Browse Tag: rhodopsin

Vitamin A คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร

carotene-fruits-1“วิตามินเอ” (Vitamin A) เป็นวิตามินอีกตัวที่สำคัญและมีประโยชน์ไม่แพ้กับวิตามินชนิดอื่นๆ แต่ถึงจะมีประโยชน์มากมายเพียงใด การที่ได้รับวิตามินเอไม่เพียงพอก็จะส่งผลต่อร่างกายของเราโดยเฉพาะดวงตา ผิวหนัง และระบบภูมิต้านทานโรค แล้วทำอย่างไรจึงจะไม่ขาดวิตามินเอจนร่างกายเจ็บป่วยล่ะและถ้าหากได้รับในปริมาณที่มากเกินไปอีกล่ะ ดังนั้นเราจึงต้องมาทำความรู้จักกับประโยชน์และโทษของวิตามินชนิดนี้กันให้กระจ่างแจ้งกันค่ะ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ร่างกายของเราได้รับวิตามินชนิดนี้อย่างถูกต้องเหมาะสม เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุดและก็จะได้มั่นใจว่าจะไม่ก่อโทษต่อร่างกายตามมาในภายหลัง… วิตามินเอ (Vitamin A) เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน ค้นพบโดย ดร. อี.วี. แมคคอลลัม (E.V. McCollum) นักวิทยาศาสตร์ชาวสหรัฐอเมริกา ร่างกายของเราสามารถสะสมวิตามินเอได้นานมากอาจนานได้ถึง 1 หรือ 2 ปี โดยเก็บไว้ในชั้นเซลล์ไขมัน  

วิตามินเอจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

  1. อยู่ในรูปแบบวิตามินอยู่แล้ว (Proformed Vitamin A) หรือเรียกว่า Retinol ซึ่งได้มาจากเนื้อสัตว์ เช่น น้ำมันตับปลา อาหารประเภทเนื้อ ไข่ ตับและเครื่องใน
  2. กำลังจะเป็นวิตามินเอ (Provitamin A) หรือเรียกว่า เบต้า แคโรทีน (Beta-Carotene) เป็นสารที่เมื่อเข้าสู่รางกายจึงได้รับการเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ พบมากในผักสีต่างๆ เช่น แครอท ผักโขม

 

เกี่ยวกับวิตามินเอ หรือ Retinol

  • วิตามินเอ (Vitamin A) เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน
  • วิตามินเอจะถูกดูดซึมไปใช้ในร่างกายได้ดีที่สุดเมื่อกินร่วมกับอาหารที่มีน้ำมันหรือไขมันเป็นส่วนประกอบ
  • เมื่อร่างกายใช้ไม่หมดก็จะเก็บสะสมไว้ที่ตับ
  • ถ้าได้รับวิตามินเอจากอาหารปกติ ไม่จำเป็นต้องกังวลว่าร่างกายจะได้รับอันตรายแต่อย่างใดเพราะมันไม่เข้มข้น
  • การไดรับวิตามินเอจากอาหารเสริมต่างๆ มักจะมีความเข้มข้นสูง ซึ่งหากได้รับเป็นระยะเวลานาน ก็ส่งผลเสียต่อร่างกายมากกว่าประโยชน์
  • วิตามินเอมีหน้าที่ช่วยในการมองเห็น การเจริญเติบโตของกระดูก การแบ่งตัวของเซลล์ การกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค ซ่อมแซมผิวของตาและหลอดลมทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายยากขึ้น
  • วิตามินเอยังช่วยกระตุ้นให้เซลล์เม็ดเลือดขาวโดยเฉพาะ lymphocyte ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และระบบสืบพันธุ์
  • วิตามินเอ จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ Retinol และ Beta-carotene
  • วิตามินเอพบมากในอาหารประเภทเนื้อ ไข่ นม ตับและเครื่องใน ในรูปแบบของสารวิตามินที่ออกฤทธิ์ได้ทันที่ ที่เราเรียกว่า Retinal
  • ผักผลไม้ที่ให้วิตามินเอส่วนใหญ่จะมีสีเหลือง ส้ม แดง และเขียวเข้ม เช่น ผักปวยเล้ง  ผักโขม ข้าวโพด มันฝรั่ง ฟักทอง คะน้า เป็นต้น เพราะมีเบต้าแคโรทีนและแคโรนอยด์ที่อยู่ในรูปแบบสารตั้งต้น โดยร่างกายจะเปลี่ยนเป็นวิตามินเอต่อไป
  • นมพร่องมันเนยจะมีวิตามินเอต่ำเพราะวิตามินเอละลายในไขมัน โดยในขณะที่วิตามินเอจากเนื้อสัตว์จะดูดซึมได้ดี
  • เนื่องด้วยวิตามินเอในผักผลไม้มีความไวต่อออกซิเจนมาก ดังนั้นวิธีการต้มที่ป้องกันการสูญเสียวิตามินได้ดีทีสุดคือ ควรปิดฝาภาชนะขณะต้มและใส่น้ำน้อยๆ
  • ร่ายกายคนเราต้องการวิตามินเอในแต่ละวันอยู่ที่วันละ 4,000-5,000 IU
  • การได้รับวิตามินเอไม่เพียงพอจะส่งผลต่อร่างกายของเราโดยเฉพาะดวงตา ผิวหนัง และระบบภูมิต้านทานโรค
  • วิตามินเอ ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโตได้อย่างปกติ ไม่ชะงัก หรือหยุดการเจริญเติบโตก่อนวัย
  • วิตามินเอ ช่วยป้องกันอาการเบื่ออาหาร (แต่ถ้าได้รับมากเกินไปก็จะมีผลตรงกันข้าม)

 

 

ประโยชน์ของวิตามินเอ

คุณค่าของ “วิตามินเอ” เป็นที่รู้กันดีว่า คุณค่าทางโภชนาการของวิตามินเอนั้นที่เราต่างก็จะรู้จักกันในนามของวิตามินที่บำรุงสายตาที่สำคัญตัวหนึ่งนั้น โดยจะมีส่วนประกอบที่สำคัญของ “คอร์เนีย” ช่วยให้มีสายตาที่เป็นปรกติ เนื่องจากวิตามินเอจะช่วยในการบำรุงสายตา ช่วยให้ตาปรับสภาพในที่มืดได้ดี หรือช่วยป้องกันโรคตามัวตอนกลางคืนที่เราเรียกกันว่า Night Blindness ทำให้มองเห็นในที่มืดได้ดีขึ้น แต่นอกจากในเรื่องของการบำรุงสายตาแล้ววิตามินเอยังมีประโยชน์อีกมากมายที่เราอาจจะยังไม่ทราบกันค่ะ

 

วิตามินเอ ช่วยให้ไม่เป็นโรคตาฟาง คนที่เป็นโรคนี้จะมองเห็นในที่มืดได้ไม่ค่อยชัดทั้งๆที่มีแสงพอที่จะมองเห็นได้ ถ้าขาดวิตามินเอมากๆ ก็จะทำให้ไม่สามารถมองเห็นในที่มืดได้เลย ซึ่งมักเรียกคนที่มีอาการเหล่านี้ว่า “พวกตาบอดกลางคืน” โดย Retinol จะรวมตัวกับโปรตีนชื่อ ออพซิน (opsin) เป็นสารประกอบโรดอพซิน (rhodopsin) ซึ่งมีคุณสมบัติดูดแสงและปรับสายตาให้มองเห็น สารประกอบนี้จะสลายไปเมื่อถูกใช้แล้ว ดังนั้น การบริโภคอาหารที่ให้วิตามินเอที่เพียงพอในการสร้างโรดอพซินได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

 

วิตามินเอ ช่วยให้ตาสู้แสงในเวลากลางวัน คนที่ขาดวิตามินชนิดนี้ จะทำให้ตาไม่ค่อยสู้แสงในเวลากลางวัน ตาไวต่อแสงทำให้แสบตาง่าย และทำให้น้ำตาไหลได้ง่ายด้วย

 

วิตามินเอ ช่วยป้องกันเยื้อบุนัยน์ตาแห้ง คนที่ขาดวิตามินเอมากๆ เยื่อบุนัยน์ตาจะแห้งและมีโอกาสอักเสบได้ง่าย เปลือกตาบวม มีจุดขาวๆ ที่ตาเหมือนมีฟองน้ำเกาะที่เยื่อบุตา และมีเม็ดขึ้นบนผิวกระจกตา ซึ่งถ้าไม่รักษาและปล่อยให้ขาดวิตามินเอนานๆ อาจทำให้ตาบอดได้

 

วิตามินเอ ช่วยป้องกันผิวหนังแห้ง หยาบ และพุพอง คนที่ขาดวิตามินชนิดนี้ขั้นรุนแรงจะเป็นโรคหนังคางคก ซึ่งเป็นโรคที่ผิวหนังจะมีลักษณะเป็นตุ่มๆ สากๆ เกิดได้ทุกบริเวณของร่างกาย เช่น แขน ขา หลัง หน้าอกและหน้าท้อง เป็นต้น

 

วิตามินเอเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ช่วยไม่ให้เกิดสิวได้ง่าย เนื่องจากวิตามินชนิดนี้ เป็นวิตามินที่ต่อต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งมีผลช่วยให้ลดการเกิดสิวได้ง่าย บางคนที่รักษาสิวมาหลากหลายวิธีแต่สิวก็ยังคงไม่หายซักที อาจเป็นเพราะมีสาเหตุมาจากการขาดวิตามินชนิดนี้ก็เป็นได้

 

วิตามินเอช่วยให้เหงื่อไม่ออกง่าย เนื่องจากวิตามินเอ ทำให้รูปขุมขนที่ผิวหนังชั้นนอกมีการสะสมของเคราติน ทำให้เยื่อบุเป็นเกล็ดหนาและไม่ค่อยมีเหงื่อ

 

วิตามินเอ ช่วยป้องกันผิวแห้งแตกลายงา ถ้าหากไม่อยากให้ผิวแห้งแตกลายงาเหมือนดินที่ขาดน้ำ หรือแตกเป็นเกล็ดคล้ายคนขาดไขมัน ก็หมายความว่า คุณกำลังขาดวิตาเอ และไขมัน (เพราะวิตามินชนิดนี้ละลายในไขมัน)

 

วิตามินเอ ช่วยป้องกันเซลล์ชนิดเยื่อบุต่างๆ ของร่างกายไม่ให้เกิดการผิดปกติ ซึ่งถ้าเยื่อบุต่างๆ ของร่างกายผิดปกติ ก็จะทำให้อวัยวะต่างๆ ของร่างกายเกิดผิดปกติไปด้วย เช่น มีการอักเสบของทางเดินหายใจ เพราะเยื่อบุบริเวณช่องจมูกเกิดผิดปกติ เป็นต้น

 

วิตามินเอเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย มีบทบาทสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ช่วยต่อสู้กับโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และปรสิต จึงทำให้ไม่ติดเชื้อง่าย ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยง่ายจนเกินไป

 

วิตามินเอกับผิวพรรณ ในแง่ของสุขภาพผิวและความสมดุลของฮอร์โมนนั้น วิตามินเอ มีความจำเป็นต่อร่างกาย โดยได้มีงานวิจัยยืนยันว่าผู้ที่เป็นสิวรุนแรงนั้นมีระดับวิตามินเอในเลือดต่ำ มีรายงานว่า หญิงที่มีภาวะฮอร์โมนไม่สมดุลและเป็นสิว เมื่อได้รับได้รับอาหารเสริมวิตามินเอ สิวก็สามารถหายภายในไม่กี่สัปดาห์ รวมถึงรอยแผลสิวก็เริ่มลดลงหลังจากได้รับอาหารเสริมวิตามินเอ 2 สัปดาห์

 

 

อันตรายจากการขาดวิตามินเอ

โรคผิวหนัง เนื่องจากวิตามินเอมีส่วนสำคัญในการรักษาสภาพเยื่อบุผิวหนัง ขาดวิตามินเอทำให้ผิวพรรณขาดความชุ่มชื้น หยาบกร้าน แห้งแตก โดยเฉพาะผิวหนังบริเวณข้อศอก ตาตุ่มและข้อต่อด่างๆ ซึ่งอาจนำไปสู่โรคผิวหนัง เช่น สิวและโรคติดเชื้ออื่นๆ ได้

ตาฟาง หน้าที่ของวิตามินเอคือช่วยในการสร้างสารที่ใช้ในการมองเห็น หากขาดจะทำให้มองเห็นได้ยากในเวลากลางคืนหรือในที่แสงสว่างน้อย และทำให้เยื่อบุตาแห้ง กระจกตาเป็นแผล ในกรณีที่ร่างกายขาดวิตามินเออย่างรุนแรงอาจทำให้ตาบอดได้

ความต้านทานโรคต่ำ วิตามินเอเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของเราทำงานตามปกติ การขาดวิตามินเอจึงทำให้เกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้ง่าย อีกทั้งยังทำให้เกิดการอักเสบในโพรงจมูก ช่องปาก คอ และที่ต่อมน้ำลาย

อันตรายจากการได้รับวิตามินเอเกิน

แท้งลูกหรือพิการ หญิงมีครรภ์ที่ได้รับวิตามินเอมากเกินไปมีความเสี่ยงต่อภาวะทารกในครรภ์คลอดออกมาพิการหรือแท้งได้ เนื่องจากวิตามินเอมีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กในครรภ์ ซึ่งอาจทำให้เด็กมีความผิดปกติที่ทางเดินปัสสาวะ กระดูกผิดรูป หรือมีติ่งปูดออกมาที่บริเวณหู

อ่อนเพลีย หากร่างกายได้รับวิตามินเอเกินครั้งละ 15,000 ไมโครกรัม จะมีผลทำให้รู้สึกอ่อนเพลียและอาเจียนได้

เจ็บกระดูกและข้อต่อ เบื่ออาหาร เซื่องซึม นอนไม่หลับ กระวนกระวาย ผมร่วง ปวดศีรษะ ท้องผูก ทั้งหมดนี้เป็นโทษในระยะยาวที่เกิดจากการรับประทานวิตามินเอมากเกินไป

ในสัตว์กระเพาะเดี่ยว เมื่อได้รับเกินความต้องการ 4-10 เท่า จะทำให้โครงกระดูกผิดปกติ

ในสัตว์เคี้ยวเอื้อง เมื่อได้รับเกิน 30 เท่า จะเกิดอาการผิดปกติ

 

www.flickr.com/photos/jalb/117560810/