Browse Tag: Mineral

ฟอสฟอรัส คืออะไรและมีคามสำคัญอย่างไร

little-girl-smile-1
Source: Flickr (click image for link)

ฟอสฟอรัส (Phosphorus) ถ้าพูดถึงฟอสฟอรัสเราก็จะนึกเห็นภาพของแคลเซียมขึ้นมาทันที เพราะเรามักจะได้ยินติดหูคุ้นชินว่าแคลเซียมนั้นคู่กันกับฟอสฟอรัสเสมอ ก็เพราะว่าสองตัวนี้ต้องได้ทำหน้าที่ร่วมกันนั่นเองค่ะ ”ฟอสฟอรัส” เป็นเกลือแร่ที่มีความสำคัญต่อร่างกายของเราจัดว่าเป็นอันดับสองของแคลเซียมเลยก็ว่าได้ค่ะ และก็จะอยู่รวมกับแคลเซียม ที่เป็นในส่วนของกระดูและฟัน ในเนื้อเยื่อต่างๆ ก็มีฟอสฟอรัสอยู่ด้วยเช่นกัน ฟอสฟอรัสเป็นธาตุที่มีความสำคัญต่อร่างกายมนุษย์ สัตว์ และระบบนิเวศ เป็นแร่ธาตุที่พบมากในธรรมชาติในรูปของเกลือฟอสเฟตต่างๆค่ะ ส่วนฟอสเฟตก็คือ สารประกอบของฟอสฟอรัสนั่นเองค่ะ เช่น Monohydro phosphate แต่เกลือแร่ที่ร่างกายจะนำไปใช้งานก็คือ ส่วนที่เป็นเกลือแร่ฟอสฟอรัส พูดถึงแร่ธาติหรือเกลือแร่ สมัยที่เราเรียนมักจะไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญเท่ากับวิตามินต่างๆนัก แต่ก็อีกนั่นแหละค่ะ ยังไงร่างกายของเราก็ยังต้องการอยู่ดี ขาดก็ไม่ได้ เกินก็ไม่ดีค่ะ ฟอสฟอรัสอยู่ในกลุ่มไนโตรเจน มีวาเลนซ์ได้มาก ปรากฏในหลายอัลโลโทรป พบทั้งในหินฟอสเฟต และเซลล์สิ่งมีชีวิตทุกเซลล์ (ในสารประกอบในดีเอ็นเอ) เนื่องจากสามารถทำปฏิกิริยาได้สูง จึงไม่ปรากฏในรูปอิสระในธรรมชาติ คำว่า ฟอสฟอรัส มาจากภาษากรีกแปลว่า ‘ส่องแสง’ และ ‘นำพา’ เพราะฟอสฟอรัสเรืองแสงอ่อน ๆ เมื่อมีออกซิเจน หรือมาจากภาษาละติน แปลว่า ‘ดาวประกายพรึก’ ค้นพบประมาณปี 1669 โดยนักเล่นแร่แปรธาตุชาวเยอรมัน เฮนนิก แบรนด์

 

เกี่ยวกับฟอสฟอรัส (Phosphorus)

  • ฟอสฟอรัส อยู่ในกระดูก 58% ที่เหลืออยู่ตามเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย
  • ฟอสฟอรัส มีหน้าที่ในการเผาผลาญสารอาหารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไขมัน คาร์โบไฮเดรต หรือว่าโปรตีน
  • ฟอสฟอรัส จับกับกรดอะมิโนแล้วทำหน้าที่ปล่อยพลังงานให้กับร่างกายของเรา
  • ฟอสฟอรัส กับแคลเซียมร่วมมือกันทำให้กระดูกและฟันของร่างกายมีความแข็งแรง
  • ฟอสฟอรัส เป็นแร่ธาตุที่หาได้ง่ายในอาหารแทบทุกชนิดจึงไม่ค่อยมีใครขาดฟอสฟอรัสกัน
  • ฟอสฟอรัส ถ้าร่างกายขาดจะมีอาการปวดกระดูก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และกระดูกผุกร่อนได้ง่าย
  • ฟอสฟอรัส หากร่างกายเกิดการสะสมมากเกินไป จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันทำให้ร่างกายสูญเสียแคลเซียม ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับกระดูก จึงต้องรับแคลเซียมและฟอสฟอรัสให้สมดุลกัน
  • ฟอสฟอรัส มีมากในนม เนื้อสัตว์ ปลา เมล็ดฟักทอง เมล็ดดอกทานตะวัน เนย ไก่ ข้าวบาร์เลย์ ปลาซาร์ดีน หอยแครง นอกจากนี้ยังพบฟอสฟอรัสในไข่แดง กระดูก ฟัน สมอง เส้นประสาทของคนและสัตว์
  • ฟอสฟอรัส รวมกับแคลเซียมสร้างกระดูกและฟัน โดยมีวิตะมินดี ชวยให้เกิดการรวมตัว ในกระดูกมีปริมาณของฟอสฟอรัสประมาณ 2 ใน 3 ส่วนของแคลเซียม
  • ฟอสฟอรัส ช่วยในการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรท ไขมัน และโปรตีน
  • ฟอสฟอรัส เป็นส่วนประกอบของเนื้อเยื่อเซลล์ และยังช่วยในการทำงานของเซลล์ด้วย
  • ฟอสฟอรัส เป็นส่วนประกอบเอนไซม์ที่สำคัญบางชนิดที่ช่วยในการดูดซึมและการขับถ่าย
  • ฟอสฟอรัส ช่วยในการยืดหดของกล้ามเนื้อ
  • ฟอสฟอรัส สร้างความเจริญเติบโตโดยช่วยให้จำนวนเซลล์ทวีขึ้น
  • ฟอสฟอรัส เป็นส่วนประกอบของกระดูก และฟัน ซึ่งทำหน้าที่สัมพันธ์กับแคลเซียมที่รวมตัวกันในรูปแคลเซียมฟอสเฟต (Ca2(PO4)2) และไฮดรอกซีอาพาไทต์ (Ca10(PO4)6(OH)2)
  • ฟอสฟอรัส เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ฟอสโฟลิปิด ที่เป็นสารสำคัญในการสร้างเยื่อหุ้มเซลล์ การเคลื่อนย้ายไขมัน และกระบวนการเมทาบอลิซึมของร่างกาย
  • ฟอสฟอรัส เป็นส่วนประกอบสำคัญของ Buffer ในเลือด และของเหลวในร่างกาย สำหรับรักษาสมดุลความเป็นกรด-ด่างของร่างกาย
  • ฟอสฟอรัส เป็นธาตุที่จำเป็นสำหรับกระบวนการเมทาบอลิซึมของสารอาหารต่างๆ
  • ฟอสฟอรัส เป็นส่วนประกอบสำคัญของสารที่ให้พลังงานสูงในร่างกาย เช่น ATP
  • ฟอสฟอรัส เป็นแร่ธาตุที่ช่วยในการทำงานของวิตามิน และเอนไซม์ในร่างกาย
  • ฟอสฟอรัส เป็นส่วนประกอบสำคัญของกรดนิวคลีอิก และสารทางพันธุกรรม เช่น RNA และ DNA
  • ฟอสฟอรัส ช่วยในการควบคุมการทำงานของระบบประสาท และกล้ามเนื้อ

 

ความต้องการฟอสฟอรัส

ฟอสฟอรัสที่อยู่ในร่างกายจะพบในรูปของฟอสเฟต โดยประมาณร้อยละ 85-90 ของฟอสฟอรัสที่พบในร่างกายทั้งหมด จะเป็นส่วนประกอบของโครงสร้างร่างกาย เช่น ในกระดูกจะพบฟอสฟอรัสรวมตัวกับแคลเซียมในรูป hydroxyapatite ((Ca10(PO4)6(OH)2) และอีกประมาณร้อยละ 11 จะเป็นองค์ประกอบของกล้ามเนื้อ เลือด และของเหลวในร่างกาย ในรูปของฟอสโฟลิปิด กรดนิวคลีอิก และสารอื่นๆที่ละลายอยู่ในเซลล์ สำหรับในเลือดจะพบฟอสฟอรัสประมาณ 35-40 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงปริมาณตามสารอาหารที่ได้รับในแต่ละวัน แต่จะมีระดับคงที่ประมาณ 4-9 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร การขับฟอสฟอรัสออกจากร่างกาย ประมาณ 2ใน 3 จะขับผ่านทางปัสสาวะ และอีก 1 ใน 3 จะขับผ่านทางอุจจาระ โดยมีฮอร์โมนพาราไทรอยด์เป็นตัวควบคุมระดับปริมาณฟอสฟอรัสในร่างกาย และการขับออกนอกร่างกาย  

ผู้ใหญ่ ในผู้ใหญ่ ร่างกายต้องการฟอสฟอรัสวันละ 700 มิลลิกรัม โดยร่างกายได้รับฟอสฟอรัสจากอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งมีมากใน เนื้อสัตว์ นม

ถ้าร่างกายขาดฟอสฟอรัส จะอ่อนเพลีย กระดูกและฟันจะไม่แข็งแรง และในทำนองเดียวกัน

ถ้าร่างกายมีฟอสฟอรัสมากเกินไป จะส่งผลต่อการทำงานของเกลือแร่อื่นๆ โดยเฉพาะแคลเซียมซึ่งก่อให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้ ทั้งนี้ ร่างกายรักษาสมดุลของฟอสฟอรัส โดยผ่านการทำงานของไต

สำหรับ เด็ก หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร ควรได้รับในปริมาณเท่ากับแคลเซียมของคนในสภาวะนั้นๆ

 

www.flickr.com/photos/thomashawk/496287193/

โพแทสเซียม คืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร

yoghurt-breakfast-1
Source: Flickr (click image for link)

โพแทสเซียม (Potassium) เป็นแร่ธาตุที่มีมากเป็นอันดับ 3 ในร่างกาย รองจากแคลเซียมและฟอสฟอรัส โพแทสเซียมนั้นเป็นอิเล็กโตรไลต์ซึ่งเป็นตัวปรับสมดุลของประจุบวกหรือลบในเลือด โซเดียมกับคลอไรด์ก็เป็นอิเล็กโตรไลต์เช่นกันค่ะ ร่างกายของเราต้องได้รับแร่ธาตุทั้ง 3 ชนิดนี้ในปริมาณที่สมดุลจึงจะทำหน้าที่ต่างๆ ได้ดี โพแทสเซียมเกือบทั้งหมดในร่างกายจะอยู่ในเซลล์ต่างๆ โพแทสเซียมเป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย โดยมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายเป็นปกติ เช่น ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ โปแทสเซียมช่วยควบคุมสมดุลของอิเล็กโตรไลต์และสมดุลของกรด-เบสในร่างกาย ป้องกันภาวะกรดเกิน (hyperacidity) และยังช่วยควบคุมความดันโลหิตที่สูงและลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย มีรายงานวิจัยจำนวนมากที่ระบุว่าในกลุ่มประชากรที่ได้รับโปแทสเซียมจากอาหารในปริมาณที่สูงมีค่าเฉลี่ยของความดันโลหิตและอัตราการเกิดโรคความดันโลหิตสูงต่ำกว่ากลุ่มประชากรที่ได้รับโปแทสเซียมจากอาหารในปริมาณที่น้อย และยังพบว่าการได้รับโปแทสเซียมจากอาหารอย่างเพียงพอ มีผลช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเรื้อรังชนิดอื่น ๆ โดยในงานวิจัยของ Ascherio และคณะ ได้รายงานว่าสามารถลดความเสี่ยงของภาวะการอุดตันของเส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงสมอง (Stroke) ได้ถึง 30%

 

เกี่ยวกับโพแทสเซียม (Potassium)

  • โพแทสเซียม เกลือแร่ชนิดหนึ่ง มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการยืดหดตัวของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจ
  • โพแทสเซียม รักษาสมดุลของน้ำ กรด-ด่างในร่างกาย ควบคุมความดันโลหิต
  • โพแทสเซียม ในผู้ป่วยโรงใตเรื้อรัง จะมีประสิทธิภาพในการขับโพแทสเซียมลดลง ซึ่งทำให้เกิดการคั่งของโพแทสเซียมในเลือด
  • โพแทสเซียม จะทำงานร่วมกับโซเดียมในการควบคุมสมดุลของน้ำในร่างกายและช่วยทำให้หัวใจเต้นเป็นปกติ
  • ความเครียดทางด้านร่างกายและจิตใจ อาจส่งผลให้ขาดโพแทสเซียมได้
  • หากโพแทสเซียมและโซเดียมในร่างกายเสียสมดุลจะทำให้การทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อเสียไป
  • ไฮโปไกลซีเมีย (ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ) จะส่งผลให้ร่างกายสูญเสียโพแทสเซียมได้ เหมือนกับการอดอาหารเป็นเวลานาน ท้องร่วงอย่างรุนแรง
  • แหล่งที่พบโพแทสเซียมตามธรรมชาติ ได้แก่ โยเกิร์ต ผลไม้รสเปรี้ยว กล้วย ลูกพีช มันฝรั่ง แคนตาลูป มะเขือเทศ ผักวอเตอร์เครส ผักใบเขียวทุกชนิด สะระแหน่ เมล็ดทานตะวัน ถั่ว เป็นต้น
  • ศัตรูของธาตุโพแทสเซียม ก็ได้แก่ น้ำตาล กาแฟ แอลกอฮอล์ และยาขับปัสสาวะ
  • ผู้ที่ดื่มกาแฟเป็นประจำและมีอาการอ่อนล้า อาจเกิดจากการสูญเสียโพแทสเซียมเพราะกาแฟ
  • ผู้ที่ชอบรับประทานของหวานและชอบดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ระดับของโพแทสเซียมในร่างกายอาจจะต่ำได้
  • ผู้ที่กำลังลดความอ้วนด้วยการรับประทานประเภทคาร์โบไฮเดรตน้อย จะส่งผลให้ระดับโพแทสเซียมในร่างกายลดลง ซึ่งจะส่งผลให้กล้ามเนื้อเกิดอาการอ่อนล้าหรือตอบสนองช้า
  • หากระดับโพแทสเซียมในร่างกายมากเกินไปจะถูกไตขับออกมา และสำหรับผู้ที่ไตทำงานได้ไม่ดีก็ไม่ควรรับประทานโพแทสเซียมเสริมในปริมาณที่สูงมากจนเกินไป
  • โพแทสเซียม ในรูปแบบอาหารเสริม มักพบได้ในรูปแบบของวิตามินรวมและแร่ธาตุรวม
  • โพแทสเซียม ในเลือดที่มีค่าปกติคือ 3.5 – 5.0 mEq/L
  • โพแทสเซียม  ในเลือดที่มีค่าต่ำคือ  < 3.5 mEq/L จะมีอาการซึม อ่อนเพลีย คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ตะคริว
  • โพแทสเซียม ในเลือดที่มีค่าสูงคือ  > 5.0 mEq/L จะทำให้เกิดการคั่งของน้ำในร่างกาย หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • โพแทสเซียมสูงในอาหารประเภท (กลุ่มผักสีเข้ม) ได้แก่ ถั่วเมล็ดแห้ง นมและผลิตภัณฑ์จากนม ทุเรียน กล้วย ลำไย ผลไม้แห้งต่างๆ เช่น ลูกเกด ลูกพรุน แครอท มะเขือเทศ หน่อไม้ฝรั่ง คะน้า หัวปลี ผักชี มันฝรั่ง
  • โพแทสเซียมปานกลางในอาหารประเภท  สับปะรด ฝรั่ง แอปเปิ้ล เงาะ ส้ม องุ่น ลิ้นจี่ แคนตาลูป ส้มโอ มะม่วงดิบ มะเขือยาว หอมหัวใหญ่ ผักบุ้งจีน มะละกอดิบ ถั่วพู(ฝักอ่อน) พริกหวาน
  • โพแทสเซียมต่ำในอาหาร (กลุ่มผักสีซีด) ได้แก่ ชมพู่ องุ่นเขียว แตงโม บวบเหลี่ยม เห็ดหูหนู ฟักเขียว แฟง ผักกาดขาว กะหล่ำปลี แตงกวา
  • การจำกัดผัก-ผลไม้ขึ้นอยู่กับระดับโพแทสเซียมในเลือด ถ้าผลเลือดอยู่ในระดับปกติ ไม่จำเป็นต้องงดผัก ผลไม้ ควรเลือกรับประทานผักผลไม้หมุนเวียนได้ตามปกติ สีเข้ม-อ่อน สลับกันไป

จะเห็นได้ว่าเราสามารถเลือกรับประทานอาหารได้หลากชนิดเพื่อให้ได้รับโปแทสเซียมในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน แต่ทั้งนี้ เราควรบริโภคอาหารอย่างถูกหลักโภชนาการ โดยคำนึงถึงปริมาณน้ำตาล ไขมัน คอเลสเตอรอล ฯลฯ ที่มีอยู่ในอาหารด้วย เพื่อป้องกันความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ และเพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรง

 

ประโยชน์ของโพแทสเซียม (Potassium)

 

โพแทสเซียมและอิเล็กโตรไลต์ชนิดอื่นๆ ช่วยในการนำกระแสประสาท ทำให้กล้ามเนื้อหดตัว ช่วยควบคุมการเต้นของหัวใจและความดันเลือด โพแทสเซียมยังควบคุมปริมาณของเหลวภายในเซลล์ ขณะที่โซเดียมควบคุมปริมาณของเหลวภายนอกเซลล์ แร่ธาตุ 2 ชนิดนี้จึงทำงานร่วมกันเพื่อรักษาสมดุลของของเหลวในร่างกาย

 

โพแทสเซียมยังช่วยให้ร่างกายเปลี่ยนน้ำตาล (กลูโคส) ในเลือด ไปเป็นพลังงานสะสม (ไกลโคเจน) ในกล้ามเนื้อและตับ โพแทสเซียมเป็นสารขับปัสสาวะธรรมชาติ จึงช่วยขับสารพิษที่เกิดจากการเผาผลาญพลังงานด้วย

 

โพแทสเซียม จะทำงานร่วมกับ ธาตุโซเดียม ในการควบคุมสมดุลของน้ำในร่างกายและช่วยทำให้หัวใจเต้นเป็นปกติ โดยความเครียดทางด้านร่างกายและจิตใจ อาจส่งผลให้ขาดโพแทสเซียมได้ หากโพแทสเซียมและโซเดียมในร่างกายเสียสมดุลจะทำให้การทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อเสียไป ไฮโปไกลซีเมีย (ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ) จะส่งผลให้ร่างกายสูญเสียโพแทสเซียมได้ เหมือนกับการอดอาหารเป็นเวลานาน ท้องร่วงอย่างรุนแรง

 

โพแทสเซียมช่วยควบคุม Osmolality ส่วนใหญ่ของ ICF จึงมีความสำคัญในการรักษาปริมาตรของเซลล์ให้คงที่ ซึ่งมีผลต่อความสำคัญของปริมาตรน้ำในร่างกาย

 

โพแทสเซียมเป็น Cofactor ที่สำคัญในกระบวนการเมทาบอลิซึม เช่น การสังเคราะห์โปรตีน และไกลโคเจน และการทำงานของอินซูลิน เป็นต้น

 

โพแทสเซียมในอัตราส่วนของโพแทสเซียมที่อยู่ระหว่าง ICF และ ECF จะเป็นตัวกำหนดความต่างศักย์ที่ผนังเซลล์ ที่มีความสำคัญในการทำงานของกล้ามเนื้อ และเส้นประสาท

 

โพแทสเซียมที่ร่างกายได้รับในแต่ละวันจะได้รับจากอาหาร และมีการขับถ่ายออกนอกร่างกายทางปัสสาวะประมาณวันละ 50-90 มิลลิโมล ส่วนที่เหลือประมาณ 5-10 มิลลิโมล จะขับถ่ายออกทางอุจจาระ และเหงื่อ

 

 

www.flickr.com/photos/california_bakery/8102163622/

แคลเซียม คืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร

milk-and-cookies-1
Source: Flickr (click image for link)

Calcium (แคลเซียม) เรามักจะคุ้นหูหรือได้ยินกันบ่อยๆ ถ้าพูดถึงแคลเซียมคนเราก็จะนึกถึงนมขึ้นมาทันที และพอพูดถึงนมก็จะนึกถึงกระดูกและฟัน เพราะในนมมีแคลเซียมและแคลเซียมก็ไปเสริมสร้างให้กระดูกและฟันของเราให้แข็งแรง ทำไมเราถึงต้องดื่มน้ำนมตั้งแต่อ้อนแต่ออกจนกระทั่งแก่ตัวลงแล้วยังต้องคอยดื่มนมกันอีกล่ะ วันนี้ HealthGossip จึงอยากนำข้อมูลเหล่านี้มาเสนอและให้พวกเรามาทำความรู้จักกับแคลเซียมกันให้มากขึ้น “แคลเซียม” เป็นสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต กระดูก ฟัน เส้นผม และผิวหนัง ต่างก็เป็นส่วนของร่างกายที่ไม่สามารถปราศจากแคลเซียมได้ แม้เป็นที่ทราบกันดีว่า แคลเซียมมีผลกระทบต่อสุขภาพฟัน แต่คุณทราบหรือไม่ว่า แคลเซียมนั้นมีบทบาทสำคัญในการควบคุมความดันเลือดสูง (hypertension) และการควบคุมน้ำหนักตัวด้วยเช่นกัน เป็นที่เชื่อกันว่า แคลเซียม ตลอดจน เกลือแร่ชนิดจำเป็น เช่น แมกนีเซียม และโปแตสเซียม เป็นสิ่งจำเป็นต่อความสำเร็จของการบริโภคตามแบบ DASH (หรือ แนวทางการบริโภคเพื่อหยุดความดันเลือดสูง)

 

เกี่ยวกับแคลเซียม (Calcium)

  • แคลเซียม เป็นธาตุเกลือแร่ที่พบมากที่สุดในทุกส่วนของร่างกาย โดยในร่างกายคน 50 กิโลกรัม จะมีแคลเซียมอยู่ประมาณ 1 กิโลกรัม ซึ่งเกือบทั้งหมดจะอยู่ในกระดูกและฟัน
  • แคลเซียม เป็นแหล่งประกอบของฟันและกระดูกมากที่สุดของแคลเซียมที่มีอยู่ทั้งหมดในร่างกาย คิดเป็นประมาณ 99%
  • แคลเซียม มีหน้าที่สำคัญก็คือ การสร้างกระดูก ซึ่งกระดูกทำหน้าที่เป็นโครงสร้างของร่างกาย รักษารูปร่างและลักษณะของร่างกายให้สวยงาม และยังเป็นที่ยึดเกาะของกล้ามเนื้อเป็นเกราะป้องกันอวัยวะภายในต่างๆ ของร่างกายไม่ให้ได้รับความกระทบกระเทือน
  • แคลเซียม ไม่ได้เป็นเพียงตัวเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงเท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่สำคัญในการทำงานของเซลล์ต่างๆ ภายในร่างกายอีกด้วย
  • แคลเซียม ที่อยู่ในเนื้อเยื่อ ส่วนมากจะอยู่ในรูปของเกลือแคลเซียมฟอสเฟต ส่วนเซลล์ประสาท เนื้อเยื่อร่างกาย เลือด และของเหลวอื่นๆ ในร่างกาย ประกอบด้วยแคลเซียมที่เหลือ
  • แคลเซียม ช่วยในการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดที่ไหลออกจากบาดแผลเกิดแข็งตัวหยุดไหลได้
  • แคลเซียม สามารถช่วยต่อต้านได้อย่างดีต่อความดันโลหิตสูง อาการหัวใจกำเริบ อาการปวดก่อนมีประจำเดือน และ มะเร็งลำไส้
  • แคลเซียม จะเริ่มจากเมื่อร่างกายได้รับ แคลเซียม จากอาหารก็จะถูกกรดในกระเพาะทำให้ แคลเซียม แตกตัวได้ดีขึ้นและถูกดูดซึมได้ง่ายขึ้นจากบริเวณลำไส้ส่วนต้น โดยอาศัย Calbindin-D
  • แคลเซียม ปกติแล้วร่างกายจะดูดซึมได้ประมาณร้อยละ 20-40 หลังจากนั้น แคลเซียม จะเข้าสู่เลือดผ่านไปตามระบบไหลเวียนโลหิตแล้วไปสู่อวัยวะต่างๆ ส่วนใหญ่จะเข้าสู่กระดูก นอกนั้นเข้าสู่เซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ที่เหลือจะถูกขับออกทางปัสสาวะ
  • แคลเซียม ที่มีระดับปกติก็คือ จำนวนเงินที่ติดกระเป๋าอยู่สำหรับใช้จ่ายในแต่ละวัน โดย แคลเซียม ส่วนที่ถูกขับออกทางปัสสาวะและ แคลเซียม ที่ใช้เพื่อการซ่อมแซมกระดูกเปรียบเสมือนค่าใช้จ่ายประจำวัน
  • แคลเซียม ในกระดูกเสมือนเงินฝากในธนาคาร แคลเซียมรับจากอาหารเสมือนรายได้ประจำวัน ถ้ารายรับมากกว่ารายจ่าย อาจมีเหลือเก็บในธนาคารซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการสะสมแคลเซียมในกระดูก ถ้ารายได้น้อยกว่ารายจ่ายก็ต้องถอนจากธนาคารเพื่อนำไปใช้จ่ายก็จะทำให้เกิดการขาดดุล ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้อยู่เป็นประจำเงินในธนาคารก็จะร่อยหรอไป
  • แคลเซียม ถ้าร่างกายได้รับไม่พอเพียงต่อความพยายามรักษาระดับแคลเซียม ให้ปกตินั้น จำต้องละลาย แคลเซียม จากกระดูกมาเพิ่มให้กับเลือด ทำให้ แคลเซียมในกระดูกค่อยๆลดลง สุดท้ายแคลเซียมหรือเงินที่ติดกระเป๋าอยู่ก็ลดลงจนไม่พอใช้นั่นเอง
  • แคลเซียม พบมากในนมและผลิตภัณฑ์จากนม แต่ก็พบได้ในอาหารทั่วๆ ไป ดังนี้ อาหารที่พบ (เทียบเป็น % โดยน้ำหนัก) กุ้งแห้งตัวเล็ก 2.31%, กะปิ 1.56%, มะขามฝักสด 0.43%, ยอดแค 0.40%, ยอดสะเดา 0.35%, คะน้า 0.25%, เต้าหู้เหลือง 0.16%, นมสด 0.12%
  • แคลเซียม ที่เป็นอาหารเสริมจะมีจำหน่ายอยู่ทั่วไปและราคาไม่แพง โดยมักจะอยู่ในรูปของ แคลเซียมคาร์บอเนต แคลเซียมกลูโคเนต แคลเซียมซิเตรด แคลเซียมซิเตรดมาเลต แคลเซียมแลคเตต และแคลเซียมฟอสเฟต
  • แคลเซียม ที่เป็นอาหารเสริมเหล่านี้ก็จะขึ้นกับว่าในแต่ละแบบจะให้แคลเซียมแก่ร่างกายเท่าไร เช่น แคลเซียมคาร์บอเนตจะให้ปริมาณแร่ธาตุแคลเซียม ประมาณ 40% แคลเซียมกลูโคเนตจะให้ปริมาณแร่ธาตุ แคลเซียม ประมาณ 9% ทั้งนี้ยังขึ้นกับการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายด้วย มีการค้นพบว่าแร่ธาตุ แคลเซียม ที่ได้จากแคลเซียมซิเตรดจะถูกดูดซึมได้ดีกว่าที่ได้จากคอร์บอเนต
  • แคลเซียม ลดอาการโรคกระเพราะ หากรับประทาน แคลเซียม ในรูปของแคลเซียมคาร์บอเนตซึ่งเป็นรูปแบบของยาลดกรดตัวหนึ่ง จึงไปช่วยลดอาการ โรคกระเพราะลงได้
  • แคลเซียม โรคนอนไม่หลับ มีหลายๆ คนที่มีปัญหาโรคนอนไม่หลับอันเนื่องมาจากมีระดับ แคลเซียม ในเลือดต่ำ ดังนั้นการรับประทาน แคลเซียม ร่วมกับ แมกนีเซียม จะช่วยลดอาการนี้ได้ดี
  • แคลเซียม ป้องกันอาการ ไมเกรน เนื่องการรับประทาน แคลเซียม ร่วมกับ แมกนีเซียม จะช่วยให้ระบบหลอดเลือดและสมองมีการทำงานดีขึ้น จึงช่วยลดอาการ ไมเกรน ลงได้
  • แคลเซียม ทุกชนิดไม่ควรทานพร้อมยาประเภทอื่นเพราะทำให้การดูดซึมยานั้นๆน้อยลง และไม่ควรทานหลังอาหารที่มีผักมากๆ เนื่องจากทำให้การดูดซึมน้อยลงและอาจจับกับผักทำให้อืดแน่นท้อง
  • เมื่อทานแคลเซียม ควรรับประทานอาหารที่มีความสมดุลย์ของโปรตีนเพื่อลดความเสี่ยงในการก่อให้เกิดภาวะนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
  • การดูดซึมแคลเซียม ยังขึ้นกับภาวะความปกติของระดับวิตามินดีในร่างกาย ถ้ามีภาวะขาดวิตามินดี ร่างกายจะดูดซึมแคลเซียมได้น้อย เมื่อดูดซึมแล้วร่างกายก็ไม่สามารถนำแคลเซียมไปใช้ในการสร้างกระดูกได้ดี การดูดซึมแคลเซียมยังขึ้นกับภาวะความปกติของระดับวิตามินดีในร่างกาย ถ้ามีภาวะขาดวิตามินดี ร่างกายจะดูดซึมแคลเซียมได้น้อย เมื่อดูดซึมแล้วร่างกายก็ไม่สามารถนำแคลเซียมไปใช้ในการสร้างกระดูกได้ดี

อย่างไรก็ตาม แคลเซียมเป็นแร่ธาตุเสริมที่น่าสนใจเป็นอย่างมากที่เดียวค่ะ โดยเฉพาะสำหรับสุภาพสตรีที่กลัวภาวะกระดูกพรุน หน่วยงานวิชาการส่วนใหญ่แนะนำให้ผู้สูงอายุได้รับแคลเซียมเสริมอย่างน้อยวันละ 1,000 – 1,200 มก. ต่อวัน ทั้งนี้นับรวมถึงอาหารที่เรารับประทานต่อวันด้วย อาหารที่เรารับประทานมีแคลเซียมอยู่วันละประมาณ 360 กรัม ดังนั้นความต้องการแคลเซียมเสริมส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 600- 800 มก ความต้องการของแคลเซียม เบื้องต้นวัดได้จากสมดุลระหว่างปริมาณแคลเซียมที่ถูกดูดซึมจากอาหารเข้าสู่ร่างกาย และปริมาณที่สูญเสียออกจากร่างกายผ่านการขับถ่ายปกติ และจากการซ่อมแซมและสร้างเนื้อเยื่อใหม่ขึ้นมาทดแทน ในวัยผู้ใหญ่ การดูดซึมแคลเซียมโดยรวม จำเป็นต้องพอดีกับอัตราการสูญเสียออกจากร่างกายหากไม่ต้องการให้เกิดการสูญเสียมวลกระดูก และลดความเสี่ยงของโรคและการแตกหักของกระดูก  ในวัยเด็กและผู้ใหญ่ จำเป็นต้องมีการดูแลเพิ่มเติมให้เพียงพอต่อความต้องการการเจริญเติบโตของกระดูก ปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นเป็นสิ่งจำเป็นในบางช่วงเวลา เช่น ในระหว่างตั้งครรภ์ ช่วงให้นมบุตร และระยะมีประจำเดือนเริ่มต้น เมื่อร่างกายอยู่ในภาวะที่เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยในแต่ละวัยร่างกายสามารถสะสมปริมาณ แคลเซียม ในระดับที่แตกต่างกัน ดังนี้

เด็กแรกเกิด – 9 ขวบ มีความสามรถในการสะสม แคลเซียม ได้ 100 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว/วัน

เด็กอายุ 10 ขวบ มีความสามารถในการสะสม แคลเซียม ได้ 100-150 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว/วัน

ช่วงวัยรุ่น มีความสามารถในการสะสม แคลเซียม ได้ 200-400 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว/วัน

ชายและหญิงอายุ 18 ปี มีความสามารถในการสะสม แคลเซียม ได้ 50-100 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว/วัน

ผู้ใหญ่อายุ 30 ปี มีความสามารถในการสะสม แคลเซียม ได้ 0 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว/วัน ซึ่งหมายความว่า หลังจากอายุ 30 ปีไปแล้ว ร่างกายจะไม่สะสม แคลเซียม อีกต่อไป จึงต้องมีการเติม แคลเซียม ให้ร่างกายเพื่อรักษาระดับ แคลเซียม ในกระดูก

 

ประโยชน์ของแคลเซียม

แคลเซียม ในร่างกายเกือบทั้งหมดจะสะสมในกระดูกและฟัน ซึ่งเป็นที่ๆ มันๆ ไปช่วยทำให้เกิดความแข็งแรง อีกทั้งจะมีปริมาณ แคลเซียม จำนวนน้อยๆ ที่อยู่ในกระแสเลือดที่จะมีส่วนช่วยในการสร้างฮอร์โมนและเอนไซม์ต่างๆ เพื่อให้ร่างกายทำงานเป็นปกติ เช่น

  • แคลเซียม ทำหน้าที่เป็นตัวนำสัญญาณระหว่างเซลประสาทให้สื่อสารกันได้เป็นปกติ
  • แคลเซียม ช่วยให้กล้ามเนื้อหดตัวได้เป็นปกติ ที่สำคัญคือกล้ามเนื้อหัวใจ
  • แคลเซียม ช่วยในขบวนการทำให้เลือดแข็งตัว
  • แคลเซียม ช่วยในขบวนการสร้างภูมิคุ้มกันโรค

โดยส่วนใหญ่จะแนะนำให้รับประทานแคลเซียมร่วมกับ แมกนีเซียม และ วิตามินดี ซึ่งที่จริงแล้วร่างกายเราจะได้รับ วิตามินดี จากแสงแดดธรรมชาติอยู่แล้ว และยังพบในอาหารต่างๆ อีก วิตามินดีจะช่วยให้ แคลเซียม ถูกดูดซึมได้เป็นปกติ ส่วน แมกนีเซียม ซึ่งเป็นวิตามินที่สำคัญของร่างกายและอาจจถูกยับยั้งการดูดซึมจาก แคลเซียม ได้ ดังนั้นจึงแนะนำให้รับประทาน แคลเซียม คู่กับ แมกนีเซียม ไปด้วยกัน

 

แคลเซียมกับโรคกระดูกพรุน  ถ้ากระดูกเราแข็งแรงก็จะช่วยป้องกันโรค กระดูกพรุน ได้หรือทำให้เป็นช้าลง ดังนั้นเราควรพยายามรับประทาน แคลเซียม ให้เพียงพอและต่อเนื่องทุกวัน ซึ่งจะทำให้ร่างกายไปสะสม แคลเซียม ที่กระดูก และทำให้กระดุกแข็งแรง หากเราได้รับ แคลเซียม ไม่เพียงพอก็จะทำให้ก็จะทำให้กระดูกบางลง และทำให้หักได้ง่าย ความสูงไม่เพิ่มขึ้นหรือเตี้ยกว่าที่ควรจะเป็น ได้มีการศึกษาพบว่าถึงแม้ว่าในอายุที่น้อยกว่า 35 ปีร่างกายมักจะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพกระดูกและฟัน ทั้งนี้คนที่อายุมากกว่า 65 ปี และพยายามรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วย แคลเซียม หรือรับประทานอาหารเสริมแคลเซียมก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการสูญเสียมวลกระดูกและการเกิดอาการกระดูกหักได้ อีกทั้งในรายที่มีปัญหาเกี่ยวกับอาการปวดหลัง ลองรับประทาน แคลเซียม ร่วมกับ แมกนีเซียม ซึ่งจะทำให้กระดูกแข็งแรงขึ้นและลดอาการดังกล่าวได้

 

แคลเซียมกับความดันโลหิตสูง มีการศึกษาพบว่าคนที่ความดันโลหิตสูงมักจะรับประทาน แคลเซียม น้อยกว่าคนปกติ และยังพบอีกว่าการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้ว แคลเซียม หรืออาหารเสริมช่วยลดความดันโลหิตลงในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ทั้งนี้เป็นเพราะ แคลเซียม ช่วยให้กล้ามเนื้อบีบตัวได้ดีและทำให้หัวใจและหลอดเลือดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงส่งผลให้ความดันโลหิตลดลงได้

 

แคลเซียมกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ แคลเซียม ช่วยป้องกัน มะเร็งลำไส้ใหญ่ มีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้มายาวนาน และพบว่าคนที่มีความเสี่ยงที่จะเป็น มะเร็งลำไส้ใหญ่ จะมีแน้วโน้มลดลงได้เมื่อรับประทาน แคลเซียม มีการพบว่าหลังได้รับ แคลเซียม การแบ่งเซลที่ผิดปกติลดลง มันดูเหมือนว่า แคลเซียม จะไปลดผลการรบกวนของน้ำดีและกรดไขมันในลำไส้ลงที่เป็นสาเหตุของการแบ่งเซลที่ผิดปกติในลำไส้

 

แคลเซียมกับอาการปวดก่อนมีประจำเดือน มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า แคลเซียม ช่วยบรรเทาอาการปวดก่อนมีประจำเดือน และรวมทั้ง อารมณ์ที่แปรปรวน ซึมเศร้า และอื่นๆ ที่มักจะเกิดก่อนที่จะมีประจำเดือน ทั้งนี้เพราะการที่มีระดับ แคลเซียม ในร่างกายต่ำส่งผลให้ระดับฮอร์โมนผิดปกติไปด้วย มีการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้เองในผู้หญิงหลายร้อยคนให้รับประทาน แคลเซียม ขนาด 750 มิลลิกรัมครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง พบว่าอาการที่เกี่ยวข้องที่มักเกิดก่อนมีประจำเดือนรวมทั้งอาการปวดลดลงอย่างเห็นได้ชัด ความรุนแรงก็ลงกว่าครึ่ง

 

ดังนั้นหน้าที่สำคัญเหล่านี้ทำให้ร่างกายขาด แคลเซียม ไม่ได้เลย ดังนั้นเมื่อร่างกายขาดก็จะไปดึงมาจากกระดูกแทน ส่งผลให้กระดูกไม่แข็งแรง แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่คนส่วนใหญ่รับประทาน แคลเซียม น้อยกว่าครึ่งของที่ควรจะได้รับต่อวัน ทำให้กระดูกก็จะบางลง และไม่แข็งลงเรื่อยๆ และเรามักจะทราบว่าเราเป็นโรค กระดูกพรุน ก็ต่อเมื่อเกิดอาการกระดูกหักง่ายแม้กระทบเพียงเล็กน้อย สำคัญไม่น้อยเลยนะเนี้ย ^^

 

www.flickr.com/photos/lifeviaplanes/15710800066/

ดื่มชาเขียวอย่างไรให้ได้คุณประโยชน์มากที่สุด

tea-time-1
Source: Flickr (click image for link)

เครื่องดื่มที่ไม่มีใครไม่รู้จักแล้วก็ยังให้ความนิยมชมชอบกันเป็นชีวิตจิตใจก็คงจะหนีไม่พ้นเครื่องดื่มที่มีชื่อว่า “ชาเขียว” (Green tea) ชาเขียว คือ ชาที่ได้มาจากต้นชา ซึ่งชาชนิดนี้จะไม่ผ่านขั้นตอนการหมักเลย เตรียมได้โดยการนำใบชาสดมาผ่านความร้อนเพื่อทำให้ใบชาแห้งอย่างรวดเร็ว ซึ่งวิธีการก็คือเมื่อเก็บใบชามาแล้วก็นำมาทำให้แห้งอย่างรวดเร็วในหม้อทองแดงโดยใช้ความร้อนไม่สูงเกินไปและใช้มือคลึงเบา ๆก่อนแห้งหรืออบไอน้ำในระยะเวลาสั้น ๆแล้วนำไปอบแห้งเพื่อยับยั้งการทำงานเอนไซม์ (ความร้อนจะช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ทำให้ไม่เกิดการสลายตัว) จึงได้ใบชาที่แห้งแต่ยังสดอยู่และมีสีที่ค่อนข้างเขียว จึงเรียกกันว่า “ชาเขียว” และการที่ใบชาที่ได้นั้นไม่ผ่านขั้นตอนการหมักจึงทำให้ใบชามีสารประกอบฟีนอล (Phenolic compound) หลงเหลืออยู่มากกว่าในอู่หลงและชาดำ (สองชนิดนี้คือชาที่ผ่านการหมัก) จึงทำให้ชาเขียวมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมากกว่าชาทั้งสอง โดยชาเขียวจะมี สารพฤกษเคมี ชื่อ EGCG ตัวนี้เป็นแชมป์เปี้ยนของสารต้านอนุมูลอิสระเลยทีเดียว จึงสามารถช่วยป้องกันมะเร็งและต้านมะเร็งได้ด้วย และมีบางงานวิจัยยังบอกว่าช่วยลดการดูดซึมไขมันและคอเลสเตอร์รอลที่ช่วยลดอัตราเสี่ยงการเป็นโรคหลอดเลือดตีบตันและโรคหัวใจได้อีกด้วยค่ะ และในชาเขียวนั้นจะมีเจ้าสาร EGCG อยู่ถึงประมาณ 35-50% กันเลยทีเดียว โดยขณะที่ชาอู่หลงมีประมาณ 8-20% และชาดำจะมี EGCG อยู่เพียง 10% เท่านั้นเองค่ะ ชาเขียวที่มีคุณภาพจะได้จากใบชาคู่ที่หนึ่งและใบชาคู่ที่สองที่เก็บจากยอด (ชาวจีนเรียกว่า “บู๋อี๋”) ส่วนใบชาคู่ที่สามและสี่จากยอดจะให้ชาชั้นสอง (ชาวจีนเรียกว่า “อันเคย”) ส่วนใบชาคู่ที่ห้าและหกจากปลายยอดจะเป็นชาชั้นเลว (ชาวจีนเรียกว่า “ล่ำก๋อง”)สำหรับสี กลิ่น และรสชาติของชานั้นจะขึ้นอยู่กับปริมาณของสารคาเทชินที่มีอยู่ในชา โดยฤดูการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว จะมีผลต่อระดับของสารคาเทชิน ซึ่งในใบชาฤดูใบไม้ผลิจะมีสารคาเทชินประมาณ 12-13% ในขณะที่ชาในฤดูร้อนจะมีสารคาเทชินประมาณ 13-14% (ใบชาอ่อนจะมีสารคาเทชินมากกว่าใบชาแก่) สารสำคัญที่พบได้ในชาเขียวจะประกอบไปด้วย กรดอะมิโน วิตามินบี วิตามินซี วิตามินอี สารในกลุ่ม xanthine alkaloids คือ คาเฟอีน (caffeine) และธิโอฟิลลีน (theophylline) ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง และสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ ที่เรียกว่า คาเทชิน (catechins) โดยเราสามารถแยกสารคาเทชินออกได้เป็น 5 ชนิด คือ gallocatechin (GC), epicatechin (EC), epigallocatechin (EGC), epicatechin gallate (ECG), และ epigallocatechin gallate (EGCG) โดยคาเทชินที่พบได้มากและมีฤทธิ์ทรงพลังที่สุดในชาเขียว คือ สารอีพิกัลโลคาเทชินกัลเลต (epigallocatechin gallate – EGCG) ซึ่งมีความสำคัญในการออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

ชาเขียวมี 2 ประเภทใหญ่ๆคือ ชาเขียวแบบญี่ปุ่นและชาเขียวแบบจีน ซึ่งทั้ง 2 ชนิดนี้จะต่างกันโดยชาเขียวแบบจีนจะมีการคั่วด้วยกระทะร้อนแต่ชาเขียวแบบญี่ปุ่นไม่ต้องคั่วใบชา ชาเขียวแบบญี่ปุ่นจำแนกออกเป็นหลายเกรดตามคุณภาพใบชาแต่ที่รู้จักและเป็นที่นิยมในหมู่ชาวญี่ปุ่น ได้แก่ บันฉะ เซ็นฉะ เกียวกุโระฉะ และมัทฉะ

  • บันฉะ (Bancha) ใบชาแก่และคุณภาพต่ำที่สุด มักมีก้านใบติดมาด้วย เนื้อหยาบ รสค่อนข้างฝาด สีเขียวอมเหลือง เป็นชาที่ร้านอาหารญี่ปุ่นให้บริการฟรี บันฉะมีรสอ่อน สีไม่สวย จึงไม่นิยมนำมาปรุงอาหาร
  • เซ็นฉะ (Sencha) เป็นชาแก่เกรดกลางที่คนใช้ทั่วไป ประมาณ 80% ของใบชาที่เก็บเกี่ยวได้ผลิตเป็นใบชาเกรดนี้ ใบเซ็นฉะไม่มีก้านติดมาด้วย น้ำเซ็นฉะสีเขียวสด รสเข้มแต่ละเมียดละไม จับแล้วรสชายังติดที่ปลายลิ้นเป็นชาที่ชาวญี่ปุ่นเสิร์ฟรับรองแขกที่บ้าน ตามงานเลี้ยงรับรอง และตามที่ประชุมต่างๆ เซ็นฉะมีหลายเกรดตั้งแต่แบบธรรมดาแลัแบบพรีเมี่ยม ราคาก็ต่างกัน นำมาใช้ทำอาหารได้หลากหลายเพราะให้ทั้งกลิ่นและรสชาเขียวที่เข้มกว่าชนิดอื่น
  • เกียวกุโระฉะ (Gyukurocha) เป็นใบชาที่เก็บจากพุ่มต้นชาที่ดีที่สุด เนื่องจากผลผลิตน้อยราคาจึงค่อนข้างสูง น้ำชาสีเขียวอ่อนหอมหวานมาก ปกติการชงชาเขียวทั่วไปใช้น้ำร้อนที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียสเท่านั้น เมื่อมิได้ความร้อนไปทำลายรสชาติชา ชาชนิดนี้แพงเกินกว่าจะนำมาผสมใส่อาหารหรือผลิตภัณฑ์อื่นได้
  • มัทฉะ (Matcha) เป็นผงชาเขียว สมัยก่อนได้จากการนำใบชาชั้นดี ‘’เกียวกุโระฉะ’’ มาบดจนละเอียดเป็นผงเพื่อใช้ในพิธีชงชา มัทฉะที่ได้จะมีลักษณะข้นสีเขียวเข้ม ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตโดยนำใบชา’’เซ็นฉะ’’ มาสกัดเป็นน้ำแล้วจึงพ่นโดยการฉีดผ่านไอความร้อนสูงให้ไอระเหยออกเหลือแต่ผงสีเขียวเข้มกลิ่นหอม มัทฉะเป็นชาที่นิยมใช้ใส่อาหารเพราะสะดวกในการใช้ให้สีสวยกลิ่นหอมและราคาไม่แพง มัทฉะจะมีสีเขียวสดคล้ายเขียวมะนาว ในใบชาเขียวมีสารสำคัญหลายๆชนิด คือ คาเฟอีน, แทนนิน, สารคาเทซิน, เกลือฟลูออไรด์

      จากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พบว่า สารคาเฟอีน และ สารคาเทชินใน ชาเขียวญี่ปุ่นแท้มีคุณสมบัติในการช่วยเพิ่มเมทาบอลิซึ่มของร่างกายนั่นก็หมายถึง การเพิ่มอัตราการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต และการออกซิเดชันของไขมันนั่นเอง นอกจากนี้ชาเขียวญี่ปุ่นแท้ ยังช่วยให้แบคทีเรียที่มีประโยชน์ในลำไส้ทำงานดีมากยิ่งขึ้น แต่เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด ควรจะออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย จะทำให้การเผาผลาญดีขึ้น และเพื่อให้ได้ผลดีต้องดื่มชาเขียวญี่ปุ่นแท้ แบบปราศน้ำตาล หรือสารปรุงแต่งอื่นๆ โดยในแต่ละวันไม่ควรดื่มเกิน 10 – 12 ถ้วย หรือ ชงใบชา 1-2 ช้อนชา ในน้ำร้อน ดื่มวันละ 3 ถ้วย ระหว่างมื้ออาหาร จะได้ประโยชน์ต่อสุขภาพสูงสุด ดังนั้น ควรจะดื่มชาเขียวญี่ปุ่นแท้ เท่านั้น ซึ่งจะผลิตออกมาในรูปแบบของ ใบชา ชาซอง มัทฉะ เพื่อให้เราได้รับสารที่มีประโยชน์อย่างเต็มที่เพียงเติมน้ำร้อน ถึงชาเขียวญี่ปุ่นแท้ จะมีสารคาเฟอีน (ซึ่งอาจจะทำให้นอนไม่หลับถ้าดื่มเยอะเกิน) แต่ยังมีสารสำคัญที่มีประโยชน์อีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็น กรดอะมิโน วิตามินบี, วิตามินซี, วิตามินอี, สารในกลุ่ม xanthine alkaloids หรือ คาเฟอีน (caffeine) และ ธิโอฟิลลีน (theophylline) ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้สดชื่น คึกคัก และสารใน กลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoids) ที่เรียกว่า แคทีชิน (catechins) ตัวนี้แหละที่สำคัญ

ประโยชน์ของวิตามินที่อยู่ในชาเขียว

  • วิตามินซี ช่วยลดความเครียด ต่อต้านภาวะติดเชื้อและเสริมการทำงานของระบบ
  • วิตามินบีรวม ช่วยเสริมการทำงานในกระบวนการเมตาบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรต
  • วิตามินอี มีสรรพคุณเป็นสารแอนติออกซิแดนซ์ ชะลอความแก่
  • ฟลูออไรด์ ช่วยเสริมความแข็งแรงให้แก่เคลือบฟัน ป้องกันฟันผุ
  • GABA  ช่วยลดระดับความดันเลือด และประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย
  • แร่ธาตุ ได้แก่ โซเดียม, โปแตสเซียม, แคลเซียม, แมกนีเซียมและฟอสฟอรัส และอื่นๆ

 

และด้วยคุณประโยชน์มากล้นของชาเขียวนั้น เราเคยสงสัยกันหรือไม่ว่าบางทีการที่เราดื่มชาเขียวทุกวันๆ นั้นได้ประโยชน์จากสารต่างๆที่กล่าวมา ไม่ว่าจะเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระจากจากเขียวนั้นเราได้รับมาเต็มๆเลยหรือเปล่า? วันนี้ HealthGossip ไม่พลาดค้นหาข้อมูลมาบอกกันค่ะ ว่าวิธีการดื่มชาเขียวแบบที่เราดื่มกันทุกวันนั้นจะได้ประโยชน์จากชาเขียวมากน้อยเพียงใด 🙂

 

วิธีดื่มชาเขียวอย่างไรให้ได้ประโยชน์ที่สุด

รู้กันหรือเปล่าคะว่าการดื่มชาร้อนนั้นให้คุณ แต่ถ้าเป็นชาเขียวเย็นนั้นจะให้โทษ! แม้ว่าการดื่มชาจะไม่ใช่วัฒนธรรมดั้งเดิมของคนไทย แต่ในยุคหลังๆมานี้คนไทยเราเริ่มนิยมการจิบชากันมากขึ้นไม่ว่าจะในคนที่หันมาใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้นหรือจะเป็นความหลงไหลในกลิ่นและรสชาติก็ตาม โดยเฉพาะชาเขียวที่ขี้นชื่อเรื่องของสรรพคุณที่มีประโยชน์มากมายต่อสุขภาพ ซึ่งเรียกได้ว่าญี่ปุ่นเป็นต้นตำรับทางด้านนี้เพราะได้รู้จักรสชาติและคุณค่าของชาเขียวมานานนับ 100 ปี ด้วยญี่ปุ่นเป็นเมืองที่มีอากาศหนาวเย็นและชาวญี่ปุ่นก็มักจะจิบชาอุ่นๆกันเป็นกิจวัตรประจำวันเลยก็ว่าได้ในขณะที่ประเทศไทยเรานัันมีอากาศที่ร้อนแทบทั้งปีจะมามัวนั่งชงชาดื่มแบบร้อนๆก็กะไรอยู่คงจะร้อนทั้งข้างในและข้างนอกเป็นแน่แท้ เพราะงั้นพี่ไทยเราเลยเลือกดื่มชาเขียวแบบเย็นๆแบบชื่นอกชื่นใจกันซะมากกว่า แต่ทว่าดื่มไปเราจะได้รับประโยชน์แค่ไหนกันนะ? อย่างที่ทราบกันดีนะคะว่าชาเขียวมีคุณสมบัติลดและต้านอนุมูลอิสระที่เป็นพิษต่อร่างกายของเรา โดยจะขับออกมาทางอุจจาระ และขับไขมันส่วนเกินออกมาทางปัสสาวะและอุจจาระ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นั่นเป็นคุณสมบัติเฉพาะของชาเขียวร้อน ที่คนญี่ปุ่นนิยมดื่มกันตั้งแต่เด็กจนแก่แต่คนไทยส่วนมากด้วยความที่ไม่รู้จักคุณสมบัติที่แท้จริงของชาเขียว เลยทำให้คิดเอาเองว่าแค่ดื่มชาเขียวก็ได้ประโยชน์แล้วไม่ว่าจะเป็นร้อนหรือเย็นก็ตาม อย่างเช่น จากการวิจัยชี้ว่า ชาเขียวที่ชงใหม่ๆ ร้อนๆ จะมีปริมาณแอนติออกซิแดนท์สูงสุด วัฒนธรรมการดื่มชาเขียวกำหนดให้ดื่มหลังจากชงชาไปประมาณ 1 นาที หากปล่อยไว้นานกว่านี้น้ำชาจะเริ่มเสียรสชาติ เมื่อชาเย็นลงแอนติออกซิแดนท์ในน้ำชาก็จะลดลง ยิ่งไปกว่านั้นการที่ชาเขียวเย็นสำเร็จรูปผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรมหลายขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการพาสเจอไรซ์ ใส่สารกันบูดและแช่เย็นที่ชั้นวางของในห้างสรรพสินค้าเป็นเวลานานๆ ยังทำให้สูญเสียแอนติออกซิแดนท์มากยิ่งขึ้นอีกด้วย และกรณีที่ใส่นมในชาเขียว นมจะจับกับสารคาเทชินทำให้ประสิทธิภาพการต้านอนุมูลอิสระของสารเคทิชินในฐานะแอนติออกซิแดนท์ลดลงไปมากขาดประสิทธิผลในการป้องกันมะเร็งและโรคอื่นๆ แต่เห็นทีคราวนี้ต้องเปลี่ยนความคิดกันใหม่แล้วนะค่ะ เพราะยังไงแล้วชาเขียวจะมีประโยชน์มากมายยังไง มันก็ย่อมมีโทษเช่นกัน อย่างที่บอกเนื่องจากชาเขียวมีประโยชน์ต่อร่างกายในขณะที่มันร้อนอยู่เท่านั้น ในทางกลับกัน หากดื่มชาเขียวตอนที่มันเย็นแล้วจะทำให้เกิดโทษ เนื่องจากชาเขียวเย็นไม่ช่วยในการลดอนุมูลอิสระสารพิษออกจากร่างกาย แล้วยังทำให้สารพิษเกาะตัวกันแน่น อันเป็นสาเหตุของ “มะเร็ง” อีกต่างหาก อีกทั้งชาเขียวเย็นยังส่งผลให้ไขมันในร่างกายก่อตัวมากขึ้นตามผนังหลอดเลือด และไปอุดตันตามผนังลำไส้ อันเป็นบ่อเกิดแห่งโรคร้าย เช่น หลอดเลือดหัวใจอุดตัน มะเร็งลำไส้ เส้นเลือดตีบ เป็นต้น

ทุกวันนี้คนเริ่มรักษาสุขภาพกันมากขึ้นมีการการเลือกรับประทานอาหารกันเยอะขึ้น ไหนจะเป็นอาหารการกินแม้แต่เครื่องดื่มก็ยังต้องมีวิธีและเวลาที่เหมาะสมในการดื่ม ก็เพื่อให้การกินหรือการดื่มแต่ละอย่างคุ้มค่าไม่เสียเปล่านั่นเองค่ะ อาหารหรือเครื่องดื่มบางประเภทนอกจากรสชาติจะต้องฝืนกินแล้วแต่ถ้าเลือกรับประทานไม่ถูกวิธี การที่เราฝืนทานกันมาเป็นเวลานานก็ถือเสียว่าสูญเปล่า และในวันนี้อย่างน้อยเราก็ได้ทราบว่า ควรดื่มชาเขียวอย่างไรให้ได้ประโยชน์และคุณค่ามากที่สุดกันค่ะ 

 

www.flickr.com/photos/vordichtung/5869946403