Browse Tag: selenium

แร่ธาตุ คืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร

mix-salad-1
Source: Flickr (click image for link)

แร่ธาตุ (Mineral) คืออะไร

แร่ธาตุหรือเกลือแร่ (Mineral) คือ แร่หรือสารประกอบอนินทรีย์ที่เป็นองค์ประกอบของอาหารส่วนที่เหลือเป็นเถ้าที่ได้หลังจากการเผาไหม้สารอินทรีย์ทั้งหมดในเนื้อเยื่อพืชและสัตว์ ซึ่งแร่ธาตุหรือเกลือแร่ที่ว่านี้เป็นสารอาหารอีกประเภทหนึ่งที่ร่างกายต้องการ เป็นส่วนประกอบของสารหลายชนิดที่มีความสำคัญต่อการทำหน้าที่ของเซลล์และอวัยวะ แร่ธาตุแต่ละชนิดมีความจำเป็นต่อการทำงานของร่างกายแตกต่างกันและมีอยู่ในแหล่งอาหารต่างชนิดกัน ร่างกายจำเป็นต้องมีอยู่ในระดับที่เหมาะสมจึงจะสามารถทำงานได้ ง่ายๆก็คือไม่สามารถขาดได้นั่นเองค่ะ เนื่องจากแร่ธาตุมีบทบาทและหน้าที่สำคัญต่อร่างกายหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำหน้าที่เป็นโครงสร้างของร่างกายจำพวก กระดูกและฟัน เลือด บางชนิดเป็นส่วนประกอบของสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกะบวนการเจริญเติบโตภายในร่างกาย เป็นองค์ประกอบของเอนไซม์ ฮอร์โมนและวิตามิน นอกจากนี้แร่ธาตุยังทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อในทุกอวัยวะของร่างกายให้ทำหน้าที่เป็นปกติ เช่น ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาท การแข็งตัวของเลือด และช่วยควบคุมสมดุลของน้ำในการไหลเวียนของของเหลวในร่างกาย เป็นต้นค่ะ

จากความสำคัญและหน้าที่ดังกล่าวนั้น จะได้เห็นว่าแร่ธาตุเป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อร่างกายของเราอยู่ไม่น้อยเลยค่ะ ซึ่งร่างกายของเราก็จะต้องได้รับให้เพียงพอต่อความต้องการจึงจะเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่และแข็งแรง อาหารทั่วไปที่เป็นแหล่งของแร่ธาตุทั้งชนิดหลักและแร่ธาตุรอง ปริมาณมากหรือน้อยก็จะแตกต่างกันออกไปแล้วแต่ชนิดของอาหาร เช่นแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อร่างกายประกอบด้วย แคลเซียม ฟอสฟอรัส ไอโอดีน เหล็ก แมกนีเซียม สังกะสี ทองแดง และโพแทสเซียม เป็นต้น โดยที่ร่างกายเราต้องการแร่ธาตุแต่ละชนิดแตกต่างกัน ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

 

1.แร่ธาตุหลัก (Macro minerals) คือแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการในปริมาณมาก

2.แร่ธาตุรอง (Trace minerals) คือแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อย

 

แร่ธาตุหลัก (Macro minerals) คือ แร่ธาตุหลักที่ร่างกายต้องการในปริมาณมาก เป็นแร่ธาตุที่ร่างกายมีความต้องการในหนึ่งวันมากว่า 100 mg ขึ้นไป ได้แก่ แคลเซียม (Calcium), ฟอสฟอรัส (Phosphorous), โพแทสเซียม (Potassium), แมกเนเซียม (Magnesium), โซเดียม (Sodium), กำมะถัน (Sulphor) และคลอไรด์ (Chloride) ซึ่งในร่างกายของเราจะพบแร่ธาตุแคลเซียมมากที่สุด รองลงมาได้แก่ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แมกนีเซียม และโซเดียม

แร่ธาตุรอง (Trace minerals) คือ แร่ธาตุที่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อย เป็นแร่ธาตุที่ร่างกายมีความต้องการในหนึ่งวันในปริมาณน้อยกว่า 100 mg ต่อวัน แต่ถึงแม้ร่างกายจะต้องการแร่ธาตุประเภทนี้ในปริมาณน้อยก็ใช่ว่าจะไม่มีความสำคัญ ซึ่งแร่ธาตุในกลุ่มนี้ได้แก่ เหล็ก (Iron), สังกะสี (Zinc), ซีลีเนียม (Selenium), แมงกานิส (Manganese), ทองแดง (Copper), ไอโอดีน (Iodine), โครเมียม (Chromium), โคบอลท์ (Cobalt), ฟลูออไรด์ (Fluoride), โมลิบดินัม (molybdenum) และ วานาเดียม (Vanadium)

การเลือกรับประทานอาหารให้ถูกสัดส่วนจะทำให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ จะเห็นได้ว่าร่างกายคนเรามีแร่ธาตุเป็นส่วนประกอบอยู่ประมาณร้อยละ 4 ของน้ำหนักตัว  และต้องการแร่ธาตุต่างๆ ประมาณ 17 ชนิด ในปริมาณที่ต่างกัน ดังนั้นความต้องการพลังงานและสารอาหารแต่ละประเภทของร่างกายคนเรานี้มีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ดั้งนี้

  1. ความแตกต่างทางเพศ ทำให้มีการเลือกรับประทานอาหารต่างกัน เช่น ผู้ใหญ่ในวัยทำงาน เพศชายต้องการพลังงานและอาหารมากกว่าเพศหญิง เพราะกิจกรรมของเพศชายจะเกี่ยวข้องกับการใช้แรงงาน การใช้พลัง การออกกำลังจำนวนมาก จึงทำให้ผู้ชายมีความต้องการอาหารมากกว่าเพศหญิง
  2. ความแตกต่างของวัย เช่น ผู้หญิงวัยทอง อายุประมาณ 20 ขึ้นไป จะมีความต้องการสารอาหารน้อยกว่าผู้หญิงที่อยู่ในวัยเรียนและวัยรุ่น
  3. สภาพของร่างกาย เช่นหญิงมีครรภ์ ต้องการสารอาหารเพื่อส่งต่อไปให้ลูกที่อยู่ในครรภ์ คนป่วยต้องการสารอาหารบางประเภทจำนวนมาก เพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ

นอกจากปัจจัยทั้ง 3 อย่างประการดังกล่าวมานี้ ยังมีปัจจัยอื่นอีกมากที่มีความสำคัญต่อความต้องการพลังงานและสารอาหาร เช่น อุณหภูมิของอากาศ การทำงาน ความแตกต่างของขนาดในร่างกายของแต่ละคนค่ะ อาหารแต่ละชนิดแต่ละประเภทที่เราได้รับประทานเข้าไปให้ปริมาณสารอาหารและค่าพลังงานมากน้อยแค่ไหนค่ะ

 

www.flickr.com/photos/kurafire/9388342085/

ซีลีเนียม คืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร

peanuts-1
Source: Flickr (click image for link)

ซีลีเนียม (Selenium) เป็นแร่ธาตุอีกตัวที่มีความจำเป็น ซี่งพบในปริมาณเพียงเล็กน้อยในร่างกายและเป็นส่วนประกอบสำคัญของเอนไซม์ Glutathione peroxidase ซึ่งเร่งการทำลายของ Hydroperoxide โดยเป็นระบบต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญที่สุดภายในเซลล์ ยังไงน่ะหรอ? ก็คือว่า ซีลีเนียม นั้นมีความสัมพันธ์กับการปฏิบัติหน้าที่ของวิตามินอี บทบาทของซีลีเนียมเป็นส่วนประกอบของน้ำย่อยกลูต้าไธโอนเปอร์ออกซิเดส ( glutathione peroxidase ) ซึ่งกระตุ้นการกำจัดไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และออแกนิคเปอร์ออกไซด์ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของกรดไขมันต่างๆ โดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับวิตามินอี ในการป้องกันเนื้อเยื่อถูกทำลายโดยสารเปอร์ออกไซด์จากไขมัน โดยวิตามินอีทำหน้าที่ป้องกันการเกิดสารเปอร์ออกไซด์ ในขณะที่ซีลีเนียมทำหน้าที่กำจัดสารเปอร์ออกไซด์ที่เกิดขึ้นให้หมดไป และทำงานร่วมกับวิตามินอี เสริมฤทธิ์ในการปฏิบัติงานของวิตามินอีในการรักษาเนื้อเยื่อต่างๆ และชะลอการแก่ตายของเซลล์ตามธรรมชาติ ป้องกันการแก่ก่อนวัยนั่นเองค่ะ

 

เกี่ยวกับ ซีลีเนียม หรือ Selenium

  • ซีลีเนียม เป็นแร่ธาตุอีกตัวที่มีความจำเป็น ซี่งพบในปริมาณเพียงเล็กน้อยในร่างกาย
  • ซีลีเนียม มีส่วนช่วยกระตุ้นการทำงานของเอ็นไซม์สำคัญหลายชนิด มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระโดยทำงานร่วมกับวิตามินอี
  • ซีลีเนียม เป็นระบบต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญที่สุดภายในเซลล์
  • ซีลีเนียม จะดูดซึมได้ดีที่ลำไส้เล็ก
  • ซีลีเนียม ร่างกายจะเก็บซีลีเนียมไว้ในตับและไตมากถึง 4-5 เท่าที่มีอยู่ในกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออื่นๆ
  • ซีลีเนียม ในภาวะปกติซีลีเนียมจะถูกขับออกทางปัสสาวะ ถ้าปรากฏว่ามีซีลีเนียมถูกขับออกทางอุจจาระแสดงว่าเกิดการดูดซึมที่ไม่ถูกต้อง
  • ซีลีเนียม เป็นตัวต่อต้านการทำปฏิกิริยากับออกซิเจน (Antioxidant) เพราะถ้ามีการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนมากจะเกิด Free radical ซึ่งมีพิษภัยต่อเซลล์ ทำให้กลายเป็นมะเร็ง
  • ซีลีเนียม มีบทบาทเกี่ยวกับการหายใจของเนื้อเยื่อโดยทำหน้าที่ช่วยรับส่งอิเล็กตรอน
  • ซีลีเนียม ช่วยในการสร้างวิตามินคิวขึ้นมาในร่างกาย
  • ซีลีเนียม ช่วยสร้างภูมิต้านทานและบรรเทาอาการถูกพิษ หรือละลายพิษต่างๆ ในร่างกาย
  • ซีลีเนียม ในแหล่อาหารที่พบส่วนใหญ่ในอาหารทะเล เครื่องในสัตว์ เมล็ดธัญพืชทั้งเปลือก ปลา หอย ข้าวกล้อง แตงกวา ผลิตภัณฑ์จากนม กระเทียม บลอคโคลี่ หัวหอม มะเขือเทศ ไข่
  • ซีลีเนียม ถ้าได้รับมากเกินไปจะทำให้ อาเจียน ท้องร่วง ฟันและผมร่วง เล็บหลุด ผิวหนังอักเสบและมีผลต่อระบบประสาท
  • ซีลีเนียม ถ้าขาดจะเกิดผลเสียต่อร่างกาย การฝ่อของกล้ามเนื้อ หรืออาจถึงขั้นเป็นหมันได้
  • ซีลีเนียม เป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อความสวยความงาม  เพราะมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีฤทธิ์ต้านริ้วรอยแห่งวัย
  • ซีลีเนียม เกลือแร่ ชนิดนี้มีจะถูกถูกทำลายโดยความร้อน อาหารที่ปรุงแบบสลับซับซ้อนหรืออาหารแปรรูป เช่น พวกข้าวทำเป็นแป้งจะสูญเสีย ซีลีเนียม ไป 50-75% และถ้าต้มจะสูญเสียไปประมาณ 45%

 

ประโยชน์ของซีลีเนียม หรือ Selenium

 

ช่วยชะลอความแก่ โดยที่ซิลีเนียมจะไปทำงานร่วมกับวิตามินอี และเสริมฤทธิ์ในการปฏิบัติงานของวิตามินอีรักษาเนื้อเยื่อต่างๆ และชะลอการแก่ตายของเซลล์ตามธรรมชาติป้องกันการแก่ก่อนวัย

 

ช่วยหัวใจทำงานดีขึ้น และส่งเสริมการสร้างกำลังของเซลล์โดยการนำออกซิเจนไปเลี้ยงให้เพียงพอ สามารถลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจวาย และโรคลมปัจจุบัน โดยเฉพาะในรายที่มีการขาดสารอาหารชนิดนี้

 

ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก, มะเร็งลำไส้, มะเร็งปอด, มะเร็งหลอดอาหาร โดยไปทำให้เซลล์แบ่งตัวช้าพอที่จะให้เซลล์ที่ถูกสารก่อให้เกิดมะเร็งทำลายมีเวลาซ่อมแซมโครโมโซมของมันเองได้ ถ้าโครโมโซมของเซลล์ถูกทำลาย มันอาจจะกลายเป็นเนื้อร้ายถ้าไม่ได้รับการซ่อมแซมก่อนจะแบ่งตัว

 

ช่วยป้องกันหลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดสมองตีบ โดยการผลิตพรอสตาแกลนดินส์ ช่วยในการทำให้เม็ดเลือดไม่จับกลุ่มกันอุดหลอดเลือด จึงเป็นการป้องกันหลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดสมองตีบ

 

 

ปริมาณซิลิเนียมที่ร่างกายควรได้รับ

ผลของร่างกายที่ได้รับปริมาณซีลีเนียมมากเกินไปจะมี อาการ : อาเจียน ท้องร่วง ฟันและเล็บหลุด ผิวหนังอักเสบและมีผลต่อระบบประสาท

ผลของร่างกายที่ขาดซีลีเนียมจะมี อาการ : จะทำให้แก่ก่อนวัย เพราะซีลีเนียมจะช่วยรักษาความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายโดยจะชะลอ Oxidation ของกรดไขมันไม่อิ่มตัว ทำให้ Free radical ลดลง

ซิลิเนียมที่เหมาะสมต่อร่างกายที่ควรจะได้รับต่อวันคือ  ร่างกายต้องการวันละประมาณ 50-200 ไมโครกรัม

 

 

www.flickr.com/photos/66720528@N04/8476485700/