Browse Tag: เด็กทารก

16 ประโยชน์ต่อสุขภาพจากผักปวยเล้ง (Spinach)

Source: Flickr (click image for link)

“ผักปวยเล้ง (Spinach)” ผักปวยเล้งที่หลายคนมักสับสนว่านั่นคือผักโขมจากการ์ตูนเรื่องป๊อบอายที่เคยดูกันตอนเด็กๆ กันเมื่อตัวป๊อบอายได้กินผักที่ชื่อว่า Spinach เข้าไปจะทำให้ร่างกายแข็งแรงตัวโตขึ้น แต่จริงๆ แล้วผักโขมมีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า ผักโขม (Amaranth) และผักใบเขียวทั้งสองชนิดนี้ก็เป็นพืชที่อยู่ตระกูลเดียวกันมีประโยชน์เหมือนกันค่ะ ผักปวยเล้งที่มีใบสีเขียวเข้มนี้ได้มีต้นกำเนิดมาจากทางตะวันออกกลางและแถบเปอร์เซียในสมัยโบราณนับพันๆ ปีมาแล้วค่ะ อีกทั้งยังเป็นผักที่ชาวอิหร่านนิยมรับประทานกันมากจนได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “Prince of Vegetables” กันเลยทีเดียว โดยจากชื่อที่นิยมเรียกกันว่าผักปวยเล้งออกเสียงเหมือนภาษาจีน ก็คงจะคิดว่ามีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน แต่ความจริงแล้วการเพาะปลูกผักโขมได้มีการแพร่กระจายไปยังประเทศเนปาล ซึ่งในศตวรรษที่สิบเจ็ดได้นำไปเผยแพร่ที่ประเทศจีนและในขณะนั้นก็ยังคงเรียกกันว่า “เปอร์เซียกรีน” เหตุผลที่มีชื่อว่าผักปวยเล้ง ซึ่งดูเหมือนว่ามาจากประเทศจีน ก็เนื่องจากว่าผักปวยเล้งได้มีการบันทึกชื่อเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ถังจึงได้มีชื่อเป็นภาษาจีนไปโดยปริยายค่ะ นอกจากประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจจากผักปวยเล้งนี้แล้วประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการจากผักปวยเล้งก็ไม่ธรรมดาเลยค่ะ ดังนั้นวันนี้เราเลยอยากนำข้อมูลของประโยชน์ทางสุขภาพจากผักปวยเล้งมาบอกกัน

 

16 ประโยชน์ต่อสุขภาพจากผักปวยเล้ง (Spinach)

Source: Flickr (click image for link)

1.ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง

การที่ผักปวยเล้งมีปริมาณโพแทสเซียมที่สูงมากอีกทั้งยังมีปริมาณโซเดียมต่ำ จึงส่งผลที่ประโยชน์ต่อผู้ที่ป่วยโรคความดันโลหิตสูง อีกทั้งโฟเลตที่มีอยู่ในผักปวยเล้งยังช่วยลดความดันโลหิตสูงและช่วยผ่อนคลายหลอดเลือดในขณะที่ยังรักษาระดับการไหลเวียนของโลหิตได้ดี จากการลดความดันโลหิตและผ่อนคลายความตึงของหลอดเลือด

2.บำรุงสายตา

เนื่องด้วยผักปวยเล้งมีวิตามินเอและสารแอนตี้ออกซิแดนท์ที่เรียกว่าเบต้าแคโรทีนที่สูง จึงไปช่วยสร้างสารโรดอปซินที่ส่งผลดีต่อการมองเห็นในเวลากลางคืนให้ดีขึ้นค่ะ  อีกทั้งยังเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระโดยไปต่อต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นซึ่งจะทำลายส่วนต่างๆ ของเซลล์ และทำให้เซลล์แบ่งตัวผิดปกติจนกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้อีกด้วย

 

3.มีประโยชน์ต่อระบบประสาท

ส่วนประกอบของผักปวยเล้ง จำพวก โปแตสเซียม โฟเลต และสารแอนตี้ออกซิแดนท์ต่าง ๆ เป็นประโยชน์ต่อระบบประสาทเมื่อเรารับประทานเป็นประจำสม่ำเสมอ โดยเฉพาะโฟเลตสามารถช่วยบำรุงสมองเพิ่มความจำลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ อีกทั้งโพแทสเซียมยังเป็นส่วนสำคัญของสมองเช่นกันซึ่งมีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับการเพิ่มการไหลเวียนของเลือดให้เพิ่มขึ้น

 

4.ช่วยลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร

พบว่าผักปวยเล้งและผักบางชนิดมีความสามารถในการป้องกันเยื่อเมือกของกระเพาะอาหารที่จะไปช่วยลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ glycoglycerolipids ที่พบในผักปวยเล้งยังสามารถเพิ่มความแข็งแรงของเยื่อบุทางเดินอาหาร และป้องกันการอักเสบที่ไม่พึงประสงค์ในส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายอีกด้วยค่ะ

 

5.รักษาและป้องกันโรคมะเร็ง

ผักป้วยเล้งมีส่วนประกอบที่สำคัญและมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายอย่างมากมาย อีกทั้งยังมีส่วนประกอบที่สำคัญที่พบว่ามีแนวโน้มในการรักษาและป้องกันโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ อีกด้วยค่ะ โดยเฉพาะมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งตับ และปอด ซึ่งส่วนประกอบสำคัญในผักปวยเล้งที่ว่านี้ คือ โฟเลต โทโคฟีรอล และคลอโรฟิลล์ ที่จะไปส่งผลต่อกลไกต่างๆ ในร่างกายและช่วยในการรักษาและป้องกันโรคมะเร็งค่ะ

 

6.ลดการเสื่อมสภาพของจอประสาทตา

Retinitis pigmentosa หรือ โรคอาร์พี (ตัวย่อ RP) เป็นโรคจอตาเสื่อมที่สามารถสืบทอดทางกรรมพันธุ์ที่เป็นเหตุแห่งความเสียหายต่อการเห็นอย่างรุนแรงถึงขั้นตาบอด ซึ่งเป็นผลมาจากการเสื่อมของ lutein และ xanthene ที่เป็นส่วนสำคัญของม่านตา แต่แล้วก็พบว่าการบริโภคผักปวยเล้งอาจส่งผลในการฟื้นฟูของเม็ดสีที่สำคัญสองสีและป้องกัน AMD ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผักปวยเล้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดผลกระทบที่เป็นอันตรายของอนุมูลอิสระซึ่งเป็นที่รู้กันว่าส่งผลเสียต่อวิสัยทัศน์และทำให้เกิดสภาวะที่เกี่ยวข้องกับอายุ เช่น โรคต้อหิน

 

7.ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กทารกในครรภ์

สิ่งที่จำเป็นต่อเด็กทารกในครรภ์ในส่วนของการเจริญเติบโตของระบบประสาทของทารกน้อยนั้นก็คือ โฟเลตค่ะ ซึ่งในผักปวยเล้งมีสารสำคัญนี้อยู่ไม่น้อยเลยค่ะ โดยโฟเลตนี้จะช่วยแก้ไขข้อบกพร่องจำพวก โรคปากแหว่งเพดานโหว่ หรือ spina bifida ที่อาจเกิดขึ้นจากการขาดโฟเลต อีกทั้งเมื่อคุณแม่รับประทานผักปวยเล้งเข้าไปนอกจากโฟเลตที่ได้รับยังจะได้รับวิตามินเอที่มีในผักปวยเล้งอีกด้วย ซึ่งวิตามินเอเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาปอดของทารกในครรภ์ได้ดีและสามารถถ่ายทอดทางน้ำนมได้อีกด้วยค่ะ ดังนั้นการบริโภคผักปวยเล้งจึงเหมาะแก่การรับประทานหลังคลอดด้วยเช่นกันค่ะ

 

8.ลดการอักเสบ

เนื่องด้วยในผักปวยเล้งพบว่าสารต้านการอักเสบอยู่มากมายหลายชนิดเลยทีเดียว โดยถูกแบ่งจำแนกเป็น methylenedioxy flavonoid และ glucuronides อีกทั้งผักปวยเล้งยังเป็นผักที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการลดการอักเสบทั่วตามร่างกาย รวมถึงการป้องกันโรคมะเร็งและการการป้องกันหัวใจจากการอักเสบซึ่งก่อให้เกิดอันตราย โดยยังไปลดการอักเสบของอาการปวดที่เกี่ยวข้องกับโรคข้ออักเสบและโรคเกาต์อีกด้วยค่ะ

 

9.เสริมสร้างกล้ามเนื้อ

ในผักปวยเล้งมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่มีหน้าที่สำคัญในการเสริมสร้างกล้ามเนื้อจากโคเอ็นไซคิวเท็น (Co – Q10) ซึ่งสารสำคัญตัวนี้ยังช่วยป้องกันและรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดหลายชนิดได้จากการที่ไปช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อหัวใจให้ทำงานได้แข็งแรงในการสูบฉีดเลือดไปใช้ในทุกส่วนของร่างกายเรา จึงส่งผลในการลดภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันนั่นเองค่ะ

 

10.ช่วยเร่งการเผาผลาญ

ผักปวยเล้งติดอันดับต้นๆ ของอาหารที่ช่วยเร่งการเผาผลาญซึ่งเป็นหัวข้อที่ได้โพสไปไม่นานมานี้ค่ะ ซึ่งก็เหมาะทีเดียวกับคนที่ต้องการคบวคุมน้ำหนักหรือต้องการโปรตีนจากพืชผัก เนื่องจากปริมาณโปรตีนที่พบในผักปวยเล้งช่างน่าสนใจกว่าผักหลายชนิดเลยทีเดียว อีกทั้งยังพบว่าสามารถย่อยสลายได้ง่ายจากเอนไซม์ของกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อมนุษย์และผักปวยเล้งยังสามารถลดความกระหายและความหิวซึ่งสามารถช่วยในการลดน้ำหนักได้อีกด้วยค่ะ

 

11.ป้องกันภาวะหลอดเลือดแข็ง

โรคภาวะหลอดเลือดแข็งไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับใครก็คงเป็นฝันร้ายและคงไม่มีใคอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเองอย่างแน่นอน ซึ่งภาวะหลอดเลือดแข็งนี้เกิดจากการแข็งตัวของหลอดเลือดแดง เม็ดสีที่สำคัญที่พบในผักปวยเล้ง คือ lutein พบว่าสามารถช่วยลดการเกิดภาวะหลอดเลือด หัวใจวาย และโรคหลอดเลือดในสมอง อีกทั้งโปรตีนจากผักปวยเล้งยังมีแนวโน้มลดคอเลสเตอรอลและไขมันในเส้นเลือดอื่น ๆ ในร่างกายอีกด้วยค่ะ

 

12.ช่วยเสริมสร้างกระดูก ฟัน และเล็บ

ถ้ามองหาอาหารเพื่อรับประทานในการเสริมสร้างกระดูกและฟันอยู่แล้วล่ะก็ ลองเดินออกไปที่ซุปเปอร์มาเก็ตแล้วอย่ารีรอที่จะหยิบผักปวยเล้งมาประกอบอาหารหรือจะรับประทานแบบสดๆ ก็ไม่ว่ากัน เนื่องจากผักปวยเล้งเป็นแหล่งสุดยอดของวิตามินเค โดยวิตามินเคจะไปทำหน้าที่ในการรักษาแคลเซียมไว้ในเมทริกซ์กระดูก ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดแร่ธาตุกระดูก นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุอื่น ๆ อย่างเช่นแมงกานีส ทองแดง แมกนีเซียม สังกะสี และฟอสฟอรัสที่จะไปช่วยในการสร้างกระดูกให้แข็งแรงอีกด้วย อีกทั้งยังสามารถป้องกันโรคกระดูกพรุนด้วยเช่นกันค่ะ

 

13.ปกป้องผิวพรรณ

สารต่อต้านอนุมูลอิสระจาก phytonutrients ในผักปวยเล้งได้ส่งผลต่อสุขภาพผิวของเราโดยการทำให้ผิวเราแข็งแรงขึ้น ปกป้องผิวของเราจากรังสีที่เป็นอันตรายจากแสงอาทิตย์รวมทั้งรังสียูวี นอกจากปกป้องผิวเราให้แข็งแรงแล้วยังช่วยซ่อมยีนส์ที่เกิดจากความเสียหายด้วยค่ะ เพราะอย่างนี้จึงส่งผลที่สำคัญต่อการป้องกันมะเร็งผิวหนังในระยะยาว

 

14.มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของเด็กทารก

จากการ์ตูนเรื่องป๊อบอายที่เมื่อรับประทานผักปวยเล้งแล้วจะทำให้ร่างกายโตขึ้นและแข็งแรงเพื่อการต่อสู้ปกป้องคนที่เขารักได้นั้นก็เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้เด็กๆ ที่ไม่ชอบทานผักได้หันมาทานผักกัน โดยเฉพาะผักปวยเล้งที่มีโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุมากมายที่ดีต่อการการพัฒนาตามวัยของการเจริญเติบโตที่สำคัญของเด็ก จึงมีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของเด็กนั่นเองค่ะ

 

15.ลดความเสี่ยงต่อโรคต้อกระจก

พบว่าสารที่อยู่ในผักปวยเล้งอย่าง lutein และ zeaxanthin ซึ่งทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีต่อสุขภาพสายตา โดยสามารถช่วยในการป้องกันดวงตาจากผลกระทบที่รุนแรงของรังสียูวีที่สามารถนำไปสู่ต้อกระจก นอกจากนี้ยังลดผลกระทบของอนุมูลอิสระซึ่งอาจเป็นสาเหตุสำคัญของต้อกระจกและภาวะสายตาอื่น ๆ อีกด้วยค่ะ

 

16.ดีต่อการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ดีอย่างไรน่ะหรอ? พบว่าผักปวยเล้งมีประสิทธิภาพในการต่อต้านการรุกลามของมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยเกี่ยวข้องกับสาร Epoxyxanthophylls (อีพ็อกซี่แซนโทฟิล) ที่เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มของคาโรทีนอยด์ เช่นเดียวกับสาร neoxanthin และ violaxanthin ซึ่งสารสำคัญนี้จะไปช่วยยับยั้งและต่อต้านการเจริญเติบโตของเนื้องอกที่ทำการแพร่กระจายของมะเร็งตามทั่วร่างกายได้อย่างรวดเร็ว

 

จะเห็นได้ว่าผักปวยเล้งมีคุณค่าทางโภชนาการมากมายและดีต่อสุขภาพหลายอย่างจนอยากจะซื้อมารับประทานให้ได้ทุกวันยิ่งดี แต่อย่างไรก็ดีการเลือกรับประทานแบบพอดีพอเหมาะจะเป็นทางเลือกที่ดีเสมอ เนื่องจากข้อควรระวังของการเลือกรับประทานผักปวยเล้งคือ เมื่อได้รับประทานมากเกินไปกรดออกซาลิกที่อยู่ในผักปวยเล้งอาจจะไปรวมตัวกับแคลเซียมแล้วเกิดการตกตะกอนจนก่อให้เกิดโรคนิ่วเอาได้ โดยเฉพาะอาจจะต้องพึงระวังกันเป็นพิเศษสำหรับคนที่เป็นโรคนิ่วหรือโรคเกาต์ค่ะ

 

 

www.flickr.com/photos/smiteme/8256262560/

www.flickr.com/photos/joeyz51/39014341550/

ไอโอดีน คืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร

seafood-1
Source: Flickr (click image for link)

ไอโอดีน (iodine) หรือ สารไอโอดีน ถ้าพูดถึงไอโอดีนหรือสารไอโอดีนก็คงจะนึกถึงความเค็ม หรือเกลือกันใช่ไหมล่ะคะ ไอโอดีนเป็นอีกตัวหนึ่งที่อยู่ในหมู่เกลือแร่หรือแร่ธาตุ บางคนก็อย่าได้คิดว่าแร่ธาตุตัวนี้จะไม่สำคัญนะคะ เพราะถ้าเราขาดมันขึ้นมาล่ะก็…ไม่เป็นผลดีแน่ๆค่ะ เอาล่ะ วันนี้จะมาบอกให้เราเข้าใจเกลือแร่ตัวนี้กันว่ามันคืออะไรและมีความสำคัญอย่างไรค่ะ ไอโอดีนหรือสารไอโอดีน นั้นเป็นธาตุเคมีที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติแต่จะมีปริมาณน้อย เช่นอยู่ในทะเล และแน่นอนว่าเราคงจะไม่มานั่งดื่มน้ำทะเลเพื่อให้ได้สารไอโอดีนกันหรอกจริงไหม มันก็ต้องอยู่ในอาหารทะเลที่เรารับประทานกันทุกวันนี่ล่ะค่ะ ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่าคนที่อยู่แถบภาคเหนือและอีสานจะเป็นโรคคอพอกและเอ๋อ ปัญญาอ่อนกันเป็นส่วนมากเนื่องจากเป็นที่ราบสูงอยู่ห่างไกลจากทะเล จึงไม่มีโอกาสได้รับประทานอาหารทะเลบ่อยๆ ไอโอดีนจะพบมากในสัตว์และพืชในทะเลเนื่องจากมีสารไอโอดีนอยู่สูง ซึ่งสารไอโอดีนนี้เป็นธาตุที่จําเป็นต่อร่างกายถึงแม้ว่าจะต้องการเพียงเล็กน้อยแต่ก็ขาดไม่ได้เช่นกันค่ะ เนื่องจากความสําคัญของไอโอดีนต่อร่างกาย เป็นส่วนประกอบที่จําเป็นในการผลิตฮอร์โมนของต่อมธัยรอยด์ซึ่งต่อมธัยรอยด์นั้นจําเป็นต้องใช้ไอโอดีนเพื่อสร้างฮอร์โมน ชื่อว่า “ธัยรอกซิน” ซึ่งฮอร์โมนนี้จําเป็นสําหรับควบคุมการทําหน้าที่และเสริมสร้างการเจริญเติบโตตามปกติของสมองประสาทและเนื้อเยื่อของร่างกาย

ภาวะขาดไอโอดีน

  1. ภาวะขาดไอโอดีนยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลก ประมาณว่าประชากรกว่าพันล้านคน โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาประสบปัญหานี้ นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะปัญญาอ่อน ในประเทศไทยภาวะขาดไอโอดีนพบในที่ห่างไกลทะเล ในหมู่บ้านยากจนในแถบถิ่นภูเขา บางแห่งเกิดคอพอกจากภาวะขาดไอโอดีนกันเกือบทั้งหมู่บ้าน การแก้ไขปัญหาภาวะขาดไอโอดีนยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจ และสังคม จากการวิเคราะห์ดินที่จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นถิ่นของโรคเมื่อเทียบกับดินที่กรุงเทพ พบว่ามีไอโอดีนน้อยกว่าถึง 7 เท่า
  2. การกำหนดความรุนแรงของภาวะขาดไอโอดีน จะถือว่าขาดเล็กน้อยเมื่อผู้นั้นได้รับไอโอดีนระหว่าง 50-100 ไมโครกรัมต่อวัน สำหรับขาดปานกลางเมื่อผู้นั้นได้รับไอโอดีนระหว่าง 25-50 ไมโครกรัม และจะถือว่าขาดรุนแรงเมื่อได้รับไอโอดีนน้อยกว่า 25 ไมโครกรัมต่อวัน

 

เกี่ยวกับไอโอดีน (iodine) หรือ สารไอโอดีน

  • ไอโอดีน เป็นธาตุเคมีที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติแต่จะมีปริมาณน้อย
  • ไอโอดีน เป็นสารที่พบมากในเนื้อสัตว์และพืชในทะเล เช่น  อาหารทะเล สาหร่ายทะเล นอกจากนี้ยังได้สารไอโอดีนจากเกลือทะเลอีกด้วย
  • ไอโอดีน เป็นส่วนประกอบที่จําเป็นในการผลิตฮอร์โมนของต่อมธัยรอยด์
  • ไอโอดีน ต่อมไทรอยด์นำไอโอดีนเป็นส่วนสำคัญในการสังเคราะห์ฮอร์โมน
  • ไอโอดีน ความต้องการไอโอดีนที่แนะนำต่อวันคือ 150 ไมโครกรัมต่อวันในผู้ใหญ่ และ 200 ไมโครกรัมต่อวัน ในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ และให้นมบุตร
  • ไอโอดีน ในเกลือต้องมีไอโอดีนอย่างน้อย 30 พีพีเอ็ม คือ เกลือหนัก 1 กรัม มีไอโอดีนอยู่ 30 ไมโครกรัมนั่นเอง
  • ไอโอดีน ผลจากการขาดสารไอโอดีน หญิงแท้งง่าย ชายเซ็กส์เสื่อม เด็กพิการแต่กำเนิด ในผู้ใหญ่ คอพอก เอ๋อ ปัญญาอ่อน
  • ไอโอดีน เป็นธาตุที่ระเหยเป็นไอได้ เมื่อไอโอดีน จากทะเลระเหยมาพร้อมกับน้ำเป็นเมฆและฝนตกลงสู่พื้นดิน พื้นดินจะกลับมีไอโอดีนอีกครั้ง
  • ไอโอดีน กระตุ้นให้มีการหลั่งน้ำนมมากขึ้น
  • ไอโอดีน เด็กที่เกิดจากแม่ที่มีปัญหาไทรอยด์มักมีไอคิวต่ำกว่า 85
  • ไอโอดีน แม้ว่าร่างกายต้องการสารไอโอดีนเพียงแค่ 150 ไมโครกรัมเท่านั้น แต่ก็ขาดไม่ได้แม้แต่วันเดียว เพราะร่างกายไม่สามารถสะสมไว้ได้

 

 

ประโยชน์ของไอโอดีน (iodine)

 

ช่วยในการทำงาน และเจริญเติบโตของต่อมไทรอยด์  และเป็นส่วนประกอบของฮอร์โมนไทรอกซิน ผลิตโดยต่อมไทรอยด์ มีหน้าที่ควบคุมอัตราเมแทบอลิซึมของร่างกาย การทำงานของต่อมธัยรอยด์มีผลต่อสภาพจิตใจ สภาพของผม ผิวหนัง เล็บ และ ฟัน ของร่างกาย การเปลี่ยนของแคโรทีนเป็นวิตามินเอ การสังเคราะห์ โปรตีน โดย ไรโบโซม และการดูดซึมน้ำตาลจากลำไส้เล็กทั้งหมดนี้จะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อการผลิตไทรอกซิน เป็นไปตามปกติ การสังเคราะห์โคเลสเตอรอลถูกกระตุ้นโดยระดับของไทรอกซิน

 

ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโต และกระตุ้นอัตราการเผาผลาญ โดยช่วยร่างกายเผาผลาญไขมันที่มาก

 

กระตุ้นให้หัวใจทำงานได้ดีขึ้น

 

ช่วยให้ร่างกายผลิตพลังงานได้ตามปกติ

 

เพิ่มการเคลื่อนย้ายแคลเซียม และฟอสฟอรัสจากกระดูก

 

ช่วยในการขับถ่ายปัสสาวะและควบคุมการกระจายของน้ำตามอวัยวะต่างๆ

 

กระตุ้นให้มีการหลั่งน้ำนมมากขึ้น

 

ควบคุมประสาท ให้มีกำลังคล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง ตลอดถึงการพูด ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับความมีประสิทธิภาพของต่อมไทรอยด์

 

 

ปริมาณของไอโอดีนที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน

หากขาดสารไอโอดีน จะมีภาวะผิดปกติแตกต่างกันไป เช่น ช่วงทารกในครรภ์ถึงแรกเกิดจะทำให้เกิดการแท้งหรือตายก่อนกำหนดได้ง่าย หรือหากไม่ตาย คลอดออกมาทารกก็จะพิการแต่กำเนิด คือ หูหนวก ขาแข็ง กระตุก ตาเหล่ รูปร่างแคระแกร็น และสติปัญญาเสื่อมจนถึงปัญญาอ่อน หรือที่เรียกว่าเป็นเอ๋อ ส่วนวัยเด็กถึงวัยรุ่นร่างกายจะเจริญเติบโตช้า สติปัญญาด้อยลงกว่าคนปกติและมีอาการคอพอก ขณะที่วัยผู้ใหญ่จะมีอาการคอพอก เหนื่อยง่าย ไม่สดชื่น สมรรถนะในการทำงานลดลง ร่างกายและจิตใจเสื่อมถอย หากเป็นเพศชายจะมีอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ สำหรับผู้หญิงประจำเดือนอาจมาไม่ปกติ

ในร่างกายปกติ ระดับของไอโอดีนในเลือดจะมีค่าประมาณ 8-15 ไมโครกรัม/100 มิลลิลิตร และจับกับพลาสม่าโปรตีนอยู่ประมาณ 6-8 ไมโครกรัม/100 มิลลิลิตร ข้อกำหนดสารอาหารควรรับประทานไอโอดีนให้ได้วันละ 150 ไมโครกรัมต่อวัน แต่ถ้ารับประทานเพียงวันละ 50 ไมโครกรัม ก็สามารถที่จะป้องกันโรคคอพอกได้แล้ว

ในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะให้มีเกลือเสริมไอโอดีนจำหน่ายและกระจายทั่วประเทศ โดยที่เกลือต้องมีไอโอดีนอย่างน้อย 30 พีพีเอ็ม ซึ่งหมายถึง เกลือล้านส่วนจะมีไอโอดีนอยู่ 30 ส่วน ถ้าแปรผลในรูปของน้ำหนัก หมายถึงเกลือหนัก 1 กรัม มีไอโอดีนอยู่ 30 ไมโครกรัมนั่นเอง ดังนั้น ถ้าวันหนึ่งเรารับประทานเกลือ(เสริมไอโอดีน)โดยเฉลี่ย 2 กรัมจะได้รับไอโอดีนวันละ 60 ไมโครกรัม ซึ่งพอเพียงที่จะป้องกันการเกิดโรคจากการขาดไอโอดีนหรือโรคคอพอกได้

 

www.flickr.com/photos/nanophoto69/5015992000/