Browse Tag: ไข่

ธาตุเหล็ก คืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร

cereal-breakfast-1
Source: Flickr (click image for link)

ธาตุเหล็ก (iron) เป็นธาติอาหารที่มีความสำคัญและมีความจำเป็นที่สุดชนิดหนึ่งต่อร่างกายของคนเราในทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะวัยที่อยู่ในช่วงการเจริญเติบโตสูง เช่นวัยทารก เด็กวัยรุ่น และในคุณผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ ในส่วนของผู้หญิงที่อยู่ในวัยของการเจริญพันธุ์ที่มีการสูญเสียธาตุเหล็กไปกับการเป็ประจำเดือน ทุกๆเดือนนั้น ถึงแม้จะมีปริมาณที่ไม่มากแต่ก็ควรที่จะได้รับธาตุเหล็กมากกว่าผู้ชายที่อยู่ในวัยเดียวกัน ธาตุเหล็กมีความจำเป็นในเรื่องของการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง ซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย และถ้าใครเกิดอาการที่ขาดธาตุเหล็กขึ้นมาแล้วล่ะก็อาจจะมีภาวะที่ซีดได้ ธาตุเหล็กมีมากในเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นธาตุเหล็กที่มีคุณภาพ และเป็นชนิดที่ร่างกายดูดซึมได้ดี (Heme iron) ส่วนธาตุเหล็กที่มีในพืช ซึ่งราคาถูกกว่า เป็นธาตุเหล็กชนิดที่ดูดซึมได้ไม่ดีนัก (Nonheme iron) การขาดอาหารเนื้อสัตว์จึงเป็นสาเหตุของการขาดธาตุเหล็ก จนก่อให้เกิดภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็กได้ค่ะ โดยภาวะขาดธาตุเหล็ก มักพบได้ในผู้หญิงสูงกว่าในผู้ชาย เนื่องจาก

  • ร่างกายผู้ชายเก็บสะสมธาตุเหล็กได้สูงกว่าในผู้หญิง
  • ไม่ต้องเสียเลือดจากประจำเดือน
  • ไม่มีการตั้งครรภ์
  • ไม่ได้ให้นมบุตร

ซึ่งทั้งสองภาวะหลัง เป็นภาวะที่ทำให้ร่างกายต้องการธาตุเหล็กสูงกว่าปกติ จึงก่อให้เกิดการขาดธาตุเหล็กได้ง่ายนั่นเองค่ะ

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็ก คือ

  • หญิงตั้งครรภ์ และให้นมบุตร
  • ทารกในครรภ์ และวัยเด็ก
  • หญิงที่มีประจำเดือนมากทุกเดือน
  • มีเลือดออกเรื้อรัง เช่น โรคริดสีดวงทวาร
  • มีโรคเรื้อรังของทางเดินอาหาร เช่น ลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

ลองสังเกตุจากตัวเองก่อนเลยนะคะ ว่าเรามีอาการเหล่านี้บ้างหรือเปล่า

 

เกี่ยวกับ ธาตุเหล็ก หรือ Iron

  • ธาตุเหล็ก เป็นธาตุอาหารสำคัญที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ จึงจำเป็นที่จะต้องได้จากอาหารอย่างเพียงพอ
  • ธาตุเหล็ก เป็นแร่ธาตุหนึ่งที่มีความจำเป็นในการสร้างเม็ดเลือดแดง
  • ธาตุเหล็ก เหล็กมีความจำเป็นกับคนทุกวัย โดยเฉพาะวัยที่มีการเจริญเติบโตสูง เช่น ทารก เด็กวัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์
  • ธาตุเหล็ก คนปกติมีธาตุเหล็กประมาณ 3-5 กรัม ร้อยละ 70 ของเหล็กอยู่ในเม็ดเลือดแดงหรือฮีโมโกลบิน ที่เหลืออยู่ในตับ ม้าม ไขกระดูก และกล้ามเนื้อ
  • ธาตุเหล็ก ในเลือด 100 ลูกบาศก์เซนติเมตร มีธาตุเหล็กประมาณ 40-50 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ปลา เป็ด ไก่ ตับ ม้าม ไข่แดง อาหารเช้าซีเรียล (Cereal) หรือนมที่เสริมอาหารด้วยธาตุเหล็ก ในพืช เช่น ผักที่มีใบเขียวเข้มทุกชนิด เช่น ใบตำลึง ผักปวยเล้ง ผักโขม ถั่วแดง ถั่วดำ ข้าวโอต
  • ธาตุเหล็ก จะถูกดูดซึมในส่วนของลำไส้เล็ก
  • ธาตุเหล็ก จากแหล่งอาหารที่มาจากสัตว์ จะถูกดูดซึมได้ดีกว่าจากแหล่งอาหารที่มาจากพืช
  • ธาตุเหล็ก ยังดูดซึมได้ดีในภาวะที่น้ำย่อยอาหารมีความเป็นกรด (ดังนั้น ยาเคลือบกระเพาะอาหาร และยาลดกรด จึงลดการดูดซึมของธาตุเหล็ก) และวิตามินซี และอาหารที่มีวิตามินซีสูง จะช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็กด้วย
  • ธาตุเหล็ก จะถูกขัดขวางการดูดซึมเมื่อดื่มชา กาแฟ ในปริมาณที่สูง เนื่องจากสาร Tannin จะไปลดการดูดซึมของธาตุเหล็ก และอาหารที่มีใยอาหารสูงกับอาหารที่มีแคลเซียมสูง
  • ธาตุเหล็ก เมื่อดูดซึมแล้ว ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้งาน บางส่วนร่างกายจะสะสมไว้ใน ตับ ม้าม และไขกระดูก
  • ธาตุเหล็ก ร่างกายของเราจะกำจัดธาตุเหล็กส่วนเกินออกทางตับ (ทางน้ำ ดี) และทางไต (กำจัดออกทางปัสสาวะ แต่ในปริมาณน้อยมาก)

 

ประโยชน์ของธาตุเหล็ก หรือ (Iron)

 

ช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันอาการโรคโลหิตจาง โดยเป็นตัวนำออกซิเจนจากปอดไปสู่เซลล์ต่างๆทั่วร่างกาย เพื่อการทำงาน การใช้พลังงานของเซลล์ทุกๆเซลล์ของร่างกาย ธาตุเหล็กจึงมีความสำคัญต่อไขกระดูกในการสร้างเม็ดเลือดแดงเป็นอย่างมาก ดังนั้นเมื่อขาดธาตุเหล็ก จะเป็นสาเหตุหลักให้เกิดภาวะซีด หรือภาวะโลหิตจาง (โลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก)

 

ช่วยให้ร่างกายเติบโตเป็นปกติ ช่วยการทำงานของกล้ามเนื้อต่างๆ ให้มีความแข็งแรง

 

ธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบของโปรตีนหลายชนิด ที่ช่วยสร้างกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยเป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ต่างๆในการสันดาปพลังงานและการนำพลังงานต่างๆไปใช้

 

ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานให้ร่างกาย โดยช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต้านโรคทำให้เจ็บป่วยยากขึ้น

 

ช่วยกำจัดโลหะหนักที่เป็นพิษออกจากร่างกาย เช่น แคดเมี่ยม

 

ช่วยให้เซลล์สมองเจริญเติบโตได้ดี ช่วยการเจริญเติบโตของเซลล์สมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเข้าใจและความจำ (Cognitive development)

 

อาการของภาวะผู้ที่ขาดธาตุเหล็ก

– ร่างกายซีด เหลือง

– เป็นโรคโลหิตจาง

– ร่างกายไม่เจริญเติบโตสมบูรณ์ตามวัย

– ตั้งครรภ์ยาก

– ประจำเดือนมาไม่ปกติ

– อ่อนเพลียง่าย เหนื่อยง่าย วิงเวียนศีรษะบ่อย

– ผมร่วงมาก

– สมองคิดช้า ตอบสนองช้า สับสนง่าย

– ติดเชื้อต่างๆได้ง่าย

 

ปริมาณของธาตุเหล็กที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน

สำหรับปริมาณธาตุเหล็กที่แนะนำให้บริโภคต่อวันสำหรับคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป (Thai Recommended Daily Intakes (Thai-RDI)) มีค่าเท่ากับ 15 มิลลิกรัม โดยคิดจากความต้องการพลังงานวันละ 2,000 กิโลแคลอรี จะเห็นได้ว่าร่างกายของเราต้องการในปริมาณไม่มาก แต่ธาตุเหล็กจัดเป็นแร่ธาตุที่มีความจำเป็นกับคนทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะในเด็กทารก เด็กวัยรุ่น และหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากเป็นวัยที่มีการเจริญเติบโต ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกายซึ่งปริมาณธาตุเหล็กที่ร่างกายควรได้รับจะแตกต่างกันไปแล้วแต่บุคคล เพศ อายุ นั่นเองค่ะ

 

www.flickr.com/photos/charlotte90t/15600597901/

ฟอสฟอรัส คืออะไรและมีคามสำคัญอย่างไร

little-girl-smile-1
Source: Flickr (click image for link)

ฟอสฟอรัส (Phosphorus) ถ้าพูดถึงฟอสฟอรัสเราก็จะนึกเห็นภาพของแคลเซียมขึ้นมาทันที เพราะเรามักจะได้ยินติดหูคุ้นชินว่าแคลเซียมนั้นคู่กันกับฟอสฟอรัสเสมอ ก็เพราะว่าสองตัวนี้ต้องได้ทำหน้าที่ร่วมกันนั่นเองค่ะ ”ฟอสฟอรัส” เป็นเกลือแร่ที่มีความสำคัญต่อร่างกายของเราจัดว่าเป็นอันดับสองของแคลเซียมเลยก็ว่าได้ค่ะ และก็จะอยู่รวมกับแคลเซียม ที่เป็นในส่วนของกระดูและฟัน ในเนื้อเยื่อต่างๆ ก็มีฟอสฟอรัสอยู่ด้วยเช่นกัน ฟอสฟอรัสเป็นธาตุที่มีความสำคัญต่อร่างกายมนุษย์ สัตว์ และระบบนิเวศ เป็นแร่ธาตุที่พบมากในธรรมชาติในรูปของเกลือฟอสเฟตต่างๆค่ะ ส่วนฟอสเฟตก็คือ สารประกอบของฟอสฟอรัสนั่นเองค่ะ เช่น Monohydro phosphate แต่เกลือแร่ที่ร่างกายจะนำไปใช้งานก็คือ ส่วนที่เป็นเกลือแร่ฟอสฟอรัส พูดถึงแร่ธาติหรือเกลือแร่ สมัยที่เราเรียนมักจะไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญเท่ากับวิตามินต่างๆนัก แต่ก็อีกนั่นแหละค่ะ ยังไงร่างกายของเราก็ยังต้องการอยู่ดี ขาดก็ไม่ได้ เกินก็ไม่ดีค่ะ ฟอสฟอรัสอยู่ในกลุ่มไนโตรเจน มีวาเลนซ์ได้มาก ปรากฏในหลายอัลโลโทรป พบทั้งในหินฟอสเฟต และเซลล์สิ่งมีชีวิตทุกเซลล์ (ในสารประกอบในดีเอ็นเอ) เนื่องจากสามารถทำปฏิกิริยาได้สูง จึงไม่ปรากฏในรูปอิสระในธรรมชาติ คำว่า ฟอสฟอรัส มาจากภาษากรีกแปลว่า ‘ส่องแสง’ และ ‘นำพา’ เพราะฟอสฟอรัสเรืองแสงอ่อน ๆ เมื่อมีออกซิเจน หรือมาจากภาษาละติน แปลว่า ‘ดาวประกายพรึก’ ค้นพบประมาณปี 1669 โดยนักเล่นแร่แปรธาตุชาวเยอรมัน เฮนนิก แบรนด์

 

เกี่ยวกับฟอสฟอรัส (Phosphorus)

  • ฟอสฟอรัส อยู่ในกระดูก 58% ที่เหลืออยู่ตามเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย
  • ฟอสฟอรัส มีหน้าที่ในการเผาผลาญสารอาหารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไขมัน คาร์โบไฮเดรต หรือว่าโปรตีน
  • ฟอสฟอรัส จับกับกรดอะมิโนแล้วทำหน้าที่ปล่อยพลังงานให้กับร่างกายของเรา
  • ฟอสฟอรัส กับแคลเซียมร่วมมือกันทำให้กระดูกและฟันของร่างกายมีความแข็งแรง
  • ฟอสฟอรัส เป็นแร่ธาตุที่หาได้ง่ายในอาหารแทบทุกชนิดจึงไม่ค่อยมีใครขาดฟอสฟอรัสกัน
  • ฟอสฟอรัส ถ้าร่างกายขาดจะมีอาการปวดกระดูก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และกระดูกผุกร่อนได้ง่าย
  • ฟอสฟอรัส หากร่างกายเกิดการสะสมมากเกินไป จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันทำให้ร่างกายสูญเสียแคลเซียม ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับกระดูก จึงต้องรับแคลเซียมและฟอสฟอรัสให้สมดุลกัน
  • ฟอสฟอรัส มีมากในนม เนื้อสัตว์ ปลา เมล็ดฟักทอง เมล็ดดอกทานตะวัน เนย ไก่ ข้าวบาร์เลย์ ปลาซาร์ดีน หอยแครง นอกจากนี้ยังพบฟอสฟอรัสในไข่แดง กระดูก ฟัน สมอง เส้นประสาทของคนและสัตว์
  • ฟอสฟอรัส รวมกับแคลเซียมสร้างกระดูกและฟัน โดยมีวิตะมินดี ชวยให้เกิดการรวมตัว ในกระดูกมีปริมาณของฟอสฟอรัสประมาณ 2 ใน 3 ส่วนของแคลเซียม
  • ฟอสฟอรัส ช่วยในการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรท ไขมัน และโปรตีน
  • ฟอสฟอรัส เป็นส่วนประกอบของเนื้อเยื่อเซลล์ และยังช่วยในการทำงานของเซลล์ด้วย
  • ฟอสฟอรัส เป็นส่วนประกอบเอนไซม์ที่สำคัญบางชนิดที่ช่วยในการดูดซึมและการขับถ่าย
  • ฟอสฟอรัส ช่วยในการยืดหดของกล้ามเนื้อ
  • ฟอสฟอรัส สร้างความเจริญเติบโตโดยช่วยให้จำนวนเซลล์ทวีขึ้น
  • ฟอสฟอรัส เป็นส่วนประกอบของกระดูก และฟัน ซึ่งทำหน้าที่สัมพันธ์กับแคลเซียมที่รวมตัวกันในรูปแคลเซียมฟอสเฟต (Ca2(PO4)2) และไฮดรอกซีอาพาไทต์ (Ca10(PO4)6(OH)2)
  • ฟอสฟอรัส เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ฟอสโฟลิปิด ที่เป็นสารสำคัญในการสร้างเยื่อหุ้มเซลล์ การเคลื่อนย้ายไขมัน และกระบวนการเมทาบอลิซึมของร่างกาย
  • ฟอสฟอรัส เป็นส่วนประกอบสำคัญของ Buffer ในเลือด และของเหลวในร่างกาย สำหรับรักษาสมดุลความเป็นกรด-ด่างของร่างกาย
  • ฟอสฟอรัส เป็นธาตุที่จำเป็นสำหรับกระบวนการเมทาบอลิซึมของสารอาหารต่างๆ
  • ฟอสฟอรัส เป็นส่วนประกอบสำคัญของสารที่ให้พลังงานสูงในร่างกาย เช่น ATP
  • ฟอสฟอรัส เป็นแร่ธาตุที่ช่วยในการทำงานของวิตามิน และเอนไซม์ในร่างกาย
  • ฟอสฟอรัส เป็นส่วนประกอบสำคัญของกรดนิวคลีอิก และสารทางพันธุกรรม เช่น RNA และ DNA
  • ฟอสฟอรัส ช่วยในการควบคุมการทำงานของระบบประสาท และกล้ามเนื้อ

 

ความต้องการฟอสฟอรัส

ฟอสฟอรัสที่อยู่ในร่างกายจะพบในรูปของฟอสเฟต โดยประมาณร้อยละ 85-90 ของฟอสฟอรัสที่พบในร่างกายทั้งหมด จะเป็นส่วนประกอบของโครงสร้างร่างกาย เช่น ในกระดูกจะพบฟอสฟอรัสรวมตัวกับแคลเซียมในรูป hydroxyapatite ((Ca10(PO4)6(OH)2) และอีกประมาณร้อยละ 11 จะเป็นองค์ประกอบของกล้ามเนื้อ เลือด และของเหลวในร่างกาย ในรูปของฟอสโฟลิปิด กรดนิวคลีอิก และสารอื่นๆที่ละลายอยู่ในเซลล์ สำหรับในเลือดจะพบฟอสฟอรัสประมาณ 35-40 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงปริมาณตามสารอาหารที่ได้รับในแต่ละวัน แต่จะมีระดับคงที่ประมาณ 4-9 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร การขับฟอสฟอรัสออกจากร่างกาย ประมาณ 2ใน 3 จะขับผ่านทางปัสสาวะ และอีก 1 ใน 3 จะขับผ่านทางอุจจาระ โดยมีฮอร์โมนพาราไทรอยด์เป็นตัวควบคุมระดับปริมาณฟอสฟอรัสในร่างกาย และการขับออกนอกร่างกาย  

ผู้ใหญ่ ในผู้ใหญ่ ร่างกายต้องการฟอสฟอรัสวันละ 700 มิลลิกรัม โดยร่างกายได้รับฟอสฟอรัสจากอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งมีมากใน เนื้อสัตว์ นม

ถ้าร่างกายขาดฟอสฟอรัส จะอ่อนเพลีย กระดูกและฟันจะไม่แข็งแรง และในทำนองเดียวกัน

ถ้าร่างกายมีฟอสฟอรัสมากเกินไป จะส่งผลต่อการทำงานของเกลือแร่อื่นๆ โดยเฉพาะแคลเซียมซึ่งก่อให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้ ทั้งนี้ ร่างกายรักษาสมดุลของฟอสฟอรัส โดยผ่านการทำงานของไต

สำหรับ เด็ก หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร ควรได้รับในปริมาณเท่ากับแคลเซียมของคนในสภาวะนั้นๆ

 

www.flickr.com/photos/thomashawk/496287193/

Vitamin A คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร

carotene-fruits-1“วิตามินเอ” (Vitamin A) เป็นวิตามินอีกตัวที่สำคัญและมีประโยชน์ไม่แพ้กับวิตามินชนิดอื่นๆ แต่ถึงจะมีประโยชน์มากมายเพียงใด การที่ได้รับวิตามินเอไม่เพียงพอก็จะส่งผลต่อร่างกายของเราโดยเฉพาะดวงตา ผิวหนัง และระบบภูมิต้านทานโรค แล้วทำอย่างไรจึงจะไม่ขาดวิตามินเอจนร่างกายเจ็บป่วยล่ะและถ้าหากได้รับในปริมาณที่มากเกินไปอีกล่ะ ดังนั้นเราจึงต้องมาทำความรู้จักกับประโยชน์และโทษของวิตามินชนิดนี้กันให้กระจ่างแจ้งกันค่ะ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ร่างกายของเราได้รับวิตามินชนิดนี้อย่างถูกต้องเหมาะสม เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุดและก็จะได้มั่นใจว่าจะไม่ก่อโทษต่อร่างกายตามมาในภายหลัง… วิตามินเอ (Vitamin A) เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน ค้นพบโดย ดร. อี.วี. แมคคอลลัม (E.V. McCollum) นักวิทยาศาสตร์ชาวสหรัฐอเมริกา ร่างกายของเราสามารถสะสมวิตามินเอได้นานมากอาจนานได้ถึง 1 หรือ 2 ปี โดยเก็บไว้ในชั้นเซลล์ไขมัน  

วิตามินเอจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

  1. อยู่ในรูปแบบวิตามินอยู่แล้ว (Proformed Vitamin A) หรือเรียกว่า Retinol ซึ่งได้มาจากเนื้อสัตว์ เช่น น้ำมันตับปลา อาหารประเภทเนื้อ ไข่ ตับและเครื่องใน
  2. กำลังจะเป็นวิตามินเอ (Provitamin A) หรือเรียกว่า เบต้า แคโรทีน (Beta-Carotene) เป็นสารที่เมื่อเข้าสู่รางกายจึงได้รับการเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ พบมากในผักสีต่างๆ เช่น แครอท ผักโขม

 

เกี่ยวกับวิตามินเอ หรือ Retinol

  • วิตามินเอ (Vitamin A) เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน
  • วิตามินเอจะถูกดูดซึมไปใช้ในร่างกายได้ดีที่สุดเมื่อกินร่วมกับอาหารที่มีน้ำมันหรือไขมันเป็นส่วนประกอบ
  • เมื่อร่างกายใช้ไม่หมดก็จะเก็บสะสมไว้ที่ตับ
  • ถ้าได้รับวิตามินเอจากอาหารปกติ ไม่จำเป็นต้องกังวลว่าร่างกายจะได้รับอันตรายแต่อย่างใดเพราะมันไม่เข้มข้น
  • การไดรับวิตามินเอจากอาหารเสริมต่างๆ มักจะมีความเข้มข้นสูง ซึ่งหากได้รับเป็นระยะเวลานาน ก็ส่งผลเสียต่อร่างกายมากกว่าประโยชน์
  • วิตามินเอมีหน้าที่ช่วยในการมองเห็น การเจริญเติบโตของกระดูก การแบ่งตัวของเซลล์ การกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค ซ่อมแซมผิวของตาและหลอดลมทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายยากขึ้น
  • วิตามินเอยังช่วยกระตุ้นให้เซลล์เม็ดเลือดขาวโดยเฉพาะ lymphocyte ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และระบบสืบพันธุ์
  • วิตามินเอ จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ Retinol และ Beta-carotene
  • วิตามินเอพบมากในอาหารประเภทเนื้อ ไข่ นม ตับและเครื่องใน ในรูปแบบของสารวิตามินที่ออกฤทธิ์ได้ทันที่ ที่เราเรียกว่า Retinal
  • ผักผลไม้ที่ให้วิตามินเอส่วนใหญ่จะมีสีเหลือง ส้ม แดง และเขียวเข้ม เช่น ผักปวยเล้ง  ผักโขม ข้าวโพด มันฝรั่ง ฟักทอง คะน้า เป็นต้น เพราะมีเบต้าแคโรทีนและแคโรนอยด์ที่อยู่ในรูปแบบสารตั้งต้น โดยร่างกายจะเปลี่ยนเป็นวิตามินเอต่อไป
  • นมพร่องมันเนยจะมีวิตามินเอต่ำเพราะวิตามินเอละลายในไขมัน โดยในขณะที่วิตามินเอจากเนื้อสัตว์จะดูดซึมได้ดี
  • เนื่องด้วยวิตามินเอในผักผลไม้มีความไวต่อออกซิเจนมาก ดังนั้นวิธีการต้มที่ป้องกันการสูญเสียวิตามินได้ดีทีสุดคือ ควรปิดฝาภาชนะขณะต้มและใส่น้ำน้อยๆ
  • ร่ายกายคนเราต้องการวิตามินเอในแต่ละวันอยู่ที่วันละ 4,000-5,000 IU
  • การได้รับวิตามินเอไม่เพียงพอจะส่งผลต่อร่างกายของเราโดยเฉพาะดวงตา ผิวหนัง และระบบภูมิต้านทานโรค
  • วิตามินเอ ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโตได้อย่างปกติ ไม่ชะงัก หรือหยุดการเจริญเติบโตก่อนวัย
  • วิตามินเอ ช่วยป้องกันอาการเบื่ออาหาร (แต่ถ้าได้รับมากเกินไปก็จะมีผลตรงกันข้าม)

 

 

ประโยชน์ของวิตามินเอ

คุณค่าของ “วิตามินเอ” เป็นที่รู้กันดีว่า คุณค่าทางโภชนาการของวิตามินเอนั้นที่เราต่างก็จะรู้จักกันในนามของวิตามินที่บำรุงสายตาที่สำคัญตัวหนึ่งนั้น โดยจะมีส่วนประกอบที่สำคัญของ “คอร์เนีย” ช่วยให้มีสายตาที่เป็นปรกติ เนื่องจากวิตามินเอจะช่วยในการบำรุงสายตา ช่วยให้ตาปรับสภาพในที่มืดได้ดี หรือช่วยป้องกันโรคตามัวตอนกลางคืนที่เราเรียกกันว่า Night Blindness ทำให้มองเห็นในที่มืดได้ดีขึ้น แต่นอกจากในเรื่องของการบำรุงสายตาแล้ววิตามินเอยังมีประโยชน์อีกมากมายที่เราอาจจะยังไม่ทราบกันค่ะ

 

วิตามินเอ ช่วยให้ไม่เป็นโรคตาฟาง คนที่เป็นโรคนี้จะมองเห็นในที่มืดได้ไม่ค่อยชัดทั้งๆที่มีแสงพอที่จะมองเห็นได้ ถ้าขาดวิตามินเอมากๆ ก็จะทำให้ไม่สามารถมองเห็นในที่มืดได้เลย ซึ่งมักเรียกคนที่มีอาการเหล่านี้ว่า “พวกตาบอดกลางคืน” โดย Retinol จะรวมตัวกับโปรตีนชื่อ ออพซิน (opsin) เป็นสารประกอบโรดอพซิน (rhodopsin) ซึ่งมีคุณสมบัติดูดแสงและปรับสายตาให้มองเห็น สารประกอบนี้จะสลายไปเมื่อถูกใช้แล้ว ดังนั้น การบริโภคอาหารที่ให้วิตามินเอที่เพียงพอในการสร้างโรดอพซินได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

 

วิตามินเอ ช่วยให้ตาสู้แสงในเวลากลางวัน คนที่ขาดวิตามินชนิดนี้ จะทำให้ตาไม่ค่อยสู้แสงในเวลากลางวัน ตาไวต่อแสงทำให้แสบตาง่าย และทำให้น้ำตาไหลได้ง่ายด้วย

 

วิตามินเอ ช่วยป้องกันเยื้อบุนัยน์ตาแห้ง คนที่ขาดวิตามินเอมากๆ เยื่อบุนัยน์ตาจะแห้งและมีโอกาสอักเสบได้ง่าย เปลือกตาบวม มีจุดขาวๆ ที่ตาเหมือนมีฟองน้ำเกาะที่เยื่อบุตา และมีเม็ดขึ้นบนผิวกระจกตา ซึ่งถ้าไม่รักษาและปล่อยให้ขาดวิตามินเอนานๆ อาจทำให้ตาบอดได้

 

วิตามินเอ ช่วยป้องกันผิวหนังแห้ง หยาบ และพุพอง คนที่ขาดวิตามินชนิดนี้ขั้นรุนแรงจะเป็นโรคหนังคางคก ซึ่งเป็นโรคที่ผิวหนังจะมีลักษณะเป็นตุ่มๆ สากๆ เกิดได้ทุกบริเวณของร่างกาย เช่น แขน ขา หลัง หน้าอกและหน้าท้อง เป็นต้น

 

วิตามินเอเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ช่วยไม่ให้เกิดสิวได้ง่าย เนื่องจากวิตามินชนิดนี้ เป็นวิตามินที่ต่อต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งมีผลช่วยให้ลดการเกิดสิวได้ง่าย บางคนที่รักษาสิวมาหลากหลายวิธีแต่สิวก็ยังคงไม่หายซักที อาจเป็นเพราะมีสาเหตุมาจากการขาดวิตามินชนิดนี้ก็เป็นได้

 

วิตามินเอช่วยให้เหงื่อไม่ออกง่าย เนื่องจากวิตามินเอ ทำให้รูปขุมขนที่ผิวหนังชั้นนอกมีการสะสมของเคราติน ทำให้เยื่อบุเป็นเกล็ดหนาและไม่ค่อยมีเหงื่อ

 

วิตามินเอ ช่วยป้องกันผิวแห้งแตกลายงา ถ้าหากไม่อยากให้ผิวแห้งแตกลายงาเหมือนดินที่ขาดน้ำ หรือแตกเป็นเกล็ดคล้ายคนขาดไขมัน ก็หมายความว่า คุณกำลังขาดวิตาเอ และไขมัน (เพราะวิตามินชนิดนี้ละลายในไขมัน)

 

วิตามินเอ ช่วยป้องกันเซลล์ชนิดเยื่อบุต่างๆ ของร่างกายไม่ให้เกิดการผิดปกติ ซึ่งถ้าเยื่อบุต่างๆ ของร่างกายผิดปกติ ก็จะทำให้อวัยวะต่างๆ ของร่างกายเกิดผิดปกติไปด้วย เช่น มีการอักเสบของทางเดินหายใจ เพราะเยื่อบุบริเวณช่องจมูกเกิดผิดปกติ เป็นต้น

 

วิตามินเอเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย มีบทบาทสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ช่วยต่อสู้กับโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และปรสิต จึงทำให้ไม่ติดเชื้อง่าย ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยง่ายจนเกินไป

 

วิตามินเอกับผิวพรรณ ในแง่ของสุขภาพผิวและความสมดุลของฮอร์โมนนั้น วิตามินเอ มีความจำเป็นต่อร่างกาย โดยได้มีงานวิจัยยืนยันว่าผู้ที่เป็นสิวรุนแรงนั้นมีระดับวิตามินเอในเลือดต่ำ มีรายงานว่า หญิงที่มีภาวะฮอร์โมนไม่สมดุลและเป็นสิว เมื่อได้รับได้รับอาหารเสริมวิตามินเอ สิวก็สามารถหายภายในไม่กี่สัปดาห์ รวมถึงรอยแผลสิวก็เริ่มลดลงหลังจากได้รับอาหารเสริมวิตามินเอ 2 สัปดาห์

 

 

อันตรายจากการขาดวิตามินเอ

โรคผิวหนัง เนื่องจากวิตามินเอมีส่วนสำคัญในการรักษาสภาพเยื่อบุผิวหนัง ขาดวิตามินเอทำให้ผิวพรรณขาดความชุ่มชื้น หยาบกร้าน แห้งแตก โดยเฉพาะผิวหนังบริเวณข้อศอก ตาตุ่มและข้อต่อด่างๆ ซึ่งอาจนำไปสู่โรคผิวหนัง เช่น สิวและโรคติดเชื้ออื่นๆ ได้

ตาฟาง หน้าที่ของวิตามินเอคือช่วยในการสร้างสารที่ใช้ในการมองเห็น หากขาดจะทำให้มองเห็นได้ยากในเวลากลางคืนหรือในที่แสงสว่างน้อย และทำให้เยื่อบุตาแห้ง กระจกตาเป็นแผล ในกรณีที่ร่างกายขาดวิตามินเออย่างรุนแรงอาจทำให้ตาบอดได้

ความต้านทานโรคต่ำ วิตามินเอเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของเราทำงานตามปกติ การขาดวิตามินเอจึงทำให้เกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้ง่าย อีกทั้งยังทำให้เกิดการอักเสบในโพรงจมูก ช่องปาก คอ และที่ต่อมน้ำลาย

อันตรายจากการได้รับวิตามินเอเกิน

แท้งลูกหรือพิการ หญิงมีครรภ์ที่ได้รับวิตามินเอมากเกินไปมีความเสี่ยงต่อภาวะทารกในครรภ์คลอดออกมาพิการหรือแท้งได้ เนื่องจากวิตามินเอมีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กในครรภ์ ซึ่งอาจทำให้เด็กมีความผิดปกติที่ทางเดินปัสสาวะ กระดูกผิดรูป หรือมีติ่งปูดออกมาที่บริเวณหู

อ่อนเพลีย หากร่างกายได้รับวิตามินเอเกินครั้งละ 15,000 ไมโครกรัม จะมีผลทำให้รู้สึกอ่อนเพลียและอาเจียนได้

เจ็บกระดูกและข้อต่อ เบื่ออาหาร เซื่องซึม นอนไม่หลับ กระวนกระวาย ผมร่วง ปวดศีรษะ ท้องผูก ทั้งหมดนี้เป็นโทษในระยะยาวที่เกิดจากการรับประทานวิตามินเอมากเกินไป

ในสัตว์กระเพาะเดี่ยว เมื่อได้รับเกินความต้องการ 4-10 เท่า จะทำให้โครงกระดูกผิดปกติ

ในสัตว์เคี้ยวเอื้อง เมื่อได้รับเกิน 30 เท่า จะเกิดอาการผิดปกติ

 

www.flickr.com/photos/jalb/117560810/

Vitamin E คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร

vitamin-1
Source: Flickr (click image for link)

วิตามินอี (Vitamin E) เป็นอีกวิตามินหนึ่งที่สาวๆคนไหนก็ต้องรู้จักกันทั้งนั้นและส่วนมากที่เรารู้ๆกันจะเป็นเรื่องในการช่วยลบเลือนรอยแผลเป็นที่เกิดจากสิว ที่เราจะเห็นได้ทั่วไปนั้นตามผลิตภัณฑ์ดูแลผิวในร้านขายยาหรือร้านขายครีมต่างๆ แต่รู้กันไหมล่ะคะว่าวิตามินอีไม่ได้มีประโยชน์แค่นั้นยังมีอีกหลายอย่างที่เราคงยังไม่ทราบกัน เพราะฉะนั้นวันนี้ HealthGossip จะมาขอนำเสนอข้อมูลนี้ให้ทราบโดยทั่วกันค่ะ ในเมื่อวิตามินที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นพระเอกที่ช่วยปกป้องร่างกายก็คงจะหนีไม่พ้น “วิตามินอี” ซึ่งจากความน่าสนใจในประโยชน์ต่างๆ ดึงดูดให้ผู้บริโภคหลายๆ คนใช้วิตามินอี โดยลืมคำนึงถึงความจำเป็นที่ควรจะได้รับหรือโทษที่อาจเกิดขึ้นเมื่อได้รับมากจนเกินความต้องการของร่างกาย ดังนั้นเราจึงไม่รอช้าที่จะนำข้อมูลทั้งดีและโทษมาบอกให้เข้าใจกันมากขึ้นค่ะ 

 

เกี่ยวกับ วิตามินอี หรือ Tocopherol

  • วิตามินอีเป็นวิตามินชนิดละลายในไขมัน (fat soluble vitamin)
  • มีลักษณะเป็นของเหลวคล้ายน้ำมัน สีเหลืองอ่อน ไม่ละลายในน้ำ ละลายได้ในสารละลายไขมัน เช่น แอลกอฮอล์ อีเทอร์
  • วิตามินอีมีความสำคัญต่อการทำงานของระบบสืบพันธุ์ จึงเรียกชื่อตามความหมาย คือ Tocopherol  มาจากภาษากรีก Tokos แปลว่า เด็ก (Children) และ Pheno แปลว่า ทำให้เกิด (to bear)
  • วิตามินอีมีมากในพืชส่วนในสัตว์นั้นพบน้อยมาก การบริโภคผักหรือผลไม้สดจะช่วยเพิ่มปริมาณวิตามินอีที่ร่างกายได้รับได้ นอกจากนี้ยังพบว่าน้ำนมมารดา โดยเฉพาะน้ำนมมารดาหลังคลอด (colostrum) ก็เป็นอีกแหล่งหนึ่งที่ให้วิตามินอีในปริมาณที่สูงมากเช่นกัน
  • อาหารที่ให้วิตามินอี ได้แก่ อาหารจำพวก ผัก น้ำมัน ไข่ เนย ข้าวบาเลย์ ข้าว ข้าวโอ๊ต
  • วิตามินอีป้องกันการเกิดออกซิเดชัน (antioxdation) ของกรดไขมันไม่อิ่มตัว วิตามินเอ แคโรทีน และวิตามินซี
  • วิตามินอีจะช่วยป้องกันการแตกของเม็ดเลือดแดง ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดและการอุดตันของเส้นเลือด ลดการเกิดกระบวนการอักเสบในร่างกายที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคต่างๆ
  • วิตามินอี ยังมีฤทธิ์อื่นๆ อีกมากมาย มีหน้าที่เบื้องต้นเสมือนฟองน้ำที่คอยดูดซับอนุมูลอิสระซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เซลล์หรือเนื้อเยื่อถูกทำลาย หรือที่รู้จักกันในชื่อของ “สารต้านอนุมูลอิสระ”
  • วิตามินอี มักจะไปควบคู่กับวิตามินบีเสมอ ทางการแพทย์จึงเรียกว่า วิตามินพี่น้อง
  • ออกซิเจนและความร้อนสามารถทำลายวิตามินอีได้ รวมไปถึงการแช่แข็งเป็นเวลานาน ก็ทำให้เกิดการสูญเสียวิตามินอีได้เช่นกัน

 

ประโยชน์ของวิตามินอีต่อร่างกาย

เนื่องจากผนังของเซลล์ต่างๆ ในร่างกายมีไขมันที่ไม่อิ่มตัวเป็นโครงสร้างหลัก โครงสร้างที่ว่านี้จะถูก ทำลายได้ง่ายด้วยกระบวนการออกซิเดชัน (oxidation) และส่งผลให้เกิดสารอนุมูลอิสระ (free radicals) ชนิดต่างๆ ตามมา ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างภายในเซลล์ที่สัมผัสกับสารอนุมูลอิสระ วิตามินอี เป็นสารต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันและอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพ (potent antioxidant) ซึ่งมีผลในการป้องกันการทำลายเซลล์ หรือลดความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ที่มีสาเหตุมาจากอนุมูลอิสระได้ นอกจากนี้ยังมีผลช่วยปกป้องการเสื่อมสลายของเยื่อหุ้มเซลล์ (stabilize) ที่บุอยู่ตามอวัยวะต่างๆ เช่น ผิวหนัง ตา ตับ เต้านม หลอดเลือด และเม็ดเลือดแดง ทำให้อวัยวะดังกล่าวทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีความคงทนมากขึ้นด้วย

 

วิตามินอีกับโรคมะเร็ง  คุณสมบัติที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระของวิตามินอี นอกจากจะช่วยป้องกันเซลล์จากการทำลายของปฏิกิริยาออกซิเดชันและการเกิดอนุมูลอิสระแล้ว วิตามินอียังช่วยป้องกันการเกิดสารไนโตรซามีน (nitrosamines) ตัวการหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง โดยเกิดจากการทำปฏิกิริยาของสารจำพวกไนไตรท์ที่มีในอาหารที่รับประทานเข้าไปภายในกระเพาะอาหาร และยังช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายอีกด้วย นอกจากนี้การศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่าวิตามินอียังมีผลช่วยยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งได้

 

วิตามินอีกับการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง กระบวนการออกซิเดชันของไขมันชนิด LDL (low density lipoprotein) ซึ่งเป็นไขมันชนิดเลวในเลือดจะ มีผลทำให้เส้นเลือดเกิดความเสียหายอย่างมาก มีหลักฐานที่แสดงว่าวิตามินอี มีคุณสมบัติช่วยลดการเกิดกระบวนการที่ว่านี้ และช่วยลดการเกาะตัวกันของเกล็ดเลือด (platelet aggregation) ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจดีขึ้น และยังช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคระบบหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงหลอดเลือดสมองด้วย โดยได้มีการศึกษาในประเทศอังกฤษพบว่าคนที่ได้รับวิตามินอีอย่างน้อยวันละ 100 IU หลังการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจจะช่วยป้องกันการสะสมของไขมันที่ผนังเลือดได้ และคนที่ได้รับวิตามินอีประมาณวันละ 400-800 IU อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อยปีครึ่งจะช่วยป้องกันอัตราการเกิดโรคหัวใจวายได้ถึง 77%

 

วิตามินอีกับโรคเบาหวาน เชื่อกันว่าสาเหตุที่คนเป็นโรคเบาหวานจะมีการสะสมของสารอนุมูลอิสระเนื่องจากกระบวนการเผาผลาญสารอาหารในร่างกายผิดปกติ นอกจากนี้แล้วยังมีอัตราการตายจากการเกิดโรคแทรกซ้อนจากโรคหลอดเลือดหัวใจได้สูง มีงานวิจัยที่แสดงว่าคนเป็นโรคเบาหวานที่รับประทานวิตามินอีเพียงวันละ 100 IU จะช่วยทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ได้ดี และยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงของหลอดเลือดอีกด้วย

 

วิตามินอีกับโรคต้อกระจก โรคต้อกระจก (cataracts) เป็นความผิดปกติของเลนส์ตาทำให้มองภาพไม่ชัดเจน และอาจตาบอดได้ โดยเชื่อว่าเกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันที่ผิดปกติของโปรตีนในเลนส์ตา มีการศึกษาพบว่าสารที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระจำพวกวิตามินอีสามารถช่วยป้องกัน และชะลอการเกิดของโรคต้อกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่พบว่าสารในกลุ่มนี้ไม่ช่วยให้เกิดผลดีได้ในคนที่สูบบุหรี่ โดยพบว่าการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเกิดโรคต้อกระจก อย่างไรก็ดีจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลไกของสารต้านอนุมูลอิสระและวิตามินอีเกี่ยวกับโรคต้อกระจก

 

วิตามินอี สารอาหารที่ช่วยชะลอความแก่ สารอนุมูลอิสระจะมีผลทำให้เซลล์เกิดความเสียหายและตายได้ในที่สุด ซึ่งนอกจากจะเป็นสาเหตุทำให้ ร่างกายอ่อนแอและแก่เร็วกว่าปกติแล้ว หากเกิดที่สมองก็จะทำให้มีโอกาสเป็นโรคเรื้อรังทางสมองต่างๆ เช่น โรคสมองเสื่อม (Alzheimer’s disease) โรคพาร์คินสัน (Parkinson’s disease) เป็นต้น จากการศึกษาทางคลินิกพบว่าผู้ที่รับประทานวิตามินอี 1,300 IU ต่อวันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปีจะช่วยชะลอการเกิดโรคสมองเสื่อมจากการอุดตันของเส้นเลือดในสมองได้

 

วิตามินอีช่วยแก้ไขข้อบกพร่องของระบบสืบพันธุ์ มีการศึกษาพบว่าผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ได้รับวิตามินอีวันละ 800 IU อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 1 เดือน สามารถช่วยลดอาการต่างๆ เช่น อาการร้อนวูบวาบ นอนไม่หลับ เหนื่อยล้า ซึมเศร้า และเจ็บหน้าอกได้ นอกจากนี้ในผู้ชายที่มีระบบสืบพันธุ์ไม่สมบูรณ์ พบว่าเมื่อได้รับวิตามินอี วันละ 200 IU อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือน จะมีโอกาสมีบุตรสูงขึ้น เนื่องจากวิตามินอีช่วยลดระดับของอนุมูลอิสระในน้ำอสุจิ จึงทำให้ผนังเซลล์อสุจิแข็งแรงขึ้น และส่งผลให้มีอัตราการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นถึง 30% แต่ก็อาจไม่ปรากฏผลหากคนนั้นเป็นคนสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งจะทำลายความแข็งแรงของอสุจิ และอาจทำให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายเสื่อมโทรมลง

 

วิตามินอีกับผิวพรรณ สถาบันโรคผิวหนังหลายแห่งมีการวิจัยพบว่าวิตามินอีช่วยป้องกันผิวจากการไหม้เกรียม ริ้วรอยเหี่ยวย่นและรอยแผลได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานหรือการทาที่ผิวหนังโดยตรง เนื่องจากการเกิดแผลหรือการอักเสบบนผิวหนัง หรือการถูกแสงแดดเผาไหม้จะทำให้เกิดการสะสมของอนุมูลอิสระขึ้น วิตามินอีจะทำหน้าที่เหมือนฟองน้ำที่ดูดซับสารอนุมูลอิสระก่อนที่จะทำให้เนื้อเยื่อต่างๆ เสียหาย จึงช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของผนังเซลล์ทำให้เซลล์ผิวแข็งแรงขึ้น และช่วยให้ทนต่อรังสี UV ในแสงแดดได้ดีขึ้น ดังนั้นผู้ผลิตเครื่องสำอางจึงนิยมนำวิตามินอีมาใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์

 

ถ้าร่างกายขาดวิตามินอี

วิตามินอีสามารถสะสมได้ในเนื้อเยื่อไขมัน ในคนทั่วไปจึงไม่ค่อยพบอาการขาดวิตามินชนิดนี้ แต่มักพบจากความผิดปกติในการดูดซึมไขมัน เช่น การทำงานของตับ ตับอ่อน และลำไส้ผิดปกติ หรือมีโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคที่มีอาการผิดปกติของระบบประสาท (เดินเซ) ร่วมกับการขาดวิตามินอี (ataxia with vitamin E deficiency) นอกจากนี้ยังพบการขาดวิตามินอีได้ในทารกคลอดก่อนกำหนดหรือน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ผู้ที่มีพังผืดจับในถุงน้ำดี (cystic fibrosis) รวมทั้งในผู้ที่ขาดเอนไซม์ กลูโคส-6-ฟอสเฟต ดีไฮโดรจีเนส (G-6-PD) ทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกได้ ซึ่งการขาดวิตามินอี ต้องใช้ระยะเวลานานจึงจะเริ่มมีสัญญาณการเกิดความเสียหายของระบบประสาทปรากฏขึ้น เช่น สูญเสียการรับสัมผัสและการตอบสนองต่อสิ่งเร้า สูญเสียความรู้สึกทางกาย กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีปัญหาเรื่องการกลอกตาและทรงตัวได้ยาก เป็นต้น สำหรับผู้ที่ต้องการวิตามินอีเพิ่มขึ้นเพื่อการป้องกันและรักษาโรคต่างๆ ดังที่กล่าวแล้ว หรือผู้ที่มีปัญหาในการดูดซึมสารอาหาร ก็อาจเลือกรับประทานวิตามินเสริมที่มีขายอยู่ทั่วไป แต่ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณที่เหมาะสมก่อน

ถ้าร่างกายได้รับวิตามินอีมากเกินไป

เนื่องจากวิตามินอีไม่สามารถละลายในน้ำได้ ร่างกายจึงไม่สามารถขับวิตามินอีออกจากร่างกายได้ทางปัสสาวะดังเช่นวิตามินซี หรือวิตามินบี โดยร่างกายจะขับวิตามินอีส่วนเกินบางส่วนออกมาทางอุจจาระ ดังนั้นหากรับประทานวิตามินอีมากเกินไปจะสะสมในร่างกาย นำผลเสียคือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ไปจนถึงกล้ามเนื้ออ่อนแรง จึงแนะนำว่าไม่ควรรับประทานอาหารเสริมประเภทวิตามินอีมากเกินกว่า 1,500 IU ต่อวัน

 

 

www.flickr.com/photos/8047705@N02/5481406508/