Browse Tag: เบาหวาน

ควีนัวคืออะไร มีคุณค่าและประโยชน์อย่างไร

Source: Flickr (click image for link)

มาถึงอีกชนิดหนึ่งของอาหารที่ได้ถูกยกให้เป็นสุดยอดของอาหาร (Super Food) อีกอย่างหนึ่งเลยทีเดียว และจะไม่พูดถึงไม่ได้อย่างแน่นอนจากหัวข้อที่แล้วเกี่ยวกับ เมล็ดเจีย (Chia Seed) ซึ่งคิวต่อไปก็ต้องเป็นสุดยอดอาหารชนิดนี้เลยค่ะ และใครหลายคนต่างก็คงจะทราบกันบ้างอยู่แล้วสำหรับ “ควีนัว (Quinoa)” โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่หันมารักสุขภาพกันมากขึ้นคงไม่พลาดอาหารชนิดนี้เป็นอย่างแน่นอน และสำหรับในคนที่ยังกำลังหาข้อมูลหรือลังเลในการเลือกอาหารชนิดนี้มาลองรับประทาน ก็เร่เข้ามาทางนี้ได้เลยค่ะเดี๋ยวเราจะได้ทราบข้อมูลที่น่าสนใจนี้ไปพร้อมๆ กัน ถูกยกให้เป็นสุดยอดอาหารซะขนาดนี้แสดงว่าไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน โดยวันนี้จะเขียนรายละเอียดความเป็นมาและคุณค่าทางโภชนาการของควีนัวนั้นมีมากมายขนาดไหน ทำไมถึงได้นิยมกันมากนักในกลุ่มของคนที่รักสุขภาพ ควีนัว ได้ถูกจัดให้เป็นสุดยอดอาหารหรือ Super Food อย่างแท้จริงนี้ในปี 2013 ทางองค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้เป็นปีแห่งควีนัวเลยทีเดียวเชียวค่ะ แค่นี้ก็ทำให้อยากรู้ซะแล้วสิว่าเจ้าควีนัวนี้มีคุณค่ามากมายยังไงและมีประโยชน์อย่างไรบ้าง จะเข้ามาดูแบบผ่านๆ หรือจะมาเก็บข้อมูลก็ไม่ว่ากันค่ะข้อแค่บล็อกเกี่ยวกับสุขภาพที่ทำขึ้นมานี้ ได้แบ่งปันข้อมูลข่าวสารและสามารถเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านก็เพียงพอใจแล้วค่ะ อย่างนี้เรารีบมาอ่านข้อมูลของควีนัวกันเลยดีว่าเนอะ

 

ควีนัว (Quinoa) คืออะไร มีคุณค่าและประโยชน์อย่างไรบ้าง

Source: Flickr (click image for link)

ถึงแม้ว่าควีนัวจะเพิ่งมาเป็นที่รู้จักและเป็นที่สนอกสนใจนิยมกันเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาไม่นานนี้เองค่ะ โดยเฉพาะในกลุ่มของคนที่รักสุขภาพแต่รู้หรือเปล่าคะว่าควีนัวมีอายุยาวนานมากถึง 7,000 ปีมาแล้ว (นี่เราไปอยู่ไหนมา) ก็อาจจะเป็นเพราะว่าควีนัวเป็นพืชพันธุ์พื้นเมืองที่มีถิ่นกำเนิดอยู่บนเทือกเขาแอนดิสทางแถบทวิปอเมริกาใต้ของประเทศเปรู โบลิเวีย โคลอมเบีย ชิลี และเอกวาดอร์ นู่นแน่ะ เราจึงยังไม่ได้รู้จักกันให้เร็วกว่านี้สิน่ะ แล้วควีนัวเนี่ยก็ยังเป็นอาหารชั้นยอดของชาวอินคาโบราณอีกด้วยค่ะ โดยชาวอินคาได้ขนานนามให้กับพืชชนิดนี้ว่า “”the gold of the Incas” หรือ “ขุมทองของอินคา” นั่นเอง เพราะชาวอินคามีความเชื่อและถือว่าเจ้าเมล็ดควีนัวนั้นเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ ทั้งยังทำการเพาะปลูกกันมานานแสนนานแล้วมากกว่าสามถึงสี่พันปีซะอีกค่ะ ด้วยลักษณะรูปร่างหน้าตาของเมล็ดควีนัวนั้นเหมือนกับธัญพืชเป็นเม็ดเล็กและกลม อีกทั้งยังมีหลักการในการรับประทานเหมือนกับข้าวสาลี ข้าวไรย์ ข้าวบาร์เลย์ หรือข้าวโอ๊ต หลายคนเลยเรียกกันว่าข้าวควีนัว ซึ่งในต่างประเทศเขาก็นิยมนำควีนัวมารับประทานกันแทนข้าวหรือพาสต้า แต่จริงๆ แล้วควีนัวนั้นยังจัดเป็นพืชตระกูลที่มีชนิดใกล้เคียงกับหัวบีท ผักขม และผักปวยเล้ง ซึ่งควีนัวจะมีทั้งหมด 3 ประเภทหลักๆ ได้แก่ สีขาว สีแดงและสีดำ

Source: Flickr (click image for link)

ถึงแม้ว่าควีนัวจะมีประวัติที่ยาวนานและได้ล่วงเลยผ่านมาหลายพันปีแล้ว แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ควีนัว ก็กลับได้รับความนิยมและความสนใจกันเป็นอย่างมากอีกครั้งด้วยความที่ควีนัวมีประโยชน์ต่อสุขภาพและให้คุณค่าทางโภชนาการที่สูง จนในปี 1982 ประเทศสหรัฐอเมริกาถึงขั้นได้ออกประกาศแนะนำให้รัฐโคโลราโดปลูกพืชชนิดนี้ เนื่องจากกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากในกลุ่มประเทศที่พื้นที่ไม่สามารถปลูกได้ทั่วไปค่ะ ซึ่งคนไทยก็เริ่มรู้จักกันในวงกว้างและนิยมไปซื้อมารับประทานแต่ควีนัวก็ยังคงเป็นพืชที่ประเทศไทยยังคงนำเข้ามา และเราอาจจะพบเห็นได้กันตามซูปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปค่ะ

 

ทำไม ควีนัว (Quinoa) ถึงได้ถูกยกให้เป็นสุดยอดอาหารหรือ Super Food

หลายคนที่ยังสงสัยว่าความแตกต่างของพืชที่เรียกว่า ควีนัว ซึ่งละม้ายคล้ายคลึงกับชนิดของอาหารประเภทธัญพืชอย่าง ข้าวต่างๆ อีกทั้งกรรมวิธีในการทำก็ถือว่าทำแบบเดียวกับการหุงข้าวเลยก็ว่าได้ และก็คงมีความคิดขึ้นมาว่าอย่างนี้ก็คงไม่ต่างกับข้าวที่ให้แป้งหรือคาร์โบไฮเดรตที่สูงแล้วอย่างนี้จะเพื่อสุขภาพได้อย่างไร เพราะที่แน่ๆ คนที่กำลังควบคุมข้าว แป้ง น้ำตาล คงจะไม่ชอบใจแน่ๆ งั้นจะบอกอีกทีก็ได้ค่ะว่า ควีนัว ในทางพฤกษาศาสตร์แล้วเป็นพืชตระกูลเครือเดียวกันกับพืชตระกูลผักขม หัวบีท ถึงจะมีคาร์โบไฮเดรตอยู่แต่ก็จะไม่มากเท่าพวกข้าว แถมนั่นก็หมายความว่าควีนัวนั้นปราศจากกลูเต้นหรือ Gluten Free นั่นเอง ใครที่แพ้ก็หายห่วงค่ะ และที่พิเศษของ ควีนัว คือเขามีโปรตีนและไฟเบอร์สูงอยู่เยอะมากรวมถึงสารอาหารต่างๆ ที่สำคัญมากมายเลยทีเดียวค่ะ อ่ะพูดเฉยๆ ก็คงไม่เห็นภาพ เดี๋ยวไปดูสารอาหารและคุณค่าทางโภชนาการของ ควีนัว กันเลยดีกว่าค่ะ

 

คุณค่าทางโภชนาการของควีนัวสุกในปริมาณ 1 ถ้วย (185 กรัม)

ให้พลังงาน 222 กิโลแคลอรี่

น้ำ                                                                  —–> 72%

คาร์โบไฮเดรต                       39.4 กรัม           —–> 21.3%

น้ำตาล                                    1.6 กรัม

ใยอาหาร                                 5.2 กรัม

โปรตีน                                     8.1 กรัม           —–> 4.4%

ไขมัน                                       3.6 กรัม          —–> 1.92%

ไขมันอิ่มตัว                            0.43 กรัม

ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว           0.98 กรัม

ไขมันไม่อิ่มตัว                        1.99 กรัม

กรดไขมันโอเมก้า 3               0.16 กรัม

กรดไขมันโอเมก้า 6                1.8  กรัม

 

วิตามินอี                                   6%

ไทอะมีน                                  13%

แมงกานีส                                58%

แมกนีเซียม                              30%

ฟอสฟอรัส                               28%

โฟเลต                                     19%

ทองแดง                                  18%

ธาตุเหล็ก                                 15%

สังกะสี                                     13%

โพแทสเซียม                             9%

 

จากข้อมูลทางโภชนาการของสารอาหารต่างๆ ที่มีอยู่ในควีนัวเพียงแค่ 1 ถ้วยยังให้ค่าสารอาหารต่างๆ ล้นหลามขนาดนี้ คงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมถึงได้ถูกยกให้เป็นสุดยอดอาหารแห่งปี 2013 อีกทั้งยังเป็นชนิดของอาหารที่เหมาะกับคนที่รักสุขภาพเป็นอย่างมากแถมรสชาติอร่อยด้วยนะเออ รอช้าอยู่ใยไปค่ะไปหามาหุงมารับประทานกัน!

 

อ้างอิง : ข้อมูลสารอาหารทางโภชนาการจาก https://authoritynutrition.com/foods/quinoa/

www.flickr.com/photos/sweetbeetandgreenbean/3251067698/

www.flickr.com/photos/mariano-mantel/17006176929/

www.flickr.com/photos/65173362@N07/10935422944/

คาร์โบไฮเดรตชนิดที่ดีเและชนิดที่ไม่ดี

bread-1
Source: Flickr (click image for link)

“คาร์โบไฮเดรต” เป็นสารอาหารหลักที่ให้พลังงานแก่ร่างกายของเรา ถ้าพูดถึงอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตในกลุ่มของคนที่กำลังลดน้ำหนักอยู่ก็คงจะคิดว่าอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตนั้นเป็นสิ่งต้องห้าม และถ้าอยู่ในกลุ่มของคนที่รักสุขภาพนั้นอาจจะให้ความสนใจในการรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ และจะให้ข้ามหมู่ใดหมู่นึงก็คงจะยาก แล้วทราบกันหรือปล่าวล่ะคะว่าคาร์โบไฮเดรตนั้นมีอยู่ 2 กลุ่ม ซึ่งก็มีกลุ่มที่ควรรับประทานและกลุ่มที่ไม่ควรรับประทาน หรือเรียกง่ายๆว่ากลุ่มที่ดีและไม่ดี วันนี้เลยอยากให้มาทำความเข้าใจกันหน่อยว่าอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่สามารถเลือกรับประทานได้ แม้เราจะอยู่ในช่วงที่กำลังควบคุมน้ำหนักอยู่ก็ตามแถมยังดีต่อสุขภาพของเรานั้นมีอยู่จริงค่ะ ดังนั้นวันนี้เลยนำข้อมูลมาแชร์และอยากให้ทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กันค่ะ แล้วเมื่อเราเข้าใจมากขึ้นก็จะได้เลือกและปรับให้เข้ากับไลฟ์สไตล์การรับประทานของเรา อย่างไรก็ดีการรับประทานอาหารที่ครบและหลากหลายนั้นเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพเรามากกว่าค่ะ เพราะงั้นเราไปทำความเข้าใจกับชนิดของ อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต กันเลยค่ะ

 

คาร์โบไฮเดรตชนิดที่ดีและคาร์โบไฮเดรตชนิดที่ไม่ดี

carbohydrate-2
Source: Flickr (click image for link)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

โดยทางวิทยาศาสตร์ได้แบ่งคาร์โบไฮเดรตออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ตามโครงสร้างทางเคมีก็คือ “คาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว” และ ‘’คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน’’ ดังนี้

 

1.คาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว (Simple Carbohydrates) หรือ คาร์โบไฮเดรตย่อยง่าย

คาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว มีโครงสร้างทางเคมีเป็นน้ำตาล 1-2 โมเลกุล เป็นคาร์โบไฮเดรตพื้นฐาน เมื่อรับประทานเข้าสู่ร่างกายจะมีการย่อยเพียงเล็กน้อยหรือบางชนิดร่างกายเราก็สามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและนำไปใช้ได้เลยทันทีและจะไปเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดอย่างฉับพลัน ทำให้รู้สึกมีพลังงานขึ้นทันที

ได้แก่จำพวก น้ำตาลชนิดต่างๆที่รับประทานทั่วไป อาทิ น้ำตาลทราย (น้ำตาลซูโครส) ที่ใช้ในการประกอบอาหารต่างๆ น้ำตาลแลคโตสที่พบในนม น้ำตาลฟรุกโตสที่พบในผลไม้ ผักต่างๆ และน้ำผึ้ง น้ำตาลมอลโตสที่พบในเมล็ดพืชที่งอก รวมถึงพวกแป้งขัดขาว ข้าวขาว ขนมปังขาว

ในส่วนของน้ำตาลนั้นก็คือพลังงานของร่างกาย แต่เมื่อมีพลังงานเข้าสู่ร่างกายปริมาณมากเกินไปพลังงานส่วนเกินก็จะถูกแปรรูปเป็นไขมันเพื่อสะสมเป็นพลังงานสำรอง ทำให้มีไขมันสะสมตามส่วนต่างๆของร่างกายมากขึ้น และเมื่อมีระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงเกินไปตับอ่อนก็จะผลิตฮอร์โมนอินซูลินออกมาเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในภาวะปกติ แต่ถ้าเราทานแป้งขัดขาวมากจนเป็นนิสัยตับอ่อนก็จะทำงานมากขึ้น เมื่อถึงจุดที่ฮอร์โมนอินซูลินถูกผลิตออกมามากจนเกินไป จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างรวดเร็วและทำให้รู้สึกอ่อนเพลียมากกว่าเดิม หากเป็นมากอาจหน้ามืดเป็นลมซึ่งเป็นกระบวนการที่นำไปสู่การเป็นเบาหวานนั่นก็คือการผลิตฮอร์โมนอินซูลินบกพร่องค่ะ

 

2.คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (Complex Carbohydrates) หรือ คาร์โบไฮเดรตย่อยยาก

คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน มีโครงสร้างทางเคมีที่ยาวกว่าตั้งแต่ 3-4 โมเลกุลต่อกันจนถึงต่อกันยาวมาก

ได้แก่จำพวก แป้งไม่ขัดขาว ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังธัญพืช(โฮลวีต) เมล็ดพืช ธัญพืชเผือก มัน ข้าวโอ๊ต ถั่ว ผักสีเขียวและเหลือง มันหวาน และผักที่มีแป้งสูง ได้แก่ ผักหัวต่างๆ ผลไม้

ความแตกต่างของคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนกับคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวนั้นก็คือ คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนนั้นเมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะค่อยๆ ถูกย่อย คือร่างกายต้องใช้เวลาในการย่อยให้เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวก่อนที่จะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายที่ผนังเซลล์ลำไส้เล็กและเข้าสู่กระแสเลือดต่อไป เนื่องจากในแป้งไม่ขัดขาวยังมีคุณค่าอย่างอื่นอีกเช่นวิตามิน แร่ธาตุบางชนิดรวมถึงเส้นใยอาหาร ดังนั้นร่างกายจึงค่อยๆ ดูดซึมสารอาหารจากแป้งที่ไม่ผ่านการขัดสี ในกระบวนการเปลี่ยนจากแป้งเป็นน้ำตาลจึงช้ากว่าแป้งขัดขาว ทำให้ร่างกายได้พลังงานต่อเนื่องยาวนาน และระดับน้ำตาลในเลือดจะเพิ่มคงที่สม่ำเสมอทำให้มีพลังงานต่อเนื่อง ไม่หิวบ่อย อีกทั้งเส้นใยอาหารยังช่วยส่งเสริมระบบย่อยอาหารและขับถ่ายและยังได้รับวิตามินแร่ธาตุอีกด้วยค่ะ

 

 

www.flickr.com/photos/j0annie/15363793976/
www.flickr.com/photos/141735806@N08/27955435632/

7 ประโยชน์สุดยอดจากแอปเปิ้ลเขียว

green-apple-1
Source: Flickr (click image for link)

วันนี้มาถึงคิวของผลไม้ที่เราเรียกว่า แอปเปิ้ล กันค่ะ แต่วันนี้จะเป็นแอปเปิ้ลสีเขียวค่ะ จากโพสที่แล้วเป็นเรื่องเกี่ยวกับประโยชน์ของแอปเปิ้ลสีแดง และด้วยประโยชน์ที่มีมากมายจากแอปเปิ้ลสีแดงอีกทั้งส่วนข้อมูลของแอปเปิ้ลเขียววันนี้ก็มีประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการที่ดีไม่แตกต่างกันเลยค่ะ อย่างไรก็ดีขึ้นชื่อว่าแอปเปิ้ลแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสีไหนประโยชน์และคุณค่าก็ไม่ได้แพ้กันเลยทีเดียวค่ะ และหวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์และก็เพื่อทำให้ทุกๆคนได้ทราบกันว่าแอปเปิ้ลแต่ละสีนั้นเป็นอย่างไร มีคุณค่าทางโภชนาการแตกต่างกันอย่างไรบ้างและมีอย่างไหนที่มีความโดดเด่นจากผลไม้อื่นๆหรือเปล่า ข้อมูลที่กีเหล่านี้รวมถึงสิ่งดีๆเราก็อยากเอามาแชร์และแบ่งปันเผื่อใครที่กำลังเลือกหนทางรักษาสุขภาพโดยการเลือกรับประทานอาหารหรืออยากให้ร่างกายได้รับแต่สิ่งดีๆ เราก็ขอให้ข้อมูลของเราสามารถช่วยคุณได้บ้างนะคะ ถ้าอย่างนั้นเราก็ไปพบและเข้าใจกับข้อมูลที่เกี่ยวกับประโยชน์ต่างๆ ของแอปเปิ้ลเขียวกันให้มากขึ้นกันเลยดีกว่าค่ะ

 

 

7 ประโยชน์สุดยอดที่คุณควรเลือกกินแอปเปิ้ลเขียว

green-apple-2
Source: Flickr (click image for link)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

1.ช่วยในการควบคุมน้ำหนัก

ปฎิเสธไม่ได้เลยที่จะยกให้เป็นผลประโยชน์ข้อแรกของแอปเปิ้ลเขียวค่ะ จากข้อมูลของ USDA Nutrient database ของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา พบว่าแอปเปิ้ลเขียวมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้ โดยคุณค่าทางอาหารต่อแอปเปิ้ลเขียว 100 กรัม มีปริมาณพลังงาน 58 กิโลแคลอรี่, น้ำ 85.46 กรัม, น้ำตาล 9.59 กรัม, ไฟเบอร์ 2.8 กรัม และโพแทสเซียม 120 กรัม ค่ะ จากแอปเปิ้ลเขียวที่ให้พลังงานน้อยแล้ว ในแอปเปิ้ลเขียวนั้นมีเอ็นไซม์ที่สามารถช่วยในการลดน้ำหนักได้ค่ะ อีกทั้งยังมีเอ็นไซม์ที่จะเผาผลาญสารอาหารช่วยทำให้ระบบย่อยและระบบขับถ่ายทำงานดีขึ้น นอกเหนือไปจากวิตามินและเกลือแร่ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว กรดผลไม้ที่มีอยู่ในแอปเปิ้ลสามารถช่วยควบคุมและยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนแห่งความอยากอาหาร ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลังจากคุณรับประทานแอปเปิ้ลไปซักผลสองผลคุณจะไม่มีความรู้สึกอยากรับประทานอาหารอื่นใดอีกเลย กรดผลไม้ของแอปเปิ้ลยังสามารถช่วยพยุงไม่ให้ระดับของโปรตีนในร่างกายลดต่ำลงและขณะเดียวกันก็ยังช่วยป้องกันไม่ให้ไขมันถูกดึงมาเก็บสะสมไว้ในร่างกายเพิ่มขึ้นอีกค่ะ

 

2.ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งลำใส้

เปลือกสีเขียว ๆ ของแอปเปิ้ลเขียวก็ยังอัดแน่นไปด้วยประโยชน์มากมายไม่ว่าจะเป็นใ­­­ยอาหารที่มีสูงที่ช่วยในระบบการขับถ่ายและทำให้ลดความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเอ็นไซม์ที่จะเผาผลาญสารอาหารช่วยทำให้ระบบย่อยและระบบขับถ่ายทำงานดีขึ้น พร้อมกันนั้นก็อุดมไปด้วยเพกติกสารคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่งซึ่งสามารถต่อต้านเชื้อแบคทีเรียร้ายในระบบทางเดินอาหารตัวการที่ทำให้คุณเกิดอาการท้องร่วงค่ะ

 

3.ช่วยเรื่องของผิวพรรณ

นอกจากเรื่องของสุขภาพร่างกายแล้ว เรื่องของความสวยความงามนั้นแอปเปิ้ลเขียวก็ไม่พลาดที่จะมีบทบาทสำคัญอยู่เหมือนกันค่ะ เนื่องจากแอปเปิ้ลเขียวมีวิตามินที่จำเป็นสำหรับผิวพรรณและด้วยที่เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินต่าง ๆ ที่มีส่วนช่วยในการบำรุงผิวพรรณ อย่างเช่น วิตามิน C ซึ่งก็ได้พบว่าในแอปเปิ้ลเขียวจะมีมากกว่าผลไม้ชนิดอื่น ๆ บางประเภทเสียอีกค่ะ และก็พบว่าถ้าเรารับประทานแอปเปิ้ลเขียวทั้งเปลือกนั้นสาร “โพลีฟีนอล” ที่มักจะอยู่ตามเปลือกหรือเนื้อที่อยู่ติดกับเปลือก จะไปช่วยป้องกันผิวพรรณไม่ให้โดนแดดเผาทำลาย ป้องกันยูวีเอและยูวีบีจากแสงแดด เวลาที่เรากัดแอปเปิ้ลทิ้งไว้แล้วสีของเนื้อแอปเปิ้ลเปลี่ยนไปนั่นแสดงว่ามีสาร “โพลีฟีนอล” นั่นเอง ดังนั้นจึงเข้าใจได้ว่าที่ไหนมีสารโพลีฟีนอล พอโดนอากาศก็จะเกิดสนิมเป็นสีน้ำตาลขึ้นมาทันที ไม่ว่าจะเป็นผักหรือผลไม้ค่ะ

 

4.ช่วยลดคอเลสเตอรอล

แอปเปิ้ลมีสารเพคตินซึ่งเป็นไฟเบอร์ที่ละลายน้ำได้ เมื่อกรดในทางเดินอาหารย่อยสลายไขมันแยกคอเลสเตอรอลออกมาแล้ว เพคตินจากแอปเปิ้ลจะไปคอยดักจับคอเลสเตอรอลเหล่านั้นและนำไปทิ้งก่อนที่จะถูกดูดกลับเข้าสู่ร่างกายอีกครั้งค่ะ ง่ายๆก็คือช่วยป้องกันไม่ให้ไขมันถูกดึงมาเก็บสะสมไว้ในร่างกายเพิ่มเติมอีกนั่นเองค่ะและยังพบว่าแอปเปิ้ลลดคอเลสเตอรอลในผู้หญิงได้ดีกว่าผู้ชายด้วยค่ะ

 

5.ช่วยลดน้ำตาลในเลือด

แอปเปิ้ลเป็นผลไม้ที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน และผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำตาลในเลือด เมื่อรับประทานอาหารเข้าไป อาหารแต่ละชนิดก็จะถูกย่อยสลายและดูดซึมผ่านผนังกระเพาะลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดจะเพิ่มช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของอาหารนั้นๆ คนที่รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์มากๆ จะมีโอกาสเกิดเบาหวานต่ำกว่าคนที่รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์น้อย และสำหรับคนที่เป็นเบาหวานอยู่แล้ว ไฟเบอร์จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วยและแอปเปิ้ลมีไฟเบอร์ชนิดที่ละลายน้ำสูงมาก จึงเหมาะสำหรับคนที่เป็นเบาหวานค่ะ

 

6.ช่วยลดการสูญเสียกล้ามเนื้อจากการป่วย

ในคนที่ชอบออกกำลังกายเป็นประจำอยู่เสมอนั้นมักจะมีกล้ามเนื้อที่เฟิร์มและแข็งแรง แต่ถ้าเกิดวันหนึ่งคุณได้เกิดล้มป่วยขึ้นมานั้น อาจจะทำให้คุณต้องหยุดพักร่างกายจนออกกำลังกายไม่ได้เป็นช่วงเวลาหนึ่ง แน่นอนว่าในขณะที่คุณหยุดพักกล้ามเนื้อส่วนที่ได้เพิ่มเติมขึ้นมาจากการออกกำลังกาย อาจจะมีน้อยลงหรือหายไปบ้าง ซึ่งในจุดนี้เองที่ผู้ชายส่วนใหญ่มักจะกังวล เพราะการที่กล้ามเนื้อหายไปก็มักจะทำให้รูปร่างที่เคยดูดีนั้นเปลี่ยนไปด้วย แต่สิ่งเหล่านี้สามารถป้องกันได้ โดยการบริโภคแอปเปิ้ลสีเขียวเป็นประจำเพราะในแอปเปิ้ลสีเขียวนั้นประกอบไปด้วยกรดบางชนิดที่เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ในการเพิ่มพลังและสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อของเราโดยตรงนั่นเองค่ะ

 

7.ช่วยบรรเทาโรคภัยไข้เจ็บ

ด้วยที่ว่าในแอปเปิ้ลนั้นมีวิตามินซีและเบต้าแคโรทีนอยู่มาก จึงสามารถช่วยบรรเทาหรือป้องกันโรคหวัดและโรคเลือดออกตามไรฟันได้ และแอปเปิ้ลยังช่วยให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้นจึงช่วยได้ทั้งอาการท้องผูกและท้องเสีย ใครที่มีอาการท้องผูกแอปเปิ้ลจึงเป็นผลไม้ในตัวเลือกหนึ่งเลยก็ว่าได้ค่ะ อีกทั้งยังทำให้ความดันโลหิตค่อยๆ ลดลง เหมาะสำหรับผู้ที่ความดันโลหิตสูงอีกด้วยค่ะ

 

 

www.flickr.com/photos/36328518@N07/3384100342/

www.flickr.com/photos/63723146@N08/8482731764/

9 เหตุผลที่ควรหลีกเลี่ยงไกลห่างจากน้ำตาล

brown-sugar-1
Source: Flickr (click image for link)

ถ้าพูดถึงรสชาติของอาหารไทย รสชาติอร่อยคืออาหารที่มีรสชาติครบรส นั่นก็คือรสเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด โดยเฉพาะอาหารรสจัด ไม่ว่าจะเป็นเปรี้ยวจัด หวานจัด เค็มจัด เผ็ดจัด ล้วนแต่อร่อยทั้งนั้น รสชาติจืดชืดน่ะหรอแล้วมันจะไปมีรสชาติอร่อยอะไรล่ะ จริงไหมคะ? แต่ทว่าอาหารรสจัดที่กล่าวมานั้นส่วนใหญ่เราก็ไม่ได้อยากที่จะแนะนำสักเท่าไหร่ ทั้งหมดทั้งปวงก็อยากจะให้รับประทานแต่พอดี…ในบ้านเรานั้นตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาหารคาวกรรมวิธีส่วนใหญ่จะปรุงอาหารด้วยกะทิ แกงกะทิต่างๆ ส่วนอาหารหวานก็นิยมกะทิเช่นกันและขนมหวานในบ้านเราต่างๆนั้นก็จะมีรสชาติที่หวานจับใจ จนกระทั่งปัจจุบันนวัตกรรมใหม่ๆเริ่มพัฒนาขึ้นมากมีขนมขบเคี้ยวกรุบกรอบมากมายให้เลือกเกลื่อนเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด แค่ตื่นตอนเช้าเดินไปซื้อกาแฟ หรือเดินออกมาจากปากซอยก็จะมีขนมให้เลือกหลากหลายง่ายดายเหลือเกิน และส่วนผสมส่วนใหญ่ก็คือน้ำตาลทั้งนั้น แม้แต่เครื่องดื่มที่เคลมกันว่า healthy เหลือเกินวางเรียงรายให้จับจ่ายในร้านสะดวกซื้อ ส่วนผสมหลักก็ยังเป็นน้ำตาลอยู่ดี ไม่ต้องพูดถึงการเติมน้ำตาลเพื่อปรุงอาหารจานเดียวเลยค่ะ อาหารบางอย่างถูกปรุงมาเรียบร้อยแล้วแต่เราก็ยังปรุงเพิ่มอยู่เสมอ แล้วเราทราบกันหรือไม่คะว่า ‘’น้ำตาล’’ หรือ ‘’sugar’’ ที่เรารู้จักกันดีเนี่ย มันไม่มีประโยชน์อื่นใดๆเลย นอกจากให้พลังงาน (Empty Calorie) เนื่องจากน้ำตาลจัดเป็นอาหารที่อยู่ในกลุ่มคาร์โบไฮเดรตชนิดที่ไม่ซับซ้อน คือให้แต่พลังงานเท่านั้นไม่มีคุณค่าทางโภชนาการใดๆทั้งสิ้นนั่นเองค่ะ โดยที่น้ำตาล 1 กรัม จะให้พลังงาน 4 แคลอรี่ เพราะฉะนั้น น้ำตาล  1 ช้อนชา ก็จะให้พลังงานโดยประมาณ 15 แคลอรี่ค่ะ โดยที่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า แต่ละวันควรใช้น้ำตาลในการปรุงแต่งรสชาติอาหารไม่เกินร้อยละ 10 ของปริมาณพลังงานทั้งหมด ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดีจึงแนะนำว่า เด็กเล็กควรได้รับประทานน้ำตาลไม่เกินวันละ 4 ช้อนชา (16 กรัม) และผู้ใหญ่ควรรับประทานไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา (24 กรัม) ส่วนปัจจุบัน พบว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยประมาณ 23 ช้อนชา (92 กรัม) ต่อวันซึ่งถือเป็นปริมาณที่มากเกินกว่าที่แนะนำถึงเกือบ 4 เท่า โดยในชีวิตประจำวันนั้นเราได้รับ แหล่งอาหารคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนจากพวกข้าว แป้ง ซึ่งมีสารอาหารอื่นที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นประจำอยู่แล้ว และได้รับน้ำตาล ธรรมชาติจากผลไม้เป็นแหล่งพลังงานและวิตามินแร่ธาตุอีกด้วยค่ะ   

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับประเภทของน้ำตาลกันค่ะ !

น้ำตาล ก็คือ คาร์โบไฮเดรตที่มีรสหวาน ประกอบด้วยคาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน โดยหลักๆแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  1. น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (simple sugar) เป็นคาร์โบไฮเดรตที่มีขนาดโมเลกุลเล็กที่สุด เมื่อรับประทานเข้าไปร่างกายจึงสามารถดูดซึมนำไปใช้ได้เลยโดยไม่ต้องผ่านการย่อย ได้แก่
  • น้ำตาลกลูโคส (glucose) มีอยู่ในธรรมชาติทั่วไปในพืช ผัก ผลไม้ เป็นน้ำตาลที่มีความหวานน้อยกว่ารองลงมาจากน้ำตาลฟรักโทสและสามารดูดซีมได้อย่างรวดเร็ว
  • น้ำตาลฟรุกโตส (fructose) เป็นน้ำตาลที่มีรสหวานกว่าน้ำตาลชนิดอื่น พบมากในน้ำผึ้งและผลไม้ที่มีรสหวาน
  • น้ำตาลกาแล็กโตส (galactose) คล้ายน้ำตาลกลูโคสมากที่สุด ไม่พบในธรรมชาติ มีอยู่เฉพาะในอาหารพวกนมและผลิตผลของนมทั่วๆไป
  1. น้ำตาลโมเลกุลคู่ (double sugar) เป็นกลุ่มของคาร์โบไฮเดรตที่ให้รสหวาน เมื่อรับประทานเข้าไป จะต้องผ่านการย่อยโดยเอนไซม์ในระบบย่อยอาหารจนได้น้ำตาลเชิงเดียวก่อนจึงจะดูดซึมต่อไปได้ ได้แก่
  • น้ำตาลซูโครส (sucrose) (กลูโคส + ฟรุกโตส) คือน้ำตาลทรายหรือน้ำตาลอ้อย น้ำตาลชนิดนี้พบมากในอ้อย หัวบีต และผลไม้ที่มีรสหวานเกือบทุกชนิด
  • น้ำตาลมอลโทส (moltose) (กลูโคส + กลูโคส) คือน้ำตาลพบมากในเมล็ดข้าวที่กำลังงอกหรือน้ำที่สกัดจากข้าวงอก (malt-liquors)
  • น้ำตาลแล็กโทส (lactose) (กลูโคส + กาแลกโตส) พบอยู่ในน้ำนม เราจึงรู้จักในชื่อน้ำตาลนม มีความหวานน้อย ละลายน้ำได้น้อยกว่า ย่อยได้ช้ากว่าและบูด (ferment) ได้ยากกว่าซูโครส และมอลโทส

 

9 เหตุผลที่ควรหลีกเลี่ยงไกลห่างจากน้ำตาล

sugar-sweet-1
Source: Flickr (click image for link)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

1.น้ำตาลทำให้อ้วน

สำหรับคนอ้วนทั้งที่กำลังเริ่มจะอ้วนหรือได้ทำการอ้วนไปแล้วเรียบร้อยนั้น รู้กันหรือเปล่าคะว่าสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในการควบคุมน้ำหนักไม่ใช่ไขมันนะคะ แต่เป็นน้ำตาลตัวดีนี่เองล่ะค่ะ เพราะต่อให้ระมัดระวังในการควบคุมไขมันมากแค่ไหน แต่ถ้าคุณยังเติมน้ำตาลไม่ยั้งมือก็จะส่งผลต่อสุขภาพได้เช่นกันค่ะ หลายคนคงพยายามที่จะควบคุมการรับประทานอาหารโดยการเลือกรับประทานอาหารพวกไขมันต่ำหรือไม่มีไขมัน แต่ก็อย่าลืมกันนะคะว่าอาหารพวกนี้ก็สามารถทำให้คุณอ้วนได้ ถ้ามีน้ำตาลฟรุกโตสอยู่ในปริมาณมาก เพราะร่างกายเราดูดซึมอาหารพวกนี้ได้เร็ว ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วยค่ะ ตามกลของไกร่างกายแล้ว ตับอ่อนจะผลิตอินซูลินออกมาเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด แต่ความจริงที่แสนจะโหดร้ายก็คือ ถ้าร่างกายของเราไม่ได้ใช้พลังงานมากพอ น้ำตาลที่เหลือก็จะถูกเปลี่ยนไปเป็นไขมันสะสมไว้ตามร่างกาย เราจึงเห็นได้ง่ายๆ ว่าทำไมเราถึงได้มีไขมันส่วนเกินโผล่มาตามหน้าท้อง ต้นขา และสะโพกได้ถึงเพียงนี้ แต่นั่นก็อีกแหละค่ะ มันเป็นสัญญาณเตือนแบบนัยๆ ว่าจะมีอีกสารพัดโรครอเข้ามารุมเร้าโดยที่เราไม่รู้ตัวด้วยเช่นกันค่ะ

 

2. น้ำตาลทำให้แก่เร็ว

เมื่อร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นประจำ จะเกิด ปฏิกิริยาไกลเคชั่น (Glycation) ที่จะไปเร่งกระบวนการเสื่อมของร่างกาย หรือเรียกง่ายๆว่าทำให้แก่เร็วขึ้นนั่นเองค่ะ ไกลเคชั่น เกิดจากโมเลกุลของน้ำตาลไปทำปฏิกิริยากับโปรตีนซึ่งเป็นส่วนประกอบของเซลล์ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกายเรา ทำให้เกิดสารขึ้นมากลุ่มหนึ่ง ที่เรียกว่า AGEs (Advanced Glycation End-Products) ซึ่งเป็นพิษต่อร่างกาย เจ้า AGEs นี้ ถ้าไปยุ่งเกี่ยวกับเซลล์ร่างกายบริเวณไหนเมื่อไหร่แล้วล่ะก็จะทำให้เซลล์บริเวณนั้นเสื่อมหรือมีการทำงานที่แย่ลง เมื่อมี AGEs มาก และนานวันเข้าก็จะทำให้เกิดการทำลายคอลลาเจนและใยโปรตีนที่ผิวหนังทำให้เกิดริ้วรอยและจุดด่างดำ แถมยังทำให้เซลล์สมองเสื่อมจนเกิดเป็นโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) และส่วนของผนังหลอดเลือดแดงก็จะแข็ง เปราะบาง และยืดหยุ่นน้อยลง ทำให้ เกิดโรคในระบบหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease) ได้ เกิดความเสื่อมของตับอ่อน ทำให้ผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ไม่เพียงพอ หรือผลิตได้แต่ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน = โรคเบาหวาน ถ้าไปทำปฏิกริยากับสายพันธุกรรม ก็จะทำให้การแบ่งตัวของเซลล์ผิดไปจากเดิม ทำให้ร่างกายเสื่อมอย่างถาวร

 

3. น้ำตาลทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ

คนที่ชอบกินอาหารหวานบ่อย ๆ สมดุลของแร่ธาตุชนิดต่างๆ จะรวนจนหาสมดุลไม่ได้ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้ติดเชื้อได้ง่าย มีรายงานกล่าวว่าการกินหวานมากทำให้เลือดมีธาตุแคลเซียมสูงขึ้น ฟอสฟอรัสลดลง ซึ่งอาจไปตกตะกอนสร้างปัญหานิ่วในไต นอกจากนี้การเผาผลาญน้ำตาลในร่างกายบ่อย ๆ ยังเร่งให้เกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดทั้งโรคหัวใจและมะเร็ง ทั้งนี้น้ำตาลยังทำให้อาการของโรคติดเชื้อที่เป็นอยู่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เพราะเชื้อโรคทุกชนิดใช้น้ำตาลเป็นอาหารนั่นเองค่ะ

 

4. น้ำตาลทำให้ฟันผุ

การรับกระทานอาหารไม่ว่าจะเป็นพวกข้าว แป้ง เมื่อร่างกายได้ทำการย่อยแล้วก็จะถูกกลายเป็นน้ำตาลแล้วก็จะถูกดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลใดๆ ในอาหาร แบคทีเรียในปากจะยังคงมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการย่อยสลายแป้ง และน้ำตาลที่คั่งค้างอยู่ในช่องปากทำให้เกิดกรดแล็กติก กรดแล็กติกนี้เองที่จะเป็นตัวทำลายเคลือบฟัน (enamel) ให้กร่อนและบางลงจนเกิดฟันผุในที่สุด

 

5. น้ำตาลทำให้ปวดท้อง ท้องอืด

การที่กระเพาะอาหารมีน้ำตาลมากเกิน ก็จะทำให้เกิดการหมักหมม มีส่วนที่ทำให้แบคทีเรียกลุ่มแล็กติกที่อยู่ในทางเดินอาหารผลิตกรดและแก๊สขึ้น จึงสามารถทำให้เกิดอาการท้องอืดหรือปวดท้องได้ค่ะ  

 

6. น้ำตาลทำให้ซึมเศร้า ไม่กระปรี้ประเปร่า

การกินน้ำตาลเยอะๆ จะส่งผลทำให้กรดอะมิโนที่ชื่อ “ทริปโตเฟน” ถูกเร่งให้ผ่านเข้าสู่สมองมากเกินไป สมดุลของฮอร์โมนในสมองเปลี่ยนแปลง ผลที่ตามมาคือเกิดอาการเหนื่อย เซ็ง ซึมเซา ง่วงหงาวหาวนอน ไม่กระฉับกระเฉงกระปรี้กระเปร่า

 

7. น้ำตาลก่อให้เกิดโรคเบาหวาน

คงจะหนีไม่พ้นโรคเบาหวาน เนื่องจากเมื่อน้ำตาลเข้าสู่ร่างกายก็จะถูกเปลี่ยนให้เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวที่เล็กพอจะเข้าสู่กระแสเลือด ทั้งนี้ก็เพื่อให้ร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานได้ ถ้าเราได้รับน้ำตาลในปริมาณสูง ระดับของน้ำตาลในเลือดก็จะสูงขึ้น ฮอร์โมนอินซูลินที่ถูกสร้างโดยตับอ่อนก็จะออกมาทำหน้าที่คอยลดปริมาณน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ การที่เรากินน้ำตาลมากๆ ทุกวัน ตับอ่อนก็ต้องทำงานหนักเพื่อเร่งการสร้างอินซูลิน และเมื่อนานๆเข้า ตับอ่อน ก็จะกลายเป็น ตับอ่อนล้า คือตับอ่อนเกิดภาวะเสื่อมจนผลิตอินซูลินได้ไม่เพียงพอที่จะไปคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ น้ำตาลในเลือดเลยสูงขึ้นจนเกิดเป็นโรคเบาหวานในที่สุด

 

8. น้ำตาลส่งผลต่อระดับคลอเรสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์

น้ำตาลฟรุกโตสที่ได้จากอาหารหลังจากถูกเปลี่ยนให้อยู่ในรูปไขมันแล้วจะถูกส่งออกจากตับและส่วนมากจะถูกส่งออกในรูปของ Very Low Denstiry Lipoprotein (VLDL) ซึ่งไขมันชนิดนี้เมื่อเข้าสู่กระแสเลือดจะถูกเปลี่ยนเป็นคลอเลสเตอรอลชนิด LDL (คลอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี) มีผลทำให้ไตรกลีเซอไรด์และคลอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้นค่ะ

 

9. น้ำตาลทำให้มีอารมณ์ดุร้ายได้ง่าย

“น้ำตาล” ที่มีรสหวานอร่อยลื่นลิ้นนั้น รู้หรือเปล่าคะว่าจะมีผลร้ายต่อระบบประสาทและภาวะอารมณ์ของคนเราค่ะ โดยจะก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ผิดปกติ เช่น ซึมเศร้า ก้าวร้าว ต่อต้านสังคม หรือ อาจจะรุนแรงถึงขั้นก่ออาชญากรรมไปเลยก็ว่าได้ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ได้อธิบายถึงการทำงานของน้ำตาลที่ไปมีผลต่ออารมณ์เอาไว้ว่า เมื่อน้ำตาลจำนวนมากเข้าไปในร่างกาย มันจะถูกดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือดภายในเวลาเพียง 10 นาทีเท่านั้น แล้วตับอ่อนก็จะหลั่งอินซูลินออกมา เพื่อขับน้ำตาลในเลือดส่วนเกินออกไป จนกระทั่งระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลง ก่อให้เกิดภาวะที่เรียกว่า Hypoglycemia ในภาวะดังกล่าว Cerebrum ซึ่งเป็นสมองส่วนที่สัมพันธ์กับการเรียนรู้ การคิดค้น พฤติกรรม จิตสำนึก และสติสัมปชัญญะ ก็จะปิดตัวลง พลังงานของสมองก็จะส่งผ่านไปยังก้านสมองซึ่งควบคุมสัญชาติญาณและกิริยาอาการดั้งเดิมของมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความก้าวร้าว รุนแรง ไร้เหตุผล ทำให้คนที่เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำนั้นสามารถทำอะไรโดยไม่ทันยั้งคิดได้ง่ายขึ้นเลยล่ะค่ะ

 

เหมือนอย่างที่คำโบราณได้บอกไว้ว่า “หวานเป็นลม ขมนั้นเป็นยา” ก็อย่างว่า อาหารที่มีรสชาติหวานละมุนก็ย่อมที่จะอร่อยกว่ารสชาติที่ขมเป็นไหนๆ แต่ก็อีกนั่นแหละค่ะ ว่าคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยุคสมัยเปลี่ยนไปตามการเวลา การผลิตเครื่องดื่ม ขนมหวาน สำเร็จรูป เกลื่อนกลาดเต็มท้องตลาดพร้อมให้จับจ่ายเลือกซื้อกัน ได้แต่หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยทำให้เข้าใจยิ่งขึ้น และเป็นแนวทางในการเลือกรับประทานอาหารมากขึ้นนะคะ 🙂

 

www.flickr.com/photos/zh3us/4774497262/

www.flickr.com/photos/andrein/5556815064/

  • 1
  • 2