Browse Tag: exercise

15 นิสัยและพฤติกรรมแย่ๆ ที่ทำให้อ้วน

eating-cake-1
Source: Flickr (click image for link)

สำหรับคนที่กำลังจะอ้วนหรืออ้วนไปแล้วและกำลังควบคุมน้ำหนักอยู่ บางคนอาจจะยังไม่ทราบหรือไม่รู้ตัวเองว่านิสัยการกินหรือพฤติกรรมที่คุณนั้นชอบทำอยู่เป็นประจำนั้น อาจจะเป็นส่วนที่ทำให้คุณไม่สามารถควบคุมน้ำหนักได้เท่าที่ควรจะเป็น ถึงแม้ว่าคุณจะบอกว่าได้พยายามควบคุมอาหารอย่างที่สุดแล้วนะ แต่ทำไมน้ำหนักไม่ลดลงเลยล่ะ เอาล่ะก่อนอื่นเลยเราลองกลับมาย้อนมองดูตัวเองกันก่อนไหมว่านิสัยและพฤติกรรมเหล่านี้ตรงกับที่คุณทำและเป็นอยู่หรือไม่ และถ้าใช่ก็ควรหยุดเสียนั่นอาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมการควบคุมน้ำหนักของคุณที่ทำมาอย่างมุ่งมั่นจึงไม่ประสบผลสำเร็จสักที การควบคุมน้ำหนักหรือการลดน้ำหนักมันไม่ง่ายและรวดเร็วเหมือนตอนที่เรากินแล้วน้ำหนักขึ้นพรวดๆ โดยไม่บอกไม่กล่าวหรือคำนึงถึงลิมิตที่คุณวางไว้หรอกนะ ถ้าคุณอยากจะให้มันสำเร็จไปได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้วล่ะก็ ถึงเวลาที่เราต้องหันมาปรับนิสัยและเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้กันค่ะ

 

15 นิสัยและพฤติกรรมแย่ๆ ที่ทำให้อ้วน

eating-foods-1
Source: Flickr (click image for link)

1.ขี้เสียดาย

หลายคนมีนิสัยขี้เสียดายของโดยเฉพาะกับอาหารการกิน นั่นอาจเป็นเรื่องดีค่ะถ้าในสำหรับคนที่ไม่ได้ต้องการควบคุมน้ำหนักนะคะ แต่ถ้าเราต้องการควบคุมน้ำหนักแล้วก็ควรอย่าไปเสียดายอาหารที่เราทานไม่หมด เมื่ออิ่มแล้วก็ควรพอไม่ควรทานต่อเพื่อให้มันไปขยายกระเพาะของเราเปล่าๆ นอกจากนั้นยังไปเป็นของเหลือที่ร่างกายเราไม่ได้เอาไปใช้ประโยชน์อะไรต่อ แถมยังมาใจดีเก็บสะสมของเหลือเหล่านั้นให้ไว้ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายอีกแน่ะ แล้วก็มาทำให้เราหงุดหงิดรำคาญใจว่าทำไมมีพุง ทำไมขาใหญ่ แขนใหญ่ เห้อออ เลิกเหอะ

 

2.ตามใจปาก

การตามใจปากคือการที่กินเพราะความอยากจากความต้องการและอารมณ์ของเราล้วนๆ ไม่ใช่เพราะความหิวหรืออย่างใด แค่อยากจะกินอ่ะ นู่นก็จะเอานี่ก็จะกิน กินไม่หยุดกินได้เรื่อยๆ กินแบบไม่มีท่าทีว่าจะพอ โหยยแม่คุณกินแบบนี้นี่ไง กินไม่ปรึกษาตัวเลขที่ขึ้นเอาพรวดๆบนตาชั่งเลย แล้วยังมาร้องว่าทำไมน้ำหนักไม่ลดซักที อ้วนได้ไงเนี่ย เออคิดได้เนอะ

 

3.การกินเร็ว

การกินเร็วรวมถึงการที่ยังไม่ทันได้เคี้ยวก็รีบกลืน การกินเร็วแบบนี้จะทำให้เราเพลินและกินได้มากขึ้น แต่ทราบหรือไม่ว่าการที่เรากินเร็วแบบที่ยังไม่ได้ทันได้ใช้เวลาในการเคี้ยวให้ละเอียดแล้วกลืนนั้น จะทำให้เราไม่รู้สึกอิ่มและนั่นอาจจะทำให้เราทานมากกว่าปกติเพราะการกินเร็วนั้นทำให้กระเพาะยังไม่ทันรู้สึกว่าได้รับอาหารจึงทำให้เรารู้สึกว่ายังกินได้อีก เพราะอย่างนี้การกินแบบค่อยๆ เคี้ยวให้ละเอียดจะทำให้อาหารย่อยง่าย และยังทำให้ได้รับปริมาณอาหารที่เพียงพอต่อความหิวอีกทั้งยังช่วยให้ได้รับรสชาติของอาหารมากขึ้นด้วยค่ะ

 

4.กลัวน้ำหนักตัวเอง

หลายคนกลัวการชั่งน้ำหนักของตัวเองโดยเฉพาะอยู่ในช่วงที่คิดว่าตัวเองรู้สึกว่าอ้วนขึ้นกลัวที่จะเห็นตัวเลขบนตาชั่งแล้วรับไม่ได้ อยากจะบอกว่าการทราบน้ำหนักตัวเองอยู่ทุกวันเป็นเรื่องดีนะคะอย่าได้กลัวไปเลย เพราะจะทำให้เราทราบน้ำหนักของตัวเราเองว่าเพิ่มขึ้น ลดลง หรือคงที่แล้ว เพื่อเตือนให้เรารู้ตัวและสามารถควบคุมน้ำหนักได้ค่ะ

 

5.ดูโทรทัศน์หรือเล่นโทรศัพท์ระหว่างการกิน

เชื่อว่าหลายๆคนคงเป็นกันค่ะ การที่เราทำกิจกรรมจำพวกดูโทรทัศน์ เล่นโทรศัพท์มือถือ รวมถึงการอ่านหนังสือ ทราบหรือไหมว่าการทำพฤติกรรมเหล่านี้ระหว่างการรับประทานอาหารจะทำให้เราทานมากขึ้นถึง 50% และยังทำให้เรารับประทานอาหารมื้อถัดไปเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย นั่นก็เป็นเพราะว่าเรามัวแต่ต้องโทรทัศน์หรือเล่นโทรศัพท์อยู่ จึงทำให้จิตใจของเราไม่ได้จดจ่ออยู่กับอาหารที่เรากำลังรับประทานเราเลยไม่รู้สึกว่าอิ่มสักที รู้อย่างนี้ก็ควรต้องถึงเวลาปรับเปลี่ยนนิสัยนี้เสียทีนะ

 

6.งดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง

การรับประทานอาหารที่ถูกต้องคือการรับประทานอาหารให้ครบสามมื้อไม่ควรข้ามหรืองดมื้อใดมื้อหนึ่ง โดยเฉพาะมื้อเช้าที่หลายคนตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจงดแต่ไม่ควรจะทำค่ะ การที่เราไม่ทานมื้อเช้าที่เป็นมื้อเริ่มต้นของวันและเป็นมื้อที่สำคัญต่อสุขภาพของเราที่ร่างกายควรจะได้รับแล้วแต่เมื่อเรางดไป จะไปทำให้เราหิวและไปหนักในมื้ออื่นโดยเฉพาะมื้อเย็นที่เราจะไปจัดหนักจัดเต็มกันเลยทีเดียว แต่กลับกันมื้อเย็นหลายคนคงเข้าใจว่าควรงดซึ่งนั่นก็ไม่ถูกต้อง แค่มื้อเย็นควรทานให้เบากว่ามื้ออื่นๆ และไม่ควรดึกจนเกินไปต่างหากล่ะ

 

7.กินแก้เครียด

เวลาที่มีเรื่องเครียดหรืออาการกลุ้มอกกลุ้มใจ การกินถือเป็นสิ่งตอบโจทย์ของใครหลายๆ คน บางทีก็กินแก้เครียดโดยไม่รู้ตัว ในช่วงที่เราควบคุมน้ำหนักอยู่นี้อยากให้หาวิธีหรือกิจกรรมอย่างอื่นในการแก้เครียดที่ไม่ใช่การกินค่ะ ความจริงแล้วถ้าเปลี่ยนมาเลือกรับประทานจำพวกผักสลัดสดหรือผลไม้สดน่าจะดีกว่านะ

 

8.กินให้คุ้มแบบจัดเต็ม

การกินประเภทนี้จะมีอยู่ในคนที่ชอบอาหารประเภทบุฟเฟ่ กินแบบไม่อั้นจัดเต็มให้คุ้มกับเงินที่เสียไป ถึงแม้ว่าเราจะกินอิ่มแล้วก็ตามแต่ก็ไม่สามารถรู้ตัวได้ว่าเราควรที่จะพอและควรจะหยุดกิน ด้วยความที่คิดว่ายังไม่คุ้มก็เอาอีก ตักอีก กินอีก นอกจากน้ำหนักที่ขึ้นแบบไม่รู้ตัวแล้วโรคภัยไข้เจ็บอาจถามหาตามมา และก็คงจะไม่คุ้มกับความเสียดายเงินของราคาบุฟเฟ่ที่เราพยายามกินให้คุ้มแล้วก็เป็นได้

 

9.ชอบกินมื้อดึก

ใครที่ชอบนอนดึกไม่ว่าจะวัยเรียนหรือทำงาน เมื่อถึงเวลานอนก็จะไม่นอนกันไม่ว่าจะมีงานค้างหรืองานด่วนที่ต้องรีบทำให้เสร็จ ดึกๆไปก็คงจะรู้สึกหิวและก็หาอะไรกินแก้หิว อย่าลืมนะคะว่าร่างกายมีช่วงเวลาของมันเวลากลางคืนก็คือเวลาที่ควรพักผ่อนร่างกายของเราให้เต็มที่ แต่เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ให้พลังงานสูงมากที่สุด เวลากลางคืนกลางดึกนี้เราไม่ได้มีการเคลื่อนไหวร่างกายอะไร ถ้าเรากินอาหารที่ให้พลังงานสูงเข้าไปก็จะกลายเป็นไขมันสะสมที่ก่อให้เกิดความอ้วนและเสียสุขภาพไปโดยเปล่าประโยชน์นั่นเองค่ะ

 

10.กินจุบกินจิบ

การกินแบบไม่หยุดอยู่ตลอดเวลาชนิดที่ว่างเป็นไม่ได้ ต้องหาอะไรมาเข้าปากสักหน่อยไม่เว้นช่องว่างให้หยุดพัก ในปากต้องมีของกินอยู่เสมอเวลาเรียนหรือทำงานก็แอบซื้อขนมขบเคี้ยวมาแอบไว้ในกระเป๋า หยิบมากินเพลินๆ ไม่อย่างนั้นจะรู้สึกว่างเหงาปาก ถ้าไม่ได้กินจะเหมือนว่าขาดอะไรไป นิสัยนี้ทำไปนานๆก็จะเกิดเป็นความเคยชินที่ไม่ดี ถ้ายังไม่หยุดก็อ้วนแน่นอนค่ะ

 

11.ให้รางวัลตัวเองด้วยการกิน

ในสังคมส่วนใหญ่ไม่ว่าจะดีใจ ฉลอง ปาร์ตี้ อะไรก็คงไม่พ้นการเลือกการกินเป็นการปลอบใจให้รางวัลแก่ตนเอง และการที่เราให้รางวัลกับตัวเองด้วยการกินถือเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่ออกกำลังกายแล้วให้รางวัลของการออกกำลังกายมาอย่างหนักทั้งอาทิตย์ต้องมาพังลงจากการกินที่คิดว่ากินนิดหน่อยเอง สุดท้ายก็จะได้น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นเป็นสิ่งตอบแทนค่ะ

 

12.ชอบเข้าร้านสะดวกซื้อ

การเดินเข้าร้านสะดวกซื้อเป็นประจำทุกวันถือว่าติดเป็นนิสัยของการใช้ชีวิตประจำวันไปแล้ว ด้วยความที่สะดวกและเคยชินจะออกจากบ้านหรือเวลาจะเข้าบ้านเป็นต้องแวะ พอแวะแล้วก็ต้องซื้ออย่างน้อยก็ต้องเป็นลูกอม ช็อคโกแลต ไอศครีมบ้างแหละ ถ้ายังทำตามใจไม่แก้นิสัยนี้ก็คงยากที่จะควบคุมน้ำหนัก

 

13.ชอบตบท้ายด้วยของหวาน

ส่วนใหญ่แล้วในคนที่คิดว่าเมื่อรับประทานของคาวแล้วต้องล้างปากด้วยของหวานอยู่เสมอซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดพลาดค่ะ ถ้าในคนที่ดูแลสุขภาพร่างกายตัวเองเป็นอย่างดีก็ไม่ว่ากันค่ะ แต่ถ้าอยู่ในช่วงที่ควบคุมน้ำหนักอยู่แล้วมีนิสัยชอบกินของหวานตบท้ายนี้แล้วรีบเปลี่ยนเลยค่ะเดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน

 

14.ไม่ชอบดื่มน้ำ

มีหลายคนเลยค่ะที่ไม่ชอบดื่มน้ำเปล่า การดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอต่อร่างกายนั้นเป็นสิ่งสำคัญต่อระบบต่างๆของร่างกาย นอกจากจะช่วยในเรื่องการขับของเสียออกจากร่างกายแล้วยังทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล มิหนำซ้ำยังช่วยระบบย่อยให้ทำงานเป็นปกติดีอีกด้วยค่ะ

 

15.ไม่ชอบเคลื่อนไหวร่างกาย

ไม่ว่าจะด้วยหน้าที่การงานที่ทำให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยเช่น นั่งแต่เก้าอี้ หรือคนที่ชอบแต่นั่งๆ นอนๆ ไม่ชอบออกกำลังกายแบบนี้ยิ่งจะทำให้เราอ้วนด้วยไม่รู้ตัว อย่างน้อยก็ควรมีการเคลื่อนไหวของร่างกายระหว่างวันบ้าง แทนที่จะขึ้นลิฟเปลี่ยนมาเดินขึ้นบันไดหรือมีการออกกำลังกายแบบเบาๆบ้าง เช่น โยคะ เต้นแอโรบิค เพื่อเผาผลาญพลังงานที่เราได้รับเข้ามาหรือส่วนที่สะสมให้เบิร์นออกไปบ้าง ถ้ามัวแต่รับเข้ามาแล้วไม่เอาออกบ้างก็คงลำบากที่จะควบคุมน้ำหนักให้ได้อย่างใจหวัง

 

www.flickr.com/photos/cc_photoshare/10728238955/

www.flickr.com/photos/daniellehelm/4454701044/

 

L-Carnitine คืออะไรและมีประโยชน์อย่างไร

steak-beef-1
Source: Flickr (click image for link)

สมัยนี้มีอาหารเสริมมากมายหลายชนิดเต็มไปหมด บางตัวก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร ช่วยเรื่องอะไรบ้าง บางทีก็อยากจะรู้อยากลองอยากที่จะกินดูบ้างแต่มันก็ยังไม่แน่ใจและยังคงลังเล ฟังคนนู้นทีคนนี้ทีบอกว่าตัวนี้ดีอย่างนั้นอย่างนี้ วันนี้ทาง HealthGossip เลยอยากจะยกอาหารเสริมตัวหนึ่งมาบอกเล่ากันเพื่อให้เรารู้จักและเข้าใจความหมายกันมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มของคนที่อยากลดน้ำหนักหรือลดความอ้วน อาหารเสริมตัวนี้ถือว่าเป็นตัวหลักที่เลือกรับประทานกันเลยทีเดียว ซึ่งเห็นบอกว่าช่วยลดความอ้วนได้ แต่จะลดได้ยังไงนั้น ก่อนอื่นเรามารู้จักทำความเข้าใจความหมายของอาหารเสริมตัวนี้กันก่อนเลยค่ะ ซึ่งอาหารเสริมตัวนี้มักคุ้นหูกันในชื่อที่เรียกกันว่า “แอลคาร์นิทีน” โดยที่ คาร์นิทีน เป็นสารประกอบจตุรภูมิของแอมโมเนียมที่สังเคราะห์ได้จากกรดอะมิโนสองชนิดคือ ไลซีนและเมธไทโอนีน ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตคาร์นิทีนจะลำเลียงกรดไขมันจากไซโตซอลเข้าสู่ไมโทคอนเดรียระหว่างการสลายของลิพิด (ไขมัน) เพื่อใช้ในการเผาผลาญพลังงาน คาร์นิทีนถูกใช้เป็นอาหารเสริมกันอย่างกว้างขวาง เดิมคาร์นิทีนพบว่าเป็นปัจจัยในการเจริญเติบโตของหนอนนกและมีอยู่บนฉลากวิตามินบี คาร์นิทีนมีอยู่ 2 stereoisomers : Active form คือ L-carnitine ขณะที่ inactive form คือ D-carnitine

แอลคาร์นิทีน (L-Carnitine) เป็นชื่อของสารตัวหนึ่ง ที่ถูกสร้างขึ้นในร่างกายของเราเอง โดยสร้างขึ้นมาจากกรดอะมิโน 2 ตัว คือ ไลซีน (lysine) และเมไทโอนีน (methionine) และ ถูกใช้ไปในหน้าที่ต่างๆ หลายอย่าง เช่น เข้าไปช่วยเพิ่มกระบวนการในการดึงไขมันไปใช้ โดยการขนส่งกรดไขมัน (fatty acid) เข้าไปในศูนย์กลางของการสร้างพลังงานของเซลล์ หรือจะพูดง่ายๆ ก็คือ แอล-คาร์นิทีนช่วยให้ร่างกายเปลี่ยนกรดไขมันไปเป็นพลังงานนั่นเอง ซึ่งพลังงานที่ได้มาส่วนใหญ่ก็จะถูกใช้สำหรับการทำงานของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย และเพราะกระบวนการพื้นฐานดังกล่าวของสารชนิดนี้ จึงทำให้สื่อโฆษณานำมาใช้เป็นประเด็นหลักในการสร้างโฆษณาเพื่อให้เห็นว่า “เมื่อกินแอล-คาร์นิทีน แล้วร่างกายเหมือนจะได้ทำงานดึงไขมันไปใช้ตลอดเวลา แม้แต่ในยามหลับ” L-Carnitine ทำหน้าที่สำคัญในระบบเมตาบอลิซึมเพื่อสร้างพลังงาน โดยผ่านกระบวนการเผาผลาญกรดไขมันที่เรียกว่า Beta-oxidation ซึ่งเกิดภายในไมโตคอนเดรีย (Mitochondria) ของเซลล์ต่างๆ รวมไปถึงเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจและกล้ามเนื้อลาย โดยปกติ L-Carnitine จะเปลี่ยนไปอยู่ในรูปของ Acyl-Carnitine ทำหน้าที่ขนส่งกรดไขมันสายยาวเพื่อนำไปเผาผลาญภายในไมโตคอนเดรียแล้วจึงเปลี่ยนกลับมาเป็น L-Carnitine เหมือนเดิม ดังนั้นเราจึงอาจกล่าวได้ว่า L-Carnitine มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อวัฏจักรของการสลายกรดไขมันในร่างกาย ขณะเดียวกันการขาด L-Carnitine นอกจากจะมีผลเสียต่อเมตาบอลิซึมของกรดไขมันแล้วยังอาจทำให้เกิดความผิดปกติต่อกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งในปัจจุบันมีการศึกษาที่พบว่าการให้ L-Carnitine สามารถลดอัตราการตายของกล้ามเนื้อหัวใจ (All- cause mortality, 27%) ลดภาวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ (Ventricular arrhythmias, 65%) และลดการปวดเค้นของกล้ามเนื้อหัวใจ (Angina, 40%) แต่ไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการลดอุบัติการการเกิดโรคหัวใจวาย (Heart failure)

แหล่งของคาร์นิทีน จะพบมากในเนื้อแดงและผลิตภัณฑ์จากนม คาร์นิทีนจากแหล่งธรรมชาติอื่นๆ ประกอบด้วยถั่วและเมล็ดพืช (เช่น ฟักทอง ทานตะวัน งา) พืชตระกูลถั่วหรือเมล็ดถั่ว (ถั่วเหลือง, ถั่วเขียว, ถั่วแขก, ถั่วลิสง) ผัก (อาร์ติโชค, หน่อไม้ฝรั่ง, หัวผักกาดเขียว, บร็อคโคลี่, กะหล่ำดาว, ผักคอลลาร์ด, กระเทียม, ผักกาดเขียวปลี, กระเจี๊ยบมอญ, พาสลี่ย์, คะน้า) ผลไม้ (แอปปริคอท, กล้วย) ธัญพืช (บัควีท(buckwheat), ข้าวโพด, ลูกเดือย, ข้าวโอ๊ต, รำข้าว, ข้าวไรย์, ข้าวสาลี, รำข้าวสาลี, จมูกข้าวสาลี) และอื่นๆที่เป็นอาหารสุขภาพ (ละอองเกสรดอกไม้, ยีสต์ที่ใช้หมักสุรา, carob)การดูดซึมคาร์นิทีนของร่างกาย การดูดซึมของแอล-คาร์นิทีนจะเกิดขึ้นในลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ ส่วนแพทย์สามารถให้คาร์นิทีนกับผู้ป่วยได้ทั้งทางเส้นเลือดและโดยการกิน

 

L-Carnitine กับการควบคุมหรือลดน้ำหนัก

ในปัจจุบันมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากมายต่างระบุตรงกันว่าการใช้ L-Carnitine ช่วยส่งเสริมเมตาบอลิซึมของกรดไขมันตามกลไกที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยเฉพาะเมื่อเรามีการออกกำลังกายชนิดแอโรบิกร่วมด้วย นั่นเป็นเพราะว่าการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอหรือแอโรบิก (Aerobic exercise) จะทำให้เซลล์สลายกรดไขมันไปเป็น ATP ซึ่งเป็นสารให้พลังงานหลักของเซลล์อย่างต่อเนื่อง หากเราออกกำลังกายติดต่อกันอย่างน้อย 30 นาที ดังนั้นหากเราต้องการควบคุมน้ำหนักจากการลดไขมันสะสม การใช้ L-Carnitine ร่วมกับการออกกำลังกายก็ย่อมจะช่วยให้เราสามารถควบคุมน้ำหนักตัวได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยนั่นเอง การรับประทาน L-Carnitine ร่วมกับกลุ่มวิตามินพื้นฐานอย่างวิตามินบีรวม (Vitamin B-Complex) นอกจากจะช่วยควบคุมเมตาบอลิซึมของร่างกายให้เป็นปกติแล้ว วิตามินบีรวมยังเป็นโคเอนไซม์หลักในปฏิกริยาการเผาผลาญสารอาหารในร่างกายให้เป็นพลังงานอีกด้วย

เมื่อมนุษย์เริ่มแก่ตัวลงนั้น ความเข้มข้นของคาร์นิทีนก็จะลดลงไปดวย ซึ่งมีผลต่อการเผาผลาญกรดไขมันในเนื้อเยื่อต่างๆ โดยเฉพาะจะเกิดผลกระทบต่อกระดูก จึงจำเป็นที่จะต้องมีการสร้างใหม่อย่างต่อเนื่อง และเซลล์สร้างกระดูกจะทำหน้าที่เผาผลาญเพื่อซ่อมแซมมวลกระดูก ทั้งนี้ การเปลี่ยนระดับพลาสมาของเซลล์สร้างกระดูกกับการทำงานของเซลล์สร้างกระดูกมีความเกี่ยวข้องกันอย่างมาก โดยการลดระดับพลาสมาในเซลล์สร้างกระดูกจะเป็นตัวชี้วัดในการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก ซึ่งปรากฏในโรคกระดูกพรุนของผู้สูงอายุและวัยหมดประจำเดือนในผู้หญิง ซึ่งในการทดลอง การใช้คาร์นิทีนผสม หรือ propionyl-L-carnitine นั้น สามารถเพิ่มความเข้มข้นของ serum osteocalcin ในสัตว์ที่ทดลอง แต่ถ้าว่าระดับ serum osteocalcin มีแนวโน้มทำให้อายุของสัตว์ที่ทดลองนั้นสั้นลงด้วยค่ะ

 

ปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน โดยทั่วไป 20 ถึง 200 มิลลิกรัมคือปริมาณของคาร์นิทีนที่ควรได้รับต่อวัน ด้วยเหตุนี้ผู้ที่เคร่งครัดในการทานมังสวิรัติจะรับประทานเพียง 1 มิลลิกรัมต่อวัน ไม่มีประโยชน์เกิดขึ้นถ้ารับประทานคาร์นิทีนมากกว่า 2 กรัมภายในครั้งเดียว เพราะว่าร่างกายสามารถดูดซึมได้สูงสุดได้เพียง 2 กรัม

 

www.flickr.com/photos/stephen_bolen/6142919686/