Browse Tag: healthy

กรดอะมิโน (amino acid) คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร

Source: Flickr (click image for link)

“กรดอะมิโน (amino acid)” เป็นหัวข้อที่จะนำเสนอหลังจากได้ทำความรู้จักกับกรดอะมิโนจำเป็นที่สำคัญไป เลยทำให้คิดได้ว่าหลายๆ คนอาจจะสงสัยว่าแล้วกรดอะมิโนจริงๆ แล้วมันคืออะไรกันนะ วันนี้เลยไม่รีรอที่จะนำเอาข้อมูลและรายละเอียดที่สำคัญๆ เกี่ยวกับกรดอะมิโนมาเขียนและนำเสนอให้หลายๆ ท่านที่อาจจะยังไม่รู้จัก หรือรู้จักบ้างแต่ยังไม่ค่อยเข้าใจกันเท่าไหร่ จะว่าไปแล้วพวกเราอาจจะคุ้นเคยกับชื่อนี้กันเป็นอย่างดีถ้าเราตั้งใจเรียน พยายามนั่งอยู่หน้าสุดในชั้น หรือแม้แต่แอบหลับในพวกคาบวิชาชีววิทยา วิชาเคมี ก็คงจะคุ้นหูผ่านตามาบ้าง อาจจะพอทำให้รู้มาบ้างว่า กรดอะมิโน (amino acid) คือ ชีวโมเลกุลที่มีทั้งหมู่ฟังก์ชันอะมิโนและคาร์บอกซิลเป็นส่วนประกอบ กรดอะมิโนเป็นองค์ประกอบสำคัญของโปรตีนซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตทุกชนิด โดยในวิชาชีวเคมี คำว่า “กรดอะมิโน” มักหมายความถึงกรดอะมิโนแบบแอลฟา (alpha animo acids) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่ทั้งหมู่อะมิโนและหมู่คาร์บอกซิลติดอยู่กับคาร์บอนอะตอมเดียวกัน เรียกว่า แอลฟาคาร์บอนค่ะ ด้วยแค่เนื้อหาที่กล่าวมาก็คงทำให้หลายๆ คนเกิดอาการง่วงรวมถึงผู้เขียนด้วย ดังนั้นการที่เราจะมาเขียนเรื่องราวของกรดอะมิโนในวันนี้ เราจึงจะเน้นไปในทางด้านของสุขภาพและความสำคัญต่อร่างกายยังไงบ้างแบบมีสาระสำคัญเน้นๆ กันไปเลย ก่อนที่เราจะพากันง่วงไปกว่านี้ไปเข้าเรื่องเลยดีกว่าค่ะ

 

กรดอะมิโน (amino acid) คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร

Source: Flickr (click image for link)

ในด้านของสุขภาพและความสำคัญต่อร่างกายมนุษย์อย่างเราๆ กรดอะมิโน คือ โปรตีนที่ถูกย่อยให้มีขนาดเล็กที่สุดเพื่อให้ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้งานได้ ความจริงแล้วรองจากน้ำที่เป็นส่วนประกอบใหญ่ที่สุดในร่างกายของมนุษย์เราก็จะเป็นโปรตีนที่ประกอบอยู่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ และแน่นอนว่าโปรตีนมีบทบาทสำคัญในเกือบทุกระบบของกระบวนการทางชีววิทยาที่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับหลายโครงสร้างรวมทั้งหน้าที่ในร่างกายของเราด้วยค่ะ และเมื่อร่างกายของเราได้ทำการย่อยโปรตีนแล้วโปรตีนเหล่านั้นจะอยู่ในรูปของกรดอะมิโน โดยกรดอะมิโนจะถูกนำไปใช้ในกระบวนการต่างๆ ของร่างกายนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนของเซลล์กล้ามเนื้อรวมถึงเนื้อเยื่อส่วนใหญ่ก็ประกอบไปด้วยกรดอะมิโนค่ะ ซึ่งก็หมายความว่าเซลล์เหล่านี้ทำหน้าที่สำคัญในร่างกายของมนุษย์เราหลายอย่างมากมาย กรดอะมิโนที่พบในอาหาร พบว่า ไข่ มีกรดอะมิโนจำเป็นที่สมบูรณ์ครบถ้วนต่อความต้องการของร่างการวมถึงโปรตีนจากสัตว์ทั่วไป จำพวก เนื้อสัตว์ เนื้อปลา นม และอื่นๆ ก็มีปริมาณกรดอะมิโนที่เพียงพอค่ะ ส่วนแหล่งที่มาของกรดอะมิโนในที่พบในพืช ได้แก่ พืชตระกูลถั่ว เมล็ดธัญพืช ถั่ว และเมล็ดพืช แต่ถ้าว่าเลือกรับประทานแค่เพียงชนิดใดชนิดหนึ่งก็จะได้รับปริมาณกรดอะมิโนที่ไม่เพียงพอ  ดังนั้นคนที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์หรืออยากได้รับโปรตีนและกรดอะมิโนจากพืชก็ควรสามารถตรวจสอบปริมาณของชนิดอาหารนั้นๆ เลือกรับประทานอาหารที่หลากหลายของอาหารประเภทพืชตระกูลถั่วต่างๆ และธัญพืชค่ะ

วามสำคัญของกรดอะมิโน (amino acid)

  • สร้างโครงสร้างของเซลล์
  • มีบทบาทสำคัญในการขนส่งและการจัดเก็บสารอาหาร
  • กรดอะมิโนมีอิทธิพลต่อหน้าที่ของอวัยวะ ต่อม เส้นเอ็น และเส้นเลือด
  • มีความจำเป็นในการสร้างเอนไซม์หรือน้ำย่อยต่างๆ ร่วมถึงฮอร์โมน และสารสื่อประสาท
  • มีความจำเป็นสำหรับการรักษาบาดแผลและการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ
  • ซ่อมแซมกล้ามเนื้อ กระดูก ผิวหนังและเส้นผมตลอดจนการกำจัดของเสียประเภทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญ
  • กระบวนการย่อยสลายของสารอาหารภายในเซลล์ทั่วร่างกาย

กรดอะมิโนมีบทบาทสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเผาผลาญของร่างกายของเราและเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต การซ่อมแซม การขนส่ง การจัดเก็บ และการใช้งาน กรดอะมิโนมีผลต่อองค์ประกอบต่างๆ มากมาย รวมไปถึงกล้ามเนื้อ อวัยวะ ระบบการย่อย เลือด และระบบการทำงานของสมอง เนื่องด้วยร่างกายของเราต้องใช้กรดอะมิโนที่แตกต่างกันถึง 20 ชนิด เพื่อความสมบูรณ์ในการทำหน้าที่ต่อสุขภาพและร่างกายของเรา จาก 20 ชนิดของกรดอะมิโนที่ร่างกายของเราต้องการ ซึ่งมีกรดอะมิโนที่ร่างกายของเราสามารถสร้างขึ้นมาเองได้อยู่ 11 ชนิด และมีอีก 9 ชนิดที่ร่างกายของเราไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้โดยจะได้รับจากอาหารที่เรากินเข้าไป จะเรียกกรดอะมิโนนี้ว่า กรดอะมิโนที่จำเป็น ปริมาณของกรดอะมิโนแต่ละชนิดที่ร่างกายของเราต้องการจะแตกต่างกันไป จากกรดอะมิโน 20 ชนิดซึ่งเป็นโปรตีนในร่างกายของเราจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทที่สำคัญ ดังนี้

1.กรดอะมิโนที่จำเป็น เป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายของเราไม่สามารถสร้างขึ้นมาเองได้จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับจากอาหารที่เรากินเข้าไป มีกรดอะมิโนที่จำเป็น 9 ชนิด คือ histidine, isoleucine, leucine, lysine, methionine, phenylalanine, threonine, tryptophan valine และ arginine โดย arginine จะจัดอยู่ในกลุ่มของเด็กทารกเท่านั้นเนื่องจากเด็กทารกไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ แต่เมื่อถึงวัยผู้ใหญ่ร่างกายจึงสามารถสร้างขึ้นเองได้ ดังนั้นเด็กทารกจะต้องการกรดอะมิโนจำเป็นจำนวน 10 ชนิด ส่วนวัยผู้ใหญ่ที่สามารถสร้างอาร์จีนีนได้แล้วจะมีกรดอะมิโนจำเป็นเหลือเพียง 9 ชนิดค่ะ

2. กรดอะมิโนที่ไม่จำเป็น เป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายของเราสามารถสร้างหรือสังเคราะห์ขึ้นมาเองได้ เช่น alanine, asparagine, aspartic acid, cysteine, glutamic acid, glutamine, glycine, proline, serine, and tyrosine

 

อย่างไรก็ตามการเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมและหลากหลายก็ยังคงเป็นแนวทางการเลือกปฎิบัติที่สำคัญ แค่เพียงเราทราบว่าอาหารแต่ชนิดแต่ละประเภทคืออะไร มาจากไหน มีอะไรบ้าง เราก็สามารถเลือกและปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมต่อสุขภาพและตัวเราเองได้ค่ะ  หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยทำให้เข้าใจและเห็นความสำคัญของกรดอะมิโน (amino acid) มากขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านได้ไม่มากก็น้อยนะคะ

 

www.flickr.com/photos/149561324@N03/25388616628/

www.flickr.com/photos/_sk/5086171972/

L-lysine (แอล ไลซีน) คืออะไรและมีประโยชน์อย่างไร

Source: Flickr (click image for link)

L- lysine (แอล ไลซีน) หรือไลซีน เป็นหัวข้อที่น่าสนใจไม่น้อยที่ว่าความเป็นไปเป็นมาของไลซีนนี้เป็นยังไง คืออะไร เนื่องจากผู้เขียนได้ไปเห็นอาหารเสริมที่เรียกว่า L-lysine เยอะแยะเต็มไปหมดตามร้านขายยาหรือร้านขายวิตามินต่างๆ เลยทำให้อดสงสัยและสนใจไม่ได้เลยว่าจะมีความสำคัญต่อร่างกายเราอย่างไรนะ ซึ่งเอาตามตรงแล้วผู้เขียนรู้แค่เพียงว่าไลซีนเป็นหนึ่งในกรดอะมิโนจำเป็นที่สำคัญต่อร่างกายของมนุษย์อีกหนึ่งชนิด ด้วยความที่อยากรู้จึงได้หาข้อมูลเพิ่มเติมทำความเข้าใจมากขึ้นแล้วว่าตัวกรดอะมิโนจำเป็นตัวนี้คืออะไรและมีประโยชน์อย่างไรบ้างต่อร่างกายมนุษย์เรา จริงๆ แล้วกรดอะมิโน (amino acid) นั้นมีความจำเป็นมากต่อระบบในร่างกายของเราค่ะ โดยเฉพาะกรดอะมิโนจำเป็นจึงจำเป็นและสำคัญต่อร่างกายซึ่งร่างกายไม่สามารถขาดได้ซึ่งนั่นก็มีอยู่มากมายหลากหลายตัวเลยทีเดียว โดยบางตัวที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ก็อาจจะจำเป็นที่จะต้องได้รับจากสารอาหารหรืออาหารเสริม และตัวไลซีนเองก็เป็นหนึ่งในกรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายเราไม่สามารถสร้างเองได้ แต่ประเด็นที่น่าสนใจของตัวไลซีนก็คือคุณสมบัติและประโยชน์ที่มีต่อสุขภาพร่างกายเราค่ะ

 

L-lysine (แอล ไลซีน) คืออะไรและมีประโยชน์อย่างไร

Source: Flickr (click image for link)

L- lysine (แอล ไลซีน) หรือไลซีน อย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้นคือไลซีนเป็นกรดอะมิโนจำเป็นต่อร่างกายของเราโดยที่ร่างกายของเราเองเนี่ยไม่สามารถสร้างหรือผลิตเองขึ้นมาได้ค่ะ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องได้รับจากทางอาหารหรืออาหารเสริม ไลซีน เป็นหนึ่งในกรดอะมิโนชนิดที่จำเป็นต่อร่างกาย นอกเหนือจากกรดอะมิโนที่ถูกพบจากธรรมชาติหลายร้อยชนิด ซึ่งจะมี 20 ชนิดที่เป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างโปรตีนและการเจริญเติบโต อีกทั้งมีเพียงแค่ 10 ใน 20 ชนิดที่สามารถผลิตได้เองในร่างกาย ส่วนที่เหลืออีก 10 ชนิดนั้นจึงเรียกว่ากรดอะมิโน “จำเป็น” เนื่องจากมนุษย์เราต้องกินเพื่อสุขภาพที่เหมาะสม การขาดกรดอะมิโนทำให้เกิดการสลายตัวของเซลล์ภายในและอาจนำไปสู่ปัญหาได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องได้รับอาหารให้เพียงพอ

จริงๆ แล้ว L- lysine ตัวนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อสุขภาพและร่างกาย นอกจากหลักๆ ที่ไปช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อและการเจริญเติบโตในส่วนต่างๆ ของร่างกายแล้ว ยังมีบทบาทความสำคัญต่อการเสริมสร้างภูมิต้านทาน ฮอร์โมน คอลลาเจน และเอนไซม์ต่างๆ ด้วยค่ะ อีกทั้งยังพบว่าในช่วงเวลาหลายปีแล้วที่ผู้คนนิยมใช้ L-lysine ในการรักษาโรคไวรัสเริมและช่วยในการฟื้นฟูอาการบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย โดยแหล่งอาหารที่ดีของ L-lysine โดยทั่วไปคือโปรตีนจากสัตว์โดยเฉพาะเนื้อแดง ไข่ไก่และไขมันจากปลาซึ่งแหล่งที่ดีจะได้จากปลาคอดและปลาซาร์ดีน นอกจากนี้ไลซีนยังพบในพืช ได้แก่ พืชตระกูลถั่วเช่นถั่วลิสงและถั่วลันเตา นอกจากบทบาทในการทำงานต่อสุขภาพร่างกายที่สำคัญที่ได้กล่าวมาเบื้องต้นไปแล้วนั้น ในฐานะกรดอะมิโนที่จำเป็น L-lysine ยังทำหน้าที่ที่สะคัญสำหรับการสังเคราะห์ acetyl-CoA ซึ่งเป็นเอนไซม์สำคัญในปฏิกิริยาทางชีวเคมีหลายอย่าง อีกทั้ง L-lysine ยังไปช่วยสร้าง allysine ที่เป็นส่วนประกอบของคอลลาเจนและอีลาสติน ส่วนใหญ่แล้วอาหารเสริมที่มี L-lysine จะถูกใช้กับคนที่ขาดหรือได้รับไม่เพียงพอจากอาหารรวมทั้งมีปัญหาทางด้านสุขภาพอื่นๆ อีกด้วย

 

ประโยชน์ต่อสุขภาพและร่างกายของไลซีน (L-lysine)

  • ช่วยรักษาบรรเทาและป้องกันโรคเริม
  • ช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย
  • ช่วยเสริมสร้างฮอร์โมน
  • ช่วยเพิ่มการดูดซืมของแคลเซียม
  • ช่วยให้หลอดเลือดแข็งแรง
  • ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทาน
  • ช่วยป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุน
  • ช่วยลดความวิตกกังกวลและอาการทางจิต
  • ช่วยลดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน
  • ช่วยรักษาโรคงูสวัด
  • ช่วยเสริมสร้างเอ็นไซม์และเนื้อเยื่อต่างๆ
  • ช่วยส่งเสริมสุขภาพทางเดินอาหาร

 

ประโยชน์ทางสุขภาพจากไลซีน L- lysine มีมากมายอย่างน่าเหลือเชื่อเลยจริงๆ ค่ะ แต่อย่างไรก็ตามผลข้างเคียงของไลซีนมีอยู่เล็กน้อย เช่น อาการปวดท้องและท้องร่วง นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยที่มีความบกพร่องทางไตและตับควรระมัดระวังและควรได้รับปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญบริการด้านสุขภาพเสียก่อนที่จะเริ่มใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมไลซีนนะคะ ซึ่งโดยในคนปกติทั่วไปควรที่จะได้รับไลซีนปริมาณระหว่าง 800 ถึง 3,000 มิลลิกรัมต่อวันค่ะ

 

 

www.flickr.com/photos/mateusd/14631911192/

www.flickr.com/photos/oldpatterns/23568689538/

12 สุดยอดประโยชน์ต่อสุขภาพจากผักเคล (Kale)

Source: Flickr (click image for link)

ผักเคล (Kale)” ที่หลายๆ คนคุ้นชินและพบเห็นกันส่วนใหญ่คือเป็นผักที่นิยมนำมาทำสมูทตี้สีเขียวสดใสให้ความรู้สึกว่าเป็นเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ หรือจะนำมารับประทานเป็นสลัดแม้แต่ใส่ในขนมปังโฮลวีททำเป็นแซนวิสในวันที่เร่งรีบก็ให้ความรู้สึกดีไปอีกแบบค่ะ ผักเคลขึ้นชื่อว่าเป็นอีกชนิดของผักใบเขียวที่คนทั่วโลกยกให้เป็น สุดยอดอาหาร (Super Food) ที่ดีและด้วยความที่มีคุณค่าทางโภชนาการอยู่สูงมาก! ผักเคลที่เราๆ เรียกกันว่าผักคะน้าใบหยิกนั่นเองและก็ไม่แปลกใจเลยเนื่องจากผักเคลเป็นพืชผักใบเขียวที่อยู่ในตระกูลเดียวกันกับ คะน้า บล็อคโคลี่ นั่นเอง เห็นว่าเป็นผักที่มีประโยชน์อย่างมหัศจรรย์อย่างนี้แล้วการเพาะปลูกก็ไม่ยากด้วยเช่นกันค่ะ ด้วยคุณค่าสารอาหารที่มากมายมหาศาลแล้วยังอุดมไปด้วยวิตามิน เค เอ และวิตามินซีอีกด้วย จนได้รับฉายาและถูกขนานนามอย่างมากมายเช่น ราชินีแห่งผักใบเขียว โรงอาหารเพื่อสุขภาพ หรือแม้กระทั่งเป็นพืชใบสีเขียวที่ถูกยกให็เป็น เนื้อวัวชนิดใหม่ จนชวนให้สงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไรกันนี่? ผักเคลมีคุณค่าทางโภชนาการมากมายขนาดนี้เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายของเราอย่างไรบ้าง ด้วยยุคที่หลายคนหันมาให้ความสนใจต่อสุขภาพกันมากขึ้นเพราะฉะนั้นสมัยนี้ก่อนที่เราจะเลือกบริโภคสินค้า หรือแม้แต่การเลือกอาหารมาบริโภคการที่เราได้รู้ถึงคุณค่าทางโภชนาการเท่านั้นยังไม่เพียงพอค่ะ เราต้องรู้ด้วยว่ามันดีต่อร่างกายยังไง เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วสารอาหารแต่ละอย่างที่เราได้รับมันไปทำงานต่อระบบต่างๆ ในร่างกายของเรายังไงค่ะ ดังนั้นเรามาดูกันว่าผักเคลที่เราได้เห็นและได้ยินมานี่มันดีต่อสุขภาพร่างกายของเราอย่างไรบ้างค่ะ   

 

12 สุดยอดประโยชน์ต่อสุขภาพจากผักเคล (Kale)

Source: Flickr (click image for link)

1.ป้องกันโรคมะเร็ง

พบว่าผักตระกูลกะหล่ำเป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วย glucosinolates ซึ่งเป็นสารประกอบที่มีกำมะถันเป็นจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในผักตระกูลกะหล่ำนี้ก็มีผักเคลรวมอยู่ด้วยนั่นเอง โดยผักเคลสามารถไปช่วยยับยั้งการเกิดโรคมะเร็งได้และการเป็นโรคมะเร็งมีสิ่งที่น่ากลัวมากที่สุดนั่นก็คือการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งลามไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งสารเคมีเหล่านี้ได้ถูกทำการย่อยสลายระหว่างการเคี้ยวและถูกย่อยสลายกลายเป็นสารประกอบที่ใช้งานทางชีวภาพ เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่เรียกว่า indoles, thiocyanates และ isothiocyanates ซึ่งสามารถหยุดยั้งมะเร็งจากการแพร่กระจายได้นั่นเองค่ะ

 

2.ล้างสารพิษ

การล้างสารพิษหรือที่เราเรียกกันว่าการ ดีท๊อกซ์ พบว่าในผักเคลมีสารดีท๊อกซ์ตามธรรมชาติ ไม่เพียงช่วยขจัดสารพิษแต่ยังช่วยขจัดสารพิษต่างๆ ออกจากร่างกายอีกด้วยค่ะ เนื่องจากมีส่วนประกอบของผักเคลที่เรียกว่า isothiocyanates (ITCs) ซึ่งทำจาก glucosinolates พบว่าช่วยในการดีท็อกซ์ร่างกายของคุณลึกถึงระดับเซลล์เลยทีเดียว ITCs เหล่านี้เป็นพลังต่อต้านสารพิษและอนุมูลอิสระ ซึ่งสารพิษที่เราพบเจอในสิ่งแวดล้อมและเกิดขึ้นในการใช้ชีวิตประจำวันของเรา เช่นจำพวกจากการรับประทานอาหารพวกแปรรูป สารมลพิษจากอากาศ สารกำจัดศัตรูพืช และยา นั้นจะไปเพิ่มระดับความเป็นพิษของร่างกายและเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคค่ะ

 

3.ต่อต้านอนุมูลอิสระ

ผักเคลเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระที่อุดมไปด้วยวิตามินซีและเบต้าแคโรทีน (เป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ) โดยสารต้านอนุมูลอิสระเป็นที่รู้จักกันดีคือเพื่อต่อต้านความเสียหายที่เกิดจากอนุมูลอิสระนั่นเอง ร่างกายของเราสัมผัสอนุมูลอิสระทุกวันผ่านทางอากาศที่ปนเปื้อน ไม่ว่าเราจะหายใจหรือสารพิษในอาหาร รวมถึงสารเคมีในน้ำที่เราดื่มๆ กันอยู่ทุกวี่ทุกวันกันอยู่แล้ว สารอนุมูลอิสระที่เราพบเจอนี้จะไปก่อให้เกิดความเครียด ที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนสำคัญต่อความผิดปกติของระบบประสาทเช่น โรคพาร์คินสันและโรคอัลไซเมอร์ค่ะ

 

4.ช่วยการย่อยอาหารและขจัดไขมันส่วนเกิน

ด้วยเส้นใยอาหารที่มีในผักเคลอยู่ไม่น้อย รวมไปถึงแคลลอรี่ต่ำทั้งยังไม่มีไขมันอีกด้วย จึงเหมาะสำหรับการช่วยในการย่อยอาหารและขจัดไขมันส่วนเกินนั่นเองค่ะ

 

5.ต้านการอักเสบ

ใครจะรู้ว่าผักเคลที่เป็นพืชใบเขียวจะมีโอเมก้า 3 ที่พบในพืชซ่อนอยู่ และนี่เองที่เป็นตัวช่วยในการต่อต้านการอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกายของเราค่ะ อีกทั้งผักเคลยังเป็นตัวช่วยในการสร้างความสมดุลย์ของโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 อีกด้วยค่ะ

 

6.ช่วยระบบหัวใจและหลอดเลือด

ผักที่มีสีเขียวเข้มอย่างผักเคลซึ่งนั่นก็หมายถึงมีความเข้มข้นสูงของสารอาหารต่างๆ มากมายและรวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระกับฤทธิ์ต้านการอักเสบในร่างกายของเราค่ะ ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระมีระดับสูงประกอบไปด้วยวิตามินเคและวิตามินอี ที่มีประสิทธิภาพในผักเคลทำให้เป็นอาหารที่มีคุณภาพยอดเยี่ยมต่อสุขภาพของระบบหัวใจและหลอดเลือด

 

7.ป้องกันโรคกระดูกพรุน

เห็นเป็นพืชที่มีใบหยักๆ สีเขียวๆ อย่างนี้แล้ว ผักเคลเป็นพืชที่มีแคลเซียมสูงนะเอ แถมมีมากกว่านมซะอีกแหนะ! ซึ่งแคลเซียมจะไปช่วยในการป้องกันการสูญเสียของกระดูก อีกทั้งยังช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนและการเผาผลาญอาหารที่ดีด้วยค่ะ

 

8.ช่วยการสร้างฮีโมโกลบิน

ผักเคลได้ถูกเรียกว่าเป็น เนื้อวัวชนิดใหม่ เนื่องจากมีธาตุเหล็กที่สูงมากกว่าในเนื้อวัวเสียอีก โดยธาตุเหล็กเป็นแหล่งของสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อการสร้างฮีโมโกลบินและเอนไซม์ในการขนส่งออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเซลล์รวมถึงการทำงานของตับ และอื่นๆ อีกมากมาย

 

9.บำรุงสายตา

เนื่องด้วยวิตามินเอที่สูงในผักเคล ซึ่งวิตามินเอจะไปช่วยบำรุงสายตาช่วยในเรื่องของการมองเห็น ยิ่งไปกว่านั้นพบว่ามีสารอาหารสองชนิดที่สำคัญคือ lutein และ zeaxanthin ที่ไปช่วยป้องกันการเสื่อมสภาพของตาและต้อกระจก ซึ่งทั้ง lutein และ zeaxanthin ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระในสายตาและกรองความยาวคลื่นสีน้ำเงินที่มีพลังงานสูงที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสายตานั่นเอง

 

10.ช่วยพัฒนาสมองแก่ทารกในครรภ์

ประโยชน์ต่อสุขภาพที่สำคัญของผักเคลอีกหนึ่งอย่าง คือสามารถช่วยการพัฒนาสมองของทารกที่อยู่ในครรภ์ของคุณแม่ เนื่องจากผักเคลเป็นแหล่งที่ดีของโฟเลทที่มีคุณค่า ดังนั้นการที่คุณแม่เลือกรับประทานผักเคลเป็นประจำก็จะสามารถช่วยป้องกันไม่ให้เกิดข้อบกพร่องหลายอย่างต่อเด็กทารกและช่วยส่งเสริมการพัฒนาและเจริญเติบโตของเด็กในครรภ์ด้วยค่ะ

 

11.บรรเทาโรคอัลซัลเมอร์

วิตามินเคที่มีอยู่สูงในผักเคลและรวมไปถึงสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญในผักเคลสามารถช่วยบรรเทาความทุกข์ทรมานที่เกิดจากโรคอัลไซเมอร์ได้ค่ะ

 

12.ดีต่อสุขภาพผิวพรรณ

ผักเคลเป็นผักที่อุดมไปด้วยวิตามินแร่ธาตุมากมายอีกทั้งยังเป็นแหล่งของวิตามินซี วิตามินอีและสารต่อต้านอนุมูลอิสระมากมาย นอกจากจะช่วยเรื่องสุขภาพภายในร่างกายแล้วยังช่วยให้สุขภาพผิวเราแข็งแรง ชุ่มชื้น สดใสอีกด้วยค่ะ

 

www.flickr.com/photos/lizhaslam/10619278955

www.flickr.com/photos/131262612@N05/16487735236/

 

 

16 ประโยชน์ต่อสุขภาพจากผักปวยเล้ง (Spinach)

Source: Flickr (click image for link)

“ผักปวยเล้ง (Spinach)” ผักปวยเล้งที่หลายคนมักสับสนว่านั่นคือผักโขมจากการ์ตูนเรื่องป๊อบอายที่เคยดูกันตอนเด็กๆ กันเมื่อตัวป๊อบอายได้กินผักที่ชื่อว่า Spinach เข้าไปจะทำให้ร่างกายแข็งแรงตัวโตขึ้น แต่จริงๆ แล้วผักโขมมีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า ผักโขม (Amaranth) และผักใบเขียวทั้งสองชนิดนี้ก็เป็นพืชที่อยู่ตระกูลเดียวกันมีประโยชน์เหมือนกันค่ะ ผักปวยเล้งที่มีใบสีเขียวเข้มนี้ได้มีต้นกำเนิดมาจากทางตะวันออกกลางและแถบเปอร์เซียในสมัยโบราณนับพันๆ ปีมาแล้วค่ะ อีกทั้งยังเป็นผักที่ชาวอิหร่านนิยมรับประทานกันมากจนได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “Prince of Vegetables” กันเลยทีเดียว โดยจากชื่อที่นิยมเรียกกันว่าผักปวยเล้งออกเสียงเหมือนภาษาจีน ก็คงจะคิดว่ามีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน แต่ความจริงแล้วการเพาะปลูกผักโขมได้มีการแพร่กระจายไปยังประเทศเนปาล ซึ่งในศตวรรษที่สิบเจ็ดได้นำไปเผยแพร่ที่ประเทศจีนและในขณะนั้นก็ยังคงเรียกกันว่า “เปอร์เซียกรีน” เหตุผลที่มีชื่อว่าผักปวยเล้ง ซึ่งดูเหมือนว่ามาจากประเทศจีน ก็เนื่องจากว่าผักปวยเล้งได้มีการบันทึกชื่อเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ถังจึงได้มีชื่อเป็นภาษาจีนไปโดยปริยายค่ะ นอกจากประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจจากผักปวยเล้งนี้แล้วประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการจากผักปวยเล้งก็ไม่ธรรมดาเลยค่ะ ดังนั้นวันนี้เราเลยอยากนำข้อมูลของประโยชน์ทางสุขภาพจากผักปวยเล้งมาบอกกัน

 

16 ประโยชน์ต่อสุขภาพจากผักปวยเล้ง (Spinach)

Source: Flickr (click image for link)

1.ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง

การที่ผักปวยเล้งมีปริมาณโพแทสเซียมที่สูงมากอีกทั้งยังมีปริมาณโซเดียมต่ำ จึงส่งผลที่ประโยชน์ต่อผู้ที่ป่วยโรคความดันโลหิตสูง อีกทั้งโฟเลตที่มีอยู่ในผักปวยเล้งยังช่วยลดความดันโลหิตสูงและช่วยผ่อนคลายหลอดเลือดในขณะที่ยังรักษาระดับการไหลเวียนของโลหิตได้ดี จากการลดความดันโลหิตและผ่อนคลายความตึงของหลอดเลือด

2.บำรุงสายตา

เนื่องด้วยผักปวยเล้งมีวิตามินเอและสารแอนตี้ออกซิแดนท์ที่เรียกว่าเบต้าแคโรทีนที่สูง จึงไปช่วยสร้างสารโรดอปซินที่ส่งผลดีต่อการมองเห็นในเวลากลางคืนให้ดีขึ้นค่ะ  อีกทั้งยังเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระโดยไปต่อต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นซึ่งจะทำลายส่วนต่างๆ ของเซลล์ และทำให้เซลล์แบ่งตัวผิดปกติจนกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้อีกด้วย

 

3.มีประโยชน์ต่อระบบประสาท

ส่วนประกอบของผักปวยเล้ง จำพวก โปแตสเซียม โฟเลต และสารแอนตี้ออกซิแดนท์ต่าง ๆ เป็นประโยชน์ต่อระบบประสาทเมื่อเรารับประทานเป็นประจำสม่ำเสมอ โดยเฉพาะโฟเลตสามารถช่วยบำรุงสมองเพิ่มความจำลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ อีกทั้งโพแทสเซียมยังเป็นส่วนสำคัญของสมองเช่นกันซึ่งมีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับการเพิ่มการไหลเวียนของเลือดให้เพิ่มขึ้น

 

4.ช่วยลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร

พบว่าผักปวยเล้งและผักบางชนิดมีความสามารถในการป้องกันเยื่อเมือกของกระเพาะอาหารที่จะไปช่วยลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ glycoglycerolipids ที่พบในผักปวยเล้งยังสามารถเพิ่มความแข็งแรงของเยื่อบุทางเดินอาหาร และป้องกันการอักเสบที่ไม่พึงประสงค์ในส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายอีกด้วยค่ะ

 

5.รักษาและป้องกันโรคมะเร็ง

ผักป้วยเล้งมีส่วนประกอบที่สำคัญและมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายอย่างมากมาย อีกทั้งยังมีส่วนประกอบที่สำคัญที่พบว่ามีแนวโน้มในการรักษาและป้องกันโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ อีกด้วยค่ะ โดยเฉพาะมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งตับ และปอด ซึ่งส่วนประกอบสำคัญในผักปวยเล้งที่ว่านี้ คือ โฟเลต โทโคฟีรอล และคลอโรฟิลล์ ที่จะไปส่งผลต่อกลไกต่างๆ ในร่างกายและช่วยในการรักษาและป้องกันโรคมะเร็งค่ะ

 

6.ลดการเสื่อมสภาพของจอประสาทตา

Retinitis pigmentosa หรือ โรคอาร์พี (ตัวย่อ RP) เป็นโรคจอตาเสื่อมที่สามารถสืบทอดทางกรรมพันธุ์ที่เป็นเหตุแห่งความเสียหายต่อการเห็นอย่างรุนแรงถึงขั้นตาบอด ซึ่งเป็นผลมาจากการเสื่อมของ lutein และ xanthene ที่เป็นส่วนสำคัญของม่านตา แต่แล้วก็พบว่าการบริโภคผักปวยเล้งอาจส่งผลในการฟื้นฟูของเม็ดสีที่สำคัญสองสีและป้องกัน AMD ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผักปวยเล้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดผลกระทบที่เป็นอันตรายของอนุมูลอิสระซึ่งเป็นที่รู้กันว่าส่งผลเสียต่อวิสัยทัศน์และทำให้เกิดสภาวะที่เกี่ยวข้องกับอายุ เช่น โรคต้อหิน

 

7.ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กทารกในครรภ์

สิ่งที่จำเป็นต่อเด็กทารกในครรภ์ในส่วนของการเจริญเติบโตของระบบประสาทของทารกน้อยนั้นก็คือ โฟเลตค่ะ ซึ่งในผักปวยเล้งมีสารสำคัญนี้อยู่ไม่น้อยเลยค่ะ โดยโฟเลตนี้จะช่วยแก้ไขข้อบกพร่องจำพวก โรคปากแหว่งเพดานโหว่ หรือ spina bifida ที่อาจเกิดขึ้นจากการขาดโฟเลต อีกทั้งเมื่อคุณแม่รับประทานผักปวยเล้งเข้าไปนอกจากโฟเลตที่ได้รับยังจะได้รับวิตามินเอที่มีในผักปวยเล้งอีกด้วย ซึ่งวิตามินเอเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาปอดของทารกในครรภ์ได้ดีและสามารถถ่ายทอดทางน้ำนมได้อีกด้วยค่ะ ดังนั้นการบริโภคผักปวยเล้งจึงเหมาะแก่การรับประทานหลังคลอดด้วยเช่นกันค่ะ

 

8.ลดการอักเสบ

เนื่องด้วยในผักปวยเล้งพบว่าสารต้านการอักเสบอยู่มากมายหลายชนิดเลยทีเดียว โดยถูกแบ่งจำแนกเป็น methylenedioxy flavonoid และ glucuronides อีกทั้งผักปวยเล้งยังเป็นผักที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการลดการอักเสบทั่วตามร่างกาย รวมถึงการป้องกันโรคมะเร็งและการการป้องกันหัวใจจากการอักเสบซึ่งก่อให้เกิดอันตราย โดยยังไปลดการอักเสบของอาการปวดที่เกี่ยวข้องกับโรคข้ออักเสบและโรคเกาต์อีกด้วยค่ะ

 

9.เสริมสร้างกล้ามเนื้อ

ในผักปวยเล้งมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่มีหน้าที่สำคัญในการเสริมสร้างกล้ามเนื้อจากโคเอ็นไซคิวเท็น (Co – Q10) ซึ่งสารสำคัญตัวนี้ยังช่วยป้องกันและรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดหลายชนิดได้จากการที่ไปช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อหัวใจให้ทำงานได้แข็งแรงในการสูบฉีดเลือดไปใช้ในทุกส่วนของร่างกายเรา จึงส่งผลในการลดภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันนั่นเองค่ะ

 

10.ช่วยเร่งการเผาผลาญ

ผักปวยเล้งติดอันดับต้นๆ ของอาหารที่ช่วยเร่งการเผาผลาญซึ่งเป็นหัวข้อที่ได้โพสไปไม่นานมานี้ค่ะ ซึ่งก็เหมาะทีเดียวกับคนที่ต้องการคบวคุมน้ำหนักหรือต้องการโปรตีนจากพืชผัก เนื่องจากปริมาณโปรตีนที่พบในผักปวยเล้งช่างน่าสนใจกว่าผักหลายชนิดเลยทีเดียว อีกทั้งยังพบว่าสามารถย่อยสลายได้ง่ายจากเอนไซม์ของกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อมนุษย์และผักปวยเล้งยังสามารถลดความกระหายและความหิวซึ่งสามารถช่วยในการลดน้ำหนักได้อีกด้วยค่ะ

 

11.ป้องกันภาวะหลอดเลือดแข็ง

โรคภาวะหลอดเลือดแข็งไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับใครก็คงเป็นฝันร้ายและคงไม่มีใคอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเองอย่างแน่นอน ซึ่งภาวะหลอดเลือดแข็งนี้เกิดจากการแข็งตัวของหลอดเลือดแดง เม็ดสีที่สำคัญที่พบในผักปวยเล้ง คือ lutein พบว่าสามารถช่วยลดการเกิดภาวะหลอดเลือด หัวใจวาย และโรคหลอดเลือดในสมอง อีกทั้งโปรตีนจากผักปวยเล้งยังมีแนวโน้มลดคอเลสเตอรอลและไขมันในเส้นเลือดอื่น ๆ ในร่างกายอีกด้วยค่ะ

 

12.ช่วยเสริมสร้างกระดูก ฟัน และเล็บ

ถ้ามองหาอาหารเพื่อรับประทานในการเสริมสร้างกระดูกและฟันอยู่แล้วล่ะก็ ลองเดินออกไปที่ซุปเปอร์มาเก็ตแล้วอย่ารีรอที่จะหยิบผักปวยเล้งมาประกอบอาหารหรือจะรับประทานแบบสดๆ ก็ไม่ว่ากัน เนื่องจากผักปวยเล้งเป็นแหล่งสุดยอดของวิตามินเค โดยวิตามินเคจะไปทำหน้าที่ในการรักษาแคลเซียมไว้ในเมทริกซ์กระดูก ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดแร่ธาตุกระดูก นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุอื่น ๆ อย่างเช่นแมงกานีส ทองแดง แมกนีเซียม สังกะสี และฟอสฟอรัสที่จะไปช่วยในการสร้างกระดูกให้แข็งแรงอีกด้วย อีกทั้งยังสามารถป้องกันโรคกระดูกพรุนด้วยเช่นกันค่ะ

 

13.ปกป้องผิวพรรณ

สารต่อต้านอนุมูลอิสระจาก phytonutrients ในผักปวยเล้งได้ส่งผลต่อสุขภาพผิวของเราโดยการทำให้ผิวเราแข็งแรงขึ้น ปกป้องผิวของเราจากรังสีที่เป็นอันตรายจากแสงอาทิตย์รวมทั้งรังสียูวี นอกจากปกป้องผิวเราให้แข็งแรงแล้วยังช่วยซ่อมยีนส์ที่เกิดจากความเสียหายด้วยค่ะ เพราะอย่างนี้จึงส่งผลที่สำคัญต่อการป้องกันมะเร็งผิวหนังในระยะยาว

 

14.มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของเด็กทารก

จากการ์ตูนเรื่องป๊อบอายที่เมื่อรับประทานผักปวยเล้งแล้วจะทำให้ร่างกายโตขึ้นและแข็งแรงเพื่อการต่อสู้ปกป้องคนที่เขารักได้นั้นก็เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้เด็กๆ ที่ไม่ชอบทานผักได้หันมาทานผักกัน โดยเฉพาะผักปวยเล้งที่มีโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุมากมายที่ดีต่อการการพัฒนาตามวัยของการเจริญเติบโตที่สำคัญของเด็ก จึงมีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของเด็กนั่นเองค่ะ

 

15.ลดความเสี่ยงต่อโรคต้อกระจก

พบว่าสารที่อยู่ในผักปวยเล้งอย่าง lutein และ zeaxanthin ซึ่งทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีต่อสุขภาพสายตา โดยสามารถช่วยในการป้องกันดวงตาจากผลกระทบที่รุนแรงของรังสียูวีที่สามารถนำไปสู่ต้อกระจก นอกจากนี้ยังลดผลกระทบของอนุมูลอิสระซึ่งอาจเป็นสาเหตุสำคัญของต้อกระจกและภาวะสายตาอื่น ๆ อีกด้วยค่ะ

 

16.ดีต่อการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ดีอย่างไรน่ะหรอ? พบว่าผักปวยเล้งมีประสิทธิภาพในการต่อต้านการรุกลามของมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยเกี่ยวข้องกับสาร Epoxyxanthophylls (อีพ็อกซี่แซนโทฟิล) ที่เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มของคาโรทีนอยด์ เช่นเดียวกับสาร neoxanthin และ violaxanthin ซึ่งสารสำคัญนี้จะไปช่วยยับยั้งและต่อต้านการเจริญเติบโตของเนื้องอกที่ทำการแพร่กระจายของมะเร็งตามทั่วร่างกายได้อย่างรวดเร็ว

 

จะเห็นได้ว่าผักปวยเล้งมีคุณค่าทางโภชนาการมากมายและดีต่อสุขภาพหลายอย่างจนอยากจะซื้อมารับประทานให้ได้ทุกวันยิ่งดี แต่อย่างไรก็ดีการเลือกรับประทานแบบพอดีพอเหมาะจะเป็นทางเลือกที่ดีเสมอ เนื่องจากข้อควรระวังของการเลือกรับประทานผักปวยเล้งคือ เมื่อได้รับประทานมากเกินไปกรดออกซาลิกที่อยู่ในผักปวยเล้งอาจจะไปรวมตัวกับแคลเซียมแล้วเกิดการตกตะกอนจนก่อให้เกิดโรคนิ่วเอาได้ โดยเฉพาะอาจจะต้องพึงระวังกันเป็นพิเศษสำหรับคนที่เป็นโรคนิ่วหรือโรคเกาต์ค่ะ

 

 

www.flickr.com/photos/smiteme/8256262560/

www.flickr.com/photos/joeyz51/39014341550/