Browse Tag: fat

15 นิสัยและพฤติกรรมแย่ๆ ที่ทำให้อ้วน

eating-cake-1
Source: Flickr (click image for link)

สำหรับคนที่กำลังจะอ้วนหรืออ้วนไปแล้วและกำลังควบคุมน้ำหนักอยู่ บางคนอาจจะยังไม่ทราบหรือไม่รู้ตัวเองว่านิสัยการกินหรือพฤติกรรมที่คุณนั้นชอบทำอยู่เป็นประจำนั้น อาจจะเป็นส่วนที่ทำให้คุณไม่สามารถควบคุมน้ำหนักได้เท่าที่ควรจะเป็น ถึงแม้ว่าคุณจะบอกว่าได้พยายามควบคุมอาหารอย่างที่สุดแล้วนะ แต่ทำไมน้ำหนักไม่ลดลงเลยล่ะ เอาล่ะก่อนอื่นเลยเราลองกลับมาย้อนมองดูตัวเองกันก่อนไหมว่านิสัยและพฤติกรรมเหล่านี้ตรงกับที่คุณทำและเป็นอยู่หรือไม่ และถ้าใช่ก็ควรหยุดเสียนั่นอาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมการควบคุมน้ำหนักของคุณที่ทำมาอย่างมุ่งมั่นจึงไม่ประสบผลสำเร็จสักที การควบคุมน้ำหนักหรือการลดน้ำหนักมันไม่ง่ายและรวดเร็วเหมือนตอนที่เรากินแล้วน้ำหนักขึ้นพรวดๆ โดยไม่บอกไม่กล่าวหรือคำนึงถึงลิมิตที่คุณวางไว้หรอกนะ ถ้าคุณอยากจะให้มันสำเร็จไปได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้วล่ะก็ ถึงเวลาที่เราต้องหันมาปรับนิสัยและเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้กันค่ะ

 

15 นิสัยและพฤติกรรมแย่ๆ ที่ทำให้อ้วน

eating-foods-1
Source: Flickr (click image for link)

1.ขี้เสียดาย

หลายคนมีนิสัยขี้เสียดายของโดยเฉพาะกับอาหารการกิน นั่นอาจเป็นเรื่องดีค่ะถ้าในสำหรับคนที่ไม่ได้ต้องการควบคุมน้ำหนักนะคะ แต่ถ้าเราต้องการควบคุมน้ำหนักแล้วก็ควรอย่าไปเสียดายอาหารที่เราทานไม่หมด เมื่ออิ่มแล้วก็ควรพอไม่ควรทานต่อเพื่อให้มันไปขยายกระเพาะของเราเปล่าๆ นอกจากนั้นยังไปเป็นของเหลือที่ร่างกายเราไม่ได้เอาไปใช้ประโยชน์อะไรต่อ แถมยังมาใจดีเก็บสะสมของเหลือเหล่านั้นให้ไว้ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายอีกแน่ะ แล้วก็มาทำให้เราหงุดหงิดรำคาญใจว่าทำไมมีพุง ทำไมขาใหญ่ แขนใหญ่ เห้อออ เลิกเหอะ

 

2.ตามใจปาก

การตามใจปากคือการที่กินเพราะความอยากจากความต้องการและอารมณ์ของเราล้วนๆ ไม่ใช่เพราะความหิวหรืออย่างใด แค่อยากจะกินอ่ะ นู่นก็จะเอานี่ก็จะกิน กินไม่หยุดกินได้เรื่อยๆ กินแบบไม่มีท่าทีว่าจะพอ โหยยแม่คุณกินแบบนี้นี่ไง กินไม่ปรึกษาตัวเลขที่ขึ้นเอาพรวดๆบนตาชั่งเลย แล้วยังมาร้องว่าทำไมน้ำหนักไม่ลดซักที อ้วนได้ไงเนี่ย เออคิดได้เนอะ

 

3.การกินเร็ว

การกินเร็วรวมถึงการที่ยังไม่ทันได้เคี้ยวก็รีบกลืน การกินเร็วแบบนี้จะทำให้เราเพลินและกินได้มากขึ้น แต่ทราบหรือไม่ว่าการที่เรากินเร็วแบบที่ยังไม่ได้ทันได้ใช้เวลาในการเคี้ยวให้ละเอียดแล้วกลืนนั้น จะทำให้เราไม่รู้สึกอิ่มและนั่นอาจจะทำให้เราทานมากกว่าปกติเพราะการกินเร็วนั้นทำให้กระเพาะยังไม่ทันรู้สึกว่าได้รับอาหารจึงทำให้เรารู้สึกว่ายังกินได้อีก เพราะอย่างนี้การกินแบบค่อยๆ เคี้ยวให้ละเอียดจะทำให้อาหารย่อยง่าย และยังทำให้ได้รับปริมาณอาหารที่เพียงพอต่อความหิวอีกทั้งยังช่วยให้ได้รับรสชาติของอาหารมากขึ้นด้วยค่ะ

 

4.กลัวน้ำหนักตัวเอง

หลายคนกลัวการชั่งน้ำหนักของตัวเองโดยเฉพาะอยู่ในช่วงที่คิดว่าตัวเองรู้สึกว่าอ้วนขึ้นกลัวที่จะเห็นตัวเลขบนตาชั่งแล้วรับไม่ได้ อยากจะบอกว่าการทราบน้ำหนักตัวเองอยู่ทุกวันเป็นเรื่องดีนะคะอย่าได้กลัวไปเลย เพราะจะทำให้เราทราบน้ำหนักของตัวเราเองว่าเพิ่มขึ้น ลดลง หรือคงที่แล้ว เพื่อเตือนให้เรารู้ตัวและสามารถควบคุมน้ำหนักได้ค่ะ

 

5.ดูโทรทัศน์หรือเล่นโทรศัพท์ระหว่างการกิน

เชื่อว่าหลายๆคนคงเป็นกันค่ะ การที่เราทำกิจกรรมจำพวกดูโทรทัศน์ เล่นโทรศัพท์มือถือ รวมถึงการอ่านหนังสือ ทราบหรือไหมว่าการทำพฤติกรรมเหล่านี้ระหว่างการรับประทานอาหารจะทำให้เราทานมากขึ้นถึง 50% และยังทำให้เรารับประทานอาหารมื้อถัดไปเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย นั่นก็เป็นเพราะว่าเรามัวแต่ต้องโทรทัศน์หรือเล่นโทรศัพท์อยู่ จึงทำให้จิตใจของเราไม่ได้จดจ่ออยู่กับอาหารที่เรากำลังรับประทานเราเลยไม่รู้สึกว่าอิ่มสักที รู้อย่างนี้ก็ควรต้องถึงเวลาปรับเปลี่ยนนิสัยนี้เสียทีนะ

 

6.งดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง

การรับประทานอาหารที่ถูกต้องคือการรับประทานอาหารให้ครบสามมื้อไม่ควรข้ามหรืองดมื้อใดมื้อหนึ่ง โดยเฉพาะมื้อเช้าที่หลายคนตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจงดแต่ไม่ควรจะทำค่ะ การที่เราไม่ทานมื้อเช้าที่เป็นมื้อเริ่มต้นของวันและเป็นมื้อที่สำคัญต่อสุขภาพของเราที่ร่างกายควรจะได้รับแล้วแต่เมื่อเรางดไป จะไปทำให้เราหิวและไปหนักในมื้ออื่นโดยเฉพาะมื้อเย็นที่เราจะไปจัดหนักจัดเต็มกันเลยทีเดียว แต่กลับกันมื้อเย็นหลายคนคงเข้าใจว่าควรงดซึ่งนั่นก็ไม่ถูกต้อง แค่มื้อเย็นควรทานให้เบากว่ามื้ออื่นๆ และไม่ควรดึกจนเกินไปต่างหากล่ะ

 

7.กินแก้เครียด

เวลาที่มีเรื่องเครียดหรืออาการกลุ้มอกกลุ้มใจ การกินถือเป็นสิ่งตอบโจทย์ของใครหลายๆ คน บางทีก็กินแก้เครียดโดยไม่รู้ตัว ในช่วงที่เราควบคุมน้ำหนักอยู่นี้อยากให้หาวิธีหรือกิจกรรมอย่างอื่นในการแก้เครียดที่ไม่ใช่การกินค่ะ ความจริงแล้วถ้าเปลี่ยนมาเลือกรับประทานจำพวกผักสลัดสดหรือผลไม้สดน่าจะดีกว่านะ

 

8.กินให้คุ้มแบบจัดเต็ม

การกินประเภทนี้จะมีอยู่ในคนที่ชอบอาหารประเภทบุฟเฟ่ กินแบบไม่อั้นจัดเต็มให้คุ้มกับเงินที่เสียไป ถึงแม้ว่าเราจะกินอิ่มแล้วก็ตามแต่ก็ไม่สามารถรู้ตัวได้ว่าเราควรที่จะพอและควรจะหยุดกิน ด้วยความที่คิดว่ายังไม่คุ้มก็เอาอีก ตักอีก กินอีก นอกจากน้ำหนักที่ขึ้นแบบไม่รู้ตัวแล้วโรคภัยไข้เจ็บอาจถามหาตามมา และก็คงจะไม่คุ้มกับความเสียดายเงินของราคาบุฟเฟ่ที่เราพยายามกินให้คุ้มแล้วก็เป็นได้

 

9.ชอบกินมื้อดึก

ใครที่ชอบนอนดึกไม่ว่าจะวัยเรียนหรือทำงาน เมื่อถึงเวลานอนก็จะไม่นอนกันไม่ว่าจะมีงานค้างหรืองานด่วนที่ต้องรีบทำให้เสร็จ ดึกๆไปก็คงจะรู้สึกหิวและก็หาอะไรกินแก้หิว อย่าลืมนะคะว่าร่างกายมีช่วงเวลาของมันเวลากลางคืนก็คือเวลาที่ควรพักผ่อนร่างกายของเราให้เต็มที่ แต่เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ให้พลังงานสูงมากที่สุด เวลากลางคืนกลางดึกนี้เราไม่ได้มีการเคลื่อนไหวร่างกายอะไร ถ้าเรากินอาหารที่ให้พลังงานสูงเข้าไปก็จะกลายเป็นไขมันสะสมที่ก่อให้เกิดความอ้วนและเสียสุขภาพไปโดยเปล่าประโยชน์นั่นเองค่ะ

 

10.กินจุบกินจิบ

การกินแบบไม่หยุดอยู่ตลอดเวลาชนิดที่ว่างเป็นไม่ได้ ต้องหาอะไรมาเข้าปากสักหน่อยไม่เว้นช่องว่างให้หยุดพัก ในปากต้องมีของกินอยู่เสมอเวลาเรียนหรือทำงานก็แอบซื้อขนมขบเคี้ยวมาแอบไว้ในกระเป๋า หยิบมากินเพลินๆ ไม่อย่างนั้นจะรู้สึกว่างเหงาปาก ถ้าไม่ได้กินจะเหมือนว่าขาดอะไรไป นิสัยนี้ทำไปนานๆก็จะเกิดเป็นความเคยชินที่ไม่ดี ถ้ายังไม่หยุดก็อ้วนแน่นอนค่ะ

 

11.ให้รางวัลตัวเองด้วยการกิน

ในสังคมส่วนใหญ่ไม่ว่าจะดีใจ ฉลอง ปาร์ตี้ อะไรก็คงไม่พ้นการเลือกการกินเป็นการปลอบใจให้รางวัลแก่ตนเอง และการที่เราให้รางวัลกับตัวเองด้วยการกินถือเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่ออกกำลังกายแล้วให้รางวัลของการออกกำลังกายมาอย่างหนักทั้งอาทิตย์ต้องมาพังลงจากการกินที่คิดว่ากินนิดหน่อยเอง สุดท้ายก็จะได้น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นเป็นสิ่งตอบแทนค่ะ

 

12.ชอบเข้าร้านสะดวกซื้อ

การเดินเข้าร้านสะดวกซื้อเป็นประจำทุกวันถือว่าติดเป็นนิสัยของการใช้ชีวิตประจำวันไปแล้ว ด้วยความที่สะดวกและเคยชินจะออกจากบ้านหรือเวลาจะเข้าบ้านเป็นต้องแวะ พอแวะแล้วก็ต้องซื้ออย่างน้อยก็ต้องเป็นลูกอม ช็อคโกแลต ไอศครีมบ้างแหละ ถ้ายังทำตามใจไม่แก้นิสัยนี้ก็คงยากที่จะควบคุมน้ำหนัก

 

13.ชอบตบท้ายด้วยของหวาน

ส่วนใหญ่แล้วในคนที่คิดว่าเมื่อรับประทานของคาวแล้วต้องล้างปากด้วยของหวานอยู่เสมอซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดพลาดค่ะ ถ้าในคนที่ดูแลสุขภาพร่างกายตัวเองเป็นอย่างดีก็ไม่ว่ากันค่ะ แต่ถ้าอยู่ในช่วงที่ควบคุมน้ำหนักอยู่แล้วมีนิสัยชอบกินของหวานตบท้ายนี้แล้วรีบเปลี่ยนเลยค่ะเดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน

 

14.ไม่ชอบดื่มน้ำ

มีหลายคนเลยค่ะที่ไม่ชอบดื่มน้ำเปล่า การดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอต่อร่างกายนั้นเป็นสิ่งสำคัญต่อระบบต่างๆของร่างกาย นอกจากจะช่วยในเรื่องการขับของเสียออกจากร่างกายแล้วยังทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล มิหนำซ้ำยังช่วยระบบย่อยให้ทำงานเป็นปกติดีอีกด้วยค่ะ

 

15.ไม่ชอบเคลื่อนไหวร่างกาย

ไม่ว่าจะด้วยหน้าที่การงานที่ทำให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยเช่น นั่งแต่เก้าอี้ หรือคนที่ชอบแต่นั่งๆ นอนๆ ไม่ชอบออกกำลังกายแบบนี้ยิ่งจะทำให้เราอ้วนด้วยไม่รู้ตัว อย่างน้อยก็ควรมีการเคลื่อนไหวของร่างกายระหว่างวันบ้าง แทนที่จะขึ้นลิฟเปลี่ยนมาเดินขึ้นบันไดหรือมีการออกกำลังกายแบบเบาๆบ้าง เช่น โยคะ เต้นแอโรบิค เพื่อเผาผลาญพลังงานที่เราได้รับเข้ามาหรือส่วนที่สะสมให้เบิร์นออกไปบ้าง ถ้ามัวแต่รับเข้ามาแล้วไม่เอาออกบ้างก็คงลำบากที่จะควบคุมน้ำหนักให้ได้อย่างใจหวัง

 

www.flickr.com/photos/cc_photoshare/10728238955/

www.flickr.com/photos/daniellehelm/4454701044/

 

7 คุณประโยชน์จากคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน

whole-wheat-bread-1
Source: Flickr (click image for link)

‘’คาร์โบไฮเดรตชนิดที่ดี’’ มีด้วยหรอ? หลายคนที่กำลังอยู่ในช่วงควบคุมน้ำหนักก็คงจะทราบกันดีว่าตัวการที่ทำให้เรามีสัดส่วนเกินนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตนั่นเอง โดยเฉพาะในสาวๆ คงจะทำใจยากซักหน่อยที่จะต้องจำกัดหรือหลีกเลี่ยงอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เนื่องจากอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเปรียบเสมือนอาหารหลักของเราเลยทีเดียว ไหนจะข้าว ขนมหวาน เครื่องดื่มชา กาแฟปั่นทั้งหลายมันช่างหอมหวานยั่วยวนใจเราเหลือเกิน การควบคุมปริมาณคาร์โบไฮเดรตเป็นสิ่งที่ดีค่ะ แต่จะให้ไม่รับประทานเลยก็ไม่ได้เนื่องจากคาร์โบไฮเดรตนั้นเป็นสารอาหารหลักที่ให้พลังงานแก่ร่างกายของเราค่ะ เพราะฉะนั้นเราก็ควรที่จะเลือกรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตชนิดที่ดีให้แก่ร่างกายของเราดีกว่า ไม่เพียงแต่ช่วยในเรื่องของการควบคุมน้ำหนักเท่านั้นแต่ยังช่วยในเรื่องของสุขภาพของเราอีกด้วยค่ะ หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าคาร์โบไฮเดรตนั้นจำแนกออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ 2 กลุ่มค่ะ นั่นก็คือ กลุ่มคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว (Simple Carbohydrate) และ กลุ่มคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (Complex Carbohydrates) ดังนี้

  1. คาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว (Simple Carbohydrate) เป็นคาร์โบไฮดรตย่อยง่าย จำพวก แป้งขัดขาว ข้าวขาว ขนมปังขาว น้ำตาล รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ผ่านการแปรรูป โดยเมื่อเรารับประทานเข้าไปแล้วกระบวนการทำงานของคาร์โบไฮเดรตจะทำการเปลี่ยนเป็นน้ำตาลได้ง่ายและรวดเร็ว หรือเกือบจะทันทีที่เรารับประทานเข้าไป โดยจะไปเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดอย่างฉับพลัน ทำให้รู้สึกมีพลังงานขึ้นทันที อย่างไรก็ตามถ้าเกิดน้ำตาลที่เข้าสู่ร่างกายในรูปแบบของพลังงานมากเกินความจำเป็น พลังงานส่วนที่เหลือก็จะถูกจัดเก็บและแปรเปลี่ยนเป็นไขมันที่สะสมตามร่างกายของเราในที่สุด อีกทั้งถ้าระดับในเลือดสูงเกินไปก็จะไปทำให้ตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินออกมาเพื่อลดระดับน้ำตาลให้อยู่ในภาวะปกติซึ่งจะไปทำให้ตับอ่อนของเราทำงานหนักจนเกินไป และเมื่อถึงจุดที่ฮอร์โมนอินซูลินถูกผลิตออกมามากจนเกินไปจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างรวดเร็วและทำ ให้รู้สึกอ่อนเพลียมากกว่าเดิม หากเป็นมากอาจหน้ามืดเป็นลม ซึ่งเป็นกระบวนการที่นำไปสู่การเป็นโรคเบาหวาน นั่นก็คือการผลิตฮอร์โมนอินซูลินบกพร่องค่ะ
  2. คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (Complex Carbohydrates) เป็นคาร์โบไฮเดรตย่อยยาก ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตหรืออาหารประเภทแป้งที่ไม่ผ่านกระบวนการขัดสี หรือแทบไม่จะไม่ผ่านกรรมวิธีดัดแปลงใด ๆ มาเลย จำพวก แป้งไม่ขัดขาว ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังธัญพืช (โฮลวีต) เมล็ดพืช ธัญพืชเผือก มัน ข้าวโอ๊ต ถั่ว ผักสีเขียวและเหลือง มันหวาน และผักที่มีแป้งสูง ได้แก่ ผักหัวต่างๆ ผลไม้บางชนิด เนื่องจากเป็นคาร์โบไฮเดรตประเภทที่ไม่ผ่านการขัดสีใดๆ จึงคงคุณค่าสารอาหารไว้อย่างเต็มเปี่ยมจำพวก วิตามิน แร่ธาตุบางชนิดรวมถึงเส้นใยอาหาร ร่างกายจึงได้รับคุณประโยชน์จากแป้งชนิดนี้เข้าไปเต็มๆ โดยที่แทบไม่กระทบไปถึงระดับน้ำตาลในเลือด อีกทั้งร่างกายจะค่อยๆ ดูดซึมสารอาหารจากแป้งที่ไม่ผ่านการขัดสี และในกระบวนการเปลี่ยนจากแป้งเป็นน้ำตาลก็จะช้ากว่าแป้งขัดขาว ทำให้ร่างกายได้พลังงานต่อเนื่องยาวนานรวมทั้งระดับน้ำตาลในเลือดจะเพิ่มคงที่สม่ำเสมอทำให้มีพลังงานต่อเนื่อง ไม่หิวบ่อยค่ะ

 

 

7 ประโยชน์จากคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน

 

1.ช่วยในการขับถ่ายและป้องกันมะเร็งลำใส้

สำหรับคาร์โบไฮเดรตเซิงซ้อนหรืออาหารในกลุ่มแป้งชนิดที่ดี มักจะรู้จักกันในคำว่า “ใยอาหาร” พบอยู่มากในเยื่อหุ้มเมล็ดและพืชผัก จึงมีประโยชน์ช่วยในเรื่องของการขับถ่าย ช่วยขับถ่ายสารพิษในร่างกายผ่านของเสียได้มากขึ้น และด้วยคาร์โบไฮเดรตเซิงซ้อน เป็นกลุ่มแป้งที่ไม่ผ่านกระบวนการดัดแปลง, ขัดสี หรืออย่างน้อย ๆ ก็ควรผ่านกระบวนการเหล่านี้มาเบาที่สุด จึงทำให้ร่างกายทำการย่อยคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อที่จะได้ดูดซึมแร่ธาตุและวิตามินได้อย่างครบถ้วนที่สุดค่ะ

 

2.ทำให้อิ่มนาน ไม่หิวบ่อย

เนื่องด้วยกระบวนการเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลของคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนเกิดขึ้นช้า ดังนั้นจึงทำให้ร่างกายมีพลังงานต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเรารับประทานเข้าไปก็ก็จะทำให้อิ่มอยู่ท้องได้นาน ทำให้ไม่รู้สึกหิวบ่อย อีกทั้งยังให้พลังงานสูงในขณะที่ให้แคลอรี่น้อยด้วยค่ะ

 

3.ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่

คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนนั้นเมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะค่อยๆ ถูกย่อย คือร่างกายต้องใช้เวลาในการย่อยให้เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวก่อนที่จะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายที่ผนังเซลล์ลำไส้เล็กและเข้าสู่กระแสเลือดต่อไป เนื่องจากในแป้งไม่ขัดขาวยังมีคุณค่าอย่างอื่นอีกเช่นวิตามิน แร่ธาตุบางชนิดรวมถึงเส้นใยอาหาร ดังนั้นร่างกายจึงค่อยๆ ดูดซึมสารอาหารจากแป้งที่ไม่ผ่านการขัดสี ในกระบวนการเปลี่ยนจากแป้งเป็นน้ำตาลจึงช้ากว่าแป้งขัดขาว ทำให้ร่างกายได้พลังงานต่อเนื่องยาวนาน และระดับน้ำตาลในเลือดจะเพิ่มคงที่สม่ำเสมอค่ะ

                                                                                                                       

4.ช่วยป้องกันการเกิดโรคเรื้อรัง

เนื่องจากในในคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนนี้อุดมไปด้วยวิตามินจากธรรมชาติ, เกลือแร่, เอนไซม์, และไฟโตนิวเทรียนท์ชนิดต่าง ๆ ซึ่งจะไปช่วยป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังและบำรุงสุขภาพร่างกายให้ฟิตเฟิร์มได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ

 

5.ให้แคลอรี่ต่ำเหมาะกับคนที่ควบคุมน้ำหนัก

ด้วยค่าความหนาแน่นของพลังงานในอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (ยกเว้นถั่วและธัญพืช) จะค่อนข้างต่ำ ถึงแม้ว่าเราจะรับประทานเข้าไปเยอะแต่ก็ยังให้พลังงานแคลอรี่กับร่างกายน้อย อีกทั้งยังอิ่มและอยู่ท้องมากกว่า ไม่เหมือนอาหารที่มีความหนาแน่นของพลังงานสูง เช่น ของหวานหรือน้ำหวานต่าง ๆ ที่กินยังไม่ทันอิ่มก็ให้แคลอรี่ที่สูงและยังทำให้อยากกินเพิ่มอีกเรื่อยๆ เพราะเหตุนี้อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน จึงเป็นเหมาะกับคนที่กำลังลดน้ำหนักหรือควบคุมอาหารอยู่แต่ยังอยากที่จะเลือกทานอาหารพวกข้าว แป้งบ้าง

 

6.ช่วยลดคอเลสเตอรอล

คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนมี “เส้นใยอาหาร” อยู่สูง พบมากในเยื่อหุ้มเมล็ดและพืชผัก อาหารในกลุ่มนี้นอกจากให้พลังงานกับร่างกายน้อยแล้ว ใยอาหารบางชนิดที่สามารถละลายในน้ำได้เกิดเป็นเจล ก็จะช่วยทำให้อาหารที่รับประทานพร้อมกันนั้นถูกย่อยช้าลง และลดการดูดซึมของน้ำตาล คอเลสเตอรอลที่เข้าสู่ร่างกายด้วยค่ะ

 

7.ช่วยระบบการเผาผลาญในร่างกาย

คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนจะไปช่วยกระตุ้นกระบวนการเมตาบอลิซึมในร่างกายให้ทำงานเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้นบรรดาไขมันส่วนเกินก็จะถูกเบิร์นออกไปอย่างง่ายดายค่ะ

 

 

www.flickr.com/photos/eltpics/9138316252/

ไขมัน คืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร

oil-1
Source: Flickr (click image for link)

ไขมัน (Fat) คือ สารประกอบหลายชนิดซึ่งมีลักษณะร่วมกันคือ ละลายได้ในตัวทำละลายอินทรีย์แต่ไม่ละลายน้ำ คำว่าไขมัน (fat) ทางเคมีอาหาร นั้นหมายถึง ลิพิด (lipid) ประเภทไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) ที่มีสถานะเป็นของแข็งที่อุณหภูมิห้องขณะที่ น้ำมัน (oil) เป็นไตรกลีเซอไรด์ที่เป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง คำว่าไขมัน (fat) และน้ำมัน (oil) มักใช้แทนกันหรือใช้คู่กัน โดยทั่วไป “น้ำมัน” ใช้กับไขมันที่เป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง “ไขมัน” หมายถึง ไขมันที่เป็นของแข็งที่อุณหภูมิห้อง “ลิพิด” หมายรวมไขมันทั้งที่เป็นของเหลวและของแข็งตลอดจนสสารที่เกี่ยวข้องอื่น ซึ่งโดยปกติใช้ในบริบททางการแพทย์หรือชีวเคมี ดังนั้น กรดไขมัน (fatty acid) ที่เป็นองค์ประกอบในโมเลกุลของไตรกลีเซอไรด์ในไขมัน (fat) จึงเป็นกรดไขมันที่มีจุดหลอมเหลวสูงกว่าอุณหภูมิห้อง ได้แก่ กรดไขมันอิ่มตัว (saturated fatty acid) ขณะที่น้ำมัน (oil) มีองค์ประกอบหลักคือ กรดไขมันไม่อิ่มตัว (unsaturated fatty acid) ซึ่งมีจุดหลอมเหลวต่ำค่ะ ส่วนไขมันในทางโภชนาการนั้นหมายถึงสารอาหาร (nutrient) ที่ให้พลังงาน และก็มีส่วนประกอบหลักคือไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) โดยไขมัน 1 กรัม ให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี (Kcalorie) ในขณะที่โปรตีนและคาร์โบไฮเดรตให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี ค่ะ

ไขมัน (fat) ที่ใช้ในอาหาร ได้แก่ ไขมันจากสัตว์ รวมทั้งน้ำมันพืช (vegetable oil) ที่ผ่านกระบวนการ hydrogenation เพื่อทำให้มีสถานะเป็นของแข็ง ได้แก่ เนย (butter), เนยโกโก้ (cocoa butter) และเนยโกโก้เทียม (cocoa butter equivalent), ไขมันวัว (tallow), ไขมันหมู (lard), ไขมันจากไก่ (schmaltz), มาร์การีน (margarine) หรือ เนยขาว (shortening) เป็นต้น

 

เกี่ยวกับไขมัน (Fat)

อาหารที่เราบริโภคทุกวันนี้ มีสารอาหารที่เป็นประกอบที่สำคัญคือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรทและไขมัน ไขมัน (Lipids) เป็นสารอาหารที่ให้พลังงานมากที่สุดคือประมาณ 9 แคลอรี่ต่อ 1 กรัม ไขมันมีในอาหารทั่วไปทั้งในพืชและเนื้อสัตว์จะมากน้อยตามชนิดของอาหารแตกต่างกันไป ไขมันยังมีส่วนสำคัญในด้านเนื้อสัมผัส, กลิ่นรส, ความชุ่มเนื้อและรสชาติของอาหารอีกด้วย และเนื่องจากร่างกายของเราย่อยไขมันได้ช้ากว่าสารอาหารชนิดอื่น เช่น คาร์โบไฮเดรต ไขมันจึงทำให้เรารู้สึกอิ่ม หลังจากที่ได้รับอาหารเข้าไปในประมาณที่เพียงพอแล้ว

ไขมัน (LIPIDS) แบ่งตามวิทยาศาสตร์เคมีได้เป็นกลุ่มใหญ่ๆ คือ คอเลสเตอรอล (Cholesterol) ไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides)และฟอสโฟไลปิดส์ (Phospholipids) และอื่นๆ อีกที่ไม่ค่อยสำคัญมากแต่ที่เรามักจะได้ยินคุ้นหูจากแพทย์บ่อยๆ ก็คือคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งแพทย์จะบอกแก่คนไข้ว่า ตรวจไขมันในเลือดให้นั้นก็คือ การตรวจค่าของทั้งสองชนิดนั่นเอง

คอเลสเตอรอล (Cholesterol) คือ ไขมันชนิดหนึ่งที่จำเป็นต่อร่างกายเพื่อใช้ในการสร้างฮอร์โมน วิตามินอี และกรดน้ำดีซึ่งช่วยย่อยอาหาร ถ้าร่างกายมีคอเลสเตอรอลสูงเกินกว่าปกติ (มากกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร) ก็จะก่อให้เกิดผลเสียจากการที่คอเลสเตอรอลไปพอกตามผนังหลอดเลือดแดงทำให้เกิดโรคร้ายต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจวาย เป็นต้น เราจะพบคอเลสเตอรอลเฉพาะในสัตว์ และพบมากในอาหารที่มาจากเครื่องในสัตว์รวมทั้งไข่แดง

ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) คือ ไขมันและน้ำมันที่ได้จากพืชและสัตว์มีสารประกอบส่วนใหญ่เป็นไตรกลีเซอไรด์ นอกจากนี้ไตรกลีเซอไรด์ยังเกิดขึ้นได้จากกระบวนการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรท เช่น น้ำตาล ดังนั้นถ้าหากรับประทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรทในปริมาณที่มากเกินไปจะมีผลทำให้ไตรกลีเซอไรด์สูงขึ้นได้ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ค่าปกติของไตรกลีเซอไรด์ควรอยู่ระหว่าง 35-160 mg/dl

ฟอสโฟลิปิด (Phospholipid) เป็นไขมันที่มีคุณสมบัติละลายได้ทั้งในน้ำและไขมัน

เรามาทำความเข้าใจกับโครงสร้างอย่างง่ายๆ ของกรดไขมันกันก่อน คือกรดไขมันจะประกอบด้วยธาตุ คาร์บอน ไฮโดรเจนและออกซิเจน ซึ่งโมเลกุลของธาตุทั้งสามนี้ จะเกาะกันเป็นลูกโซ่มากน้อยตามแต่ละชนิด ซึ่งมีประมาณ 40 ชนิด

ไขมันสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

1.กรดไขมันอิ่มตัว (Saturated Fatty Acids) คือเป็นไขมันเต็มตัวแล้ว คือ ธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจนและออกซิเจนจับกันเป็นลูกโซ่โดยสมบูรณ์ และไม่มีช่องว่างเหลือที่จะทำปฏิกิริยากับสารใดๆ ในร่างกายได้ ดังนั้น ไขมันชนิดนี้จะอยู่ในรูปของแข็งในอุณหภูมิปกติ ไขมันจำพวกนี้จะพบมากใน ไขมันสัตว์ เช่น เนื้อหมู วัว และไขมันจากกะทิ มะพร้าว เนย ไข่แดงและอื่นๆไขมันสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

2.กรดไขมันไม่อิ่มตัว (Unsaturated Fatty Acids) คือไขมันที่ธาตุ คาร์บอน ไฮโดรเจนและออกซิเจนจับกันยังไม่สมบูรณ์ นั่นคือ ยังมีช่องว่างในลูกโซ่เหลืออยู่และพร้อมที่จะทำปฏิกิริยาและจับกับสารอื่นๆ ในร่างกายได้และพร้อมจะเปลี่ยนแปรสภาพเป็นสารอื่นๆ ได้ พบมากในน้ำมันปลาแซลมอน น้ำมันเมล็ดพันธุ์บอเรจ น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส น้ำมันจมูกข้าวสาลีและอื่นๆ ซี่งกรดไขมันไม่อิ่มตัวแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ

  • กรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว ไขมันชนิดนี้แทบไม่มีบทบาทอะไรกับปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือด เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา เป็นต้น
  • กรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง กรดไขมันชนิดนี้สำคัญต่อร่างกายมาก ช่วยในการทำงานของอวัยวะสำคัญในร่างกาย มีลักษณะเหลวแม้ในอุณหภูมิต่ำ ส่วนใหญ่ได้จากพืชและสัตว์น้ำบางชนิด เช่น น้ำมันทานตะวัน น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด

 

ประโยชน์ของไขมันที่มีต่อร่างกาย

 

ให้พลังงานแก่ร่างกาย ไขมันเป็นอาหารสำคัญที่มีความจำเป็นต่อร่างกายและเป็น 1 ในอาหาร 5 หมู่ที่มีประโยชน์ ทั้งไขมันในอาหารยังช่วยทำให้อาหารนุ่ม และยังช่วยให้ผู้บริโภครู้สึกอิ่มได้นาน เนื่องจากไขมันย่อยได้ช้ากว่าโปรตีนและคาร์โบไฮเดรต ไขมันให้พลังงานแก่ร่างกายได้มากกว่าสารอาหารชนิดอื่น ช่วยทำให้ร่างกายมีพลังงานที่จะทำงานและประกอบกิจวัตรประจำวัยได้ตามปกติ

 

ช่วยในการละลายและการดูดซึมวิตามิน ไขมันจะไปช่วยในการดูดซึมของวิตามินที่ละลายในไขมัน (Fat soluble Vitamins) เช่น วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกาย

 

ช่วยปกป้องและกันความร้อน รวมทั้งคอยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ โดยไขมันทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความร้อน(Thermal Insulator) ของเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังและอวัยวะที่อยู่ภายในร่างกาย ช่วยป้องกันการสูญเสียความร้อน ทำให้ผิวชุ่มชื่นไม่แตกแห้ง

 

ไขมันช่วยเป็นเสมือนกันชนให้ร่างกาย ไขมันที่สะสมอยู่ในร่างกาย ช่วยป้องกันการกระทบกระเทือนของอวัยวะภายในได้ คือช่วยป้องกันการกระเทือนของอวัยวะภายในร่างกาย ที่เกิดจากแรงกระแทกหรือการเคลื่อนไหวอย่างแรงของร่างกาย ซึ่งคอยป้องกันการบาดเจ็บของอวัยวะภายในร่างกาย 

 

เป็นองค์ประกอบของเซลล์เมมเบรนทุกชนิด ไขมันเป็นส่วนประกอบสำคัญของเนื้อเยื่อประสาท นั่นก็คือเส้นประสาทของคนเราจะมีไขมันเป็นส่วนประกอบในอัตราที่สูง โดยเฉพาะจะหุ้มเส้นประสาทช่วยในการป้องกันเส้นประสาทให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อถูกสั่งจากสมองไปยังกล้ามเนื้อและอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย

 

เป็นส่วนประกอบของเซลล์และเนื้อเยื่อในร่างกาย ไขมันเมื่อรวมตัวกับโปรตีนก็คือ ไลโปโปรตีน (Lipoproteins) จะเป็นส่วนประกอบสำคัญของเซลล์ต่างๆ โดยเฉพาะผนังเซลล์และไมโตคอนเดรีย ส่วนนี้มีประโยชน์สำหรับคนเรามาก เพราะร่างกายของเราประกอบเป็นตัวตนด้วยเซลล์หลายๆ ล้านเซลล์ และเซลล์ของร่างกายเราจะผลิตทุกวันเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ นั่นก็คือถ้าร่างกายเราขาดไขมันผนังเซลล์ของร่างกายเราก็จะอ่อนแอ เซลล์ที่ตายไปก็ไม่สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้ค่ะ

 

ให้กรดไขมันจำเป็นแก่ร่างกาย คือ กรดลิโนเลอิก ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดผิวหนังอักเสบ และมีความจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของทารก นอกจากนั้นกรดไขมันจำเป็นยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดด้วย โดยจะไปรวมกับคอเลสเตอรอลอิสระได้เป็นคอเลสเตอรอลเอสเทอร์ ทำให้ละลายในเลือดได้ง่าย

 

 

www.flickr.com/photos/chiotsrun/4255041466/

สารอาหาร คืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร

eating-healthy-1
Source: Flickr (click image for link)

วันนี้ทาง HealthGossip อยากนำข้อมูลของ สารอาหาร มานำเสนอกันค่ะ เคยสงสัยหรือเปล่าคะว่าทำไมร่างกายของเราถึงต้องการสารอาหาร ก่อนที่จะได้สารอาหารก็ต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เข้าไปก่อน อาหารก็มีหลากหลายอย่างและเราจะรู้ได้ยังไงว่าอาหารแบบไหนถึงจะเรียกว่าอาหารที่มีประโยชน์ และอาหารแบบไหนที่เราเลือกรับประทานเข้าไปจะให้สารอาหารที่ดีต่อร่างกาย ตอนนี้เราจึงควรที่จะไปทำความเข้าใจความหมายของอาหารและสารอาหารกันก่อนเลยค่ะ 

อาหาร คือ สิ่งที่รับประทานเข้าสู่ร่างกายแล้วไม่เป็นโทษต่อร่างกายและมีประโยชน์ โดยทำให้ร่างกายดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุขและให้พลังงานแก่ร่างกาย ซึ่งพลังงานเหล่านี้นำมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมและให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย

สารอาหาร คือ องค์ประกอบของสารประกอบทางเคมีของธาตุต่างๆ ที่มีอยู่ในอาหารที่เรากินเข้าไป สารอาหารมีโครงสร้างโมเลกุลเฉพาะตัวเรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า อาหารแต่ละชนิดประกอบด้วยโมเลกุลของสารอาหารหลายๆ ตัว ร่างกายเรานั้นต้องการสารอาหารกว่า 40 ชนิดเลยค่ะ และก็เพื่อให้ง่ายยิ่งขึ้นจึงจัดสารอาหารออกเป็นพวกๆ ที่สำคัญมีอยู่ 6 จำพวก การจำแนกสารอาหารตามหลักโภชนาการจะพิจารณาจากปริมาณของสารอาหารที่มีอยู่ในอาหารนั้นๆ มากที่สุดเป็นหลัก ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 5 หมู่ ได้แก่สารอาหาร คาร์โบไฮเดรท โปรตีน ไขมัน วิตามิน เกลือแร่หรือแร่ธาตุ สารอาหารแต่ละชนิดมีหน้าที่เด่นเฉพาะแตกต่างกัน และเมื่อรับประทานเข้าไปจะถูกเผาผลาญให้เกิดเป็นพลังงานและความร้อนเพื่อนำไปใช้ควบคุมการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย เช่น การเดิน การวิ่ง การยืน การนอน การหายใจ เป็นต้น ซึ่งหากแบ่งสารอาหารโดยใช้เกณฑ์การให้พลังงานของสารอาหารจะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

1.กลุ่มสารอาหารที่ให้พลังงาน

กลุ่มสารอาหารที่ห้พลังงาน คือ สารอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน อาหารทั้งหมดในกลุ่มนี้จัดเป็นสารอาหารหลักที่จำเป็นต่อร่างกาย และร่างกายจะขาดไม่ได้ค่ะ

คาร์โบไฮเดรต (carbohydrate) คาร์โไฮเดรตเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานและความร้อน เช่นเดียวกับโปรตีนและไขมัน โดยคาร์โบไฮเดรต 1 กรัม ให้พลังงาน 4 แคลลอรี่ (calorie) หน่วยย่อยที่เล็กที่สุดของคาร์โบไฮเดรต คือน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (monosaccharide) ซึ่งเชื่อมต่อกันด้วยพันธะไกลโคไซด์ (glycosidic linkage) ทำให้โมเลกุลใหญ่ขึ้น เกิดเป็นคาร์โบไฮเดรตที่หลากหลายชนิดกันค่ะ คาร์โบไฮเดรตบางชนิดเชื่อมต่อกันด้วยพันธะไกลโคไซด์ ที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้ จะเป็นสารอาหารที่ไม่ให้พลังงาน เช่น เซลลูโลส (cellulose)

โปรตีน (protein) โปรตีนเป็นสารอาหารที่มีในร่างกายมากเป็นสองรองจากน้ำ เป็นสารอาหารที่ให้พลังงานและความร้อน เช่นเดียวกับคาร์โบไฮเดรตและไขมัน โดยโปรตีน 1 กรัม ให้พลังงาน 4 แคลลอรี่ (calorie) หน่วยย่อยที่เล็กที่สุดของโปรตีน คือ กรดอะมิโน (amino acid) แบ่งเป็น กรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย (essential amino acid) และกรดอะมิโนที่ไม่จำเป็นต่อร่างกาย (non essential amino acid) โปรตีนมีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ สร้างสารควบคุมการทำงานของร่างกาย เช่น ฮอร์โมนและเอนไซม์ สร้างภูมิคุ้มกันโรค รักษาดุลยภาพของสารต่างๆ ในร่างกาย

ไขมัน (fat) เป็นสารอาหารที่ให้พลังงานและความร้อน ซึ่งให้พลังงานสูงกว่าคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน โดยไขมัน 1 กรัม ให้พลังงาน 9 แคลลอรี่ (calorie) ไขมันเกิดจากการรวมตัวของกลีเซอรอล และโมเลกุลของกรดไขมัน (fatty acid) 3 โมเลกุล เป็นไตรกลีเซอร์ไรด์ (triglyceride)

 

2.กลุ่มสารอาหารที่ไม่ให้พลังงาน

กลุ่มสารอาหารที่ไม่ให้พลังงาน คือ สารอาหารที่ร่างกายของเราต้องการในปริมาณน้อยแต่ก็ไม่สามารถขาดได้ ถ้าขาดจะทำให้ระบบร่างกายของเราผิดปกติ หรือเกิดโรคต่างๆได้ ได้แก่ เกลือแร่ และวิตามินต่างๆ

วิตามิน (Vitamin) แบ่งออกเป็น 2 พวก ได้แก่

  • วิตามินที่ละลายในไขมัน ได้แก่ วิตามิน เอ ดี อี เค
  • วิตามินที่ละลายในน้ำ ได้แก่ วิตามินซี และวิตามินบีรวม

เกลือแร่(Mineral) ร่างกายมีเกลือแร่ 4% ของน้ำหนักร่างกายทั้งหมด เกลือแร่ที่ร่างกายต้องการ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

  • แร่ธาตุหลัก (Macro minerals) คือแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการในปริมาณมาก เป็นแร่ธาตุที่ร่างกายมีความต้องการในหนึ่งวันมากว่า 100 mg ขึ้นไป ได้แก่ แคลเซียม (Calcium), ฟอสฟอรัส (Phosphorous), โพแทสเซียม (Potassium), แมกเนเซียม (Magnesium), โซเดียม (Sodium), กำมะถัน (Sulphor) และคลอไรด์ (Chloride) ซึ่งในร่างกายของเราจะพบแร่ธาตุแคลเซียมมากที่สุด รองลงมาได้แก่ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แมกนีเซียม และโซเดียม
  • แร่ธาตุรอง (Trace minerals) คือแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อย เป็นแร่ธาตุที่ร่างกายมีความต้องการในหนึ่งวันในปริมาณน้อยกว่า 100 mg ต่อวัน แต่ถึงแม้ร่างกายจะต้องการแร่ธาตุประเภทนี้ในปริมาณน้อยก็ใช่ว่าจะไม่มีความสำคัญ ซึ่งแร่ธาตุในกลุ่มนี้ได้แก่ เหล็ก (Iron), สังกะสี (Zinc), ซีลีเนียม (Selenium), แมงกานิส (Manganese), ทองแดง (Copper), ไอโอดีน (Iodine), โครเมียม (Chromium), โคบอลท์ (Cobalt), ฟลูออไรด์ (Fluoride), โมลิบดินัม (molybdenum) และ วานาเดียม (Vanadium)

 

 

www.flickr.com/photos/electrolux-design-lab/14921194033/

www.flickr.com/photos/arselectronica/14063329988/