Browse Tag: เมล็ดธัญพืช

10 ชนิดของอาหารที่มีแร่ธาตุแมงกานีสสูง

Source: Flickr (click image for link)

แร่ธาตุหรือเกลือแร่ที่มีชื่อว่า “แมงกานีส” เป็นแร่ธาตุที่มีอยู่ในร่างกายของเราโดยเป็นอีกหนึ่งแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อร่างกายซึ่งไม่แพ้กับแร่ธาตุตัวอื่นๆ เลยค่ะ ถึงแม้ว่าจะเป็นแร่ธาตุที่คนส่วนใหญ่มักจะหลงลืมไปคิดว่าร่างกายต้องการแค่เพียงเล็กน้อย แต่ถึงอย่างนั้นร่างกายของเรากลับไม่สามารถขาดได้เลยค่ะ ถ้าร่างกายได้รับแมงกานีสเพียงพอจะเป็นประโยชน์ต่อร่างกายด้วยค่ะ โดย แมงกานีส จะพบมากในส่วนของโครงกระดูก ตับ ตับอ่อน หัวใจและต่อมพิทูอิทารี่ โดยประโยชน์หลักๆของแร่ธาตุชนิดนี้ก็คือจะไปช่วยในเรื่องของการตอบสนองของกล้ามเนื้อการยืดตัวหดตัวดี ช่วยทำให้ไม่ปวดหลังและทำให้ร่างกายสดชื่นมีความจำที่ดีและอื่นๆอีกมากมาย แมงกานีส มีความจำเป็นต่อการสังเคราะห์เนื้อเยื่อเกี่ยวพันในกระดูกและกระดูกอ่อน แมงกานีสจะมีส่วนที่คล้ายกับแมกนีเซียมคือ สารอาหารชนิดนี้จะมีการสูญเสียระหว่างกระบวนการดัดแปลงทางอาหาร เช่น เมื่อธัญพืชถูกเปลี่ยนเป็นแป้งขัดขาวจากการศึกษาวิจัยพบว่าผู้หญิงที่เป็นโรคกระดูกพรุนจะมีระดับแมงกานีสต่ำในระดับเพียงแค่ 25% ของกลุ่มทดสอบที่มีการควบคุมการได้รับสารอาหารนั่นเอง โดยสถาบันวิจัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกาได้แนะนำปริมาณแมงกานีสที่ควรได้รับต่อวันคือประมาณ 2-5 มิลลิกรัมต่อวันค่ะ

โดยอาการเมื่อขาดแร่ธาตุแมงกานีส จะมีดังนี้ค่ะ

1.ทำให้เสียการทรงตัว เดินเซ

2.เลือดแข็งตัวช้า

3.มีปัญหาในด้านการเผาผลาญไขมัน โปรตีน และคาร์โบไฮเดรต

4.มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูก กระดูกอาจจะผิดรูป

5.ถ้าขาดมากอาจจะถึงขั้น ชัก หูหนวก หรือตาบอด

สำหรับอาการของการได้รับแมงกานีสมากเกินไปส่วนใหญ่จะจากการสัมผัสมากกว่าจากการที่ได้รับจากอาหารที่รับประทานเข้าไป และถ้าได้รับมากเกินไปจะทำให้มีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาท มีอาการคล้ายกับโรคพาร์กินสันหรือโรคสันนิบาต ค่ะ

 

10 ชนิดของอาหารที่มีแร่ธาตุแมงกานีสสูง

Source: Flickr (click image for link)

1.หอยแมลงภู่

ในอาหารจำพวกซีฟู้ดส์หรืออาหารทะเลถือว่ามีแร่ธาตุแมงกานีสที่สูงโดยเฉพาะหอยแมลงภู่ค่ะ โดยแมลงภู่ที่ได้ทำการปรุงสุกปริมาณ 85 กรัม มีแร่ธาตุแมงกานีสอยู่ถึง 5.8 มิลลิกรัม ค่ะ

 

2.ข้าวกล้อง

ธัญพืชก็เป็นอาหารอีกหนึ่งชนิดที่มีแร่ธาตุแมงกานีสอยู่สูงเช่นกันค่ะ และเมื่อเปรียบเทียบกับธัญพืชชนิดอื่นๆ ข้าวกล้อง หรือ Brown Rice ที่ทำการหุงสุข 1 ถ้วย ปริมาณ 195 กรัม จะมีแร่ธาตุแมงกานีสอยู่ประมาณ 2.1 มิลลิกรัม

 

3.ฮาเซลนัท

เมล็ดฮาเซลนัท ปริมาณ 56 กรัม มีแร่ธาตุแมงกานีสอยู่ประมาณ 3.1 มิลลิกรัม ซึ่งเมล็ดฮาเซลนัทที่ทั่วไปเราจะเห็นกันในรูปแบบที่ผสมในช็อกโกแลต จะไม่ค่อยทานเล่นนกันแบบเป็นเม็ดๆ เท่าไหร่

 

4.ขนมปังโฮลวีท

ขนมปังที่ผ่านการขัดสีจะทำให้แมงกานีสหลุดหายไปด้วย เพราะฉะนั้นขนมปังอย่างขนมปังโฮลวีทจึงมีแร่ธาตุแมงกานีสอยู่สูงค่ะ โดยขนมปังโฮลวีท 1 แผ่น ปริมาณ 28 กรัม มีแร่ธาตุแมงกานีสอยู่ประมาณ 0.7 มิลลิกรัม

 

5.เต้าหู้

เต้าหู้ที่ทำจากถั่วเหลืองหรือเต้าหู้สีเหลืองนั้นเป็นแหล่งของแร่ธาตุแมงกานีสชั้นดี โดยเต้าหู้ครึ่งถ้วย ปริมาณ 126 กรัม มีแร่ธาตุแมงกานีสอยู่ประมาณ 1.5 มิลลิกรัม

 

6.ปลากระพง

ในปลาบางชนิดก็มีแร่ธาตุแมงกานีสค่ะ เช่น ปลาเทราท์ แต่ปลากระพงจะมีแร่ธาตุแมงกานีสอยู่สูกว่า ซึ่งปลากระพงปรุงสุกปริมาณ 85 กรัม มีแร่ธาตุแมงกานีสอยู่ประมาณ 1.0 มิลลิกรัม ค่ะ

 

7.เมล็ดฟักทอง    

เมล็ดฟักทองทานเล่นๆ เคี้ยวเพลินๆ เคี้ยวไปเคี้ยวมาก็ได้รับแร่ธาตุแมงกานีสมาด้วย โดยเมล็ดฟักทอง 1 ถ้วย ปริมาณ 129 กรัม มีแร่ธาตุแมงกานีสอยู่ 5.9 มิลลิกรัม ค่ะ

 

8.ชาดำ

ใครที่ชอบดื่มชาดำซึ่งในชาดำก็มีแร่ธาตุแมงกานีสติดอันดับด้วยค่ะ โดยการดื่มชาดำ 1 ถ้วย ปริมาณ 237 กรัม จะมีแร่ธาตุแมงกานีสอยู่ประมาณ 0.5 มิลลิกรัม

 

9.ผักขม

ใบสีเขียวเข้มอย่างผักขมที่มีประโยชน์มากมายต่อสุขภาพของเรานี้ยังให้แร่ธาตุแมงกานีสที่สูงเลยทีเดียวค่ะ ซึ่งใบของผักขมสุก 1 ถ้วย ปริมาณ 180 กรัม มีแร่ธาตุแมงกานีสอยู่ประมาณ 1.7 มิลลิกรัม

 

10.ถั่วลิมา

ถั่วแทบทุกชนิดถือว่ามีแร่ธาตุแมงกานีสอยู่สูงโดยเฉพาะ ถั่วลิมา ที่มีเมล็ดเป็นสีเขียว ซึ่งถั่วลิมา 1 ถ้วย ปริมาณ 170 กรัม มีแร่ธาตุแมงกานีสอยู่ถึง 2.1 มิลลิกรัมเลยที่เดียวค่ะ

 

 

อ้างอิง : ค่าแร่ธาตุแมงกานีสในอาหารจาก www.healthaliciousness.com

www.flickr.com/photos/nwongpr/29463086292/

www.flickr.com/photos/kagen33/30280659296/

Coenzyme Q10 คืออะไร มีความสำคัญแค่ไหน

girl-with-sun
Source: Flickr (click image for link)

Hello สวัสดีค่ะ..  วันนี้จะมาพูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับ “โคเอ็นไซม์ คิวเท็น ” (Coenzyme Q10) กันค่ะ หลายคนคงสงสัยกันจังว่ามันคืออะไรกันนะ ทำไมชอบเห็นบ๊อยบ่อยในผลิตภัณฑ์ต่างๆ และมันช่วยในเรื่องอะไรกันแน่นะ ทำไมถึงเห็นคนเค้าซื้อกันจัง เราก็มีอารมณ์แบบเออๆลองซื้อดูมั่งซิ เห็นเค้าบอกว่าดี บอกว่าช่วยเรื่องผิวพรรณ!!  พูดถึงเรื่องแบบนี้ไม่ได้หรอกนะ อย่าให้ได้ยินเชียว เพราะถ้าได้ยินถึงหูแล้วล่ะก็…เป็นอันต้องรีบไปหา ไปซื้อกันเลยทีเดียวใช่ไหมล่ะคะ ในบ้านเรา เราก็จะเห็นกันอยู่ในหลายรูปแบบเลยทีเดียวค่ะ บ้างก็มีอยู่ในรูปแบบยาบำรุงหรืออาหารเสริม บ้างก็แชมพู เครื่องดื่ม ครีม สกินแคร์ต่างๆ แล้วอย่างนี้ถ้ามีใครมาถามเราว่ามันคืออะไร ช่วยในเรื่องอะไรบ้าง เราก็ดันตอบเค้าไม่ได้..เพราะตัวเราเองก็ไม่ค่อยจะรู้เรื่องเหมือนกันอ่ะเนอะ ไม่เป็นไรค่ะ คำถามนั้นเรามีคำตอบให้เรียบร้อย เพราะฉะนั้นวันนี้ HealthGossip จึงไปหาข้อมูลคลายความสงสัยกันค่ะ ถ้าอย่างนั้นตอนนี้เดี๋ยวเรามาทำความรู้จักกับเจ้าตัวนี้ไปด้วยกันว่าที่จริงแล้วมันคืออะไรกันนะและช่วยอะไรเราบ้างค่ะ

 

โคเอ็นไซม์ คิวเทน (Coenzyme Q10) คืออะไร

Coenzyme Q 10  หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Ubiquinone เป็นสารคล้ายวิตามินที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นสารที่มีบทบาทในการเพิ่มพลังงานให้แก่เซลล์ เพื่อใช้เป็นพลังงานในร่างกาย เป็นสารสำคัญในการสังเคราะห์ Adenosinetriphosphate (ATP) ซึ่งเปรียบได้กับขุมพลังงานของเซลล์ทั่วร่างกายเป็นตัวต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยปกป้องเซลล์จากการทำลายโดยอนุมูลอิสระและยังช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคร้าย Coenzyme Q10 เป็นสารที่ร่างกายสามารถผลิตได้เองโดยธรรมชาติและมีความจำเป็นต่อร่างกาย Coenzyme Q10 พบในเซลล์ทุกเซลล์ที่มีชีวิตในร่างกายโดยจะอยู่ที่ส่วนเยื่อหุ้ม (Membrane) ของไมโตคอนเดรีย ซึ่งไมโตคอนเดรีย (Mitochondrial) นี้ทำหน้าที่ในการผลิตพลังงานให้กับเซลล์ โดยพลังงานดังกล่าวจะอยู่ในรูปของ ATP (AdenosineTriphosphate ) ซึ่งเป็นพลังงานพื้นฐานของเซลล์ Coenzyme Q10 ถูกพบมากในอวัยวะที่ต้องการพลังงานสูงซึ่งจะมีจำนวนไมโตคอนเดรีย(Mitocondrial) มาก เช่น หัวใจ ตับ กล้ามเนื้อ สมอง ส่วนอวัยวะอื่นๆก็พบ Coenzyme Q10 เช่นกันแต่พบค่อนข้างน้อยเนื่องจากอวัยวะดังกล่าวต้องการพลังงานน้อยจึงมีจำนวนไมโตคอนเดรีย (Mitochondrial) น้อยตามไปด้วย ถัาระดับของ Coenzyme Q10 ลดลง ร่างกายจะไม่สามารถแปลงพลังงานจากอาหารให้อยู่ในสภาพที่ร่างกายจะนำไปใช้ได้ เลยทำให้เกิดการเจ็บป่วย ร่างกายอ่อนเพลีย ระบบภูมิคุัมกันเสื่อมสภาพตามมาได้

 

โคเอ็นไซม์ คิวเทน (Coenzyme Q10) มาจากไหน

Coenzyme Q10 ตามธรรมชาตินั้น เกิดขึ้นเองภายในเซลล์ของอวัยวะที่ต้องการพลังงานสูงเช่น หัวใจ ตับ ไต และยังพบที่เซลล์อื่นๆอีก เช่น ที่ผิวหนังโดยที่ชั้นหนังกำพร้าและหนังแท้แต่จะมีจำนวนลดลงเมื่อมีอายุมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้รับจากการรับประทานอาหารจำพวกปลาที่มีไขมันมาก เช่น น้ำมันปลา ปลาทะเลน้ำลึก ปลาทู ปลาซาบะ ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล ปลาแซลมอน เนื้อสัตว์ประเภทไก่ ไข่ เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ตับ ไต หัวใจ ถั่ว เมล็ดธัญพืชที่ไม่ขัดขาวผลไม้เปลือกแข็งผักเช่น บร๊อคโคลี่ ปวยเล้ง  อาหารทะเล ผลิตภัณฑ์จากนม น้ำมันถั่วเหลือง ผัก รำข้าว ซีเรียล

 

ทำไมโคเอ็นไซม์ คิวเทน (Coenzyme Q10) ถึงดีต่อร่างกายของเราล่ะ

คุณสมบัติเด่นของ Coenzyme Q10 เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระนั่นเอง คือสามารถชะลอความแก่ได้โดยที่ Coenzyme Q10 สามารถสร้างพลังงานให้กับผิวเพื่อในการแบ่งเซลล์ ทำให้ริ้วรอยต่างๆสามารถลดลงและเลือนหายไป นอกเหนือจากคุณสมบัติในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และชะลอความแก่ได้แล้วนั้น   Coenzyme Q10 ยังมีคุณสมบัติต่างๆเช่นในการทำงานของหัวใจดีขึ้น ช่วยเสริมเกราะภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้นป้องกันและรักษาโรคเหงือกความดันเลือดสูง คลอเรสเตอรอลสูง และ Coenzyme Q10 นั้นยังมีประโยชน์อีกมากมายดังนี้

  1. โคเอนไซม์คิวเทนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่พบได้ในทุกเซลล์ของสิ่งมีชีวิต มีความสำคัญอย่างมากต่อการสร้างพลังงาน ดังนั้นจึงมีการนำ โคเอนไซม์ Q10 มาใช้เป็นเครื่องสำอางค์สำหรับลดการเกิดริ้วรอย ชะลอการเสื่อมของเซลล์ผิวหนังจากแสงแดด (Photo aging) กล่าวคือ รังสีอัลตราไวโอเลต (UV) จะทำให้เกิดการผลิตอนุมูลอิสระ อนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นนี้ก็จะทำอันตรายต่อไขมัน โปรตีน และสารพันธุกรรมในเซลล์ผิวหนัง ทำให้เกิดริ้วรอย หมองคล้ำได้ มีงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับผลของ โคเอนไซม์ Q10 ว่าสามารถทำให้ความลึกของริ้วรอยลดลง โดยให้กลุ่มทดลองใช้ครีมที่มีส่วนผสมของโคเอนไซม์ Q10 อยู่ 0.3% ทารอบดวงตาเป็นเวลานาน 6 เดือน พบว่าความลึกของริ้วรอยลดลงถึง 27% เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุมซึ่งไม่ได้ใช้ครีมที่มีส่วนผสมของโคเอนไซม์Q10 อยู่ ดังนั้นโคเอนไซม์ Q10 จึงมีส่วนช่วยลดริ้วรอยและชะลอการเสื่อมของเซลล์ผิวหนังได้เป็นอย่างดี และโคเอนไซม์ Q10 ยังเป็นสารสำคัญในการสร้างพลังงานให้กับเซลล์ผิว ช่วยให้เซลล์ผิวแข็งแรง นอกจากนี้โคเอนไซม์ Q10 ยังช่วยเพิ่มการสังเคราะห์คอลลาเจนในเซลล์ผิวทำให้ผิวแน่น ยืดหยุ่นได้ดี ช่วยให้แผลหายได้เร็วขึ้น
  2. มีความสำคัญอย่างมากต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เพราะถ้าหากร่างกายขาด Coenzyme Q10 เซลล์ในร่างจะหยุดทำงานทันที!!
  3. มีบทบาทสำคัญในการช่วยลดริ้วรอย และชะลอการเสื่อมของเซลล์ผิวหนัง
  4. Coenzyme Q10 มีคุณสมบัติคล้ายกับวิตามินอี ช่วยเสริมการทำงานของหัวใจ เพิ่มพลังงานแก่ร่างกาย เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
  5. โรคเกี่ยวกับเหงือก เหงือกทำหน้าที่ในการยึดและพยุงฟันให้คงอยู่ในช่องปาก โรคเหงือกที่เป็นปัญหาและพบได้บ่อยเกิดจากคราบจุลินทรีย์ที่ถูกปล่อยให้สะสมอยู่บนตัวฟัน ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆ จากการวิจัยพบว่าการรับ โคเอนไซม์ Q10 เข้าไปในร่างกายจะช่วยลดและบรรเทาอาการเหงือกบวมรวมถึงอาการฟันโยก (Periodontitis) ได้ และช่วยรักษาโรคเหงือก ชะลอความผิดปกติและการดำเนินของโรคพาร์กินสันได้
  6. สำหรับผู้สูงอายุหลายๆคนแล้วการรับประทานโคคิว10 จะทำให้ร่างกายรู้สึกเหมือนมีพลังขึ้นมาทันที โรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ในร่างกายเช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์คินสัน เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาทที่พบได้มากที่สุด การได้รับโคเอนไซม์ Q10 เข้าไปในร่างกายสามารถช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ในร่างกายได้เนื่องจากใน โคเอนไซม์ Q10 มี ฟีนีลอะลานิน(Phenylalanine) ช่วยการทำงานของต่อมไทรอยด์ให้กระตุ้นการเผาผลาญของร่างกาย ทำให้รู้สึกสดชื่นตื่นตัว ลดความซึมเศร้า ช่วยให้ความจำและระบบประสาททำงานได้ดีขึ้น  และเนื่องจากคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระของโคเอนไซม์ Q10 ซึ่งสามารถช่วยปกป้องการทำลายของอนุมูลอิสระในสมองได้ จากการศึกษาพบว่าการให้โคเอนไซม์ Q10 เป็นอาหารเสริมช่วยชะลอความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อระบบประสาทและสมองได้
  7. เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เพราะโคคิว10 จะไปช่วยบรรเทาอาการเจ็บหน้าอกได้ดีกว่ายาแผนปัจจุบัน ในผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับปริมาณโคเลสเตอรอลในเลือดสูงเกินไป Q10 จะยับยั้งไม่ให้โคเลสเตอรอลจับเป็นก้อนอุดตันเส้นเลือด ใช้ในการรักษาโรคหัวใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวใจล้มเหลวเนื่องจากเส้นเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ (Congestive heart failure) ทั้งนี้เนื่องจากความรุนแรงของโรคผู้ป่วยโรคหัวใจดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะสัมพันธ์กับการขาดโคเอนไซม์ Q10 ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยโรคหัวใจได้รับโคเอนไซม์ Q10 จึงทำให้หัวใจทำงานได้ดียิ่งขึ้น เคยมีการศึกษาในผู้ป่วยโรคหัวใจมากกว่า 2,500 คนแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม โดยให้ผู้ป่วยโรคหัวใจกลุ่มหนึ่งได้รับโคเอนไซม์ Q10 อีกกลุ่มหนึ่งให้ยาหลอกเป็นเวลา 12 เดือน ผลปรากฏว่า 80%ของผู้ป่วยที่ได้รับโคเอนไซม์ Q10 ทุกวันๆละ 100 มิลลิกรัมมีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจน ส่วนประเทศญี่ปุ่นมีการทำวิจัยไว้ถึง 25 ชิ้น พบว่าผู้ป่วยร้อยละ 70 มีอาการดีขึ้นจากโรคหัวใจ โดยมีการศึกษาครั้งหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Therapeutics พบว่าการใช้โคเอนไซม์ Q10 เป็นอาหารเสริมทำให้หัวใจสูบฉีดโลหิตได้มากกว่า 15.7 เปอร์เซ็นต์ และทำให้การออกกำลังกายได้นานขึ้น 25.4 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคความดันโลหิตสูง พบว่าผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมักมีอาการขาดโคเอนไซม์ Q10 ร่วมด้วย ดังนั้นการรับประทานโคเอนไซม์ Q10 อาจจะช่วยให้อาการความดันโลหิตสูงดีขึ้น
  8. เชื่อว่าสามารถช่วยรักษาและป้องกันโรคมะเร็งได้ เนื่องคุณสมบัติของการมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของโคเอนไซม์ Q10 ทำให้สามารถช่วยป้องกันและรักษาโรคมะเร็งได้ ยังมีการศึกษาบางชิ้นที่แสดงว่าโคเอนไซม์ Q10 ให้ผลดีต่อการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย อีกทั้งมีงานวิจัยพบว่าในผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระดับโคเลสเตอรอลสูงในกระแสเลือด และผู้ที่ได้รับยากลุ่ม Statin ผู้ป่วยดังกล่าวควรจะรับประทานโคเอนไซม์ Q10 เพราะยากลุ่มดังกล่าวส่งผลต่อการยับยั้งสร้างโคเอนไซม์ Q10ในร่างกาย

Coenzyme Q10 กับความสวยความงาม

ลดริ้วรอย ชะลอการเสื่อมของเซลล์ผิวหนัง (Anti-aging/Skin care)

ผิวหนังมีหน้าที่ในการป้องกันสารพิษเชื้อโรคและรังสีอัลต้าไวโอเลต (Ultraviolet) จากแสงอาทิตย์ โดยรังสีอัลตร้าไวโอเลตนี้มี 2 ชนิด คือ UVA และ UVB แต่ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดริ้วรอยจะเป็นรังสี UVA โดย UVA สามารถทะลุผ่านชั้นผิวหนังถึงชั้นหนังแท้ และจะเริ่มต้นในการสร้างอนุมูลอิสระ (Free Radical) ซึ่งอนุมูลอิสระนี้เป็นผลิตผลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการออกซิเดชั่น (Oxidation) อนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นนี้ก็จะทำอันตรายต่อไขมัน โปรตีน และสารพันธุกรรม(DNA) ในเซลล์ผิวหนังรวมถึงทำให้เกิดการทำลายของคอลลาเจน(Collagen)และโครงสร้างอื่นๆของผิวหนัง สูญเสียความยืดหยุ่นขาดความกระชับเกิดริ้วรอยและความหมองคล้ำ CoQ10 เป็นสารต้านออกซิเดชั่น (Antioxidant) โดยจะไปป้องกันไม่ให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นที่จะทำให้อนุมูลอิสระซึ่งจะทำอันตรายต่อผิวหนัง  นอกจากนี้ CoQ10 พบมากที่ผิวหนังชั้นนอก(Epidermis)มากกว่าที่ผิวหนังชั้นใน(Dermis) ซึ่งเป็นผิวหนังชั้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากรังสี UVA จึงเป็นข้อดีอีกประการที่จะช่วยขจัดอนุมูลอิสระ(FreeRadical) ซึ่งเป็นสาเหตุของริ้วรอยและความหมองคล้ำนอกจากหน้าที่ในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระของผิวแล้ว Coenzyme Q10 คิวเท็นเปรียบเสมือนแหล่งผลิตพลังงานให้กับเซลล์ผิวหนัง หากเซลล์ผิวหนังได้รับพลังงานไม่เพียงพอก็จะทำให้เซลล์ทำงานผิดปกติก็จะทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่นก่อนวัยอันควร มีงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลของ CoQ10 ต่อการลดริ้วรอยมากมายว่าสามารถทำให้ความลึกของริ้วรอยลดลง เช่นการศึกษาของ Gerson Unna พบว่าภายหลังที่กลุ่มทดลองได้รับ CoQ10 ในระยะเวลา 6 สัปดาห์ ริ้วรอยลดลงกว่า 27% และเมื่อได้รับ CoQ10 ต่อไปเป็นระยะเวลา 10 สัปดาห์ริ้วรอยลดลงกว่า 43%

 

ปริมาณของโคเอนไซม์ คิวเทนที่แนะนำ

  • การรับประทาน Coenzyme Q 10 เป็นอาหารเสริมควรบริโภคในปริมาณ 30-50 มิลลิกรัมต่อวัน เพราะหากกินมากเกินไปจะเกิดอาการ คลื่นไส้อาเจียน ผื่นคัน ปวดหัว ท้องเสีย เจ็บหน้าอก เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ มึนงง หงุดหงิด กระสับกระส่าย ตาแพ้แสง อ่อนเพลีย ครั่นเนื้อครั่นตัว โคเอนไซม์คิวเทนในรูปของอาหารเสริม เป็นสารอาหารที่ละลายได้ดีในไขมัน ควรเลือกที่อยู่ในรูปของน้ำมันซึ่งจะดูดซึมได้ดีมาก โดยในรูปเจลที่อยู่ในรูปของน้ำมันถั่วเหลือง จะดูดซึมได้ง่ายและดีที่สุด ( ทานง่ายด้วย) และควรรับประทานแคปซูลขนาด 30 มิลลิกรัม ครั้งละ 1 เม็ด ได้ถึงวันละ 3 เวลา ทั้งนี้ควรเก็บให้พ้นแสง ควรเก็บไว้ในอุณภูมิปกติหรือเย็น (ห้ามแช่แข็ง)
  • สำหรับผู้ที่รับประทานยาลดระดับคอเลสเตอรอลเพื่อลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ (สเตติน) จะทำให้โคคิว10 ในร่างกายลดลงได้ ซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจมากยิ่งขึ้น!! ดังนั้นควรรับประทานโคคิว10 ร่วมกับสเตตินด้วย
  • การรับประทานอาจจะต้องใช้ระยะเวลานานกว่า 2 เดือนขึ้นไป กว่าจะเห็นผล
  • ขนาดที่แนะนำให้รับประทานต่อวันสำหรับวัยผู้ใหญ่คือ 30 มิลลิกรัม แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคชรา หรือเป็นโรคอื่น ๆควรรับประทาน 50 – 100 มิลลิกรัมต่อวัน

ผลข้างเคียง หากกินมากเกินไปจะเกิดอาการ คลื่นไส้อาเจียน ผื่นคัน ปวดหัว ท้องเสีย เจ็บหน้าอก เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ มึนงง หงุดหงิด กระสับกระส่าย ตาแพ้แสง อ่อนเพลีย ครั่นเนื้อครั่นตัว

ข้อห้ามใช้ ผู้ที่ต้องระวังคือผู้ป่วยโรคเบาหวานน้ำตาลต่ำเพราะจะทำให้น้ำตาลลด  และคนที่เป็นโรคเลือดเพราะ Coenzyme Q 10 จะไปลดประมาณเกล็ดเลือดทำให้เลือดออกง่าย รวมถึงคนที่เป็นความดันต่ำ คนท้อง และแม่ที่ให้นมลูก

 

จะเห็นได้ว่า Coenzyme Q10 นั้นมีความสำคัญอย่างมากต่อร่างกายของเรา ไม่ใช่แค่ในเรื่องของผิวพรรณความสวยความงามอย่างที่เราเข้าใจกันมาตลอดเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อเรื่องของสุขภาพของเรามากมายเช่นกัน วันนี้ได้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ไปแล้ว ต่อไปเราคงสามารถบอกคนอื่นได้ซะทีสินะว่ามันดีอย่างไร จบปิ้ง

 

www.flickr.com/photos/22545218@N06/14989592943/

Omega 9 คืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร

seeds-1
Source: Flickr (click image for link)

เราได้พูดถึงโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 กันไปในกระทู้ก่อนๆกันแล้วนะคะ หลายๆคนคงได้รู้จักกันไปพอสมควร วันนี้ HealthGossip จะมาพูดถึงกรดไขมันอีกตัวที่เชื่อเลยว่าหลายคนมองข้ามไป หรือไม่ก็มีอีกหลายคนที่ยังไม่ค่อยจะรู้จักกับเจ้ากรดไขมันตัวนี้กันสักเท่าไหร่ นั่นก็คือเจ้า“โอเมก้า 9” นั่นเอง  คงคิดกันว่ามันมีด้วยหรอเนี่ย? นึกว่าจะมีแค่โอเมก้า 3 กับโอเมก้า 6 ซะอีก ความจริงแล้วยังมีโอเมก้า 9 ตัวหนึ่งด้วยค่ะ และเจ้าโอเมก้า 9 เนี่ยก็เป็นอีกกรดไขมันหนึ่งที่เป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเช่นกันค่ะ ถึงแม้จะไม่ถูกเรียกว่าเป็นกรดไขมันจำเป็น แต่เชื่อไหมล่ะคะว่ามันก็มีประโยชน์เช่นกัน และก็เป็นกรดไขมันที่น่าน้อยใจไม่น้อยก็เพราะมักจะไม่ได้ถูกกล่าวถึงเลย หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นกรดไขมันที่ถูกลืมไปเลยก็ว่าได้ เพราะเราคงจะคิดว่ามันเป็นกรดไขมันอิ่มตัวที่ร่างกายเราสามารถสร้างได้เองก็คงไม่จำเป็นต้องใส่ใจสินะ แต่อยากจะบอกให้ทราบว่าในความเป็นจริงแล้ว เมื่อวัตถุดิบไม่ครบร่างกายก็สร้างขึ้นมาไม่ได้เหมือนกันนะจ๊ะ จึงจำเป็นที่เราจะต้องรับประทานอาหารประเภทที่มีกรดไขมันชนิดนี้เพิ่มขึ้นนั่นเอง เอาแล้วไง หลังจากนี้เมื่อเราทราบและเข้าใจบทบาทหน้าที่ของเจ้าโอเมก้า 9 แล้ว เราก็คงที่จะไม่กล้าลืมหรือให้ความสำคัญกับเจ้าตัวนี้กันแล้วใช่ไหมคะ เอาล่ะเรามาเรียนรู้และให้ความสำคัญกับบทบาทหน้าที่ของเจ้าตัวนี้กันเลยดีกว่าค่ะ

 

โอเมก้า 9 คืออะไร

โอเมก้า 9 คือ กรดไขมันชนิดหนึ่งที่เป็นกรดไขมันแบบไม่อิ่มตัวซึ่งมีพันธะคู่ระหว่างอะตอมของคาร์บอน (C=C) คู่แรกอยู่ที่ตำแหน่งที่ 9 นับจากปลายด้านกรดไขมัน

กรดไขมันชนิดโอเมก้า 9 ที่สำคัญมีสองตัวคือ

  1. กรดโอเลอิก (Oleic acid) เป็นกรดไขมันที่มีอยู่ในน้ำมันมะกอกและในไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวต่างๆ
  2. กรดอิรูสิค (Erucic acid) เป็นกรดไขมันที่พบได้มากในน้ำมันจากเมล็ดของต้นเรพ (Rapeseed), ต้นวอลล์ฟลาวเวอร์ (Wallflower)และเมล็ดของต้นมัสตาร์ด (Mastard seed) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในน้ำมันจากเมล็ดของต้นเรพนั้นมีการปลูกต้นเรพเป็นจำนวนมากเพื่อผลิตน้ำมันเป็นการพาณิชย์ในอุตสาหกรรมสี มีการนำกรดบางอย่างออกจากน้ำมันของต้นเรพ จะได้น้ำมันที่เรียกว่าคาโนลา (Canola oil)

อย่างไรก็ตาม กรดไขมันโอเมก้า 9 ไม่ถือว่าเป็นกรดไขมันจำเป็น (Essential fatter acid) เนื่องจากว่าร่างกายของคนเราสามารถสร้างกรดไขมันชนิดนี้ได้เองจากไขมันไม่อิ่มตัวโอเมก้า 3 และ/หรือ โอเมก้า 6 (ซึ่งถ้าร่างกายขาดโอเมก้า 3 และ 6 ล่ะก็ เจ้าโอเมก้า 9 จะกลายเป็นกรดไขมันจำเป็นขึ้นมาทันที เพราะว่าร่างกายของเราไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้เนื่องจากขาดวัตถุดิบนั่นเอง) และเนื่องจากกรดไขมันโอเมก้า 9 ไม่มีพันธะคู่ของอะตอมคาร์บอนที่ตำแหน่งที่ 6 ดังนั้นจึงไม่ได้ช่วยในการสร้างสารไอโคซานอยด์ (Eicosanoid) ซึ่งมีหน้าที่ช่วยในการควบคุมระบบการแข็งตัวของเลือดแต่อย่างไร

 

โอเมก้า 9 มาจากไหนนะ

เราสามารถกินอาหารเหล่านี้เพื่อให้ร่างกายได้รับโอเมก้า 9 ได้จาก ไขมันจากถั่วลิสง น้ำมันมะกอก คาโนลา น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน งา ถั่วพิตาชิโอ อัลมอนด์ และอะโวคาโด

ถ้าขาดโอเมก้า 9 จะเกิดอะไรขึ้น ?

อาจเกิดอาการผิวแห้ง ผมร่วง ตาแห้ง หัวใจเต้นผิดปกติ และเจ็บตามข้อต่างๆ รวมถึงอาจเกิดรังแคขึ้นได้ด้วยง่ายๆ คือ ถ้าร่างกายของเรามีทั้งโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 ก็จะเกิดการสร้างโอเมก้า 9 ขึ้นมาได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องเสริมเข้าไป แต่ถ้าเราไม่มีโอเมก้า 3 หรือโอเมก้า 6 ที่ร่างกายไม่สามารถสร้างพันธะคู่ที่ตำแหน่งอะตอมเองได้ เมื่อร่างกายขาดวัตถุดิบ จึงไม่เกิดโอเมก้า 9 นั่นเองค่ะ

 

ประโยชน์ของโอเมก้า 9

โอเมก้า 9 เกี่ยวข้องกับการสร้างฮอร์โมนโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ซึ่งมีผลต่อสุขภาพมาก ในร่างกายของคนเราควรจะมีกรดไขมันโอเมก้า 9 อยู่ในสัดส่วนที่ถูกต้องเมื่อเทียบกับโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 น้ำมันที่สร้างโดยผิวหน้าของเรามีลักษณะเหมือนกับกรดไขมันโอเมก้า 9 ที่พบได้มากในน้ำมันมะกอก นอกจากนี้แล้วกรดไขมันโอเมก้า 9 ยังอาจจะ

  • เป็นตัวช่วยในการสร้าง ฮอร์โมน โพรสตาแกลนดิน (Prostaglandins)
  • ช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี (LDL-Low Density Lipoprotein)
  • ช่วยเพิ่มระดับของ HDL (High Density Lipoprotein) ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
  • ช่วยลดไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride)
  • ทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นั่นก็คือทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตในร่างกายทำงานปกติ หัวใจ สมอง ตับ ไต และอวัยวะอื่นๆ ทำงานได้ดีขึ้น ทำให้สามารถป้องกันโรคหัวใจ และกลุ่มโรคหลอดเลือดตีบตันได้

 

เป็นอย่างไรบ้างคะ สำหรับเรื่องโอเมก้า 9 ที่เรามักไม่ค่อยได้ยินกัน คราวนี้ก็คงจะได้ทราบกันแล้วนะคะว่า ไขมันหรือน้ำมันจากพืชต่างๆ ที่สาวๆ เรามักจะรังเกียจรังงอนว่าไม่ดี ไม่ควรแตะต้องนั้น ก็มีประโยชน์อยู่บ้าง การงดไขมันเสียทั้งหมดเลยนั้นอาจจะไม่ถูกต้องนัก เพียงแต่ต้องไม่รับประทานเข้าไปมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ หรือถ้ารับเข้าไปมากเกิน ก็ต้องกำจัดออกด้วยการเล่นกีฬา และออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญส่วนเกินนั้นทิ้งไปเสียบ้างค่ะ และถึงแม้ว่าร่างกายของเราส่วนใหญ่จะสร้างโอเมก้า 9 ขึ้นมาได้เองเมื่อได้รับโอเมก้า 3 และ 6 แต่การรับประทานอาหารหรืออาหารเสริมที่มีโอเมก้า 9 เสริมเข้าไปก็ถือว่าช่วยลดความเสี่ยงในการขาดโอเมก้า 9  แต่ไม่ว่ายังไงก็ตาม ทุกอย่างก็ยังคงต้องมีความพอดีด้วยค่ะ อย่ากลัวว่าร่างกายจะขาดอย่างเดียวแล้วก็กินอาหารเหล่านี้เข้าไปมากเกินความจำเป็น ซึ่งอาจจะเกิดโทษต่อร่างกายของเราได้เหมือนกันนะคะ

 

www.flickr.com/photos/pawel_pacholec/17820276439/in/photostream/