Browse Tag: nuts

16 ชนิดของพืชและผักที่มีกรดอะมิโนจำเป็นสูง

Source: Flickr (click image for link)

โปรตีน จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในสารอาหารที่สำคัญที่สุดในร่างกายของมนุษย์ แค่โปรตีนเพียงเล็กน้อยก็สามารถส่งผลในการซ่อมแซมหรือบำรุงในด้านต่างๆ ของสุขภาพเราได้ ทั้งในด้านความแข็งแรงทางร่างกายไปจนถึงเส้นผม ผิวหนัง และเล็บ ห่วงโซ่กรดอะมิโนของโปรตีนจะเป็นส่วนที่สำคัญในบทบาทการทำงานภายในร่างกายเรา ซึ่งโปรตีนนั้นเป็นสารอาหารที่สำคัญมากถ้าร่างกายเราได้รับอย่างเพียงพอค่ะ นอกจากนี้โปรตีนยังเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำงานของระบบประสาทให้มีประสิทธิภาพที่ดีซึ่งก็รวมไปถึงระดับของพลังงานทั้งหมดด้วย ทราบกันดีว่านอกจากโปรตีนที่เป็นสารอาหารที่สำคัญและไม่ควรละเลยหรือมองข้าม ก็ยังมีสารอาหารในส่วนอื่นๆ อย่างส่วนของคาร์โบไฮเดรตและไขมันที่มีอยู่ในอาหารตามสัดส่วนของร่างกายที่ควรได้รับในแต่ละวันอีกด้วยค่ะ โดยร่างกายของเราต้องใช้กรดอะมิโนที่แตกต่างกันถึง 20 ชนิด เพื่อความสมบูรณ์ในการทำหน้าที่ต่อร่างกายและสุขภาพของเรา จาก 20 ชนิดของกรดอะมิโนที่ร่างกายของเราต้องการนั้น มีกรดอะมิโนที่ร่างกายของเราสามารถสร้างขึ้นมาเองได้อยู่ 11 ชนิด และมีอีก 9 ชนิดที่ร่างกายของเราไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ค่ะนอกเสียจากจะได้รับจากอาหารที่เรากินเข้าไป จึงเรียกกรดอะมิโนนี้ว่า กรดอะมิโนที่จำเป็น (essential amino acid) โดย กรดอะมิโนที่จำเป็น เป็นกรดอะมิโนที่ได้รับจากอาหารที่เรากินเข้าไป ซึ่งมีกรดอะมิโนที่จำเป็นอยู่ 9 ชนิด คือ histidine, isoleucine, leucine, lysine, methionine, phenylalanine, threonine, tryptophan valine และ arginine โดย arginine จะจัดอยู่ในกลุ่มของเด็กทารกเท่านั้นเนื่องจากเด็กทารกไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ แต่เมื่อถึงวัยผู้ใหญ่ร่างกายจึงสามารถสร้างขึ้นเองได้ ดังนั้นเด็กทารกจะต้องการกรดอะมิโนจำเป็นจำนวน 10 ชนิด ส่วนวัยผู้ใหญ่ที่สามารถสร้างอาร์จีนีนได้แล้วจะมีกรดอะมิโนจำเป็นเหลือเพียง 9 ชนิดค่ะ ซึ่งหลายๆ คนที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์และต้องการได้รับกรดอะมิโนที่จำเป็นจากอาหารประเภทพืช ธัญพืช หรือผัก และเพื่อการที่ร่างกายจะได้รับกรดอะมิโนที่จำเป็นให้เพียงพอเหมาะสมต่อความต้องการนั้น แน่นอนว่าควรที่จะนำมาจับคู่หรือรับประทานให้หลากหลายในแต่ละเมนูค่ะ อีกทั้งอาหารจากพืชและผักเหล่านี้ยังสามารถสร้างโปรตีนที่สมบูรณ์ภายในร่างกายได้ทันที ดังนั้นวันนี้เราเลยรวบรวมอาหารประเภทพืชและผักที่มีกรดอะมิโนที่สำคัญๆ มาให้เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการเลือกรับประทานกันค่ะ

 

16 ชนิดของพืชและผักที่มีกรดอะมิโนจำเป็นสูง

Source: Flickr (click image for link)

1.ควีนัว

ควีนัว (Quinoa) ที่ถูกยกให้เป็นสุดยอดอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมากและเป็นพืชที่มีโปรตีนอยู่ถึง 8 กรัม ต่อ ควีนัวสุก 1 ถ้วยตวง รวมถึงเส้นใยและแร่ธาตุต่างๆ มากมาย ซึ่งในคนที่รักสุขภาพกจะเลือกรับประทานควีนัวแทนข้าวกันเลยทีเดียวค่ะ

 

2.ถั่วเหลือง

ส่วนใหญ่แล้วคนที่ทานมังสวิรัติ เจ หรือคนที่แพ้แลคโตสในนมวัวส่วนใหญ่จะเลือกรับประทานผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เนื่องจากถั่วเหลืองให้โปรตีนได้เทียบเท่ากับเนื้อสัตว์และนมวัว นอกจากนี้ถั่วเหลืองยังเป็นโปรตีนที่สมบูรณ์อีกด้วยนั่นก็หมายความว่า มีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายครบถ้วนนั่นเองค่ะ

 

3.เมล็ดเชีย

เมล็ดเชีย (Chia Seed) เป็นพืชที่อยู่ในตระกูลเดียวกันกับผักสาระแหน่ และเป็นที่ยอมรับให้เป็นสุดยอดอาหารเพื่อสุขภาพ เมล็ดเชียเต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ กรดไขมันโอเมก้า 3 และกรดอะมิโนที่จำเป็น เมล็ดเชียถูกนิยมนำมารับประทานเพื่อเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพอย่างแพร่หลาย โดยจะนำไปแช่น้ำเพื่อให้ย่อยง่ายขึ้นและเพิ่มลงในสมูทตี้ พุดดิ้ง เพื่อความอร่อยค่ะ

 

4.เมล็ดบักวีท

เมล็ดบักวีท (Buckwheat) เป็นเมล็ดธัญพืชที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการซึ่งมีโปรตีนและเส้นใยอาหารสูง อีกทั้งยังอุดุมไปด้วยปริมาณที่ยอดเยี่ยมของกรดอะมิโนจำเป็นค่ะ

 

5.ผักโขม

ผักโขม (Amaranth) เมล็ดผักโขมมักถูกใช้ในการทำแป้งแบบเพื่อสุขภาพ คือแป้งธัญพืช พาสต้าที่มีสีเขียว ในส่วนของใบนั้นจะถูกนำมารับประทานสดๆ ในรูปแบบของสลัดหรือผสมปั่นลงในสมูทตี้ ผักโขมนอกจากมีโปรตีนสูงแล้วยังมีกรดอะมิโนจำเป็นอีกด้วยค่ะ

 

6.สาหร่ายเกลียวทอง

สาหร่ายเกลียวทองหรือที่เราเรียกหรือคุ้นหูกันว่า สาหร่าย Spirulina ค่ะ สาหร่ายเกรียวทองที่ส่วนใหญ่พบในรูปแบบอาหารเสริม ก็ได้ถูกยกให้เป็นสุดยอดอาหารที่ให้ประโยชน์คุณค่าทางโภชนาการต่อสุขภาพ ถึงแม้จะไม่ได้เป็นโปรตีนที่สมบูรณ์เนื่องจากขาดกรดอะมิโนจำเป็นอยู่สองตัว คือ methionine และ cysteine จึงอยากจะแนะนำให้รับประทานคู่กับถั่วและธัญพืชอย่าง ข้าวโอ๊ต ก็สามารถช่วยเพิ่มในส่วนที่ขาดหายไปได้ค่ะ

 

7.เมล็ดเฮ็มพ์

เมล็ดเฮ็มพ์ (Hemp Seeds) หรือ กัญชง เป็นอีกหนึ่งชนิดของพืชที่เป็นแหล่งของโปรตีนที่สมบูรณ์มีกรดอะมิโนที่จำเป็นครบถ้วน นอกจากแคลอรี่ต่ำแล้วยังให้กรดไขมันชนิดดีอย่างโอเมก้า 3 สูง ส่วนใหญ่จะเป็นที่รู้จักกันอย่างดีในคนที่ออกกำลังกายหรือเพาะกล้าม จะนำมาชงผสมในเครื่องดื่มต่างๆ เพื่อเพิ่มโปรตีนนั่นเอง

 

8.เนยถั่ว

เนื่องจากเนยถั่วได้ถูกทำมาจากถั่วลิสงถ้าจะให้ดีเลือกแบบที่ไม่มีสิ่งใดผสมเลยนอกจากถั่วล้วนๆ จะนำมาจิ้มรับประทานกับแอบเปิ้ลเขียวก็ดี นอกจากได้รับโปรตีนและเส้นใยสูงอีกทั้งยังมีกรดไขมันที่ดีแล้วยังได้รับกรดอะมิโนจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสมอีกด้วยค่ะ

 

9.บล็อคโคลี่

ผักตระกูลกะหล่ำอย่างบล็อคโคลี่นอกจากให้โปรตีนสูงและมีกรดอะมิโนที่จำเป็นจึงถูกนำมาประกอบอาหารได้อย่างง่ายๆเลย ไม่ว่าจะต้ม ผัด แกง ทอด ก็อร่อยและรับประโยชน์ไปเลยเต็มๆ ค่ะ

 

10.ผักปวยเล้ง

ผักปวยเล้ง (Spinach) เป็นผักที่อยู่ในตระกูลเดียวกับผักโขม และยังมีคุณประโยชน์ที่คล้ายกันอีกด้วย มีโปรตีนและเส้นใยสูง คุณค่าสารอาหารมากมายรวมถึงกรดอะมิโนจำเป็นที่มีปริมาณยอดเยี่ยมอีกด้วย

 

11.ข้าวโอ๊ต

ข้าวโอ๊ตเป็นธัญพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมากค่ะ มีโปรตีนและเส้นใยอาหารที่สูงและมีกรดอะมิโนจำเป็นชนิด Methionine อย่างโดดเด่นเลยทีเดียว

 

12.ข้าวกับถั่ว

ข้าวกับถั่วจัดเป็นคู่หูที่ลงตัวและได้รับโปรตีนที่สมบูรณ์ครบถ้วย เนื่องจากถั่วส่วนใหญ่มีปริมาณเมทไธโอนีนที่ต่ำและมีปริมาณไลซีนที่สูง ซึ่งในขณะที่ข้าวมีปริมาณไลซีนที่ต่ำและมีปริมาณเมทไธโอนีนสูง การหุงข้าวผสมถั่วเขียว หรือรับประทานข้าวกับอาหารจำพวกถั่วเหลือง ถั่วต่างๆ ก็จะได้รับกรดอะมิโนที่จำเป็นอย่างครบถ้วนเลยล่ะค่ะ

 

13.ควอร์น

ควอร์น (Quorn) ในคนที่รักสุขภาพและทานมังสวิรัติจะรู้จักกันเป็นอย่างดีค่ะ ควอร์น คือ ไมโครโปรตีน ที่เกิดจากการหมักบ่มจุลินทรีย์ประเภท ฟังกัส (Fungus) และขึ้นรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ใช้รับประทานแทนเนื้อสัตว์และเป็นโปรตีนที่สมบูรณ์ค่ะ

 

14.ฮัมมูสและขนมปังพิต้า

ฮัมมูส (Hummus) เป็นเครื่องจิ้มสไตล์ตะวันออกกลาง และเป็นอาหารว่างเพื่อสุขภาพที่กำลังนิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย ซึ่งฮัมมูสจะนิยมรับประทานคู่กับขนมปังพิต้า Pita Chickpeas เนื่องจากฮัมมูสมีปริมาณไลซีนที่ไม่เพียงพอจึงควรรับประทานคู่กับ Pita Chickpeas ซึ่งมีปริมาณไลซีนเยอะค่ะ

 

15.ดอกกะหล่ำ

ถ้านึกไม่ออกว่าเย็นนี้จะกินอะไร? เมนูผัดดอกกะหล่ำหรือนำไปลวกจิ้มกับน้ำพริกก็ไม่เลวเลยสำหรับอาหารมื้อเย็นนี้ค่ะ ดอกกะหล่ำจัดว่าเป็นผักที่มีกรดอะมิโนจำเป็นที่เรียกว่า histidine อยู่สูง การเลือกนำผักชนิดนี้มาปรุงอาหารผสมกับผักอื่นๆ จะช่วยให้ได้รับคุณค่าทางอาหารและกรดอะมิโนจำเป็นที่ครบถ้วน

 

16.ธัญพืชและพืชตระกูลถั่ว

พบว่าธัญพืชไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ต่างๆ กับพืชตระกูลถั่วทุกชนิดจัดเป็นแหล่งโปรตีนที่สมบูรณ์และคุณค่าทางอาหารที่สำคัญไม่แพ้เนื้อสัตว์ อย่างไรการรับประทานอาหารที่หลากหลายในแต่ละมือถือว่าเป็นวิธีที่สำคัญและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ

 

 

www.flickr.com/photos/149561324@N03/38578649772/

www.flickr.com/photos/30478819@N08/36973263392/

กรดอะมิโน (amino acid) คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร

Source: Flickr (click image for link)

“กรดอะมิโน (amino acid)” เป็นหัวข้อที่จะนำเสนอหลังจากได้ทำความรู้จักกับกรดอะมิโนจำเป็นที่สำคัญไป เลยทำให้คิดได้ว่าหลายๆ คนอาจจะสงสัยว่าแล้วกรดอะมิโนจริงๆ แล้วมันคืออะไรกันนะ วันนี้เลยไม่รีรอที่จะนำเอาข้อมูลและรายละเอียดที่สำคัญๆ เกี่ยวกับกรดอะมิโนมาเขียนและนำเสนอให้หลายๆ ท่านที่อาจจะยังไม่รู้จัก หรือรู้จักบ้างแต่ยังไม่ค่อยเข้าใจกันเท่าไหร่ จะว่าไปแล้วพวกเราอาจจะคุ้นเคยกับชื่อนี้กันเป็นอย่างดีถ้าเราตั้งใจเรียน พยายามนั่งอยู่หน้าสุดในชั้น หรือแม้แต่แอบหลับในพวกคาบวิชาชีววิทยา วิชาเคมี ก็คงจะคุ้นหูผ่านตามาบ้าง อาจจะพอทำให้รู้มาบ้างว่า กรดอะมิโน (amino acid) คือ ชีวโมเลกุลที่มีทั้งหมู่ฟังก์ชันอะมิโนและคาร์บอกซิลเป็นส่วนประกอบ กรดอะมิโนเป็นองค์ประกอบสำคัญของโปรตีนซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตทุกชนิด โดยในวิชาชีวเคมี คำว่า “กรดอะมิโน” มักหมายความถึงกรดอะมิโนแบบแอลฟา (alpha animo acids) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่ทั้งหมู่อะมิโนและหมู่คาร์บอกซิลติดอยู่กับคาร์บอนอะตอมเดียวกัน เรียกว่า แอลฟาคาร์บอนค่ะ ด้วยแค่เนื้อหาที่กล่าวมาก็คงทำให้หลายๆ คนเกิดอาการง่วงรวมถึงผู้เขียนด้วย ดังนั้นการที่เราจะมาเขียนเรื่องราวของกรดอะมิโนในวันนี้ เราจึงจะเน้นไปในทางด้านของสุขภาพและความสำคัญต่อร่างกายยังไงบ้างแบบมีสาระสำคัญเน้นๆ กันไปเลย ก่อนที่เราจะพากันง่วงไปกว่านี้ไปเข้าเรื่องเลยดีกว่าค่ะ

 

กรดอะมิโน (amino acid) คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร

Source: Flickr (click image for link)

ในด้านของสุขภาพและความสำคัญต่อร่างกายมนุษย์อย่างเราๆ กรดอะมิโน คือ โปรตีนที่ถูกย่อยให้มีขนาดเล็กที่สุดเพื่อให้ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้งานได้ ความจริงแล้วรองจากน้ำที่เป็นส่วนประกอบใหญ่ที่สุดในร่างกายของมนุษย์เราก็จะเป็นโปรตีนที่ประกอบอยู่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ และแน่นอนว่าโปรตีนมีบทบาทสำคัญในเกือบทุกระบบของกระบวนการทางชีววิทยาที่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับหลายโครงสร้างรวมทั้งหน้าที่ในร่างกายของเราด้วยค่ะ และเมื่อร่างกายของเราได้ทำการย่อยโปรตีนแล้วโปรตีนเหล่านั้นจะอยู่ในรูปของกรดอะมิโน โดยกรดอะมิโนจะถูกนำไปใช้ในกระบวนการต่างๆ ของร่างกายนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนของเซลล์กล้ามเนื้อรวมถึงเนื้อเยื่อส่วนใหญ่ก็ประกอบไปด้วยกรดอะมิโนค่ะ ซึ่งก็หมายความว่าเซลล์เหล่านี้ทำหน้าที่สำคัญในร่างกายของมนุษย์เราหลายอย่างมากมาย กรดอะมิโนที่พบในอาหาร พบว่า ไข่ มีกรดอะมิโนจำเป็นที่สมบูรณ์ครบถ้วนต่อความต้องการของร่างการวมถึงโปรตีนจากสัตว์ทั่วไป จำพวก เนื้อสัตว์ เนื้อปลา นม และอื่นๆ ก็มีปริมาณกรดอะมิโนที่เพียงพอค่ะ ส่วนแหล่งที่มาของกรดอะมิโนในที่พบในพืช ได้แก่ พืชตระกูลถั่ว เมล็ดธัญพืช ถั่ว และเมล็ดพืช แต่ถ้าว่าเลือกรับประทานแค่เพียงชนิดใดชนิดหนึ่งก็จะได้รับปริมาณกรดอะมิโนที่ไม่เพียงพอ  ดังนั้นคนที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์หรืออยากได้รับโปรตีนและกรดอะมิโนจากพืชก็ควรสามารถตรวจสอบปริมาณของชนิดอาหารนั้นๆ เลือกรับประทานอาหารที่หลากหลายของอาหารประเภทพืชตระกูลถั่วต่างๆ และธัญพืชค่ะ

วามสำคัญของกรดอะมิโน (amino acid)

  • สร้างโครงสร้างของเซลล์
  • มีบทบาทสำคัญในการขนส่งและการจัดเก็บสารอาหาร
  • กรดอะมิโนมีอิทธิพลต่อหน้าที่ของอวัยวะ ต่อม เส้นเอ็น และเส้นเลือด
  • มีความจำเป็นในการสร้างเอนไซม์หรือน้ำย่อยต่างๆ ร่วมถึงฮอร์โมน และสารสื่อประสาท
  • มีความจำเป็นสำหรับการรักษาบาดแผลและการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ
  • ซ่อมแซมกล้ามเนื้อ กระดูก ผิวหนังและเส้นผมตลอดจนการกำจัดของเสียประเภทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญ
  • กระบวนการย่อยสลายของสารอาหารภายในเซลล์ทั่วร่างกาย

กรดอะมิโนมีบทบาทสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเผาผลาญของร่างกายของเราและเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต การซ่อมแซม การขนส่ง การจัดเก็บ และการใช้งาน กรดอะมิโนมีผลต่อองค์ประกอบต่างๆ มากมาย รวมไปถึงกล้ามเนื้อ อวัยวะ ระบบการย่อย เลือด และระบบการทำงานของสมอง เนื่องด้วยร่างกายของเราต้องใช้กรดอะมิโนที่แตกต่างกันถึง 20 ชนิด เพื่อความสมบูรณ์ในการทำหน้าที่ต่อสุขภาพและร่างกายของเรา จาก 20 ชนิดของกรดอะมิโนที่ร่างกายของเราต้องการ ซึ่งมีกรดอะมิโนที่ร่างกายของเราสามารถสร้างขึ้นมาเองได้อยู่ 11 ชนิด และมีอีก 9 ชนิดที่ร่างกายของเราไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้โดยจะได้รับจากอาหารที่เรากินเข้าไป จะเรียกกรดอะมิโนนี้ว่า กรดอะมิโนที่จำเป็น ปริมาณของกรดอะมิโนแต่ละชนิดที่ร่างกายของเราต้องการจะแตกต่างกันไป จากกรดอะมิโน 20 ชนิดซึ่งเป็นโปรตีนในร่างกายของเราจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทที่สำคัญ ดังนี้

1.กรดอะมิโนที่จำเป็น เป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายของเราไม่สามารถสร้างขึ้นมาเองได้จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับจากอาหารที่เรากินเข้าไป มีกรดอะมิโนที่จำเป็น 9 ชนิด คือ histidine, isoleucine, leucine, lysine, methionine, phenylalanine, threonine, tryptophan valine และ arginine โดย arginine จะจัดอยู่ในกลุ่มของเด็กทารกเท่านั้นเนื่องจากเด็กทารกไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ แต่เมื่อถึงวัยผู้ใหญ่ร่างกายจึงสามารถสร้างขึ้นเองได้ ดังนั้นเด็กทารกจะต้องการกรดอะมิโนจำเป็นจำนวน 10 ชนิด ส่วนวัยผู้ใหญ่ที่สามารถสร้างอาร์จีนีนได้แล้วจะมีกรดอะมิโนจำเป็นเหลือเพียง 9 ชนิดค่ะ

2. กรดอะมิโนที่ไม่จำเป็น เป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายของเราสามารถสร้างหรือสังเคราะห์ขึ้นมาเองได้ เช่น alanine, asparagine, aspartic acid, cysteine, glutamic acid, glutamine, glycine, proline, serine, and tyrosine

 

อย่างไรก็ตามการเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมและหลากหลายก็ยังคงเป็นแนวทางการเลือกปฎิบัติที่สำคัญ แค่เพียงเราทราบว่าอาหารแต่ชนิดแต่ละประเภทคืออะไร มาจากไหน มีอะไรบ้าง เราก็สามารถเลือกและปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมต่อสุขภาพและตัวเราเองได้ค่ะ  หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยทำให้เข้าใจและเห็นความสำคัญของกรดอะมิโน (amino acid) มากขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านได้ไม่มากก็น้อยนะคะ

 

www.flickr.com/photos/149561324@N03/25388616628/

www.flickr.com/photos/_sk/5086171972/

15 ชนิดสุดยอดของอาหารที่ช่วยต้านมะเร็ง

Source: Flickr (click image for link)

“โรคมะเร็ง (Cancer)” ถือเป็นปัญหาและภัยเงียบต่อสุขภาพของคนในปัจจุบันทั่วโลกเป็นอย่างมากเลยทีเดียวค่ะ ใครจะรู้ว่าในเวลาเพียงแค่หนึ่งปีโรคมะเร็งได้คร่าชีวิตของมนุษย์ไปกี่ล้านชีวิตได้อย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าโรคมะเร็งจะไม่ใช่โรคชนิดที่ติดต่อกันได้แต่ทว่าทำไมคนเราถึงได้เสียชีวิตจากโรคนี้เพิ่มขึ้นมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ มะเร็งบางชนิดกว่าจะแสดงอาการก็สายไปเสียแล้วหรือในบางคนคิดว่าดูแลสุขภาพตนเองเป็นอย่างดีแล้วแต่ไฉนแจ็กพอร์ตถึงได้มาตกที่ตัวเองเสียได้ ปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งมีหลากหลายสาเหตุทั้งรวมไปถึงรอบๆ ใกล้ตัวเราโดยที่เราอาจจะมองข้ามไปอย่างเช่นอาหารที่เราได้รับประทานอยู่ทุกวันนี่แหละค่ะ ด้วยเทคโนโลยีตามยุคตามสมัยได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอเพื่อตอบสนองความสะดวกสบายให้แก่มนุษย์อย่างเราๆ ให้มีการดำเนินชีวิตที่ง่ายและเร็วขึ้น ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าบางอย่างนั้นก็เป็นสิ่งที่ดีและช่วยให้การดำเนินชีวิตของเราดีขึ้นอย่างเหมาะสม แต่ใครจะรู้ว่าบางอย่างกลับช่วยเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพของเราหรือกำลังเกาะกินชีวิตเราไปอย่างช้าๆ โดยที่เราไม่ทันได้รู้ตัวด้วยซ้ำไปค่ะ ดังนั้นการรู้และป้องกันในการต้านทานโรคมะเร็งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และการป้องกันที่สำคัญคือคุณค่าทางโภชนาการจากการที่ได้รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่เหมาะสม และหลีกเลี่ยงสิ่งต่างๆ ที่จะเป็นตัวไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งค่ะ หลายคนอาจจะทราบเป็นอย่างดีแล้วว่ามีอาหารชนิดไหนบ้างที่ควรรับประทานเพื่อสุขภาพที่ดีและป้องกันการเกิดมะเร็งได้ แต่สิ่งท่ี่ควรถามตัวเองอีกครั้งคือ ในแต่ละวันคุณได้รับสารอาหารจากอาหารเหล่านั้นเพียงพอต่อการต้านมะเร็งแล้วหรือยัง หลายๆ คนคงจะคิดถึงคำว่า มะเร็ง เป็นเพียงโรคชนิดหนึ่ง จริงๆ แล้วโรคนี้เกิดจากความผิดปกติของเซลล์มากกว่า 100 เซลล์ในร่างกาย ซึ่งมะเร็งก็หมายถึงการแบ่งเซลล์ที่ไม่สามารถควบคุมได้และนำไปสู่การเกิดเนื้องอกหรือการเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติ เมื่อเซลล์เกิดผิดปกติขึ้นมาและยังแบ่งเซลล์โดยไม่มีการควบคุมอีก มันก็เกิดเหตุที่สามารถลุกลามไปยังเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงและแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายรวมทั้งระบบเลือดและน้ำเหลืองค่ะ ฟังแล้วดูไม่น่าฟังเลยนะคะแต่เชื่อเถอะว่าการป้องกันไว้ก่อนนั้นสำคัญและสมควรที่จะทำเป็นอย่างยิ่งค่ะ

แล้วจะทำยังไงล่ะ? เพื่อที่จะลดการอักเสบและต่อสู้กับอนุมูลอิสระ สิ่งสำคัญคือการบริโภคอาหารที่ต่อสู้กับโรคมะเร็งโดยอาหารเหล่านั้นมีสารต้านอนุมูลอิสระและ สารพฤษเคมี (phytonutrients) ที่ต้านการอักเสบตามธรรมชาติ รวมถึงการหลีกเลี่ยงอาหารแบบสำเร็จรูป แปรรูป และพวกที่มีส่วนผสมของสารปฏิชีวนะ สารเคมี รวมถึงสารพิษ ควรที่จะเลือกซื้ออาหารประเภทอินทรีย์ (Organic) มารับประทาน ต่อไปนี้จะเป็นชนิดของอาหารที่ช่วยต้านมะเร็ง เราไปดูกันค่ะว่ามีอะไรบ้าง

  

15 ชนิดสุดยอดของอาหารที่ช่วยต้านมะเร็ง

Source: Flickr (click image for link)

1.กระเทียม

ใครที่ชอบว่าเราทานอาหารที่มีกลิ่นเหม็น รีบบอกเขาไปดังๆ เลยค่ะว่ากระเทียมเนี่ยมีสารยับยั้งการเจริญเติบโตของไนโตรซามีนที่เป็นสารก่อมะเร็งที่เกิดขึ้นในกระเพาะอาหาร (และในลำไส้ในบางสภาวะ) และต้านการอักเสบในร่างกายอีกด้วยนะจ๊ะ อีกทั้งกรดของกระเทียมยังเป็นสารต้านเชื้อรารวมถึงสร้างภูมิคุ้มกันโดยฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ และยีสต์ ซึ่งพบว่าหลังจากรับประทานยาและยาปฏิชีวนะร่างกายมักจะอ่อนแอต่อสิ่งเหล่านี้นั่นเอง โชคดีที่ส่วนประกอบของอาหารส่วนใหญ่ในประเทศไทยเรามีแต่กระเทียมเป็นส่วนผสมและก็พบว่าเลือกรับประทานกระเทียมแบบสดๆ จะได้รับสารที่เข้มข้นมีประสิทธิภาพดีกว่าอีกด้วยค่ะ

 

2.บล็อกโคลี่

บล็อกโคลี่จัดเป็นผักตระกูลกะหล่ำ (กะหล่ำปลีและผักคะน้า) มีคุณสมบัติในการต่อต้านกับมะเร็ง แต่บล็อกโคลี่ยังเป็นผักชนิดที่เป็นสารอาหารเพียงอย่างเดียวที่มีปริมาณซัลฟอร์เฟล ซึ่งเป็นสารประกอบที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ที่ช่วยให้ร่างกายสามารถย่อยสลายสารเคมีที่ก่อให้เกิดโรคได้ค่ะ

 

3.ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่

พบว่าผลไม้ตระกูลเบอร์รี่เกือบทั้งหมดมีสารต้านอนุมูลอิสระที่สูงมากในโลก ไม่ว่าจะเป็น บลูเบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ เชอร์รี่ สตรอเบอร์รี่ โกจิเบอร์รี่ และแบล็กเบอรี่ โดยผลไม้ตระกูลเบอร์รี่นั้นอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่เรียกว่า proanthocyanidin ซึ่งมีคุณสมบัติในการต่อต้านริ้วรอยในสัตว์หลายชนิดและสามารถลดความเสียหายของอนุมูลอิสระได้ ฟีนอลซีแซนทีนไลโคปีน cryptoxanthin lutein และ polysaccharides

 

4.ผักใบเขียว

ถ้าพูดถึงผักใบสีเขียวแล้วเราจะนึกถึงอาหารประเภทเพื่อสุขภาพและถือเป็นรากฐานของอาหารที่ทำให้สุขภาพดี เนื่องจากอุดมไปด้วยวิตามิน เกลือแร่ สารต้านอนุมูลอิสระ และเอนไซม์ โดยมีค่าปริมาณแคลอรี่ ไขมัน โซเดียม และสารพิษอื่นๆ ต่ำมาก ผักใบเขียวมีประโยชน์ทุกชนิด อย่างเช่น ผักโขม ผักปวยเล้ง ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก ผักคะน้า ผักหม่อน ผักสลัด และอื่นๆ อีกมากมายนี้อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่รู้จักกันในการต่อสู้กับโรคมะเร็ง ได้แก่ วิตามินซีและเบต้าแคโรทีน(ที่เป็นชนิดของวิตามินเอ) นั่นเองค่ะ โดยผักใบเขียวเหล่านี้เป็นแหล่งธรรมชาติของ glucosinolates และยังมีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ขจัดสารก่อมะเร็งช่วยยับยั้งการสร้างเซลล์มะเร็งให้ตายและป้องกันไม่ให้เกิดการก่อตัวของเนื้องอกรวมถึงการแพร่กระจายลุกลามของเนื้อร้ายอีกด้วยค่ะ

 

5.เมล็ดพืช

เมล็ดพันธุ์พืชที่ถึงกับได้เรียกว่าเป็นสุดยอดอาหาร Super Food คือ เมล็ดพันธุ์เจียและเมล็ดแฟลกซ์จัดเป็นเมล็ดพืชที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในโลก โดยมีเส้นใยอาหารที่สูง มีกรดไขมันโอเมก้า 3 และเต็มเปี่ยมไปด้วยแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกายอีกมากมายเลยค่ะ นอกจากนี้ยังรวมไปถึง เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง และเมล็ดงาด้วยค่ะ

 

6.ขมิ้น

ขมิ้นจัดเป็นสมุนไพรหรือเครื่องเทศชนิดหนึ่งซึ่งในขมิ้นมีสาร curcumin ที่เป็นหนึ่งในส่วนผสมที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในอาหารต้านมะเร็ง โดยสามารถลดขนาดของเนื้องอก ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งเต้านม อีกทั้งยังพบว่าพริกไทยดำยังสามารถช่วยให้การดูดซึมของขมิ้นให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นอีกด้วยค่ะ

 

7.เมล็ดอัลมอลด์และวอลนัท

อย่างที่ทราบกันดีว่าเมล็ดอัลมอลด์และวอลนัทถือเป็นอาหารทานเล่นที่มีประโยชน์และเต็มไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ โดยเมล็ดอัลมอลด์และวอลนัทนั้นมีกรดไขมันที่ดีรวมไปถึงมีเส้นใยอาหารที่สูง ไฟโตสเตอรอลในวอลนัท (โมเลกุลของคอเลสเตอรอลที่พบในพืช) แสดงให้เห็นถึงการยับยั้งการรับฮอร์โมนเอสโตรเจนในเซลล์มะเร็งเต้านม ซึ่งอาจจะไปทำให้การเจริญเติบโตของเซลล์ช้าลง

 

8.เห็ด

เห็ดมีหลากหลายชนิดและหลายสายพันธุ์รวมถึงมีลักษณะและรสชาติไม่เหมือนกัน ในส่วนของประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการก็จะเห็นได้ในปัจจุบันคนนิยมนำมารับประทานเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันมาเป็นเวลายาวนานหลายศตวรร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถปรับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้ต่อสู้กับการเจริญเติบโตของเนื้องอกและช่วยในการฟื้นฟูเซลล์ได้ดีอีกด้วยค่ะ

 

9.เนื้อสัตว์อินทรีย์

เนื้อสัตว์อินทรีย์หรือเนื้อสัตว์ออร์แกนิกที่รวมไปถึงเนื้อวัวและตับไก่ด้วยนั้น จัดได้ว่าเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยแหล่งของสารอาหารที่มีมากที่สุดในโลก รวมถึงมีวิตามินบี 12 อยู่สูงมากเช่นกัน ดังนั้นการที่เราบริโภคเนื้อสัตว์แบบอินทรีย์เป็นส่วนหนึ่งของวิธีในการได้รับโปรตีนจากสัตว์และทำให้ได้รับแร่ธาตุต่างๆ ที่จะไปช่วยทำความสะอาดตับและเพิ่มความสามารถในการขจัดสารพิษออกจากเลือดรวมถึงระบบทางเดินอาหารค่ะ เนื้อสัตว์เป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยซีลีเนียม สังกะสี และวิตามินบีจะไปช่วยทำให้เลือดสะอาด อีกทั้งยังช่วยผลิตน้ำดีที่จำเป็นในการย่อยไขมัน ช่วยสร้างความสมดุลของฮอร์โมนตามธรรมชาติ และเก็บวิตามิน เกลือแร่ และธาตุเหล็กที่จำเป็นค่ะ

 

10.ปลาทะเล

ปลาที่เกิดจากแหล่งธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นปลาขนาดเล็กหรือรวมไปถึง ปลาแซลมอล ปลาทู และปลาซาร์ดีน ล้วนแต่เป็นแหล่งอาหารชั้นดีของกรดไขมันโอเมก้า 3 เลยทีเดียว่ค่ะ ซึ่งจะไปช่วยในเรื่องของระบบคุ้มกันและต่อต้านการอักเสบที่มีส่วนเกี่ยวข้องและมีความสำคัญต่อสุขภาพของสมองฮอร์โมนรวมถึงระบบประสาทที่ดีขึ้น ด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ดังนั้นจึงมีส่วนเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคมะเร็ง อีกทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพของการบำบัดด้วยยาต้านมะเร็งอีกด้วยค่ะ

 

11.น้ำมันที่ไม่ผ่านการกลั่น

น้ำมันเพื่อสุขภาพ คือ น้ำมันที่ไม่ผ่านการกลั่นจำพวก น้ำมันมะพร้าว น้ำมันแฟลกซ์ และน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ ทราบหรือไม่คะว่าน้ำมันตามท้องตลาดที่เราใช้กันทั่วไปส่วนใหญ่เป็นน้ำมันที่เต้มไฮโดรเจน ซึ่งเป็นพิษและสามารถไปทำลายเยื่อหุ้มเซลล์ของเราที่จะนำไปสู่เซลล์และทำให้เกิดโรค โดยไขมันที่ผ่านก่านกลั่นและหืนจะทำให้เกิดปัญหาขึ้นทั่วร่างกายของเรา ทำให้ระบบคุ้มกันลดต่ำลงเกิดความแออัดของเซลล์และการอัดเสบนำไปสู่การเกิดโรคได้ค่ะ แทนที่เราจะเลือกน้ำมันพืชที่ผ่านการกลั่น เดิมไฮโดรเจน รวมถึงไขมันทรานส์ มาเลือกน้ำมันที่มีคุณภาพและดีต่อสุขภาพอย่าง น้ำมันแฟลกซ์ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปลา และน้ำมันมะกอกที่มีสาร phytonutrients จะไปช่วยลดการอักเสบในร่างกาย อาจช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้อีกด้วยค่ะ ดูเหมือนว่าน้ำมันจะไม่ค่อยสำคัญเท่าไหร่จริงไหมคะ แต่ระบบประสาทและสมองของคนเราถูกควบคุมการทำงานและถูกสร้างขึ้นจากกรดไขมันถึงประมาณ 60 เปอร์เซนต์เลยล่ะค่ะ ดังนั้นการเลือกน้ำมันในการประกอบอาหารก็สำคัญและไม่ควรมองข้ามค่ะ

 

12.มะเขือเทศ

มะเขือเทศผลสีแดงสดใสนี้จัดเป็นแหล่งอาหารที่ดีของไลโคปีน และยังอยู่ในกลุ่มของผักผลไม้สี้ส้มสดใสของสารแคโรทีนอยด์อีกด้วยค่ะ พบว่าไลโคปีนมีการหยุดและยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งและยังช่วยยับยั้งสารต้านอนุมูลอิสระที่ทำให้ผิวเราเสียง่ายอีกด้วยค่ะ

 

13.ชีสและโยเกิร์ต

ชีสและโยเกิร์ตจัดเป็นผลิตภัณฑ์จากนมที่ได้จากการบ่มเพาะที่เป็นแหล่งอุดมไปด้วยโปรไบโอติก โดยเป็นแบคทีเรียชนิดที่ดีซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่ส่งเสริมความสมดุลของแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์ในลำไส้ของเรา อีกทั้งยังช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันได้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของระบบภูมิคุ้มกันของเรา ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยว่าอาหารเสริมและโปรไบโอติกสามารถหยุดการเจริญเติบโตของเนื้องอกและช่วยต่ออายุให้เซลล์ได้อีกด้วย

 

14.ผักและผลไม้ที่มีสีส้มสดใส

ผักและผลไม้ที่มีสีส้มที่เกิดจากเม็ดสีธรรมชาติที่เกิดในพืชผักเพื่อให้มีสีเฉพาะที่เรียกว่าสาร phytochemicals และสารที่ให้สีส้มเราจะเรียกมันว่า สารแคโรทีนอยด์ (alpha-carotene, beta-carotene, lycopene, lutein, cryptoxanthin) เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระอีกชนิดของพืชผัก ดังนั้นการเลือกรับประทานผักและผลไม้หลากหลายสีก็เท่ากับคุณได้เพิ่มสารต่อต้านอนุมูลอิสระได้มากเท่านั้น โดยผักและผลไม้ที่มีสีส้มจำพวก แครอท ฟักทอง มันหวานจะมีสารเบต้าแคโรทีนซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ล้างพิษ และการต่อสู้กับโรคมะเร็งผิวหนังตาและอวัยวะต่างๆ ค่ะ

 

15.ชาเขียว

ชาเขียวมัทฉะ ที่เป็นชาแบบดั้งเดิมไม่มีการปรุงแต่งรสใดๆ และดูเหมือนว่าการเริ่มดื่มชาหลังจากชงเสร็จใหม่ๆ ก็ยิ่งจะทำให้มีประสิทธิภาพดีที่สุดเลยก็ว่าได้ เนื่องจากในชาเขียวสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อมะเร็งได้ ชาเขียวมีสารประกอบโพลีฟีนอลรวมทั้ง epigallocatechin-3-gallate ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการยับยั้งการแพร่กระจายหรือลุกลามของเนื้องอกและ angiogenesis ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเติบโตของเนื้องอกและการแพร่กระจายของเนื้อร้าย สาร catechin, gallocatechin และ EGCG ที่เป็นสารต่อต้านอนุมูอิสระซึ่งมีศักยภาพมากที่สุดและส่งผลการต่อต้านมะเร็งโดยมีฤทธิ์ประมาณ 25-100 เท่าของประสิทธิภาพจากวิตามินซีและอีเลยทีเดียวค่ะ

 

www.flickr.com/photos/paulrysz/9274206972/

www.flickr.com/photos/nestle/13058324015/

10 ชนิดของอาหารที่มีแร่ธาตุแมงกานีสสูง

Source: Flickr (click image for link)

แร่ธาตุหรือเกลือแร่ที่มีชื่อว่า “แมงกานีส” เป็นแร่ธาตุที่มีอยู่ในร่างกายของเราโดยเป็นอีกหนึ่งแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อร่างกายซึ่งไม่แพ้กับแร่ธาตุตัวอื่นๆ เลยค่ะ ถึงแม้ว่าจะเป็นแร่ธาตุที่คนส่วนใหญ่มักจะหลงลืมไปคิดว่าร่างกายต้องการแค่เพียงเล็กน้อย แต่ถึงอย่างนั้นร่างกายของเรากลับไม่สามารถขาดได้เลยค่ะ ถ้าร่างกายได้รับแมงกานีสเพียงพอจะเป็นประโยชน์ต่อร่างกายด้วยค่ะ โดย แมงกานีส จะพบมากในส่วนของโครงกระดูก ตับ ตับอ่อน หัวใจและต่อมพิทูอิทารี่ โดยประโยชน์หลักๆของแร่ธาตุชนิดนี้ก็คือจะไปช่วยในเรื่องของการตอบสนองของกล้ามเนื้อการยืดตัวหดตัวดี ช่วยทำให้ไม่ปวดหลังและทำให้ร่างกายสดชื่นมีความจำที่ดีและอื่นๆอีกมากมาย แมงกานีส มีความจำเป็นต่อการสังเคราะห์เนื้อเยื่อเกี่ยวพันในกระดูกและกระดูกอ่อน แมงกานีสจะมีส่วนที่คล้ายกับแมกนีเซียมคือ สารอาหารชนิดนี้จะมีการสูญเสียระหว่างกระบวนการดัดแปลงทางอาหาร เช่น เมื่อธัญพืชถูกเปลี่ยนเป็นแป้งขัดขาวจากการศึกษาวิจัยพบว่าผู้หญิงที่เป็นโรคกระดูกพรุนจะมีระดับแมงกานีสต่ำในระดับเพียงแค่ 25% ของกลุ่มทดสอบที่มีการควบคุมการได้รับสารอาหารนั่นเอง โดยสถาบันวิจัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกาได้แนะนำปริมาณแมงกานีสที่ควรได้รับต่อวันคือประมาณ 2-5 มิลลิกรัมต่อวันค่ะ

โดยอาการเมื่อขาดแร่ธาตุแมงกานีส จะมีดังนี้ค่ะ

1.ทำให้เสียการทรงตัว เดินเซ

2.เลือดแข็งตัวช้า

3.มีปัญหาในด้านการเผาผลาญไขมัน โปรตีน และคาร์โบไฮเดรต

4.มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูก กระดูกอาจจะผิดรูป

5.ถ้าขาดมากอาจจะถึงขั้น ชัก หูหนวก หรือตาบอด

สำหรับอาการของการได้รับแมงกานีสมากเกินไปส่วนใหญ่จะจากการสัมผัสมากกว่าจากการที่ได้รับจากอาหารที่รับประทานเข้าไป และถ้าได้รับมากเกินไปจะทำให้มีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาท มีอาการคล้ายกับโรคพาร์กินสันหรือโรคสันนิบาต ค่ะ

 

10 ชนิดของอาหารที่มีแร่ธาตุแมงกานีสสูง

Source: Flickr (click image for link)

1.หอยแมลงภู่

ในอาหารจำพวกซีฟู้ดส์หรืออาหารทะเลถือว่ามีแร่ธาตุแมงกานีสที่สูงโดยเฉพาะหอยแมลงภู่ค่ะ โดยแมลงภู่ที่ได้ทำการปรุงสุกปริมาณ 85 กรัม มีแร่ธาตุแมงกานีสอยู่ถึง 5.8 มิลลิกรัม ค่ะ

 

2.ข้าวกล้อง

ธัญพืชก็เป็นอาหารอีกหนึ่งชนิดที่มีแร่ธาตุแมงกานีสอยู่สูงเช่นกันค่ะ และเมื่อเปรียบเทียบกับธัญพืชชนิดอื่นๆ ข้าวกล้อง หรือ Brown Rice ที่ทำการหุงสุข 1 ถ้วย ปริมาณ 195 กรัม จะมีแร่ธาตุแมงกานีสอยู่ประมาณ 2.1 มิลลิกรัม

 

3.ฮาเซลนัท

เมล็ดฮาเซลนัท ปริมาณ 56 กรัม มีแร่ธาตุแมงกานีสอยู่ประมาณ 3.1 มิลลิกรัม ซึ่งเมล็ดฮาเซลนัทที่ทั่วไปเราจะเห็นกันในรูปแบบที่ผสมในช็อกโกแลต จะไม่ค่อยทานเล่นนกันแบบเป็นเม็ดๆ เท่าไหร่

 

4.ขนมปังโฮลวีท

ขนมปังที่ผ่านการขัดสีจะทำให้แมงกานีสหลุดหายไปด้วย เพราะฉะนั้นขนมปังอย่างขนมปังโฮลวีทจึงมีแร่ธาตุแมงกานีสอยู่สูงค่ะ โดยขนมปังโฮลวีท 1 แผ่น ปริมาณ 28 กรัม มีแร่ธาตุแมงกานีสอยู่ประมาณ 0.7 มิลลิกรัม

 

5.เต้าหู้

เต้าหู้ที่ทำจากถั่วเหลืองหรือเต้าหู้สีเหลืองนั้นเป็นแหล่งของแร่ธาตุแมงกานีสชั้นดี โดยเต้าหู้ครึ่งถ้วย ปริมาณ 126 กรัม มีแร่ธาตุแมงกานีสอยู่ประมาณ 1.5 มิลลิกรัม

 

6.ปลากระพง

ในปลาบางชนิดก็มีแร่ธาตุแมงกานีสค่ะ เช่น ปลาเทราท์ แต่ปลากระพงจะมีแร่ธาตุแมงกานีสอยู่สูกว่า ซึ่งปลากระพงปรุงสุกปริมาณ 85 กรัม มีแร่ธาตุแมงกานีสอยู่ประมาณ 1.0 มิลลิกรัม ค่ะ

 

7.เมล็ดฟักทอง    

เมล็ดฟักทองทานเล่นๆ เคี้ยวเพลินๆ เคี้ยวไปเคี้ยวมาก็ได้รับแร่ธาตุแมงกานีสมาด้วย โดยเมล็ดฟักทอง 1 ถ้วย ปริมาณ 129 กรัม มีแร่ธาตุแมงกานีสอยู่ 5.9 มิลลิกรัม ค่ะ

 

8.ชาดำ

ใครที่ชอบดื่มชาดำซึ่งในชาดำก็มีแร่ธาตุแมงกานีสติดอันดับด้วยค่ะ โดยการดื่มชาดำ 1 ถ้วย ปริมาณ 237 กรัม จะมีแร่ธาตุแมงกานีสอยู่ประมาณ 0.5 มิลลิกรัม

 

9.ผักขม

ใบสีเขียวเข้มอย่างผักขมที่มีประโยชน์มากมายต่อสุขภาพของเรานี้ยังให้แร่ธาตุแมงกานีสที่สูงเลยทีเดียวค่ะ ซึ่งใบของผักขมสุก 1 ถ้วย ปริมาณ 180 กรัม มีแร่ธาตุแมงกานีสอยู่ประมาณ 1.7 มิลลิกรัม

 

10.ถั่วลิมา

ถั่วแทบทุกชนิดถือว่ามีแร่ธาตุแมงกานีสอยู่สูงโดยเฉพาะ ถั่วลิมา ที่มีเมล็ดเป็นสีเขียว ซึ่งถั่วลิมา 1 ถ้วย ปริมาณ 170 กรัม มีแร่ธาตุแมงกานีสอยู่ถึง 2.1 มิลลิกรัมเลยที่เดียวค่ะ

 

 

อ้างอิง : ค่าแร่ธาตุแมงกานีสในอาหารจาก www.healthaliciousness.com

www.flickr.com/photos/nwongpr/29463086292/

www.flickr.com/photos/kagen33/30280659296/

  • 1
  • 2