและช่วยควบคุมระดับไขมันกับระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป และเมื่อมีกากอุจจาระมากขึ้น ก็ทำให้การขับถ่ายดีขึ้นช่วยลดอาการท้องผูกได้อีกด้วยค่ะ

 

2.ข้าวโอ๊ต

ข้าวโอ๊ต เป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่ดีมีเบต้ากลูแคนไฟเบอร์ชนิดพิเศษ จัดเป็นเมนูอาหารเช้าที่ทรงคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยมีไฟเบอร์ทั้งแบบละลายน้ำ (ที่ช่วยลดความดันโลหิต) และไฟเบอร์แบบไม่ละลายน้ำ (ที่ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานตามปกติ) นอกจากนั้นยังช่วยเรื่องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานเป็นอย่างดี

 

3.ข้าวโพด

ข้าวโพดแสนอร่อยสำหรับใครหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็นสีเหลือง ขาว หรือม่วงล้วนแต่มีประโยชน์จากไฟเบอร์ทั้งนั้น โดยที่ข้าวโพด 1 ฝัก (หรือประมาณครึ่งถ้วย) จะมีไฟเบอร์ประมาณ 2 กรัม หรือจะกินเป็นแบบป๊อปคอร์นแทนก็ได้ แต่ต้องระวังไม่ใส่เนย น้ำตาล หรือเกลือมากเกินไป ป๊อปคอร์นจะให้ไฟเบอร์ประมาณ 3.5 กรัม ต่อปริมาณสามถ้วย

 

4.ข้าวบาร์เลย์

ข้าวบาร์เลย์ที่เรารู้จักกันส่วนใหญ่จากวัตถุดิบของเบียร์หรือวิสกี้ แต่ข้าวบาร์เลย์ก็เหมาะกับโยเกิร์ตหรือน้ำเต้าหู้เหมือนกัน ข้าวบาร์เลย์มีปริมาณไฟเบอร์ที่สูงที่สุดในบรรดาเมล็ดข้าวทั้งหมด ข้าวบาร์เลย์ที่สุกแล้วอุดมไปด้วยไฟเบอร์ 6 กรัมต่อถ้วย เพราะฉะนั้นตัวเลือกนี้คงควรจะต้องมีไว้ในดวงใจซะแล้ว

 

5.เมล็ดเจีย

เมล็ดเจียจัดเป็นซูปเปอร์ฟู้ดส์หรือสุดยอดอาหารและมีประโยชน์ มากคุณค่าทางโภชนาการเป็นอย่างยิ่ง เป็นธัญพืชที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำแต่อุดมด้วยไฟเบอร์สูงที่ช่วยรักษาสมดุลของน้ำตาลในเลือด จึงมีคุณสมบัติช่วยต้านโรคเบาหวานประเภท 2 ได้ เมล็ดเจียที่เห็นว่าเป็นเมล็ดเล็กๆอย่างนี้ แต่ทราบหรือเปล่าว่าอัดแน่นเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางอาหารไว้ข้างในได้แก่ โปรตีน พลังงาน น้ำ ไขมัน คาร์โบไฮเดรต ไฟเบอร์ แคลเซียม เหล็ก แมกนีเซียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส ซิงก์ โซเดียม วิตามินเอ วิตามินบี 1 ถึงบี 3 และบี 6 ตลอดจนโฟเลต กรดไขมันอิ่มตัวและไม่อิ่มตัว เป็นต้น ที่สำคัญในเมล็ดเจียนี้ยังได้ชื่อว่าเป็นตัวช่วยลดน้ำหนักได้อย่างดีเยี่ยมอีกด้วย เพียงแค่ทานเมล็ดเจียเพียง 1 ออนซ์ หรือประมาณสองช้อนโต๊ะ ถือว่ามีไฟเบอร์ที่สูงถึง 9.8 กรัมเลยทีเดียว

 

6.ถั่วชนิดต่างๆ

ธัญพืชตระกูลถั่วก็เป็นอาหารอีกชนิดที่ให้ไฟเบอร์สูง อย่างเช่น ถั่วขาว ถั่วดำ และถั่วแดง

ถั่วขาว นอกเหนือจากไฟเบอร์ โปรตีน และธาตุเหล็กแล้ว ถั่วขาวยังเป็นหนึ่งในแหล่งโพแทสเซียมตามธรรมชาติที่ดีที่สุด

ถั่วดำ ในหนึ่งถ้วยจะให้ไฟเบอร์กับโปรตีนมากถึง 15 กรัม สีที่เข้มของมันยังบ่งบอกว่ามีฟลาวานอยด์ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอยู่มากอีกด้วย

ถั่วแดง ลองหุงถั่วแดงกับข้าวแล้วคุณจะรู้ว่าความอร่อยแบบง่าย ๆ มีจริง แม้จะหาได้ง่าย แต่ถั่วแดงก็ให้สารอาหารที่จำเป็นคือ ไฟเบอร์ โปรตีน และธาตุเหล็ก

 

7.อะโวคาโด

อะโวคาโดถือเป็นอีกหนึ่งสุดยอดอาหารที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการและประโยชน์ต่อสุขภาพ ถือเป็นตัวหลักๆ ที่สาวรักสุขภาพต้องเลือกนำมาปรุงอาหารไม่ว่าจะเป็นสลัดหรือกินสดๆ เนื้อครีมของอะโวคาโดเป็นแหล่งของใยอาหาร แค่ตวัดเนื้ออะโวคาโดมาเพียงแค่ 2 ช้อนโต๊ะเท่านั้นก็ให้ไฟเบอร์มากถึง 2 กรัม และในอะโวคาโดหนึ่งผลอาจให้ไฟเบอร์ถึง 10 กรัม แถมด้วยไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวที่สูง ซึ่งสามารถช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจได้อีกด้วยแน่ะ

 

8.ลูกแพร์

ถ้าพูดถึงผลไม้ที่ให้ไฟเบอร์สูงลูกแพร์เป็นเป็นตัวเลือกแรกที่ควรเลือก ลูกแพร์เป็นผลไม้ที่ย่อยง่ายและมีเส้นใยอาหารสูงโดยเฉพาะบริเวณเปลือก ดังนั้นจึงควรเลือกที่จะกินทั้งเปลือก โดยลูกแพร์ขนาดกลางหนึ่งลูกมีไฟเบอร์สูงถึง 5.5 กรัม การที่ผลไม้มีไฟเบอร์สูงก็ยิ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายเรา เพราะนอกจากจะช่วยเรื่องของการขับถ่ายแล้วยังช่วยในการลดน้ำหนักได้อีกด้วยค่ะ

 

9.แอปเปิ้ล

แอปเปิ้ลไม่ว่าจะสีไหนล้วนแต่มีประโยชน์ทั้งนั้นสามารถเลือกทานได้ตามใจชอบประโยชน์ส่วนใหญ่ของแอปเปิ้ลนั้นจะแทรกอยู่ในผิวของเปลือกแอปเปิ้ล เพราะฉะนั้นควรจะรับประทานทั้งลูกไม่ควรที่จะปอกเปลือกออก โดยแอปเปิ้ลผลขนาดกลางจะให้ไฟเบอร์ถึง 4.4 กรัม เลยทีเดียวค่ะ นอกจากไฟเบอร์ที่สูงแล้วแอปเปิ้ลยังมีสารอาหารที่มีประโยชน์มากมายเช่น วิตามินซี และสารในกลุ่มของฟลาโวนอยด์ที่เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่พบในแอปเปิ้ลค่ะ

 

9.สาลี่

เช่นเดียวกับผลไม้อื่น ๆ ที่มีเปลือกกินได้ สาลี่ และลูกแพรจะมีสารอาหารและไฟเบอร์สูงสุดเมื่อกินพร้อมเปลือกโดยผลขนาดกลางอาจให้ไฟเบอร์ถึง 5.5 กรัม

 

10.ราสเบอร์รี่

ราสเบอร์รี่ส่วนใหญ่เราจะเห็นและนึกถึงผลสีแดงๆ แต่จริงๆแล้วราสเบอร์รี่นั้นมีสีดำด้วย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสีแดงหรือดำก็มีสารอาหารอยู่มากมายไม่ต่างกัน ราสเบอร์รี่นอกเหนือจากจะให้ไฟเบอร์ปริมาณที่สูงมากถึงประมาณ 1 ถ้วยจะให้ไฟเบอร์ 1 ใน 3 ของปริมาณที่ร่างกายต้องการต่อวันแล้ว ยังอุดมไปด้วยวิตามินซีในปริมาณสูงและสารต้านอนุมูลอิสระมากมายอีกด้วย

 

11.ผักคะน้า

ผักคะน้าใบสีเขียวที่ทุกบ้านต้องทราบและรู้จักกันดี ไม่ว่าใครก็ชอบที่จะซื้อคะน้ามาติดตู้เย็นเพื่อประกอบอาหารถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีค่ะ โดยในใบคะน้าดิบ 2 ถ้วย มีปริมาณไฟเบอร์ถึง 4-8 กรัม อีกทั้งยังมีวิตามินซี เกลือแร่ และอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระมากมาย

 

12.กะหล่ำดาว

กะหล่ำดาวเป็นพืชเมืองหนาวที่อยู่ในตระกูลกะหล่ำ ส่วนที่เรานำมาใช้บริโภคนั้นก็คือ หัวขนาดเล็กคล้ายกะหล่ำปลี  ซึ่งกะหล่ำที่ปรุงสุกต่อถ้วยนั้นมีไฟเบอร์อยู่ถึง 4.1 กรัม โดยนอกจากจะสามารถช่วยในเรื่องของระบบการย่อยอาหารแล้วยังช่วยลดคอเลสเตอรอลอีกด้วย

 

13.ขนมปังโฮลวีท

ขนมปังโฮลวีทถือว่าได้เป็นสุดยอดอาหารที่น่าจะได้เห็นเป็นอันดับต้นๆ ของหลายๆอันดับของอาหารที่มีประโยชน์ แน่นอนว่าการเลือกขนมปังโฮลวีทแทนขนมปังขาวย่อมเป็นทางเลือกที่ดีเนื่องจากขนมปังสีขาวได้ถูกขัดเอาจมูกและธัญพืชออกไปหมดแล้วหรือเรียกอีกอย่างว่า ขนมปังขัดขาว จึงทำให้ไม่เหลือสารอาหารกับไฟเบอร์ การเปลี่ยนจากขนมปังขาวเป็นขนมปังโฮลวีทนั้นก็เพื่อที่จะช่วยเรื่องของปริมาณไฟเบอร์ในระยะยาวได้มากทีเดียวค่ะ

 

14.มะเดื่อ

ทราบหรือไม่ว่ามะเดื่อแห้งเพียงครึ่งถ้วยนั้นมีเส้นใยที่ละลายน้ำและไม่ละลายน้ำอยู่ถึง 7.3 กรัม ด้วยเส้นใยที่มีในมะเดื่ออยากมากล้นเมื่อรับประทานเข้าไปจะช่วยให้เราอิ่มนานขึ้น ซึ่งยังเหมาะสำหรับคนที่กำลังควบคุมน้ำหนักอยู่อีกด้วย

 

15.อัลมอนด์

อัลมอนด์เมล็ดธัญพืชมากคุณค่าและมีสารอาหารที่มีประโยชน์เต็มเปี่ยม นอกจากรสชาติที่อร่อยเคี้ยวเพลินแล้วยังเต็มไปด้วยไฟเบอร์และกรดไขมัที่ดีและโปรตีน โดยอัลมอนด์ปริมาณ ¼ ถ้วย จะให้ไฟเบอร์ประมาณ 4.5 กรัม แต่ด้วยแคลอรี่ที่สูงจึงต้องระมัดระวังในการรับประทานสักนิดค่ะ

 

16.ถั่วลันเตา

ถั่วลันเตาถือเป็นอาหารช่วยแก้ท้องผูกด้วยเส้นใยอาหารที่สูงถึง 5 กรัม ต่อปริมาณ 100 กรัม และยังเป็นพืชที่มีคุณค่าทางอาหารสูง และมีวิตามิน B2 โปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส และไขมันต่ำ นอกจากไฟเบอร์ที่จะช่วยในเรื่องของท้องผูกแล้วยังช่วยทำให้รู้สึกอิ่มนานขึ้นอีกด้วย

 

17.บล็อคโคลี่

บล็อคโคลี่เป็นหนึ่งในตระกูลผักกะหล่ำปลี ซึ่งผักตระกูลนี้อุดมไปด้วยสารอาหารและมีสารต้านอนุมูลอิสระมากมายที่คุณสมบัติต้านโรคมะเร็ง อีกทั้งวิตามินซีที่สูงมากที่มีในบล็อคโคลี่บล็อคโคลี่หนึ่งถ้วยตวงให้วิตามินซีสูงกว่าส้มหนึ่งผลถึง 2 เท่า และบล็อคโคลี่ต้ม 1 ถ้วยจะมีไฟเบอร์ประมาณ 5.1 กรัม

 

18.ถั่วแระ

ถั่วแระฝักเล็กๆ มีสีเขียวๆหรือเหลืองอ่อนๆ ที่เรามักนิยมนำมาต้มทั้งฝักเพื่อรับประทานเล่นหรือจะประกอบอาหารก็แล้วแต่ โดยถั่วแระครึ่งถ้วยจะให้โปรตีนถึง 11 กรัม และไฟเบอร์อีก 9 กรัมค่ะ

 

19.อาร์ติโชก

อาร์ติโชกเป็นพืชที่นิยมปลูกในต่างประเทศ โดยเฉพาะภูเขาสูงมากกว่า 1,500 เมตร  แต่ปัจจุบันหาทานได้ง่ายเพราะเป็นผักเมืองหนาวในโครงการหลวง ซึ่งเริ่มทดลองปลูกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 ที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย อาร์ติโชกเป็นผักที่มีแคลอรีต่ำและมีไฟเบอร์สูง โดยอาร์ติโชกที่สุกขนาดกลางจะมีไฟเบอร์ที่สูงถึง 10.3 กรัม อีกทั้งยังมีสารอาหารมากมายหลายอย่าง เช่น วิตามินซี วิตามินเค โฟเลต แมกนีเซียมและโพแทสเซียมค่ะ

 

 

www.flickr.com/photos/tinytall/7023093877/

9 สุดยอดอาหารที่ขึ้นชื่อว่าเป็น Super Foods

quinoa-rice-1ช่วงนี้เทรนด์สุขภาพมาแรง การออกกำลังกายและอาหารสุขภาพก็แรงตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเหล่าดารา กินอาหารคลีน ออกกำลังกาย อัพรูปลงอินสตาแกรม แบบนี้ก็ยิ่งเป็นกระแสให้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น จะว่าไปแล้วใครๆก็อยากจะมีสุขภาพที่ดีพร้อมกับรูปร่างที่สวยงามกันทั้งนั้นแหละจริงไหม บางคนก็สรรค์หาอาหาร ออกแบบเมนูอาหารที่คิดว่ารับประทานไปแล้วจะช่วยให้สุขภาพดีและสามารถลดความอ้วนไปได้ด้วย วันนี้ HealthGossip จึงลองหาอาหารที่เราเรียกกันว่า Super Food มาบอกกันว่ามีอะไรบ้าง เพื่อเป็นอีกแนวทางเลือกในการเลือกนำมาประกอบอาหารกันค่ะ ก่อนอื่นก็ขออธิบายคำว่า “ซูปเปอร์ฟู้ดส์” กันก่อนเลยค่ะ “ซุปเปอร์ฟู้ด” (Superfood) เป็นคำศัพท์ทางการตลาด (Marketing term) เพื่อใช้กล่าวถึงอาหารที่เชื่อว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพ ซุปเปอร์ฟู้ดไม่ใช่คำที่นักโภชนาการ (Dietitian) และนักวิทยาศาสตร์อาหาร (Nutrition scientists) นิยมใช้กัน ตามพจนานุกรมของแมคมิแลน (Macmillan dictionary) ได้ให้คำจำกัดความของซุปเปอร์ฟู้ดว่า เป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและอาจจะช่วยรักษาอาการโรคบางอย่างได้ค่ะ เดี๋ยวเราไปดูกันดีกว่ามีอะไรบ้างนะ

 

 9 สุดยอดอาหารที่ขึ้นชื่อว่าเป็น Super Food

 

  1. คีนัว (Quinoa) ธัญพืชมากประโยชน์ที่ยกให้เป็น ซูเปอร์ฟู้ด เป็นที่นิยมมากในต่างประเทศ และนำมาทำเมนูสุขภาพได้มากมาย ทั้งของคาวและขนมหวาน ควินัว, กีนัว, คิน-วา เป็นพืชตระกูลข้าวชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นเม็ดกลม ๆ หน้าตาคล้ายกับธัญพืชทั่ว ๆ ไป พบมากในประเทศแถบอเมริกาใต้ เช่น โบลีเวีย เปรู เอกวาดอร์ โคลัมเบีย เป็นต้น คีนัวมีประโยชน์มากจนได้รับฉายาว่า “ซูเปอร์ฟู้ด” หรือธัญพืชที่คุณค่าทางอาหารสูง สามารถใช้กินแทนข้าวได้โดยมีมีโปรตีนที่สูงกว่าข้าวทั่วไปแล้ว ยังมี แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม ธาตุเหล็ก และไขมันดีที่จำเป็นต่อร่างกาย มีไฟเบอร์มากกว่าข้าวกล้องถึง 2 เท่า เป็นแหล่งรวมกรดอะมิโน กรดเอซิด และสารต่อต้านอนุมูลอิสระ สามารถช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงจนเกินไป และควบคุมระบบการย่อยอาหารอีกด้วย และยิ่งไปกว่านั้น คีนัว ยังเป็นอาหารที่เหมาะกับคนที่ต้องการลดน้ำหนักอีกด้วย คุณประโยชน์คล้าย ๆ กับข้าวสาลีและข้าวบาร์สามารถนำไปทำให้สุกด้วยวิธีการเดียวกับการหุงข้าว มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ คือ จะนิ่มแต่แอบแฝงความกรุบกรอบเล็ก ๆ นำไปปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู และใช้เวลาหุงเพียงไม่กี่นาที จึงเป็นวัตถุดิบที่นิยมสำหรับคนที่รักสุขภาพมากๆเลยล่ะค่ะ
  2. เมล็ดเชีย (Chia Seeds) เมล็ดเชียมีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ สีดำ มีสารอาหารเยอะ แต่แคลอรี่ต่ำมาก เมล็ดเชีย เต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ สารต้านอนุมูลอิสระนี้ช่วยป้องกันไขมันที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ที่สำคัญสารต้านอนุมูลอิสระจะช่วยไปต่อสู้กับอนุมูลอิสระที่สร้างความเสียหายให้กับเซลล์ในร่างกาย นำไปสู่โรคร้ายต่างๆ มากมาย เช่น โรคมะเร็ง เมล็ดเชียมีไฟเบอร์สูง แถมยังมีคาร์โบไฮเดรตต่ำ เส้นใยของเมล็ดเชียสามารถดูดซับน้ำได้ถึง 10-12 เท่า ของน้ำหนักมัน ดังนั้นเมื่ออยู่ในท้องจึงเป็นเหมือนเจลที่ขยายตัว ช่วยให้รู้สึกอิ่มและคุณก็จะทานน้อยโดยอัตโนมัติ เมล็ดเชียมีโปรตีนสูงถึง 14% ของน้ำหนักมัน อีกทั้งยังมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย โปรตีนนี้จะช่วยลดความอยากอาหารได้ และเมล็ดเชียมีกรดไขมันโอเมก้าสูงเช่นเดียวกับเมล็ดเฟลกซ์ จริงๆ เมล็ดเชียมีกรดไขมันโอเมก้า 3 มากกว่าปลาแซลมอนในปริมาณที่เท่ากันด้วย ถึงแม้ช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่คนรักสุขภาพ แต่ปัจจุบันจัดเป็นซุเปอร์ฟู้ดที่ฮอตฮิตสุดๆ ก็ว่าได้ค่ะ
  3. คามู คามู (Camu Camu) ผลไม้ทรงกลม ขนาดเท่าผลพุทรา เมื่อสุกจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดงอมม่วง โดดเด่นที่รสเปรี้ยวช่วยให้เจริญอาหาร นิยมคั้นผลคามู คามูสด ดื่มเป็นน้ำผลไม้ ผสมกับน้ำผลไม้อื่นหรือผสมกับน้ำเปล่า นอกจากนี้สามารถซื้อผงคามู คามูจากร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ชง ผสมน้ำดื่ม อัตราส่วนน้ำ 1 แก้วต่อผงคามู คามู 1 ช้อนชา หรือใช้เติมลงในน้ำผักผลไม้ปั่นหรือน้ำสลัด Journal of Food Research International ระบุว่า ผลคามู คามู 100 กรัมมีปริมาณวิตามินซี 1,882-2,280 มิลลิกรัม มีสรรพคุณช่วยรักษาสุขภาพดวงตาและผิวหนัง กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยป้องกันโรคหวัด หอบหืด บรรเทาอาการของโรคเหงือก อ่อนเพลียเรื้อรังไปจนถึงโรคซึมเศร้า
  4. กระเทียมสีดำ (Black Garlic) กระเทียมสีดำได้รับการกล่าวขวัญถึงประโยชน์ต่อสุขภาพว่าเหนือกว่ากระเทียมทั่วไป แท้จริงคือ กระเทียมสีขาวที่ผ่านการหมักบ่ม (Fermentation) ด้วยอุณหภูมิ 65-80 เปอร์เซ็นต์ นาน 1 เดือน จนกระเทียมสีขาวเปลี่ยนเป็นสีดำ วารสาร Medicinal and Aromatic Plant Science And Biotechnology เพิ่มเติมว่า สาร SAC (S-Allyl-L cysteine) ที่พบในกระเทียมสีดำมีคุณสมบัติด้านมะเร็ง กระเทียมสีดำใช้ปรุงอาหารเหมือนกระเทียมทั่วไป และเพื่อให้กระเทียมหลั่งสารสำคัญเพิ่มขึ้น เช่น สารอัลลิซิน (Allicin) ซึ่งมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ควรบุ บด หรือสับกระเทียม และตั้งทิ้งไว้สักครู่ก่อนนำมาปรุงอาหาร นายแพทย์แอนดรูว์ ไวล์ (Andrew Weil) พ่อมดแห่งวงการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กระเทียมสีดำมีรสชาติหวานกว่ากระเทียมสีขาว และพบรายงานผลวิจัยที่ระบุว่า กระเทียมสีดำมีสารแอนติออกซิแดนต์และสาระสำคัญที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่ากระเทียมสีขาวหลายเท่า  นายแพทย์แอนดรูว์เห็นว่า กระเทียมสีดำมีเสน่ห์ดึงดูดนักชิมและผู้ที่ชื่นชอบอาหารแปลกใหม่ หากไม่สามารถหาซื้อได้ กินกระเทียมสีขาวก็นับว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพมากพอ เพราะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ป้องกันโรคในระบบทางเดินหายใจ ลดปริมาณคอเลสเตอรอลและระดับน้ำตาลในเลือดได้
  5. มัทฉะ (Matcha) มัทฉะ คือ ชาเขียวชนิดหนึ่งมีต้นกำเนิดที่ประเทศญี่ปุ่น ผลิตโดยนำยอดอ่อนมาอบไอน้ำโดยไม่ผ่านกระบวนการหมักและนวด เมื่อแห้งจึงนำมาบดกลายเป็นผงสีเขียว เป็นชาที่กินได้ทั้งใบ จึงอุดมไปด้วยสารอาหารที่ไม่ละลายน้ำ เช่น ใยอาหาร และ เบต้าแคโรทีน  เมื่อละลายน้ำ มัทชะจะกลายเป็นน้ำสีเขียวอ่อนสดใส นิยมชงโดยใช้ไม้ตีฟองผสมชาและน้ำร้อนให้เข้ากัน ขณะตีเสร็จใหม่ ๆ บนผิวหน้าน้ำชาจะมีฟองละเอียดสีเขียวปกคลุม ยิ่งตีนานน้ำชาจะกลายเป็นสีเขียวมรกตเข้มขึ้น สำหรับวิธีชงชาที่ถูกต้อง สมาคมผู้ฝึกสอนชาญี่ปุ่น แนะนำว่า ควรกรองชาก่อนเพื่อไม่ให้ผงชาจับตัวเป็นก้อน จากนั้นใส่มัทฉะ 2 กรัมลงในถ้วยชา รินน้ำอุณหภูมิปกติลงไปประมาณ 10 ซี.ซี. ใช้ไม้ตีน้ำมัทฉะให้เข้ากัน แล้วจึงรินน้ำเดือดลงในถ้วยชา 50 ซี.ซี. จากนั้นตีผงชาและน้ำร้อนให้เข้ากันจนเกิดฟองละเอียดเต็มบริเวณผิวด้านบน จึงยกไม้ตีชาออก ใช้จิบขณะอุ่น มัทฉะ อุดมไปด้วยสารคาเตชิน (Catechin) และวิตามินต่าง ๆ โดยสารคาเตชิน มีสารแอนติออกซิแดนท์ ต้านมะเร็ง ลดคอเลสเตอรอล ลดความดันโลหิต ช่วยเพิ่มระบบเผาผลาญ ต้านเชื้อไวรัสไข้หวัด ต้านเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก จึงช่วยกำจัดกลิ่นปาก ข้อมูลจากวารสาร American Physiological Society เปิดเผยว่า มัทฉะ 1 กรัม มีสารคาเตชินสูงถึง 105 มิลลิกรัม มีค่าโอแรค (ORAC) หรือค่าที่ใช้วัดประสิทธิภาพสารแอนติออกซิแดนท์ถึง 1300 umoleTE/กรัม เมื่อเปรียบเทียบกับผลไม้ที่มีแอนติออกซิแดนท์ประสิทธิภาพสูงชนิดอื่น เช่น ทับทิมซึ่งมีค่าโอแรค 105 และบลูเบอร์รีป่า 93 นอกจากนี้ ยังอุดมไปด้วยวิตามิน เอ ซี และอี จึงช่วยชะลอวัย
  6. เคเฟอร์ (Kefir) นมเปรี้ยวชนิดหนึ่งผลิตจากการหมักน้ำนมวัว แพะ หรือแกะ ด้วยแบคทีเรียและยีสต์ กระบวนการหมักช่วยเปลี่ยนน้ำตาลแลคโตส (Lactose) ในนมให้กลายเป็นกรดแลคติก (Lactic acid) ทำให้มีรสเปรี้ยว เคเฟอร์มีรสชาติเปรี้ยวคล้ายโยเกิร์ต แต่มีความข้นหนืดน้อยกว่า และมีโพรไบโอติกส์ (Probictics) หรือแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพแตกต่างกัน แนะนำให้กินสลับกับโยเกิร์ต โดยกินร่วมกับผลไม้สดเพื่อให้ร่างกายได้รับโพรไบโอติกส์หลากหลาย ช่วยรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร ทำลายจุลินทรีย์ก่อโรค ทั้งกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารแอนติบอดี (Antibody) ต่อต้านสิ่งแปลกปลอม และช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ขณะเดียวกัน ผลไม้ที่มีกากใยสูงเมื่อกินควบคู่กับเคเฟอร์ จะมีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติกส์ (Prebiotic) ทำหน้าที่เป็นอาหารให้กับโพรไบโอติกส์ กระตุ้นให้จุลินทรีย์ชนิดดีภายในลำไส้เจริญเติบโตได้ดี และเพิ่มการดูดซึมแร่ธาตุบางชนิด เช่น แคลเซียม เหล็ก แมกนีเซียม และสังกะสี อีกด้วย เคเฟอร์เป็นอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีปริมาณเอนไซม์แลคเตส (Lactase) ในระบบทางเดินอาหารต่ำ ส่งผลให้ไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโตสในนมได้ หลังดื่มนมจึงเกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเดิน ปวดท้อง แนะนำให้ดื่มเคเฟอร์นม ช่วยให้ร่างกายได้รับแคลเซียมเพียงพอ โดยไม่ก่อให้เกิดอาการปั่นป่วนในระบบทางเดินอาหาร
  7. มันแกว (Jicama) เป็นไม้เถาเลื้อยพัน มีหัวใต้ดินเป็นรากสะสมอาหาร แต่เดิมมีถิ่นกำเนิดในประเทศเม็กซิโกและอเมริกากลาง ปัจจุบันแพร่หลายในประเทศเขตร้อน เช่น จีน อินโดจีน อินโดนีเซีย มันแกวเป็นพืชที่มีหัวใต้ดินซึ่งกินได้ แต่ส่วนอื่น เช่น ใบและเมล็ดเป็นพิษ มีฤทธิ์เป็นยาฆ่าแมลง ควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจทำให้ ช็อก หมดสติ และหยุดหายใจ กินมันแกวสดเป็นผลไม้ กินพร้อมผักสดร่วมกับน้ำสลัด นำไปผัดกับกุ้งด้วยไฟอ่อน หรือหั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมลูกเต๋าต้มเป็นแกงจืดพร้อมผักสดหลากชนิดก็อร่อย มันแกวสดมีน้ำเป็นส่วนประกอบถึง 90 เปอร์เซ็นต์ เนื้อสัมผัสจึงฉ่ำกรอบ ให้ความสดชื่น ช่วยดับกระหาย ทั้งอุดมไปด้วยสารอาหารหลายชนิด เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก ไทอามีน ไนอะซิน และวิตามินซี  มันแกวเพียง 1 ถ้วยตวง ให้ใยอาหารมากถึงร้อยละ 25 ของความต้องการใน 1 วันนอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบของ อินูลิน (Inulin) ซึ่งร่างกายไม่สามารถย่อยได้ในระบบทางเดินอาหาร และไม่ให้พลังงาน มีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติกส์ช่วยกระตุ้นให้จุลินทรีย์ชนิดดีภายในลำไส้เจริญเติบโตได้ดี ช่วยในการขับถ่าย จึงนับเป็นอาหารสุขภาพที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักอีกด้วย
  8. กิมจิ (Kimchi) เป็นอาหารเกาหลี ทำจากผักหลากหลายชนิดนำมาดองหรือแช่ในน้ำเกลือเพื่อถนอมอาหารเตรียมไว้กินแทนผักสดในช่วงฤดูหนาวที่ไม่สามารถปลูกผักบางชนิดได้ นับเป็นภูมิปัญญาคนโบราณที่ทำให้มีผักกินตลอดทั้งปี โดย ผักกาดขาว หัวผักกาด หัวหอม ต้นหอม แตงกวา กระเทียม ขิง พริกแดง คือผักที่นิยมปรุงเป็นกิมจิ โดยหั่นเป็นชิ้นพอดีคำ จากนั้นคลุกเคล้ากับเครื่องปรุงรสที่มีกระเทียมสับ ขิง และพริกแดงป่นเป็นส่วนประกอบ นิยมกินกิมจิเป็นเครื่องเคียงในอาหารมื้อหลัก หรือปรุงเป็นอาหารหลากหลาย เช่น ข้าวผัด สตูบะหมี่ กิมจิมีรสชาติเปรี้ยวนำเพราะผ่านกระบวนการหมัก ทำให้อุดมด้วยจุลินทรีย์ที่ดีต่อสุขภาพ เช่น แบคทีเรียแลคโตบาซิลลัส เช่นเดียวกับที่พบในนมเปรี้ยว โดยหลายการศึกษาพบว่าแบคทีเรียชนิดดีช่วยทำความสะอาดลำไส้ ป้องกันโรคในระบบทางเดินอาหารจากแบคทีเรียก่อโรค และลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ กิมจิ 1 ถ้วยตวงอุดมด้วยใยอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุจากผัก ที่สำคัญ ให้พลังงานเพียง 29 กิโลแคลอรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลเสริมว่า นอกจากให้พลังงานต่ำ ส่วนประกอบต่าง ๆ ในกิมจิล้วนมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น พริกแดงมีสารแคปไซซิน (Capsiaicin) ช่วยเผาผลาญไขมัน พริกแดงป่นมีวิตามินซีช่วยให้ถุงน้ำดีขับคอเลสเตอรอล ส่วนกระเทียมและหัวหอมช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด คอเลสเตรอล และไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ และหลอดเลือด

สุดยอดของอาหารที่เราเรียกกันว่าเป็นซูปเปอร์ฟู้ดส์ แต่ยังไงก็แล้วแต่การเลือกรับประทานอาหารที่ดีแล้วก็ต้องเลือกรับประทานให้หลากหลายกันด้วยนะคะ ยังไงก็ขอให้อาหารเหล่านี้เป็นทางเือกในการประกอบอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของเรานะคะ 

  • 1
  • 2