Browse Tag: ข้าว

คาร์โบไฮเดรต คืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร

carbohydrate-foods-1
Source: Flickr (click image for link)

คาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate) เป็นสารชีวโมเลกุลชนิดที่สำคัญที่เป็นองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดและมีความจำเป็นต่อร่างกายของเราอย่างยิ่งค่ะ ซึ่งเป็นสารชีวโมเลกุลที่ทำหน้าที่สะสมพลังงานที่พบในชีวิตประจำวันทั่วไปได้แก่ น้ำตาล แป้ง เซลลูโลส  และไกลโคเจน โดยที่ส่วนใหญ่พบแป้งและเซลลูโลสในพืช ส่วนไกลโคเจนพบในเซลล์เนื้อเยื่อ น้ำไขข้อและผนังเซลล์ของสัตว์ คำว่าคาร์โบไฮเดรตมีรากศัพท์มาจากคำว่า คาร์บอน (carbon) และคำว่าไฮเดรต (hydrate) อิ่มตัวไปด้วยน้ำ ซึ่งรวมกันก็หมายถึงคาร์บอนที่อิ่มตัวไปด้วยน้ำ โดยคาร์โบไฮเดรตจัดเป็นสารประกอบแอลดีไฮด์ (aldehyde) หรือคีโทน (ketone) ที่มีหมู่ไฮดรอกซิลเกาะอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเรียกว่าสารประกอบโพลีไฮดรอกซีแอลดีไฮด์ (polyhydroxyaldehyde) หรือ โพลีไฮดรอกซีคีโทน (polyhydroxyketone) คาร์โบไฮเดรตมีความหลากหลายทั้งในด้านของโครงสร้างทางเคมีและบทบาททางชีวภาพอีกด้วย หน่วยที่เล็กทีสุดของคาร์โบไฮเดรตก็คือน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวหรือโมโนแซคคาร์ไรด์ค่ะ ประเทศไทยที่อุดมไปด้วยพืชผักและพรรณไม้นานาชนิดซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของคาร์โบไฮเดรต เมื่อพืชสร้างอาหารโดยการสังเคราะห์แสง เพื่อนำอาหารไปสร้างเป็นส่วนของลำต้น ราก ใบ ดอก ผล และเมล็ด อาหารส่วนที่เหลือจะถูกนำไปเก็บสะสมไว้ในส่วนต่าง ๆ ในรูปของแป้งและน้ำตาล จึงกล่วไดว่าพืชเป็นแหล่งสำคัญของคาร์โบไฮเดรต ข้าวเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่งและเป็นอาหารหลักของคนไทยส่วนใหญ่

 

เกี่ยวกับคาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate)

ในทางเคมี คาร์โบไฮเดรตทุกประเภทประกอบด้วยอะตอมต่างๆของคาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน โดยเรียงตัวในลักษณะที่ต่างกันไป และคาร์โบไฮเดรตทุกประเภทมีบทบาทสำคัญทางโภชนาการ คาร์โบไฮเดรตเป็นสารอาหารที่พบมากในอาหารประเภท ข้าว แป้ง น้ำตาล เผือก มัน และพืชผักผลไม้ที่มีรสหวานค่ะ

carbohydrate-foods-2
Source: Flickr (click image for link)

คาร์โบไฮเดรตมี 2 ประเภทใหญ่ๆ โดยคาร์โบไฮเดรตสามารถจำแนกตามจำนวนโมเลกุลของน้ำตาลที่เชื่อมโยงกันได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

1.คาร์โบไฮเดรตประเภทน้ำตาลชนิดต่างๆ เราเรียกว่าเป็น ”คาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว”

กลุ่มน้ำตาลชั้นเดียว (monosacharide,simple sugar) เป็นคาร์โบไฮเดรตที่มีโมเลกุลเล็กที่สุด ร่างกายไม่สามารถย่อยให้เล็กลงกว่านี้ได้อีก เมื่อรับประทานเข้าและไปสามารถดูดซึมได้ทันที ได้แก่

  • กลูโคส ( มีอยู่ในธรรมชาติทั่วไป ในพืช ผัก ผลไม้ต่างๆ เช่น องุ่น ข้าวโพด น้ำผึ้ง)
  • ฟรุคโทส (มีรสหวานกว่าน้ำตาลชนิดอื่น พบในเกสรดอกไม้ ผลไม้ ผัก น้ำผึ้ง กากน้ำตาล ปนอยู่ในกลูโคส ในร่างกายได้จากการย่อยน้ำตาลทราย)
  • กาแลกโทส (ไม่เกิดในรูปอิสระในธรรมชาติ ได้จากการย่อยแลกโทส หรือน้ำตาลนม ซึ่งมีอยู่ในอาหารพวกนมและผลิตผลของนมทั่วๆไป)

กลุ่มน้ำตาลสองชั้น (disaccharide, double sugar) เป็นน้ำตาลที่ได้จากการรวมน้ำตาลชั้นเดียว 2 โมเลกุล เมื่อกินน้ำตาล 2 ชั้นเข้าไป ต้องถูกย่อยโดยเอนไซม์ในทางเดินอาหารได้น้ำตาลชั้นเดียวก่อนจึงจะดูดซึมได้ คาร์โบไฮเดรตประเภทนี้ ได้แก่

  • ซูโครส (น้ำตาลทราย)
  • มอสโทส (ในเมล็ดข้าวที่งอกแล้ว)
  • แลกโทส (ในนม หรือ น้ำตาลนม)

2.คาร์โบไฮเดรตประเภทแป้ง เราเรียกว่าเป็น “คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน

กลุ่มน้ำตาลหลายชั้น หรือพวกไม่ใช่น้ำตาล (Polysaccharide) เป็นคาร์โบไฮเดรตโมเลกุลใหญ่และซับซ้อน ประกอบด้วยน้ำตาลชั้นเดียวเป็นจำนวนมาก มารวมกัน ไม่มีรสหวาน ได้แก่

  • แป้ง (starch) พบในพืช สะสมอยู่ในเมล็ด ราก หัว ลำต้น เมล็ดเป็นแหล่งธัญพืชสำคัญ โมเลกุลของแป้งเกิดจากน้ำตาลกลูโคสต่อกันเป็นจำนวนมากในรูปที่เป็นเส้นตรง อะมิโลส (amylose) และกิ่งก้านอะมิโลเพกทิน (amylopectin) เมื่อแป้งถูกย่อยถึงขั้นสุดท้ายจะได้น้ำตาลกลูโคส
  • ไกลโคเจน (glycogen) เป็นน้ำตาลหลายชั้น พบในตับและกล้ามเนื้อสัตว์ บางทีเรียกว่า แป้งสัตว์ มีส่วนประกอบคล้ายแป้ง แต่มีกิ่งก้านมากกว่าเมื่อแตกตัวออกจะได้กลูโคสและมักไม่พบในพืช
  • เดกซ์ทริน (dextrin) ได้จากการย่อยแป้ง อาหารที่มีเดกซ์ทรินอยู่บ้าง ได้แก่ น้ำผึ้ง โดยมากปนอยู่กับคาร์โบไฮเดรตอย่างอื่น เดกซ์ทรินเมื่อแตกตัวหรือถูกย่อยต่อไปจะให้มอลโทสและท้ายที่สุดจะให้กลูโคส แป้ง เดกซ์ทริน มอลโทส กลูโคส
  • เซลลูโลส (cellulose) บางทีเรียกว่าใยหรือกาก เป็นส่วนประกอบสำคัญของเซลล์พืช มีมากในใบ ก้าน เปลือก คนไม่สามารถย่อยเซลลูโลสได้ และเซลลูโลสเองยังช่วยป้องกันการท้องผูกค่ะ

 

 

ประโยชน์ของคาร์โบไฮเดรตที่มีต่อร่างกาย

 

ให้พลังงานและความร้อน หรือให้พลังงานและความอบอุ่นแก่ร่างกาย โดยคาร์โบไฮเดรต 1 กรัม ให้พลังงานประมาณ 4 แคลอรี่ และเป็นพลังงานที่จะถูกร่างกายนำมาใช้ก่อนสารอาหารประเภทไขมันและโปรตีนตามลำดับ

 

ช่วยให้ร่างกายนำสารอาหารโปรตีนไปใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ กล่าวคือ ถ้าร่างกายได้ พลังงานจากคาร์โบไฮเดรตมาใช้ไม่เพียงพอ ร่างกายจะนำเอาโปรตีนมาสลายให้เกิดพลังงาน แทนร่างกายก็จะผอมลงได้

 

ใช้เป็นพลังงานสำรองของร่างกาย ถ้าร่างกายรับประทานพวกคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป ส่วนเกินนี้จะถูกปลี่ยนเป็นไขมันสะสมไว้ตามเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย และจะถูกนำมาใช้เมื่อร่างกายขาดแคลนพลังงาน

 

ช่วยทำลายพิษและขจัดสารพิษ สารเคมีบางอย่างเมื่อเข้าไปในร่างกายโดยบังเอิญหรือติดไปกับอาหาร ตับจะกำจัดสารพิษโดยทำปฎิกิริยากับสารพวกคาร์โบไฮเดรตให้กลายเป็นสารที่ไม่มีพิษ โดยเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของตับ ซึ่งเป็นอวัยวะส่วนสำคัญของร่างกายในการขจัดสารพิษในเลือด

 

ช่วยในการขับถ่าย เซลลูโลสช่วยกระตุ้นในการทำงานของลำไส้และ ป้องกันการท้องผูก แลกโทสเป็นอาหารที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดกรดในลำไส้ของทารกการเกิดกรด ช่วยการดูดซึมของแคลเซียมทำให้ทารกเจริญเติบโตได้ดี เดกซ์ทรินเป็นอาหารที่เหมาะแก่แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ แบคทีเรียพวกนี้ใช้พลังงานจากเดกซ์ทรินในการสังเคราะห์วิตามินบีต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

 

ช่วยให้ไขมันเผาไหม้สมบูรณ์ ไขมันในร่างกายจะเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ถ้ารับประทานคาร์โบไฮเดรตไม่พอ ทำให้เกิดสารที่เป็นโทษแก่ร่างกายขึ้นในเลือดและ ในปัสสาวะ (ketone bodies) ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้นานๆในรายที่เป็นเบาหวานขั้นรุนแรง จะทำให้ความเป็นกรดด่างของร่างกายเปลี่ยนไป ร่างกายมีความเป็นกรดมากไปอวัยวะต่างๆทำงานผิดปกติ อาจรุนแรงถึงขั้นหมดสติ และตายได้

 

ช่วยรักษาสภาพสภาวะน้ำตาลในเลือดให้คงที่ คือ 70-100 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร ทำงานปกติ ซึ่งคนปกติระดับน้ำตาลในเลือดคงที่ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติเป็นอาการของโรคเบาหวาน ถ้าต่ำผิดปกติทำให้เกิดอาการชักหรือช็อกหรือหมดสติ ดังนั้นถ้าน้ำตาลไปเลี้ยงสมองไม่พอจะทำให้เกิดอาการช็อก หรือหมดสติได้ ระดับน้ำตาลในเลือดยังช่วยควบคุมการบริโภคอาหารของมนุษย์ ถ้าระดับน้ำตาลในเส้นเลือดแดงสูงกว่าในเส้นเลือดดำมากแสดงว่ามีคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายใช้ประโยชน์ได้อยู่เป็นจำนวนมาก (vailable หรือ utilization) จะรู้สึกอิ่ม แต่ถ้าระดับน้ำตาลในเส้นเลือดแดงต่ำเกือบเท่าเส้นเลือดดำ แสดงว่ามีคาร์โบไฮเดรตที่ใช้ได้น้อยหรือเก็บไว้น้อยในร่างกาย จะทำให้รู้สึกหิว (hunger)

 

 

www.flickr.com/photos/omnia_mutantur/17581308424/

www.flickr.com/photos/arepb/3084304765/

L-Carnitine คืออะไรและมีประโยชน์อย่างไร

steak-beef-1
Source: Flickr (click image for link)

สมัยนี้มีอาหารเสริมมากมายหลายชนิดเต็มไปหมด บางตัวก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร ช่วยเรื่องอะไรบ้าง บางทีก็อยากจะรู้อยากลองอยากที่จะกินดูบ้างแต่มันก็ยังไม่แน่ใจและยังคงลังเล ฟังคนนู้นทีคนนี้ทีบอกว่าตัวนี้ดีอย่างนั้นอย่างนี้ วันนี้ทาง HealthGossip เลยอยากจะยกอาหารเสริมตัวหนึ่งมาบอกเล่ากันเพื่อให้เรารู้จักและเข้าใจความหมายกันมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มของคนที่อยากลดน้ำหนักหรือลดความอ้วน อาหารเสริมตัวนี้ถือว่าเป็นตัวหลักที่เลือกรับประทานกันเลยทีเดียว ซึ่งเห็นบอกว่าช่วยลดความอ้วนได้ แต่จะลดได้ยังไงนั้น ก่อนอื่นเรามารู้จักทำความเข้าใจความหมายของอาหารเสริมตัวนี้กันก่อนเลยค่ะ ซึ่งอาหารเสริมตัวนี้มักคุ้นหูกันในชื่อที่เรียกกันว่า “แอลคาร์นิทีน” โดยที่ คาร์นิทีน เป็นสารประกอบจตุรภูมิของแอมโมเนียมที่สังเคราะห์ได้จากกรดอะมิโนสองชนิดคือ ไลซีนและเมธไทโอนีน ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตคาร์นิทีนจะลำเลียงกรดไขมันจากไซโตซอลเข้าสู่ไมโทคอนเดรียระหว่างการสลายของลิพิด (ไขมัน) เพื่อใช้ในการเผาผลาญพลังงาน คาร์นิทีนถูกใช้เป็นอาหารเสริมกันอย่างกว้างขวาง เดิมคาร์นิทีนพบว่าเป็นปัจจัยในการเจริญเติบโตของหนอนนกและมีอยู่บนฉลากวิตามินบี คาร์นิทีนมีอยู่ 2 stereoisomers : Active form คือ L-carnitine ขณะที่ inactive form คือ D-carnitine

แอลคาร์นิทีน (L-Carnitine) เป็นชื่อของสารตัวหนึ่ง ที่ถูกสร้างขึ้นในร่างกายของเราเอง โดยสร้างขึ้นมาจากกรดอะมิโน 2 ตัว คือ ไลซีน (lysine) และเมไทโอนีน (methionine) และ ถูกใช้ไปในหน้าที่ต่างๆ หลายอย่าง เช่น เข้าไปช่วยเพิ่มกระบวนการในการดึงไขมันไปใช้ โดยการขนส่งกรดไขมัน (fatty acid) เข้าไปในศูนย์กลางของการสร้างพลังงานของเซลล์ หรือจะพูดง่ายๆ ก็คือ แอล-คาร์นิทีนช่วยให้ร่างกายเปลี่ยนกรดไขมันไปเป็นพลังงานนั่นเอง ซึ่งพลังงานที่ได้มาส่วนใหญ่ก็จะถูกใช้สำหรับการทำงานของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย และเพราะกระบวนการพื้นฐานดังกล่าวของสารชนิดนี้ จึงทำให้สื่อโฆษณานำมาใช้เป็นประเด็นหลักในการสร้างโฆษณาเพื่อให้เห็นว่า “เมื่อกินแอล-คาร์นิทีน แล้วร่างกายเหมือนจะได้ทำงานดึงไขมันไปใช้ตลอดเวลา แม้แต่ในยามหลับ” L-Carnitine ทำหน้าที่สำคัญในระบบเมตาบอลิซึมเพื่อสร้างพลังงาน โดยผ่านกระบวนการเผาผลาญกรดไขมันที่เรียกว่า Beta-oxidation ซึ่งเกิดภายในไมโตคอนเดรีย (Mitochondria) ของเซลล์ต่างๆ รวมไปถึงเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจและกล้ามเนื้อลาย โดยปกติ L-Carnitine จะเปลี่ยนไปอยู่ในรูปของ Acyl-Carnitine ทำหน้าที่ขนส่งกรดไขมันสายยาวเพื่อนำไปเผาผลาญภายในไมโตคอนเดรียแล้วจึงเปลี่ยนกลับมาเป็น L-Carnitine เหมือนเดิม ดังนั้นเราจึงอาจกล่าวได้ว่า L-Carnitine มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อวัฏจักรของการสลายกรดไขมันในร่างกาย ขณะเดียวกันการขาด L-Carnitine นอกจากจะมีผลเสียต่อเมตาบอลิซึมของกรดไขมันแล้วยังอาจทำให้เกิดความผิดปกติต่อกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งในปัจจุบันมีการศึกษาที่พบว่าการให้ L-Carnitine สามารถลดอัตราการตายของกล้ามเนื้อหัวใจ (All- cause mortality, 27%) ลดภาวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ (Ventricular arrhythmias, 65%) และลดการปวดเค้นของกล้ามเนื้อหัวใจ (Angina, 40%) แต่ไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการลดอุบัติการการเกิดโรคหัวใจวาย (Heart failure)

แหล่งของคาร์นิทีน จะพบมากในเนื้อแดงและผลิตภัณฑ์จากนม คาร์นิทีนจากแหล่งธรรมชาติอื่นๆ ประกอบด้วยถั่วและเมล็ดพืช (เช่น ฟักทอง ทานตะวัน งา) พืชตระกูลถั่วหรือเมล็ดถั่ว (ถั่วเหลือง, ถั่วเขียว, ถั่วแขก, ถั่วลิสง) ผัก (อาร์ติโชค, หน่อไม้ฝรั่ง, หัวผักกาดเขียว, บร็อคโคลี่, กะหล่ำดาว, ผักคอลลาร์ด, กระเทียม, ผักกาดเขียวปลี, กระเจี๊ยบมอญ, พาสลี่ย์, คะน้า) ผลไม้ (แอปปริคอท, กล้วย) ธัญพืช (บัควีท(buckwheat), ข้าวโพด, ลูกเดือย, ข้าวโอ๊ต, รำข้าว, ข้าวไรย์, ข้าวสาลี, รำข้าวสาลี, จมูกข้าวสาลี) และอื่นๆที่เป็นอาหารสุขภาพ (ละอองเกสรดอกไม้, ยีสต์ที่ใช้หมักสุรา, carob)การดูดซึมคาร์นิทีนของร่างกาย การดูดซึมของแอล-คาร์นิทีนจะเกิดขึ้นในลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ ส่วนแพทย์สามารถให้คาร์นิทีนกับผู้ป่วยได้ทั้งทางเส้นเลือดและโดยการกิน

 

L-Carnitine กับการควบคุมหรือลดน้ำหนัก

ในปัจจุบันมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากมายต่างระบุตรงกันว่าการใช้ L-Carnitine ช่วยส่งเสริมเมตาบอลิซึมของกรดไขมันตามกลไกที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยเฉพาะเมื่อเรามีการออกกำลังกายชนิดแอโรบิกร่วมด้วย นั่นเป็นเพราะว่าการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอหรือแอโรบิก (Aerobic exercise) จะทำให้เซลล์สลายกรดไขมันไปเป็น ATP ซึ่งเป็นสารให้พลังงานหลักของเซลล์อย่างต่อเนื่อง หากเราออกกำลังกายติดต่อกันอย่างน้อย 30 นาที ดังนั้นหากเราต้องการควบคุมน้ำหนักจากการลดไขมันสะสม การใช้ L-Carnitine ร่วมกับการออกกำลังกายก็ย่อมจะช่วยให้เราสามารถควบคุมน้ำหนักตัวได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยนั่นเอง การรับประทาน L-Carnitine ร่วมกับกลุ่มวิตามินพื้นฐานอย่างวิตามินบีรวม (Vitamin B-Complex) นอกจากจะช่วยควบคุมเมตาบอลิซึมของร่างกายให้เป็นปกติแล้ว วิตามินบีรวมยังเป็นโคเอนไซม์หลักในปฏิกริยาการเผาผลาญสารอาหารในร่างกายให้เป็นพลังงานอีกด้วย

เมื่อมนุษย์เริ่มแก่ตัวลงนั้น ความเข้มข้นของคาร์นิทีนก็จะลดลงไปดวย ซึ่งมีผลต่อการเผาผลาญกรดไขมันในเนื้อเยื่อต่างๆ โดยเฉพาะจะเกิดผลกระทบต่อกระดูก จึงจำเป็นที่จะต้องมีการสร้างใหม่อย่างต่อเนื่อง และเซลล์สร้างกระดูกจะทำหน้าที่เผาผลาญเพื่อซ่อมแซมมวลกระดูก ทั้งนี้ การเปลี่ยนระดับพลาสมาของเซลล์สร้างกระดูกกับการทำงานของเซลล์สร้างกระดูกมีความเกี่ยวข้องกันอย่างมาก โดยการลดระดับพลาสมาในเซลล์สร้างกระดูกจะเป็นตัวชี้วัดในการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก ซึ่งปรากฏในโรคกระดูกพรุนของผู้สูงอายุและวัยหมดประจำเดือนในผู้หญิง ซึ่งในการทดลอง การใช้คาร์นิทีนผสม หรือ propionyl-L-carnitine นั้น สามารถเพิ่มความเข้มข้นของ serum osteocalcin ในสัตว์ที่ทดลอง แต่ถ้าว่าระดับ serum osteocalcin มีแนวโน้มทำให้อายุของสัตว์ที่ทดลองนั้นสั้นลงด้วยค่ะ

 

ปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน โดยทั่วไป 20 ถึง 200 มิลลิกรัมคือปริมาณของคาร์นิทีนที่ควรได้รับต่อวัน ด้วยเหตุนี้ผู้ที่เคร่งครัดในการทานมังสวิรัติจะรับประทานเพียง 1 มิลลิกรัมต่อวัน ไม่มีประโยชน์เกิดขึ้นถ้ารับประทานคาร์นิทีนมากกว่า 2 กรัมภายในครั้งเดียว เพราะว่าร่างกายสามารถดูดซึมได้สูงสุดได้เพียง 2 กรัม

 

www.flickr.com/photos/stephen_bolen/6142919686/

Vitamin E คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร

vitamin-1
Source: Flickr (click image for link)

วิตามินอี (Vitamin E) เป็นอีกวิตามินหนึ่งที่สาวๆคนไหนก็ต้องรู้จักกันทั้งนั้นและส่วนมากที่เรารู้ๆกันจะเป็นเรื่องในการช่วยลบเลือนรอยแผลเป็นที่เกิดจากสิว ที่เราจะเห็นได้ทั่วไปนั้นตามผลิตภัณฑ์ดูแลผิวในร้านขายยาหรือร้านขายครีมต่างๆ แต่รู้กันไหมล่ะคะว่าวิตามินอีไม่ได้มีประโยชน์แค่นั้นยังมีอีกหลายอย่างที่เราคงยังไม่ทราบกัน เพราะฉะนั้นวันนี้ HealthGossip จะมาขอนำเสนอข้อมูลนี้ให้ทราบโดยทั่วกันค่ะ ในเมื่อวิตามินที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นพระเอกที่ช่วยปกป้องร่างกายก็คงจะหนีไม่พ้น “วิตามินอี” ซึ่งจากความน่าสนใจในประโยชน์ต่างๆ ดึงดูดให้ผู้บริโภคหลายๆ คนใช้วิตามินอี โดยลืมคำนึงถึงความจำเป็นที่ควรจะได้รับหรือโทษที่อาจเกิดขึ้นเมื่อได้รับมากจนเกินความต้องการของร่างกาย ดังนั้นเราจึงไม่รอช้าที่จะนำข้อมูลทั้งดีและโทษมาบอกให้เข้าใจกันมากขึ้นค่ะ 

 

เกี่ยวกับ วิตามินอี หรือ Tocopherol

  • วิตามินอีเป็นวิตามินชนิดละลายในไขมัน (fat soluble vitamin)
  • มีลักษณะเป็นของเหลวคล้ายน้ำมัน สีเหลืองอ่อน ไม่ละลายในน้ำ ละลายได้ในสารละลายไขมัน เช่น แอลกอฮอล์ อีเทอร์
  • วิตามินอีมีความสำคัญต่อการทำงานของระบบสืบพันธุ์ จึงเรียกชื่อตามความหมาย คือ Tocopherol  มาจากภาษากรีก Tokos แปลว่า เด็ก (Children) และ Pheno แปลว่า ทำให้เกิด (to bear)
  • วิตามินอีมีมากในพืชส่วนในสัตว์นั้นพบน้อยมาก การบริโภคผักหรือผลไม้สดจะช่วยเพิ่มปริมาณวิตามินอีที่ร่างกายได้รับได้ นอกจากนี้ยังพบว่าน้ำนมมารดา โดยเฉพาะน้ำนมมารดาหลังคลอด (colostrum) ก็เป็นอีกแหล่งหนึ่งที่ให้วิตามินอีในปริมาณที่สูงมากเช่นกัน
  • อาหารที่ให้วิตามินอี ได้แก่ อาหารจำพวก ผัก น้ำมัน ไข่ เนย ข้าวบาเลย์ ข้าว ข้าวโอ๊ต
  • วิตามินอีป้องกันการเกิดออกซิเดชัน (antioxdation) ของกรดไขมันไม่อิ่มตัว วิตามินเอ แคโรทีน และวิตามินซี
  • วิตามินอีจะช่วยป้องกันการแตกของเม็ดเลือดแดง ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดและการอุดตันของเส้นเลือด ลดการเกิดกระบวนการอักเสบในร่างกายที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคต่างๆ
  • วิตามินอี ยังมีฤทธิ์อื่นๆ อีกมากมาย มีหน้าที่เบื้องต้นเสมือนฟองน้ำที่คอยดูดซับอนุมูลอิสระซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เซลล์หรือเนื้อเยื่อถูกทำลาย หรือที่รู้จักกันในชื่อของ “สารต้านอนุมูลอิสระ”
  • วิตามินอี มักจะไปควบคู่กับวิตามินบีเสมอ ทางการแพทย์จึงเรียกว่า วิตามินพี่น้อง
  • ออกซิเจนและความร้อนสามารถทำลายวิตามินอีได้ รวมไปถึงการแช่แข็งเป็นเวลานาน ก็ทำให้เกิดการสูญเสียวิตามินอีได้เช่นกัน

 

ประโยชน์ของวิตามินอีต่อร่างกาย

เนื่องจากผนังของเซลล์ต่างๆ ในร่างกายมีไขมันที่ไม่อิ่มตัวเป็นโครงสร้างหลัก โครงสร้างที่ว่านี้จะถูก ทำลายได้ง่ายด้วยกระบวนการออกซิเดชัน (oxidation) และส่งผลให้เกิดสารอนุมูลอิสระ (free radicals) ชนิดต่างๆ ตามมา ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างภายในเซลล์ที่สัมผัสกับสารอนุมูลอิสระ วิตามินอี เป็นสารต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันและอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพ (potent antioxidant) ซึ่งมีผลในการป้องกันการทำลายเซลล์ หรือลดความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ที่มีสาเหตุมาจากอนุมูลอิสระได้ นอกจากนี้ยังมีผลช่วยปกป้องการเสื่อมสลายของเยื่อหุ้มเซลล์ (stabilize) ที่บุอยู่ตามอวัยวะต่างๆ เช่น ผิวหนัง ตา ตับ เต้านม หลอดเลือด และเม็ดเลือดแดง ทำให้อวัยวะดังกล่าวทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีความคงทนมากขึ้นด้วย

 

วิตามินอีกับโรคมะเร็ง  คุณสมบัติที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระของวิตามินอี นอกจากจะช่วยป้องกันเซลล์จากการทำลายของปฏิกิริยาออกซิเดชันและการเกิดอนุมูลอิสระแล้ว วิตามินอียังช่วยป้องกันการเกิดสารไนโตรซามีน (nitrosamines) ตัวการหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง โดยเกิดจากการทำปฏิกิริยาของสารจำพวกไนไตรท์ที่มีในอาหารที่รับประทานเข้าไปภายในกระเพาะอาหาร และยังช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายอีกด้วย นอกจากนี้การศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่าวิตามินอียังมีผลช่วยยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งได้

 

วิตามินอีกับการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง กระบวนการออกซิเดชันของไขมันชนิด LDL (low density lipoprotein) ซึ่งเป็นไขมันชนิดเลวในเลือดจะ มีผลทำให้เส้นเลือดเกิดความเสียหายอย่างมาก มีหลักฐานที่แสดงว่าวิตามินอี มีคุณสมบัติช่วยลดการเกิดกระบวนการที่ว่านี้ และช่วยลดการเกาะตัวกันของเกล็ดเลือด (platelet aggregation) ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจดีขึ้น และยังช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคระบบหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงหลอดเลือดสมองด้วย โดยได้มีการศึกษาในประเทศอังกฤษพบว่าคนที่ได้รับวิตามินอีอย่างน้อยวันละ 100 IU หลังการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจจะช่วยป้องกันการสะสมของไขมันที่ผนังเลือดได้ และคนที่ได้รับวิตามินอีประมาณวันละ 400-800 IU อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อยปีครึ่งจะช่วยป้องกันอัตราการเกิดโรคหัวใจวายได้ถึง 77%

 

วิตามินอีกับโรคเบาหวาน เชื่อกันว่าสาเหตุที่คนเป็นโรคเบาหวานจะมีการสะสมของสารอนุมูลอิสระเนื่องจากกระบวนการเผาผลาญสารอาหารในร่างกายผิดปกติ นอกจากนี้แล้วยังมีอัตราการตายจากการเกิดโรคแทรกซ้อนจากโรคหลอดเลือดหัวใจได้สูง มีงานวิจัยที่แสดงว่าคนเป็นโรคเบาหวานที่รับประทานวิตามินอีเพียงวันละ 100 IU จะช่วยทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ได้ดี และยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงของหลอดเลือดอีกด้วย

 

วิตามินอีกับโรคต้อกระจก โรคต้อกระจก (cataracts) เป็นความผิดปกติของเลนส์ตาทำให้มองภาพไม่ชัดเจน และอาจตาบอดได้ โดยเชื่อว่าเกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันที่ผิดปกติของโปรตีนในเลนส์ตา มีการศึกษาพบว่าสารที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระจำพวกวิตามินอีสามารถช่วยป้องกัน และชะลอการเกิดของโรคต้อกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่พบว่าสารในกลุ่มนี้ไม่ช่วยให้เกิดผลดีได้ในคนที่สูบบุหรี่ โดยพบว่าการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเกิดโรคต้อกระจก อย่างไรก็ดีจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลไกของสารต้านอนุมูลอิสระและวิตามินอีเกี่ยวกับโรคต้อกระจก

 

วิตามินอี สารอาหารที่ช่วยชะลอความแก่ สารอนุมูลอิสระจะมีผลทำให้เซลล์เกิดความเสียหายและตายได้ในที่สุด ซึ่งนอกจากจะเป็นสาเหตุทำให้ ร่างกายอ่อนแอและแก่เร็วกว่าปกติแล้ว หากเกิดที่สมองก็จะทำให้มีโอกาสเป็นโรคเรื้อรังทางสมองต่างๆ เช่น โรคสมองเสื่อม (Alzheimer’s disease) โรคพาร์คินสัน (Parkinson’s disease) เป็นต้น จากการศึกษาทางคลินิกพบว่าผู้ที่รับประทานวิตามินอี 1,300 IU ต่อวันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปีจะช่วยชะลอการเกิดโรคสมองเสื่อมจากการอุดตันของเส้นเลือดในสมองได้

 

วิตามินอีช่วยแก้ไขข้อบกพร่องของระบบสืบพันธุ์ มีการศึกษาพบว่าผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ได้รับวิตามินอีวันละ 800 IU อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 1 เดือน สามารถช่วยลดอาการต่างๆ เช่น อาการร้อนวูบวาบ นอนไม่หลับ เหนื่อยล้า ซึมเศร้า และเจ็บหน้าอกได้ นอกจากนี้ในผู้ชายที่มีระบบสืบพันธุ์ไม่สมบูรณ์ พบว่าเมื่อได้รับวิตามินอี วันละ 200 IU อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือน จะมีโอกาสมีบุตรสูงขึ้น เนื่องจากวิตามินอีช่วยลดระดับของอนุมูลอิสระในน้ำอสุจิ จึงทำให้ผนังเซลล์อสุจิแข็งแรงขึ้น และส่งผลให้มีอัตราการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นถึง 30% แต่ก็อาจไม่ปรากฏผลหากคนนั้นเป็นคนสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งจะทำลายความแข็งแรงของอสุจิ และอาจทำให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายเสื่อมโทรมลง

 

วิตามินอีกับผิวพรรณ สถาบันโรคผิวหนังหลายแห่งมีการวิจัยพบว่าวิตามินอีช่วยป้องกันผิวจากการไหม้เกรียม ริ้วรอยเหี่ยวย่นและรอยแผลได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานหรือการทาที่ผิวหนังโดยตรง เนื่องจากการเกิดแผลหรือการอักเสบบนผิวหนัง หรือการถูกแสงแดดเผาไหม้จะทำให้เกิดการสะสมของอนุมูลอิสระขึ้น วิตามินอีจะทำหน้าที่เหมือนฟองน้ำที่ดูดซับสารอนุมูลอิสระก่อนที่จะทำให้เนื้อเยื่อต่างๆ เสียหาย จึงช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของผนังเซลล์ทำให้เซลล์ผิวแข็งแรงขึ้น และช่วยให้ทนต่อรังสี UV ในแสงแดดได้ดีขึ้น ดังนั้นผู้ผลิตเครื่องสำอางจึงนิยมนำวิตามินอีมาใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์

 

ถ้าร่างกายขาดวิตามินอี

วิตามินอีสามารถสะสมได้ในเนื้อเยื่อไขมัน ในคนทั่วไปจึงไม่ค่อยพบอาการขาดวิตามินชนิดนี้ แต่มักพบจากความผิดปกติในการดูดซึมไขมัน เช่น การทำงานของตับ ตับอ่อน และลำไส้ผิดปกติ หรือมีโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคที่มีอาการผิดปกติของระบบประสาท (เดินเซ) ร่วมกับการขาดวิตามินอี (ataxia with vitamin E deficiency) นอกจากนี้ยังพบการขาดวิตามินอีได้ในทารกคลอดก่อนกำหนดหรือน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ผู้ที่มีพังผืดจับในถุงน้ำดี (cystic fibrosis) รวมทั้งในผู้ที่ขาดเอนไซม์ กลูโคส-6-ฟอสเฟต ดีไฮโดรจีเนส (G-6-PD) ทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกได้ ซึ่งการขาดวิตามินอี ต้องใช้ระยะเวลานานจึงจะเริ่มมีสัญญาณการเกิดความเสียหายของระบบประสาทปรากฏขึ้น เช่น สูญเสียการรับสัมผัสและการตอบสนองต่อสิ่งเร้า สูญเสียความรู้สึกทางกาย กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีปัญหาเรื่องการกลอกตาและทรงตัวได้ยาก เป็นต้น สำหรับผู้ที่ต้องการวิตามินอีเพิ่มขึ้นเพื่อการป้องกันและรักษาโรคต่างๆ ดังที่กล่าวแล้ว หรือผู้ที่มีปัญหาในการดูดซึมสารอาหาร ก็อาจเลือกรับประทานวิตามินเสริมที่มีขายอยู่ทั่วไป แต่ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณที่เหมาะสมก่อน

ถ้าร่างกายได้รับวิตามินอีมากเกินไป

เนื่องจากวิตามินอีไม่สามารถละลายในน้ำได้ ร่างกายจึงไม่สามารถขับวิตามินอีออกจากร่างกายได้ทางปัสสาวะดังเช่นวิตามินซี หรือวิตามินบี โดยร่างกายจะขับวิตามินอีส่วนเกินบางส่วนออกมาทางอุจจาระ ดังนั้นหากรับประทานวิตามินอีมากเกินไปจะสะสมในร่างกาย นำผลเสียคือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ไปจนถึงกล้ามเนื้ออ่อนแรง จึงแนะนำว่าไม่ควรรับประทานอาหารเสริมประเภทวิตามินอีมากเกินกว่า 1,500 IU ต่อวัน

 

 

www.flickr.com/photos/8047705@N02/5481406508/