โซเดียม คืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร

himalayan-salt-1
Source: Flickr (click image for link)

โซเดียม (Sodium) เป็นอีกหนึ่งเกลือแร่หรือแร่ธาตุที่ใครๆก็น่าจะรู้จักกันในรูปของรสชาติความเค็มจากเครื่องปรุงติดบ้านของเราจำพวกน้ำปลา เกลือ หรือเครื่องปรุงอาหารรสชาติต่างๆ แต่ความเป็นจริงแล้วโซเดียมเป็นแร่ธาตุที่พบได้ทั้งในสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต ซึ่งมีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันในหลายรูปแบบ และเป็นสารอาหารประเภทเกลือแร่ที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย เช่น การควบคุมความดันกระแสเลือด การทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาท ช่วยรักษาสมดุลของของเหลวที่อยู่ภายในร่างกาย โดยมีหน้าที่ควบคู่ไปกับโพแทสเซียมและคลอไรด์ หรือพูดง่ายๆเลยว่า โซเดียมก็คือ เกลือแร่ (สารอาหาร) ชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย โดยโซเดียมจะทำหน้าที่ควบคุมความสมดุลของเหลวในร่างกาย รักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ช่วยในการทำงานของประสาทและกล้ามเนื้อ (รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจด้วย) ตลอดจนการดูดซึมสารอาหาร บางอย่างในไตและลำไส้เล็กค่ะ โดยโซเดียมในรูปแบบที่เราบริโภคกันเป็นประจำ ก็จะเป็นโซเดียมที่อยู่ในรูปแบบของ ‘’เกลือแกง’’ โดยที่เกลือมีส่วนประกอบอยู่ 2 อย่างก็คือ โซเดียมกับคลอไรด์และก็น้ำปลา ซึ่งรสชาตินั้นจะต้องมีความเค็มอย่างแน่นอน และจากการสำรวจพบว่าคนไทยกินเกลือที่มีอยู่ในอาหารและเครื่องปรุงรส โดยเฉลี่ยอยู่ที่วันละประมาณ 7 กรัมค่ะ

 

เกี่ยวกับโซเดียม หรือ Sodium

 

  • โซเดียม คือ เกลือแร่ (สารอาหาร) ชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย
  • โซเดียม เป็นเกลือแร่ที่มีคุณสมบัติเป็นด่าง มีความจำเป็นเกี่ยวกับของเหลวภายในร่างกาย
  • โซเดียม เป็นแร่ธาตุที่ทำงานร่วมกับโปตัสเซียมและคลอไรด์ที่ของเหลวภายนอกเซลล์ เพื่อควบคุมดุลยภาพของแรงออสโมติคและปริมาตรของของเหลว
  • โซเดียม ช่วยในการทำงานของประสาทและกล้ามเนื้อ (รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจด้วย)
  • โซเดียม ในรูปแบบที่เราบริโภคกันเป็นประจำ ก็จะเป็นโซเดียมที่อยู่ในรูปแบบของ ‘’เกลือแกง’’
  • โซเดียม จากอาหารธรรมชาติที่มีโซเดียมสูงคือพวกเนื้อสัตว์ต่างๆ
  • โซเดียม จากอาหารธรรมชาติที่มีโซเดียมต่ำ ได้แก่ ผลไม้ทุกชนิด ผัก เนื้อปลา ธัญพืชและถั่วเมล็ดแห้ง ซึ่งปริมาณโซเดียมจะเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายโดยไม่จำเป็นต้อง เรียกหาเครื่องปรุงรสใดๆ เลย
  • โซเดียม จากอาหารแปรรูปหรือการถนอมอาหาร ได้แก่ อาหารกระป๋องทุกชนิด อาหารหมักดอง อาหารเค็ม อาหารตากแห้ง เนื้อเค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า ผักดอง ผลไม้ดอง เป็นต้น
  • โซเดียม จากเครื่องปรุงรส เช่น เกลือ น้ำปลา ซอสปรุงรสที่มีรสเค็ม (เช่น ซีอิ๊วขาว เต้าเจี้ยว น้ำบูดู กะปิ ปลาร้า ปลาเจ่า เต้าหู้ยี้ รวมทั้งซอสหอยนางรม) ซอสปรุงรสที่ไม่มีรสเค็มหรือเค็มน้อย เช่น ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก น้ำจิ้มต่างๆ
  • โซเดียม ในผงชูรสถึงแม้ไม่มีรสชาติเค็ม แต่ก็มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วยประมาณร้อยละ 15
  • โซเดียม ในอาหารกระป๋องและอาหารกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งอาหารเหล่านี้มีการเติมเกลือหรือสารกันบูด ซึ่งมีโซเดียมในปริมาณที่สูงมาก
  • โซเดียม จากขนมต่างๆ ที่มีการเติมผงฟู ซึ่งผงฟูที่ใช้ในการทำขนมเหล่านี้มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ (โซเดียมไบคาร์บอเนต) เช่น ขนมเค้ก คุกกี้ แพนเค้ก ขนมปัง
  • โซเดียม ในน้ำฝนเป็นน้ำที่ปราศจากโซเดียม
  • โซเดียม มีปนอยู่ในน้ำบาดาลและน้ำประปาอยู่บ้าง ในจำนวนไม่มากนัก
  • โซเดียม ในเครื่องดื่มเกลือแร่ยี่ห้อต่างๆ มีการเติมสารประกอบของโซเดียมลงไปด้วย เพราะมีจุดประสงค์จะให้เป็นเครื่องดื่มสำหรับนักกีฬาหรือผู้ที่สูญเสียเหงื่อมาก
  • โซเดียม ในน้ำผลไม้บรรจุกล่องขวดหรือกระป๋อง มักจะมีการเติมสารกันบูด (โซเดียมเบนโซเอต) ลงไปด้วย ทำให้น้ำผลไม้เหล่านี้ มีโซเดียมสูง
  • โซเดียม เป็นส่วนประกอบของเกลือ ซึ่งเกลือ 1 กรัม จะมีโซเดียมประมาณ  400 กรัม
  • โซเดียม ที่ร่างกายคนเรามีความต้องการ ประมาณ 2400 มิลลิกรัมต่อวัน
  • โซเดียม ที่เกินความต้องการ ไตจะขับออกทางปัสสาวะและจะออกทางเหงื่อเป็นที่น่าสังเกตอย่างยิ่งว่าโซเดียม ที่ขับออกทางปัสสาวะจะเป็นตัวชี้ระดับของโซเดียมในร่างกาย
  • โซเดียม เกี่ยวข้องกับการซึมผ่านของสารและการดูดซึมสารอาหารเข้าเซลล์
  • โซเดียม ช่วยฟอกคาร์บอนไดออกไซด์จากร่างกายและช่วยในการย่อย
  • โซเดียม จำเป็นสำหรับการผลิตกรดไฮโดรคลอริคในกระเพาะอาหารและช่วยระบบการย่อยอาหาร
  • โซเดียม ช่วยในการขนส่งกลูโคสผ่านเยื่อเซลล์
  • โซเดียม กระตุ้นประสาทให้ทำงาน และเป็นตัวเก็บเกลือแร่อื่นๆให้อยู่ในร่างกาย

 

 

ประโยชน์ของโซเดียม (Sodium)

 

การรักษาสมดุลกรดด่าง โดยโซเดียมไบคาร์บอเนตและโซเดียมฟอสเฟต ทำหน้าที่เป็นบัฟเฟอร์ที่สำคัญของเลือด ช่วยรักษาความเป็นกรดด่างของเลือดให้คงที่ค่ะ

 

การควบคุมสมดุลน้ำและสมดุลของเหลวภายในร่างกาย โดยที่โซเดียมนั้นไปทำหน้าที่ร่วมกับโปตัสเซียมในการควบคุมสมดุลน้ำและสมดุลของเหลวภายในร่างกาย โดยโซเดียมในรูปแคทไออนจะรักษาความดันออสโมติคภายนอกเซลล์และโปตัสเซียมใน รูปแคทไออนรักษาความดันออสโมติคภายในเซลล์ รวมถึงช่วยรักษาให้แร่ธาตุอื่นที่มีอยู่ในเลือดละลาย เพื่อจะได้ไม่เกิดการจับเกาะตัวภายในเลือด

 

การควบคุมหัวใจให้ทำหน้าที่ปกติและสม่ำเสมอ โดยโซเดียมจะไปควบคุมสมดุลระหว่างแคลเซียมและโปตัสเซียม เพื่อควบคุมหัวใจให้ทำหน้าที่ปกติและสม่ำเสมอ

 

เกี่ยวข้องกับการหดตัวของกล้ามเนื้อ โดยโซเดียมช่วยการส่งผ่านสัญญาณประสาท ( nerve impulse ) ไปยังกล้ามเนื้อเพื่อให้หดตัว

 

ช่วยชำระล้างคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากระบบ โดยทำงานร่วมกับคลอรีน ช่วยชำระล้างคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากระบบ ส่งเสริมสุขภาพของเลือด น้ำเหลือง ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์

 

 

ปริมาณของโซเดียมที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน

โดยจากการวิจัยทางการแพทย์และโภชนาการเรื่องปริมาณที่เหมาะสมของโซเดียมที่ควรได้รับจากอาหารในแต่ละวัน ยังผลให้องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา กำหนดปริมาณโซเดียมที่ แนะนำให้บริโภคต่อวัน (Recommended Daily Intakes : RDI) อยู่ที่น้อยกว่า 2,400 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงพอแก่ความต้องการในบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป และเป็นปริมาณที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในด้านสุขภาพใดๆ
สำหรับในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกินวันละ 2,400 มิลลิกรัมเช่นเดียวกัน แต่หากจะเปรียบเทียบภาวะความเสี่ยงของการได้รับโซเดียมเกินระหว่างประเทศไทย กับประเทศสหรัฐอเมริกา จะพบว่าคนไทยเราบริโภคโซเดียมเฉลี่ยอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมคือปริมาณ 2,320 มิลลิกรัมต่อวัน ในขณะที่ชาวอเมริกันรับประทานโซเดียมจากอาหารเฉลี่ย 3,200 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน ดังนั้นสำหรับคนไทยที่ไม่ได้เป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการตามปกติและรสชาติที่ไม่เค็มจนเกินไป ก็เพียงพอที่จะควบคุมปริมาณโซเดียมจากอาหารในระดับที่เหมาะสมได้แล้ว

 

 

www.flickr.com/photos/julajp/5904468562/

11 อาหารที่ควรรับประทานในช่วงเป็นประจำเดือน

girls-gang-1
Source: Flickr (click image for link)

ผู้หญิงกับเรื่องของการประจำเดือนที่ต้องเจอและต้องเกิดขึ้นเป็นประจำทุกๆเดือน หลีกเลี่ยงการเป็นประจำเดือนคงไม่ได้เพราะอย่างนี้เรามาเตรียมรับมือโดยการเลือกรับประทานอาหารกันดีกว่าค่ะ ในหัวข้อที่ผ่านมาเราได้พูดถึง “อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงในช่วงเป็นปรจำเดือน” ไปแล้วนะคะ มีมากมายหลายหลากจนคิดว่ากินอะไรได้บ้างเนี่ย ความจริงแล้วการรับประทานอาหารที่ถูกต้องไม่ได้เป็นแค่การช่วยบรรเทาอาการแย่ๆที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างเป็นประจำเดือน้ท่านั้นหรอกนะคะ แต่อาหารดีดีที่เราจะเลือกรับประทานต่อไปนี้ยังช่วยในเรื่องของสุขภาพร่างกายของเราอีกด้วยค่ะ ในช่วงระหว่างรอบเดือนของผู้หญิงในระหว่างที่มีประจำเดือนนั้นช่างเป็นช่วงเวลาแห่งความไม่สุขสบายเอาซะเลย ใช่ไหมล่ะคะ ในบางคนจะต้องมีอาการปวดท้อง ปวดหลัง มีความหงุดหงิดง่าย อารมณ์ก็ขึ้นๆลงๆ แถมยังรู้สึกว่าตัวเองอ้วนขึ้นอีก ความอึดอัดจากฮอร์โมนที่ทำให้ร่างกายในระยะนั้นของเราเกิดการบวมน้ำ และไหนจะยังปวดหัวไม่สบายอ่อนเพลีย บางทีหนักจนไม่สามารถทำกิจกรรมใดๆได้เลย แน่นอนล่ะเจอแบบนี้เข้าก็คงไม่มีใครแฮปปี้หรอกจริงไหมคะ เนื่องจากอาการไม่สุขสบายเหล่านี้เรียกรวมๆว่า PMS (Pre-menstrual syndrome) อาการเหล่านี้เกิดขึ้นประมาณ 7-10 วันก่อนมีประจำเดือน จากผลการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับความเครียด การรับประทานอาหารด้วยเช่นกัน โดยอาการของ PMS จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

  1. อาการทางด้านอารมณ์ นับว่าเป็นปัญหาหลักของผู้หญิงเลยล่ะค่ะ เนื่องจาก PMS จะไปทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด ขี้เหวี่ยงขี้วีนง่ายมากกว่าปกตินั่นเอง นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการเครียดและอาการซึมเศร้าก็ส่งผลเสียต่อตัวเองและยังทำให้คนรอบข้างไม่กล้าเข้าใกล้อีกค่ะ
  2. อาการทางกาย อาการอาจมากหรือน้อยไม่เท่ากันในแต่ละบุคคล เช่น คัดตึงเต้านม ปวดท้องน้อย ปวดหลัง ปวดหรือเวียนศีรษะ คลื่นไส้ สิวขึ้น น้ำหนักขึ้น ตัวบวม แน่นอนว่าอาการเหล่านี้ลดประสิทธิภาพการทำงานในผู้หญิงวัยทำงานเป็นอย่างมาก

และการเลือกรับประทานอาหารที่่เหมาะสมก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยบรรเทาอาการต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาของการเป็นประจำเดือนได้ค่ะ เดี๋ยวเรามาดูกันว่าเราควรรับประทานอะไรบ้าง 😀

 

 

11 อาหารที่ควรรับประทานในช่วงเป็นประจำเดือน

mix-berry-1
Source: Flickr (click image for link)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

1.ผลไม้

แน่นอนค่ะ ว่าผลไม้คงเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆอย่างแน่นอน นอกจากจะช่วยเรื่องต่างๆอย่างที่เราก็ทราบกันดีอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าขึ้นชื่อว่าผลไม้ก็สามารถทานได้หมดเพราะบางอย่างก็ไม่ไหวมั้งคะที่่จะทานในช่วงนี้ ดังนั้น ผลไม้ที่อยากจะแนะนำให้เลือกรับประทานในช่วงที่เป็นประจำเดือนก็คือ แอปเปิ้ล องุ่น กล้วย ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ วิตามินซีและน้ำตาลธรรมชาติจากผลไม้จะทำให้คุณผ่อนคลาย อารมณ์ดีไม่หงุดหงิดง่ายอีกทั้งลดอาการปวดเกร็งตามร่างกาย ผลไม้เหล่านี้นอกจากให้พลังงานแคลอรี่ต่ำ วิตามินซีและเส้นใยสูงแล้ว ในส่วนของแอปเปิ้ลและองุ่นยังมีแมงกานีสที่สูงจะไปช่วยลดปริมาณฮอร์โมน เอสโตรเจน ซึ่งจะทำให้ช่วยลดอาการฮอร์โมนแปรปรวนในช่วงปลายของรอบวงจรประจำเดือนลง ลดการปวดท้องและปวดหลังในช่วงเป็นประจำเดือนได้ดีขึ้น และในขณะที่โพแทสเซียมและวิตามินบี 6 ที่อยู่ในกล้วยก็ยังช่วยฟื้นฟูร่างกายจากความอ่อนเพลียได้ค่ะ

 

2.เนื้อปลา

เนื้อปลา นอกจากเป็นเนื้อสัตว์ประเภทไขมันต่ำและมีกรดอะมิโนจำเป็นสูงยังเป็นโปรตีนที่ย่อยง่ายโดยเฉพาะปลาทะเลน้ำลึก เช่นปลาทูน่า และ ปลาแซลมอน เป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณค่าที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูง ซึ่งกรด EPA และ DHA ที่มีคุณสมบัติช่วยสร้างสารที่จะช่วยลดอาการบวมน้ำภายในร่างกาย รวมถึงช่วยลดอาการปวดเกร็งภายในช่องท้องซึ่งเกิดจากการบีบตัวของมดลูกได้เป็นอย่างดี อีกทั้งทำให้ย่อยง่าย ช่วยลดปัญหาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ หรืออาการท้องเสียในช่วงประจำเดือนมาวันแรกๆค่ะ

 

3.น้ำ

‘’น้ำเปล่า’’ ที่เราดื่มกันนี่แหละค่ะ จะเป็นตัวช่วยที่ดีในเรื่องของอาการบวมน้ำรวมถึงการเติมน้ำให้กับร่างกายที่มีการสูญเสียเลือดในช่วงของวันนั้นค่ะ ถึงแม้ว่าในช่วงก่อนและหลังมีประจำเดือนฮอร์โมนเอสโตรเจนจะทำให้ตัวบวม อึดอัด และนั่นก็คือเหตุผลที่น้ำเปล่ามีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง เพราะไหนจะเป็นตัวที่ขับโซเดียม หรือเกลือที่เป็นสาเหตุให้ตัวบวมออกมา เราจึงควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวันค่ะ

 

4.ผักใบเขียวเข้ม

ผักใบเขียวเข้มจำพวก ผักคะน้า กวางตุ้ง สาหร่าย ตำลึง ผักโขม ผักปวยเล้ง นั้นจะให้ธาตุเหล็ก วิตามินบี 6, บี 12, บีรวม และกรดโฟลิก ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการสร้างเลือดสูงเนื่องจากช่วงที่เราเป็นประจำเดือนนั้นร่างกายของเราต้องการธาตุเหล็กสูง ในขณะที่ผักใบเขียวอย่างตำลึงนอกจากจะมีวิตามินเอ ยังมีแมกนีเซียมที่มีส่วนช่วยบรรเทาอาการปวดเกร็งภายในช่องท้องช่วงมีประจำเดือนได้อีกด้วย และเส้นใยจากผักจะไปช่วยในเรื่องของอาการท้องผูกในระหว่างที่เป็นประจำเดือนค่ะ

 

5.ธัญพืช

อาหารประเภทธัญพืชต่างๆ นานาชนิด จำพวก ข้าวบาเลย์ ข้าวโอ้ต คีนัว นอกจากจะทำให้ร่างกายได้รับไฟเบอร์อย่างเพียงพอที่จะทำให้อยู่ท้องได้นานขึ้น ลดอาการหิวบ่อยกินจุบจิบทั้งยังช่วยบรรเทาอาการท้องผูกได้ อาหารดังกล่าวยังมีส่วนช่วยในการดักจับฮอร์โมนเอสโตรเจนส่วนเกินให้หมดไปจากร่างกายได้ด้วยค่ะ

 

6.ไข่  

อาหารที่มีแมกนีเซียมสูงอย่าง ไข่ ควรเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของอาหารที่ควรรับประทานในช่วงระหว่างเป็นประจำเดือนค่ะ ได้ทั้งโปรตีนที่ดีจากไข่และไขมันต่ำสามารถประกอบอาหารได้หลากหลายนี้ ความที่เป็นโปรตีนย่อยง่ายจึงลดลมในกระเพาะลำไส้ ลดอาการปวดท้องได้ค่ะ

 

7.ข้าวและขนมปังไม่ขัดสี

ข้าวและขนมปังจำพวก ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอรร์รี่ หรือขนมปังโฮลวีต เนื่องจากเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนจึงทำให้ร่างกายค่อยๆย่อยสลายน้ำตาลได้อย่างช้าๆ ทำให้ระดับน้ำตาลในร่างกายคงที่ อาหารกลุ่มนี้จึงช่วยลดอาการหงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน และลดอาการซึมเศร้า วิตกกังวล อ่อนเพลียได้ค่ะ

 

8.น้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง

น้ำเต้าหู้หรือนมถั่วเหลืองที่เราเห็นตามท้องตลาด หาซื้อง่ายๆแค่เดินออกมาปากซอย อาหารที่หารับประทานได้้ง่ายและมีประโยชน์อย่างนี้ อย่าได้มองข้ามไปเชียวค่ะโดยเฉพาะสาวๆที่มีอาการปวดท้องประจำเดือน เนื่องจากน้ำเต้าหู้และนมถั่วเหลืองมีสารไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogen) ที่ชื่อ เจนนิสทีน (Genistein) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศหญิง (Anti-Estrogen) อย่างอ่อน จึงช่วยลดและบรรเทาาอาการปวดท้องประจำเดือนได้ค่ะ

 

9.ปลาเล็กปลาน้อย

ปลาเล็กปลาน้อยเป็นอาหารกลุ่มแคลเซียม (Calcium) ที่ควรเลือกรับประทานในช่วงเป็นประจำเดือน โดยที่ไม่ใช่กลุ่มชีสหรือนมวัวนะคะ อาหารแคลเซียมจากปลาเล็กปลาน้อยจะทำงานคู่กับวิตามินบี 12 (Cobalamin) อาหารในกลุ่มนี้ลดอาการอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย หรือซึมเศร้าอีกทั้งช่วงก่อนและระหว่างมีประจำเดือนนั้นร่างกายของเราจะสูญเสียแคลเซียมทำให้เป็นตะคริวได้ง่าย ดังนั้นควรเพิ่มการรับประทานแคลเซียมเพื่อลดอาการเป็นตะคริวค่ะ

 

10.ช็อกโกแลต

สาวๆหลายคนน่าจะยิ้มกันใหญ่เมื่อเห็นว่า ’’ช็อกโกแลต’’ นั้นอยู่ในลิสของหัวข้อนี้ เห็นไม่ผิดค่ะแต่ก็ขอให้เป็น ดาร์กช็อกโกแลตนะคะเนื่องจากดาร์กช็อกโกแลตเป็นอาหารที่อุดมด้วยแมกนีเซียมและยังมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นกับรอบประจำเดือนของผู้หญิง ช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือนของคุณสาว ๆ ได้เป็นอย่างดี โดยขณะที่สารต้านอนุมูลอิสระในช็อกโกแลตก็ยังเข้าไปช่วยเสริมสร้างฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) ฮอร์โมนที่ทำให้คุณรู้สึกอารมณ์ดี๊ดี แถมยังช่วยลดอาการเหวี่ยงวีนในช่วงเป็นประจำเดือนได้อีกด้วยแน่ะ

 

11.ถั่วเมล็ดเปลือกแข็ง

ในช่วงของการเป็รประจำเดือน ช่างเป็นช่วงที่อะไรๆ ก็อยากกินไปหมด สามารถกินได้ทั้งวันหิวได้ทั้งวันยันก่อนนอน เพราะอย่างนี้เราก็ควรที่จะเลือกอาหารมื้อว่างแก้อารมณ์หิวบ่อยโดยการเลือกรับประทานของทานเล่นประเภทถั่วกันค่ะ เช่น เมล็ดอัลมอลด์ แมคคาดีเมีย ถั่วพิชตาชิโอ หรือ ถั่วปากอ้าต่างๆ เนื่องจากถั่วเปลือกแข็งและเมล็ดพืชต่าง ๆ นั้นอุดมไปด้วยสารอาหารแบบจัดเต็ม รับประทานสัก 1 กำมือ ก็เพียงพอ และควรเลี่ยงถั่วอบเกลือ หรือเคลือบน้ำตาล เพราะจะยิ่งทำให้อ้วนได้ง่ายขึ้นนะคะสาวๆ

 

 

www.flickr.com/photos/michaeljzealot/8187468390/

www.flickr.com/photos/68711844@N07/15204309883/

10 อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงในช่วงเป็นประจำเดือน

screming-lady-1
Source: Flickr (click image for link)

“ประจำเดือน” สำหรับผู้หญิงถือว่าเป็นของคู่กัน เกิดเป็นผู้หญิงก็ต้องมีประจำเดือนและไหนช่วงที่จะมีประจำเดือนจะต้องมาตัวบวม หิวบ่อย อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย หลายสิ่งหลายอย่าง กระนั้นแล้วยังมาเจ็บท้องในช่วงประจำเดือนมาถึงอีก ถ้าถามว่าคิดไหมว่าทำไมถึงยากเย็นขนาดนี้ เชื่อเถอะค่ะผู้หญิงอย่างเราก็คงมีวิธีรับมือได้อยู่แล้วถึงแม้บางเดือนก็แอบคิดว่าข้ามไปได้ไหมเดือนนี้ ไม่อยากจะเป็นประจำเดือนเลย แต่คิดไปคิดมา…เอ เป็นดีกว่าเนอะ ใครจะไปเลี่ยงธรรมชาติได้ล่ะ 😉 วันนี้ทาง HealthGossip จึงขอนำเสนออาหารที่ควรหลีกเลี่ยงในช่วงที่เป็นประจำเดือนกันค่ะ ไหนๆก็จะต้องเป็นประจำเดือน เราก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยังไงมันก็ต้องเป็นอย่างนี้ไปอีกนาน เราเลยมาหาวิธีดูแลสุขภาพของเรากันดีกว่าค่ะ บางคนอาจไม่เคยรู้เลยด้วยซ้ำว่าอาหารการกินนี่แหละตัวดีที่ส่งผลต่อการเป็นประจำเดือนด้วยเหมือนกัน

 

 

10 อาหารที่ควรลดและเลี่ยงในช่วงเป็นประจำเดือน

 

1.อาหารประเภทรสจัด

ส่วนใหญ่แล้วผู้หญิงในช่วงที่เป็นประจำเดือนจะเกิดอาการเปรี้ยวปากอยากจะรับประทานแต่อาหารรสจัดๆ เผ็ดจัดจ้านสะท้านทรวงถึงจะสมใจ แต่ทราบกันหรือเปล่าคะนอกจากปรกติที่มีอาการปวดท้องประจำเดือนอยู่แล้วก็อาจจะทำให้เราปวดท้องเพิ่มขึ้นอีกก็เป็นได้ เนื่องจากอาจเกิดการย่อยยากและทำให้เกิดแก๊สลมในกระเพาะลำไส้นั่นเองค่ะ

 

2.คาเฟอีน

พูดถึงคาเฟอีน กาแฟก็ปิ๊งขึ้นมาในหัว แต่อย่าลืมนะคะว่ากาแฟไม่ใช่เครื่องดื่มอย่างเดียวที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน ไม่ว่าจะอยู่ในชารวมไปถึงน้ำอัดลมอีกแน่ะ โดยที่สารคาเฟอีนจะเข้าไปกระตุ้นอาการต่างๆของ PMS (Pre-menstrual syndrome) และอาการบีบรัดตัวของมดลูกให้มากขึ้น ทำให้รู้สึกเหนื่อย เมื่อยเนื้อตัว หงุดหงิดง่าย และปวดท้องมากยิ่งขึ้นค่ะ ช่วงนี้คนที่ติดเครื่องดื่มประเภทคาเฟอีนก็เลี่ยงไปก่อนละกันนะคะ

 

3.เนื้อสัตว์ไขมันสูง

เนื้อสัตว์ประเภทไขมันสูงจำพวกเนื้อสัตว์ติดมันต่างๆ เช่น หมูสามชั้นมันเยิ้มทอด เนื้อติดมัน ซึ่งเนื้อสัตว์ที่ติดมันจะมีไขมันอิ่มตัวอยู่ในปริมาณที่มาก นอกจากจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เราปวดตามข้อต่างๆ ซึ่งเกิดจากการอักเสบทั่วร่างกายทำให้รู้สึกเจ็บปวดไม่สุขสบายเพิ่มขึ้นแล้วยังทำให้มีส่วนเกินจากไขมันอีกด้วยค่ะ

 

4.ไอศกรีม

เคยได้ยินและก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่าทำไมช่วงเวลาที่เป็นปะจำเดือนจึงไม่สามารถรับประทานไอศกรีมได้ สาเหตุที่ไม่ควรรับประทานไอศกรีมในช่วงมีประจำเดือนก­­­็เนื่องมาจากไอศกรีมทำมาจากนมและในนมก็มีไขมันอยู่สูง นอกจากนี้ ไม่ว่าจะเนย ครีม ชีส หรืออาหารที่มีส่วนประกอบของครีมและชีสต่างๆ ซึ่งส่วนประกอบเหล่านี้อยู่ในกลุ่มของไขมันอิ่มตัวเช่นกันจึงส่งผลไปเพิ่มอาการปวดเมื่อยตามร่างกายนั่นเองค่ะ

 

5.ของหวานต่างๆ

บางคนช่วงเวลาที่เป็นประจำเดือนก็รู้สึกอยากจะทานขนมหวานๆ ของหวานอยู่ตลอดๆ ความจริงแล้วทราบหรือปล่าวคะว่าเจ้าขนมหวาน ของหวานที่แสนโปรดปรานของเราเนี่ยช่างไม่เหมาะเลยจริงๆ ก็เพราะว่าจะยิ่งไปทำให้เราปวดท้องประจำเดือนมากขึ้นกว่าเดิมนั่นเอง ใช่อยู่ว่าของหวานๆเรานี้เมื่อรับประทานไปแล้วจะทำให้อารมณ์ของเราดี๊ดีก็ตาม แต่ยังไงอาหารกลุ่มพวกนี้ก็จะไปเพิ่มการอักเสบทำให้ปวดเมื่อยตามร่างกายอีกด้วยค่ะ ถ้าอยากรับประทานอะไรที่หวานๆก็หันมาเลือกรับประทานผลไม้สดๆแทนกันดีกว่าค่ะ

 

6.อาหารหมักดอง

ไม่ต้องสงสัยเลยค่ะว่าทำไมฉันดูบวม อืด อ้วนจังช่วงเวลาเป็นประจำเดือนเนี้ย ลองหันมาดูพฤติกรรมการรับประทานของตัวเองให้ไวเลยค่ะ ว่าได้เผลอไปรับประทานของหมักดองอะไรบ้างหรือเปล่า! ส่วนใหญ่แล้วของหมักของดองมีรสเค็มจากการหมักของเกลือรวมถึงอาหารที่ใส่ผงชูรส อาหารเหล่านี้ยิ่งทำให้ตัวบวมเพิ่มความรู้สึกอึดอัดให้ร่างกายจากตัวบวมก่อนการมีประจำเดือนฮอร์โมนเอสโตรเจนนั้นจะทำให้ตัวบวมอยู่แล้วค่ะ ช่วงนี้ก็ลดๆอาหารที่เค็มจัด หรืออาหารที่ใส่เกลือมากๆ และดื่มน้ำให้มากเพียงพอ จะช่วยลดอาการบวมน้ำ หรือตัวบวมในช่วงประจำเดือนได้ค่ะ

 

7.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

สาวๆคนไหนที่เป็นนักดื่มแล้วล่ะก็…ให้คิดอีกทีเลยค่ะ เนื่องจาก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงมีประจำเดือนจะส่งผลให้อาการ­ช่วงมีประจำเดือนหนักขึ้น ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ รวมทั้งส่งผลให้เลือดจางและกระดูกพรุนอีกด้วย แถมยังส่งผลให้ปวดท้องประจำเดือนเข้าไปอีก เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์เช่นเดียวกับยาลดความเข้มข้นของเลือด และทำให้ระบบไหลเวียนเลือดเพิ่มขึ้น อันเป็นสาเหตุของความรู้สึกอัดอัดไม่สบายตัว โดยอาการเหล่านี้จะเริ่มเกิดขึ้นหลังจากแค่คุณดื่มเข้าไป ถ้าไม่อยากให้ช่วงมีประจำเดือนของคุณเลวร้ายจนทำอะไรไม่ได้ เลี่ยงไว้ก่อนดีกว่าค่ะ

 

8. เค้ก เบเกอรี่

อยากจะร้องกรี๊ดขึ้นมาเลยใช่ไหมล่ะคะในทันทีที่เห็นหัวข้อนี้ นึกว่าจะรอดหรอ จะให้มางดเค้กและขนมปังเบเกอรี่อร่อยๆ แต่งหน้าตาสวยงามในร้าน แต่เอาน่าหักห้ามใจสักนิดชีวิตจะได้ไม่พังในช่วงเป็นประจำเดือน อิอิ เนื่องจากพวกขนมอบต่างๆเหล่านี้ นอกจากจะมีน้ำตาลแล้วก็ยังเป็นอาหารที่มีไขมันทรานส์ซึ่งเป็นอันตรายอยู่ในปริมาณมากอีกด้วย และไขมันทรานส์ก็เป็นตัวที่จะไปเพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายให้สูงขึ้น ซึ่งการผลิตฮอร์โมนออกมามากเกินจำเป็นก็อาจจะเป็นอันตรายต่อมดลูกได้ค่ะ

 

9. อาหารแปรรูป     

อาหารที่ผ่านการแปรรูปต่างๆตามร้านสะดวกซื้อ ถึงแม้จะสะดวกในการจับจ่ายใช้สอยและสะวดในการรับประทานกัน แต่รู้ไหมคะสำหรับคนที่กำลังอยู่ในช่วงมีประจำเดือน อาหารประเภทแปรรูปต่างๆนี้ก็ควรที่จะหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่งค่ะ เนื่องจากอาหารแปรรูปเหล่านี้มีส่วนผสมของโซเดียมอยู่สูงเและก็ะจะไปทำให้เราเกิดอาการท้องอืดรู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว เพราะฉะนั้นช่วงระหว่างนี้เราก็ควรเลือกรับประทานอาหารสด ถือซะว่าได้รักษาสุขภาพไปในตัวอีกด้วยค่ะ

 

10.อาหารกลุ่มจั๊งก์ฟู้ดส์ และขนมกรุบกรอบ

อาหารในกลุ่มจำพวกอาหาร Junk Foods ก็คือพวกพิซซ่า แฮมเบอร์เกอร์ ชีส ต่างๆ เพราะอาหารเหล่านี้มีทั้งน้ำตาล ไขมันอิ่มตัวจากสัตว์และไขมันทรานส์ โดยน้ำตาลและไขมันอิ่มตัวทำให้เกิดการอักเสบตามร่างกายทำให้มีอาการปวดเมื่อตามร่างกาย ส่วนไขมันทรานส์จะเพิ่มระดับการทำงานของฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มอาการปวดทั้งก่อนและระหว่างมีประจำเดือน รวมถึงขนมจำพวกกรุบกรอบบรรจุถุงตามท้องตลาดที่เราชอบทานแบบจุบจิบระหว่างวันเพลินๆ ซึ่งขนมกรุบกรอบเหล่านี้อุดมไปด้วยเกลือ โซเดียม ไขมันทรานส์ คาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว ขนมกลุ่มนี้ยังเพิ่มน้ำหนักตัว ทำให้ตัวบวมรู้สึกอึดอัดไม่สบายตัวและยังเพิ่มอาการปวดประจำเดือนอีกด้วยค่ะ

 

 

www.flickr.com/photos/raychelnbits/3227900601/

ไอโอดีน คืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร

seafood-1
Source: Flickr (click image for link)

ไอโอดีน (iodine) หรือ สารไอโอดีน ถ้าพูดถึงไอโอดีนหรือสารไอโอดีนก็คงจะนึกถึงความเค็ม หรือเกลือกันใช่ไหมล่ะคะ ไอโอดีนเป็นอีกตัวหนึ่งที่อยู่ในหมู่เกลือแร่หรือแร่ธาตุ บางคนก็อย่าได้คิดว่าแร่ธาตุตัวนี้จะไม่สำคัญนะคะ เพราะถ้าเราขาดมันขึ้นมาล่ะก็…ไม่เป็นผลดีแน่ๆค่ะ เอาล่ะ วันนี้จะมาบอกให้เราเข้าใจเกลือแร่ตัวนี้กันว่ามันคืออะไรและมีความสำคัญอย่างไรค่ะ ไอโอดีนหรือสารไอโอดีน นั้นเป็นธาตุเคมีที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติแต่จะมีปริมาณน้อย เช่นอยู่ในทะเล และแน่นอนว่าเราคงจะไม่มานั่งดื่มน้ำทะเลเพื่อให้ได้สารไอโอดีนกันหรอกจริงไหม มันก็ต้องอยู่ในอาหารทะเลที่เรารับประทานกันทุกวันนี่ล่ะค่ะ ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่าคนที่อยู่แถบภาคเหนือและอีสานจะเป็นโรคคอพอกและเอ๋อ ปัญญาอ่อนกันเป็นส่วนมากเนื่องจากเป็นที่ราบสูงอยู่ห่างไกลจากทะเล จึงไม่มีโอกาสได้รับประทานอาหารทะเลบ่อยๆ ไอโอดีนจะพบมากในสัตว์และพืชในทะเลเนื่องจากมีสารไอโอดีนอยู่สูง ซึ่งสารไอโอดีนนี้เป็นธาตุที่จําเป็นต่อร่างกายถึงแม้ว่าจะต้องการเพียงเล็กน้อยแต่ก็ขาดไม่ได้เช่นกันค่ะ เนื่องจากความสําคัญของไอโอดีนต่อร่างกาย เป็นส่วนประกอบที่จําเป็นในการผลิตฮอร์โมนของต่อมธัยรอยด์ซึ่งต่อมธัยรอยด์นั้นจําเป็นต้องใช้ไอโอดีนเพื่อสร้างฮอร์โมน ชื่อว่า “ธัยรอกซิน” ซึ่งฮอร์โมนนี้จําเป็นสําหรับควบคุมการทําหน้าที่และเสริมสร้างการเจริญเติบโตตามปกติของสมองประสาทและเนื้อเยื่อของร่างกาย

ภาวะขาดไอโอดีน

  1. ภาวะขาดไอโอดีนยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลก ประมาณว่าประชากรกว่าพันล้านคน โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาประสบปัญหานี้ นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะปัญญาอ่อน ในประเทศไทยภาวะขาดไอโอดีนพบในที่ห่างไกลทะเล ในหมู่บ้านยากจนในแถบถิ่นภูเขา บางแห่งเกิดคอพอกจากภาวะขาดไอโอดีนกันเกือบทั้งหมู่บ้าน การแก้ไขปัญหาภาวะขาดไอโอดีนยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจ และสังคม จากการวิเคราะห์ดินที่จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นถิ่นของโรคเมื่อเทียบกับดินที่กรุงเทพ พบว่ามีไอโอดีนน้อยกว่าถึง 7 เท่า
  2. การกำหนดความรุนแรงของภาวะขาดไอโอดีน จะถือว่าขาดเล็กน้อยเมื่อผู้นั้นได้รับไอโอดีนระหว่าง 50-100 ไมโครกรัมต่อวัน สำหรับขาดปานกลางเมื่อผู้นั้นได้รับไอโอดีนระหว่าง 25-50 ไมโครกรัม และจะถือว่าขาดรุนแรงเมื่อได้รับไอโอดีนน้อยกว่า 25 ไมโครกรัมต่อวัน

 

เกี่ยวกับไอโอดีน (iodine) หรือ สารไอโอดีน

  • ไอโอดีน เป็นธาตุเคมีที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติแต่จะมีปริมาณน้อย
  • ไอโอดีน เป็นสารที่พบมากในเนื้อสัตว์และพืชในทะเล เช่น  อาหารทะเล สาหร่ายทะเล นอกจากนี้ยังได้สารไอโอดีนจากเกลือทะเลอีกด้วย
  • ไอโอดีน เป็นส่วนประกอบที่จําเป็นในการผลิตฮอร์โมนของต่อมธัยรอยด์
  • ไอโอดีน ต่อมไทรอยด์นำไอโอดีนเป็นส่วนสำคัญในการสังเคราะห์ฮอร์โมน
  • ไอโอดีน ความต้องการไอโอดีนที่แนะนำต่อวันคือ 150 ไมโครกรัมต่อวันในผู้ใหญ่ และ 200 ไมโครกรัมต่อวัน ในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ และให้นมบุตร
  • ไอโอดีน ในเกลือต้องมีไอโอดีนอย่างน้อย 30 พีพีเอ็ม คือ เกลือหนัก 1 กรัม มีไอโอดีนอยู่ 30 ไมโครกรัมนั่นเอง
  • ไอโอดีน ผลจากการขาดสารไอโอดีน หญิงแท้งง่าย ชายเซ็กส์เสื่อม เด็กพิการแต่กำเนิด ในผู้ใหญ่ คอพอก เอ๋อ ปัญญาอ่อน
  • ไอโอดีน เป็นธาตุที่ระเหยเป็นไอได้ เมื่อไอโอดีน จากทะเลระเหยมาพร้อมกับน้ำเป็นเมฆและฝนตกลงสู่พื้นดิน พื้นดินจะกลับมีไอโอดีนอีกครั้ง
  • ไอโอดีน กระตุ้นให้มีการหลั่งน้ำนมมากขึ้น
  • ไอโอดีน เด็กที่เกิดจากแม่ที่มีปัญหาไทรอยด์มักมีไอคิวต่ำกว่า 85
  • ไอโอดีน แม้ว่าร่างกายต้องการสารไอโอดีนเพียงแค่ 150 ไมโครกรัมเท่านั้น แต่ก็ขาดไม่ได้แม้แต่วันเดียว เพราะร่างกายไม่สามารถสะสมไว้ได้

 

 

ประโยชน์ของไอโอดีน (iodine)

 

ช่วยในการทำงาน และเจริญเติบโตของต่อมไทรอยด์  และเป็นส่วนประกอบของฮอร์โมนไทรอกซิน ผลิตโดยต่อมไทรอยด์ มีหน้าที่ควบคุมอัตราเมแทบอลิซึมของร่างกาย การทำงานของต่อมธัยรอยด์มีผลต่อสภาพจิตใจ สภาพของผม ผิวหนัง เล็บ และ ฟัน ของร่างกาย การเปลี่ยนของแคโรทีนเป็นวิตามินเอ การสังเคราะห์ โปรตีน โดย ไรโบโซม และการดูดซึมน้ำตาลจากลำไส้เล็กทั้งหมดนี้จะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อการผลิตไทรอกซิน เป็นไปตามปกติ การสังเคราะห์โคเลสเตอรอลถูกกระตุ้นโดยระดับของไทรอกซิน

 

ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโต และกระตุ้นอัตราการเผาผลาญ โดยช่วยร่างกายเผาผลาญไขมันที่มาก

 

กระตุ้นให้หัวใจทำงานได้ดีขึ้น

 

ช่วยให้ร่างกายผลิตพลังงานได้ตามปกติ

 

เพิ่มการเคลื่อนย้ายแคลเซียม และฟอสฟอรัสจากกระดูก

 

ช่วยในการขับถ่ายปัสสาวะและควบคุมการกระจายของน้ำตามอวัยวะต่างๆ

 

กระตุ้นให้มีการหลั่งน้ำนมมากขึ้น

 

ควบคุมประสาท ให้มีกำลังคล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง ตลอดถึงการพูด ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับความมีประสิทธิภาพของต่อมไทรอยด์

 

 

ปริมาณของไอโอดีนที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน

หากขาดสารไอโอดีน จะมีภาวะผิดปกติแตกต่างกันไป เช่น ช่วงทารกในครรภ์ถึงแรกเกิดจะทำให้เกิดการแท้งหรือตายก่อนกำหนดได้ง่าย หรือหากไม่ตาย คลอดออกมาทารกก็จะพิการแต่กำเนิด คือ หูหนวก ขาแข็ง กระตุก ตาเหล่ รูปร่างแคระแกร็น และสติปัญญาเสื่อมจนถึงปัญญาอ่อน หรือที่เรียกว่าเป็นเอ๋อ ส่วนวัยเด็กถึงวัยรุ่นร่างกายจะเจริญเติบโตช้า สติปัญญาด้อยลงกว่าคนปกติและมีอาการคอพอก ขณะที่วัยผู้ใหญ่จะมีอาการคอพอก เหนื่อยง่าย ไม่สดชื่น สมรรถนะในการทำงานลดลง ร่างกายและจิตใจเสื่อมถอย หากเป็นเพศชายจะมีอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ สำหรับผู้หญิงประจำเดือนอาจมาไม่ปกติ

ในร่างกายปกติ ระดับของไอโอดีนในเลือดจะมีค่าประมาณ 8-15 ไมโครกรัม/100 มิลลิลิตร และจับกับพลาสม่าโปรตีนอยู่ประมาณ 6-8 ไมโครกรัม/100 มิลลิลิตร ข้อกำหนดสารอาหารควรรับประทานไอโอดีนให้ได้วันละ 150 ไมโครกรัมต่อวัน แต่ถ้ารับประทานเพียงวันละ 50 ไมโครกรัม ก็สามารถที่จะป้องกันโรคคอพอกได้แล้ว

ในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะให้มีเกลือเสริมไอโอดีนจำหน่ายและกระจายทั่วประเทศ โดยที่เกลือต้องมีไอโอดีนอย่างน้อย 30 พีพีเอ็ม ซึ่งหมายถึง เกลือล้านส่วนจะมีไอโอดีนอยู่ 30 ส่วน ถ้าแปรผลในรูปของน้ำหนัก หมายถึงเกลือหนัก 1 กรัม มีไอโอดีนอยู่ 30 ไมโครกรัมนั่นเอง ดังนั้น ถ้าวันหนึ่งเรารับประทานเกลือ(เสริมไอโอดีน)โดยเฉลี่ย 2 กรัมจะได้รับไอโอดีนวันละ 60 ไมโครกรัม ซึ่งพอเพียงที่จะป้องกันการเกิดโรคจากการขาดไอโอดีนหรือโรคคอพอกได้

 

www.flickr.com/photos/nanophoto69/5015992000/