Browse Tag: กะปิ

12 ชนิดของอาหารโซเดียมสูงที่ควรหลีกเลี่ยง

Source: Flickr (click image for link)

ถ้าพูดถึงรสชาติของอาหารที่ขึ้นชื่อว่าคนไทยนิยมชมชอบที่จะรับประทานเป็นประจำ นั่นก็คงไม่พ้นอาหารรสจัด หลักๆจะเป็นอาหารที่เป็นรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด และอีกชนิดที่ดันบังเอิญเป็นส่วนประกอบหลักของอาหารไทยนั่นก็คือรสชาติเค็ม ซึ่งปกติแล้วในอาหารอย่างเดียวก็มีโซเดียมอยู่แล้ว และเมื่อเรานำมาปรุงเป็นอาหารยิ่งจะเพิ่มโซเดียมเข้าไปอีก อีกทั้งคนไทยก็รับประทานรสชาติแบบนี้จนเคยชินคิดว่านั่นคือรสชาติปกติ แถมยังบอกว่ากลมกล่อมซะอีกถ้าไม่ได้ปรุงนี่สิรสชาติยิ่งจะจืดชืดไม่อร่อยไปซะอย่างนั้น กลับกลายเป็นว่าเราได้ชินและคุ้นเคยกับรสชาตินั้นไปซะแล้ว พอได้ลดปริมาณการปรุงรสลงก็จะกลายเป็นว่าไม่อร่อยและจืดชืด แต่ก็ไม่ใช่ว่าอาหารที่มีรสเค็มจะต้องมีโซเดียมสูงซะอย่างเดียมอาหารบางอย่างที่รสชาติไม่เค็มกลับให้โซเดียวสูงก็มีนะจ๊ะแบบนั้นเขาเรียกกันว่าโซเดียมแฝงนั่นเอง ทำให้เราได้รับโซเดียมมาเต็มๆแบบไม่รู้ตัว โซเดียมที่เราบริโภคกันเป็นประจำก็คือโซเดียมที่อยู่ในรูปของ”เกลือแกง” (เกลือมีส่วนประกอบอยู่ 2 อย่างคือโซเดียมและคลอไรด์) และก็ได้พบว่าคนไทยกินเกลือที่มีอยู่ในอาหารและเครื่องปรุงรสโดยเฉลี่ยวันละประมาณ 7 กรัม ซึ่งนั่นจึงเป็นสาเหตุที่ได้นำพาโรคต่างๆ มาสู่คนไทยโดยไม่รู้ตัว โดยส่งผลเสียต่ออวัยวะภายในร่างกาย เช่น หัวใจหรือไต ถึงแม้ว่าโซเดียม (Sodium) จะเป็นเกลือแร่หรือแร่ธาตุที่ได้จัดว่าเป็นสารอาหารที่ร่างกายจำเป็นที่จะต้องนำไปใช้งาน โดยการทำหน้าที่ควบคุมความสมดุลของเหลวในร่างกาย รักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติหรือช่วยในการทำงานของประสาทและกล้ามเนื้อรวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจ ตลอดจนการดูดซึมสารอาหารบางอย่างในไตและลำไส้เล็ก อีกทั้งยังใช้รักษาสภาพความเป็นกรดด่างของร่างกายอีกด้วย

 

12 ชนิดของอาหารโซเดียมสูงที่ควรหลีกเลี่ยง

โดยปริมาณที่ร่างกายควรได้รับโซเดียมต่อวันคือ ไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน  (เทียบเท่าเกลือ 1 ช้อนชา หรือน้ำปลา 4-5 ช้อนชา) 

 

1.เครื่องปรุงรสที่ให้รสเค็ม

สิ่งที่ทำให้นึกถึงเป็นอันดับแรกถ้าพูดถึงโซเดียม ก็เป็นเครื่องปรุงรสต่างๆ ที่ทำให้เกิดรสเค็มอย่างเช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ้วขาว ซีอิ้วดำ ซอสหอยนางรม เป็นแน่แท้ จะสังเกตุได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภท ผัด แกง ทอด เผา ยำ ต้ม ตุ๋น ล้วนแต่ปรุงรสด้วยน้ำปลาโรยด้วยเกลือกันทั้งนั้น ซึ่งในคนที่จำกัดปริมาณโซเดียมนั้นต้องระวังและเบามือในการปรุงด้วยนะคะ

 

2.ซอสปรุงรสที่ให้รสชาติเปรี้ยว หวาน

รู้หรือเปล่าล่ะว่าบางที่ซอสที่ไม่จำเป็นต้องมีรสเค็มเท่านั้นที่จะให้โซเดียมสูง แต่ซอสจำพวก ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ เต้าเจี้ยว น้ำจิ้มสุกี้ พวกนี้ก็มีโซเดียมอยู่ไม่น้อย ใครที่เวลารับประทานอาหารและขาดไม่ได้โดยชอบที่จะต้องปรุงรสด้วยซอสจำพวกนี้ก็ให้รู้ไว้สักนิดว่านั่นก็มีโซเดียมนะ

 

3.น้ำผลไม้สำเร็จรูป

ส่วนน้ำผลไม้ไม่ว่าจะเป็นแบบบรรจุกล่อง ขวด หรือกระป๋อง ส่วนใหญ่ล้วนแต่มีการเติมสารกันบูด (โซเดียมเบนโซเอต) ลงไปด้วย และนั่นจึงเป็นเหตุทำให้น้ำผลไม้เหล่านี้มีโซเดียมสูง ถ้าหากต้องการดื่มน้ำผลไม้เป็นไปได้ก็ควรดื่มน้ำผลไม้สดจะดีกว่าเนอะ ได้ทั้งกากใยและวิตามิน

 

4.อาหารกึ่งสำเร็จรูป

อาหารกึ่งสำเร็จรูปถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่คนไทยนิยมรับประทานกันบ่อย ด้วยความที่สะดวกและรสชาติอร่อย ไม่ว่าจะเป็น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต่างๆ หรือคัพโจ้กทุกแบบทุกชนิดล้วนแต่เป็นอาหารที่มีโซเดียมสูงทั้งสิ้น

 

5.ขนมเบเกอรี่

ขนมเบเกอรี่ที่ว่านี้ไม่ว่าจะเป็น เค้ก คุกกี้ ขนมปัง แพนเค้ก แปลกใจล่ะสิ่ กินอยู่ทุกวันทุกวี่ซะด้วย ซึ่งขนมของหวานทั้งหลายเหล่านี้ได้มีการเติม Baking Powder หรือ Baking Soda เข้าไป ที่เราเรียกกันว่า ผงฟู และผงฟูนั้นมีส่วนผสมของโซเดียมไบคาร์บอเนตเป็นส่วนประกอบนั่นเองค่ะ

 

6.เนื้อแดง

ปกติแล้วโซเดียมจะแทรกและแซมอยู่ในเนื้อสัตว์อยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และจะมีมากในเนื้อแดงจำพวกเนื้อวัว เนื้อหมู ดังนั้นการเลือกรับประทานเนื้อสัตว์ก็เป็นสิ่งสำคัญของคนที่จำกัดปริมาณการทานโซเดียม

 

7.อาหารกระป๋อง

อาหารที่แปรรูปอย่างอาหารกระป๋องจำพวก ปลากระป๋อง หมูกระป๋อง หรือแม้แต่ผลไม้กระป๋อง ซึ่งอาหารเหล่าได้นี้มีการเติมเกลือหรือสารกันบูดเข้าไป และนั่นจึงทำให้มีโซเดียมในปริมาณที่สูงและควรระมัดระวังในการเลือกประทานค่ะ

 

8.อาหารหมักดอง

ถือเป็นของโปรดใครหลายคนไม่ว่าจะเป็น ผักดอง ผลไม้ดอง ปลาร้า กะปิ ปลาส้ม แหนม แฮม หรือใส้กรอก ล้วนแต่เป็นการถนอมอาหารแปรรูปแบบดองเค็มทั้งนั้น รสชาติอาจจะแซ่บนัวแต่ถ้าเผลอทานแบบไม่กลัวก็อาจจะเจ็บไตเอาได้นะคะ

 

9.ผงปรุงรส

ผงปรุงรสชาติที่เราทราบกันดีในชื่อที่เราเรียกกันว่าผงนัว รสอร่อยแบบนัวๆ อย่างผงชูรส ซุปก้อน ผงปรุงรสแบบสำเร็จรูปชนิดต่างๆ ถึงแม้ว่าผงชูรสเป็นสารปรุงรสที่ไม่มีรสเค็ม แต่ก็มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบอยู่ประมาณร้อยละ 15 ของส่วนประกอบ

 

10.อาหารตากแห้ง

การถนอมอาหารชนิดตากแห้งก็ถือว่าเป็นอาหารที่มีโซเดียมสูงอย่างหนึ่งและควรที่จะหลีกเลี่ยงไม่แพ้กับชนิดอื่นๆ เลยอย่างเช่น ปลาแห้ง เนื้อตากแห้งต่างๆ เนื้อเค็ม กุ้งแห้ง ปลาเค็ม เป็นต้น

 

11.เครื่องดื่มเกลือแร่

เครื่องดื่มหรือน้ำดื่มที่เรียกว่า น้ำดื่มเกลือแร่ต่างๆ ที่เราเห็นตามร้านค้านั้นทราบหรือไม่ว่าได้มีการเติมสารประกอบของโซเดียมลงไปด้วยนั่นเองค่ะ รวมถึงเครื่องดื่มเกลือแร่แบบสปร์ตดริ้งค์ด้วยที่ต้องเติมโซเดียมเข้าไป ก็เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มสำหรับนักกีฬาหรือทดแทนเกลือแร่สำหรับผู้ที่สูญเสียเหงื่อมากนั่นเอง

 

12.ขนมกรุบกรอบ

ขนมที่เป็นอาหารว่างทานเล่นเพลิดเพลินอุราจำพวก มันฝรั่งทอดกรอบ ขนมกรุบกรอบที่บรรจุแบบถุง ซอง ที่หลายคนเสพติดเป็นต้องซื้อมาติดห้องไว้ตลอดๆ ขนมจำพวกนี้อาจจะอร่อยแต่ก็มีโซเดียมอยู่ไม่น้อยเลย

 

 

www.flickr.com/photos/jolives/3017953556

15 ชนิดของอาหารที่มีแคลเซียมสูง

Source: Flickr (click image for link)

แคลเซียม เป็นสารอาหารจำพวกแร่ธาตุหรือเกลือแร่ที่เราอาจจะคิดว่าไม่ค่อยสำคัญเท่าไหร่ แต่ทราบหรือไม่คะว่าแคลเซียมเป็นสารอาหารหลักที่สำคัญและร่างกายไม่ควรที่จะขาดหรือมีน้อยเกินไป เนื่องจากถ้าเมื่อเราขาดหรือมีไม่เพียงพอแล้วจะส่งผลที่ไม่ดีต่อร่างกายในหลายๆ ด้าน ถึงแม้ว่าจะพบแร่ธาตุตัวนี้เป็นส่วนประกอบของร่างกายอยู่จำนวนมาก ก็เพราะว่าแคลเซียมนั้นทำหน้าที่สำคัญคือการสร้างกระดูกและฟัน ซึ่งกระดูกทำหน้าที่เป็นโครงสร้างของร่างกาย รักษารูปร่างและลักษณะของร่างกายให้สวยงาม และยังเป็นที่ยึดเกาะของกล้ามเนื้อเป็นเกราะป้องกันอวัยวะภายในต่างๆ ของร่างกายไม่ให้ได้รับความกระทบกระเทือนนั่นเองค่ะ ความสำคัญและภาระอันยิ่งใหญ่ของแคลเซียมจึงเป็นสิ่งที่คอยเตือนคนรุ่นหลังๆ อยู่เสมอว่าไม่ควรที่จะขาดแคลเซียมเด็ดขาด โดยปกติแล้วร่างกายคนเราต้องการแคลเซียมประมาณวันละ 800 – 1,200 มิลลิกรัม เพราะอย่างนี้เราจึงนำเนื้อหาและความสำคัญมาบอกเพื่อนๆ กัน ว่ามีอาหารอะไรบ้างที่มีสารอาหารที่เรียกว่า แคลเซียม อยู่ เพื่อนๆ ก็คงจะทราบอยู่บ้างถ้าพูดถึงสารอาหารตัวนี้ก็คงจะนึกภาพถึงนมเป็นแน่แท้ แล้วอาหารอย่างอื่นล่ะ? หลายคนก็อาจจะยังไม่ทราบกันเท่าไหร่นัก ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ไปจนถึงผู้สูงอายุซึ่งไม่มีช่วงอายุไหนเลยที่ควรจะละเลยสารอาหารตัวนี้ ก่อนที่จะไปหาแคลเซียมแบบอาหารเสริมมาทานเราลองมาดูแคลเซียมทึ่มีอยู่ในอาหารกันก่อนดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง

 

15 ชนิดของอาหารที่มีแคลเซียมสูง

 

1.นม

แน่นอนว่าถ้าต้องการหาอาหารที่เป็นแหล่งของสารอาหารที่เรียกว่า แคลเซียม มารับประทาน หลายๆ คนก็คงจะนึกถึงนมเป็นอันดับต้นๆ ทั้งนี้ยังรวมถึงผลิตภัณฑ์นมทุกชนิดอีกด้วยนะคนมและผลิตภัณฑ์นมทุกชนิดมีส่วนประกอบของโปรตีนสูงและมีสารอาหารแร่ธาตุเกลือแร่อยู่ด้วย ดังนั้นนมยังไงก็เป็นเครื่องดื่มที่มีแคลเซียมและเป็นประเภทของอาหารที่ควรเลือกรับประทานเพื่อเสริมแคลเซียมค่ะ โดยนมเป็นแหล่งของแคลเซียมที่มากถึง 300 มิลลิกรัม ต่อนม 1 กล่องปริมาณ 250 มิลลิลิตร

 

2.ปลาเล็กปลาน้อย

ปลาเล็กปลาน้อยที่กินและกลืนไปทั้งตัว เคี้ยวกรุบๆกรอบๆทั้งเนื้อทั้งก้างนี้แหละแหล่งของแคลเซียมชั้นดีเลยค่ะ ปลาเล็กปลาน้อยที่ 2 ช้อนโต๊ะนั้นมีปริมาณแคลเซียมถึง 226 มิลลิกรัม

 

3.กุ้งแห้ง

กุ้งแห้งสีส้มๆแดงๆ ที่เราพบเห็นในอาหารไทยที่เรานิยมใส่ในส้มตำไทย หรือจะเป็นผัดไทนี้ก็ถือว่าเป็นแหล่งของแหล่งของแคลเซียมตัวยง ใครที่ไม่ชอบรับประทานหรือเขี่ยออกนี่คิดใหม่เลยนะคะไม่อยากให้พลาดของดีกันจ้า ซึ่งในกุ้งแห้งตัวจิ้ดตัวจ้อยปริมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ให้แคลเซียมถึง 140 มิลลิกรัมเลยที่เดียวค่ะ

 

4.เต้าหู้อ่อน

เต้าหู้เรียกได้ว่าเป็นสุดยอดอาหารที่ขึ้นชื่อในเรื่องของอาหารเพื่อสุขภาพ เคล็ดลับในเรื่องของความสวยความงามของสาวน้อยสาวใหญ่นี่ถือเป็นเรื่องที่รู้จักกันดี จะต้องมีเต้าหู้อยู่ในลิสเป็นแน่แท้ นอกจากคุณค่าสารอาหารมากมายของเต้าหู้แล้วยังถือว่าเป็นแหล่งของแคลเซียมสูงไม่แพ้อาหารอื่นๆ เลยทีเดียวค่ะ โดยเต้าหู้อ่อน 5 ช้อนโต๊ะ มีแคลเซียม 150 มิลลิกรัม

 

5.นมถั่วเหลือง

ใครที่มีอาการแพ้นมวัวหรือไม่ชอบดื่มนมวัวแล้วกลัวจะขาดแคลเซียม งั้นลองมาดื่มนมถั่วเหลืองกันไหมคะ หรือถ้าใครที่ชอบดื่มนมถั่วเหลืองเป็นชีวิตจิตใจอยู่แล้วก็ดีค่ะ นอกจากประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการเต็มล้นแล้ว นมถั่วเหลืองก็มีการเติมแคลเซียมเข้าไปโดยคุณสมบัติโดยรวมแล้วไม่ได้ด้อยไปกว่านมวัวเลยล่ะค่ะ โดยที่นมถั่วเหลืองแบบเสริมแคลเซียมต่อ 1 กล่อง จะมีปริมาณแคลเซียมอยู่ 250-300 มิลลิกรัม

 

6.งาดำ

เมล็ดงาดำ จัดเป็นอาหารที่พบว่ามีแคลเซียมเช่นกันค่ะ ใครที่ชอบธัญพืชอย่างเมล็ดงาดำก็ไม่ควรที่จะพลาดนะคะ ซึ่งงาดำ 1 ช้อนโต๊ะ จะมีแคลเซียมอยู่ 132 มิลลิกรัม

 

7.ผักคะน้า

ใครจะคิดว่าในพืชผักจะสามารถเป็นแหล่งอาหารของแคลเซียมได้ ใครที่กำลังมองหาผักที่นอกจากจะให้วิตามินแล้วยังตามมาด้วยแร่ธาตุหลักอย่างแคลเซียมแล้วล่ะก็ มองมาที่ผักคะน้าได้เลยค่ะ โดยผัดผักคะน้า 1 ทัพพี ให้แคลเซียมสูงถึง 71 มิลลิกรัม

 

8.หอยนางรม

คอซีฟู้ดส์ไม่ควรพลาดหอยนางรมสดๆ ที่จิ้มด้วยน้ำจิ้มซีฟู้ดส์จัดว่าจิ๊ดสะใจ จัดว่าเป็นเมนูโปรดของใครหลายๆ คนเลยก็ว่าได้ หอยนางรมไม่เพียงแต่มีแร่ธาตุมากมายให้สรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพแล้วหนึ่งในแร่ธาตุที่หอยนางรมมีไม่แพ้ใครนั่นก็คือ แคลเซียม ซึ่งถ้าเรารับประทานหอยนางรม 6 ตัว ก็จะได้รับแคลเซียมถึง 300 มิลลิกรัมเลยล่ะค่า

 

9.กะปิ

กะปิอาหารรสเด็ดแต่กลิ่นอาจจะไม่เตะจมูกของใครนัก แต่ทรายหรือไม่ว่าเป็นแหล่งของแคลเซียมดีๆ นี่เอง ด้วยส่วนผสมของกะปิที่มาจากกุ้งตัวเล็กตัวน้อยนี่ไงทำให้กะปิไม่ได้เป็นแค่อาหารรสเด็ดแต่ยังให้แคลเซียมถึง 1,565 มิลลิกรัม ต่อปริมาณ 100 กรัม เลยทีเดียว

 

10.บร็อคโคลี่

บร็อคโคลี่จัดเป็นผักสีเขียมเข้มที่มีแคลเซียมสูง นอกจากเราจะนิยมรับประทานกันโดยทั่วไปอยู่แล้ว ถือว่าบร็อคโครี่ให้สารอาหารและคุณค่าทางโภชนาการที่ดีอยู่ไม่น้อยค่ะ ซึ่งบร็อคโคลี่ ⅔ ถ้วย ให้แคลเซียมถึง 88 มิลลิกรัมค่ะ

 

11.เมล็ดอัลมอนด์

เมล็ดอัลมอนด์จัดเป็นอาหารว่างทานเล่นเพื่อสุขภาพเลยก็ว่าได้ ที่เต็มไปด้วยประโยชน์มากล้นไหนจะเป็นวิตามินต่างๆ อีกทั้งยังมีไฟเบอร์อีกด้วย และที่สำคัญยังมีแคลเซียมอยู่ถึง 75 มิลลิกรัม ต่อปริมาณแอลมอลด์ 29 เมล็ด อร่อยแล้วยังให้ประโยชน์ครบถ้วน

 

12.ถั่วแระต้ม

ถั่วแระต้มที่หลายๆ คนชอบรับประทานเป็นอาหารว่าง รสชาติอร่อยเคี้ยวเพลินแถมให้แคลเซียมสูงอย่างนี้ใครล่ะจะพลาด โดยถั่วแระต้มจำนวน 100 กรัม ให้ปริมาณแคลเซียมถึง 194 มิลิกรัมเลยทีเดียว

 

13.กุ้งฝอย

กุ้งฝอยตัวเล็กๆ ใสๆ เมื่อนำมาทอดหรือปรุงสุกจะเกิดเป็นสีชมพูอ่อนๆ บางทีออกสีส้ม ซึ่งสามารถรับประทานได้ทั้งตัวโดยกุ้งฝอยจำนวน 100 กรัม มีแคลเซียมถึง 1,339 มิลลิกรัม

 

14.ถั่วขาว

ถั่วขาวถือเป็นโปรตีนจากพืชที่อุดมไปด้วยวิตามินต่างๆ มากมาย รวมถึงแคลเซียมอยู่จำนวนไม่น้อยคือประมาณ 112 มิลลิกรัม ต่อปริมาณ 100 กรัม

 

15.ชีส

ชีสที่เป็นอาหารชนิดโปรดของใครหลายคน นอกจากความอร่อยยืดหยุ่นชวนเพลินแล้วยังเป็นแหล่งของแคลเซียมชั้นดีอีกด้วย ซึ่งมีแคลเซียมมากถึง 721 มิลลิกรัม ต่อปริมาณ 100 กรัม เลยทีเดียวเชียว

 

 

อ้างอิง : ข้อมูลปริมาณของแคลเซียมจากตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

 

www.flickr.com/photos/paperwingedswallows/8921970990/

โซเดียม คืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร

himalayan-salt-1
Source: Flickr (click image for link)

โซเดียม (Sodium) เป็นอีกหนึ่งเกลือแร่หรือแร่ธาตุที่ใครๆก็น่าจะรู้จักกันในรูปของรสชาติความเค็มจากเครื่องปรุงติดบ้านของเราจำพวกน้ำปลา เกลือ หรือเครื่องปรุงอาหารรสชาติต่างๆ แต่ความเป็นจริงแล้วโซเดียมเป็นแร่ธาตุที่พบได้ทั้งในสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต ซึ่งมีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันในหลายรูปแบบ และเป็นสารอาหารประเภทเกลือแร่ที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย เช่น การควบคุมความดันกระแสเลือด การทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาท ช่วยรักษาสมดุลของของเหลวที่อยู่ภายในร่างกาย โดยมีหน้าที่ควบคู่ไปกับโพแทสเซียมและคลอไรด์ หรือพูดง่ายๆเลยว่า โซเดียมก็คือ เกลือแร่ (สารอาหาร) ชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย โดยโซเดียมจะทำหน้าที่ควบคุมความสมดุลของเหลวในร่างกาย รักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ช่วยในการทำงานของประสาทและกล้ามเนื้อ (รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจด้วย) ตลอดจนการดูดซึมสารอาหาร บางอย่างในไตและลำไส้เล็กค่ะ โดยโซเดียมในรูปแบบที่เราบริโภคกันเป็นประจำ ก็จะเป็นโซเดียมที่อยู่ในรูปแบบของ ‘’เกลือแกง’’ โดยที่เกลือมีส่วนประกอบอยู่ 2 อย่างก็คือ โซเดียมกับคลอไรด์และก็น้ำปลา ซึ่งรสชาตินั้นจะต้องมีความเค็มอย่างแน่นอน และจากการสำรวจพบว่าคนไทยกินเกลือที่มีอยู่ในอาหารและเครื่องปรุงรส โดยเฉลี่ยอยู่ที่วันละประมาณ 7 กรัมค่ะ

 

เกี่ยวกับโซเดียม หรือ Sodium

 

  • โซเดียม คือ เกลือแร่ (สารอาหาร) ชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย
  • โซเดียม เป็นเกลือแร่ที่มีคุณสมบัติเป็นด่าง มีความจำเป็นเกี่ยวกับของเหลวภายในร่างกาย
  • โซเดียม เป็นแร่ธาตุที่ทำงานร่วมกับโปตัสเซียมและคลอไรด์ที่ของเหลวภายนอกเซลล์ เพื่อควบคุมดุลยภาพของแรงออสโมติคและปริมาตรของของเหลว
  • โซเดียม ช่วยในการทำงานของประสาทและกล้ามเนื้อ (รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจด้วย)
  • โซเดียม ในรูปแบบที่เราบริโภคกันเป็นประจำ ก็จะเป็นโซเดียมที่อยู่ในรูปแบบของ ‘’เกลือแกง’’
  • โซเดียม จากอาหารธรรมชาติที่มีโซเดียมสูงคือพวกเนื้อสัตว์ต่างๆ
  • โซเดียม จากอาหารธรรมชาติที่มีโซเดียมต่ำ ได้แก่ ผลไม้ทุกชนิด ผัก เนื้อปลา ธัญพืชและถั่วเมล็ดแห้ง ซึ่งปริมาณโซเดียมจะเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายโดยไม่จำเป็นต้อง เรียกหาเครื่องปรุงรสใดๆ เลย
  • โซเดียม จากอาหารแปรรูปหรือการถนอมอาหาร ได้แก่ อาหารกระป๋องทุกชนิด อาหารหมักดอง อาหารเค็ม อาหารตากแห้ง เนื้อเค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า ผักดอง ผลไม้ดอง เป็นต้น
  • โซเดียม จากเครื่องปรุงรส เช่น เกลือ น้ำปลา ซอสปรุงรสที่มีรสเค็ม (เช่น ซีอิ๊วขาว เต้าเจี้ยว น้ำบูดู กะปิ ปลาร้า ปลาเจ่า เต้าหู้ยี้ รวมทั้งซอสหอยนางรม) ซอสปรุงรสที่ไม่มีรสเค็มหรือเค็มน้อย เช่น ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก น้ำจิ้มต่างๆ
  • โซเดียม ในผงชูรสถึงแม้ไม่มีรสชาติเค็ม แต่ก็มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วยประมาณร้อยละ 15
  • โซเดียม ในอาหารกระป๋องและอาหารกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งอาหารเหล่านี้มีการเติมเกลือหรือสารกันบูด ซึ่งมีโซเดียมในปริมาณที่สูงมาก
  • โซเดียม จากขนมต่างๆ ที่มีการเติมผงฟู ซึ่งผงฟูที่ใช้ในการทำขนมเหล่านี้มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ (โซเดียมไบคาร์บอเนต) เช่น ขนมเค้ก คุกกี้ แพนเค้ก ขนมปัง
  • โซเดียม ในน้ำฝนเป็นน้ำที่ปราศจากโซเดียม
  • โซเดียม มีปนอยู่ในน้ำบาดาลและน้ำประปาอยู่บ้าง ในจำนวนไม่มากนัก
  • โซเดียม ในเครื่องดื่มเกลือแร่ยี่ห้อต่างๆ มีการเติมสารประกอบของโซเดียมลงไปด้วย เพราะมีจุดประสงค์จะให้เป็นเครื่องดื่มสำหรับนักกีฬาหรือผู้ที่สูญเสียเหงื่อมาก
  • โซเดียม ในน้ำผลไม้บรรจุกล่องขวดหรือกระป๋อง มักจะมีการเติมสารกันบูด (โซเดียมเบนโซเอต) ลงไปด้วย ทำให้น้ำผลไม้เหล่านี้ มีโซเดียมสูง
  • โซเดียม เป็นส่วนประกอบของเกลือ ซึ่งเกลือ 1 กรัม จะมีโซเดียมประมาณ  400 กรัม
  • โซเดียม ที่ร่างกายคนเรามีความต้องการ ประมาณ 2400 มิลลิกรัมต่อวัน
  • โซเดียม ที่เกินความต้องการ ไตจะขับออกทางปัสสาวะและจะออกทางเหงื่อเป็นที่น่าสังเกตอย่างยิ่งว่าโซเดียม ที่ขับออกทางปัสสาวะจะเป็นตัวชี้ระดับของโซเดียมในร่างกาย
  • โซเดียม เกี่ยวข้องกับการซึมผ่านของสารและการดูดซึมสารอาหารเข้าเซลล์
  • โซเดียม ช่วยฟอกคาร์บอนไดออกไซด์จากร่างกายและช่วยในการย่อย
  • โซเดียม จำเป็นสำหรับการผลิตกรดไฮโดรคลอริคในกระเพาะอาหารและช่วยระบบการย่อยอาหาร
  • โซเดียม ช่วยในการขนส่งกลูโคสผ่านเยื่อเซลล์
  • โซเดียม กระตุ้นประสาทให้ทำงาน และเป็นตัวเก็บเกลือแร่อื่นๆให้อยู่ในร่างกาย

 

 

ประโยชน์ของโซเดียม (Sodium)

 

การรักษาสมดุลกรดด่าง โดยโซเดียมไบคาร์บอเนตและโซเดียมฟอสเฟต ทำหน้าที่เป็นบัฟเฟอร์ที่สำคัญของเลือด ช่วยรักษาความเป็นกรดด่างของเลือดให้คงที่ค่ะ

 

การควบคุมสมดุลน้ำและสมดุลของเหลวภายในร่างกาย โดยที่โซเดียมนั้นไปทำหน้าที่ร่วมกับโปตัสเซียมในการควบคุมสมดุลน้ำและสมดุลของเหลวภายในร่างกาย โดยโซเดียมในรูปแคทไออนจะรักษาความดันออสโมติคภายนอกเซลล์และโปตัสเซียมใน รูปแคทไออนรักษาความดันออสโมติคภายในเซลล์ รวมถึงช่วยรักษาให้แร่ธาตุอื่นที่มีอยู่ในเลือดละลาย เพื่อจะได้ไม่เกิดการจับเกาะตัวภายในเลือด

 

การควบคุมหัวใจให้ทำหน้าที่ปกติและสม่ำเสมอ โดยโซเดียมจะไปควบคุมสมดุลระหว่างแคลเซียมและโปตัสเซียม เพื่อควบคุมหัวใจให้ทำหน้าที่ปกติและสม่ำเสมอ

 

เกี่ยวข้องกับการหดตัวของกล้ามเนื้อ โดยโซเดียมช่วยการส่งผ่านสัญญาณประสาท ( nerve impulse ) ไปยังกล้ามเนื้อเพื่อให้หดตัว

 

ช่วยชำระล้างคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากระบบ โดยทำงานร่วมกับคลอรีน ช่วยชำระล้างคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากระบบ ส่งเสริมสุขภาพของเลือด น้ำเหลือง ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์

 

 

ปริมาณของโซเดียมที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน

โดยจากการวิจัยทางการแพทย์และโภชนาการเรื่องปริมาณที่เหมาะสมของโซเดียมที่ควรได้รับจากอาหารในแต่ละวัน ยังผลให้องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา กำหนดปริมาณโซเดียมที่ แนะนำให้บริโภคต่อวัน (Recommended Daily Intakes : RDI) อยู่ที่น้อยกว่า 2,400 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงพอแก่ความต้องการในบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป และเป็นปริมาณที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในด้านสุขภาพใดๆ
สำหรับในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกินวันละ 2,400 มิลลิกรัมเช่นเดียวกัน แต่หากจะเปรียบเทียบภาวะความเสี่ยงของการได้รับโซเดียมเกินระหว่างประเทศไทย กับประเทศสหรัฐอเมริกา จะพบว่าคนไทยเราบริโภคโซเดียมเฉลี่ยอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมคือปริมาณ 2,320 มิลลิกรัมต่อวัน ในขณะที่ชาวอเมริกันรับประทานโซเดียมจากอาหารเฉลี่ย 3,200 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน ดังนั้นสำหรับคนไทยที่ไม่ได้เป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการตามปกติและรสชาติที่ไม่เค็มจนเกินไป ก็เพียงพอที่จะควบคุมปริมาณโซเดียมจากอาหารในระดับที่เหมาะสมได้แล้ว

 

 

www.flickr.com/photos/julajp/5904468562/

แคลเซียม คืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร

milk-and-cookies-1
Source: Flickr (click image for link)

Calcium (แคลเซียม) เรามักจะคุ้นหูหรือได้ยินกันบ่อยๆ ถ้าพูดถึงแคลเซียมคนเราก็จะนึกถึงนมขึ้นมาทันที และพอพูดถึงนมก็จะนึกถึงกระดูกและฟัน เพราะในนมมีแคลเซียมและแคลเซียมก็ไปเสริมสร้างให้กระดูกและฟันของเราให้แข็งแรง ทำไมเราถึงต้องดื่มน้ำนมตั้งแต่อ้อนแต่ออกจนกระทั่งแก่ตัวลงแล้วยังต้องคอยดื่มนมกันอีกล่ะ วันนี้ HealthGossip จึงอยากนำข้อมูลเหล่านี้มาเสนอและให้พวกเรามาทำความรู้จักกับแคลเซียมกันให้มากขึ้น “แคลเซียม” เป็นสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต กระดูก ฟัน เส้นผม และผิวหนัง ต่างก็เป็นส่วนของร่างกายที่ไม่สามารถปราศจากแคลเซียมได้ แม้เป็นที่ทราบกันดีว่า แคลเซียมมีผลกระทบต่อสุขภาพฟัน แต่คุณทราบหรือไม่ว่า แคลเซียมนั้นมีบทบาทสำคัญในการควบคุมความดันเลือดสูง (hypertension) และการควบคุมน้ำหนักตัวด้วยเช่นกัน เป็นที่เชื่อกันว่า แคลเซียม ตลอดจน เกลือแร่ชนิดจำเป็น เช่น แมกนีเซียม และโปแตสเซียม เป็นสิ่งจำเป็นต่อความสำเร็จของการบริโภคตามแบบ DASH (หรือ แนวทางการบริโภคเพื่อหยุดความดันเลือดสูง)

 

เกี่ยวกับแคลเซียม (Calcium)

  • แคลเซียม เป็นธาตุเกลือแร่ที่พบมากที่สุดในทุกส่วนของร่างกาย โดยในร่างกายคน 50 กิโลกรัม จะมีแคลเซียมอยู่ประมาณ 1 กิโลกรัม ซึ่งเกือบทั้งหมดจะอยู่ในกระดูกและฟัน
  • แคลเซียม เป็นแหล่งประกอบของฟันและกระดูกมากที่สุดของแคลเซียมที่มีอยู่ทั้งหมดในร่างกาย คิดเป็นประมาณ 99%
  • แคลเซียม มีหน้าที่สำคัญก็คือ การสร้างกระดูก ซึ่งกระดูกทำหน้าที่เป็นโครงสร้างของร่างกาย รักษารูปร่างและลักษณะของร่างกายให้สวยงาม และยังเป็นที่ยึดเกาะของกล้ามเนื้อเป็นเกราะป้องกันอวัยวะภายในต่างๆ ของร่างกายไม่ให้ได้รับความกระทบกระเทือน
  • แคลเซียม ไม่ได้เป็นเพียงตัวเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงเท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่สำคัญในการทำงานของเซลล์ต่างๆ ภายในร่างกายอีกด้วย
  • แคลเซียม ที่อยู่ในเนื้อเยื่อ ส่วนมากจะอยู่ในรูปของเกลือแคลเซียมฟอสเฟต ส่วนเซลล์ประสาท เนื้อเยื่อร่างกาย เลือด และของเหลวอื่นๆ ในร่างกาย ประกอบด้วยแคลเซียมที่เหลือ
  • แคลเซียม ช่วยในการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดที่ไหลออกจากบาดแผลเกิดแข็งตัวหยุดไหลได้
  • แคลเซียม สามารถช่วยต่อต้านได้อย่างดีต่อความดันโลหิตสูง อาการหัวใจกำเริบ อาการปวดก่อนมีประจำเดือน และ มะเร็งลำไส้
  • แคลเซียม จะเริ่มจากเมื่อร่างกายได้รับ แคลเซียม จากอาหารก็จะถูกกรดในกระเพาะทำให้ แคลเซียม แตกตัวได้ดีขึ้นและถูกดูดซึมได้ง่ายขึ้นจากบริเวณลำไส้ส่วนต้น โดยอาศัย Calbindin-D
  • แคลเซียม ปกติแล้วร่างกายจะดูดซึมได้ประมาณร้อยละ 20-40 หลังจากนั้น แคลเซียม จะเข้าสู่เลือดผ่านไปตามระบบไหลเวียนโลหิตแล้วไปสู่อวัยวะต่างๆ ส่วนใหญ่จะเข้าสู่กระดูก นอกนั้นเข้าสู่เซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ที่เหลือจะถูกขับออกทางปัสสาวะ
  • แคลเซียม ที่มีระดับปกติก็คือ จำนวนเงินที่ติดกระเป๋าอยู่สำหรับใช้จ่ายในแต่ละวัน โดย แคลเซียม ส่วนที่ถูกขับออกทางปัสสาวะและ แคลเซียม ที่ใช้เพื่อการซ่อมแซมกระดูกเปรียบเสมือนค่าใช้จ่ายประจำวัน
  • แคลเซียม ในกระดูกเสมือนเงินฝากในธนาคาร แคลเซียมรับจากอาหารเสมือนรายได้ประจำวัน ถ้ารายรับมากกว่ารายจ่าย อาจมีเหลือเก็บในธนาคารซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการสะสมแคลเซียมในกระดูก ถ้ารายได้น้อยกว่ารายจ่ายก็ต้องถอนจากธนาคารเพื่อนำไปใช้จ่ายก็จะทำให้เกิดการขาดดุล ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้อยู่เป็นประจำเงินในธนาคารก็จะร่อยหรอไป
  • แคลเซียม ถ้าร่างกายได้รับไม่พอเพียงต่อความพยายามรักษาระดับแคลเซียม ให้ปกตินั้น จำต้องละลาย แคลเซียม จากกระดูกมาเพิ่มให้กับเลือด ทำให้ แคลเซียมในกระดูกค่อยๆลดลง สุดท้ายแคลเซียมหรือเงินที่ติดกระเป๋าอยู่ก็ลดลงจนไม่พอใช้นั่นเอง
  • แคลเซียม พบมากในนมและผลิตภัณฑ์จากนม แต่ก็พบได้ในอาหารทั่วๆ ไป ดังนี้ อาหารที่พบ (เทียบเป็น % โดยน้ำหนัก) กุ้งแห้งตัวเล็ก 2.31%, กะปิ 1.56%, มะขามฝักสด 0.43%, ยอดแค 0.40%, ยอดสะเดา 0.35%, คะน้า 0.25%, เต้าหู้เหลือง 0.16%, นมสด 0.12%
  • แคลเซียม ที่เป็นอาหารเสริมจะมีจำหน่ายอยู่ทั่วไปและราคาไม่แพง โดยมักจะอยู่ในรูปของ แคลเซียมคาร์บอเนต แคลเซียมกลูโคเนต แคลเซียมซิเตรด แคลเซียมซิเตรดมาเลต แคลเซียมแลคเตต และแคลเซียมฟอสเฟต
  • แคลเซียม ที่เป็นอาหารเสริมเหล่านี้ก็จะขึ้นกับว่าในแต่ละแบบจะให้แคลเซียมแก่ร่างกายเท่าไร เช่น แคลเซียมคาร์บอเนตจะให้ปริมาณแร่ธาตุแคลเซียม ประมาณ 40% แคลเซียมกลูโคเนตจะให้ปริมาณแร่ธาตุ แคลเซียม ประมาณ 9% ทั้งนี้ยังขึ้นกับการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายด้วย มีการค้นพบว่าแร่ธาตุ แคลเซียม ที่ได้จากแคลเซียมซิเตรดจะถูกดูดซึมได้ดีกว่าที่ได้จากคอร์บอเนต
  • แคลเซียม ลดอาการโรคกระเพราะ หากรับประทาน แคลเซียม ในรูปของแคลเซียมคาร์บอเนตซึ่งเป็นรูปแบบของยาลดกรดตัวหนึ่ง จึงไปช่วยลดอาการ โรคกระเพราะลงได้
  • แคลเซียม โรคนอนไม่หลับ มีหลายๆ คนที่มีปัญหาโรคนอนไม่หลับอันเนื่องมาจากมีระดับ แคลเซียม ในเลือดต่ำ ดังนั้นการรับประทาน แคลเซียม ร่วมกับ แมกนีเซียม จะช่วยลดอาการนี้ได้ดี
  • แคลเซียม ป้องกันอาการ ไมเกรน เนื่องการรับประทาน แคลเซียม ร่วมกับ แมกนีเซียม จะช่วยให้ระบบหลอดเลือดและสมองมีการทำงานดีขึ้น จึงช่วยลดอาการ ไมเกรน ลงได้
  • แคลเซียม ทุกชนิดไม่ควรทานพร้อมยาประเภทอื่นเพราะทำให้การดูดซึมยานั้นๆน้อยลง และไม่ควรทานหลังอาหารที่มีผักมากๆ เนื่องจากทำให้การดูดซึมน้อยลงและอาจจับกับผักทำให้อืดแน่นท้อง
  • เมื่อทานแคลเซียม ควรรับประทานอาหารที่มีความสมดุลย์ของโปรตีนเพื่อลดความเสี่ยงในการก่อให้เกิดภาวะนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
  • การดูดซึมแคลเซียม ยังขึ้นกับภาวะความปกติของระดับวิตามินดีในร่างกาย ถ้ามีภาวะขาดวิตามินดี ร่างกายจะดูดซึมแคลเซียมได้น้อย เมื่อดูดซึมแล้วร่างกายก็ไม่สามารถนำแคลเซียมไปใช้ในการสร้างกระดูกได้ดี การดูดซึมแคลเซียมยังขึ้นกับภาวะความปกติของระดับวิตามินดีในร่างกาย ถ้ามีภาวะขาดวิตามินดี ร่างกายจะดูดซึมแคลเซียมได้น้อย เมื่อดูดซึมแล้วร่างกายก็ไม่สามารถนำแคลเซียมไปใช้ในการสร้างกระดูกได้ดี

อย่างไรก็ตาม แคลเซียมเป็นแร่ธาตุเสริมที่น่าสนใจเป็นอย่างมากที่เดียวค่ะ โดยเฉพาะสำหรับสุภาพสตรีที่กลัวภาวะกระดูกพรุน หน่วยงานวิชาการส่วนใหญ่แนะนำให้ผู้สูงอายุได้รับแคลเซียมเสริมอย่างน้อยวันละ 1,000 – 1,200 มก. ต่อวัน ทั้งนี้นับรวมถึงอาหารที่เรารับประทานต่อวันด้วย อาหารที่เรารับประทานมีแคลเซียมอยู่วันละประมาณ 360 กรัม ดังนั้นความต้องการแคลเซียมเสริมส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 600- 800 มก ความต้องการของแคลเซียม เบื้องต้นวัดได้จากสมดุลระหว่างปริมาณแคลเซียมที่ถูกดูดซึมจากอาหารเข้าสู่ร่างกาย และปริมาณที่สูญเสียออกจากร่างกายผ่านการขับถ่ายปกติ และจากการซ่อมแซมและสร้างเนื้อเยื่อใหม่ขึ้นมาทดแทน ในวัยผู้ใหญ่ การดูดซึมแคลเซียมโดยรวม จำเป็นต้องพอดีกับอัตราการสูญเสียออกจากร่างกายหากไม่ต้องการให้เกิดการสูญเสียมวลกระดูก และลดความเสี่ยงของโรคและการแตกหักของกระดูก  ในวัยเด็กและผู้ใหญ่ จำเป็นต้องมีการดูแลเพิ่มเติมให้เพียงพอต่อความต้องการการเจริญเติบโตของกระดูก ปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นเป็นสิ่งจำเป็นในบางช่วงเวลา เช่น ในระหว่างตั้งครรภ์ ช่วงให้นมบุตร และระยะมีประจำเดือนเริ่มต้น เมื่อร่างกายอยู่ในภาวะที่เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยในแต่ละวัยร่างกายสามารถสะสมปริมาณ แคลเซียม ในระดับที่แตกต่างกัน ดังนี้

เด็กแรกเกิด – 9 ขวบ มีความสามรถในการสะสม แคลเซียม ได้ 100 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว/วัน

เด็กอายุ 10 ขวบ มีความสามารถในการสะสม แคลเซียม ได้ 100-150 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว/วัน

ช่วงวัยรุ่น มีความสามารถในการสะสม แคลเซียม ได้ 200-400 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว/วัน

ชายและหญิงอายุ 18 ปี มีความสามารถในการสะสม แคลเซียม ได้ 50-100 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว/วัน

ผู้ใหญ่อายุ 30 ปี มีความสามารถในการสะสม แคลเซียม ได้ 0 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว/วัน ซึ่งหมายความว่า หลังจากอายุ 30 ปีไปแล้ว ร่างกายจะไม่สะสม แคลเซียม อีกต่อไป จึงต้องมีการเติม แคลเซียม ให้ร่างกายเพื่อรักษาระดับ แคลเซียม ในกระดูก

 

ประโยชน์ของแคลเซียม

แคลเซียม ในร่างกายเกือบทั้งหมดจะสะสมในกระดูกและฟัน ซึ่งเป็นที่ๆ มันๆ ไปช่วยทำให้เกิดความแข็งแรง อีกทั้งจะมีปริมาณ แคลเซียม จำนวนน้อยๆ ที่อยู่ในกระแสเลือดที่จะมีส่วนช่วยในการสร้างฮอร์โมนและเอนไซม์ต่างๆ เพื่อให้ร่างกายทำงานเป็นปกติ เช่น

  • แคลเซียม ทำหน้าที่เป็นตัวนำสัญญาณระหว่างเซลประสาทให้สื่อสารกันได้เป็นปกติ
  • แคลเซียม ช่วยให้กล้ามเนื้อหดตัวได้เป็นปกติ ที่สำคัญคือกล้ามเนื้อหัวใจ
  • แคลเซียม ช่วยในขบวนการทำให้เลือดแข็งตัว
  • แคลเซียม ช่วยในขบวนการสร้างภูมิคุ้มกันโรค

โดยส่วนใหญ่จะแนะนำให้รับประทานแคลเซียมร่วมกับ แมกนีเซียม และ วิตามินดี ซึ่งที่จริงแล้วร่างกายเราจะได้รับ วิตามินดี จากแสงแดดธรรมชาติอยู่แล้ว และยังพบในอาหารต่างๆ อีก วิตามินดีจะช่วยให้ แคลเซียม ถูกดูดซึมได้เป็นปกติ ส่วน แมกนีเซียม ซึ่งเป็นวิตามินที่สำคัญของร่างกายและอาจจถูกยับยั้งการดูดซึมจาก แคลเซียม ได้ ดังนั้นจึงแนะนำให้รับประทาน แคลเซียม คู่กับ แมกนีเซียม ไปด้วยกัน

 

แคลเซียมกับโรคกระดูกพรุน  ถ้ากระดูกเราแข็งแรงก็จะช่วยป้องกันโรค กระดูกพรุน ได้หรือทำให้เป็นช้าลง ดังนั้นเราควรพยายามรับประทาน แคลเซียม ให้เพียงพอและต่อเนื่องทุกวัน ซึ่งจะทำให้ร่างกายไปสะสม แคลเซียม ที่กระดูก และทำให้กระดุกแข็งแรง หากเราได้รับ แคลเซียม ไม่เพียงพอก็จะทำให้ก็จะทำให้กระดูกบางลง และทำให้หักได้ง่าย ความสูงไม่เพิ่มขึ้นหรือเตี้ยกว่าที่ควรจะเป็น ได้มีการศึกษาพบว่าถึงแม้ว่าในอายุที่น้อยกว่า 35 ปีร่างกายมักจะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพกระดูกและฟัน ทั้งนี้คนที่อายุมากกว่า 65 ปี และพยายามรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วย แคลเซียม หรือรับประทานอาหารเสริมแคลเซียมก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการสูญเสียมวลกระดูกและการเกิดอาการกระดูกหักได้ อีกทั้งในรายที่มีปัญหาเกี่ยวกับอาการปวดหลัง ลองรับประทาน แคลเซียม ร่วมกับ แมกนีเซียม ซึ่งจะทำให้กระดูกแข็งแรงขึ้นและลดอาการดังกล่าวได้

 

แคลเซียมกับความดันโลหิตสูง มีการศึกษาพบว่าคนที่ความดันโลหิตสูงมักจะรับประทาน แคลเซียม น้อยกว่าคนปกติ และยังพบอีกว่าการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้ว แคลเซียม หรืออาหารเสริมช่วยลดความดันโลหิตลงในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ทั้งนี้เป็นเพราะ แคลเซียม ช่วยให้กล้ามเนื้อบีบตัวได้ดีและทำให้หัวใจและหลอดเลือดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงส่งผลให้ความดันโลหิตลดลงได้

 

แคลเซียมกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ แคลเซียม ช่วยป้องกัน มะเร็งลำไส้ใหญ่ มีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้มายาวนาน และพบว่าคนที่มีความเสี่ยงที่จะเป็น มะเร็งลำไส้ใหญ่ จะมีแน้วโน้มลดลงได้เมื่อรับประทาน แคลเซียม มีการพบว่าหลังได้รับ แคลเซียม การแบ่งเซลที่ผิดปกติลดลง มันดูเหมือนว่า แคลเซียม จะไปลดผลการรบกวนของน้ำดีและกรดไขมันในลำไส้ลงที่เป็นสาเหตุของการแบ่งเซลที่ผิดปกติในลำไส้

 

แคลเซียมกับอาการปวดก่อนมีประจำเดือน มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า แคลเซียม ช่วยบรรเทาอาการปวดก่อนมีประจำเดือน และรวมทั้ง อารมณ์ที่แปรปรวน ซึมเศร้า และอื่นๆ ที่มักจะเกิดก่อนที่จะมีประจำเดือน ทั้งนี้เพราะการที่มีระดับ แคลเซียม ในร่างกายต่ำส่งผลให้ระดับฮอร์โมนผิดปกติไปด้วย มีการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้เองในผู้หญิงหลายร้อยคนให้รับประทาน แคลเซียม ขนาด 750 มิลลิกรัมครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง พบว่าอาการที่เกี่ยวข้องที่มักเกิดก่อนมีประจำเดือนรวมทั้งอาการปวดลดลงอย่างเห็นได้ชัด ความรุนแรงก็ลงกว่าครึ่ง

 

ดังนั้นหน้าที่สำคัญเหล่านี้ทำให้ร่างกายขาด แคลเซียม ไม่ได้เลย ดังนั้นเมื่อร่างกายขาดก็จะไปดึงมาจากกระดูกแทน ส่งผลให้กระดูกไม่แข็งแรง แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่คนส่วนใหญ่รับประทาน แคลเซียม น้อยกว่าครึ่งของที่ควรจะได้รับต่อวัน ทำให้กระดูกก็จะบางลง และไม่แข็งลงเรื่อยๆ และเรามักจะทราบว่าเราเป็นโรค กระดูกพรุน ก็ต่อเมื่อเกิดอาการกระดูกหักง่ายแม้กระทบเพียงเล็กน้อย สำคัญไม่น้อยเลยนะเนี้ย ^^

 

www.flickr.com/photos/lifeviaplanes/15710800066/