Browse Tag: magnesium

14 ชนิดของอาหารที่มีแร่ธาตุแมกนีเซียมสูง

Source: Flickr (click image for link)

ขึ้นชื่อว่าสารอาหารซึ่งเป็นสารอาหารที่จะต้องมาหล่อเลี้ยงทุกระบบในร่างกายของเราให้ขับเคลื่อนได้อย่างสมดุลและเป็นปกติ แน่นอนว่าร่างกายของเราไม่ควรที่จะขาดสารอาหารตัวใดตัวหนึ่งไปได้เลย ถึงแม้ว่าจะเป็นแร่ธาตุหรือกลุ่มของสารอาหารที่ร่างกายต้องการไม่มากแถมใครหลายคนอาจจะไม่ให้ความสำคัญหรือไม่ให้ความสนใจเลยด้วยซ้ำไป เพราะอาจจะไม่ทราบว่าถ้าขาดไปแล้วจะมีผลกระทบต่อร่างกายอย่างไร ไม่ว่าร่างกายจะขาดสารอาหารตัวใดตัวหนึ่งไปไม่ว่าสารอาหารนั้นจะเป็นกลุ่มที่เล็กหรือใหญ่ก็ล้วนแต่ไม่สมควรที่จะขาดค่ะ วันนี้เลยอยากนำข้อมูลเกี่ยวกับอาหารประเภทหรือชนิดไหนบ้างที่มีแร่ธาตุแมกนีเซียมอยู่สูง เพื่อเป็นแนวทางหรือไกด์ไลน์ให้กับคนที่รักสุขภาพหรือกำลังสนใจค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับแร่ธาตุตัวนี้อยู่ ให้ได้ทราบและนำไปปรับใช้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพกันค่ะ สารอาหารที่เป็นชนิดของแร่ธาตุอย่าง แมกนีเซียม โดยส่วนใหญ่พบในกระดูกและฟันที่อยู่ในรูปแบบฟอสเฟตหรือคาร์บอเนต รองลงมาจะอยู่ในกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อต่างๆ และส่วนน้อยจะอยู่ในน้ำภายนอกเซลล์ค่ะ แมกนีเซียม เปรียบเสมือนคนงานที่ทำงานแบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ก็เพียงเพื่อที่จะสังเคราะห์โปรตีนให้กับร่างกายและเป็นโคเอนไซม์ที่สำคัญที่สุดชนิดหนึ่งในร่างกาย โดยที่จะทำงานร่วมกับแคลเซียมอันเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในระบบต่างๆ ของร่างกายค่ะ กาลเวลาผ่านไปคนเราใส่ใจสุขภาพก็เพียงแต่สารอาหารหลักจำพวก คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน แต่หลายคนไม่รู้และเข้าใจเลยว่าอาการที่เรียกว่า ขาดสารอาหาร นั้นไม่ได้แค่เพียงมาจากสารอาหารจำพวกเหล่านั้นแต่มันอาจจะเกิดจากการที่เราขาดแร่ธาตุบางตัวไปก็เป็นได้ค่ะ เพราะเราอาจจะไม่นึกว่าเกลือแร่หรือแร่ธาตุตัวเล็กๆ เหล่านั้นจะมีผลกระทบต่อระบบในร่างกายของเราไม่น้อยค่ะ มาถึงตรงนี้เราควรที่จะย้อนกลับมามองดูสุขภาพร่างกายตัวเองให้มากขึ้นว่าอาการผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเรานั้นเกิดมาจากที่เราขาดหรือเกินอะไรไปหรือเปล่า

เมื่อร่างกายได้รับแมกนีเซียมไม่เพียงพอหรือการขาดแร่ธาตุแมกนีเซียม จะมีอาการดังนี้ค่ะ

1.ไม่สามารถบังคับอวัยวะต่างๆ ให้เคลื่อนไหวตามต้องการได้ เนื่องจากมีการผิดปกติของระบบประสาท กล้ามเนื้อ

2.ระบบทางเดินอาหารและการย่อยผิดปกติ

3.เลือดแข็งตัวช้า

4.ประสาทไว ตกใจง่าย

5.มีปัญหาระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ

 

14 ชนิดของอาหารที่มีแร่ธาตุแมกนีเซียมสูง

 

1.ผักขม

ถ้าถามหาอาหารที่มีแร่ธาตุหรือเกลือแร่ที่มีชื่อว่าแมกนีเซียมอยู่สูงแล้วล่ะก็ ส่วนใหญ่จะอยู่ในผักใบเขียวอย่างผักขม และผักขมต้มสุก 1 ถ้วย ปริมาณ 180 กรัม มีธาตุแมกนีเซียมอยู่ประมาณ 157 มิลลิกรัม

 

2.ผักสวิสชาร์ด

อีกหนึ่งชนิดของผักที่มีแร่ธาตุแมกนีเซียมอยู่สูงที่อยากแนะนำก็คือ ผักสวิสชาร์ต หรือ ที่คนส่วนใหญ่เรียก ชาร์ต โดยผักสวิสชาร์ดต้มสุก 1 ถ้วย ปริมาณ 180 กรัม มีธาตุแมกนีเซียมอยู่ประมาณ 154 มิลลิกรัม

 

3.เมล็ดฟักทอง

เมล็ดฟักทองที่ควนส่วนใหญ่จะรับประทานเนื้อฟักทองมากกว่า แต่ก็มีหลายคนที่นิยมรับประทานเมล็ดฟักทองเป็นอาหารว่างหรือกินเล่นๆ แก้เบื่อ แต่ดันให้ประโยชน์และแร่ธาตุแมกนีเซียมสูงซะนี่ เลือกทานไม่ผิดแล้วยังมีประโยชน์อีกโดยเมล็ดฟักทอง ½ ถ้วย ปริมาณ 59 กรัม มีธาตุแมกนีเซียมอยู่ประมาณ 325 มิลลิกรัม ค่ะ

 

4.โยเกิร์ตไม่มีไขมัน

แร่ธาตุแมกนีเซียมจะมีมากในผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำทุกชนิด แต่จะมีอยู่มากเลยก็คือในโยเกิร์ตที่ไม่มีไขมัน โดยโยเกิร์ตไม่มีไขมัน 1 ถ้วย ปริมาณ 245 กรัม มีธาตุแมกนีเซียมอยู่ประมาณ 47 มิลลิกรัม

 

5.ควีนัว

ควีนัวที่สมควรได้รับการยกย่องให้เป็นสุดยอดของอาหารด้วยคุณค่าทางสารอาหารหลักและย่อยมีเยอะแยะมากมายขนาดนี้ รวมไปถึงแร่ธาตุแมกนีเซียมสูงไปอีกโดยควีนัวหุงสุก 1 ถ้วยปริมาณ 195 กรัม มีธาตุแมกนีเซียมอยู่ประมาณ 118 มิลลิกรัม ค่ะ

 

6.ข้าวกล้อง

ข้าวกล้องมีสารอาหารและแร่ธาตุอยู่มากมายเลยค่ะ และหนึ่งในนั้นก็มีแร่ธาตุแมกนีเซียมอยู่สูง โดยข้าวกล้องหุงสุก 1 ถ้วยปริมาณ 195 กรัม มีธาตุแมกนีเซียมอยู่ประมาณ 86 มิลลิกรัม ค่ะ

 

7.ถั่วเหลือง

อาหารประเภทตระกูลถั่วถือเป็นระดับต้นๆ ของอาหารที่มีแมกนีเซียมอยู่สูง โดยเฉพาะถั่วเหลืองค่ะ ทราบหรือไม่ว่าถั่วเหลืองต้มสุก 1 ถ้วยปริมาณ 172 กรัม มีธาตุแมกนีเซียมอยู่ถึง 148 มิลลิกรัม ทีเดียวค่ะ

 

8.ปลาทู

ปลาทูที่หารับประทานได้ง่ายในบ้านเราเรียกได้ว่านอกจากหาทานง่ายแล้วยังราคาถูกคุ้มค่าแก่ประโยชน์ที่มีซ่อนอยู่ในเนื้อปลาทูแน่นอนค่ะ และเนื้อปลาทูปริมาณ 85 กรัม มีธาตุแมกนีเซียมอยู่ปริมาณ 82 มิลลิกรัม ค่ะ

 

9.อะโวคาโด

อะโวคาโดอาหารทรงคุณประโยชน์ไม่ควรแปลกใจและลังเลที่จะเลือกรับประทานอาหารชนิดนี้เลยค่ะ นอกจากมีสารอาหารมากมายแล้วยังมีธาตุแมกนีเซียมซ่อนอยู่สูงเชียม โดยอะโวคาโด 1 ลูก ปริมาณ 201 กรัม มีธาตุแมกนีเซียมอยู่ปริมาณ 82 มิลลิกรัม

 

10.กล้วย

กล้วยถึอเป็นอีกชนิดของผลไม้ที่ให้แร่ธาตุแมกนีเซียมสูง ซึ่งกล้วยขนาดกลาง 1 ลูก ปริมาณ 118 กรัม มีธาตุแมกนีเซียมอยู่ปริมาณ 32 มิลลิกรัม ค่ะ

 

11.ลูกมะเดื่ออบแห้ง

ในผลไม้อบแก้งหลายชนิดเลยค่ะที่มีแร่ธาตุแมกนีเซียมอยู่สูง โดยเฉพาะลูกมะเดื่ออบแห้ง โดยลูกมะเดื่ออบแห้ง ½ ถ้วย ปริมาณ 75 กรัม มีธาตุแมกนีเซียมอยู่ประมาณ 51 มิลลิกรัม ค่ะ

 

12.อัลมอลด์

เมล็ดอัลมอลด์แสนอร่อยของโปรดของใครหลายๆ คน ด้วยประโยชน์และคุณค่าของอัลมอลด์ก็มีไม่น้อยรวมไปถึงแร่ธาตุแมกนีเซียมด้วยค่ะ และอัลมอลด์ปริมาณ 28 กรัม มีธาตุแมกนีเซียมอยู่ประมาณ 80 มิลลิกรัม

 

13.ถั่วดำ

จะเห็นได้ว่าอาหารจำพวกธัญพืชจะมีแร่ธาตุแมกนีเซียมอยู่สูง และถั่วดำก็เป็นหนึ่งในนั้นค่ะ โดยที่ถั่วดำ 1 ถ้วย ปริมาณ 175 กรัม มีธาตุแมกนีเซียมอยู่ถึง 120 มิลลิกรัม เลยล่ะค่ะ

 

14.ดาร์กช็อกโกแลต

ช็อกโกแลตอย่างดาร์กช็อกโกลแลตถือเป็นสุดยอดอาหารชนิดหนึ่ง ที่มีสารต่อต้านออกซิแดนท์แล้วยังมีแร่ธาตุแมกนีเซียมที่สูง โดยดาร์กช็อกโกแลต 1 ชิ้นสี่เหลี่ยมปริมาณ 29 กรัม มีธาตุแมกนีเซียมอยู่ประมาณ 95 มิลลิกรัม

 

 

 

อ้างอิง : ข้อมูลปริมาณแร่ธาตุแมกนีเซียมในอาหารจาก www.healthaliciousness.com/articles/foods-high-in-magnesium

www.flickr.com/photos/diversey/17490694615/

แมกนีเซียม คืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร

green-drink-1
Source: Flickr (click image for link)

แมกนีเซียม (Magnesium) เป็นสารอาหารประเภทเกลือแร่หรือแร่ธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งก็จัดอยู่ในกลุ่มของเกลือแร่ที่มีอยู่มากมายในร่างกายแต่น้อยกว่าแคลเซียม และฟอสฟอรัส ผู้ใหญ่มีแมกนีเซียมประมาณ 20-28 กรัม พบอยู่ในกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อต่างๆ ประมาณ 40% พบอยู่ในน้ำภายนอกเซลล์(Extracellular fluid)ประมาณ 1% และที่เหลืออีกประมาณ 50% พบอยู่ในกระดูกและฟัน โดยอยู่ในรูปเกลือฟอสเฟตหรือคาร์บอเนต ในเด็กแรกเกิดจะมีแมกนีเซียมต่ำและเมื่อโตขึ้นจะมีแมกนีเซียมเพิ่มมากขึ้น โดยแมกนีเซียมจะพบทั้งในพืชและสัตว์ ในพืชนั้นแมกนีเซียมเป็นองค์ประกอบในโมเลกุลของคลอโรฟิลล์ แมกนีเซียม เปรียบเสมือนคนงานที่ทำงานแบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพียงเพื่อจะสังเคราะห์โปรตีนให้กับร่างกาย และเป็นโคเอนไซม์ที่สำคัญที่สุดชนิดหนึ่งในร่างกายที่จะทำงานร่วมกับแคลเซียมอันเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในระบบต่างๆ ของร่างกายค่ะ

อาการของผู้ที่ขาดแมกนีเซียม จะมีอาการเบื่ออาหาร กล้ามเนื้อกระตุก สับสน หัวใจเต้นผิดปกติ บางรายอาจจะมีอาการชัก

สาเหตุของการขาดแมกนีเซียม

ความเครียด ทำให้แมกนีเซียมถูกใช้มากขึ้นหลายเท่า

เนื้อและอาหารที่ผ่านกรรมวิธีปรุงแต่ง น้ำอัดลม ล้วนแต่มีส่วนผสมของฟอสฟอรัสเยอะซึ่งก็จะไปขัดขวางการดูดซึมของแมกนีเซียมค่ะ

การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก มีส่วนทำให้ขาดแมกนีเซียมได้

การใช้ยาขับปัสสาว ก็มีส่วนทำให้ขาดแมกนีเซียมได้เช่นกัน

ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน มีโอกาสขาดแมกนีเซียมได้ง่าย

 

เกี่ยวกับแมกนีเซียม หรือ (Magnesium)

  • แมกนีเซียม เป็นสารอาหารประเภทเกลือแร่หรือแร่ธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งก็จัดอยู่ในกลุ่มของเกลือแร่ที่มีอยู่มากในร่างกาย
  • แมกนีเซียม จะพบทั้งในพืชและสัตว์
  • แมกนีเซียม เป็นองค์ประกอบในโมเลกุลของคลอโรฟิลล์ที่เป็นสารสีเขียวในพืช
  • แมกนีเซียม พบมากในผักใบเขียวทุกชนิด
  • แมกนีเซียม พบมากผลไม้สดและยังพบในเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง วอลนัท แป้งข้าวสาลี หอยนางรม ถั่วดำ เต้าหู้ ถั่วลิสง เมล็ดทานตะวัน แอลมอนด์ รำข้าว ปวยเล้ง และข้าวโพด
  • แมกนีเซียม พบในน้ำนมและเนื้อสัตว์น้อย
  • แมกนีเซียม ปริมาณแมกนีเซียมในอาหารจะลดลงได้มาก จากการประกอบอาหารที่เทน้ำทิ้งไป
  • แมกนีเซียม ในกระบวนการแปรรูปอาหารประเภทธัญพืชด้วยการขัดสี จะทำให้สูญเสียแมกนีเซียม  เช่น ข้าวสารที่ขัดสีจนขาว
  • แมกนีเซียม เป็นโคแฟกเตอร์ (Co-factor) ที่สำคัญของเอ็นไซม์ในร่างกายไม่น้อยกว่า 300 ชนิด เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์โปรตีนต่างๆในร่างกาย
  • แมกนีเซียม เป็นเกลือแร่ที่มีโอกาสขาดได้ง่ายรองจากแคลเซียม
  • แมกนีเซียม ช่วยให้การผลิตฮอร์โมนต่างๆ เป็นปกติ
  • แมกนีเซียม หากร่างกายได้รับไม่เพียงพอจะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจมากขึ้น
  • แมกนีเซียม ทำหน้าที่ในการส่งผ่านกระแสประสาท จึงช่วยบรรเทาอาการที่เกี่ยวกับสมองได้ เช่น ซึมเศร้า ไมเกรน เครียด เป็นต้น
  • แมกนีเซียม เป็นตัวช่วยในการสะสม แคลเซียม เข้ากระดูก และลดความรุนแรงของ โรคหัวใจ วายเรื้อรัง
  • แมกนีเซียม มีหลายรูปแบบเช่น แมกนีเซียมซิเตรด แมกนีเซียมแอสพาเตรด แมกนีเซียมคาร์บอเนต แมกนีเซียมกลูคอเนต แมกนีเซียมออกไซต์ และแมกนีเซียมซัลเฟต
  • แมกนีเซียม  ช่วยบรรเทาและป้องกัน อาการปวดประจำเดือนโดยการคลายกล้ามเนื้อมดลูก
  • แมกนีเซียม ช่วยในการการเติบโตของกระดูกและฟัน
  • แมกนีเซียม ช่วยป้องกันการแข็งตัวของเลือด
  • แมกนีเซียม ช่วยในการควบคุมสมดุลของกรด-ด่างในร่างกาย

 

 

ประโยชน์ของแมกนีเซียม (Magnesium)

 

ช่วยบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อย  เกี่ยวข้องกับขบวนการเผาผลาญที่จำเป็นหลายขบวนการ ซึ่งส่วนมากแมกนีเซียมจะอยู่ในเซลล์และจะไปกระตุ้นน้ำย่อย โดยเป็น co-factor ของน้ำย่อยหลายชนิดซึ่งจำเป็นสำหรับการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต และกรดอะมิโนให้เป็นพลังงาน

 

ช่วยส่งเสริมการดูดซึมและการเผาผลาญของแร่ธาตุต่างๆ เกี่ยวข้องกับการคลายตัว ( relaxation ) ของกล้ามเนื้อช่วยส่งเสริมการดูดซึม และการเผาผลาญของแร่ธาตุต่างๆ เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส โซเดียม และโพแทสเซียม

 

ช่วยบรรเทาอาการปวดไมเกรน ลดอาการซึมเศร้า เครียดและช่วยให้นอนหลับ โดยเป็นตัวที่ไปช่วยในการสร้างสารเมลาโทนิน เมื่อแมกนีเซียมรวมกับแคลเซียมแล้วจะทำงานคล้ายเป็นยาระงับประสาทจากธรรมชาติ ช่วยให้รู้สึกสงบ สำหรับแคลเซียมและแมกนีเซียม แร่ธาตุทั้ง 2 ตัวจะช่วยในการทำงานของระบบประสาท ควบคุมการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อ การขาดแร่ธาตุนี้จะทำให้เกิดตะคริวและรบกวนการทำงานของเส้นประสาทมีผลทำให้นอนไม่หลับ

 

ช่วยร่างกายในการใช้วิตามินบีรวม วิตามินซี และวิตามินอี ซึ่งจำเป็นสำหรับการส่งสัญญาณประสาท( nerve impulse) และป้องกันกล้ามเนื้อหดเกร็ง

 

ช่วยป้องกันอาการทางด้านโครงกระดูกและกล้ามเนื้อ เช่น ฟันผุ กระดูกพรุน อ่อนเพลียเรื้อรัง ตะคริว กล้ามเนื้อกระตุก อาการสั่น

 

ช่วยลดไขมันในเลือดและป้องกันโรคความดันโลหิตสูง

 

ช่วยป้องกันอาการปวดก่อนมีประจำเดือนของสตรี

 

 

ปริมาณของแมกนีเซียมที่ร่างกายควรได้รับ

ปริมาณที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน (RDA) ของแมกนีเซียมสำหรับผู้ใหญ่อยู่ระหว่าง 200-700 มิลลิกรัม ซึ่งในแต่ละวันร่างกายคนแต่ละช่วงอายุต้องการแมกนีเซียมแตกต่างกัน ดังนี้

ผู้ชายควรได้รับวันละ                                                 350      มิลลิกรัม

ผู้หญิงควรได้รับวันละ                                                300      มิลลิกรัม

หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตรควรได้รับวันละ           450      มิลลิกรัม

เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี ควรได้รับวันละ                      60-70    มิลลิกรัม

เด็กอายุ 2-7 ปี ควรได้รับวันละ                                   150      มิลลิกรัม

เด็กอายุ 7-10 ปี ควรได้รับวันละ                                 250      มิลลิกรัม

 

 

www.flickr.com/photos/elmastudio/6886053387/