Browse Tag: ไขมัน

L-Carnitine คืออะไรและมีประโยชน์อย่างไร

steak-beef-1
Source: Flickr (click image for link)

สมัยนี้มีอาหารเสริมมากมายหลายชนิดเต็มไปหมด บางตัวก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร ช่วยเรื่องอะไรบ้าง บางทีก็อยากจะรู้อยากลองอยากที่จะกินดูบ้างแต่มันก็ยังไม่แน่ใจและยังคงลังเล ฟังคนนู้นทีคนนี้ทีบอกว่าตัวนี้ดีอย่างนั้นอย่างนี้ วันนี้ทาง HealthGossip เลยอยากจะยกอาหารเสริมตัวหนึ่งมาบอกเล่ากันเพื่อให้เรารู้จักและเข้าใจความหมายกันมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มของคนที่อยากลดน้ำหนักหรือลดความอ้วน อาหารเสริมตัวนี้ถือว่าเป็นตัวหลักที่เลือกรับประทานกันเลยทีเดียว ซึ่งเห็นบอกว่าช่วยลดความอ้วนได้ แต่จะลดได้ยังไงนั้น ก่อนอื่นเรามารู้จักทำความเข้าใจความหมายของอาหารเสริมตัวนี้กันก่อนเลยค่ะ ซึ่งอาหารเสริมตัวนี้มักคุ้นหูกันในชื่อที่เรียกกันว่า “แอลคาร์นิทีน” โดยที่ คาร์นิทีน เป็นสารประกอบจตุรภูมิของแอมโมเนียมที่สังเคราะห์ได้จากกรดอะมิโนสองชนิดคือ ไลซีนและเมธไทโอนีน ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตคาร์นิทีนจะลำเลียงกรดไขมันจากไซโตซอลเข้าสู่ไมโทคอนเดรียระหว่างการสลายของลิพิด (ไขมัน) เพื่อใช้ในการเผาผลาญพลังงาน คาร์นิทีนถูกใช้เป็นอาหารเสริมกันอย่างกว้างขวาง เดิมคาร์นิทีนพบว่าเป็นปัจจัยในการเจริญเติบโตของหนอนนกและมีอยู่บนฉลากวิตามินบี คาร์นิทีนมีอยู่ 2 stereoisomers : Active form คือ L-carnitine ขณะที่ inactive form คือ D-carnitine

แอลคาร์นิทีน (L-Carnitine) เป็นชื่อของสารตัวหนึ่ง ที่ถูกสร้างขึ้นในร่างกายของเราเอง โดยสร้างขึ้นมาจากกรดอะมิโน 2 ตัว คือ ไลซีน (lysine) และเมไทโอนีน (methionine) และ ถูกใช้ไปในหน้าที่ต่างๆ หลายอย่าง เช่น เข้าไปช่วยเพิ่มกระบวนการในการดึงไขมันไปใช้ โดยการขนส่งกรดไขมัน (fatty acid) เข้าไปในศูนย์กลางของการสร้างพลังงานของเซลล์ หรือจะพูดง่ายๆ ก็คือ แอล-คาร์นิทีนช่วยให้ร่างกายเปลี่ยนกรดไขมันไปเป็นพลังงานนั่นเอง ซึ่งพลังงานที่ได้มาส่วนใหญ่ก็จะถูกใช้สำหรับการทำงานของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย และเพราะกระบวนการพื้นฐานดังกล่าวของสารชนิดนี้ จึงทำให้สื่อโฆษณานำมาใช้เป็นประเด็นหลักในการสร้างโฆษณาเพื่อให้เห็นว่า “เมื่อกินแอล-คาร์นิทีน แล้วร่างกายเหมือนจะได้ทำงานดึงไขมันไปใช้ตลอดเวลา แม้แต่ในยามหลับ” L-Carnitine ทำหน้าที่สำคัญในระบบเมตาบอลิซึมเพื่อสร้างพลังงาน โดยผ่านกระบวนการเผาผลาญกรดไขมันที่เรียกว่า Beta-oxidation ซึ่งเกิดภายในไมโตคอนเดรีย (Mitochondria) ของเซลล์ต่างๆ รวมไปถึงเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจและกล้ามเนื้อลาย โดยปกติ L-Carnitine จะเปลี่ยนไปอยู่ในรูปของ Acyl-Carnitine ทำหน้าที่ขนส่งกรดไขมันสายยาวเพื่อนำไปเผาผลาญภายในไมโตคอนเดรียแล้วจึงเปลี่ยนกลับมาเป็น L-Carnitine เหมือนเดิม ดังนั้นเราจึงอาจกล่าวได้ว่า L-Carnitine มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อวัฏจักรของการสลายกรดไขมันในร่างกาย ขณะเดียวกันการขาด L-Carnitine นอกจากจะมีผลเสียต่อเมตาบอลิซึมของกรดไขมันแล้วยังอาจทำให้เกิดความผิดปกติต่อกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งในปัจจุบันมีการศึกษาที่พบว่าการให้ L-Carnitine สามารถลดอัตราการตายของกล้ามเนื้อหัวใจ (All- cause mortality, 27%) ลดภาวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ (Ventricular arrhythmias, 65%) และลดการปวดเค้นของกล้ามเนื้อหัวใจ (Angina, 40%) แต่ไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการลดอุบัติการการเกิดโรคหัวใจวาย (Heart failure)

แหล่งของคาร์นิทีน จะพบมากในเนื้อแดงและผลิตภัณฑ์จากนม คาร์นิทีนจากแหล่งธรรมชาติอื่นๆ ประกอบด้วยถั่วและเมล็ดพืช (เช่น ฟักทอง ทานตะวัน งา) พืชตระกูลถั่วหรือเมล็ดถั่ว (ถั่วเหลือง, ถั่วเขียว, ถั่วแขก, ถั่วลิสง) ผัก (อาร์ติโชค, หน่อไม้ฝรั่ง, หัวผักกาดเขียว, บร็อคโคลี่, กะหล่ำดาว, ผักคอลลาร์ด, กระเทียม, ผักกาดเขียวปลี, กระเจี๊ยบมอญ, พาสลี่ย์, คะน้า) ผลไม้ (แอปปริคอท, กล้วย) ธัญพืช (บัควีท(buckwheat), ข้าวโพด, ลูกเดือย, ข้าวโอ๊ต, รำข้าว, ข้าวไรย์, ข้าวสาลี, รำข้าวสาลี, จมูกข้าวสาลี) และอื่นๆที่เป็นอาหารสุขภาพ (ละอองเกสรดอกไม้, ยีสต์ที่ใช้หมักสุรา, carob)การดูดซึมคาร์นิทีนของร่างกาย การดูดซึมของแอล-คาร์นิทีนจะเกิดขึ้นในลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ ส่วนแพทย์สามารถให้คาร์นิทีนกับผู้ป่วยได้ทั้งทางเส้นเลือดและโดยการกิน

 

L-Carnitine กับการควบคุมหรือลดน้ำหนัก

ในปัจจุบันมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากมายต่างระบุตรงกันว่าการใช้ L-Carnitine ช่วยส่งเสริมเมตาบอลิซึมของกรดไขมันตามกลไกที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยเฉพาะเมื่อเรามีการออกกำลังกายชนิดแอโรบิกร่วมด้วย นั่นเป็นเพราะว่าการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอหรือแอโรบิก (Aerobic exercise) จะทำให้เซลล์สลายกรดไขมันไปเป็น ATP ซึ่งเป็นสารให้พลังงานหลักของเซลล์อย่างต่อเนื่อง หากเราออกกำลังกายติดต่อกันอย่างน้อย 30 นาที ดังนั้นหากเราต้องการควบคุมน้ำหนักจากการลดไขมันสะสม การใช้ L-Carnitine ร่วมกับการออกกำลังกายก็ย่อมจะช่วยให้เราสามารถควบคุมน้ำหนักตัวได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยนั่นเอง การรับประทาน L-Carnitine ร่วมกับกลุ่มวิตามินพื้นฐานอย่างวิตามินบีรวม (Vitamin B-Complex) นอกจากจะช่วยควบคุมเมตาบอลิซึมของร่างกายให้เป็นปกติแล้ว วิตามินบีรวมยังเป็นโคเอนไซม์หลักในปฏิกริยาการเผาผลาญสารอาหารในร่างกายให้เป็นพลังงานอีกด้วย

เมื่อมนุษย์เริ่มแก่ตัวลงนั้น ความเข้มข้นของคาร์นิทีนก็จะลดลงไปดวย ซึ่งมีผลต่อการเผาผลาญกรดไขมันในเนื้อเยื่อต่างๆ โดยเฉพาะจะเกิดผลกระทบต่อกระดูก จึงจำเป็นที่จะต้องมีการสร้างใหม่อย่างต่อเนื่อง และเซลล์สร้างกระดูกจะทำหน้าที่เผาผลาญเพื่อซ่อมแซมมวลกระดูก ทั้งนี้ การเปลี่ยนระดับพลาสมาของเซลล์สร้างกระดูกกับการทำงานของเซลล์สร้างกระดูกมีความเกี่ยวข้องกันอย่างมาก โดยการลดระดับพลาสมาในเซลล์สร้างกระดูกจะเป็นตัวชี้วัดในการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก ซึ่งปรากฏในโรคกระดูกพรุนของผู้สูงอายุและวัยหมดประจำเดือนในผู้หญิง ซึ่งในการทดลอง การใช้คาร์นิทีนผสม หรือ propionyl-L-carnitine นั้น สามารถเพิ่มความเข้มข้นของ serum osteocalcin ในสัตว์ที่ทดลอง แต่ถ้าว่าระดับ serum osteocalcin มีแนวโน้มทำให้อายุของสัตว์ที่ทดลองนั้นสั้นลงด้วยค่ะ

 

ปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน โดยทั่วไป 20 ถึง 200 มิลลิกรัมคือปริมาณของคาร์นิทีนที่ควรได้รับต่อวัน ด้วยเหตุนี้ผู้ที่เคร่งครัดในการทานมังสวิรัติจะรับประทานเพียง 1 มิลลิกรัมต่อวัน ไม่มีประโยชน์เกิดขึ้นถ้ารับประทานคาร์นิทีนมากกว่า 2 กรัมภายในครั้งเดียว เพราะว่าร่างกายสามารถดูดซึมได้สูงสุดได้เพียง 2 กรัม

 

www.flickr.com/photos/stephen_bolen/6142919686/

Vitamin D คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร

milk-eggs-1
Source: Flickr (click image for link)

วันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับ “วิตามินดี” (Vitamin D) ถ้าพูดถึงวิตามินดีหลายๆคนจะนึกถึงแคลเซียมกันใช่ไหมล่ะคะ แต่เอะแล้วแคลเซียมเกี่ยวอะไรด้วยล่ะ ก็เพราะว่าวิตามินดีและแคลเซียมมีความสำคัญอย่างมากกับสุขภาพของกระดูกและฟันของเรา และในบางทีเราก็จะรู้จักกับวิตามินดีในนามของ “วิตามินแสงแดด” เนื่องจากจะสามารถสร้างขึ้นได้ในร่างกายหลังจากถูกแสงแดด การให้ร่างกายได้รับแสงแดดที่เหมาะสมครั้งละ 5-30 นาที สองครั้งต่อสัปดาห์ก็พอที่จะทำให้ร่างกายสร้างวิตามินดีขึ้นมาใช้ได้อย่างเพียงพอ ซึ่งหมายความว่าเราไม่จำเป็นต้องได้รับวิตามินดีจากอาหาร ยกเว้นก็ต่อเมื่อได้รับแสงอาทิตย์น้อยเกินไป ซึ่งมักไม่เป็นปัญหาในเด็ก แต่เนื่องจากรังสี UV ในแสงอาทิตย์โดยเฉพาะในประเทศไทยบ้านเรา อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้ American Academy of Dermatology จึงแนะนำให้เรารับวิตามินผ่านทางอาหารหรืออาหารเสริมมากว่า วิตามินดีเป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกายมนุษย์เนื่องจากจะช่วยในการสร้างแคลเซียมและแมกนีเซียม ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน และยังช่วยให้ร่างกายคงระดับของแคลเซียมและฟอสฟอรัสในเลือดให้อยู่ในระดับที่เพียงพอนั่นเองค่ะ แต่นอกจากนี้แล้ว วิตามินดียังมีความสำคัญและบทบาทต่อสุขภาพอื่นๆของเราอีกด้วยค่ะ เพราะฉะนั้น HealthGossip เลยไม่รอช้าที่จะนำเสนอข้อมูลเพื่อให้เราได้เรียนรู้และรู้จักกับวิตามินดีกันให้มากขึ้นค่ะ วิตามินดีเป็นวิตามินที่ละลายในไขมันมีอยู่ด้วยกันสองฟอมร์คือ Ergocalciferol พบในยีสต์ และ Cholecalciferol พบในน้ำมันตับปลา ไข่แดง และสังเคราะห์ที่ผิวหนัง ส่วนในน้ำนมจะพบได้ทั้งสองฟอมร์

 

เกี่ยวกับวิตามินดี หรือ Cholecalciferol

  • วิตามินดี คือเซกโคสเตอรอยด์ (secosteroids) ที่ละลายในไขมันกลุ่มหนึ่งซึ่งทำหน้าที่เสริมการดูดซึมแคลเซียม เหล็ก แม็กนีเซียม ฟอสเฟตและสังกะสีในมนุษย์
  • วิตามินดี มีหลักๆอยู่สองตัวคือ วิตามินดี 2 หรือ ergocalciferol พบในพืช รา ไลแคน และสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง พวกหอยทาก หนอน ยีสต์ และวิตามินดี 3 หรือ cholecalciferol พบในน้ำมันตับปลา ไข่แดง และสังเคราะห์ที่ผิวหนัง
  • เราได้วิตามินดีส่วนหนึ่งจากอาหาร อีกส่วนหนึ่งจากการสังเคราะห์ที่ผิวหนังซึ่งร่างกายสามารถสร้างเองได้โดยได้รับการกระตุ้นจากรังสียูวีบี (UVB) ซึ่งมีอยู่ในแสงแดด
  • วิตามินดีที่เราได้รับไม่ว่าจากอาหารหรือจากการสังเคราะห์ที่ผิวหนังร่างกายยังไม่สามารถนำไปใช้ได้ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงโดยมีอวัยวะที่เปลี่ยนคือ ที่ตับเมื่อเปลี่ยนแล้วจะได้วิตามินดีที่เรียกว่า calcidiol และ ที่ไตเมื่อวิตามินเปลี่ยนแล้วจะได้วิตามินที่เรียกว่า calcitriol
  • วิตามินดีทำหน้าที่ร่วมกับแคลเซี่ยมในการสร้างกระดูกและฟัน และช่วยเร่งการดูดซึมแคลเซี่ยมในลำไส้
  • อาการของคนที่ขาดวิตามินดี คือกระดูกและฟันอ่อนแรง หักง่าย นอนไม่หลับในเด็กหากขาดวิตามินดี เรียก rickets ส่วนในผู้ใหญ่เรียก osteomalacia
  • การสังเคราะห์วิตามินดีของผิวหนังจากคอเลสเตอรอลอาศัยการได้รับแสงแดด (โดยเฉพาะรังสียูวีบี)
  • เราได้วิตามินเอจาก อาหาร แสงแดด และอาหารเสริม
  • อาหารหลายประเภทรวมทั้งนมได้ใส่วิตามินดีในอาหารและนมดังกล่าว คนปกติควรจะได้รับวิตามินดีอย่างน้อยวันละ 400 IU ต่อวัน
  • แหล่งของอาหารตามธรรมชาติที่อุดมไปด้วยวิตามินดี ได้แก่ ปลาที่มีมัน เห็ดตากแห้ง และไข่แดง และยังพบในอาหารหรือเครื่องดื่ม เช่น นม และนมถั่วเหลืองก็มีการเติมวิตามินดีในอาหาร
  • การถูกแดดช่วง 10.00น – 15.00น วันละ 5-30 นาที โดยให้แสงแดดถูกที่หน้า หรือแขน หรือลำตัวสัปดาห์ละสองวันก็เพียงพอที่จะสร้างวิตามินดี
  • งานวิจัยแสดงชี้ให้เห็นว่าคนที่มีผิวสีเข้มจะมีระดับวิตามินดีต่ำกว่าคนที่มีผิวที่ขาวกว่า หากต้องการดูดซึมวิตามินดีในปริมาณที่เท่ากัน คนอเมริกันผิวดำจะต้องโดนแสงแดดมากกว่าคนผิวขาวทั่วไปถึง 10 เท่า
  • ผู้ที่ได้รับวิตามินดีเสริมในปริมาณมากที่สุด สามารถลดน้ำหนักลงได้มากที่สุด และไขมันที่ลดลงมากก็คือไขมันบริเวณช่องท้องที่จัดว่าเป็นไขมันอันตรายนั่นเอง
  • ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงของการขาดวิตามินดี คือการมีไขมันในร่างกายมาก เพราะวิตามินดีเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน ฉะนั้นวิตามินดีจึงถูกเก็บอยู่กับไขมันมากกว่าที่จะถูกนำออกมาในกระแสเลือดเพื่อใช้กับกระบวนการต่างๆ ในร่างกาย

 

 

ประโยชน์ของวิตามินดี

วิตามินดี ช่วยให้อายุยืนยาว งานวิจัยล่าสุดเผยว่าวิตามินดี สามารถช่วยลดการตายที่เกี่ยวเนื่องกับโรคมะเร็ง โรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตัวเอง และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ผลจากวิเคราะห์การสุ่มกลุ่มตัวอย่าง 18 กลุ่ม แสดงให้เห็นว่าผู้ใหญ่ที่รับประทานวิตามินดี ในปริมาณระหว่าง 400–830-IU เป็นประจำทุกวันช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเนื่องจากโรควิถีชีวิต

 

วิตามินดี ช่วยในการชะลอวัยของผิวพรรณ มีการศึกษาพบว่าระดับวิตามินดีต่ำเกี่ยวข้องกับการบวมหรือความหย่อนยาน การมีรูขุมขนขยาย และการเกิดซีสต์บนผิวหนัง ดังนั้น วิตามินดีจึงเป็นตัวช่วยสำคัญในการสร้างผิวหนังและกล้ามเนื้อให้มีความแข็งแรง และควบคุมให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเหมาะสมตามวัย

 

วิตามินดี ช่วยให้หัวใจมีสุขภาพดี งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าระดับวิตามินดี ในร่างกายที่เพียงพอช่วยทำให้ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบดี ขึ้น พบว่าผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำเสี่ยงที่จะเกิดการตีบของหลอดเลือดเพิ่มขึ้นถึง 80% โดยผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า อาจมาจากว่าวิตามินดีช่วยลดการอักเสบของเซลล์ และช่วยลดระดับความดันโลหิต

 

วิตามินดี ช่วยรักษาระดับความดันเลือด วิตามินดีช่วยให้การทำงานของหลอดเลือดเป็นไปด้วยดี โดยงานศึกษาแสดงให้เห็นว่าหากเราได้รับวิตามินดี เพียงพอ (เช่น ไม่ขาดวิตามินชนิดนี้) จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคความดันสูง

 

วิตามินดี ช่วยปกป้องกระดูก วิตามินดีและแคลเซียม ช่วยปกป้องกระดูกจากการเป็นโรคกระดูกผุ และช่วยลดความเสี่ยงต่อการแตกหักของกระดูกที่เกิดจากโรคกระดูกผุด้วย

 

วิตามินดี ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง วิตามินดีทำหน้าที่เหมือนสารต้านอนุมูลอิสระ คือ ช่วยเพิ่มเกราะป้องกันให้เซลล์ในร่างกายแข็งแรง ป้องกันไม่ให้เซลล์เปลี่ยนรูปเป็นเซลล์เนื้อร้าย และพบว่าสำหรับผู้ที่เป็นมะเร็งแล้ว ผู้ป่วยที่มีระดับวิตามินดีสูงมีโอกาสลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตด้วยโรคนี้ได้

 

วิตามินดี ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย การศึกษาที่มหาวิทยาลัยเยล ประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้ที่มีระดับวิตามินดีในร่างกายสูงที่สุดจะป่วยน้อยครั้งกว่าผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำมากถึง 2 เท่า ด้วยเหตุผลที่ว่าวิตามินดีจะช่วยกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวผลิตโปรตีนที่เป็นตัวฆ่าเชื้อโรค

 

วิตามินดี ช่วยลดความเสี่ยงของโรคพาร์กินสัน ซึ่งเป็นโรคทางระบบประสาท เนื่องจากวิตามินดีจะเป็นตัวปรับแคลเซียมในสมอง เพิ่มประสิทธิภาพของการส่งต่อข้อมูลต่างๆ ในระบบประสาท

 

วิตามินดี ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า เป็นเพราะวิตามินดีช่วยกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนเซโรโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยทำให้รู้สึกดี ขณะที่การขาดเซโรโทนิน ส่งผลให้เกิดความเครียดได้

 

วิตามินดี ช่วยลดไมเกรน มีการศึกษาพบว่า ผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำมีความสัมพันธ์กับไมเกรนและอาการปวดเรื้อรัง เนื่องจากวิตามินดีมีส่วนช่วยให้หลอดเลือดเกร็งและคลายตัวตามปกติ

 

สาเหตุของการขาดวิตามิน

  • คนที่ถูกแสงแดดน้อย เช่นคนสูงอายุ คนป่วย
  • คนที่รับประทานอาหารไม่เพียงพอ ดื่มนมไม่เพียงพอ
  • hypoparathyroidism
  • ผู้ที่มีปัญหาเรื่องการดูซึมไขมัน
  • ผู้ที่มีผิวสีคล้ำซึ่งจะทำให้ผิวหนังผลิตวิตามินดีลดลง

อันตรายจากการขาดวิตามินดี

ปกติเราสามารถสร้างวิตามินดีได้จากใต้ผิวหนังเมื่อได้รับรังสีไวโอเลตในแสงแดด ทั้งนี้ปริมาณวิตามินดีที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวันคือประมาณ 5 ไมโครกรัม / วัน อย่างไรก็แล้วแต่ถ้าหากได้รับวิตามินดีมากหรือน้อยเกินไปก็เป็นอันตรายเช่นกันค่ะ

โรคกระดูกอ่อน ในเด็กที่กำลังเจริญเติบโต การขาดวิตามินดีจะทำให้เกิดโรคกระดูกอ่อน เนื่องจากวิตามินดีทำงานร่วมกับแคลเซียมในการช่วยควบคุมระดับแค ลเซียมในร่างกาย เมื่อขาดแคลเซียม จึงทำให้กระดูกเปราะและหักง่าย อีกทั้งยังทำให้กระดูกตามส่วนต่างๆในร่างกายผิดรูป โค้งงอ และขาโก่ง อีกทั้งยังทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนในผู้ใหญ่ได้อีกด้วย

ท้องเสีย นอนไม่หลับ ปัสสาวะบ่อย กระวนกระวาย กล้ามเนื้อกระตุก เป็นหวัดบ่อย กล้ามเนื้ออ่อนแอ ขาดความคล่องแคล่วกระฉับกระเฉง และความต้านทานโรคลดน้อยลง

อันตรายจากการได้รับวิตามินดีมากเกินไป

ท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง โดยปกติร่างกายของเราสามารถกำจัดวิตามินดีที่สร้างจากแสงแดดออก ไปจากร่างกายตามธรรมชาติ แต่ถ้าหากกินวิตามินดีเสริมมากเกินไปก็อาจอันตรายได้เช่น ถ้ากินวิตามินดีวันละ 25-50 ไมโครกรัมติดต่อกันนาน 6 เดือนอาจทำให้เกิดอาการท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นผิดปกติ และอ่อนเพลียได้

เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูง เนื่องจากวิตามินดีมีส่วนช่วยในการดูดซึมฟอสฟอรัสและแคลเซียมจาสิกลำไส้ไปสร้างกระดูกและฟัน การขาดวิตามินดีจึงมีผลโดยตรงที่ทำให้ระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัส ในร่างกายไม่สมดุลทำให้มีแคลเซียมสะสมตามส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น ในเนื้อเยื่อ เลือด ตับ ไต ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคร้ายอื่นๆตามมาได้

 

www.flickr.com/photos/lbrummphoto/4562104663/