Browse Tag: calories

สารอาหาร คืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร

eating-healthy-1
Source: Flickr (click image for link)

วันนี้ทาง HealthGossip อยากนำข้อมูลของ สารอาหาร มานำเสนอกันค่ะ เคยสงสัยหรือเปล่าคะว่าทำไมร่างกายของเราถึงต้องการสารอาหาร ก่อนที่จะได้สารอาหารก็ต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เข้าไปก่อน อาหารก็มีหลากหลายอย่างและเราจะรู้ได้ยังไงว่าอาหารแบบไหนถึงจะเรียกว่าอาหารที่มีประโยชน์ และอาหารแบบไหนที่เราเลือกรับประทานเข้าไปจะให้สารอาหารที่ดีต่อร่างกาย ตอนนี้เราจึงควรที่จะไปทำความเข้าใจความหมายของอาหารและสารอาหารกันก่อนเลยค่ะ 

อาหาร คือ สิ่งที่รับประทานเข้าสู่ร่างกายแล้วไม่เป็นโทษต่อร่างกายและมีประโยชน์ โดยทำให้ร่างกายดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุขและให้พลังงานแก่ร่างกาย ซึ่งพลังงานเหล่านี้นำมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมและให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย

สารอาหาร คือ องค์ประกอบของสารประกอบทางเคมีของธาตุต่างๆ ที่มีอยู่ในอาหารที่เรากินเข้าไป สารอาหารมีโครงสร้างโมเลกุลเฉพาะตัวเรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า อาหารแต่ละชนิดประกอบด้วยโมเลกุลของสารอาหารหลายๆ ตัว ร่างกายเรานั้นต้องการสารอาหารกว่า 40 ชนิดเลยค่ะ และก็เพื่อให้ง่ายยิ่งขึ้นจึงจัดสารอาหารออกเป็นพวกๆ ที่สำคัญมีอยู่ 6 จำพวก การจำแนกสารอาหารตามหลักโภชนาการจะพิจารณาจากปริมาณของสารอาหารที่มีอยู่ในอาหารนั้นๆ มากที่สุดเป็นหลัก ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 5 หมู่ ได้แก่สารอาหาร คาร์โบไฮเดรท โปรตีน ไขมัน วิตามิน เกลือแร่หรือแร่ธาตุ สารอาหารแต่ละชนิดมีหน้าที่เด่นเฉพาะแตกต่างกัน และเมื่อรับประทานเข้าไปจะถูกเผาผลาญให้เกิดเป็นพลังงานและความร้อนเพื่อนำไปใช้ควบคุมการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย เช่น การเดิน การวิ่ง การยืน การนอน การหายใจ เป็นต้น ซึ่งหากแบ่งสารอาหารโดยใช้เกณฑ์การให้พลังงานของสารอาหารจะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

1.กลุ่มสารอาหารที่ให้พลังงาน

กลุ่มสารอาหารที่ห้พลังงาน คือ สารอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน อาหารทั้งหมดในกลุ่มนี้จัดเป็นสารอาหารหลักที่จำเป็นต่อร่างกาย และร่างกายจะขาดไม่ได้ค่ะ

คาร์โบไฮเดรต (carbohydrate) คาร์โไฮเดรตเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานและความร้อน เช่นเดียวกับโปรตีนและไขมัน โดยคาร์โบไฮเดรต 1 กรัม ให้พลังงาน 4 แคลลอรี่ (calorie) หน่วยย่อยที่เล็กที่สุดของคาร์โบไฮเดรต คือน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (monosaccharide) ซึ่งเชื่อมต่อกันด้วยพันธะไกลโคไซด์ (glycosidic linkage) ทำให้โมเลกุลใหญ่ขึ้น เกิดเป็นคาร์โบไฮเดรตที่หลากหลายชนิดกันค่ะ คาร์โบไฮเดรตบางชนิดเชื่อมต่อกันด้วยพันธะไกลโคไซด์ ที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้ จะเป็นสารอาหารที่ไม่ให้พลังงาน เช่น เซลลูโลส (cellulose)

โปรตีน (protein) โปรตีนเป็นสารอาหารที่มีในร่างกายมากเป็นสองรองจากน้ำ เป็นสารอาหารที่ให้พลังงานและความร้อน เช่นเดียวกับคาร์โบไฮเดรตและไขมัน โดยโปรตีน 1 กรัม ให้พลังงาน 4 แคลลอรี่ (calorie) หน่วยย่อยที่เล็กที่สุดของโปรตีน คือ กรดอะมิโน (amino acid) แบ่งเป็น กรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย (essential amino acid) และกรดอะมิโนที่ไม่จำเป็นต่อร่างกาย (non essential amino acid) โปรตีนมีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ สร้างสารควบคุมการทำงานของร่างกาย เช่น ฮอร์โมนและเอนไซม์ สร้างภูมิคุ้มกันโรค รักษาดุลยภาพของสารต่างๆ ในร่างกาย

ไขมัน (fat) เป็นสารอาหารที่ให้พลังงานและความร้อน ซึ่งให้พลังงานสูงกว่าคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน โดยไขมัน 1 กรัม ให้พลังงาน 9 แคลลอรี่ (calorie) ไขมันเกิดจากการรวมตัวของกลีเซอรอล และโมเลกุลของกรดไขมัน (fatty acid) 3 โมเลกุล เป็นไตรกลีเซอร์ไรด์ (triglyceride)

 

2.กลุ่มสารอาหารที่ไม่ให้พลังงาน

กลุ่มสารอาหารที่ไม่ให้พลังงาน คือ สารอาหารที่ร่างกายของเราต้องการในปริมาณน้อยแต่ก็ไม่สามารถขาดได้ ถ้าขาดจะทำให้ระบบร่างกายของเราผิดปกติ หรือเกิดโรคต่างๆได้ ได้แก่ เกลือแร่ และวิตามินต่างๆ

วิตามิน (Vitamin) แบ่งออกเป็น 2 พวก ได้แก่

  • วิตามินที่ละลายในไขมัน ได้แก่ วิตามิน เอ ดี อี เค
  • วิตามินที่ละลายในน้ำ ได้แก่ วิตามินซี และวิตามินบีรวม

เกลือแร่(Mineral) ร่างกายมีเกลือแร่ 4% ของน้ำหนักร่างกายทั้งหมด เกลือแร่ที่ร่างกายต้องการ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

  • แร่ธาตุหลัก (Macro minerals) คือแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการในปริมาณมาก เป็นแร่ธาตุที่ร่างกายมีความต้องการในหนึ่งวันมากว่า 100 mg ขึ้นไป ได้แก่ แคลเซียม (Calcium), ฟอสฟอรัส (Phosphorous), โพแทสเซียม (Potassium), แมกเนเซียม (Magnesium), โซเดียม (Sodium), กำมะถัน (Sulphor) และคลอไรด์ (Chloride) ซึ่งในร่างกายของเราจะพบแร่ธาตุแคลเซียมมากที่สุด รองลงมาได้แก่ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แมกนีเซียม และโซเดียม
  • แร่ธาตุรอง (Trace minerals) คือแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อย เป็นแร่ธาตุที่ร่างกายมีความต้องการในหนึ่งวันในปริมาณน้อยกว่า 100 mg ต่อวัน แต่ถึงแม้ร่างกายจะต้องการแร่ธาตุประเภทนี้ในปริมาณน้อยก็ใช่ว่าจะไม่มีความสำคัญ ซึ่งแร่ธาตุในกลุ่มนี้ได้แก่ เหล็ก (Iron), สังกะสี (Zinc), ซีลีเนียม (Selenium), แมงกานิส (Manganese), ทองแดง (Copper), ไอโอดีน (Iodine), โครเมียม (Chromium), โคบอลท์ (Cobalt), ฟลูออไรด์ (Fluoride), โมลิบดินัม (molybdenum) และ วานาเดียม (Vanadium)

 

 

www.flickr.com/photos/electrolux-design-lab/14921194033/

www.flickr.com/photos/arselectronica/14063329988/

L-Carnitine คืออะไรและมีประโยชน์อย่างไร

steak-beef-1
Source: Flickr (click image for link)

สมัยนี้มีอาหารเสริมมากมายหลายชนิดเต็มไปหมด บางตัวก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร ช่วยเรื่องอะไรบ้าง บางทีก็อยากจะรู้อยากลองอยากที่จะกินดูบ้างแต่มันก็ยังไม่แน่ใจและยังคงลังเล ฟังคนนู้นทีคนนี้ทีบอกว่าตัวนี้ดีอย่างนั้นอย่างนี้ วันนี้ทาง HealthGossip เลยอยากจะยกอาหารเสริมตัวหนึ่งมาบอกเล่ากันเพื่อให้เรารู้จักและเข้าใจความหมายกันมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มของคนที่อยากลดน้ำหนักหรือลดความอ้วน อาหารเสริมตัวนี้ถือว่าเป็นตัวหลักที่เลือกรับประทานกันเลยทีเดียว ซึ่งเห็นบอกว่าช่วยลดความอ้วนได้ แต่จะลดได้ยังไงนั้น ก่อนอื่นเรามารู้จักทำความเข้าใจความหมายของอาหารเสริมตัวนี้กันก่อนเลยค่ะ ซึ่งอาหารเสริมตัวนี้มักคุ้นหูกันในชื่อที่เรียกกันว่า “แอลคาร์นิทีน” โดยที่ คาร์นิทีน เป็นสารประกอบจตุรภูมิของแอมโมเนียมที่สังเคราะห์ได้จากกรดอะมิโนสองชนิดคือ ไลซีนและเมธไทโอนีน ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตคาร์นิทีนจะลำเลียงกรดไขมันจากไซโตซอลเข้าสู่ไมโทคอนเดรียระหว่างการสลายของลิพิด (ไขมัน) เพื่อใช้ในการเผาผลาญพลังงาน คาร์นิทีนถูกใช้เป็นอาหารเสริมกันอย่างกว้างขวาง เดิมคาร์นิทีนพบว่าเป็นปัจจัยในการเจริญเติบโตของหนอนนกและมีอยู่บนฉลากวิตามินบี คาร์นิทีนมีอยู่ 2 stereoisomers : Active form คือ L-carnitine ขณะที่ inactive form คือ D-carnitine

แอลคาร์นิทีน (L-Carnitine) เป็นชื่อของสารตัวหนึ่ง ที่ถูกสร้างขึ้นในร่างกายของเราเอง โดยสร้างขึ้นมาจากกรดอะมิโน 2 ตัว คือ ไลซีน (lysine) และเมไทโอนีน (methionine) และ ถูกใช้ไปในหน้าที่ต่างๆ หลายอย่าง เช่น เข้าไปช่วยเพิ่มกระบวนการในการดึงไขมันไปใช้ โดยการขนส่งกรดไขมัน (fatty acid) เข้าไปในศูนย์กลางของการสร้างพลังงานของเซลล์ หรือจะพูดง่ายๆ ก็คือ แอล-คาร์นิทีนช่วยให้ร่างกายเปลี่ยนกรดไขมันไปเป็นพลังงานนั่นเอง ซึ่งพลังงานที่ได้มาส่วนใหญ่ก็จะถูกใช้สำหรับการทำงานของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย และเพราะกระบวนการพื้นฐานดังกล่าวของสารชนิดนี้ จึงทำให้สื่อโฆษณานำมาใช้เป็นประเด็นหลักในการสร้างโฆษณาเพื่อให้เห็นว่า “เมื่อกินแอล-คาร์นิทีน แล้วร่างกายเหมือนจะได้ทำงานดึงไขมันไปใช้ตลอดเวลา แม้แต่ในยามหลับ” L-Carnitine ทำหน้าที่สำคัญในระบบเมตาบอลิซึมเพื่อสร้างพลังงาน โดยผ่านกระบวนการเผาผลาญกรดไขมันที่เรียกว่า Beta-oxidation ซึ่งเกิดภายในไมโตคอนเดรีย (Mitochondria) ของเซลล์ต่างๆ รวมไปถึงเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจและกล้ามเนื้อลาย โดยปกติ L-Carnitine จะเปลี่ยนไปอยู่ในรูปของ Acyl-Carnitine ทำหน้าที่ขนส่งกรดไขมันสายยาวเพื่อนำไปเผาผลาญภายในไมโตคอนเดรียแล้วจึงเปลี่ยนกลับมาเป็น L-Carnitine เหมือนเดิม ดังนั้นเราจึงอาจกล่าวได้ว่า L-Carnitine มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อวัฏจักรของการสลายกรดไขมันในร่างกาย ขณะเดียวกันการขาด L-Carnitine นอกจากจะมีผลเสียต่อเมตาบอลิซึมของกรดไขมันแล้วยังอาจทำให้เกิดความผิดปกติต่อกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งในปัจจุบันมีการศึกษาที่พบว่าการให้ L-Carnitine สามารถลดอัตราการตายของกล้ามเนื้อหัวใจ (All- cause mortality, 27%) ลดภาวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ (Ventricular arrhythmias, 65%) และลดการปวดเค้นของกล้ามเนื้อหัวใจ (Angina, 40%) แต่ไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการลดอุบัติการการเกิดโรคหัวใจวาย (Heart failure)

แหล่งของคาร์นิทีน จะพบมากในเนื้อแดงและผลิตภัณฑ์จากนม คาร์นิทีนจากแหล่งธรรมชาติอื่นๆ ประกอบด้วยถั่วและเมล็ดพืช (เช่น ฟักทอง ทานตะวัน งา) พืชตระกูลถั่วหรือเมล็ดถั่ว (ถั่วเหลือง, ถั่วเขียว, ถั่วแขก, ถั่วลิสง) ผัก (อาร์ติโชค, หน่อไม้ฝรั่ง, หัวผักกาดเขียว, บร็อคโคลี่, กะหล่ำดาว, ผักคอลลาร์ด, กระเทียม, ผักกาดเขียวปลี, กระเจี๊ยบมอญ, พาสลี่ย์, คะน้า) ผลไม้ (แอปปริคอท, กล้วย) ธัญพืช (บัควีท(buckwheat), ข้าวโพด, ลูกเดือย, ข้าวโอ๊ต, รำข้าว, ข้าวไรย์, ข้าวสาลี, รำข้าวสาลี, จมูกข้าวสาลี) และอื่นๆที่เป็นอาหารสุขภาพ (ละอองเกสรดอกไม้, ยีสต์ที่ใช้หมักสุรา, carob)การดูดซึมคาร์นิทีนของร่างกาย การดูดซึมของแอล-คาร์นิทีนจะเกิดขึ้นในลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ ส่วนแพทย์สามารถให้คาร์นิทีนกับผู้ป่วยได้ทั้งทางเส้นเลือดและโดยการกิน

 

L-Carnitine กับการควบคุมหรือลดน้ำหนัก

ในปัจจุบันมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากมายต่างระบุตรงกันว่าการใช้ L-Carnitine ช่วยส่งเสริมเมตาบอลิซึมของกรดไขมันตามกลไกที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยเฉพาะเมื่อเรามีการออกกำลังกายชนิดแอโรบิกร่วมด้วย นั่นเป็นเพราะว่าการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอหรือแอโรบิก (Aerobic exercise) จะทำให้เซลล์สลายกรดไขมันไปเป็น ATP ซึ่งเป็นสารให้พลังงานหลักของเซลล์อย่างต่อเนื่อง หากเราออกกำลังกายติดต่อกันอย่างน้อย 30 นาที ดังนั้นหากเราต้องการควบคุมน้ำหนักจากการลดไขมันสะสม การใช้ L-Carnitine ร่วมกับการออกกำลังกายก็ย่อมจะช่วยให้เราสามารถควบคุมน้ำหนักตัวได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยนั่นเอง การรับประทาน L-Carnitine ร่วมกับกลุ่มวิตามินพื้นฐานอย่างวิตามินบีรวม (Vitamin B-Complex) นอกจากจะช่วยควบคุมเมตาบอลิซึมของร่างกายให้เป็นปกติแล้ว วิตามินบีรวมยังเป็นโคเอนไซม์หลักในปฏิกริยาการเผาผลาญสารอาหารในร่างกายให้เป็นพลังงานอีกด้วย

เมื่อมนุษย์เริ่มแก่ตัวลงนั้น ความเข้มข้นของคาร์นิทีนก็จะลดลงไปดวย ซึ่งมีผลต่อการเผาผลาญกรดไขมันในเนื้อเยื่อต่างๆ โดยเฉพาะจะเกิดผลกระทบต่อกระดูก จึงจำเป็นที่จะต้องมีการสร้างใหม่อย่างต่อเนื่อง และเซลล์สร้างกระดูกจะทำหน้าที่เผาผลาญเพื่อซ่อมแซมมวลกระดูก ทั้งนี้ การเปลี่ยนระดับพลาสมาของเซลล์สร้างกระดูกกับการทำงานของเซลล์สร้างกระดูกมีความเกี่ยวข้องกันอย่างมาก โดยการลดระดับพลาสมาในเซลล์สร้างกระดูกจะเป็นตัวชี้วัดในการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก ซึ่งปรากฏในโรคกระดูกพรุนของผู้สูงอายุและวัยหมดประจำเดือนในผู้หญิง ซึ่งในการทดลอง การใช้คาร์นิทีนผสม หรือ propionyl-L-carnitine นั้น สามารถเพิ่มความเข้มข้นของ serum osteocalcin ในสัตว์ที่ทดลอง แต่ถ้าว่าระดับ serum osteocalcin มีแนวโน้มทำให้อายุของสัตว์ที่ทดลองนั้นสั้นลงด้วยค่ะ

 

ปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน โดยทั่วไป 20 ถึง 200 มิลลิกรัมคือปริมาณของคาร์นิทีนที่ควรได้รับต่อวัน ด้วยเหตุนี้ผู้ที่เคร่งครัดในการทานมังสวิรัติจะรับประทานเพียง 1 มิลลิกรัมต่อวัน ไม่มีประโยชน์เกิดขึ้นถ้ารับประทานคาร์นิทีนมากกว่า 2 กรัมภายในครั้งเดียว เพราะว่าร่างกายสามารถดูดซึมได้สูงสุดได้เพียง 2 กรัม

 

www.flickr.com/photos/stephen_bolen/6142919686/

13 ผลไม้ที่แสนหอมหวานแต่กินแล้วทำให้อ้วน

durian-fruits-1
Source: Flickr (click image for link)

ก่อนหน้านี้ได้พูดถึง 13 ชนิดของผลไม้ที่กินแล้วไม่อ้วน วันนี้ HealthGossip เลยอยากนำเสนอ 13 ชนิดของผลไม้ที่กินแล้วทำให้อ้วนมาบอกกันค่ะ บางคนหรือสาวๆหลายคนเลยที่ชอบรับประทานผลไม้และก็อีกหลายคนที่เลือกรับประทานผลไม้เป็นการลดน้ำหนัก เพราะมีความเชื่อว่าผลไม้นั้นไม่มีไขมัน พลังงานต่ำ ทานเท่าไหร่ก็คงไม่อ้วนหรอก หรือในบางคนก็พยายามออกกำลังกายและรับประทานอาหารอย่างถูกต้อง แต่ไม่ว่าจะทำยังไงน้ำหนักก็กลับไม่ลดลงเท่าที่ควรซักที เวลาที่สาวๆ อยากจะมีหุ่นที่ผอมเพรียวโดยการอดอาหารแล้วหันมาบริโภคแต่ผลไม้นั้นนับเป็นวิธีแสนเบสิกที่ตั้งแต่ดาราฮอลลีวูดไปจนถึงพนักงานออฟฟิศใช้กันมาช้านาน แต่ใครจะรู้ละคะว่า “ผลไม้” ที่ทั้งอร่อยและได้ประโยชน์ก็สามารถสร้างความปวดใจให้กับน้ำหนักตัวของเราได้เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้ก็ล้วนแต่เป็นภาพลักษ์ที่เหล่าคนดังในจอเงินทำให้คุณเห็นว่า พวกเขาพยายามมากขนาดไหนในการควบคุมน้ำหนัก ไม่ว่าจะด้วยการกินผลไม้ตลอดทั้งสัปดาห์ก็แล้ว แต่คุณเคยสงสัยกันหรือเปล่าวล่ะคะว่า มันเป็นเรื่องจริงหรือเปล่าที่การทานเพียงผลไม้เพื่อลดน้ำหนักนั้นจะสามารถช่วยทำให้คุณสูญเสียน้ำหนักและมีหุ่นที่ดีเพรียวสวยเข้ารูปได้จริงหรือเปล่านะ แน่นอนว่าผลไม้นั้นมีหลากหลายประเภทและคุณจะแน่ใจกันได้ยังไงว่าการเลือกรับประทานผลไม้เพื่อลดน้ำหนัก ผลไม้ที่ว่านั้นถูกประเภทกันแล้วหรือยัง อย่าลืมว่าผลไม้บางชนิดก็มีน้ำตาลสูง สังเกตุได้ง่ายก็ผลไม้ที่มีรสหวานจัดๆนั่นแหล่ะค่ะ แต่ว่าจะมีอะไรกันบ้างน้้น HealthGossip ไปหาคำตอบมาให้สาวๆทั้งหลายจดและจำกันให้ขึ้นใจแล้วค่าา

 

13 ผลไม้ที่แสนหอมหวานแต่กินแล้วทำให้อ้วน!!

สำหรับผลไม้ที่ขึ้นชื่อว่ามีน้ำตาลมากก็สังเกตได้ไม่ยากค่ะ ก็จำพวกที่มีสีเหลือง ๆ รสหวานจัด ๆ นั่นแหละค่ะ และที่น่าสนใจอีกอย่างคือ พวกเราดั๊นชอบซื้อชอบทานกันซะด้วย อะไรที่อร่อยมักจะสุขภาพไม่ดีอ่ะเนอะ แล้วนี่จะทำยังไงล่ะ นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ จะบอกว่าห้ามกินก็คงไม่ได้อีก ใครจะไปทำได้อ่ะเนอะ เอาอย่างนี้แล้วกันค่ะ เมื่อเราทราบแล้วว่าผลไม้ชนิดไหนนั้นมีแคลลอรี่เท่าไหร่ เราก็ทำการดมเฉยๆหรือไม่ก็อมแล้วคายออกมา แฮ่ะๆ ล้อเล่นค่ะ ทำไมต้องทรมานใจตนเองขนาดนั้นอ่ะเน้อ ก็แค่จะบอกว่าเราก็รับปประทานผลไม้เหล่านั้นให้น้อยลงเท่านั้นเองล่ะค่า ไม่ใช่ ชนิดละกิโล นั่นก็เบาหวานกันพอดี เอาล่ะเรามาดูกันดีกว่าว่ามีผลไม้ชนิดไหน ยังไงบ้าง จะได้เลือกรับประทานกันได้ถูก 🙂

 

1.มะขามหวาน ( tamarind)

ไม่น่าเชื่อว่ากินมะขามหวานแค่ 1 ขีด ไม่รวมน้ำหนักเปลือกและเมล็ด จะได้พลังงานถึง 333 กิโลแคลอรี่ กันเลยทีเดียวเชียว ไม่อยากนึกเลยถ้ากิน 1 กิโลกรัม จะขนาดไหน งั้นก็เอาที่ 1 ไปครองเลยแบบใสๆไปเลย มะขามหวานเป็นผลไม้ที่หวานอร่อยละมุน ส่วนมากเราจะเห็นคนแก่ชอบนำมาทานกับข้าวเหนียว โห นั่นยิ่งหนักไปใหญ่เลยค่ะ

 

2.ทุเรียน (Durian)

แชมป์เก่าของผลไม้ต้องห้ามสำหรับคนลดความอ้วน ทุเรียน ภายนอกมีหนามน่ากลัวแต่พอเปิดเจอข้างในแล้วเจอเนื้อสีเหลืองนวล กลิ่นหอมชวนชิมลิ้มรส พอเมื่อกินเข้าไปแล้วได้รสชาติที่หวานจนหยุดกินไม่ได้กันเลยทีเดียว แต่…ช้าก่อนอย่าเพิ่งกินคำต่อไป เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน รสชาติที่หวานเย้ายวนนี่ตัวดีเลย คุณค่าทางโภชนาการต่อ โดยทุเรียนจะให้พลังงานถึง 134-163 กิโลแคลอรี่ แล้วแต่สายพันธุ์และความหวานนั่นเอง!! จะเห็นได้ว่าค่าคาร์โบไฮเดรตอยู่ที่ 27.09 g ไขมันอยู่ที่ 5.33 g อีกด้วย อีกทั้ง กระทรวงสาธารณสุขก็เคยออกมาเตือนแล้วว่า ไม่ควรทานทุเรียนเกินวันละ 2 เม็ด เพราะเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานสูง ถ้าหากกินครั้งละ 2-3 พู เท่ากับ 4-6 เม็ด หรือเกือบครึ่งลูก ก็จะทำให้ร่างกายได้รับพลังงานจากความหวานของทุเรียนมากเกินไปถึงประมาณ 400 กิโลแคลอรี ซึ่งพอ ๆ กับกินข้าว 5 ทัพพี หรือกินน้ำอัดลมเกือบ 2 กระป๋อง หรือก๋วยเตี๋ยวหมู 1 ชาม โดยเฉพาะคนอ้วน ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต้องระวังเพราะอาจทำให้โรคกำเริบได้ แล้วอย่างนี้จะยังกินต่อกันอีกอยู่ไหม?

 

3.กล้วย (Banana)

ไม่ว่าจะเป็น กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า หรือกล้วยหอม ถึงแม้จะมีประโยชน์มากมาย แต่ทั้งหมดทั้งมวลล้วนมีค่าพลังงานที่สูงด้วยกันทั้งนั้น โดยที่กล้วยไข่นั้นให้พลังงานมากที่สุดในบรรดากล้วยทุกชนิด คือ 147 kcal จากปริมาณ 100 g ส่วนกล้วยน้ำว้าจะให้ค่าพลังงาน 140 kcal และกล้วยหอมให้พลังงานที่ 132 kcal แต่สิ่งที่น่าสนใจก็ตรงที่กล้วยทุกชนิดให้ค่าพลังงานใกล้เคียงกับทุเรียนชะนี โดยที่กล้วย 1 ขีด ให้ค่าพลังงาน 140 kcal ส่วนทุเรียนชะนีนั้นให้พลังงาน 139 kcal และใครที่อยากจะลดความอ้วนโดยวิธีกินกล้วยแทนข้าวแล้วล่ะก็ ขอบอกว่าคิดผิดแน่ๆค่ะ  

 

4.ขนุน (Jackfruit)

ขนุนให้พลังงาน 117 kcal นี่ยังไม่นับเมล็ดที่หลายคนชอบต้มแล้วนำมารับประทานกันด้วยนะคะ อันนั้นขอบอกเลยว่าแป้งอีกเพียบ โดยที่ขนุน 4 ยวง =  120 กิโลแคลอรี่ เนื้อขนุนมีสีเหลือง รสชาติหวาน ทานเล่นทานเพลินกันเลยทีเดียว อย่าได้เผลอทานเป็นกิโลเชียว น้ำหนักขึ้นนี่ไม่ต้องสงสัยเลยค่ะ

 

5.มะม่วงสุก (Mango)

พูดถึงมะม่วง ไม่ว่าจะคนไทยหรือต่างชาติก็ชอบที่จะเลือกรับประทานกัน โดยเฉพาะในประเทศไทยเรามีทุกฤดูกาลกันอยู่แล้ว และเมนูที่ไม่มีใครพลาดกันเลยนั่นก็คือ ข้าวเหนียวมะม่วง เมื่อหน้าร้อนมาถึง ร้านอาหาร ร้านขนมหวานต่างๆ ต้องออกเมนูมะม่วงมาประชันกัน เรียกได้ว่า เดินห้างไหนก็เหลืองระรานตาไปหมด ด้วยสาเหตุเพราะความหอมและหวานชื่นใจของมะม่วงนั่นเอง มะม่วงถือเป็นผลไม้ที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตสูง มะม่วงดิบจะมีคาร์โบไฮเดรตที่อยู่ในรูปของแป้ง เมื่อเริ่มสุกแป้งเหล่านี้จะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลในกลุ่มของ กลูโคส ฟรักโทส และซูโคส ซึ่งดูดซึมเร็วจึงทำให้มีผลกับระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยเบาหวานและผู้ลดน้ำหนัก จำเป็นต้องควบคุมปริมาณในการทานมะม่วงสุกให้เหมาะสม เพราะว่ามะม่วงสุก 100 กรัม มีค่าพลังงาน 93 kcal

 

6.ลำไย (Longan)

ลำไยให้พลังงาน 111 กิโลแคลอรี่ แถมกินมากๆ ตาแฉะ และร้อนในอีกต่างหาก ลำใยลูกกลมๆ รสหวานๆ ใครล่ะจะหยุดทานได้ หนึ่งพวงก็หลายลูกอยู่เหมือนกัน แต่อย่าลืมนะ ลำไย 8 ผล =  120 กิโลแคลอรี่ เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน

 

7.น้อยหน่า (Custard Apple)

น้อยหน่าไม่ว่าจะเป็นน้อยหน่าเนื้อหรือน้อยหน่าหนัง น้อยหน่าในปริมาณ 100 g จะให้พลังงานราว 98 กิโลแคลอรี่ และมีคาร์โบไฮเดรต 23.64 กรัม และจะไม่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ควรที่บริโภคน้อยหน่าแต่เล็กน้อยและนานๆ ครั้ง เนื่องจากน้อยหน่าเป็นผลไม้ที่มีรสหวานจัดการรับประทานปริมาณมากอาจทำให้อาการของโรคเบาหวานกำเริบขึ้นได้ค่ะ น้อยหน่า 1 ผล =  120 กิโลแคลอรี่

 

8.มังคุด (Purple mangosteen)

มังคุดได้รับฉายาว่า ราชินีแห่งผลไม้ แถมยังมีประโยชน์ในเรื่องของสารออกฤทธิ์ต่างๆ แต่ก็มักมีอยู่ที่เปลือก และส่วนมากเราก็ชอบกินเนื้อของมังคุดกัน จะกินเปลือกของมังคุดก็ยังไงอยู่ใช่ไหมล่ะคะ เพราะฉะนนั้นเราก็จะได้รับพลังงานเยอะถึง 73 กิโลแคลอรี่ ต่อ 100 g ค่ะ

 

9.เงาะ (Rambutan)

เจ้าผลไม้ชนิดที่เราต้องชอบทานกันทั้งนั้น นั่นก็คือเจ้าเงาะ 1 กิโล ราคาก็ไม่ได้แพงมากหวานก็หวาน อร่อยก็อร่อย กินสองกิโลก็ยังได้ แต่เดี๋ยวก่อนค่ะ อยากจะบอกว่า เงาะ 8 ผล = 120 กิโลแคลอรี่ แน่ะ โหๆ คิดก่อนๆ ยังจะสองกิโลอยู่ไหม ?

 

10.ลองกอง (Lansium parasiticum)  

ลองกอง 1 ผล เมื่อปลอกเปลือกออกมาจะมีเนื้อใสๆเป็นกลีบอยู่ข้างใน รสชาติหวานๆ แต่ยังไงซะถ้าเราทานลองกอง 10 ผล = 60 กิโลแคลอรี่ นะคะ

 

11.ลางสาด(Langsat)

ลางสาด เป็นอีกหนึ่งผลไม้ที่ชาวไทยนิยมรับประทานกัน ในลางสาดปริมาณ 100 กรัม จะมีค่าพลังงานทั้งหมด 67 กิโลแคลอรี่l โดยมีคาร์โบไฮเดรตอยู่ 15.6 กรัม ค่ะ

 

12.ละมุด (Sapodilla)

ละมุดเป็นอีกผลไม้ที่มีรสหวานบาดใจเหลือเกิน เชื่อว่าหลายคนคงไม่ทานกันแค่หนึ่งลูก สองลูกกันหรอกใช่ไหมล่ะคะ แต่ยังไงก็หักห้ามใจกันหน่อยนะคะ เพราว่าละมุด 3 ผล =  120 กิโลแคลอรี่ เชียวแหละค่ะ ไม่น้อยเลยทีเดียว

 

13.เนื้อมะพร้าว (coconut flesh)

ถ้าพูดถึงมะพร้าวนั้นถือได้ว่าเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ทั้งลูกเลยล่ะค่ะ เนื้อก็แสนจะหวานมันส่วนในน้ำมะพร้าวนั้นก็มีประโยชน์มากมายเลยทีเดียว แต่ถ้าว่าในเนื้อที่แสนหวานมันนั้น มีแคลลอรี่ไม่น้อยเลยล่ะค่ะ ค่าพลังงาของเนื้อมะพร้าว 200 กรัม = 150 กิโลแคลอรี่ เลยนะคะ

 

ในความคิดของคนที่กำลังลดความอ้วน คงคิดว่าการเลือกรับประทานผลไม้นั้นเป็นวิธีที่ดีและง่ายที่สุด ทานเท่าไหร่ก็ได้ แต่หารู้ไม่ว่าการที่เรารับประทานมะม่วงสุก 3 ลูก จะเทียบเท่ากับการให้พลังงานเทียบเท่ากับข้าวขาหมู 1 จาน หรือถ้าเปลี่ยนจากข้าวมาเป็นผลไม้อย่าง ฝรั่ง หรือมะม่วง ก็เท่ากับรับประทานแป้งเหมือนเดิม แต่มีน้ำตาลมากกว่านั่นเองค่ะ โดยปริมาณน้ำตาลที่นักโภชนาการแนะนำให้รับประทานต่อวันคือ ไม่ควรเกิน 4 ช้อนชาสำหรับเด็ก และ 6 ช้อนชาสำหรับผู้ใหญ่ และถ้าหากหากเราดื่มน้ำผัก-ผลไม้รวมพร้อมดื่ม 1 แก้ว หรือประมาณ 200 มิลลิลิตร เราจะได้น้ำตาลประมาณ 4 ช้อนชา ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อรวมกับอาหารทั้งวันที่เรารับประทานกันค่ะ ยังไงก็ถือว่าความรู้ในวันนี้จะช่วยให้คุณๆเลือกรับประทานผลไม้กันมากขึ้นนะคะ 😀

 

www.flickr.com/photos/lnhillesheim/3404526406/

Omega 3 คืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร

salmon-salad-1
Source: Flickr (click image for link)

“โอเมก้า 3” (Omega 3) คืออะไรกันนะ สาวๆหลายคนรวมไปถึงคนที่รักสุขภาพนั้นต่างก็ให้ความสนอกสนใจเกี่ยวกับอาหารที่มีโอเมก้า 3 กันเยอะพอสมควร แต่เราจะรู้ดีแค่ไหนกันนะว่าเจ้าโอเมก้า 3 มันมีบทบาทและความสำคัญอย่างไร ดีต่อสุขภาพของเราแค่ไหนช่วยอะไรบ้างต่อร่างกายของเรา มีอีกหลายคนเลยล่ะค่ะที่ยังไม่ค่อยรู้และเข้าใจเกี่ยวกับเจ้าโอเมก้า 3 กันมากนักรู้ก็แค่ว่ามันคือกรดไขมันอย่างหนึ่งและมีประโยชน์ แต่ไม่ใช่แค่มีประโยชน์เท่านั้นนะคะมันยังมีความสำคัญอย่างที่ร่างกายของเรานั้นในขนาดที่ขาดไม่ได้เช่นกัน ถ้าเรารู้จักกับเจ้าโอเมก้า 3 กันสักนิดเราก็จะได้ทั้งความรู้ สุขภาพที่ดีและความสวยเพิ่มขึ้นอีกค่ะ อยากรู้แล้วล่ะสิว่าทำให้สวยขึ้นได้ด้วยหรอแล้วจะได้ยังไงกันนั้น วันนี้ HealthGossip มีคำตอบค่ะและอาจจะทำให้สาวๆมีความเข้าใจกับเจ้าโอเมก้า 3 มากขึ้นอีกด้วยนะคะ และหลังจากนี้เวลาเดินไป supermarket จะได้เลือกชนิดของอาหารที่มีส่วนผสมของโอเมก้า 3 ได้ถูกและสร้างสรรค์เมนูสุขภาพให้แก่ตนเองและคนที่เรารักได้รับประทานกันค่ะ….. งั้นก่อนอื่นเลยเรามารู้จักกับ ไขมัน กันก่อนเลยค่ะ ทราบกันหรือไม่ว่าไขมันที่มีอยู่ในอาหารนั้นมีส่วนประกอบของกรดไขมัน (fatty acid) มีธาตุคาร์บอน ธาตุไฮโดรเจน และธาตุออกซิเจน เรียงจับกันในลักษณะต่างๆ สามารถแบ่งตามโครงสร้างทางเคมี ได้ดังนี้  

ไขมันอิ่มตัว (Saturated fatty acid) คือไขมันที่มีโครงสร้างคาร์บอนเรียงจับกันครบไขมันชนิดนี้ร่างกายสามารถสร้างได้เองถ้ารับประทานมากเกินไปจะทำให้เกิดคอเลสเตอรอลในเลือดสูงเกิดการอุดตันของเส้นเลือดเป็นต้นเหตุของโรคหัวใจขาดเลือด

ไขมันไม่อิ่มตัว (Unsatuarated fatty acid) คือไขมันที่ธาตุคาร์บอนยังมี เหลือสามารถจับกับธาตุไฮโดรเจนได้ แบ่งออกเป็น  

  • กรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว(Monounsaturated fatty acid) ได้แก่ กรดโอเลอิก (Oleic acid) เป็นกรดไขมันที่ร่างกายสามารถสร้างได้เอง แต่ถ้ารับประทานเข้าไปมากก็ไม่ทำให้เกิดโรคหัวใจและมีแนวโน้มที่จะช่วยลดไขมันในเลือดด้วย
  • กรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดหลายตำแหน่ง(Polyunsaturated fatty acid) เป็นกรดไขมันที่ร่างกายไม่สามารถสร้างได้เองจำเป็นต้องรับจากอาหาร ไขมันที่สำคัญคือ Omega-3 (Alpha-linolenic acid) และ Omega-6 (linolenic acid)และในหมู่ไขมันในอาหารมีไขมันที่เป็นมิตรต่อสุขภาพนั้นช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจจะเป็นไขมันที่อยู่ในกลุ่มไขมันไม่อิ่มตัวนั่นเองค่ะ

ทำไมถึงเรียกว่าโอเมก้า 3 ล่ะ ? เนื่องจากกรดไขมันโอเมก้า 3 เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (PUFAs) ที่มีพันธะคู่ (Double Bond) ของอะตอมคาร์บอน (C = C) ที่เริ่มจากอะตอมของคาร์บอนตัวที่สามจากปลายคาร์บอน คือ ปลายของกรดคาร์บอกซิลิก (COOH) ส่วนที่เป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่ และส่วนที่เป็นหางของห่วงโซ่คือ ปลายของ “อัลฟา” และ methyl (-CH3) โดยพันธะคู่แรกจะอยู่ที่ตำแหน่งของคาร์บอนตัวที่ 3 นับจากปลายโมเลกุลด้านที่มีกลุ่มเมธิล (methyl group) เข้าไป ส่วนพันธะคู่ต่อไปจะอยู่ตรงตำแหน่งคาร์บอนถัดไปครั้งละ 3 ตำแหน่ง อย่างไรก็ตามระบบการตั้งชื่อสารเคมีตามมาตรฐาน (IUPAC) จะเริ่มจากจุดปลายของคาร์บอกซิล

โดยสารสำคัญเด่นๆ ในตัวมีอยู่ 2 ตัว คือ Eicosopentaenoic (EPA) และ Docosahexaenoic (DHA) แต่ความจริงแล้วกรดไขมันโอเมก้า 3 นั้นมีอยู่สามชนิดที่สำคัญ คือ

– กรดไขมันแอลฟาไลโนเลนิก (Alpha linolenic acid : ALA)

– กรดไขมันอีพีเอ (Eicosapentaenic acid : EPA)

– กรดไขมันดีเอชเอ (Docosahexaenoic acid : DHA)

โดย EPA และ DHA ส่วนใหญ่พบในปลาบางชนิด ส่วน ALA (alpha-linolenic acid) จะพบได้ในแหล่งของพืช เช่นถั่วและเมล็ดพืชค่ะ

 

โอเมก้า 3 คืออะไรนะ ? ทำความเข้าใจกันก่อนนะคะว่าร่างกายของเราเนี่ยต้องการสารพัดสารอาหารและสารเคมีเลยล่ะค่ะ เพราะอะไรน่ะหรอก็เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องนั่นเอง และในขณะที่สารเคมีบางอย่างก็เป็นคุณแก่ร่างกายของเราส่วนบางอย่างก็เป็นโทษซึ่งเราก็จะต้องหลีกเลี่ยงที่จะรับเข้ามาสู่ร่างกาย คือกำลังจะบอกว่าไขมันก็เช่นเดียวกันค่ะมีทั้งไขมันชนิดที่ดีและก็ชนิดที่ไม่ดีไม่พอแถมยังสร้างปัญหาให้ร่างกายเราอีกแหน่ะ แล้วรู้ไหมคะว่าร่างกายเราก็ไม่ได้อัศจรรย์พันแปดขนาดที่จะสามารถสร้างสารอาหารที่จำเป็นทั้งหมดได้เองรวมทั้งกรดไขมันที่จำเป็นบางตัวด้วยยังต้องอาศัยการได้รับจากภายนอกอีก ไม่ว่าจะด้วยการทานอาหารหรือการรับประทานในรูปแบบของยาที่สกัดมาแล้ว เพราะงั้นร่างกายของคนเราก็ต้องการกรดไขมันจำเป็น (Essential Fatty Acid) 2 ชนิด แล้วกรดไขมันกลุ่ม Omega-3 เป็นหนึ่งในกรดไขมันที่ร่างกายมนุษย์ขาดไม่ได้ สารสำคัญที่อยู่ในกลุ่ม Omega 3 แบ่งเป็น 2 ชนิดที่เด่นๆ เลย  คือ  EPA (Eicosapantaenoic acid) และ DHA (Docosahexanoic acid) ซึ่งร่างกายไม่สามารถผลิตเองได้เราจึงต้องการจากที่อื่นเพื่อเสริมให้กับร่างกายของเราได้รับเพียงพอนั่นเอง

โอเมก้า 3 มาจากไหน ? ในเมื่อร่างกายไม่สามารถสร้างโอเมก้า 3 ได้เองอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอเราก็ต้องหาแหล่งของไขมันชนิดนี้ที่ได้จากปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาแซลมอน ปลาแม็คเคอเรล ปลาทูน่า หรือปลาน้ำจืดบางชนิดสำหรับคนที่แพ้อาหารทะเลแต่ยังคงต้องการโปรตีนจากเนื้อสัตว์ หรือปลาทะเลนั้นมีราคาที่ค่อนข้างสูงเนื่องจากต้องนำเข้าและบางทีอาจจะไม่สดอีก แล้วรู้ไหมละคะว่าสำหรับประเทศไทยเรานั้นยังมีปลาน้ำจืด ที่มีโอเมก้า 3 สูงและหาทานได้ง่ายทั่วไปอย่างเช่น ปลาสวาย ปลาช่อน ปลาดุก เป็นต้น  นอกจากนั้นก็ยังสามารถพบโอเมก้า 3 ได้ในเมล็ดวอลนัท บรอคโคลี่ ดอกกะหล่ำ เต้าหู้ ผักขม กุ้ง หอยแครง ปลาเฮริง ถั่วเหลือง เป็นต้น ส่วนในจำพวกพืชหรือผ้กที่มีใบสีเขียวเข้มส่วนใหญ่ก็จะมีกรด ALA ซึ่่งในขณะที่อาหารประเภทเนื้อสัตว์โดยเฉพาะเนื้อปลาจะมีกรด EPA และ DHA ที่นำไปใช้ได้โดยตรง

 

โอเมก้า 3 มีประโยชน์ยังไง ?

จุดเด่นของ Omega-3 มีคุณสมบัติป้องกันและรักษา การรับประทานอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 อย่างเหมาะสมจะทำให้ร่างกายทำงานเป็นปกติและร่างกายของเรานั้นจำเป็นต้องมีระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ดีอย่างเหมาะสม กรดไขมันโอเมก้า 3 เป็นกรดไขมันจำเป็นแต่ไม่สามารถสร้างเองได้ภายในร่างกาย ดังนั้นจำเป็นต้องรับจากการบริโภคอาหารเท่านั้น และแทบทุกระบบการทำงานภายในร่างกาย จำเป็นที่จะต้องใช้ประโยชน์จากกรดไขมันจำเป็นทั้งนั้น อาทิเช่น

  • ระบบหลอดเลือดหัวใจ(ช่วยลดความดันโลหิต ช่วยลดไขมันคอเลสเตอรอล ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดฉับพลัน และ โรคอัมพาต)
  • ระบบประสาท(ช่วยเพิ่มความจำ)
  • สายตา(ช่วยในการมองเห็น)
  • ระบบภูมิคุ้มกัน(ลดอาการภูมิแพ้)
  • ระบบไหลเวียนโลหิต
  • ระบบสืบพันธุ์
  • ระบบข้อกระดูก

นอกจากนี้แล้วกรดไขมัน Omega-3 ยังมีคุณสมบัติ ต่อต้านการอักเสบ(ช่วยบรรเทาอาการข้ออักเสบ) และที่สำคัญที่สุด กรดไขมันโอเมก้า 3 ช่วยให้ผิวเปล่งประกายและสุขภาพดีขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการเข้าไปสร้างเยื่อหุ้มเซลล์ช่วยคงความชุ่มชื้นและแข็งแรง ช่วยกระตุ้นการผลิตคอลลาเจนและเส้นใยอีลาสติน จึงส่งผลให้ผิวพรรณแลดูอ่อนเยาว์และสดใส ทั้งนี้หากมีการรัปทานร่วมกับ วิตามินเอ ดี และอี จะยิ่งช่วยปกป้องการเกิดสิว ไม่ว่าจะเป็น สิวหัวขาวและหัวดำ

โอเมก้า 3 มีประโยชน์ต่อสตรีมีครรภ์ กรดไขมันโอเมก้า-3 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง DHA มีความสำคัญในการพัฒนาและการทำหน้าที่ของระบบประสาท ระบบสายตา และระบบสมอง ของทารกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนคลอด และในช่วง 6 เดือนแรกหลังจากคลอดแล้ว ดังนั้น มารดาของทารกที่เสริมกรดไขมันโอเมก้า 3 จะเป็นทางเดียวที่จะทำให้ ทารกในครรภ์ได้รับกรดไขมันจำเป็นไปด้วย (ทั้งนี้ควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ โดยควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ก่อนทุกครั้ง)

โอเมก้า 3 มีประโยชน์สำหรับเด็ก น้ำมันปลาโอเมก้า 3 มีประโยชน์อย่างมากมายในการช่วยการเจริญเติบโตของเด็ก เช่น ช่วยพัฒนาการทำงานของสมองและจิตใจ เพิ่มสมาธิ ความจำระยะสั้นและ ทักษะในการอ่าน นอกเหนือจากนี้ ยังมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ช่วยปกป้องกระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อ ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่เด็กๆ ควรจะได้รับปริมาณโอเมก้า 3 ในระดับสมดุลกับอาหารของพวกเขา

โอเมก้า 3 กับความสวยความงาม ผิวสวยหน้าใส สมองสดใส หัวใจแข็งแรง อย่างที่เราทราบกันดีนะคะว่าโอเมก้า 3 เป็นกรดไขมันจำเป็นที่ไม่สามารถสร้างเองได้ภายในร่างกายต้องรับจากอาหารเท่านั้น แทบทุกระบบภายในร่างกายของเราจำเป็นจะต้องใช้ประโยชน์จากกรดไขมันจำเป็นเหล่านี้ ในส่วนของความสวยความงามนั้นกรดไขมันโอเมก้า 3 ยังช่วยให้ผิวเปล่งประกายและสุขภาพดีขึ้น โดยเป็นส่วนหนึ่งในการใช้สร้างเยื่อหุ้มเซลล์ช่วยคงความชุ่มชื้นและแข็งแรง ช่วยกระตุ้นการผลิตคอลลาเจนและเส้นใยอีลาสติน จึงส่งผลให้ผิวดูอ่อนเยาว์และสดใสรวมไปถึงเส้นผมที่แห้งแตกปลาย ในขณะที่ EPA ที่อยู่ในปลานั้นจะช่วยปกป้องการเกิดสิว ไม่ว่าจะเป็นสิวหัวขาวและหัวดำค่ะ เห็นอย่างนี้แล้วสาวๆไม่ควรมองข้ามอาหารที่มีโอเมก้า 3 กันนะคะ

 

จะเห็นได้ว่า โอเมก้า 3 มีความสำคัญต่อสุขภาพของเรามากมายเลยนะคะ หลายคนพอได้ยินว่าเป็น ไขมัน ก็กลัวแทบไม่อยากแตะ แต่อย่าลืมนะคะว่าไขมันมีทั้งตัวที่ดีและตัวที่ไม่ดีและไขมันก็ยังคงมีความจำเป็นต่อร่างกายเราอยู่ดีค่ะ และหว้งว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เราเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพกันได้มากขี้นและเมื่อสุขภาพภายในของเรานัันดีแล้วนั้นมันก็ส่งผลให้สุขภาพภายนอกของเราสวยสดใสตามมาอีกด้วยค่ะ 

www.flickr.com/photos/jeffchristiansen/4822568694/

  • 1
  • 2