Browse Tag: เกลือแร่

ธาตุเหล็ก คืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร

cereal-breakfast-1
Source: Flickr (click image for link)

ธาตุเหล็ก (iron) เป็นธาติอาหารที่มีความสำคัญและมีความจำเป็นที่สุดชนิดหนึ่งต่อร่างกายของคนเราในทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะวัยที่อยู่ในช่วงการเจริญเติบโตสูง เช่นวัยทารก เด็กวัยรุ่น และในคุณผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ ในส่วนของผู้หญิงที่อยู่ในวัยของการเจริญพันธุ์ที่มีการสูญเสียธาตุเหล็กไปกับการเป็ประจำเดือน ทุกๆเดือนนั้น ถึงแม้จะมีปริมาณที่ไม่มากแต่ก็ควรที่จะได้รับธาตุเหล็กมากกว่าผู้ชายที่อยู่ในวัยเดียวกัน ธาตุเหล็กมีความจำเป็นในเรื่องของการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง ซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย และถ้าใครเกิดอาการที่ขาดธาตุเหล็กขึ้นมาแล้วล่ะก็อาจจะมีภาวะที่ซีดได้ ธาตุเหล็กมีมากในเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นธาตุเหล็กที่มีคุณภาพ และเป็นชนิดที่ร่างกายดูดซึมได้ดี (Heme iron) ส่วนธาตุเหล็กที่มีในพืช ซึ่งราคาถูกกว่า เป็นธาตุเหล็กชนิดที่ดูดซึมได้ไม่ดีนัก (Nonheme iron) การขาดอาหารเนื้อสัตว์จึงเป็นสาเหตุของการขาดธาตุเหล็ก จนก่อให้เกิดภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็กได้ค่ะ โดยภาวะขาดธาตุเหล็ก มักพบได้ในผู้หญิงสูงกว่าในผู้ชาย เนื่องจาก

  • ร่างกายผู้ชายเก็บสะสมธาตุเหล็กได้สูงกว่าในผู้หญิง
  • ไม่ต้องเสียเลือดจากประจำเดือน
  • ไม่มีการตั้งครรภ์
  • ไม่ได้ให้นมบุตร

ซึ่งทั้งสองภาวะหลัง เป็นภาวะที่ทำให้ร่างกายต้องการธาตุเหล็กสูงกว่าปกติ จึงก่อให้เกิดการขาดธาตุเหล็กได้ง่ายนั่นเองค่ะ

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็ก คือ

  • หญิงตั้งครรภ์ และให้นมบุตร
  • ทารกในครรภ์ และวัยเด็ก
  • หญิงที่มีประจำเดือนมากทุกเดือน
  • มีเลือดออกเรื้อรัง เช่น โรคริดสีดวงทวาร
  • มีโรคเรื้อรังของทางเดินอาหาร เช่น ลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

ลองสังเกตุจากตัวเองก่อนเลยนะคะ ว่าเรามีอาการเหล่านี้บ้างหรือเปล่า

 

เกี่ยวกับ ธาตุเหล็ก หรือ Iron

  • ธาตุเหล็ก เป็นธาตุอาหารสำคัญที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ จึงจำเป็นที่จะต้องได้จากอาหารอย่างเพียงพอ
  • ธาตุเหล็ก เป็นแร่ธาตุหนึ่งที่มีความจำเป็นในการสร้างเม็ดเลือดแดง
  • ธาตุเหล็ก เหล็กมีความจำเป็นกับคนทุกวัย โดยเฉพาะวัยที่มีการเจริญเติบโตสูง เช่น ทารก เด็กวัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์
  • ธาตุเหล็ก คนปกติมีธาตุเหล็กประมาณ 3-5 กรัม ร้อยละ 70 ของเหล็กอยู่ในเม็ดเลือดแดงหรือฮีโมโกลบิน ที่เหลืออยู่ในตับ ม้าม ไขกระดูก และกล้ามเนื้อ
  • ธาตุเหล็ก ในเลือด 100 ลูกบาศก์เซนติเมตร มีธาตุเหล็กประมาณ 40-50 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ปลา เป็ด ไก่ ตับ ม้าม ไข่แดง อาหารเช้าซีเรียล (Cereal) หรือนมที่เสริมอาหารด้วยธาตุเหล็ก ในพืช เช่น ผักที่มีใบเขียวเข้มทุกชนิด เช่น ใบตำลึง ผักปวยเล้ง ผักโขม ถั่วแดง ถั่วดำ ข้าวโอต
  • ธาตุเหล็ก จะถูกดูดซึมในส่วนของลำไส้เล็ก
  • ธาตุเหล็ก จากแหล่งอาหารที่มาจากสัตว์ จะถูกดูดซึมได้ดีกว่าจากแหล่งอาหารที่มาจากพืช
  • ธาตุเหล็ก ยังดูดซึมได้ดีในภาวะที่น้ำย่อยอาหารมีความเป็นกรด (ดังนั้น ยาเคลือบกระเพาะอาหาร และยาลดกรด จึงลดการดูดซึมของธาตุเหล็ก) และวิตามินซี และอาหารที่มีวิตามินซีสูง จะช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็กด้วย
  • ธาตุเหล็ก จะถูกขัดขวางการดูดซึมเมื่อดื่มชา กาแฟ ในปริมาณที่สูง เนื่องจากสาร Tannin จะไปลดการดูดซึมของธาตุเหล็ก และอาหารที่มีใยอาหารสูงกับอาหารที่มีแคลเซียมสูง
  • ธาตุเหล็ก เมื่อดูดซึมแล้ว ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้งาน บางส่วนร่างกายจะสะสมไว้ใน ตับ ม้าม และไขกระดูก
  • ธาตุเหล็ก ร่างกายของเราจะกำจัดธาตุเหล็กส่วนเกินออกทางตับ (ทางน้ำ ดี) และทางไต (กำจัดออกทางปัสสาวะ แต่ในปริมาณน้อยมาก)

 

ประโยชน์ของธาตุเหล็ก หรือ (Iron)

 

ช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันอาการโรคโลหิตจาง โดยเป็นตัวนำออกซิเจนจากปอดไปสู่เซลล์ต่างๆทั่วร่างกาย เพื่อการทำงาน การใช้พลังงานของเซลล์ทุกๆเซลล์ของร่างกาย ธาตุเหล็กจึงมีความสำคัญต่อไขกระดูกในการสร้างเม็ดเลือดแดงเป็นอย่างมาก ดังนั้นเมื่อขาดธาตุเหล็ก จะเป็นสาเหตุหลักให้เกิดภาวะซีด หรือภาวะโลหิตจาง (โลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก)

 

ช่วยให้ร่างกายเติบโตเป็นปกติ ช่วยการทำงานของกล้ามเนื้อต่างๆ ให้มีความแข็งแรง

 

ธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบของโปรตีนหลายชนิด ที่ช่วยสร้างกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยเป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ต่างๆในการสันดาปพลังงานและการนำพลังงานต่างๆไปใช้

 

ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานให้ร่างกาย โดยช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต้านโรคทำให้เจ็บป่วยยากขึ้น

 

ช่วยกำจัดโลหะหนักที่เป็นพิษออกจากร่างกาย เช่น แคดเมี่ยม

 

ช่วยให้เซลล์สมองเจริญเติบโตได้ดี ช่วยการเจริญเติบโตของเซลล์สมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเข้าใจและความจำ (Cognitive development)

 

อาการของภาวะผู้ที่ขาดธาตุเหล็ก

– ร่างกายซีด เหลือง

– เป็นโรคโลหิตจาง

– ร่างกายไม่เจริญเติบโตสมบูรณ์ตามวัย

– ตั้งครรภ์ยาก

– ประจำเดือนมาไม่ปกติ

– อ่อนเพลียง่าย เหนื่อยง่าย วิงเวียนศีรษะบ่อย

– ผมร่วงมาก

– สมองคิดช้า ตอบสนองช้า สับสนง่าย

– ติดเชื้อต่างๆได้ง่าย

 

ปริมาณของธาตุเหล็กที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน

สำหรับปริมาณธาตุเหล็กที่แนะนำให้บริโภคต่อวันสำหรับคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป (Thai Recommended Daily Intakes (Thai-RDI)) มีค่าเท่ากับ 15 มิลลิกรัม โดยคิดจากความต้องการพลังงานวันละ 2,000 กิโลแคลอรี จะเห็นได้ว่าร่างกายของเราต้องการในปริมาณไม่มาก แต่ธาตุเหล็กจัดเป็นแร่ธาตุที่มีความจำเป็นกับคนทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะในเด็กทารก เด็กวัยรุ่น และหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากเป็นวัยที่มีการเจริญเติบโต ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกายซึ่งปริมาณธาตุเหล็กที่ร่างกายควรได้รับจะแตกต่างกันไปแล้วแต่บุคคล เพศ อายุ นั่นเองค่ะ

 

www.flickr.com/photos/charlotte90t/15600597901/

โพแทสเซียม คืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร

yoghurt-breakfast-1
Source: Flickr (click image for link)

โพแทสเซียม (Potassium) เป็นแร่ธาตุที่มีมากเป็นอันดับ 3 ในร่างกาย รองจากแคลเซียมและฟอสฟอรัส โพแทสเซียมนั้นเป็นอิเล็กโตรไลต์ซึ่งเป็นตัวปรับสมดุลของประจุบวกหรือลบในเลือด โซเดียมกับคลอไรด์ก็เป็นอิเล็กโตรไลต์เช่นกันค่ะ ร่างกายของเราต้องได้รับแร่ธาตุทั้ง 3 ชนิดนี้ในปริมาณที่สมดุลจึงจะทำหน้าที่ต่างๆ ได้ดี โพแทสเซียมเกือบทั้งหมดในร่างกายจะอยู่ในเซลล์ต่างๆ โพแทสเซียมเป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย โดยมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายเป็นปกติ เช่น ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ โปแทสเซียมช่วยควบคุมสมดุลของอิเล็กโตรไลต์และสมดุลของกรด-เบสในร่างกาย ป้องกันภาวะกรดเกิน (hyperacidity) และยังช่วยควบคุมความดันโลหิตที่สูงและลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย มีรายงานวิจัยจำนวนมากที่ระบุว่าในกลุ่มประชากรที่ได้รับโปแทสเซียมจากอาหารในปริมาณที่สูงมีค่าเฉลี่ยของความดันโลหิตและอัตราการเกิดโรคความดันโลหิตสูงต่ำกว่ากลุ่มประชากรที่ได้รับโปแทสเซียมจากอาหารในปริมาณที่น้อย และยังพบว่าการได้รับโปแทสเซียมจากอาหารอย่างเพียงพอ มีผลช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเรื้อรังชนิดอื่น ๆ โดยในงานวิจัยของ Ascherio และคณะ ได้รายงานว่าสามารถลดความเสี่ยงของภาวะการอุดตันของเส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงสมอง (Stroke) ได้ถึง 30%

 

เกี่ยวกับโพแทสเซียม (Potassium)

  • โพแทสเซียม เกลือแร่ชนิดหนึ่ง มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการยืดหดตัวของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจ
  • โพแทสเซียม รักษาสมดุลของน้ำ กรด-ด่างในร่างกาย ควบคุมความดันโลหิต
  • โพแทสเซียม ในผู้ป่วยโรงใตเรื้อรัง จะมีประสิทธิภาพในการขับโพแทสเซียมลดลง ซึ่งทำให้เกิดการคั่งของโพแทสเซียมในเลือด
  • โพแทสเซียม จะทำงานร่วมกับโซเดียมในการควบคุมสมดุลของน้ำในร่างกายและช่วยทำให้หัวใจเต้นเป็นปกติ
  • ความเครียดทางด้านร่างกายและจิตใจ อาจส่งผลให้ขาดโพแทสเซียมได้
  • หากโพแทสเซียมและโซเดียมในร่างกายเสียสมดุลจะทำให้การทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อเสียไป
  • ไฮโปไกลซีเมีย (ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ) จะส่งผลให้ร่างกายสูญเสียโพแทสเซียมได้ เหมือนกับการอดอาหารเป็นเวลานาน ท้องร่วงอย่างรุนแรง
  • แหล่งที่พบโพแทสเซียมตามธรรมชาติ ได้แก่ โยเกิร์ต ผลไม้รสเปรี้ยว กล้วย ลูกพีช มันฝรั่ง แคนตาลูป มะเขือเทศ ผักวอเตอร์เครส ผักใบเขียวทุกชนิด สะระแหน่ เมล็ดทานตะวัน ถั่ว เป็นต้น
  • ศัตรูของธาตุโพแทสเซียม ก็ได้แก่ น้ำตาล กาแฟ แอลกอฮอล์ และยาขับปัสสาวะ
  • ผู้ที่ดื่มกาแฟเป็นประจำและมีอาการอ่อนล้า อาจเกิดจากการสูญเสียโพแทสเซียมเพราะกาแฟ
  • ผู้ที่ชอบรับประทานของหวานและชอบดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ระดับของโพแทสเซียมในร่างกายอาจจะต่ำได้
  • ผู้ที่กำลังลดความอ้วนด้วยการรับประทานประเภทคาร์โบไฮเดรตน้อย จะส่งผลให้ระดับโพแทสเซียมในร่างกายลดลง ซึ่งจะส่งผลให้กล้ามเนื้อเกิดอาการอ่อนล้าหรือตอบสนองช้า
  • หากระดับโพแทสเซียมในร่างกายมากเกินไปจะถูกไตขับออกมา และสำหรับผู้ที่ไตทำงานได้ไม่ดีก็ไม่ควรรับประทานโพแทสเซียมเสริมในปริมาณที่สูงมากจนเกินไป
  • โพแทสเซียม ในรูปแบบอาหารเสริม มักพบได้ในรูปแบบของวิตามินรวมและแร่ธาตุรวม
  • โพแทสเซียม ในเลือดที่มีค่าปกติคือ 3.5 – 5.0 mEq/L
  • โพแทสเซียม  ในเลือดที่มีค่าต่ำคือ  < 3.5 mEq/L จะมีอาการซึม อ่อนเพลีย คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ตะคริว
  • โพแทสเซียม ในเลือดที่มีค่าสูงคือ  > 5.0 mEq/L จะทำให้เกิดการคั่งของน้ำในร่างกาย หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • โพแทสเซียมสูงในอาหารประเภท (กลุ่มผักสีเข้ม) ได้แก่ ถั่วเมล็ดแห้ง นมและผลิตภัณฑ์จากนม ทุเรียน กล้วย ลำไย ผลไม้แห้งต่างๆ เช่น ลูกเกด ลูกพรุน แครอท มะเขือเทศ หน่อไม้ฝรั่ง คะน้า หัวปลี ผักชี มันฝรั่ง
  • โพแทสเซียมปานกลางในอาหารประเภท  สับปะรด ฝรั่ง แอปเปิ้ล เงาะ ส้ม องุ่น ลิ้นจี่ แคนตาลูป ส้มโอ มะม่วงดิบ มะเขือยาว หอมหัวใหญ่ ผักบุ้งจีน มะละกอดิบ ถั่วพู(ฝักอ่อน) พริกหวาน
  • โพแทสเซียมต่ำในอาหาร (กลุ่มผักสีซีด) ได้แก่ ชมพู่ องุ่นเขียว แตงโม บวบเหลี่ยม เห็ดหูหนู ฟักเขียว แฟง ผักกาดขาว กะหล่ำปลี แตงกวา
  • การจำกัดผัก-ผลไม้ขึ้นอยู่กับระดับโพแทสเซียมในเลือด ถ้าผลเลือดอยู่ในระดับปกติ ไม่จำเป็นต้องงดผัก ผลไม้ ควรเลือกรับประทานผักผลไม้หมุนเวียนได้ตามปกติ สีเข้ม-อ่อน สลับกันไป

จะเห็นได้ว่าเราสามารถเลือกรับประทานอาหารได้หลากชนิดเพื่อให้ได้รับโปแทสเซียมในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน แต่ทั้งนี้ เราควรบริโภคอาหารอย่างถูกหลักโภชนาการ โดยคำนึงถึงปริมาณน้ำตาล ไขมัน คอเลสเตอรอล ฯลฯ ที่มีอยู่ในอาหารด้วย เพื่อป้องกันความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ และเพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรง

 

ประโยชน์ของโพแทสเซียม (Potassium)

 

โพแทสเซียมและอิเล็กโตรไลต์ชนิดอื่นๆ ช่วยในการนำกระแสประสาท ทำให้กล้ามเนื้อหดตัว ช่วยควบคุมการเต้นของหัวใจและความดันเลือด โพแทสเซียมยังควบคุมปริมาณของเหลวภายในเซลล์ ขณะที่โซเดียมควบคุมปริมาณของเหลวภายนอกเซลล์ แร่ธาตุ 2 ชนิดนี้จึงทำงานร่วมกันเพื่อรักษาสมดุลของของเหลวในร่างกาย

 

โพแทสเซียมยังช่วยให้ร่างกายเปลี่ยนน้ำตาล (กลูโคส) ในเลือด ไปเป็นพลังงานสะสม (ไกลโคเจน) ในกล้ามเนื้อและตับ โพแทสเซียมเป็นสารขับปัสสาวะธรรมชาติ จึงช่วยขับสารพิษที่เกิดจากการเผาผลาญพลังงานด้วย

 

โพแทสเซียม จะทำงานร่วมกับ ธาตุโซเดียม ในการควบคุมสมดุลของน้ำในร่างกายและช่วยทำให้หัวใจเต้นเป็นปกติ โดยความเครียดทางด้านร่างกายและจิตใจ อาจส่งผลให้ขาดโพแทสเซียมได้ หากโพแทสเซียมและโซเดียมในร่างกายเสียสมดุลจะทำให้การทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อเสียไป ไฮโปไกลซีเมีย (ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ) จะส่งผลให้ร่างกายสูญเสียโพแทสเซียมได้ เหมือนกับการอดอาหารเป็นเวลานาน ท้องร่วงอย่างรุนแรง

 

โพแทสเซียมช่วยควบคุม Osmolality ส่วนใหญ่ของ ICF จึงมีความสำคัญในการรักษาปริมาตรของเซลล์ให้คงที่ ซึ่งมีผลต่อความสำคัญของปริมาตรน้ำในร่างกาย

 

โพแทสเซียมเป็น Cofactor ที่สำคัญในกระบวนการเมทาบอลิซึม เช่น การสังเคราะห์โปรตีน และไกลโคเจน และการทำงานของอินซูลิน เป็นต้น

 

โพแทสเซียมในอัตราส่วนของโพแทสเซียมที่อยู่ระหว่าง ICF และ ECF จะเป็นตัวกำหนดความต่างศักย์ที่ผนังเซลล์ ที่มีความสำคัญในการทำงานของกล้ามเนื้อ และเส้นประสาท

 

โพแทสเซียมที่ร่างกายได้รับในแต่ละวันจะได้รับจากอาหาร และมีการขับถ่ายออกนอกร่างกายทางปัสสาวะประมาณวันละ 50-90 มิลลิโมล ส่วนที่เหลือประมาณ 5-10 มิลลิโมล จะขับถ่ายออกทางอุจจาระ และเหงื่อ

 

 

www.flickr.com/photos/california_bakery/8102163622/

12 เหตุผลแสนมหัศจรรย์ที่เราควรหันมาดื่มน้ำเปล่า

drinking-water-1เราคงเคยรู้หรือเคยได้ยินกันมาตลอดกับการดื่ม “น้ำเปล่า” นั้นมีประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ว่าจะอยู่ดีมีสุขการดื่มน้ำเปล่าก็ยังเป็นส่วนสำคัญและมีประโยชน์ต่อร่างกายอยู่ดี ถึงแม้เวลาเจ็บป่วย คุณหมอหรือนักโภชนาการก็ยังคงแนะนำให้ดื่มน้ำเยอะๆอยู่บ่อยๆ ซึ่งนั่นก็เป็นส่วนหนึ่งในแผนการรักษาและบำบัดอยู่เสมอแต่ก็มียกเว้นในบางเคสเท่านั้น และก็คงมีอีกหลายคนอีกนั่นแหละที่ยังไม่ทราบถึงประโยชน์ที่แท้จริงของการดื่มน้ำเปล่า ว่าทำไมถึงต้องดื่มน้ำเปล่า? และต้องดื่มในปริมาณเท่าไหร่ถึงจะพอดี ถ้าไม่ดื่มน้ำแล้วจะเกิดอะไรขึ้น? เชื่อว่าทุกคนก็คงจะรู้อยู่แล้วล่ะว่า “น้ำ” เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของร่างกายซึ่งขาดไม่ได้ ในภาวะสังคมที่เร่งรีบไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือการดำรงชีวิต การไม่ดื่มน้ำหรือเข้าห้องน้ำเนื่องจากกลัวเสียเวลาจนกลายเป็นความเคยชินทำให้ร่างกายเกิดความคุ้นเคยและทำให้อวัยวะภายในเกิดอาการผิดปกติตามไปด้วย และยังมีอีกหลายคนที่ไม่ชอบดื่มน้ำกัน บ้างก็กลัวว่าดื่มน้ำมาก ๆ จะทำให้เข้าห้องน้ำบ่อย หรือเหตุผลอีกต่าง ๆ นานา แต่ขอบอกเลยว่าการที่ไม่ดื่มน้ำจะทำให้คุณพลาดประโยชน์ที่แสนจะอัศจรรย์พันแปดของการดื่มน้ำไปอย่างไม่น่าให้อภัยเลยล่ะค่ะ น้ำ คือสารอาหารที่สำคัญที่สุดของร่างกาย เพราะว่า 4/5 ส่วนของน้ำหนักตัวก็คือน้ำ มนุษย์สามารถมีชีวิตอยู่ได้หลายสัปดาห์หากขาดอาหารแต่จะอยู่ได้เพียงไม่กี่วันหากขาดน้ำ โดยน้ำทำหน้าที่เป็นตัวทำละลายหลักสำหรับอาหารที่ผ่านกระบวนการย่อยในกระเพาะ แต่ยังไม่มีปริมาณที่ให้ดื่มเฉพาะเจาะจงในแต่ละวัน เพราะการสูญเสียน้ำของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันออกไป แต่โดยทั่วไปแล้วการดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้วต่อวัน วันละประมาณ 2 ลิตร แต่ที่จริงแล้วเวลาและปริมาณในการดื่มหรือความถี่ของการดื่มเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันค่ะ

“น้ำเปล่า” นับว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เพราะในร่างกายของมนุษย์ประกอบไปด้วยน้ำถึง 70% ซึ่งระบบภายในของร่างกายมนุษย์ ต้องใช้น้ำในการทำหน้าที่ของระบบร่างกาย เช่น ย่อยอาหาร ทำให้ระบบเลือดหมุนเวียนไปหล่อเลี้ยงร่างกายได้เป็นอย่างดี ขับสารพิษออกจากร่างกาย แต่หากร่างกายของมนุษย์ได้รับน้ำเปล่าในแต่ละวันน้อยจนเกินไปก็จะส่งผลเสียให้กับร่างกาย เช่น เลือดจะมีความเข้มข้นหนืด จนทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงร่างกายไม่เพียง จะส่งผลให้เส้นเลือดตีบตัน สมองเสื่อมเพราะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ในแต่ละวันร่างกายจะเสียน้ำวันละ 2 ลิตร จากการหายใจ ขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระ ทำให้ร่างกายต้องได้รับน้ำจากการดื่มน้ำเปล่าให้ได้วันละประมาณ 2-3 ลิตร ซึ่งประโยชน์จากการดื่มน้ำเปล่าจะช่วยทำให้สุขภาพผิวดูมีน้ำมีนวลผิวพรรณไม่แห้งหยาบกร้าน ป้องกันการเกิดริ้วรอยที่ผิวหน้า เพิ่มความสดชื่นให้แก่ร่างกาย และช่วยให้ระบบสมองทำงานได้ดีขึ้นเพราะสมองมีองค์ประกอบที่เป็นน้ำถึง 85%

ภาวะร่างกายขาดน้ำ ภาวะที่ร่างกายขาดน้ำ หมายถึง ภาวะที่ร่างกายสูญเสียน้ำมากกว่าที่ร่างกายได้รับ ซึ่งถ้าหากขาดน้ำมากๆ และไม่ได้รับการทดแทนอย่างเพียงพอในเวลาที่เหมาะสม ก็อาจจะก่อให้เกิดผลเสียตามมาได้ หรือถ้าหากร่างกายได้รับน้ำมากเกินไปก็จะส่งผลเสียได้เหมือนกัน ปกติร่างกายเราจะสูญเสียน้ำจากทางเหงื่อ ลมหายใจ และการขับถ่าย นอกจากนี้เรายังสูญเสียเกลือแร่ออกจากร่างกายอีกด้วยในเวลาที่เราขับเหงื่อออกจากร่างกาย โดยเฉพาะในบ้านเราที่มีอากาศร้อนร่างกายก็ยิ่งต้องการน้ำมากขึ้น นอกจากนี้หากร่างกายขาดน้ำ ลำไส้ก็จะแห้ง ไม่มีน้ำที่จะให้อุจจาระออกมาได้ ของเสียก็จะสะสมอยู่ในลำไส้ ลำไส้ก็จะดูดซึมของเสียนั้นกลับเข้าร่างกายอีก เลือดเราก็จะสกปรกและข้นหนืดมากขึ้นไปอีก และหากเลือดที่เสียเมื่อเข้าไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายก็จะมีปัญหามากมายตามมา ช่องทางในการขับของเสียของร่างกายมีอยู่ ๕ ช่องทางด้วยกัน คือ ไต ขับออกมาทางปัสสาวะ ลำไส้ใหญ่ ขับออกมาทางอุจจาระ ปอด ขับออกมาทางลมหายใจ ผิวหนัง ขับออกมาทางเหงื่อ รอบเดือน ขับออกมาทางประจำเดือน เมื่อช่องทางการขับของเสียไม่สมบูรณ์หรือถูกปิดกั้น มันก็จะพยายามหาทางออกให้ได้ เช่น ออกมาเป็นสิว ฝ้า กระ ฝี ริดสีดวง

ถ้าร่างกายขาดน้ำ สังเกตุอาการดังนี้

  • ปวดศรีษะ ปวดตุ๊บๆเหมือนปวดเกร็งตรงบริเวณขมับ บางครั้งเวลาจับจะเป็นก้อน
  • ปากแห้ง หรือบางทีผิวแห้ง
  • คอแห้ง
  • ร้อนใน เป็นแผลในปาก
  • แขนขาอ่อนแรง
  • สีปัสสาวะจะเหลืองเข้ม

 

ถ้าดื่มน้ำมากหรือน้อยไปจะเป็นอย่างไร?

ของทุกกอย่างมากไปน้อยไปไม่ดีทั้งสิ้น เช่น บางคนบอกดื่มน้ำเยอะๆแล้วดี ดื่มที 8-10 ลิตรต่อวันนั้นก็มีผลเสียเช่นกัน เพราะว่าจะทำให้สมดุลเกี่ยวกับน้ำและเกลือแร่ของร่างกายมันผิดไปจากที่ควร ซื่งอาจจะส่งผลทำให้เกิดอาการจากการที่มีเกลือแร่ต่ำได้ อย่างเช่น อาจจะมีอาการคลื่นใส้ อาเจียน เวียนศรีษะได้ เป็นต้น

สำหรับคนที่ดื่มน้ำน้อยไป ปัญหาก็คือ น้ำก็ไม่เพียงพอที่จะเอาไปใช้ในกระบวนการเผาผลานของร่างกาย เพราะฉะนั้นระบบต่างๆ ของร่างกายก็ไม่ดี รวมถึงอาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการทำให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ทำให้เกิดโรคนิ่วต่างๆได้ เพราะฉะนั้นการดื่มน้ำให้เพียงพอ และเหมาะสมในแต่ละวันนั้น จะเป็นเรื่องดีต่อสุขภาพ

ผลเสียเมื่อดื่มน้ำไม่เพียงพอ

หน้าร้อนไม่ควรดื่มเครื่องดื่มประเภท กาแฟ ชาหรือว่าแอลกอฮอล์ ถือว่าเป็นข้อห้ามในอากาศที่ร้อนมาก เพราะสิ่งเหล่านี้จะดึงน้ำออกไปจากร่างกาย เพราะถ้าเราดื่มกาแฟจะทำให้เราปัสสาวะบ่อย ในการปัสสาวะหนึ่งครั้งเราจะเสียน้ำไปประมาณ 200 มิลลิลิตร ดื่มกาแฟเท่าใหร่มันก็จะดึงน้ำออกไปเป็นสองเท่า ยิ่งดื่มมากยิ่งทำให้เสียน้ำมาก

การดื่มน้ำเย็นๆ ในอากาศที่ร้อนมากๆ พอดื่มเข้าไปร่างกายเราจะใช้เวลาในการปรับอุณหภูมิให้เท่ากับอุณหภูมิของร่างกายเพื่อที่จะดูดซึมเอาไปใช้ได้ดี แต่ถ้าอุณหภูมิมันปรับไม่ได้ จะทำให้ร่างกายดูดซึมน้ำได้แค่บางส่วนและน้ำก็จะออกไปทางระบบทางเดินอาหารและทางปัสสาวะ ทำให้ร่างกายเสียน้ำ และเกิดปากแห้ง ผิวแห้ง ปัสสาวะเหลืองขึ้นได้

 

12 เหตุผลที่เราควรหันมาใส่ใจในการดื่มน้ำเปล่า

 

1. ดื่มน้ำเปล่าทำให้หน้าใส

การดื่มน้ำในปริมาณมากทำให้ผิวยืดหยุ่นและไม่แห้งกร้าน  ใบหน้าชุ่มชื่น เต่งตึงเป็นสีชมพู เพราะเลือดไหลเวียนดี Kenneth Ellner แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังบอกว่า “ภาวะร่างกายขนาดน้ำทำให้ผิวของคุณดูแห้งกร้านและมีรอยตีนกา ซึ่งสามารถแก้ให้หายได้ถ้าดื่มน้ำในปริมาณที่มากขึ้น” นอกจากนี้เพื่อผิวที่ดีขึ้นและอ่อนวัยลงให้หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน เช่น น้ำอัดลมและกาแฟ อีกด้วย

 

2. ดื่มน้ำช่วยลดอาการอ่อนเพลีย

สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ร่างกายเกิดการอ่อนเพลียก็คือภาวะขาดน้ำ ดังนั้นการดื่มน้ำจะทำให้ร่างกายภายในชุ่มชื้นขึ้นและลดภาวะขาดน้ำได้ ช่วยให้รู้สึกสดชื่นมีแรงขึ้นกว่าเดิม ใครที่กำลังรู้สึกอ่อนเพลียลองจิบน้ำดูนะคะ รับรองว่าช่วยได้แน่นอน

 

3. ดื่มน้ำช่วยควบคุมแคลลอรี่

การดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอจะช่วยลดความหิว และส่งผลให้รับแคลอรี่จากการทานอาหารน้อยลงด้วย นอกจากนี้น้ำเปล่ายังช่วยกำจัดของเสียและไขมันจากอาหารที่ทานเข้าไป ถ้าคุณเปลี่ยนจากดื่มน้ำหวานที่ให้แคลอรี่สูงมาเป็นน้ำเปล่าธรรมดาๆได้ รับรองว่าหุ่นสวยสมใจแน่ค่ะ

 

4. ดื่มน้ำช่วยขจัดสารพิษในร่างกาย

ตเป็นอวัยวะที่สำคัญในการขับสารพิษออกจากร่างกาย โดยเมื่อไตกรองสารพิษในของเหลวที่อยู่ในร่างกายแล้วก็จะถูกขับออกมาในรูปแบบต่าง ๆ อาทิเช่น เหงื่อ และปัสสาวะ การดื่มน้ำจะช่วยให้ร่างกายขับสารพิษออกมาได้ดีขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดการติดเชื้อในท่อปัสสาวะและนิ่วในไตได้

 

5. ดื่มน้ำช่วยรักษาอาการปวดหัว

ผู้เชี่ยวชาญได้ให้ข้อมูลว่าการดื่มน้ำเปล่าในปริมาณที่เพียงพอช่วยลดอาการปวดหัวได้ แม้อาการปวดหัวจะเกิดจากหลายสาเหตุ แต่การขาดน้ำก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่พบบ่อยเช่นกัน ดังนั้นอาการไมเกรนและปวดหลัง แท้จริงแล้วอาจมีสาเหตุมาจากภาวะขาดน้ำในร่างกายได้ ดังนั้นการดื่มน้ำอย่างเพียงพอนี่ล่ะจะสามารถช่วยลดอาการเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

 

6. ดื่มน้ำช่วยเรื่องการทำงานของไต

ถ้าคุณดื่มน้ำเปล่าไม่เพียงพอต่อวัน น้ำปัสสาวะของคุณจะมีสีเหลืองเข้มและมีกลิ่นแรงขึ้น แต่ถ้าคุณดื่มน้ำเปล่าในปริมาณที่เพียงพอน้ำปัสสาวะจะไหลผ่านไตได้อย่างปกติ การดื่มน้ำเปล่ายังช่วยลดภาวะการติดเชื้อของไต และลดความเสี่ยงที่จะเกิดนิ่วในไตด้วย

 

7. ดื่มน้ำช่วยป้องกันมะเร็ง

มีการศึกษาหนึ่งพบว่าการดื่มน้ำมากๆ จะช่วยลดการอุบัติขึ้นของโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เพราะการดื่มน้ำมากๆ จะทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น ซึ่งการปัสสาวะบ่อยๆ จะช่วยลดการก่อตัวของสารก่อมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะได้ นอกจากนี้การดื่มน้ำอย่างเพียงพอไม่ให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำก็ยังช่วยลดการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งเต้านมได้อีกด้วยค่ะ 

 

8. ดื่มน้ำช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น

การดื่มน้ำไม่เพียงพอเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการขับถ่ายและการย่อยอาหาร การดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอช่วยลดความเสี่ยงเรื่องปัญหาในระบบย่อยอาหาร เช่น กรดไหลย้อน เพราะน้ำจะช่วยเจือจางกรดในระบบย่อยอาหารของคุณ

 

9. ดื่มน้ำดีต่อสุขภาพหัวใจ

มีการศึกษาหนึ่งพบว่าปริมาณน้ำที่ดื่มนั้นมีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดโดยการศึกษาได้แสดงให้เห็นว่าการดื่มน้ำมากขึ้นทำให้ความเสี่ยงโรคหัวใจลดลง โดยจะทำให้เลือดไม่ข้น การไหลเวียนเป็นไปได้ง่าย สูบฉีดดี หัวใจจึงไม่ทำงานหนัก ไม่เมื่อยล้า ไม่เหนื่อยง่าย หัวใจเป็นปกติ มีประสิทธิภาพดีและแข็งแรง แต่การดื่มเครื่องดื่มที่มีพลังงานสูง อย่างเช่นโซดา หรือ น้ำผลไม้ จะทำให้มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจสูงขึ้นอีกด้วยค่ะ

 

10. ดื่มน้ำช่วยลดอาการแฮงค์

การดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ และทำให้เกิดอาการแฮงค์ การดื่มน้ำหนึ่งแก้วหลังจากที่คุณจิบแอลกอฮอล์ จะช่วยลดภาวะขาดน้ำได้อีกทางหนึ่ง แถมยังช่วยให้อาการแฮงค์หลังจากดื่มแอลกอฮอล์ลดลงอีกด้วย

 

11. ดื่มน้ำช่วยปรับสมดุลอุณหภูมิของร่างกายในขณะออกกำลังกาย

การออกกำลังกายทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น และการดื่มน้ำในขณะที่ออกกำลังกายจะช่วยให้อุณหภูมิในร่างกายลดลงได้ และช่วยทดแทนของเหลวในร่างกายที่เสียไปจากการขับเหงื่อ แต่ก็ควรจะดื่มน้ำอย่างเหมาะสม โดยค่อย ๆ จิบน้ำหลังจากออกกำลังกาย ไม่ควรดื่มรวดเดียวเพราะอาจจะทำให้เกิดอาการจุกและเป็นอันตรายได้

 

12. สร้างเสริมสมองให้ทำงานดีขึ้น

การศึกษาในเมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ พบว่านักศึกษาที่นำน้ำเข้าไปดื่มด้วยในห้องสอบ จะทำข้อสอบได้คะแนนดีกว่า นั่นก็เป็นเพราะว่าน้ำจะช่วยทำให้สมองปลอดโปร่ง ส่งผลต่อการทำงานต่างๆ ไม่ว่าจะในเรื่องของความจำหรือการคิดประมวลผลต่างๆนั่นเอง

 

น้ำมีความสำคัญต่อร่างกายมนุษย์ ร่างกายของเราไม่สามารถอยู่ได้โดยปราศจากน้ำได้เลย ดังคำโบราณบอกว่าขาดอาหารกินเราอยู่ได้ 7 วัน แต่ถ้าขาดน้ำเราจะอยู่ได้เพียง 3 วันเท่านั้น แต่ถ้าขาดอากาศหายใจเราจะอยู่ได้เพียงสามนาที ดังนั้นจะเห็นได้ว่าน้ำนั้นมีความสำคัญมากอีกทั้งน้ำยังนำพาสิ่งดีและไม่ดีเข้าสู่ร่างกายเราได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นอย่าละเลยในการดื่มน้ำกันเลยค่ะ ถึงแม้อาจจะปวดปัสสาวะบ่อยแต่ถ้าปัสสาวะมีสีใสก็ยังดีกว่าปัสสาวะเป็นสีอื่นและมีกลิ่นนะคะ เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือนน