กรดอะมิโน (amino acid) คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร

Source: Flickr (click image for link)

“กรดอะมิโน (amino acid)” เป็นหัวข้อที่จะนำเสนอหลังจากได้ทำความรู้จักกับกรดอะมิโนจำเป็นที่สำคัญไป เลยทำให้คิดได้ว่าหลายๆ คนอาจจะสงสัยว่าแล้วกรดอะมิโนจริงๆ แล้วมันคืออะไรกันนะ วันนี้เลยไม่รีรอที่จะนำเอาข้อมูลและรายละเอียดที่สำคัญๆ เกี่ยวกับกรดอะมิโนมาเขียนและนำเสนอให้หลายๆ ท่านที่อาจจะยังไม่รู้จัก หรือรู้จักบ้างแต่ยังไม่ค่อยเข้าใจกันเท่าไหร่ จะว่าไปแล้วพวกเราอาจจะคุ้นเคยกับชื่อนี้กันเป็นอย่างดีถ้าเราตั้งใจเรียน พยายามนั่งอยู่หน้าสุดในชั้น หรือแม้แต่แอบหลับในพวกคาบวิชาชีววิทยา วิชาเคมี ก็คงจะคุ้นหูผ่านตามาบ้าง อาจจะพอทำให้รู้มาบ้างว่า กรดอะมิโน (amino acid) คือ ชีวโมเลกุลที่มีทั้งหมู่ฟังก์ชันอะมิโนและคาร์บอกซิลเป็นส่วนประกอบ กรดอะมิโนเป็นองค์ประกอบสำคัญของโปรตีนซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตทุกชนิด โดยในวิชาชีวเคมี คำว่า “กรดอะมิโน” มักหมายความถึงกรดอะมิโนแบบแอลฟา (alpha animo acids) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่ทั้งหมู่อะมิโนและหมู่คาร์บอกซิลติดอยู่กับคาร์บอนอะตอมเดียวกัน เรียกว่า แอลฟาคาร์บอนค่ะ ด้วยแค่เนื้อหาที่กล่าวมาก็คงทำให้หลายๆ คนเกิดอาการง่วงรวมถึงผู้เขียนด้วย ดังนั้นการที่เราจะมาเขียนเรื่องราวของกรดอะมิโนในวันนี้ เราจึงจะเน้นไปในทางด้านของสุขภาพและความสำคัญต่อร่างกายยังไงบ้างแบบมีสาระสำคัญเน้นๆ กันไปเลย ก่อนที่เราจะพากันง่วงไปกว่านี้ไปเข้าเรื่องเลยดีกว่าค่ะ

 

กรดอะมิโน (amino acid) คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร

Source: Flickr (click image for link)

ในด้านของสุขภาพและความสำคัญต่อร่างกายมนุษย์อย่างเราๆ กรดอะมิโน คือ โปรตีนที่ถูกย่อยให้มีขนาดเล็กที่สุดเพื่อให้ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้งานได้ ความจริงแล้วรองจากน้ำที่เป็นส่วนประกอบใหญ่ที่สุดในร่างกายของมนุษย์เราก็จะเป็นโปรตีนที่ประกอบอยู่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ และแน่นอนว่าโปรตีนมีบทบาทสำคัญในเกือบทุกระบบของกระบวนการทางชีววิทยาที่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับหลายโครงสร้างรวมทั้งหน้าที่ในร่างกายของเราด้วยค่ะ และเมื่อร่างกายของเราได้ทำการย่อยโปรตีนแล้วโปรตีนเหล่านั้นจะอยู่ในรูปของกรดอะมิโน โดยกรดอะมิโนจะถูกนำไปใช้ในกระบวนการต่างๆ ของร่างกายนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนของเซลล์กล้ามเนื้อรวมถึงเนื้อเยื่อส่วนใหญ่ก็ประกอบไปด้วยกรดอะมิโนค่ะ ซึ่งก็หมายความว่าเซลล์เหล่านี้ทำหน้าที่สำคัญในร่างกายของมนุษย์เราหลายอย่างมากมาย กรดอะมิโนที่พบในอาหาร พบว่า ไข่ มีกรดอะมิโนจำเป็นที่สมบูรณ์ครบถ้วนต่อความต้องการของร่างการวมถึงโปรตีนจากสัตว์ทั่วไป จำพวก เนื้อสัตว์ เนื้อปลา นม และอื่นๆ ก็มีปริมาณกรดอะมิโนที่เพียงพอค่ะ ส่วนแหล่งที่มาของกรดอะมิโนในที่พบในพืช ได้แก่ พืชตระกูลถั่ว เมล็ดธัญพืช ถั่ว และเมล็ดพืช แต่ถ้าว่าเลือกรับประทานแค่เพียงชนิดใดชนิดหนึ่งก็จะได้รับปริมาณกรดอะมิโนที่ไม่เพียงพอ  ดังนั้นคนที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์หรืออยากได้รับโปรตีนและกรดอะมิโนจากพืชก็ควรสามารถตรวจสอบปริมาณของชนิดอาหารนั้นๆ เลือกรับประทานอาหารที่หลากหลายของอาหารประเภทพืชตระกูลถั่วต่างๆ และธัญพืชค่ะ

วามสำคัญของกรดอะมิโน (amino acid)

  • สร้างโครงสร้างของเซลล์
  • มีบทบาทสำคัญในการขนส่งและการจัดเก็บสารอาหาร
  • กรดอะมิโนมีอิทธิพลต่อหน้าที่ของอวัยวะ ต่อม เส้นเอ็น และเส้นเลือด
  • มีความจำเป็นในการสร้างเอนไซม์หรือน้ำย่อยต่างๆ ร่วมถึงฮอร์โมน และสารสื่อประสาท
  • มีความจำเป็นสำหรับการรักษาบาดแผลและการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ
  • ซ่อมแซมกล้ามเนื้อ กระดูก ผิวหนังและเส้นผมตลอดจนการกำจัดของเสียประเภทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญ
  • กระบวนการย่อยสลายของสารอาหารภายในเซลล์ทั่วร่างกาย

กรดอะมิโนมีบทบาทสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเผาผลาญของร่างกายของเราและเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต การซ่อมแซม การขนส่ง การจัดเก็บ และการใช้งาน กรดอะมิโนมีผลต่อองค์ประกอบต่างๆ มากมาย รวมไปถึงกล้ามเนื้อ อวัยวะ ระบบการย่อย เลือด และระบบการทำงานของสมอง เนื่องด้วยร่างกายของเราต้องใช้กรดอะมิโนที่แตกต่างกันถึง 20 ชนิด เพื่อความสมบูรณ์ในการทำหน้าที่ต่อสุขภาพและร่างกายของเรา จาก 20 ชนิดของกรดอะมิโนที่ร่างกายของเราต้องการ ซึ่งมีกรดอะมิโนที่ร่างกายของเราสามารถสร้างขึ้นมาเองได้อยู่ 11 ชนิด และมีอีก 9 ชนิดที่ร่างกายของเราไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้โดยจะได้รับจากอาหารที่เรากินเข้าไป จะเรียกกรดอะมิโนนี้ว่า กรดอะมิโนที่จำเป็น ปริมาณของกรดอะมิโนแต่ละชนิดที่ร่างกายของเราต้องการจะแตกต่างกันไป จากกรดอะมิโน 20 ชนิดซึ่งเป็นโปรตีนในร่างกายของเราจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทที่สำคัญ ดังนี้

1.กรดอะมิโนที่จำเป็น เป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายของเราไม่สามารถสร้างขึ้นมาเองได้จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับจากอาหารที่เรากินเข้าไป มีกรดอะมิโนที่จำเป็น 9 ชนิด คือ histidine, isoleucine, leucine, lysine, methionine, phenylalanine, threonine, tryptophan valine และ arginine โดย arginine จะจัดอยู่ในกลุ่มของเด็กทารกเท่านั้นเนื่องจากเด็กทารกไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ แต่เมื่อถึงวัยผู้ใหญ่ร่างกายจึงสามารถสร้างขึ้นเองได้ ดังนั้นเด็กทารกจะต้องการกรดอะมิโนจำเป็นจำนวน 10 ชนิด ส่วนวัยผู้ใหญ่ที่สามารถสร้างอาร์จีนีนได้แล้วจะมีกรดอะมิโนจำเป็นเหลือเพียง 9 ชนิดค่ะ

2. กรดอะมิโนที่ไม่จำเป็น เป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายของเราสามารถสร้างหรือสังเคราะห์ขึ้นมาเองได้ เช่น alanine, asparagine, aspartic acid, cysteine, glutamic acid, glutamine, glycine, proline, serine, and tyrosine

 

อย่างไรก็ตามการเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมและหลากหลายก็ยังคงเป็นแนวทางการเลือกปฎิบัติที่สำคัญ แค่เพียงเราทราบว่าอาหารแต่ชนิดแต่ละประเภทคืออะไร มาจากไหน มีอะไรบ้าง เราก็สามารถเลือกและปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมต่อสุขภาพและตัวเราเองได้ค่ะ  หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยทำให้เข้าใจและเห็นความสำคัญของกรดอะมิโน (amino acid) มากขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านได้ไม่มากก็น้อยนะคะ

 

www.flickr.com/photos/149561324@N03/25388616628/

www.flickr.com/photos/_sk/5086171972/

Leave a Reply