Browse Tag: อนุมูลอิสระ

13 ชนิดของอาหารที่มีวิตามินอีสูง

Source: Flickr (click image for link)

“วิตามินอี (Vitamin E)” เป็นวิตามินชนิดที่ละลายได้ในไขมัน (fat soluble vitamin) มีลักษณะเป็นของเหลวคล้ายน้ำมันที่มีสีเหลืองอ่อนๆ วิตามินอีทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่มีหน้าที่เบื้องต้นเสมือนฟองน้ำที่คอยดูดซับอนุมูลอิสระซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เซลล์หรือเนื้อเยื่อถูกทำลาย ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งนั่นเองค่ะ จะพบว่ามีวิตามินอีอยู่มากในพืชส่วนในสัตว์นั้นจะพบค่อนข้างน้อยมากค่ะ เพราะฉะนั้นการบริโภคผักหรือผลไม้สดจึงช่วยเพิ่มปริมาณวิตามินอีให้กับร่างกายของเรานั่นเอง นอกจากนี้ยังพบว่าน้ำนมของคุณแม่โดยเฉพาะจากคุณแม่หลังคลอด (colostrum) ก็เป็นอีกแหล่งหนึ่งที่ให้วิตามินอีในปริมาณที่สูงมากเช่นกันค่ะ ดังนั้นการขาดวิตามินอีเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากนอกเสียจากในเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนดเนื่องได้วิตามินจากแม่ไม่พอ หรือคนที่มีปัญหาจากโรคของระบบย่อยอาหารที่ผิดปกติจึงทำให้ได้รับวิตามินไม่เพียงพอค่ะ

อาการบ่งบอกเมื่อร่างกายขาดวิตามินอี ดังนี้

  • ถ้าขาดมากจะทำให้เกิดโลหิตจาง
  • มีความผิดปกติของสมอง มือสั้น เดินเซ

และการได้รับวิตะมินอีมากเกินไปอาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ค่ะ

การเสริมและบริโภคอาหารที่อุดมด้วยวิตามินอีจะให้ประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้

  • คอเลสเตอรอลมีความสมดุล
  • ซ่อมแซมผิวที่เสื่อมสภาพ
  • ป้องกันผมร่วง
  • ปรับฮอร์โมนให้มีความสมดุล

กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ผู้ใหญ่ไทยกินวิตะมินอีวันละประมาณ 8-10 มิลลิกรัม และไม่ควรกินเกินวันละ 30 มิลลิกรัม หรือ 1,500 IU

 

13 ชนิดของอาหารที่มีวิตามินอีสูง

Source: Flickr (click image for link)

1.อัลมอลด์

เมล็ดอัลมอลด์เป็นอาหารทานเล่นที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งของวิตามินอีชั้นเยี่ยมเลยก็ว่าได้ค่ะ โดยอัลมอลด์ปริมาณแค่ 1 ออนซ์ แต่มีวิตามินอีอยู่สูงถึง 7.3 มิลลิกรัม เลยล่ะค่ะ

 

2.ผักปวยเล้ง

ในพืชหรือผักใบสีเขียวเข้มมากคุณค่าทางอาหารอย่างผักปวยเล้งก็จัดเป็นแหล่งของวิตามินอีที่ดีอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งผักปวยเล้งปริมาณ 1 ช่อ มิวิตามินอีอยู่มากถึง 6.9 มิลลิกรัม

 

3.มันหวาน

มันหวานเนื้อสีส้มรสชาติหวานมันที่อาจจะเป็นของโปรดของใครหลายคน นอกจากอร่อยแล้วยังให้วิตามินอีสูงอีกด้วย มันหวานปริมาณแค่ 1 ช้อนโต๊ะ กลับมีวิตามินอีอยู่มากถึง 4.2 มิลลิกรัม

 

4.อะโวคาโด

จะนำมาทานเล่นหรือนำมาประกอบอาหารแถมให้ประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างผลอะโวคาโดก็ถือว่าวินวินเลยทีเดียวค่ะ อีกทั้งอะโวคาโดปริมาณ 1 ผล มีวิตามินอีอยู่  2.7 มิลลิกรัม

 

5.จมูกข้าวสาลี

จมูกข้าวสาลีคือเมื่อนำข้าวสาลีมาขัดสี ในส่วนที่เรียกว่าจมูกข้าวนี้จะหลุดออกจากเมล็ดข้าวปนไปกับรำข้าว จมูกข้าวสาลีนับเป็นส่วนที่เล็กที่สุดของเมล็ดข้าวสาลี โดยติดอยู่ตรงหัวของเมล็ดข้าวที่จะงอกเป็นต้นใหม่ต่อไปค่ะ จมูกข้าวสาลีปริมาณ 1 ออนซ์ มีวิตามินอีอยู่ถึง 4.5 มิลลิกรัม

 

6.เมล็ดทานตะวัน

จะเห็นได้ว่าเมล็ดทานตะวันจะให้คุณค่าทางอาหารและประโยชน์มากมายนั้นก็รวมไปถึงวิตามินอีด้วยค่ะ โดยเมล็ดทานตะวันปริมาณแค่เพียง 2 ช้อนโต๊ะ แต่มีวิตามินอีอยู่มากมายถึง 4.2 มิลลิกรัม

 

7.น้ำมันปาล์ม

ในน้ำมันปาล์มมีสารอาหารอย่างวิตามินอีอยู่ก็จริงค่ะ แต่ก็ควรที่จะรับประทานอย่างระมัดระวัง เนื่องจากในน้ำมันปาล์มนั้นมีไขมันอิ่มตัวสูง ถ้ากินมากๆ โอกาสที่คอเลสเตอรอลจะเพิ่มมากขึ้นได้สูงค่ะ อีกทั้งยังไปเพิ่มในส่วนของไขมันแอลดีแอลที่เป็นไขมันชนิดไม่ดีทำให้มีปัญหาหลอดเลือดที่จะไปเลี้ยงหัวใจได้อีกเช่นกันค่ะ โดยน้ำมันปาล์ม 1 ช้อนโต๊ะ มีวิตามินอีอยู่ 2.2 มิลลิกรัม

 

8.ฟักทอง

ส่วนใหญ่คนไทยจะนิยมนำฟักทองมาประกอบทั้งอาหารหวานและอาหารคาว ฟักทองนอกจากจะให้สารเบต้าแคโรทีนที่สูงแล้วยังเป็นแหล่งของวิตามินอีอีกด้วยค่ะ ฟักทองสับ 1 ถ้วย มีวิตามินอีอยู่ 3.2 มิลลิกรัม

 

9.ปลาเทราท์

วิตามินอีที่พบมากในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ก็คงเป็นปลาเทราท์นี่แหละค่ะ โดยปลาเทราท์ ปริมาณ 100 กรัม จะมีวิตามินอีอยู่ 2.8 มิลลิกรัม

 

10.น้ำมันมะกอก

น้ำมันมะกอกมีหลายชนิดเนื่องจากมีคุณสมบัติที่ดีต่อร่างกายทั้งภายในภายนอกค่ะ อีกทั้งยังเป็นแหล่งของวิตามินอีอีกด้วย น้ำมันมะกอกปริมาณ 1 ช้อนโต๊ะ มีวิตามินอีอยู่ 2 มิลลิกรัม

 

11.กีวี่

ผลไม้สีเขียวรสเปรี้ยวอย่างกีวี่ก็จัดเป็นแหล่งของวิตามินอีชั้นเยี่ยมอีกหนึ่งชนิดค่ะ ใครกำลังมองหาผลไม้ทานเล่นสักชนิดก็จัดกีวี่ไปสักลูกสองลูกได้เลยค่ะ กีวี่ปริมาณ 100 กรัม มีวิตามินอีอยู่ 1.5 มิลลิกรัม

 

12.กุ้ง

อีกชนิดของเนื้อสัตว์ที่เป็นแหล่งของวิตามินอีก็คือกุ้งนั่นเองค่ะ โดยกุ้งปริมาณ 100 กรัม มีวิตามินอีอยู่ 2.2 มิลลิกรัม

 

13.บลอคโคลี่

ผักใบเขียวเข้มมากคุณค่าทางโภชนาการอย่างบลอคโคลี่ก็จัดว่าเป็นแหล่งวิตามินอีเช่นกันค่ะ บลอคโคลี่ 100 กรัม มีวิตามินอีอยู่ 1.5 มิลลิกรัม

 

www.flickr.com/photos/stone-soup/4302330208/

www.flickr.com/photos/spilt-milk/3757087582/

อนุมูลอิสระ(free radical) คืออะไร

smoking-1
Source: Flickr (click image for link)

อนุมูลอิสระ คืออะไร?

“อนุมูลอิสระ” นั้นเป็นตัวทำลายภูมิคุ้มกันและเซลล์ต่างๆ ทำให้เกิดการเสื่อมถอยของร่างกาย ซึ่งจะแสดงออกมาในรูปแบบของริ้วรอยที่ทำให้แก่ก่อนวัย รวมถึงโรคความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายของเรา  และที่หนักสุดก็คือ การก่อตัวเป็นเนื้อร้ายหรือเซลล์มะเร็งนั้นเองค่ะ ร่างกายเรามีสารอนุมูลอิสระมาตั้งแต่เกิด แต่ในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น ร่างกายเรายังสามารถกำจัดตัวอนุมูลอิสระได้ดีอยู่ แต่เมื่อเริ่มเข้าวัยทำงานหรือเมื่อเราอายุมากขึ้นหรือร่างกายของเราอ่อนแอ มีความเครียด ภูมิคุ้มกันก็จะไม่สามารถต่อสู้กับอนุมูลอิสระได้ อนุมูลอิสระจะโจมตีเนื้อหุ้มเซลล์ทำให้เซลล์ทำงานผิดปกติ และในช่วงนี้เองที่เราไม่ควรที่จะละเลยและควรใส่ใจในสุขภาพเรามากขึ้น

อนุมูลอิสระหรืออนุมูลเสรี (free radical) หมายถึง อะตอมหรือโมเลกุลที่มีอิเล็กตรอนไม่เป็นคู่ (unpaired electron) อย่างน้อย 1 ตัวโคจรรอบวงนอกสุด อนุมูลอิสระเกิดขึ้นได้เมื่อพันธะระหว่างอะตอมแตกออก ทำให้อนุมูลอิสระไม่เสถียรและไวต่อการเกิดปฏิกิริยาอย่างรวดเร็ว จึงทำปฏิกิริยากับโมเลกุลที่อยู่รอบๆ โดยดึงหรือให้อิเล็กตรอนโมเลกุลข้างเคียงเพื่อให้ตัวมันเสถียร โมเลกุลข้างเคียงที่สูญเสียหรือรับอิเล็กตรอนจะกลายเป็นอนุมูลอิสระตัวใหม่ที่ไม่เสถียรและเข้าทำปฏิกิริยากับโมเลกุลอื่นต่อไปเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ (chain reaction)

 

สาเหตุที่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้น

ในกระบวนการเผาผลาญสารอาหาร ร่างกายของเราจำเป็นต้องอาศัยออกซิเจนช่วยในกระบวนการนี้ทำให้ได้ออกซิเจนที่มีประจุลบ ซึ่งก็คือ อนุมูลอิสระ สารตัวนี้นอกจากจะรวมตัวกับไขมันไม่ดีแล้ว ยังสามารถรวมตัวกับสารบางชนิดในร่างกายเราแล้วก่อให้เกิดเป็นสารพิษที่ทำลายเนื้อเยื่อ หรืออาจไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลทางพันธุกรรมภายในเซลล์ ทำให้เซลล์ปกติแปรสภาพเป็นเซลล์มะเร็งได้ในที่สุด การปรับตัวในการใช้ชีวิตตามยุคให้เข้ากับสมัยใหม่ วิถีชีวิตที่เร่งรีบจึงได้มีสิ่งที่อำนวยความสะดวกต่างๆ มาให้เรามากมาย ไหงสุขภาพของเราถึงกลับมีปัญหามากขึ้น ด้วยการที่ต้องใช้ชีวิตแข่งกับเวลา อยู่ท่ามกลางสังคมที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบและมลภาวะที่เป็นพิษรอบตัวมากมาย อาหารสำเร็จรูปที่ผ่านการใช้สารเคมีหาซื้อรับประทานได้ง่ายตามท้องตลาดจึงกลายเป็นตัวเลือกของคนส่วนใหญ่ในยุคสมัยนี้ การเกิดอนุมูลอิสระในอาหารและสิ่งมีชีวิต เกิดขึ้นจากการกระตุ้นโมเลกุลของสารด้วยปฏิกิริยาเคมี เช่น

  • ปฏิกิริยาการเกิดลิพิดออกซิเดชัน lipid oxidation
  • เกิดจากพลังงาน เช่น การฉายรังสีอาหาร (food irradiation) แสงอัลตราไวโอเลต ultraviolet
  • มลพิษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางอากาศ  ควันรถ ควันบุหรี่ สารเคมีปนเปื้อน ยาฆ่าแมลง ควันไฟ
  • ร่างกายขาดวิตามินและเกลือแร่บางชนิด
  • รังสียูวี จะเป็นตัวทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระ ทำให้เกิดริ้วรอยก่อนวัยอันควร
  • การรับประทานอาหารที่ผ่านการทอดด้วยอุณหภูมิสูง อาหารปิ้ง ย่าง และสารปรุ่งแต่งอาหาร
  • การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารเคมีต่างๆ
  • ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่ออกกำลังกาย

 

สารต้านอนุมูลอิสระ

antioxidant-fruits-1
Source: Flickr (click image for link)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ปกติแล้วร่างกายของเราจะมีกลไกการกำจัดตัวอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นในร่างกาย เราเรียกสารตัวนั้นว่า สารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งร่างกายเราสามารถสร้างขึ้นเองได้ แต่ด้วยอายุที่มากขึ้น ความเครียด และวิถีการใช้ชีวิตในปัจจุบันทำให้สารต้านอนุมูลอิสระลดน้อยลง ทำให้ไม่เพียงพอต่อการต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นในแต่ละวันนั่นเองค่ะ แต่ถ้าร่างกายได้รับสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณที่มากพอ จากอาหารและน้ำดื่มมาช่วยเสริมการทำงาน ร่างกายของเราก็จะอยู่ในสภาพปกติไม่เสื่อมเร็วก่อนเวลาอันควร จำเป็นต้องพึ่งพาจำพวกกลุ่มของสารต้านอนุมูลอิสระที่ได้มาจากอาหาร เช่น วิตามินเอ (vitamin A) วิตามินซี (vitamin C) วิตามินอี (vitamin E) บีตา-แคโรทีน ที่มีในอาหาร รวมทั้งกลุ่มพอลิฟีนอล (polyphenols) ฟลาโวนอยด์ (flavonoids) ที่พบมากอยู่ในพืช ผักและผลไม้ เพื่อเข้าไปช่วยเสริมสร้างระบบต้านออกซิเดชัน (antioxidant) ในร่างกายให้มีประสิทธิภาพในการทำลายอนุมูลอิสระได้ดียิ่งขึ้น

 

 

www.flickr.com/photos/jurek_durczak/16945606802/

www.flickr.com/photos/jocelyndurston/49098318/

Vitamin E คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร

vitamin-1
Source: Flickr (click image for link)

วิตามินอี (Vitamin E) เป็นอีกวิตามินหนึ่งที่สาวๆคนไหนก็ต้องรู้จักกันทั้งนั้นและส่วนมากที่เรารู้ๆกันจะเป็นเรื่องในการช่วยลบเลือนรอยแผลเป็นที่เกิดจากสิว ที่เราจะเห็นได้ทั่วไปนั้นตามผลิตภัณฑ์ดูแลผิวในร้านขายยาหรือร้านขายครีมต่างๆ แต่รู้กันไหมล่ะคะว่าวิตามินอีไม่ได้มีประโยชน์แค่นั้นยังมีอีกหลายอย่างที่เราคงยังไม่ทราบกัน เพราะฉะนั้นวันนี้ HealthGossip จะมาขอนำเสนอข้อมูลนี้ให้ทราบโดยทั่วกันค่ะ ในเมื่อวิตามินที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นพระเอกที่ช่วยปกป้องร่างกายก็คงจะหนีไม่พ้น “วิตามินอี” ซึ่งจากความน่าสนใจในประโยชน์ต่างๆ ดึงดูดให้ผู้บริโภคหลายๆ คนใช้วิตามินอี โดยลืมคำนึงถึงความจำเป็นที่ควรจะได้รับหรือโทษที่อาจเกิดขึ้นเมื่อได้รับมากจนเกินความต้องการของร่างกาย ดังนั้นเราจึงไม่รอช้าที่จะนำข้อมูลทั้งดีและโทษมาบอกให้เข้าใจกันมากขึ้นค่ะ 

 

เกี่ยวกับ วิตามินอี หรือ Tocopherol

  • วิตามินอีเป็นวิตามินชนิดละลายในไขมัน (fat soluble vitamin)
  • มีลักษณะเป็นของเหลวคล้ายน้ำมัน สีเหลืองอ่อน ไม่ละลายในน้ำ ละลายได้ในสารละลายไขมัน เช่น แอลกอฮอล์ อีเทอร์
  • วิตามินอีมีความสำคัญต่อการทำงานของระบบสืบพันธุ์ จึงเรียกชื่อตามความหมาย คือ Tocopherol  มาจากภาษากรีก Tokos แปลว่า เด็ก (Children) และ Pheno แปลว่า ทำให้เกิด (to bear)
  • วิตามินอีมีมากในพืชส่วนในสัตว์นั้นพบน้อยมาก การบริโภคผักหรือผลไม้สดจะช่วยเพิ่มปริมาณวิตามินอีที่ร่างกายได้รับได้ นอกจากนี้ยังพบว่าน้ำนมมารดา โดยเฉพาะน้ำนมมารดาหลังคลอด (colostrum) ก็เป็นอีกแหล่งหนึ่งที่ให้วิตามินอีในปริมาณที่สูงมากเช่นกัน
  • อาหารที่ให้วิตามินอี ได้แก่ อาหารจำพวก ผัก น้ำมัน ไข่ เนย ข้าวบาเลย์ ข้าว ข้าวโอ๊ต
  • วิตามินอีป้องกันการเกิดออกซิเดชัน (antioxdation) ของกรดไขมันไม่อิ่มตัว วิตามินเอ แคโรทีน และวิตามินซี
  • วิตามินอีจะช่วยป้องกันการแตกของเม็ดเลือดแดง ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดและการอุดตันของเส้นเลือด ลดการเกิดกระบวนการอักเสบในร่างกายที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคต่างๆ
  • วิตามินอี ยังมีฤทธิ์อื่นๆ อีกมากมาย มีหน้าที่เบื้องต้นเสมือนฟองน้ำที่คอยดูดซับอนุมูลอิสระซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เซลล์หรือเนื้อเยื่อถูกทำลาย หรือที่รู้จักกันในชื่อของ “สารต้านอนุมูลอิสระ”
  • วิตามินอี มักจะไปควบคู่กับวิตามินบีเสมอ ทางการแพทย์จึงเรียกว่า วิตามินพี่น้อง
  • ออกซิเจนและความร้อนสามารถทำลายวิตามินอีได้ รวมไปถึงการแช่แข็งเป็นเวลานาน ก็ทำให้เกิดการสูญเสียวิตามินอีได้เช่นกัน

 

ประโยชน์ของวิตามินอีต่อร่างกาย

เนื่องจากผนังของเซลล์ต่างๆ ในร่างกายมีไขมันที่ไม่อิ่มตัวเป็นโครงสร้างหลัก โครงสร้างที่ว่านี้จะถูก ทำลายได้ง่ายด้วยกระบวนการออกซิเดชัน (oxidation) และส่งผลให้เกิดสารอนุมูลอิสระ (free radicals) ชนิดต่างๆ ตามมา ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างภายในเซลล์ที่สัมผัสกับสารอนุมูลอิสระ วิตามินอี เป็นสารต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันและอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพ (potent antioxidant) ซึ่งมีผลในการป้องกันการทำลายเซลล์ หรือลดความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ที่มีสาเหตุมาจากอนุมูลอิสระได้ นอกจากนี้ยังมีผลช่วยปกป้องการเสื่อมสลายของเยื่อหุ้มเซลล์ (stabilize) ที่บุอยู่ตามอวัยวะต่างๆ เช่น ผิวหนัง ตา ตับ เต้านม หลอดเลือด และเม็ดเลือดแดง ทำให้อวัยวะดังกล่าวทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีความคงทนมากขึ้นด้วย

 

วิตามินอีกับโรคมะเร็ง  คุณสมบัติที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระของวิตามินอี นอกจากจะช่วยป้องกันเซลล์จากการทำลายของปฏิกิริยาออกซิเดชันและการเกิดอนุมูลอิสระแล้ว วิตามินอียังช่วยป้องกันการเกิดสารไนโตรซามีน (nitrosamines) ตัวการหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง โดยเกิดจากการทำปฏิกิริยาของสารจำพวกไนไตรท์ที่มีในอาหารที่รับประทานเข้าไปภายในกระเพาะอาหาร และยังช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายอีกด้วย นอกจากนี้การศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่าวิตามินอียังมีผลช่วยยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งได้

 

วิตามินอีกับการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง กระบวนการออกซิเดชันของไขมันชนิด LDL (low density lipoprotein) ซึ่งเป็นไขมันชนิดเลวในเลือดจะ มีผลทำให้เส้นเลือดเกิดความเสียหายอย่างมาก มีหลักฐานที่แสดงว่าวิตามินอี มีคุณสมบัติช่วยลดการเกิดกระบวนการที่ว่านี้ และช่วยลดการเกาะตัวกันของเกล็ดเลือด (platelet aggregation) ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจดีขึ้น และยังช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคระบบหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงหลอดเลือดสมองด้วย โดยได้มีการศึกษาในประเทศอังกฤษพบว่าคนที่ได้รับวิตามินอีอย่างน้อยวันละ 100 IU หลังการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจจะช่วยป้องกันการสะสมของไขมันที่ผนังเลือดได้ และคนที่ได้รับวิตามินอีประมาณวันละ 400-800 IU อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อยปีครึ่งจะช่วยป้องกันอัตราการเกิดโรคหัวใจวายได้ถึง 77%

 

วิตามินอีกับโรคเบาหวาน เชื่อกันว่าสาเหตุที่คนเป็นโรคเบาหวานจะมีการสะสมของสารอนุมูลอิสระเนื่องจากกระบวนการเผาผลาญสารอาหารในร่างกายผิดปกติ นอกจากนี้แล้วยังมีอัตราการตายจากการเกิดโรคแทรกซ้อนจากโรคหลอดเลือดหัวใจได้สูง มีงานวิจัยที่แสดงว่าคนเป็นโรคเบาหวานที่รับประทานวิตามินอีเพียงวันละ 100 IU จะช่วยทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ได้ดี และยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงของหลอดเลือดอีกด้วย

 

วิตามินอีกับโรคต้อกระจก โรคต้อกระจก (cataracts) เป็นความผิดปกติของเลนส์ตาทำให้มองภาพไม่ชัดเจน และอาจตาบอดได้ โดยเชื่อว่าเกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันที่ผิดปกติของโปรตีนในเลนส์ตา มีการศึกษาพบว่าสารที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระจำพวกวิตามินอีสามารถช่วยป้องกัน และชะลอการเกิดของโรคต้อกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่พบว่าสารในกลุ่มนี้ไม่ช่วยให้เกิดผลดีได้ในคนที่สูบบุหรี่ โดยพบว่าการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเกิดโรคต้อกระจก อย่างไรก็ดีจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลไกของสารต้านอนุมูลอิสระและวิตามินอีเกี่ยวกับโรคต้อกระจก

 

วิตามินอี สารอาหารที่ช่วยชะลอความแก่ สารอนุมูลอิสระจะมีผลทำให้เซลล์เกิดความเสียหายและตายได้ในที่สุด ซึ่งนอกจากจะเป็นสาเหตุทำให้ ร่างกายอ่อนแอและแก่เร็วกว่าปกติแล้ว หากเกิดที่สมองก็จะทำให้มีโอกาสเป็นโรคเรื้อรังทางสมองต่างๆ เช่น โรคสมองเสื่อม (Alzheimer’s disease) โรคพาร์คินสัน (Parkinson’s disease) เป็นต้น จากการศึกษาทางคลินิกพบว่าผู้ที่รับประทานวิตามินอี 1,300 IU ต่อวันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปีจะช่วยชะลอการเกิดโรคสมองเสื่อมจากการอุดตันของเส้นเลือดในสมองได้

 

วิตามินอีช่วยแก้ไขข้อบกพร่องของระบบสืบพันธุ์ มีการศึกษาพบว่าผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ได้รับวิตามินอีวันละ 800 IU อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 1 เดือน สามารถช่วยลดอาการต่างๆ เช่น อาการร้อนวูบวาบ นอนไม่หลับ เหนื่อยล้า ซึมเศร้า และเจ็บหน้าอกได้ นอกจากนี้ในผู้ชายที่มีระบบสืบพันธุ์ไม่สมบูรณ์ พบว่าเมื่อได้รับวิตามินอี วันละ 200 IU อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือน จะมีโอกาสมีบุตรสูงขึ้น เนื่องจากวิตามินอีช่วยลดระดับของอนุมูลอิสระในน้ำอสุจิ จึงทำให้ผนังเซลล์อสุจิแข็งแรงขึ้น และส่งผลให้มีอัตราการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นถึง 30% แต่ก็อาจไม่ปรากฏผลหากคนนั้นเป็นคนสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งจะทำลายความแข็งแรงของอสุจิ และอาจทำให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายเสื่อมโทรมลง

 

วิตามินอีกับผิวพรรณ สถาบันโรคผิวหนังหลายแห่งมีการวิจัยพบว่าวิตามินอีช่วยป้องกันผิวจากการไหม้เกรียม ริ้วรอยเหี่ยวย่นและรอยแผลได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานหรือการทาที่ผิวหนังโดยตรง เนื่องจากการเกิดแผลหรือการอักเสบบนผิวหนัง หรือการถูกแสงแดดเผาไหม้จะทำให้เกิดการสะสมของอนุมูลอิสระขึ้น วิตามินอีจะทำหน้าที่เหมือนฟองน้ำที่ดูดซับสารอนุมูลอิสระก่อนที่จะทำให้เนื้อเยื่อต่างๆ เสียหาย จึงช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของผนังเซลล์ทำให้เซลล์ผิวแข็งแรงขึ้น และช่วยให้ทนต่อรังสี UV ในแสงแดดได้ดีขึ้น ดังนั้นผู้ผลิตเครื่องสำอางจึงนิยมนำวิตามินอีมาใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์

 

ถ้าร่างกายขาดวิตามินอี

วิตามินอีสามารถสะสมได้ในเนื้อเยื่อไขมัน ในคนทั่วไปจึงไม่ค่อยพบอาการขาดวิตามินชนิดนี้ แต่มักพบจากความผิดปกติในการดูดซึมไขมัน เช่น การทำงานของตับ ตับอ่อน และลำไส้ผิดปกติ หรือมีโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคที่มีอาการผิดปกติของระบบประสาท (เดินเซ) ร่วมกับการขาดวิตามินอี (ataxia with vitamin E deficiency) นอกจากนี้ยังพบการขาดวิตามินอีได้ในทารกคลอดก่อนกำหนดหรือน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ผู้ที่มีพังผืดจับในถุงน้ำดี (cystic fibrosis) รวมทั้งในผู้ที่ขาดเอนไซม์ กลูโคส-6-ฟอสเฟต ดีไฮโดรจีเนส (G-6-PD) ทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกได้ ซึ่งการขาดวิตามินอี ต้องใช้ระยะเวลานานจึงจะเริ่มมีสัญญาณการเกิดความเสียหายของระบบประสาทปรากฏขึ้น เช่น สูญเสียการรับสัมผัสและการตอบสนองต่อสิ่งเร้า สูญเสียความรู้สึกทางกาย กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีปัญหาเรื่องการกลอกตาและทรงตัวได้ยาก เป็นต้น สำหรับผู้ที่ต้องการวิตามินอีเพิ่มขึ้นเพื่อการป้องกันและรักษาโรคต่างๆ ดังที่กล่าวแล้ว หรือผู้ที่มีปัญหาในการดูดซึมสารอาหาร ก็อาจเลือกรับประทานวิตามินเสริมที่มีขายอยู่ทั่วไป แต่ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณที่เหมาะสมก่อน

ถ้าร่างกายได้รับวิตามินอีมากเกินไป

เนื่องจากวิตามินอีไม่สามารถละลายในน้ำได้ ร่างกายจึงไม่สามารถขับวิตามินอีออกจากร่างกายได้ทางปัสสาวะดังเช่นวิตามินซี หรือวิตามินบี โดยร่างกายจะขับวิตามินอีส่วนเกินบางส่วนออกมาทางอุจจาระ ดังนั้นหากรับประทานวิตามินอีมากเกินไปจะสะสมในร่างกาย นำผลเสียคือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ไปจนถึงกล้ามเนื้ออ่อนแรง จึงแนะนำว่าไม่ควรรับประทานอาหารเสริมประเภทวิตามินอีมากเกินกว่า 1,500 IU ต่อวัน

 

 

www.flickr.com/photos/8047705@N02/5481406508/