Browse Tag: อันตราย

ไขมันทรานส์ (Trans Fat) คืออะไร

eat-burger-1
Source: Flickr (click image for link)

ไขมันทรานส์ (Trans fat)

ไขมันทรานส์ (Trans fat) เป็นไขมันไม่อิ่มตัวซึ่งพบได้ไม่บ่อยในธรรมชาติ แต่สามารถสังเคราะห์ขึ้นได้จากกระบวนการแปรรูปกรดไขมันไม่อิ่มตัวให้กลายเป็นกรดไขมันอิ่มตัวสูง ตัวอย่างเช่น การทำน้ำมันพืช จะมีการเติมไฮโดรเจนลงไปในน้ำมันพืช เรียกว่า กระบวนการไฮโดรจีเนชั่น (hydrogenation) เช่น น้ำมันถั่วเหลือง หรือแม้กระทั่งการแปรรูปให้มีลักษณะเป็นกึ่งของแข็ง เช่น มาร์การีนหรือเนยเทียม เนยขาว ครีมเทียม เป็นต้น โดยวัตถุดิบเหล่านี้จะมีชื่อบนฉลากอาหาร คือ กรดไขมันชนิดทรานส์ หรือ hydrogenated oil หรือ partially hydrogenated oil

“ไขมันทรานส์” คือ ไขมันที่ผ่านกระบวนการเพิ่มอะตอมไฮโดรเจนเข้าไปในโมเลกุล ทำให้คุณสมบัติของไขมันเปลี่ยนแปลงไป โดยจะแข็งตัวมีทรงมากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลง เสื่อมเสีย เหม็นหืนช้าลง ดังนั้นจึงทำให้ไขมันทรานส์สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานโดยไม่เหม็นหืน ไม่เป็นไข ทนความร้อนได้สูงและมีรสชาติใกล้เคียงกับไขมันจากสัตว์แต่จะมีราคาที่ถูกกว่า​ บรรดาผู้ประกอบกิจการอาหารต่างๆ จึงมักนิยมนำไขมันทรานส์มาใช้ประกอบอาหารมากมาย เพื่อประโยชน์ในด้านการลดต้นทุนการผลิตลง เช่น กลุ่มอาหารฟาสต์ฟูดที่ใช้เป็นน้ำมันสำหรับทอดไก่ มันฝรั่ง โดนัท หรือการนำมาใช้ในการประกอบกิจการเบเกอรี่ ขนมขบเคี้ยว ครีมเทียมและวิปปิ้งครีม เป็นต้น ดังนั้นอุตสาหกรรมอาหารจึงนิยมนำาใช้ผสมในอาหารและขนมค่ะ

 

cracker-1
Source: Flickr (click image for link)

 

 

 

 

ผลร้ายจากไขมันทรานส์

ถึงแม้ว่าไขมันทราน์จะสามารถทานได้ แต่การที่เราได้รับประทานอาหารที่มีกรดไขมันทรานส์มากๆ จะไปมีผลต่อการทำงานของเอนไซม์ cholesterol acyltranferase ซึ่งเป็นเอนไซม์สำคัญในการเมตาบอลิซึมของคอเลสเตอรอล ทำให้ระดับ LDL ที่เป็นคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีในเลือดเพิ่มขึ้น และจะไปลดระดับ HDL ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดที่ดีในเลือดลง อีกทั้งยังไปเพิ่มไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดและเพิ่มการอักเสบทั่วร่างกาย เนื่องจากไขมันทรานส์เป็นไขมันที่เกิดจากการแปรรูปจึงย่อยสลายได้ยากกว่าไขมันชนิดอื่น เป็นผลทำให้ตับต้องสลายไขมันทรานส์ด้วยวิธีการที่แตกต่างไปจากการย่อยสลายไขมันตัวอื่น จึงอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ผิดปกติกับร่างกาย คือจะทำให้ร่างกายมีน้ำหนักและไขมันส่วนเกินเพิ่มมากขึ้น มีภาวะการทำงานของตับที่ผิดปกติ มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานและโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด โดยความเสี่ยงที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นผลจากงานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาถึงเรื่องไขมันทรานส์

ถึงตอนนี้แล้วพูดได้เลยว่าไขมันทรานส์นั้นได้กลายเป็นศัตรูตัวร้ายและอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวอย่างแน่นอน และก็มีในหลายๆ ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้มีการออกข้อบังคับเกี่ยวกับการระบุปริมาณไขมันทรานส์บนฉลากโภชนาการ และให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการจำกัดการบริโภคอาหารที่มีไขมันทรานส์แล้วด้วย

โดยสถาบันทางการแพทย์ของสหรัฐอเมริกา (Institute of Medicine) มีข้อแนะนำเมื่อปี 2548 ว่า ให้บริโภคไขมันทรานซ์น้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ของพลังงาน หรือ 2 กรัมต่อพลังงาน 1,800 กิโลแคลอรีต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณไขมันทรานซ์ที่คนเราได้รับจากการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นม และปัจจุบันในประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีข้อบังคับให้ระบุปริมาณไขมันทรานซ์บนฉลากอาหาร ทำให้ผู้ผลิตหันมาใช้กรดไขมันอิ่มตัวแทน ซึ่งถ้าไม่อ่านฉลากให้ละเอียดเราอาจจะพลาดได้ แม้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่ากรดไขมันอิ่มตัวจะเป็นอันตรายต่อร่างกายเพียงไหน แต่ทางที่ดีที่สุดคือ ควรจำกัดปริมาณไขมันรวมที่บริโภค จะช่วยให้จำกัดไขมันทุกชนิดไปในตัว แต่น่าเสียใจที่บ้านเรายังไม่มีมาตรการทางกฎหมาย มาควบคุมการใช้หรือบังคับให้ระบุปริมาณไขมันทรานส์บนฉลากโภชนาการ

 

ในคนที่รักสุขภาพและคนที่ใส่ใจสุขภาพไม่ควรที่จะมองข้ามกันนะคะ และควรที่จะระมัดระวังในเรื่องการเลือกทานอาหารมากขึ้น โดยการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณไขมันทรานส์เยอะ เช่น อาหารประเภทของทอด (ไก่ทอด, เฟรนซ์ฟรายส์, นักเก็ต) ซึ่งมักจะใช้น้ำมันทอดซ้ำๆ จนหนืด รวมทั้งแฮมเบอเกอร์ หรือขนมขบเคี้ยวที่เก็บไว้นานๆ แต่ก็ยังกรุบกรอบ นอกจากนี้ยังรวมถึงอาหารที่มีส่วนประกอบของเนยขาวและมาร์การีน จำพวก คุ้กกี้ พาย พัฟ หรือขนมขบเคี้ยวชนิดแท่งด้วย

 

 

www.flickr.com/photos/mr_t_in_dc/4722400577/

www.flickr.com/photos/eplewis/7435456486/

9 เหตุผลที่ควรหลีกเลี่ยงไกลห่างจากน้ำตาล

brown-sugar-1
Source: Flickr (click image for link)

ถ้าพูดถึงรสชาติของอาหารไทย รสชาติอร่อยคืออาหารที่มีรสชาติครบรส นั่นก็คือรสเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด โดยเฉพาะอาหารรสจัด ไม่ว่าจะเป็นเปรี้ยวจัด หวานจัด เค็มจัด เผ็ดจัด ล้วนแต่อร่อยทั้งนั้น รสชาติจืดชืดน่ะหรอแล้วมันจะไปมีรสชาติอร่อยอะไรล่ะ จริงไหมคะ? แต่ทว่าอาหารรสจัดที่กล่าวมานั้นส่วนใหญ่เราก็ไม่ได้อยากที่จะแนะนำสักเท่าไหร่ ทั้งหมดทั้งปวงก็อยากจะให้รับประทานแต่พอดี…ในบ้านเรานั้นตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาหารคาวกรรมวิธีส่วนใหญ่จะปรุงอาหารด้วยกะทิ แกงกะทิต่างๆ ส่วนอาหารหวานก็นิยมกะทิเช่นกันและขนมหวานในบ้านเราต่างๆนั้นก็จะมีรสชาติที่หวานจับใจ จนกระทั่งปัจจุบันนวัตกรรมใหม่ๆเริ่มพัฒนาขึ้นมากมีขนมขบเคี้ยวกรุบกรอบมากมายให้เลือกเกลื่อนเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด แค่ตื่นตอนเช้าเดินไปซื้อกาแฟ หรือเดินออกมาจากปากซอยก็จะมีขนมให้เลือกหลากหลายง่ายดายเหลือเกิน และส่วนผสมส่วนใหญ่ก็คือน้ำตาลทั้งนั้น แม้แต่เครื่องดื่มที่เคลมกันว่า healthy เหลือเกินวางเรียงรายให้จับจ่ายในร้านสะดวกซื้อ ส่วนผสมหลักก็ยังเป็นน้ำตาลอยู่ดี ไม่ต้องพูดถึงการเติมน้ำตาลเพื่อปรุงอาหารจานเดียวเลยค่ะ อาหารบางอย่างถูกปรุงมาเรียบร้อยแล้วแต่เราก็ยังปรุงเพิ่มอยู่เสมอ แล้วเราทราบกันหรือไม่คะว่า ‘’น้ำตาล’’ หรือ ‘’sugar’’ ที่เรารู้จักกันดีเนี่ย มันไม่มีประโยชน์อื่นใดๆเลย นอกจากให้พลังงาน (Empty Calorie) เนื่องจากน้ำตาลจัดเป็นอาหารที่อยู่ในกลุ่มคาร์โบไฮเดรตชนิดที่ไม่ซับซ้อน คือให้แต่พลังงานเท่านั้นไม่มีคุณค่าทางโภชนาการใดๆทั้งสิ้นนั่นเองค่ะ โดยที่น้ำตาล 1 กรัม จะให้พลังงาน 4 แคลอรี่ เพราะฉะนั้น น้ำตาล  1 ช้อนชา ก็จะให้พลังงานโดยประมาณ 15 แคลอรี่ค่ะ โดยที่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า แต่ละวันควรใช้น้ำตาลในการปรุงแต่งรสชาติอาหารไม่เกินร้อยละ 10 ของปริมาณพลังงานทั้งหมด ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดีจึงแนะนำว่า เด็กเล็กควรได้รับประทานน้ำตาลไม่เกินวันละ 4 ช้อนชา (16 กรัม) และผู้ใหญ่ควรรับประทานไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา (24 กรัม) ส่วนปัจจุบัน พบว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยประมาณ 23 ช้อนชา (92 กรัม) ต่อวันซึ่งถือเป็นปริมาณที่มากเกินกว่าที่แนะนำถึงเกือบ 4 เท่า โดยในชีวิตประจำวันนั้นเราได้รับ แหล่งอาหารคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนจากพวกข้าว แป้ง ซึ่งมีสารอาหารอื่นที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นประจำอยู่แล้ว และได้รับน้ำตาล ธรรมชาติจากผลไม้เป็นแหล่งพลังงานและวิตามินแร่ธาตุอีกด้วยค่ะ   

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับประเภทของน้ำตาลกันค่ะ !

น้ำตาล ก็คือ คาร์โบไฮเดรตที่มีรสหวาน ประกอบด้วยคาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน โดยหลักๆแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  1. น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (simple sugar) เป็นคาร์โบไฮเดรตที่มีขนาดโมเลกุลเล็กที่สุด เมื่อรับประทานเข้าไปร่างกายจึงสามารถดูดซึมนำไปใช้ได้เลยโดยไม่ต้องผ่านการย่อย ได้แก่
  • น้ำตาลกลูโคส (glucose) มีอยู่ในธรรมชาติทั่วไปในพืช ผัก ผลไม้ เป็นน้ำตาลที่มีความหวานน้อยกว่ารองลงมาจากน้ำตาลฟรักโทสและสามารดูดซีมได้อย่างรวดเร็ว
  • น้ำตาลฟรุกโตส (fructose) เป็นน้ำตาลที่มีรสหวานกว่าน้ำตาลชนิดอื่น พบมากในน้ำผึ้งและผลไม้ที่มีรสหวาน
  • น้ำตาลกาแล็กโตส (galactose) คล้ายน้ำตาลกลูโคสมากที่สุด ไม่พบในธรรมชาติ มีอยู่เฉพาะในอาหารพวกนมและผลิตผลของนมทั่วๆไป
  1. น้ำตาลโมเลกุลคู่ (double sugar) เป็นกลุ่มของคาร์โบไฮเดรตที่ให้รสหวาน เมื่อรับประทานเข้าไป จะต้องผ่านการย่อยโดยเอนไซม์ในระบบย่อยอาหารจนได้น้ำตาลเชิงเดียวก่อนจึงจะดูดซึมต่อไปได้ ได้แก่
  • น้ำตาลซูโครส (sucrose) (กลูโคส + ฟรุกโตส) คือน้ำตาลทรายหรือน้ำตาลอ้อย น้ำตาลชนิดนี้พบมากในอ้อย หัวบีต และผลไม้ที่มีรสหวานเกือบทุกชนิด
  • น้ำตาลมอลโทส (moltose) (กลูโคส + กลูโคส) คือน้ำตาลพบมากในเมล็ดข้าวที่กำลังงอกหรือน้ำที่สกัดจากข้าวงอก (malt-liquors)
  • น้ำตาลแล็กโทส (lactose) (กลูโคส + กาแลกโตส) พบอยู่ในน้ำนม เราจึงรู้จักในชื่อน้ำตาลนม มีความหวานน้อย ละลายน้ำได้น้อยกว่า ย่อยได้ช้ากว่าและบูด (ferment) ได้ยากกว่าซูโครส และมอลโทส

 

9 เหตุผลที่ควรหลีกเลี่ยงไกลห่างจากน้ำตาล

sugar-sweet-1
Source: Flickr (click image for link)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

1.น้ำตาลทำให้อ้วน

สำหรับคนอ้วนทั้งที่กำลังเริ่มจะอ้วนหรือได้ทำการอ้วนไปแล้วเรียบร้อยนั้น รู้กันหรือเปล่าคะว่าสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในการควบคุมน้ำหนักไม่ใช่ไขมันนะคะ แต่เป็นน้ำตาลตัวดีนี่เองล่ะค่ะ เพราะต่อให้ระมัดระวังในการควบคุมไขมันมากแค่ไหน แต่ถ้าคุณยังเติมน้ำตาลไม่ยั้งมือก็จะส่งผลต่อสุขภาพได้เช่นกันค่ะ หลายคนคงพยายามที่จะควบคุมการรับประทานอาหารโดยการเลือกรับประทานอาหารพวกไขมันต่ำหรือไม่มีไขมัน แต่ก็อย่าลืมกันนะคะว่าอาหารพวกนี้ก็สามารถทำให้คุณอ้วนได้ ถ้ามีน้ำตาลฟรุกโตสอยู่ในปริมาณมาก เพราะร่างกายเราดูดซึมอาหารพวกนี้ได้เร็ว ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วยค่ะ ตามกลของไกร่างกายแล้ว ตับอ่อนจะผลิตอินซูลินออกมาเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด แต่ความจริงที่แสนจะโหดร้ายก็คือ ถ้าร่างกายของเราไม่ได้ใช้พลังงานมากพอ น้ำตาลที่เหลือก็จะถูกเปลี่ยนไปเป็นไขมันสะสมไว้ตามร่างกาย เราจึงเห็นได้ง่ายๆ ว่าทำไมเราถึงได้มีไขมันส่วนเกินโผล่มาตามหน้าท้อง ต้นขา และสะโพกได้ถึงเพียงนี้ แต่นั่นก็อีกแหละค่ะ มันเป็นสัญญาณเตือนแบบนัยๆ ว่าจะมีอีกสารพัดโรครอเข้ามารุมเร้าโดยที่เราไม่รู้ตัวด้วยเช่นกันค่ะ

 

2. น้ำตาลทำให้แก่เร็ว

เมื่อร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นประจำ จะเกิด ปฏิกิริยาไกลเคชั่น (Glycation) ที่จะไปเร่งกระบวนการเสื่อมของร่างกาย หรือเรียกง่ายๆว่าทำให้แก่เร็วขึ้นนั่นเองค่ะ ไกลเคชั่น เกิดจากโมเลกุลของน้ำตาลไปทำปฏิกิริยากับโปรตีนซึ่งเป็นส่วนประกอบของเซลล์ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกายเรา ทำให้เกิดสารขึ้นมากลุ่มหนึ่ง ที่เรียกว่า AGEs (Advanced Glycation End-Products) ซึ่งเป็นพิษต่อร่างกาย เจ้า AGEs นี้ ถ้าไปยุ่งเกี่ยวกับเซลล์ร่างกายบริเวณไหนเมื่อไหร่แล้วล่ะก็จะทำให้เซลล์บริเวณนั้นเสื่อมหรือมีการทำงานที่แย่ลง เมื่อมี AGEs มาก และนานวันเข้าก็จะทำให้เกิดการทำลายคอลลาเจนและใยโปรตีนที่ผิวหนังทำให้เกิดริ้วรอยและจุดด่างดำ แถมยังทำให้เซลล์สมองเสื่อมจนเกิดเป็นโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) และส่วนของผนังหลอดเลือดแดงก็จะแข็ง เปราะบาง และยืดหยุ่นน้อยลง ทำให้ เกิดโรคในระบบหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease) ได้ เกิดความเสื่อมของตับอ่อน ทำให้ผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ไม่เพียงพอ หรือผลิตได้แต่ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน = โรคเบาหวาน ถ้าไปทำปฏิกริยากับสายพันธุกรรม ก็จะทำให้การแบ่งตัวของเซลล์ผิดไปจากเดิม ทำให้ร่างกายเสื่อมอย่างถาวร

 

3. น้ำตาลทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ

คนที่ชอบกินอาหารหวานบ่อย ๆ สมดุลของแร่ธาตุชนิดต่างๆ จะรวนจนหาสมดุลไม่ได้ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้ติดเชื้อได้ง่าย มีรายงานกล่าวว่าการกินหวานมากทำให้เลือดมีธาตุแคลเซียมสูงขึ้น ฟอสฟอรัสลดลง ซึ่งอาจไปตกตะกอนสร้างปัญหานิ่วในไต นอกจากนี้การเผาผลาญน้ำตาลในร่างกายบ่อย ๆ ยังเร่งให้เกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดทั้งโรคหัวใจและมะเร็ง ทั้งนี้น้ำตาลยังทำให้อาการของโรคติดเชื้อที่เป็นอยู่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เพราะเชื้อโรคทุกชนิดใช้น้ำตาลเป็นอาหารนั่นเองค่ะ

 

4. น้ำตาลทำให้ฟันผุ

การรับกระทานอาหารไม่ว่าจะเป็นพวกข้าว แป้ง เมื่อร่างกายได้ทำการย่อยแล้วก็จะถูกกลายเป็นน้ำตาลแล้วก็จะถูกดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลใดๆ ในอาหาร แบคทีเรียในปากจะยังคงมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการย่อยสลายแป้ง และน้ำตาลที่คั่งค้างอยู่ในช่องปากทำให้เกิดกรดแล็กติก กรดแล็กติกนี้เองที่จะเป็นตัวทำลายเคลือบฟัน (enamel) ให้กร่อนและบางลงจนเกิดฟันผุในที่สุด

 

5. น้ำตาลทำให้ปวดท้อง ท้องอืด

การที่กระเพาะอาหารมีน้ำตาลมากเกิน ก็จะทำให้เกิดการหมักหมม มีส่วนที่ทำให้แบคทีเรียกลุ่มแล็กติกที่อยู่ในทางเดินอาหารผลิตกรดและแก๊สขึ้น จึงสามารถทำให้เกิดอาการท้องอืดหรือปวดท้องได้ค่ะ  

 

6. น้ำตาลทำให้ซึมเศร้า ไม่กระปรี้ประเปร่า

การกินน้ำตาลเยอะๆ จะส่งผลทำให้กรดอะมิโนที่ชื่อ “ทริปโตเฟน” ถูกเร่งให้ผ่านเข้าสู่สมองมากเกินไป สมดุลของฮอร์โมนในสมองเปลี่ยนแปลง ผลที่ตามมาคือเกิดอาการเหนื่อย เซ็ง ซึมเซา ง่วงหงาวหาวนอน ไม่กระฉับกระเฉงกระปรี้กระเปร่า

 

7. น้ำตาลก่อให้เกิดโรคเบาหวาน

คงจะหนีไม่พ้นโรคเบาหวาน เนื่องจากเมื่อน้ำตาลเข้าสู่ร่างกายก็จะถูกเปลี่ยนให้เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวที่เล็กพอจะเข้าสู่กระแสเลือด ทั้งนี้ก็เพื่อให้ร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานได้ ถ้าเราได้รับน้ำตาลในปริมาณสูง ระดับของน้ำตาลในเลือดก็จะสูงขึ้น ฮอร์โมนอินซูลินที่ถูกสร้างโดยตับอ่อนก็จะออกมาทำหน้าที่คอยลดปริมาณน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ การที่เรากินน้ำตาลมากๆ ทุกวัน ตับอ่อนก็ต้องทำงานหนักเพื่อเร่งการสร้างอินซูลิน และเมื่อนานๆเข้า ตับอ่อน ก็จะกลายเป็น ตับอ่อนล้า คือตับอ่อนเกิดภาวะเสื่อมจนผลิตอินซูลินได้ไม่เพียงพอที่จะไปคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ น้ำตาลในเลือดเลยสูงขึ้นจนเกิดเป็นโรคเบาหวานในที่สุด

 

8. น้ำตาลส่งผลต่อระดับคลอเรสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์

น้ำตาลฟรุกโตสที่ได้จากอาหารหลังจากถูกเปลี่ยนให้อยู่ในรูปไขมันแล้วจะถูกส่งออกจากตับและส่วนมากจะถูกส่งออกในรูปของ Very Low Denstiry Lipoprotein (VLDL) ซึ่งไขมันชนิดนี้เมื่อเข้าสู่กระแสเลือดจะถูกเปลี่ยนเป็นคลอเลสเตอรอลชนิด LDL (คลอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี) มีผลทำให้ไตรกลีเซอไรด์และคลอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้นค่ะ

 

9. น้ำตาลทำให้มีอารมณ์ดุร้ายได้ง่าย

“น้ำตาล” ที่มีรสหวานอร่อยลื่นลิ้นนั้น รู้หรือเปล่าคะว่าจะมีผลร้ายต่อระบบประสาทและภาวะอารมณ์ของคนเราค่ะ โดยจะก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ผิดปกติ เช่น ซึมเศร้า ก้าวร้าว ต่อต้านสังคม หรือ อาจจะรุนแรงถึงขั้นก่ออาชญากรรมไปเลยก็ว่าได้ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ได้อธิบายถึงการทำงานของน้ำตาลที่ไปมีผลต่ออารมณ์เอาไว้ว่า เมื่อน้ำตาลจำนวนมากเข้าไปในร่างกาย มันจะถูกดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือดภายในเวลาเพียง 10 นาทีเท่านั้น แล้วตับอ่อนก็จะหลั่งอินซูลินออกมา เพื่อขับน้ำตาลในเลือดส่วนเกินออกไป จนกระทั่งระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลง ก่อให้เกิดภาวะที่เรียกว่า Hypoglycemia ในภาวะดังกล่าว Cerebrum ซึ่งเป็นสมองส่วนที่สัมพันธ์กับการเรียนรู้ การคิดค้น พฤติกรรม จิตสำนึก และสติสัมปชัญญะ ก็จะปิดตัวลง พลังงานของสมองก็จะส่งผ่านไปยังก้านสมองซึ่งควบคุมสัญชาติญาณและกิริยาอาการดั้งเดิมของมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความก้าวร้าว รุนแรง ไร้เหตุผล ทำให้คนที่เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำนั้นสามารถทำอะไรโดยไม่ทันยั้งคิดได้ง่ายขึ้นเลยล่ะค่ะ

 

เหมือนอย่างที่คำโบราณได้บอกไว้ว่า “หวานเป็นลม ขมนั้นเป็นยา” ก็อย่างว่า อาหารที่มีรสชาติหวานละมุนก็ย่อมที่จะอร่อยกว่ารสชาติที่ขมเป็นไหนๆ แต่ก็อีกนั่นแหละค่ะ ว่าคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยุคสมัยเปลี่ยนไปตามการเวลา การผลิตเครื่องดื่ม ขนมหวาน สำเร็จรูป เกลื่อนกลาดเต็มท้องตลาดพร้อมให้จับจ่ายเลือกซื้อกัน ได้แต่หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยทำให้เข้าใจยิ่งขึ้น และเป็นแนวทางในการเลือกรับประทานอาหารมากขึ้นนะคะ 🙂

 

www.flickr.com/photos/zh3us/4774497262/

www.flickr.com/photos/andrein/5556815064/