Browse Tag: Egg

ฟอสฟอรัส คืออะไรและมีคามสำคัญอย่างไร

little-girl-smile-1
Source: Flickr (click image for link)

ฟอสฟอรัส (Phosphorus) ถ้าพูดถึงฟอสฟอรัสเราก็จะนึกเห็นภาพของแคลเซียมขึ้นมาทันที เพราะเรามักจะได้ยินติดหูคุ้นชินว่าแคลเซียมนั้นคู่กันกับฟอสฟอรัสเสมอ ก็เพราะว่าสองตัวนี้ต้องได้ทำหน้าที่ร่วมกันนั่นเองค่ะ ”ฟอสฟอรัส” เป็นเกลือแร่ที่มีความสำคัญต่อร่างกายของเราจัดว่าเป็นอันดับสองของแคลเซียมเลยก็ว่าได้ค่ะ และก็จะอยู่รวมกับแคลเซียม ที่เป็นในส่วนของกระดูและฟัน ในเนื้อเยื่อต่างๆ ก็มีฟอสฟอรัสอยู่ด้วยเช่นกัน ฟอสฟอรัสเป็นธาตุที่มีความสำคัญต่อร่างกายมนุษย์ สัตว์ และระบบนิเวศ เป็นแร่ธาตุที่พบมากในธรรมชาติในรูปของเกลือฟอสเฟตต่างๆค่ะ ส่วนฟอสเฟตก็คือ สารประกอบของฟอสฟอรัสนั่นเองค่ะ เช่น Monohydro phosphate แต่เกลือแร่ที่ร่างกายจะนำไปใช้งานก็คือ ส่วนที่เป็นเกลือแร่ฟอสฟอรัส พูดถึงแร่ธาติหรือเกลือแร่ สมัยที่เราเรียนมักจะไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญเท่ากับวิตามินต่างๆนัก แต่ก็อีกนั่นแหละค่ะ ยังไงร่างกายของเราก็ยังต้องการอยู่ดี ขาดก็ไม่ได้ เกินก็ไม่ดีค่ะ ฟอสฟอรัสอยู่ในกลุ่มไนโตรเจน มีวาเลนซ์ได้มาก ปรากฏในหลายอัลโลโทรป พบทั้งในหินฟอสเฟต และเซลล์สิ่งมีชีวิตทุกเซลล์ (ในสารประกอบในดีเอ็นเอ) เนื่องจากสามารถทำปฏิกิริยาได้สูง จึงไม่ปรากฏในรูปอิสระในธรรมชาติ คำว่า ฟอสฟอรัส มาจากภาษากรีกแปลว่า ‘ส่องแสง’ และ ‘นำพา’ เพราะฟอสฟอรัสเรืองแสงอ่อน ๆ เมื่อมีออกซิเจน หรือมาจากภาษาละติน แปลว่า ‘ดาวประกายพรึก’ ค้นพบประมาณปี 1669 โดยนักเล่นแร่แปรธาตุชาวเยอรมัน เฮนนิก แบรนด์

 

เกี่ยวกับฟอสฟอรัส (Phosphorus)

  • ฟอสฟอรัส อยู่ในกระดูก 58% ที่เหลืออยู่ตามเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย
  • ฟอสฟอรัส มีหน้าที่ในการเผาผลาญสารอาหารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไขมัน คาร์โบไฮเดรต หรือว่าโปรตีน
  • ฟอสฟอรัส จับกับกรดอะมิโนแล้วทำหน้าที่ปล่อยพลังงานให้กับร่างกายของเรา
  • ฟอสฟอรัส กับแคลเซียมร่วมมือกันทำให้กระดูกและฟันของร่างกายมีความแข็งแรง
  • ฟอสฟอรัส เป็นแร่ธาตุที่หาได้ง่ายในอาหารแทบทุกชนิดจึงไม่ค่อยมีใครขาดฟอสฟอรัสกัน
  • ฟอสฟอรัส ถ้าร่างกายขาดจะมีอาการปวดกระดูก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และกระดูกผุกร่อนได้ง่าย
  • ฟอสฟอรัส หากร่างกายเกิดการสะสมมากเกินไป จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันทำให้ร่างกายสูญเสียแคลเซียม ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับกระดูก จึงต้องรับแคลเซียมและฟอสฟอรัสให้สมดุลกัน
  • ฟอสฟอรัส มีมากในนม เนื้อสัตว์ ปลา เมล็ดฟักทอง เมล็ดดอกทานตะวัน เนย ไก่ ข้าวบาร์เลย์ ปลาซาร์ดีน หอยแครง นอกจากนี้ยังพบฟอสฟอรัสในไข่แดง กระดูก ฟัน สมอง เส้นประสาทของคนและสัตว์
  • ฟอสฟอรัส รวมกับแคลเซียมสร้างกระดูกและฟัน โดยมีวิตะมินดี ชวยให้เกิดการรวมตัว ในกระดูกมีปริมาณของฟอสฟอรัสประมาณ 2 ใน 3 ส่วนของแคลเซียม
  • ฟอสฟอรัส ช่วยในการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรท ไขมัน และโปรตีน
  • ฟอสฟอรัส เป็นส่วนประกอบของเนื้อเยื่อเซลล์ และยังช่วยในการทำงานของเซลล์ด้วย
  • ฟอสฟอรัส เป็นส่วนประกอบเอนไซม์ที่สำคัญบางชนิดที่ช่วยในการดูดซึมและการขับถ่าย
  • ฟอสฟอรัส ช่วยในการยืดหดของกล้ามเนื้อ
  • ฟอสฟอรัส สร้างความเจริญเติบโตโดยช่วยให้จำนวนเซลล์ทวีขึ้น
  • ฟอสฟอรัส เป็นส่วนประกอบของกระดูก และฟัน ซึ่งทำหน้าที่สัมพันธ์กับแคลเซียมที่รวมตัวกันในรูปแคลเซียมฟอสเฟต (Ca2(PO4)2) และไฮดรอกซีอาพาไทต์ (Ca10(PO4)6(OH)2)
  • ฟอสฟอรัส เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ฟอสโฟลิปิด ที่เป็นสารสำคัญในการสร้างเยื่อหุ้มเซลล์ การเคลื่อนย้ายไขมัน และกระบวนการเมทาบอลิซึมของร่างกาย
  • ฟอสฟอรัส เป็นส่วนประกอบสำคัญของ Buffer ในเลือด และของเหลวในร่างกาย สำหรับรักษาสมดุลความเป็นกรด-ด่างของร่างกาย
  • ฟอสฟอรัส เป็นธาตุที่จำเป็นสำหรับกระบวนการเมทาบอลิซึมของสารอาหารต่างๆ
  • ฟอสฟอรัส เป็นส่วนประกอบสำคัญของสารที่ให้พลังงานสูงในร่างกาย เช่น ATP
  • ฟอสฟอรัส เป็นแร่ธาตุที่ช่วยในการทำงานของวิตามิน และเอนไซม์ในร่างกาย
  • ฟอสฟอรัส เป็นส่วนประกอบสำคัญของกรดนิวคลีอิก และสารทางพันธุกรรม เช่น RNA และ DNA
  • ฟอสฟอรัส ช่วยในการควบคุมการทำงานของระบบประสาท และกล้ามเนื้อ

 

ความต้องการฟอสฟอรัส

ฟอสฟอรัสที่อยู่ในร่างกายจะพบในรูปของฟอสเฟต โดยประมาณร้อยละ 85-90 ของฟอสฟอรัสที่พบในร่างกายทั้งหมด จะเป็นส่วนประกอบของโครงสร้างร่างกาย เช่น ในกระดูกจะพบฟอสฟอรัสรวมตัวกับแคลเซียมในรูป hydroxyapatite ((Ca10(PO4)6(OH)2) และอีกประมาณร้อยละ 11 จะเป็นองค์ประกอบของกล้ามเนื้อ เลือด และของเหลวในร่างกาย ในรูปของฟอสโฟลิปิด กรดนิวคลีอิก และสารอื่นๆที่ละลายอยู่ในเซลล์ สำหรับในเลือดจะพบฟอสฟอรัสประมาณ 35-40 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงปริมาณตามสารอาหารที่ได้รับในแต่ละวัน แต่จะมีระดับคงที่ประมาณ 4-9 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร การขับฟอสฟอรัสออกจากร่างกาย ประมาณ 2ใน 3 จะขับผ่านทางปัสสาวะ และอีก 1 ใน 3 จะขับผ่านทางอุจจาระ โดยมีฮอร์โมนพาราไทรอยด์เป็นตัวควบคุมระดับปริมาณฟอสฟอรัสในร่างกาย และการขับออกนอกร่างกาย  

ผู้ใหญ่ ในผู้ใหญ่ ร่างกายต้องการฟอสฟอรัสวันละ 700 มิลลิกรัม โดยร่างกายได้รับฟอสฟอรัสจากอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งมีมากใน เนื้อสัตว์ นม

ถ้าร่างกายขาดฟอสฟอรัส จะอ่อนเพลีย กระดูกและฟันจะไม่แข็งแรง และในทำนองเดียวกัน

ถ้าร่างกายมีฟอสฟอรัสมากเกินไป จะส่งผลต่อการทำงานของเกลือแร่อื่นๆ โดยเฉพาะแคลเซียมซึ่งก่อให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้ ทั้งนี้ ร่างกายรักษาสมดุลของฟอสฟอรัส โดยผ่านการทำงานของไต

สำหรับ เด็ก หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร ควรได้รับในปริมาณเท่ากับแคลเซียมของคนในสภาวะนั้นๆ

 

www.flickr.com/photos/thomashawk/496287193/

Vitamin A คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร

carotene-fruits-1“วิตามินเอ” (Vitamin A) เป็นวิตามินอีกตัวที่สำคัญและมีประโยชน์ไม่แพ้กับวิตามินชนิดอื่นๆ แต่ถึงจะมีประโยชน์มากมายเพียงใด การที่ได้รับวิตามินเอไม่เพียงพอก็จะส่งผลต่อร่างกายของเราโดยเฉพาะดวงตา ผิวหนัง และระบบภูมิต้านทานโรค แล้วทำอย่างไรจึงจะไม่ขาดวิตามินเอจนร่างกายเจ็บป่วยล่ะและถ้าหากได้รับในปริมาณที่มากเกินไปอีกล่ะ ดังนั้นเราจึงต้องมาทำความรู้จักกับประโยชน์และโทษของวิตามินชนิดนี้กันให้กระจ่างแจ้งกันค่ะ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ร่างกายของเราได้รับวิตามินชนิดนี้อย่างถูกต้องเหมาะสม เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุดและก็จะได้มั่นใจว่าจะไม่ก่อโทษต่อร่างกายตามมาในภายหลัง… วิตามินเอ (Vitamin A) เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน ค้นพบโดย ดร. อี.วี. แมคคอลลัม (E.V. McCollum) นักวิทยาศาสตร์ชาวสหรัฐอเมริกา ร่างกายของเราสามารถสะสมวิตามินเอได้นานมากอาจนานได้ถึง 1 หรือ 2 ปี โดยเก็บไว้ในชั้นเซลล์ไขมัน  

วิตามินเอจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

  1. อยู่ในรูปแบบวิตามินอยู่แล้ว (Proformed Vitamin A) หรือเรียกว่า Retinol ซึ่งได้มาจากเนื้อสัตว์ เช่น น้ำมันตับปลา อาหารประเภทเนื้อ ไข่ ตับและเครื่องใน
  2. กำลังจะเป็นวิตามินเอ (Provitamin A) หรือเรียกว่า เบต้า แคโรทีน (Beta-Carotene) เป็นสารที่เมื่อเข้าสู่รางกายจึงได้รับการเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ พบมากในผักสีต่างๆ เช่น แครอท ผักโขม

 

เกี่ยวกับวิตามินเอ หรือ Retinol

  • วิตามินเอ (Vitamin A) เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน
  • วิตามินเอจะถูกดูดซึมไปใช้ในร่างกายได้ดีที่สุดเมื่อกินร่วมกับอาหารที่มีน้ำมันหรือไขมันเป็นส่วนประกอบ
  • เมื่อร่างกายใช้ไม่หมดก็จะเก็บสะสมไว้ที่ตับ
  • ถ้าได้รับวิตามินเอจากอาหารปกติ ไม่จำเป็นต้องกังวลว่าร่างกายจะได้รับอันตรายแต่อย่างใดเพราะมันไม่เข้มข้น
  • การไดรับวิตามินเอจากอาหารเสริมต่างๆ มักจะมีความเข้มข้นสูง ซึ่งหากได้รับเป็นระยะเวลานาน ก็ส่งผลเสียต่อร่างกายมากกว่าประโยชน์
  • วิตามินเอมีหน้าที่ช่วยในการมองเห็น การเจริญเติบโตของกระดูก การแบ่งตัวของเซลล์ การกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค ซ่อมแซมผิวของตาและหลอดลมทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายยากขึ้น
  • วิตามินเอยังช่วยกระตุ้นให้เซลล์เม็ดเลือดขาวโดยเฉพาะ lymphocyte ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และระบบสืบพันธุ์
  • วิตามินเอ จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ Retinol และ Beta-carotene
  • วิตามินเอพบมากในอาหารประเภทเนื้อ ไข่ นม ตับและเครื่องใน ในรูปแบบของสารวิตามินที่ออกฤทธิ์ได้ทันที่ ที่เราเรียกว่า Retinal
  • ผักผลไม้ที่ให้วิตามินเอส่วนใหญ่จะมีสีเหลือง ส้ม แดง และเขียวเข้ม เช่น ผักปวยเล้ง  ผักโขม ข้าวโพด มันฝรั่ง ฟักทอง คะน้า เป็นต้น เพราะมีเบต้าแคโรทีนและแคโรนอยด์ที่อยู่ในรูปแบบสารตั้งต้น โดยร่างกายจะเปลี่ยนเป็นวิตามินเอต่อไป
  • นมพร่องมันเนยจะมีวิตามินเอต่ำเพราะวิตามินเอละลายในไขมัน โดยในขณะที่วิตามินเอจากเนื้อสัตว์จะดูดซึมได้ดี
  • เนื่องด้วยวิตามินเอในผักผลไม้มีความไวต่อออกซิเจนมาก ดังนั้นวิธีการต้มที่ป้องกันการสูญเสียวิตามินได้ดีทีสุดคือ ควรปิดฝาภาชนะขณะต้มและใส่น้ำน้อยๆ
  • ร่ายกายคนเราต้องการวิตามินเอในแต่ละวันอยู่ที่วันละ 4,000-5,000 IU
  • การได้รับวิตามินเอไม่เพียงพอจะส่งผลต่อร่างกายของเราโดยเฉพาะดวงตา ผิวหนัง และระบบภูมิต้านทานโรค
  • วิตามินเอ ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโตได้อย่างปกติ ไม่ชะงัก หรือหยุดการเจริญเติบโตก่อนวัย
  • วิตามินเอ ช่วยป้องกันอาการเบื่ออาหาร (แต่ถ้าได้รับมากเกินไปก็จะมีผลตรงกันข้าม)

 

 

ประโยชน์ของวิตามินเอ

คุณค่าของ “วิตามินเอ” เป็นที่รู้กันดีว่า คุณค่าทางโภชนาการของวิตามินเอนั้นที่เราต่างก็จะรู้จักกันในนามของวิตามินที่บำรุงสายตาที่สำคัญตัวหนึ่งนั้น โดยจะมีส่วนประกอบที่สำคัญของ “คอร์เนีย” ช่วยให้มีสายตาที่เป็นปรกติ เนื่องจากวิตามินเอจะช่วยในการบำรุงสายตา ช่วยให้ตาปรับสภาพในที่มืดได้ดี หรือช่วยป้องกันโรคตามัวตอนกลางคืนที่เราเรียกกันว่า Night Blindness ทำให้มองเห็นในที่มืดได้ดีขึ้น แต่นอกจากในเรื่องของการบำรุงสายตาแล้ววิตามินเอยังมีประโยชน์อีกมากมายที่เราอาจจะยังไม่ทราบกันค่ะ

 

วิตามินเอ ช่วยให้ไม่เป็นโรคตาฟาง คนที่เป็นโรคนี้จะมองเห็นในที่มืดได้ไม่ค่อยชัดทั้งๆที่มีแสงพอที่จะมองเห็นได้ ถ้าขาดวิตามินเอมากๆ ก็จะทำให้ไม่สามารถมองเห็นในที่มืดได้เลย ซึ่งมักเรียกคนที่มีอาการเหล่านี้ว่า “พวกตาบอดกลางคืน” โดย Retinol จะรวมตัวกับโปรตีนชื่อ ออพซิน (opsin) เป็นสารประกอบโรดอพซิน (rhodopsin) ซึ่งมีคุณสมบัติดูดแสงและปรับสายตาให้มองเห็น สารประกอบนี้จะสลายไปเมื่อถูกใช้แล้ว ดังนั้น การบริโภคอาหารที่ให้วิตามินเอที่เพียงพอในการสร้างโรดอพซินได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

 

วิตามินเอ ช่วยให้ตาสู้แสงในเวลากลางวัน คนที่ขาดวิตามินชนิดนี้ จะทำให้ตาไม่ค่อยสู้แสงในเวลากลางวัน ตาไวต่อแสงทำให้แสบตาง่าย และทำให้น้ำตาไหลได้ง่ายด้วย

 

วิตามินเอ ช่วยป้องกันเยื้อบุนัยน์ตาแห้ง คนที่ขาดวิตามินเอมากๆ เยื่อบุนัยน์ตาจะแห้งและมีโอกาสอักเสบได้ง่าย เปลือกตาบวม มีจุดขาวๆ ที่ตาเหมือนมีฟองน้ำเกาะที่เยื่อบุตา และมีเม็ดขึ้นบนผิวกระจกตา ซึ่งถ้าไม่รักษาและปล่อยให้ขาดวิตามินเอนานๆ อาจทำให้ตาบอดได้

 

วิตามินเอ ช่วยป้องกันผิวหนังแห้ง หยาบ และพุพอง คนที่ขาดวิตามินชนิดนี้ขั้นรุนแรงจะเป็นโรคหนังคางคก ซึ่งเป็นโรคที่ผิวหนังจะมีลักษณะเป็นตุ่มๆ สากๆ เกิดได้ทุกบริเวณของร่างกาย เช่น แขน ขา หลัง หน้าอกและหน้าท้อง เป็นต้น

 

วิตามินเอเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ช่วยไม่ให้เกิดสิวได้ง่าย เนื่องจากวิตามินชนิดนี้ เป็นวิตามินที่ต่อต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งมีผลช่วยให้ลดการเกิดสิวได้ง่าย บางคนที่รักษาสิวมาหลากหลายวิธีแต่สิวก็ยังคงไม่หายซักที อาจเป็นเพราะมีสาเหตุมาจากการขาดวิตามินชนิดนี้ก็เป็นได้

 

วิตามินเอช่วยให้เหงื่อไม่ออกง่าย เนื่องจากวิตามินเอ ทำให้รูปขุมขนที่ผิวหนังชั้นนอกมีการสะสมของเคราติน ทำให้เยื่อบุเป็นเกล็ดหนาและไม่ค่อยมีเหงื่อ

 

วิตามินเอ ช่วยป้องกันผิวแห้งแตกลายงา ถ้าหากไม่อยากให้ผิวแห้งแตกลายงาเหมือนดินที่ขาดน้ำ หรือแตกเป็นเกล็ดคล้ายคนขาดไขมัน ก็หมายความว่า คุณกำลังขาดวิตาเอ และไขมัน (เพราะวิตามินชนิดนี้ละลายในไขมัน)

 

วิตามินเอ ช่วยป้องกันเซลล์ชนิดเยื่อบุต่างๆ ของร่างกายไม่ให้เกิดการผิดปกติ ซึ่งถ้าเยื่อบุต่างๆ ของร่างกายผิดปกติ ก็จะทำให้อวัยวะต่างๆ ของร่างกายเกิดผิดปกติไปด้วย เช่น มีการอักเสบของทางเดินหายใจ เพราะเยื่อบุบริเวณช่องจมูกเกิดผิดปกติ เป็นต้น

 

วิตามินเอเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย มีบทบาทสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ช่วยต่อสู้กับโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และปรสิต จึงทำให้ไม่ติดเชื้อง่าย ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยง่ายจนเกินไป

 

วิตามินเอกับผิวพรรณ ในแง่ของสุขภาพผิวและความสมดุลของฮอร์โมนนั้น วิตามินเอ มีความจำเป็นต่อร่างกาย โดยได้มีงานวิจัยยืนยันว่าผู้ที่เป็นสิวรุนแรงนั้นมีระดับวิตามินเอในเลือดต่ำ มีรายงานว่า หญิงที่มีภาวะฮอร์โมนไม่สมดุลและเป็นสิว เมื่อได้รับได้รับอาหารเสริมวิตามินเอ สิวก็สามารถหายภายในไม่กี่สัปดาห์ รวมถึงรอยแผลสิวก็เริ่มลดลงหลังจากได้รับอาหารเสริมวิตามินเอ 2 สัปดาห์

 

 

อันตรายจากการขาดวิตามินเอ

โรคผิวหนัง เนื่องจากวิตามินเอมีส่วนสำคัญในการรักษาสภาพเยื่อบุผิวหนัง ขาดวิตามินเอทำให้ผิวพรรณขาดความชุ่มชื้น หยาบกร้าน แห้งแตก โดยเฉพาะผิวหนังบริเวณข้อศอก ตาตุ่มและข้อต่อด่างๆ ซึ่งอาจนำไปสู่โรคผิวหนัง เช่น สิวและโรคติดเชื้ออื่นๆ ได้

ตาฟาง หน้าที่ของวิตามินเอคือช่วยในการสร้างสารที่ใช้ในการมองเห็น หากขาดจะทำให้มองเห็นได้ยากในเวลากลางคืนหรือในที่แสงสว่างน้อย และทำให้เยื่อบุตาแห้ง กระจกตาเป็นแผล ในกรณีที่ร่างกายขาดวิตามินเออย่างรุนแรงอาจทำให้ตาบอดได้

ความต้านทานโรคต่ำ วิตามินเอเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของเราทำงานตามปกติ การขาดวิตามินเอจึงทำให้เกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้ง่าย อีกทั้งยังทำให้เกิดการอักเสบในโพรงจมูก ช่องปาก คอ และที่ต่อมน้ำลาย

อันตรายจากการได้รับวิตามินเอเกิน

แท้งลูกหรือพิการ หญิงมีครรภ์ที่ได้รับวิตามินเอมากเกินไปมีความเสี่ยงต่อภาวะทารกในครรภ์คลอดออกมาพิการหรือแท้งได้ เนื่องจากวิตามินเอมีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กในครรภ์ ซึ่งอาจทำให้เด็กมีความผิดปกติที่ทางเดินปัสสาวะ กระดูกผิดรูป หรือมีติ่งปูดออกมาที่บริเวณหู

อ่อนเพลีย หากร่างกายได้รับวิตามินเอเกินครั้งละ 15,000 ไมโครกรัม จะมีผลทำให้รู้สึกอ่อนเพลียและอาเจียนได้

เจ็บกระดูกและข้อต่อ เบื่ออาหาร เซื่องซึม นอนไม่หลับ กระวนกระวาย ผมร่วง ปวดศีรษะ ท้องผูก ทั้งหมดนี้เป็นโทษในระยะยาวที่เกิดจากการรับประทานวิตามินเอมากเกินไป

ในสัตว์กระเพาะเดี่ยว เมื่อได้รับเกินความต้องการ 4-10 เท่า จะทำให้โครงกระดูกผิดปกติ

ในสัตว์เคี้ยวเอื้อง เมื่อได้รับเกิน 30 เท่า จะเกิดอาการผิดปกติ

 

www.flickr.com/photos/jalb/117560810/

11 สุดยอดอาหารที่ทำให้ผมสวยสุขภาพดี

pretty-hair-1
Source: Flickr (click image for link)

สาวหลายๆคน นอกจากรูปร่างหน้าตาที่เราต้องดูแลเป็นพิเศษแล้วนั้นเรื่องของเส้นผมหรือการมีผมที่สลวยสวยสุขภาพดีก็เป็นความใฝ่ฝันของผู้หญิงอย่างเราๆกันทั้งนั้น เพราะมันคือเสน่ห์สำคัญอย่างหนึ่งของเราเลยจริงไหมคะ บางคนมีผมที่บาง แห้ง เสีย อ่อนแอ หลุดร่วงง่าย หรือผมไม่มีน้ำหนัก เบาฟูฟ่อง หรือมีปัญหายาวช้าบ้างแหละ  แต่ถึงแม้ว่าคุณจะลงทุนไปมากมายกับผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมต่าง ๆ แชมพู คอนดิชั่นเนอร์ มาส์ก อบไอน้ำทุกสัปดาห์ ฯลฯ แต่ถ้ายังพบว่าผมยังคงแห้งและไม่มีชีวิตชีวา การดูแลเส้นผมของเราไม่ใช่แค่สรรหาผลิตภัณฑ์ต่างๆมาเพื่อบำรุงก็บำรุงได้แค่ภายนอกเท่านั้น ไม่ว่าจะใช้ราคาแพงแค่ไหนแล้วคุณจะมั่นใจได้ยังไงว่าไม่มีสารเคมีปนเปื้อน? ยังไงไม่ว่าอะไรก็ตามการที่เราบำรุงจากภายในนั้นย่อมเป็นปัจจัยที่สำคัญและเป็นพื้นฐานของความสวยสู่ภายนอกเสมอ  การเลือกรับประทานอาหารยังไงก็ยังเป็นวิธีที่ง่ายและไม่เสียเวลา เพราะฉะนั้นสเต็ปแรกเราควรทราบก่อนว่าเส้นผมของเรานั้นต้องการสารอาหารอะไรบ้าง และหลังจากนั้นเรามาปรับพฤติกรรมการกินของเรากันค่ะ

เส้นผม หมายถึง ขนที่งอกปกคลุมหนังศีรษะของมนุษย์ เป็นเคราตินที่ประกอบด้วยกรดอะมิโน และแร่ธาตุ C, H, N, P และ S ผมถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เส้นผม (hair shaft) เป็นส่วนที่งอกเหนือหนังศีรษะ และรากผม (hair root) เป็นส่วนที่ฝังอยู่ใต้หนังศีรษะ

ริคาร์โด วิลา โนวา นักเกศาโลมาวิทยา (Trichologist) หรือผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านเส้นผมและหนังศีรษะ จากร้าน Urban Retreat ในห้างแฮร์รอด ประเทศอังกฤษ แจงว่า การมีผมที่สุขภาพดีนั้นจะอาศัยการบำรุงจากภายนอกเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องใส่ใจในอาหารที่บริโภคเข้าไปด้วย หากคุณกินอาหารที่มีสารอาหารสำหรับเส้นผมไม่เพียงพอก็จะทำให้ผมแห้งบาง ขาดง่าย ไร้ประกาย มีภาวะผมแห้งมากหรือผมมันง่าย และหากเกิดอาการเช่นนี้ขึ้นกับเส้นผมแล้ว อาจต้องใช้เวลามากที่สุดถึง 4 ปีทีเดียว กว่าเส้นผมจะค่อย ๆ ฟื้นฟูสู่สภาพเดิม

 

กินอะไรผมถึงสวยสุขภาพดี

 

1. แซลมอน (Salmon Fish) : ผมแข็งแรงไม่ขาดร่วง
เนื่องจากปลาแซลมอน มีกรดไขมันที่จำเป็นโอเมก้า 3 (omega – 3 fatty acid) ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพดี และยังมี วิตามิน บี 12 และธาตุเหล็กอยู่ในปริมาณมาก ประชากรของประเทศญี่ปุ่นมีอัตราการเป็นผมร่วง ผมบาง ต่ำกว่าประชากรในประเทศแถบตะวันตก และต่ำสุดในเอเซีย การนิยมบริโภคปลาแซลมอนมากเป็นเหตุผลสนับสนุนสถิตินี้ส่วนหนึ่ง แม้ในปัจจุบันจะพบว่าวัยรุ่นชาวญี่ปุ่นนิยมทำแฟชั่นเกี่ยวกับทรงผมมากเป็น พิเศษทั้งการใช้สารเคมีต่างๆกับเส้นผม ทั้งยืดผม ดัดผม เปลี่ยนสีผมนานาสี ก็ยังพบว่าชาวญี่ปุ่นมีอัตราการเกิดปัญหาผมร่วง ผมบางต่ำมาก นั่นแสดงว่าอาหารการกินมีส่วนทำให้เส้นผมมีความแข็งแรงได้จริงๆ

2. ดาร์กช็อกโกแลต (Dark Chocolate) : ผมหงอกก่อนวัย

ยับยั้งได้ด้วยการกินช็อกโกแลต โดยเฉพาะดาร์กช็อกโกแลต เพราะในช็อกโกแลตมีสาร “เมลานิน” ซึ่งเป็นเม็ดสีในผิวและผม จะช่วยทำให้ผมดกดำและเป็นประกายมากขึ้น

3. ผักใบเขียว (Dark green vegetables) : ผมนุ่มสวย ไม่ต้องพึ่งครีมนวด

จำพวกบล็อกโคลี่ ผักโขม คะน้า ผักบุ้ง เป็นแหล่งของวิตามินเอ วิตามินซีและธาตุเหล็ก ซึ่งธาตุเหล็กมีส่วนช่วยสร้างไขมัน เพื่อทำหน้าที่สร้างความชุ่มชื้นปกป้องผิว และผม เสมือนเป็นคอนดิชันเนอร์จากธรรมชาติ และป้องกันไม่ให้เส้นผมเปราะบาง 

4. ไข่ (Egg) : ผมแตกปลาย

เพราะไข่สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลายรูปแบบ ได้หลายเมนู ทำง่าย กินก็ง่าย แถมอุดมไปด้วยสารอาหาร ทั้งโปรตีน ไบโอติน และวิตามินบี12 ที่ทำให้เส้นผมแข็งแรง และยังช่วยบำรุงไม่ให้เส้นผมแตกปลายนั่นเองค่ะ

5. ธัญพืช (Whole Grains) เช่น ขนมปังที่มีกาก (Whole – wheat bread), ซีเรียล (cereals) : ผมดำเงางามด้วยพืชตระกูลถั่ว

สามารถหาได้จากขนมปังโฮลวีท ซีเรียลผสมธัญพืช (นำมากินกับนมเป็นอาหารเช้า เข้าท่ามากๆ เลยจ้า^^) ธัญพืชนี้อุดมไปด้วยสารอาหารที่ช่วยบำรุงสุขภาพเส้นผม ได้แก่ ธาตุเหล็ก สังกะสี วิตามินบี และ ซีลีเนียม และซีลิเนียมถือเป็นอาหารผมที่สำคัญอีกตัว ที่ช่วยเสริมสร้างเส้นผมให้แข็งแรง มีสุขภาพดี  ซึ่งสารอาหารเหล่านี้จะทำให้เส้นผมหนานุ่ม เป็นเงางามและมีสุขภาพดีด้วยค่ะ

6. หอยนางรม (Oyster) : รังแคไม่มากวนใจ

หอยนางรมนี้อุดมไปด้วยสังกะสี (แถมยังมีสารต้านอนุมูลอิสระด้วยนะเออ) นอกจากนี้หอยนางรมยังช่วยป้องกันรังแคและการขาดร่วงของเส้นผมด้วยค่ะ ถ้าสาวๆ คนไหนไม่ได้รับประทานหอยนางรมบ่อยๆ ก็ไม่ต้องกังวลไปค่ะ จมูกข้าว งา เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน ถั่วลิสง และในเนื้อวัวหรือเนื้อแกะก็มีสังกะสีเช่นเดียวกันจ้า เพราะงั้นสามารถเลือกรับประทานอาหารข้างต้นแทนหอยนางรมได้ตามสะดวกเลยจ้า

7. นม และผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ต, ชีส  :  เส้นผมแข็งแรง

เพราะในนมนอกจากมีแคลเซียมเป็นหลักแล้วซึ่งแคลเซียมจะช่วยบำรุงเส้นผมให้มีสุขภาพดี มีชีวิตชีวา และนมยังประกอบไปด้วย เคซีน (Casein) และเวย์ (Whey) ซึ่งเป็นสารอาหารประเภทโปรตีน มีส่วนสำคัญมากที่ช่วยในเรื่องการเจริญเติบโตของเส้นผม และช่วยบำรุงให้เส้นผมแข็งแรง สาวๆ ห้ามละเลยการดื่มนมเด็ดขาดจ้า เพราะนอกจะหาซื้อดื่มได้ง่ายแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อร่างกายและเส้นผมของเราด้วยนะเออ (ชีสกับโยเกิร์ตก็มีประโยชน์คล้ายๆ นมเหมือนกันจ้า)

8. แครอท (Carrots) : สุขภาพดี เส้นผมแข็งแรง

แครอทเป็นแหล่งรวมของวิตามินเอ ซึ่งมีส่วนช่วยบำรุงให้หนังศีรษะมีสุขภาพดีและแข็งแรง ช่วยให้ผมเป็นประกายเงางามและบำรุงรากผมให้แข็งแรง เพราะฉะนั้นสาวๆ คนไหนไม่ชอบแครอท งานนี้ก็ห้ามงอแงแล้วจ้า ต้องหัดกินแครอทได้แล้วนะ

9. กล้วย (Banana) : เส้นผมไม่ขาดหลุดร่วง

กล้วยเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินบี6 และแร่ซิลาก้า ช่วยบำรุงเส้นผมให้แข็งแรง นอกจากนี้กล้วยยังช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงซึ่งเป็นส่วนช่วยทำให้หนังศีรษะแข็งแรง ป้องกันการขาดหลุดร่วงของเส้นผม ใครที่ผมร่วงเยอะๆ ต้องหันมารับประทานกล้วยกันได้แล้วน้า

10. เนื้อไก่ (Chicken meat)  : เส้นผมสีสวย

เนื้อไก่อุดมไปด้วยโปรตีนไบโอตินและธาตุเหล็ก สังกะสี  ซึ่ง ไบโอตินช่วยลดอาการผมขาดร่วง ช่วยในกระบวนการการสร้างเซลล์ใหม่ของเส้นผม ช่วยบำรุงผมให้แข็งแรง ไม่เปราะบางและขาดง่าย และยังช่วยรักษาสีของเส้นผมสำหรับคนที่ทำสีผมด้วยค่ะ

11. น้ำ (Water) : ผมแห้งขาดความชุ่มชื้น

ใครจะรู้ล่ะคะ ว่าน้ำเปล่าที่เราดื่มทุกวันนี่แหละมีประโยชน์มากมายดื่มกันง่ายๆได้ทุกวัน แค่เพียงอย่ามองข้ามกันก็พอค่ะ เพราะเส้นผมของเราขาดน้ำไม่ได้เป็นอันขาด ก็เพราะว่าเส้นผมมีน้ำเป็นองค์ประกอบอยู่ถึง 1 ใน 4 ของน้ำหนักเส้นผม ดังนั้น จึงควรดื่มน้ำประมาณ 8 – 10 แก้วต่อวัน เพื่อให้เส้นผมมีความชุ่มชื้นในระดับที่พอเหมาะ และป้องกันไม่ให้ผมแห้ง

 

การดูแลสุขภาพตัวเองเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้วค่ะ แต่ยังไงการดูแลเส้นผมให้มีสุขภาพดีก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน แค่เราลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารกันสักหน่อยแค่นี้เราก็จะมีสุขภาพผมที่ดีจากภายในแล้วใยภายนอกจะไม่ดีตามล่ะคะ หวังว่า HealthGossip มาบอกเล่ากันวันนี้จะช่วยสาวๆกันได้นะคะ

 

www.flickr.com/photos/martinaphotography/7062111723/