Browse Tag: Quinoa

16 ชนิดของพืชและผักที่มีกรดอะมิโนจำเป็นสูง

Source: Flickr (click image for link)

โปรตีน จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในสารอาหารที่สำคัญที่สุดในร่างกายของมนุษย์ แค่โปรตีนเพียงเล็กน้อยก็สามารถส่งผลในการซ่อมแซมหรือบำรุงในด้านต่างๆ ของสุขภาพเราได้ ทั้งในด้านความแข็งแรงทางร่างกายไปจนถึงเส้นผม ผิวหนัง และเล็บ ห่วงโซ่กรดอะมิโนของโปรตีนจะเป็นส่วนที่สำคัญในบทบาทการทำงานภายในร่างกายเรา ซึ่งโปรตีนนั้นเป็นสารอาหารที่สำคัญมากถ้าร่างกายเราได้รับอย่างเพียงพอค่ะ นอกจากนี้โปรตีนยังเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำงานของระบบประสาทให้มีประสิทธิภาพที่ดีซึ่งก็รวมไปถึงระดับของพลังงานทั้งหมดด้วย ทราบกันดีว่านอกจากโปรตีนที่เป็นสารอาหารที่สำคัญและไม่ควรละเลยหรือมองข้าม ก็ยังมีสารอาหารในส่วนอื่นๆ อย่างส่วนของคาร์โบไฮเดรตและไขมันที่มีอยู่ในอาหารตามสัดส่วนของร่างกายที่ควรได้รับในแต่ละวันอีกด้วยค่ะ โดยร่างกายของเราต้องใช้กรดอะมิโนที่แตกต่างกันถึง 20 ชนิด เพื่อความสมบูรณ์ในการทำหน้าที่ต่อร่างกายและสุขภาพของเรา จาก 20 ชนิดของกรดอะมิโนที่ร่างกายของเราต้องการนั้น มีกรดอะมิโนที่ร่างกายของเราสามารถสร้างขึ้นมาเองได้อยู่ 11 ชนิด และมีอีก 9 ชนิดที่ร่างกายของเราไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ค่ะนอกเสียจากจะได้รับจากอาหารที่เรากินเข้าไป จึงเรียกกรดอะมิโนนี้ว่า กรดอะมิโนที่จำเป็น (essential amino acid) โดย กรดอะมิโนที่จำเป็น เป็นกรดอะมิโนที่ได้รับจากอาหารที่เรากินเข้าไป ซึ่งมีกรดอะมิโนที่จำเป็นอยู่ 9 ชนิด คือ histidine, isoleucine, leucine, lysine, methionine, phenylalanine, threonine, tryptophan valine และ arginine โดย arginine จะจัดอยู่ในกลุ่มของเด็กทารกเท่านั้นเนื่องจากเด็กทารกไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ แต่เมื่อถึงวัยผู้ใหญ่ร่างกายจึงสามารถสร้างขึ้นเองได้ ดังนั้นเด็กทารกจะต้องการกรดอะมิโนจำเป็นจำนวน 10 ชนิด ส่วนวัยผู้ใหญ่ที่สามารถสร้างอาร์จีนีนได้แล้วจะมีกรดอะมิโนจำเป็นเหลือเพียง 9 ชนิดค่ะ ซึ่งหลายๆ คนที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์และต้องการได้รับกรดอะมิโนที่จำเป็นจากอาหารประเภทพืช ธัญพืช หรือผัก และเพื่อการที่ร่างกายจะได้รับกรดอะมิโนที่จำเป็นให้เพียงพอเหมาะสมต่อความต้องการนั้น แน่นอนว่าควรที่จะนำมาจับคู่หรือรับประทานให้หลากหลายในแต่ละเมนูค่ะ อีกทั้งอาหารจากพืชและผักเหล่านี้ยังสามารถสร้างโปรตีนที่สมบูรณ์ภายในร่างกายได้ทันที ดังนั้นวันนี้เราเลยรวบรวมอาหารประเภทพืชและผักที่มีกรดอะมิโนที่สำคัญๆ มาให้เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการเลือกรับประทานกันค่ะ

 

16 ชนิดของพืชและผักที่มีกรดอะมิโนจำเป็นสูง

Source: Flickr (click image for link)

1.ควีนัว

ควีนัว (Quinoa) ที่ถูกยกให้เป็นสุดยอดอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมากและเป็นพืชที่มีโปรตีนอยู่ถึง 8 กรัม ต่อ ควีนัวสุก 1 ถ้วยตวง รวมถึงเส้นใยและแร่ธาตุต่างๆ มากมาย ซึ่งในคนที่รักสุขภาพกจะเลือกรับประทานควีนัวแทนข้าวกันเลยทีเดียวค่ะ

 

2.ถั่วเหลือง

ส่วนใหญ่แล้วคนที่ทานมังสวิรัติ เจ หรือคนที่แพ้แลคโตสในนมวัวส่วนใหญ่จะเลือกรับประทานผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เนื่องจากถั่วเหลืองให้โปรตีนได้เทียบเท่ากับเนื้อสัตว์และนมวัว นอกจากนี้ถั่วเหลืองยังเป็นโปรตีนที่สมบูรณ์อีกด้วยนั่นก็หมายความว่า มีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายครบถ้วนนั่นเองค่ะ

 

3.เมล็ดเชีย

เมล็ดเชีย (Chia Seed) เป็นพืชที่อยู่ในตระกูลเดียวกันกับผักสาระแหน่ และเป็นที่ยอมรับให้เป็นสุดยอดอาหารเพื่อสุขภาพ เมล็ดเชียเต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ กรดไขมันโอเมก้า 3 และกรดอะมิโนที่จำเป็น เมล็ดเชียถูกนิยมนำมารับประทานเพื่อเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพอย่างแพร่หลาย โดยจะนำไปแช่น้ำเพื่อให้ย่อยง่ายขึ้นและเพิ่มลงในสมูทตี้ พุดดิ้ง เพื่อความอร่อยค่ะ

 

4.เมล็ดบักวีท

เมล็ดบักวีท (Buckwheat) เป็นเมล็ดธัญพืชที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการซึ่งมีโปรตีนและเส้นใยอาหารสูง อีกทั้งยังอุดุมไปด้วยปริมาณที่ยอดเยี่ยมของกรดอะมิโนจำเป็นค่ะ

 

5.ผักโขม

ผักโขม (Amaranth) เมล็ดผักโขมมักถูกใช้ในการทำแป้งแบบเพื่อสุขภาพ คือแป้งธัญพืช พาสต้าที่มีสีเขียว ในส่วนของใบนั้นจะถูกนำมารับประทานสดๆ ในรูปแบบของสลัดหรือผสมปั่นลงในสมูทตี้ ผักโขมนอกจากมีโปรตีนสูงแล้วยังมีกรดอะมิโนจำเป็นอีกด้วยค่ะ

 

6.สาหร่ายเกลียวทอง

สาหร่ายเกลียวทองหรือที่เราเรียกหรือคุ้นหูกันว่า สาหร่าย Spirulina ค่ะ สาหร่ายเกรียวทองที่ส่วนใหญ่พบในรูปแบบอาหารเสริม ก็ได้ถูกยกให้เป็นสุดยอดอาหารที่ให้ประโยชน์คุณค่าทางโภชนาการต่อสุขภาพ ถึงแม้จะไม่ได้เป็นโปรตีนที่สมบูรณ์เนื่องจากขาดกรดอะมิโนจำเป็นอยู่สองตัว คือ methionine และ cysteine จึงอยากจะแนะนำให้รับประทานคู่กับถั่วและธัญพืชอย่าง ข้าวโอ๊ต ก็สามารถช่วยเพิ่มในส่วนที่ขาดหายไปได้ค่ะ

 

7.เมล็ดเฮ็มพ์

เมล็ดเฮ็มพ์ (Hemp Seeds) หรือ กัญชง เป็นอีกหนึ่งชนิดของพืชที่เป็นแหล่งของโปรตีนที่สมบูรณ์มีกรดอะมิโนที่จำเป็นครบถ้วน นอกจากแคลอรี่ต่ำแล้วยังให้กรดไขมันชนิดดีอย่างโอเมก้า 3 สูง ส่วนใหญ่จะเป็นที่รู้จักกันอย่างดีในคนที่ออกกำลังกายหรือเพาะกล้าม จะนำมาชงผสมในเครื่องดื่มต่างๆ เพื่อเพิ่มโปรตีนนั่นเอง

 

8.เนยถั่ว

เนื่องจากเนยถั่วได้ถูกทำมาจากถั่วลิสงถ้าจะให้ดีเลือกแบบที่ไม่มีสิ่งใดผสมเลยนอกจากถั่วล้วนๆ จะนำมาจิ้มรับประทานกับแอบเปิ้ลเขียวก็ดี นอกจากได้รับโปรตีนและเส้นใยสูงอีกทั้งยังมีกรดไขมันที่ดีแล้วยังได้รับกรดอะมิโนจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสมอีกด้วยค่ะ

 

9.บล็อคโคลี่

ผักตระกูลกะหล่ำอย่างบล็อคโคลี่นอกจากให้โปรตีนสูงและมีกรดอะมิโนที่จำเป็นจึงถูกนำมาประกอบอาหารได้อย่างง่ายๆเลย ไม่ว่าจะต้ม ผัด แกง ทอด ก็อร่อยและรับประโยชน์ไปเลยเต็มๆ ค่ะ

 

10.ผักปวยเล้ง

ผักปวยเล้ง (Spinach) เป็นผักที่อยู่ในตระกูลเดียวกับผักโขม และยังมีคุณประโยชน์ที่คล้ายกันอีกด้วย มีโปรตีนและเส้นใยสูง คุณค่าสารอาหารมากมายรวมถึงกรดอะมิโนจำเป็นที่มีปริมาณยอดเยี่ยมอีกด้วย

 

11.ข้าวโอ๊ต

ข้าวโอ๊ตเป็นธัญพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมากค่ะ มีโปรตีนและเส้นใยอาหารที่สูงและมีกรดอะมิโนจำเป็นชนิด Methionine อย่างโดดเด่นเลยทีเดียว

 

12.ข้าวกับถั่ว

ข้าวกับถั่วจัดเป็นคู่หูที่ลงตัวและได้รับโปรตีนที่สมบูรณ์ครบถ้วย เนื่องจากถั่วส่วนใหญ่มีปริมาณเมทไธโอนีนที่ต่ำและมีปริมาณไลซีนที่สูง ซึ่งในขณะที่ข้าวมีปริมาณไลซีนที่ต่ำและมีปริมาณเมทไธโอนีนสูง การหุงข้าวผสมถั่วเขียว หรือรับประทานข้าวกับอาหารจำพวกถั่วเหลือง ถั่วต่างๆ ก็จะได้รับกรดอะมิโนที่จำเป็นอย่างครบถ้วนเลยล่ะค่ะ

 

13.ควอร์น

ควอร์น (Quorn) ในคนที่รักสุขภาพและทานมังสวิรัติจะรู้จักกันเป็นอย่างดีค่ะ ควอร์น คือ ไมโครโปรตีน ที่เกิดจากการหมักบ่มจุลินทรีย์ประเภท ฟังกัส (Fungus) และขึ้นรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ใช้รับประทานแทนเนื้อสัตว์และเป็นโปรตีนที่สมบูรณ์ค่ะ

 

14.ฮัมมูสและขนมปังพิต้า

ฮัมมูส (Hummus) เป็นเครื่องจิ้มสไตล์ตะวันออกกลาง และเป็นอาหารว่างเพื่อสุขภาพที่กำลังนิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย ซึ่งฮัมมูสจะนิยมรับประทานคู่กับขนมปังพิต้า Pita Chickpeas เนื่องจากฮัมมูสมีปริมาณไลซีนที่ไม่เพียงพอจึงควรรับประทานคู่กับ Pita Chickpeas ซึ่งมีปริมาณไลซีนเยอะค่ะ

 

15.ดอกกะหล่ำ

ถ้านึกไม่ออกว่าเย็นนี้จะกินอะไร? เมนูผัดดอกกะหล่ำหรือนำไปลวกจิ้มกับน้ำพริกก็ไม่เลวเลยสำหรับอาหารมื้อเย็นนี้ค่ะ ดอกกะหล่ำจัดว่าเป็นผักที่มีกรดอะมิโนจำเป็นที่เรียกว่า histidine อยู่สูง การเลือกนำผักชนิดนี้มาปรุงอาหารผสมกับผักอื่นๆ จะช่วยให้ได้รับคุณค่าทางอาหารและกรดอะมิโนจำเป็นที่ครบถ้วน

 

16.ธัญพืชและพืชตระกูลถั่ว

พบว่าธัญพืชไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ต่างๆ กับพืชตระกูลถั่วทุกชนิดจัดเป็นแหล่งโปรตีนที่สมบูรณ์และคุณค่าทางอาหารที่สำคัญไม่แพ้เนื้อสัตว์ อย่างไรการรับประทานอาหารที่หลากหลายในแต่ละมือถือว่าเป็นวิธีที่สำคัญและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ

 

 

www.flickr.com/photos/149561324@N03/38578649772/

www.flickr.com/photos/30478819@N08/36973263392/

ควีนัวคืออะไร มีคุณค่าและประโยชน์อย่างไร

Source: Flickr (click image for link)

มาถึงอีกชนิดหนึ่งของอาหารที่ได้ถูกยกให้เป็นสุดยอดของอาหาร (Super Food) อีกอย่างหนึ่งเลยทีเดียว และจะไม่พูดถึงไม่ได้อย่างแน่นอนจากหัวข้อที่แล้วเกี่ยวกับ เมล็ดเจีย (Chia Seed) ซึ่งคิวต่อไปก็ต้องเป็นสุดยอดอาหารชนิดนี้เลยค่ะ และใครหลายคนต่างก็คงจะทราบกันบ้างอยู่แล้วสำหรับ “ควีนัว (Quinoa)” โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่หันมารักสุขภาพกันมากขึ้นคงไม่พลาดอาหารชนิดนี้เป็นอย่างแน่นอน และสำหรับในคนที่ยังกำลังหาข้อมูลหรือลังเลในการเลือกอาหารชนิดนี้มาลองรับประทาน ก็เร่เข้ามาทางนี้ได้เลยค่ะเดี๋ยวเราจะได้ทราบข้อมูลที่น่าสนใจนี้ไปพร้อมๆ กัน ถูกยกให้เป็นสุดยอดอาหารซะขนาดนี้แสดงว่าไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน โดยวันนี้จะเขียนรายละเอียดความเป็นมาและคุณค่าทางโภชนาการของควีนัวนั้นมีมากมายขนาดไหน ทำไมถึงได้นิยมกันมากนักในกลุ่มของคนที่รักสุขภาพ ควีนัว ได้ถูกจัดให้เป็นสุดยอดอาหารหรือ Super Food อย่างแท้จริงนี้ในปี 2013 ทางองค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้เป็นปีแห่งควีนัวเลยทีเดียวเชียวค่ะ แค่นี้ก็ทำให้อยากรู้ซะแล้วสิว่าเจ้าควีนัวนี้มีคุณค่ามากมายยังไงและมีประโยชน์อย่างไรบ้าง จะเข้ามาดูแบบผ่านๆ หรือจะมาเก็บข้อมูลก็ไม่ว่ากันค่ะข้อแค่บล็อกเกี่ยวกับสุขภาพที่ทำขึ้นมานี้ ได้แบ่งปันข้อมูลข่าวสารและสามารถเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านก็เพียงพอใจแล้วค่ะ อย่างนี้เรารีบมาอ่านข้อมูลของควีนัวกันเลยดีว่าเนอะ

 

ควีนัว (Quinoa) คืออะไร มีคุณค่าและประโยชน์อย่างไรบ้าง

Source: Flickr (click image for link)

ถึงแม้ว่าควีนัวจะเพิ่งมาเป็นที่รู้จักและเป็นที่สนอกสนใจนิยมกันเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาไม่นานนี้เองค่ะ โดยเฉพาะในกลุ่มของคนที่รักสุขภาพแต่รู้หรือเปล่าคะว่าควีนัวมีอายุยาวนานมากถึง 7,000 ปีมาแล้ว (นี่เราไปอยู่ไหนมา) ก็อาจจะเป็นเพราะว่าควีนัวเป็นพืชพันธุ์พื้นเมืองที่มีถิ่นกำเนิดอยู่บนเทือกเขาแอนดิสทางแถบทวิปอเมริกาใต้ของประเทศเปรู โบลิเวีย โคลอมเบีย ชิลี และเอกวาดอร์ นู่นแน่ะ เราจึงยังไม่ได้รู้จักกันให้เร็วกว่านี้สิน่ะ แล้วควีนัวเนี่ยก็ยังเป็นอาหารชั้นยอดของชาวอินคาโบราณอีกด้วยค่ะ โดยชาวอินคาได้ขนานนามให้กับพืชชนิดนี้ว่า “”the gold of the Incas” หรือ “ขุมทองของอินคา” นั่นเอง เพราะชาวอินคามีความเชื่อและถือว่าเจ้าเมล็ดควีนัวนั้นเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ ทั้งยังทำการเพาะปลูกกันมานานแสนนานแล้วมากกว่าสามถึงสี่พันปีซะอีกค่ะ ด้วยลักษณะรูปร่างหน้าตาของเมล็ดควีนัวนั้นเหมือนกับธัญพืชเป็นเม็ดเล็กและกลม อีกทั้งยังมีหลักการในการรับประทานเหมือนกับข้าวสาลี ข้าวไรย์ ข้าวบาร์เลย์ หรือข้าวโอ๊ต หลายคนเลยเรียกกันว่าข้าวควีนัว ซึ่งในต่างประเทศเขาก็นิยมนำควีนัวมารับประทานกันแทนข้าวหรือพาสต้า แต่จริงๆ แล้วควีนัวนั้นยังจัดเป็นพืชตระกูลที่มีชนิดใกล้เคียงกับหัวบีท ผักขม และผักปวยเล้ง ซึ่งควีนัวจะมีทั้งหมด 3 ประเภทหลักๆ ได้แก่ สีขาว สีแดงและสีดำ

Source: Flickr (click image for link)

ถึงแม้ว่าควีนัวจะมีประวัติที่ยาวนานและได้ล่วงเลยผ่านมาหลายพันปีแล้ว แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ควีนัว ก็กลับได้รับความนิยมและความสนใจกันเป็นอย่างมากอีกครั้งด้วยความที่ควีนัวมีประโยชน์ต่อสุขภาพและให้คุณค่าทางโภชนาการที่สูง จนในปี 1982 ประเทศสหรัฐอเมริกาถึงขั้นได้ออกประกาศแนะนำให้รัฐโคโลราโดปลูกพืชชนิดนี้ เนื่องจากกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากในกลุ่มประเทศที่พื้นที่ไม่สามารถปลูกได้ทั่วไปค่ะ ซึ่งคนไทยก็เริ่มรู้จักกันในวงกว้างและนิยมไปซื้อมารับประทานแต่ควีนัวก็ยังคงเป็นพืชที่ประเทศไทยยังคงนำเข้ามา และเราอาจจะพบเห็นได้กันตามซูปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปค่ะ

 

ทำไม ควีนัว (Quinoa) ถึงได้ถูกยกให้เป็นสุดยอดอาหารหรือ Super Food

หลายคนที่ยังสงสัยว่าความแตกต่างของพืชที่เรียกว่า ควีนัว ซึ่งละม้ายคล้ายคลึงกับชนิดของอาหารประเภทธัญพืชอย่าง ข้าวต่างๆ อีกทั้งกรรมวิธีในการทำก็ถือว่าทำแบบเดียวกับการหุงข้าวเลยก็ว่าได้ และก็คงมีความคิดขึ้นมาว่าอย่างนี้ก็คงไม่ต่างกับข้าวที่ให้แป้งหรือคาร์โบไฮเดรตที่สูงแล้วอย่างนี้จะเพื่อสุขภาพได้อย่างไร เพราะที่แน่ๆ คนที่กำลังควบคุมข้าว แป้ง น้ำตาล คงจะไม่ชอบใจแน่ๆ งั้นจะบอกอีกทีก็ได้ค่ะว่า ควีนัว ในทางพฤกษาศาสตร์แล้วเป็นพืชตระกูลเครือเดียวกันกับพืชตระกูลผักขม หัวบีท ถึงจะมีคาร์โบไฮเดรตอยู่แต่ก็จะไม่มากเท่าพวกข้าว แถมนั่นก็หมายความว่าควีนัวนั้นปราศจากกลูเต้นหรือ Gluten Free นั่นเอง ใครที่แพ้ก็หายห่วงค่ะ และที่พิเศษของ ควีนัว คือเขามีโปรตีนและไฟเบอร์สูงอยู่เยอะมากรวมถึงสารอาหารต่างๆ ที่สำคัญมากมายเลยทีเดียวค่ะ อ่ะพูดเฉยๆ ก็คงไม่เห็นภาพ เดี๋ยวไปดูสารอาหารและคุณค่าทางโภชนาการของ ควีนัว กันเลยดีกว่าค่ะ

 

คุณค่าทางโภชนาการของควีนัวสุกในปริมาณ 1 ถ้วย (185 กรัม)

ให้พลังงาน 222 กิโลแคลอรี่

น้ำ                                                                  —–> 72%

คาร์โบไฮเดรต                       39.4 กรัม           —–> 21.3%

น้ำตาล                                    1.6 กรัม

ใยอาหาร                                 5.2 กรัม

โปรตีน                                     8.1 กรัม           —–> 4.4%

ไขมัน                                       3.6 กรัม          —–> 1.92%

ไขมันอิ่มตัว                            0.43 กรัม

ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว           0.98 กรัม

ไขมันไม่อิ่มตัว                        1.99 กรัม

กรดไขมันโอเมก้า 3               0.16 กรัม

กรดไขมันโอเมก้า 6                1.8  กรัม

 

วิตามินอี                                   6%

ไทอะมีน                                  13%

แมงกานีส                                58%

แมกนีเซียม                              30%

ฟอสฟอรัส                               28%

โฟเลต                                     19%

ทองแดง                                  18%

ธาตุเหล็ก                                 15%

สังกะสี                                     13%

โพแทสเซียม                             9%

 

จากข้อมูลทางโภชนาการของสารอาหารต่างๆ ที่มีอยู่ในควีนัวเพียงแค่ 1 ถ้วยยังให้ค่าสารอาหารต่างๆ ล้นหลามขนาดนี้ คงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมถึงได้ถูกยกให้เป็นสุดยอดอาหารแห่งปี 2013 อีกทั้งยังเป็นชนิดของอาหารที่เหมาะกับคนที่รักสุขภาพเป็นอย่างมากแถมรสชาติอร่อยด้วยนะเออ รอช้าอยู่ใยไปค่ะไปหามาหุงมารับประทานกัน!

 

อ้างอิง : ข้อมูลสารอาหารทางโภชนาการจาก https://authoritynutrition.com/foods/quinoa/

www.flickr.com/photos/sweetbeetandgreenbean/3251067698/

www.flickr.com/photos/mariano-mantel/17006176929/

www.flickr.com/photos/65173362@N07/10935422944/

9 สุดยอดอาหารที่ขึ้นชื่อว่าเป็น Super Foods

quinoa-rice-1ช่วงนี้เทรนด์สุขภาพมาแรง การออกกำลังกายและอาหารสุขภาพก็แรงตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเหล่าดารา กินอาหารคลีน ออกกำลังกาย อัพรูปลงอินสตาแกรม แบบนี้ก็ยิ่งเป็นกระแสให้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น จะว่าไปแล้วใครๆก็อยากจะมีสุขภาพที่ดีพร้อมกับรูปร่างที่สวยงามกันทั้งนั้นแหละจริงไหม บางคนก็สรรค์หาอาหาร ออกแบบเมนูอาหารที่คิดว่ารับประทานไปแล้วจะช่วยให้สุขภาพดีและสามารถลดความอ้วนไปได้ด้วย วันนี้ HealthGossip จึงลองหาอาหารที่เราเรียกกันว่า Super Food มาบอกกันว่ามีอะไรบ้าง เพื่อเป็นอีกแนวทางเลือกในการเลือกนำมาประกอบอาหารกันค่ะ ก่อนอื่นก็ขออธิบายคำว่า “ซูปเปอร์ฟู้ดส์” กันก่อนเลยค่ะ “ซุปเปอร์ฟู้ด” (Superfood) เป็นคำศัพท์ทางการตลาด (Marketing term) เพื่อใช้กล่าวถึงอาหารที่เชื่อว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพ ซุปเปอร์ฟู้ดไม่ใช่คำที่นักโภชนาการ (Dietitian) และนักวิทยาศาสตร์อาหาร (Nutrition scientists) นิยมใช้กัน ตามพจนานุกรมของแมคมิแลน (Macmillan dictionary) ได้ให้คำจำกัดความของซุปเปอร์ฟู้ดว่า เป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและอาจจะช่วยรักษาอาการโรคบางอย่างได้ค่ะ เดี๋ยวเราไปดูกันดีกว่ามีอะไรบ้างนะ

 

 9 สุดยอดอาหารที่ขึ้นชื่อว่าเป็น Super Food

 

  1. คีนัว (Quinoa) ธัญพืชมากประโยชน์ที่ยกให้เป็น ซูเปอร์ฟู้ด เป็นที่นิยมมากในต่างประเทศ และนำมาทำเมนูสุขภาพได้มากมาย ทั้งของคาวและขนมหวาน ควินัว, กีนัว, คิน-วา เป็นพืชตระกูลข้าวชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นเม็ดกลม ๆ หน้าตาคล้ายกับธัญพืชทั่ว ๆ ไป พบมากในประเทศแถบอเมริกาใต้ เช่น โบลีเวีย เปรู เอกวาดอร์ โคลัมเบีย เป็นต้น คีนัวมีประโยชน์มากจนได้รับฉายาว่า “ซูเปอร์ฟู้ด” หรือธัญพืชที่คุณค่าทางอาหารสูง สามารถใช้กินแทนข้าวได้โดยมีมีโปรตีนที่สูงกว่าข้าวทั่วไปแล้ว ยังมี แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม ธาตุเหล็ก และไขมันดีที่จำเป็นต่อร่างกาย มีไฟเบอร์มากกว่าข้าวกล้องถึง 2 เท่า เป็นแหล่งรวมกรดอะมิโน กรดเอซิด และสารต่อต้านอนุมูลอิสระ สามารถช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงจนเกินไป และควบคุมระบบการย่อยอาหารอีกด้วย และยิ่งไปกว่านั้น คีนัว ยังเป็นอาหารที่เหมาะกับคนที่ต้องการลดน้ำหนักอีกด้วย คุณประโยชน์คล้าย ๆ กับข้าวสาลีและข้าวบาร์สามารถนำไปทำให้สุกด้วยวิธีการเดียวกับการหุงข้าว มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ คือ จะนิ่มแต่แอบแฝงความกรุบกรอบเล็ก ๆ นำไปปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู และใช้เวลาหุงเพียงไม่กี่นาที จึงเป็นวัตถุดิบที่นิยมสำหรับคนที่รักสุขภาพมากๆเลยล่ะค่ะ
  2. เมล็ดเชีย (Chia Seeds) เมล็ดเชียมีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ สีดำ มีสารอาหารเยอะ แต่แคลอรี่ต่ำมาก เมล็ดเชีย เต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ สารต้านอนุมูลอิสระนี้ช่วยป้องกันไขมันที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ที่สำคัญสารต้านอนุมูลอิสระจะช่วยไปต่อสู้กับอนุมูลอิสระที่สร้างความเสียหายให้กับเซลล์ในร่างกาย นำไปสู่โรคร้ายต่างๆ มากมาย เช่น โรคมะเร็ง เมล็ดเชียมีไฟเบอร์สูง แถมยังมีคาร์โบไฮเดรตต่ำ เส้นใยของเมล็ดเชียสามารถดูดซับน้ำได้ถึง 10-12 เท่า ของน้ำหนักมัน ดังนั้นเมื่ออยู่ในท้องจึงเป็นเหมือนเจลที่ขยายตัว ช่วยให้รู้สึกอิ่มและคุณก็จะทานน้อยโดยอัตโนมัติ เมล็ดเชียมีโปรตีนสูงถึง 14% ของน้ำหนักมัน อีกทั้งยังมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย โปรตีนนี้จะช่วยลดความอยากอาหารได้ และเมล็ดเชียมีกรดไขมันโอเมก้าสูงเช่นเดียวกับเมล็ดเฟลกซ์ จริงๆ เมล็ดเชียมีกรดไขมันโอเมก้า 3 มากกว่าปลาแซลมอนในปริมาณที่เท่ากันด้วย ถึงแม้ช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่คนรักสุขภาพ แต่ปัจจุบันจัดเป็นซุเปอร์ฟู้ดที่ฮอตฮิตสุดๆ ก็ว่าได้ค่ะ
  3. คามู คามู (Camu Camu) ผลไม้ทรงกลม ขนาดเท่าผลพุทรา เมื่อสุกจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดงอมม่วง โดดเด่นที่รสเปรี้ยวช่วยให้เจริญอาหาร นิยมคั้นผลคามู คามูสด ดื่มเป็นน้ำผลไม้ ผสมกับน้ำผลไม้อื่นหรือผสมกับน้ำเปล่า นอกจากนี้สามารถซื้อผงคามู คามูจากร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ชง ผสมน้ำดื่ม อัตราส่วนน้ำ 1 แก้วต่อผงคามู คามู 1 ช้อนชา หรือใช้เติมลงในน้ำผักผลไม้ปั่นหรือน้ำสลัด Journal of Food Research International ระบุว่า ผลคามู คามู 100 กรัมมีปริมาณวิตามินซี 1,882-2,280 มิลลิกรัม มีสรรพคุณช่วยรักษาสุขภาพดวงตาและผิวหนัง กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยป้องกันโรคหวัด หอบหืด บรรเทาอาการของโรคเหงือก อ่อนเพลียเรื้อรังไปจนถึงโรคซึมเศร้า
  4. กระเทียมสีดำ (Black Garlic) กระเทียมสีดำได้รับการกล่าวขวัญถึงประโยชน์ต่อสุขภาพว่าเหนือกว่ากระเทียมทั่วไป แท้จริงคือ กระเทียมสีขาวที่ผ่านการหมักบ่ม (Fermentation) ด้วยอุณหภูมิ 65-80 เปอร์เซ็นต์ นาน 1 เดือน จนกระเทียมสีขาวเปลี่ยนเป็นสีดำ วารสาร Medicinal and Aromatic Plant Science And Biotechnology เพิ่มเติมว่า สาร SAC (S-Allyl-L cysteine) ที่พบในกระเทียมสีดำมีคุณสมบัติด้านมะเร็ง กระเทียมสีดำใช้ปรุงอาหารเหมือนกระเทียมทั่วไป และเพื่อให้กระเทียมหลั่งสารสำคัญเพิ่มขึ้น เช่น สารอัลลิซิน (Allicin) ซึ่งมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ควรบุ บด หรือสับกระเทียม และตั้งทิ้งไว้สักครู่ก่อนนำมาปรุงอาหาร นายแพทย์แอนดรูว์ ไวล์ (Andrew Weil) พ่อมดแห่งวงการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กระเทียมสีดำมีรสชาติหวานกว่ากระเทียมสีขาว และพบรายงานผลวิจัยที่ระบุว่า กระเทียมสีดำมีสารแอนติออกซิแดนต์และสาระสำคัญที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่ากระเทียมสีขาวหลายเท่า  นายแพทย์แอนดรูว์เห็นว่า กระเทียมสีดำมีเสน่ห์ดึงดูดนักชิมและผู้ที่ชื่นชอบอาหารแปลกใหม่ หากไม่สามารถหาซื้อได้ กินกระเทียมสีขาวก็นับว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพมากพอ เพราะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ป้องกันโรคในระบบทางเดินหายใจ ลดปริมาณคอเลสเตอรอลและระดับน้ำตาลในเลือดได้
  5. มัทฉะ (Matcha) มัทฉะ คือ ชาเขียวชนิดหนึ่งมีต้นกำเนิดที่ประเทศญี่ปุ่น ผลิตโดยนำยอดอ่อนมาอบไอน้ำโดยไม่ผ่านกระบวนการหมักและนวด เมื่อแห้งจึงนำมาบดกลายเป็นผงสีเขียว เป็นชาที่กินได้ทั้งใบ จึงอุดมไปด้วยสารอาหารที่ไม่ละลายน้ำ เช่น ใยอาหาร และ เบต้าแคโรทีน  เมื่อละลายน้ำ มัทชะจะกลายเป็นน้ำสีเขียวอ่อนสดใส นิยมชงโดยใช้ไม้ตีฟองผสมชาและน้ำร้อนให้เข้ากัน ขณะตีเสร็จใหม่ ๆ บนผิวหน้าน้ำชาจะมีฟองละเอียดสีเขียวปกคลุม ยิ่งตีนานน้ำชาจะกลายเป็นสีเขียวมรกตเข้มขึ้น สำหรับวิธีชงชาที่ถูกต้อง สมาคมผู้ฝึกสอนชาญี่ปุ่น แนะนำว่า ควรกรองชาก่อนเพื่อไม่ให้ผงชาจับตัวเป็นก้อน จากนั้นใส่มัทฉะ 2 กรัมลงในถ้วยชา รินน้ำอุณหภูมิปกติลงไปประมาณ 10 ซี.ซี. ใช้ไม้ตีน้ำมัทฉะให้เข้ากัน แล้วจึงรินน้ำเดือดลงในถ้วยชา 50 ซี.ซี. จากนั้นตีผงชาและน้ำร้อนให้เข้ากันจนเกิดฟองละเอียดเต็มบริเวณผิวด้านบน จึงยกไม้ตีชาออก ใช้จิบขณะอุ่น มัทฉะ อุดมไปด้วยสารคาเตชิน (Catechin) และวิตามินต่าง ๆ โดยสารคาเตชิน มีสารแอนติออกซิแดนท์ ต้านมะเร็ง ลดคอเลสเตอรอล ลดความดันโลหิต ช่วยเพิ่มระบบเผาผลาญ ต้านเชื้อไวรัสไข้หวัด ต้านเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก จึงช่วยกำจัดกลิ่นปาก ข้อมูลจากวารสาร American Physiological Society เปิดเผยว่า มัทฉะ 1 กรัม มีสารคาเตชินสูงถึง 105 มิลลิกรัม มีค่าโอแรค (ORAC) หรือค่าที่ใช้วัดประสิทธิภาพสารแอนติออกซิแดนท์ถึง 1300 umoleTE/กรัม เมื่อเปรียบเทียบกับผลไม้ที่มีแอนติออกซิแดนท์ประสิทธิภาพสูงชนิดอื่น เช่น ทับทิมซึ่งมีค่าโอแรค 105 และบลูเบอร์รีป่า 93 นอกจากนี้ ยังอุดมไปด้วยวิตามิน เอ ซี และอี จึงช่วยชะลอวัย
  6. เคเฟอร์ (Kefir) นมเปรี้ยวชนิดหนึ่งผลิตจากการหมักน้ำนมวัว แพะ หรือแกะ ด้วยแบคทีเรียและยีสต์ กระบวนการหมักช่วยเปลี่ยนน้ำตาลแลคโตส (Lactose) ในนมให้กลายเป็นกรดแลคติก (Lactic acid) ทำให้มีรสเปรี้ยว เคเฟอร์มีรสชาติเปรี้ยวคล้ายโยเกิร์ต แต่มีความข้นหนืดน้อยกว่า และมีโพรไบโอติกส์ (Probictics) หรือแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพแตกต่างกัน แนะนำให้กินสลับกับโยเกิร์ต โดยกินร่วมกับผลไม้สดเพื่อให้ร่างกายได้รับโพรไบโอติกส์หลากหลาย ช่วยรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร ทำลายจุลินทรีย์ก่อโรค ทั้งกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารแอนติบอดี (Antibody) ต่อต้านสิ่งแปลกปลอม และช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ขณะเดียวกัน ผลไม้ที่มีกากใยสูงเมื่อกินควบคู่กับเคเฟอร์ จะมีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติกส์ (Prebiotic) ทำหน้าที่เป็นอาหารให้กับโพรไบโอติกส์ กระตุ้นให้จุลินทรีย์ชนิดดีภายในลำไส้เจริญเติบโตได้ดี และเพิ่มการดูดซึมแร่ธาตุบางชนิด เช่น แคลเซียม เหล็ก แมกนีเซียม และสังกะสี อีกด้วย เคเฟอร์เป็นอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีปริมาณเอนไซม์แลคเตส (Lactase) ในระบบทางเดินอาหารต่ำ ส่งผลให้ไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโตสในนมได้ หลังดื่มนมจึงเกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเดิน ปวดท้อง แนะนำให้ดื่มเคเฟอร์นม ช่วยให้ร่างกายได้รับแคลเซียมเพียงพอ โดยไม่ก่อให้เกิดอาการปั่นป่วนในระบบทางเดินอาหาร
  7. มันแกว (Jicama) เป็นไม้เถาเลื้อยพัน มีหัวใต้ดินเป็นรากสะสมอาหาร แต่เดิมมีถิ่นกำเนิดในประเทศเม็กซิโกและอเมริกากลาง ปัจจุบันแพร่หลายในประเทศเขตร้อน เช่น จีน อินโดจีน อินโดนีเซีย มันแกวเป็นพืชที่มีหัวใต้ดินซึ่งกินได้ แต่ส่วนอื่น เช่น ใบและเมล็ดเป็นพิษ มีฤทธิ์เป็นยาฆ่าแมลง ควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจทำให้ ช็อก หมดสติ และหยุดหายใจ กินมันแกวสดเป็นผลไม้ กินพร้อมผักสดร่วมกับน้ำสลัด นำไปผัดกับกุ้งด้วยไฟอ่อน หรือหั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมลูกเต๋าต้มเป็นแกงจืดพร้อมผักสดหลากชนิดก็อร่อย มันแกวสดมีน้ำเป็นส่วนประกอบถึง 90 เปอร์เซ็นต์ เนื้อสัมผัสจึงฉ่ำกรอบ ให้ความสดชื่น ช่วยดับกระหาย ทั้งอุดมไปด้วยสารอาหารหลายชนิด เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก ไทอามีน ไนอะซิน และวิตามินซี  มันแกวเพียง 1 ถ้วยตวง ให้ใยอาหารมากถึงร้อยละ 25 ของความต้องการใน 1 วันนอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบของ อินูลิน (Inulin) ซึ่งร่างกายไม่สามารถย่อยได้ในระบบทางเดินอาหาร และไม่ให้พลังงาน มีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติกส์ช่วยกระตุ้นให้จุลินทรีย์ชนิดดีภายในลำไส้เจริญเติบโตได้ดี ช่วยในการขับถ่าย จึงนับเป็นอาหารสุขภาพที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักอีกด้วย
  8. กิมจิ (Kimchi) เป็นอาหารเกาหลี ทำจากผักหลากหลายชนิดนำมาดองหรือแช่ในน้ำเกลือเพื่อถนอมอาหารเตรียมไว้กินแทนผักสดในช่วงฤดูหนาวที่ไม่สามารถปลูกผักบางชนิดได้ นับเป็นภูมิปัญญาคนโบราณที่ทำให้มีผักกินตลอดทั้งปี โดย ผักกาดขาว หัวผักกาด หัวหอม ต้นหอม แตงกวา กระเทียม ขิง พริกแดง คือผักที่นิยมปรุงเป็นกิมจิ โดยหั่นเป็นชิ้นพอดีคำ จากนั้นคลุกเคล้ากับเครื่องปรุงรสที่มีกระเทียมสับ ขิง และพริกแดงป่นเป็นส่วนประกอบ นิยมกินกิมจิเป็นเครื่องเคียงในอาหารมื้อหลัก หรือปรุงเป็นอาหารหลากหลาย เช่น ข้าวผัด สตูบะหมี่ กิมจิมีรสชาติเปรี้ยวนำเพราะผ่านกระบวนการหมัก ทำให้อุดมด้วยจุลินทรีย์ที่ดีต่อสุขภาพ เช่น แบคทีเรียแลคโตบาซิลลัส เช่นเดียวกับที่พบในนมเปรี้ยว โดยหลายการศึกษาพบว่าแบคทีเรียชนิดดีช่วยทำความสะอาดลำไส้ ป้องกันโรคในระบบทางเดินอาหารจากแบคทีเรียก่อโรค และลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ กิมจิ 1 ถ้วยตวงอุดมด้วยใยอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุจากผัก ที่สำคัญ ให้พลังงานเพียง 29 กิโลแคลอรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลเสริมว่า นอกจากให้พลังงานต่ำ ส่วนประกอบต่าง ๆ ในกิมจิล้วนมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น พริกแดงมีสารแคปไซซิน (Capsiaicin) ช่วยเผาผลาญไขมัน พริกแดงป่นมีวิตามินซีช่วยให้ถุงน้ำดีขับคอเลสเตอรอล ส่วนกระเทียมและหัวหอมช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด คอเลสเตรอล และไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ และหลอดเลือด

สุดยอดของอาหารที่เราเรียกกันว่าเป็นซูปเปอร์ฟู้ดส์ แต่ยังไงก็แล้วแต่การเลือกรับประทานอาหารที่ดีแล้วก็ต้องเลือกรับประทานให้หลากหลายกันด้วยนะคะ ยังไงก็ขอให้อาหารเหล่านี้เป็นทางเือกในการประกอบอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของเรานะคะ